fbpx

“มังกร” ที่แท้จริง คือตัวนี้ (ตัวไหน?)

มังกร คือสัตว์ในตำนานที่ทุกคนรู้จักกันดี ด้วยรูปร่างที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และพลังอำนาจที่น่าเกรงขาม ทำให้มังกรได้ปรากฏตัวบ่อยครั้งในสื่อบันเทิงแนวแฟนตาซีทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นนิยาย, การ์ตูน, เกม, ภาพยนตร์

มังกรที่เรารู้จักและคุ้นเคยมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1 มังกรยุโรป ที่รูปร่างเป็นสัตว์เลี้อยคลานมีปีก และมักจะพ่นไฟได้ เป็นตัวแทนของฝ่ายอธรรมหรือความชั่วร้าย ทำให้มังกรยุโรปถูกใช้เป็นบอสในเกมให้เราตบตีอยู่บ่อยครั้ง

2 มังกรจีน ที่มีลำตัวยาว และมีเกล็ดตามร่างกาย มีพลังควบคุมฟ้าฝนได้ ทำให้เป็นตัวแทนของฝ่ายธรรมะและเทพเจ้า หากปรากฏในเกม-การ์ตูนก็มักอยู่ฝ่ายพระเอก โดยมอบพลังให้พวกเขาพิชิตวายร้ายประจำเรื่อง

อย่างไรก็ตาม หากสืบถึงต้นกำเนิดของคำว่า “มังกร” ในภาษาไทยแล้ว ไม่ใช่ทั้งมังกรยุโรปหรือมังกรจีนเลย แต่เป็นตัวนี้ต่างหาก

ดูไม่ผิดหรอก สัตว์ตำนานที่หัวเหมือนช้าง ตัวเหมือนจระเข้ และมีหางเป็นปลา คือมังกรต้นตำรับเลยแหละ

มกร สัตว์ในตำนานของอินเดียที่ถูกลืม

พื้นฐานของวัฒนธรรมไทยได้รับอิทธิพลหลักจากอินเดีย ดังนั้นตำนานอินเดียจึงปรากฏในเรื่องเล่ามากมายทั้งในศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์ ไม่ว่าจะเป็นเทพเจ้าองค์ต่างๆ รวมไปถึงสัตว์ในตำนานในป่าหิมพานต์

มกร เป็นสัตว์ในตำนานที่อาศัยอยู่ในทะเล มีลักษณะเป็นการผสมกันระหว่างสัตว์ต่างๆ เช่นส่วนหัวมีเขากวางและงวงช้าง ส่วนตัวเป็นจระเข้หรือแมวน้ำ และส่วนหางเป็นปลา โดยมกรเป็นสัตว์พาหนะของทั้งพระแม่คงคาเทพที่เป็นเทพแห่งแม่น้ำ และพระพิรุณที่เป็นเทพแห่งทะเลและฝนตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เพราะบทบาทของมกรในวรรณคดีไทยหรือเรื่องเล่าในพุทธศาสนามีน้อยมาก ส่วนมากคนไทยจะคุ้นเคยกับครุฑ, นาค, ช้างเอราวัณกันเสียมากกว่า ทำให้ไม่แปลกที่หลายคนไม่รู้จักมกรในแบบอินเดียเลย

โชคดีหน่อยที่ตัวมกร ถูกนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ของราศีมกร (Capricorn) อันเป็นที่มาของชื่อเดือน “มกราคม” ที่เป็นเดือนแรกของปี โดยมีความหมายว่า “การมาถึงของราศีมกร” ดังนั้นคนที่เกิดในราศีมกร ก็จะตรงกับวันที่ 15 ม.ค.-12 ก.พ. (นับแบบไทย) หรือ 22 ธ.ค.-20 ม.ค. (นับแบบตะวันตก)

อย่างไรก็ตาม ชาวตะวันตกมองกลุ่มดาวนี้เป็นตัว Capricorn หรือแพะทะเล ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานตามความเชื่อของกรีก โดยทั้ง Capricorn และมกร มีจุดร่วมเหมือนกันคือเป็นสัตว์ตำนานในท้องทะเล ในจุดนี้แสดงให้เห็นว่าแต่ละชาติเชื่อมโยงลักษณะกลุ่มดาวให้เข้ากับความเชื่อของตัวเอง

จาก “มกร” ของอินเดีย สู่ “มังกร” ของจีนและยุโรป

ถ้าดูจากเสียงอ่านก็คงรู้แล้วว่า “มกร” คือต้นกำเนิดของ “มังกร” จากการเพี้ยนเสียงแน่ๆ หากให้ตีความกันแบบง่ายๆ คือ คนไทยเอามกรที่เดิมคือสัตว์ตำนานของอินเดีย ไปใช้เรียก 龍 (หลง) ของจีน และ dragon ของฝรั่งนี่แหละ

(รูปมังกรจีน)

หากดูจากลักษณะภายนอกแล้ว มกรอินเดียกับมังกรจีนมีความคล้ายคลึงกันบางประการ เช่นมีลำตัวยาวและมีเกล็ด รวมถึงทั้งคู่ล้วนเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก กล่าวคือมกรคือสัตว์พาหนะของเทพแห่งแม่น้ำ (พระแม่คงคา) และเทพแห่งฝน (พระพิรุณ) ขณะที่ 龍ของจีนก็มีพลังควบคุมฟ้าฝนได้เช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้คนไทยนำ “มกร-มังกร” ไปใช้เรียก龍 ของจีนด้วย ก่อนที่ภายหลังเสียงที่นิยมเรียกจะเหลือแค่มังกรอย่างเดียว

ต่อมาคนไทยรับวัฒนธรรมตะวันตกเพิ่มเติม ซึ่งฝั่งนั้นก็มีสัตว์ในตำนานที่เรียกว่า dragon อยู่แล้ว แต่เพราะภาษาฝั่งยุโรปใช้คำนี้เรียก dragon กับมังกรจีนเช่นกัน ทำให้คนไทยแปล dragon ออกมาตรงตัวเป็น “มังกร” สำหรับใช้เรียกสัตว์ในตำนานของฝรั่งอีกที เรียกว่าคนไทยใช้คำเดียวกัน เพื่อเรียกสัตว์ในตำนานถึง 3 ชาติกันเลยทีเดียว

สื่อ Pop culture ทำให้คนรู้จักตำนานชาติต่างๆ

ทั้งมังกรจีน (龍) และมังกรยุโรป (dragon) ต่างเป็นสัตว์ในตำนานระดับแถวหน้าของทั้งสองวัฒนธรรม ฝั่งจีนเป็นถึงเทพเจ้ามีพลังอำนาจมหาศาล ขณะที่ฝั่งยุโรปก็เป็นอสูรร้ายที่มักจะเป็นเหยื่อให้ผู้กล้าไปปราบ

มังกรทั้งสองรูปแบบต่างปรากฏบ่อยครั้งในเกม, การ์ตูน หรือนิยาย ทำให้ไม่แปลกที่คนไทยจะคุ้นเคยกับมังกรของ 2 วัฒนธรรมนี้มากกว่า

ส่วนมกรที่เป็นสัตว์ต้นกำเนิดจริงๆ ของคำนี้ กลับแทบไม่มีคนไทยรู้จักเลย ถ้าไม่ได้เป็นชื่อเดือนมกราคม เผลอๆ ถูกลืมไปนานแล้วด้วยซ้ำ เพราะว่าเทพเจ้าอินเดียถูกผูกโยงอย่างแนบแน่นกับพุทธศาสนา และพราหมณ์-ฮินดู รวมถึงเป็นความเชื่อหลักในราชสำนัก ทำให้เทพเจ้าอินเดียปรากฏเฉพาะในหนังสือหรือเรื่องเล่าทางศาสนาเท่านั้น จนคนทั่วไปเข้าถึงได้ยาก และไม่สนใจเลย

เปรียบเทียบกับตำนานเทพของชาติอื่นๆ ทั้งกรีก, นอร์ส, อียิปต์, จีน, ญี่ปุ่น ที่ถูกนำมาเล่าผ่านสื่อบันเทิงร่วมสมัย (pop culture) ทั้งนิยาย, ภาพยนตร์, การ์ตูน, เกมกันอย่างมากมาย ถือเป็น Soft Power ที่ทำให้คนทั่วโลกหันมาศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของตำนานเทพเจ้าของชนชาติต่างๆ

ลองคิดดูว่าหากมีหนัง, อนิเมะ หรือเกมจากค่ายดังซักเรื่องที่ทำเนื้อหาหลักเกี่ยวกับเทพอินเดีย เชื่อว่าคนไทยรุ่นใหม่ๆ สนใจที่จะศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมกันเพียบแน่ๆ เพราะเป็นเรื่องเล่าตำนานที่ใกล้ชิดตัวเราที่สุด และมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทยมากที่สุดแล้ว

อ้างอิง
https://en-academic.com/dic.nsf/enwiki/2764310
https://medium.com/@Nazifa.Raihana/tale-of-makara-a-hindu-mythical-creature-6c28f28d0ade
https://www.amnh.org/exhibitions/mythic-creatures/dragons/asian-dragons
https://symbolsage.com/makara-symbol-meaning/

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า