fbpx

Republican Calendar และ Decimal Clock การปฏิวัติเวลาสุดห่วยแตกในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส

14 กรกฎาคม 1789 ถือเป็นวันที่เปลี่ยนโฉมการเมืองโลกไปตลอดกาล เพราะเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสที่โค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จากพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และสร้างระบอบสาธารณรัฐที่ปกครองโดยประชาชนด้วยกันเอง

โอเค แม้ว่าหลังล้มกษัตริย์ไปแล้ว บ้านเมืองฝรั่งเศสจะตกอยู่ในความวุ่นวายนับสิบปี (1792-1804) ก่อนที่จะลงเอยด้วยระบอบจักรพรรดิของนโปเลียนแทน (1804-1815) และยังเกิดการฟื้นฟูราชวงศ์และปฏิวัติอีกหลายครั้งในศตวรรษที่ 19 ก็ตาม

มรดกหนึ่งที่เป็นผลพวกของการปฏิวัติฝรั่งเศส นอกจากระบอบการเมืองแบบสาธารณรัฐแล้ว ก็ยังมีหน่วยชั่งตวงวัดในระบบเมตริกเช่น เมตร, กรัม, ลิตร ที่ใช้ระบบฐานสิบในการแปลงหน่วย เช่น 1/100 เมตร= 1 เซนติเมตร, 1000 กรัม = 1 กิโลกรัม แทนที่ระบบเดิมที่อ้างอิงจากความยาวร่างกาย และมีการแปลงหน่วยที่ซับซ้อนกว่าแบบระบบอังกฤษที่ 12 นิ้ว=1 ฟุต หรือ 16 ออนซ์= 1 ปอนด์

โดยระบบเมตริกที่เกิดขึ้นถือเป็นรากฐาน และนิยามของหน่วยวัดค่าต่างๆ ในระบบ SI ที่เด็กฟิสิกส์ต่างได้เรียนกันจนทุกวันนี้ยกเว้นหน่วยหนึ่งที่มีความพยายามทำเป็นฐานสิบ แต่กลับไม่ได้รับความนิยม นั่นคือ “เวลา”

ในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส มีการประดิษฐ์นาฬิกาแบบ Decimal Clock ที่ใช้ระบบเลขฐานสิบ รวมถึงยังทำปฏิทินใหม่ที่เรียกว่า Republican calendar ที่เปลี่ยนชื่อเดือนใหม่หมด และขึ้นปีใหม่ในฤดูใบไม้ร่วงแทนซะงั้น

ความวายป่วงของทั้ง Decimal Clock และ Republican calendar มันเป็นอย่างไร เชิญอ่านต่อไปได้เลย

การปฏิวัติฝรั่งเศส

Decimal Clock
เพราะเลขฐาน 10 มันใช้คำนวนเวลายาก

นาฬิกาฐานสิบ จะมีการแบ่งวันดังนี้

  • 1 วันมี 10 ชั่วโมง
  • 1 ชั่วโมงมี 100 นาที
  • 1 นาทีมี 100 วินาที

หากเทียบกับเวลาปกติจะเป็นดังนี้

  • 1 ชั่วโมงฐานสิบ เท่ากับ 144 นาที (2 ชั่วโมง 24 นาที)
  • 1 นาทีฐานสิบ เท่ากับ 86.4 วินาที (1 นาที 26.4 วินาที)
  • 1 วินาทีฐานสิบ เท่ากับ 0.864 วินาที

สรุปคือการนับเวลาฐานสิบจะทำให้ 1 วันมี 100,000 วินาที ขณะที่วันปกติจะมีแค่ 86,400 วินาที

แต่…นาฬิกาฐานสิบถูกนำมาใช้ได้แค่ 3 ปี ก็ต้องล้มเลิกไป

คงไม่ต้องอธิบายให้ยุ่งยากว่า เพราะเลขฐานสิบมันไม่เหมาะกับการบอกเวลาเลย เพราะเลข 10 หารลงตัวได้เพียง 2 กับ 5 เท่านั้น ขณะที่เลข 24 และ 60 ที่ใช้ในการแบ่งชั่วโมง-นาที มีตัวหารที่มากกว่าคือ 24 แบ่งเป็น 2 3 4 6 8 12 และ 60 แบ่งเป็น 2 3 4 5 6 10 12 20 30 ทำให้สามารถแบ่งส่วนได้หลากหลายกว่า

และอีกตัวแปรสำคัญที่กำหนดเวลาคือวงจรชีวิตคนต่างต้องพึ่งเวลาในการตื่นและนอนตามรอบกลางวันกลางคืน ขณะที่หน่วยอื่นๆ อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เลยก็ได้ โดยคนบาบิโลนแบ่งวันออกเป็น 24 ชั่วโมง และแบ่งชั่วโมงเป็น 60 นาที และมนุษย์ก็ใช้การแบ่งเวลาแบบนี้มาตลอดในหน้าประวัติศาสตร์ ทำให้เป็นการยากที่จะปรับหน่วยที่มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตประจุวันอย่างเวลาได้

เอาเป็นว่าถ้าเกิดเราใช้เวลาแบบฐานสิบนัดหมายคนโดยบอกว่า “มาเจอกันตอน 7 โมง 80 นาที” เขาจะรู้ไหมล่ะว่ามันคือตอนไหน เช้า กลางวัน เย็น กลางคืน ต้องมาแปลงหน่วยกันวุ่นวายอีก แถม 1 วินาทีของนาฬิกาฐาน 10 กับฐาน 60 ยังยาวไม่เท่ากันอีกต่างหาก

นาฬิกาฐานสิบ เทียบกับนาฬิกาปกติด้านใน

Republican Calendar
เมื่อวันขึ้นปีใหม่คือ 22 กันยายน

ปฏิทินนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อล้มล้างมรดกเดิมจากยุคราชาธิปไตย รวมถึงอิทธิพลของศาสนา รวมถึงทำวันที่ให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้นแทนที่ปฏิทินเกรโกเรียนที่เราใช้กัน (ต้องมาจำว่าเดือนไหนมี 30 หรือ 31 วัน แถมมีกุมภาพันธ์ที่มี 28/29 วันอีก)

ปฏิทินสาธารณรัฐมีการแบ่งเดือนและสัปดาห์ดังนี้

  • 1 ปีมี 360 วัน แบ่งเป็น 12 เดือน เดือนละ 30 วัน
  • 1 เดือนมี 3 สัปดาห์ (décade) โดย 1 สัปดาห์มี 10 วัน และเรียกชื่อวันตามตัวเลข 1-10
  • วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันศารทวิษุวัต (Autumnal equinox) หรือ 22-23 กันยายน อันเป็นวันสถาปนาสาธารณรัฐที่ 1 ของฝรั่งเศส (22 กันยายน 1792)
  • นับ Republican Era เป็นศักราชใหม่ โดยเริ่มต้นปีที่ 1 ในปี 1792 ตามปีก่อตั้งสาธารณรัฐ และเขียนปีเป็นเลขโรมัน
  • เปลี่ยนชื่อเดือนใหม่ทั้งหมด โดยมีชื่อเรียกตามลักษณะของฤดูกาล และมี suffix ต่อท้ายที่แตกต่างกันคือ
    -aire ฤดูใบไม้ร่วง, -ôse ฤดูหนาว, -al ฤดูใบไม้ผลิ, -idor ฤดูร้อน

ส่วนชื่อเดือนในปฏิทินสาธารณรัฐพร้อมคำแปลทั้ง 12 เดือน รวมถึงวันที่ในแต่ละเดือน

ฤดูใบไม้ร่วง
  • Vendémiaire (เก็บเกี่ยวองุ่น): 22 กันยายน – 21 ตุลาคม
  • Brumaire (หมอก): 22 ตุลาคม – 20 พฤศจิกายน
  • Frimaire (น้ำค้างแข็ง): 21 พฤศจิกายน – 20 ธันวาคม
ฤดูหนาว
  • Nivôse (หิมะ): 21 ธันวาคม – 19 มกราคม
  • Pluviôse (ฝน): 20 มกราคม – 18 กุมภาพันธ์
  • Ventôse (ลม): 19 กุมภาพันธ์ – 20 มีนาคม
ฤดูใบไม้ผลิ
  • Germinal (เมล็ดงอก): 21 มีนาคม – 19 เมษายน
  • Floréal (ดอกไม้บาน): 20 เมษายน – 19 พฤษภาคม
  • Prairial (ทุ่งหญ้า): 20 พฤษภาคม – 18 มิถุนายน
ฤดูร้อน
  • Messidor (เก็บเกี่ยว): 19 มิถุนายน – 18 กรกฎาคม
  • Thermidor (ร้อน): 19 กรกฎาคม – 17 สิงหาคม
  • Fructidor (ออกผล): 18 สิงหาคม – 16 กันยายน

ปฏิทินปกติจะสิ้นสุดในวันที่ 30 Fructidor หรือ 16 กันยายน แต่จะเพิ่มวันหยุดอีก 5 ในช่วงรอยต่อวันขึ้นปีใหม่สำหรับเฉลิมฉลอง (เพิ่ม 6 วันในปีอธิกสุรทินทุก 4 ปี)

ปฏิทินเดือน Vendémiaire

ตัวอย่างวันที่ของปฏิทินสาธารณรัฐ กับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์

เนื่องจาก Republican Calendar ถูกใช้เป็นปฏิทินทางการในยุคสาธารณรัฐที่ 1 หรือยุคปฏิวัติ (1792-1804) ทำให้มีเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่บันทึกด้วยปฏิทินแบบนี้ เช่น

  • 9-10 Thermidor an II (27-28 กรกฎาคม 1794) การประหารชีวิต Maximilien Robespierre สิ้นสุดยุคแห่งความหวาดกลัว (La Terreur) ที่รัฐบาลปฏิวัติจับคนเห็นต่างทางการเมืองไปประหารชีวิตกว่า 16000 คนในช่วงเวลาเพียง 2 ปี
  • 13 Vendémiaire an IV (5 ตุลาคม 1795) กองทัพฝ่ายนิยมสาธารณรัฐ เอาชนะฝ่ายนิยมกษัตริย์ จนนำไปสู่การก่อตั้งสภา Directory ปกครองประเทศ
  • 18 Brumaire an VIII (9 พฤศจิกายน 1799) นโปเลียนยึดอำนาจจากสภา Directory และตั้งตัวเองเป็น First Consul ผู้มีอำนาจสูงสุดแทน
  • 11 Frimaire an XIII (2 ธันวาคม 1804) นโปเลียนทำพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิ และก่อตั้งจักรวรรดิฝรั่งเศส

ปฏิทินสาธารณรัฐไม่ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนเลย เพราะการแบ่งสัปดาห์ให้มี 10 วัน ทำให้มีวันหยุดพักผ่อนแค่ปีละ 36 วัน เทียบกับสัปดาห์ละ 7 วันที่จะได้หยุดปีละ 52 วัน (หยุด 1 วันต่อสัปดาห์) รวมถึงวันในปฏิทินยังไม่สอดคล้องกับวันสำคัญทางศาสนาด้วย เพราะต้องคำนวณหาวันอาทิตย์สำหรับเข้าโบสถ์ของชาวคริสต์อีก

ในตอนแรกได้ปรับปรุงปฏิทินให้มีสัปดาห์ละ 7 วันในปี 1802 (ปีสาธารณรัฐที่ 10) แต่ฝรั่งเศสก็ยังเป็นประเทศเดียวที่ใช้ปฏิทินประหลาดๆ นี้ ขณะที่ประเทศอื่นรอบข้างใช้ปฏิทินเกรโกเรียนกันหมด ทำให้การสื่อสารวันที่ก็ลำบาก

สุดท้ายจักรพรรดินโปเลียนก็ออกคำสั่งให้กลับไปใช้ปฏิทินเกรโกเรียนเหมือนเดิมในวันที่ 1 มกราคม 1806 ส่งผลให้ปฏิทินสาธารณรัฐถึงจุดสิ้นสุดหลังใช้งานได้ 14 ปี โดยวันสุดท้ายของปฏิทินนี้คือ 10 Nivôse XIV (31 ธันวาคม 1805)

(รูปที่ 4 พิธีราชาภิเษกของนโปเลียน)

พิธีราชาภิเษกของนโปเลียน

สรุปเรื่องราวว่าด้วยเรื่องของภาษา

เพราะเวลาคือสิ่งที่กำหนดวิถีชีวิตผู้คนในการทำกิจกรรมประจำวัน ทั้งกิน, ทำงาน, นอน ขณะที่ปฏิทินจะใช้กำหนดฤดูกาลเพาะปลูกประจำปี ทำให้เมื่อเปลี่ยนแปลงระบบเวลา ย่อมส่งผลต่อการคำนวณและวางแผนชีวิตได้ และเสี่ยงต่อการนัดหมายเวลาผิดอีกต่างหาก

นอกจากนี้ประเทศต่างๆ ไม่ได้เปลี่ยนระบบเวลาตามฝรั่งเศสไปด้วย ทำให้การสื่อสารเวลากับชาวโลกต้องแปลงหน่วยกันวุ่นวาย ทำให้ทั้ง Decimal time และ Republican Calendar ไม่ได้ไปต่อ

และทิ้งเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ล้มเหลวจากการปฏิวัติฝรั่งเศส

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า