fbpx

The Weekend: การนัดเจอกันวันเสาร์อาทิตย์ และวิธีคิดแบบปิตาธิปไตยในแบบรีมิกซ์

“..I wanna go out from this freaking loop right now
Beat you, cut down, sit and feel the sound of
Yeah-yeah-yeah-yeah-yeah-yeah
You only call me on the weekend
You only love me when we freakin..”

หลายคนคงเคยได้ยินเพลง The Weekend จาก BiBi ศิลปินค่าย 88RISING ที่ถูกนำมา Remix โดยแรปปอร์สาวชาวไทยสุดเผ็ชอย่างมิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล จากค่าย Yupp! ที่มีผลงานเพลงฮอตฮิตติดชาร์ทมากมาย

ถึงแม้ว่าตอนนี้เธอจะรอ 17 นาที แต่เพราะเราสนใจมิติของ The Weekend ในเวอร์ชั่นของมิลลิมากๆ วันนี้จึงอยากเริ่มบทสนทนาบน Modernist ด้วยเนื้อหาเพลง The Weekend ในมุมมองนักสตรีศึกษากันสักหน่อย

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันแนวคิดสตรีนิยม เฟมินิสต์ เฟมทวิต เพื่อนหญิงพลังหญิง Body Positive และอื่นๆ อีกมากมาย กำลังขับเคลื่อนสังคมด้วยความตื่นรู้ของผู้หญิงไทยในโลกโซเชียลมีเดียอย่างพร้อมเพรียง แม้ในอดีตเหล่าสุภาพสตรีไทยต่างขึ้นชื่อว่าเป็นเพียง Second Sex หรือเพศสภาพที่ถูกให้ความสำคัญรองลงมาจากเหล่าสุภาพบุรุษ ชายหนุ่มผู้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นผู้นำทางความคิดและสังคม ซึ่งกรอบเกณฑ์ทางเพศเหล่านี้ได้สร้างสูตรสำเร็จเป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้แก่ชายหญิงอยู่ร่วมกันในสังคม รวมไปถึงมุมมองความรักที่หญิงชายต้องพึ่งพากัน ฝ่ายชายมีหน้าที่รับผิดชอบในทางเศรษฐกิจ ฝ่ายหญิงมีหน้าที่จัดการความเรียบร้อยภายในบ้านดูแลลูก ดูแลสามี แต่ในความเป็นจริงผู้หญิงหลายคนก็ทำงานเพื่อช่วยหารายได้มาดูแล ครอบครัวสามี ครอบครัวตัวเอง ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง เพื่อนที่ทำงาน ฯลฯ

วุ่นวายซะขนาดนี้ แน่นอนว่าผู้หญิงไทยหลายคนจึงล้มเลิกความคิดในการแต่งงานมีลูกและเลือกที่จะใช้ชีวิตสาวโสด มุ่งมั่นทำงาน หาเงิน ส่วนเรื่องผู้ชายก็ได้กลายเป็น Last Priority ชีวิตไปอย่างนั้น

ในโลกยุคปัจจุบันเราได้พบข้อมูลสถิติที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงกับพฤติกรรมของผู้หญิงยุคใหม่ โดยสำนักสถิติแรงงานของประเทศสหรัฐอเมริกาได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจระบุว่า ขณะนี้ประเทศกำลังมีจำนวนผู้หญิงที่ทำงานมากกว่าผู้ชายถึง 109,000 คน นอกจากนี้ยังพบว่างานในส่วนของราชการยังมีจำนวนผู้หญิงมากถึง 58% โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเงิน

รวมทั้งข้อมูลสถิติในปี 2016-2017 มีจำนวนผู้หญิงที่ได้รับปริญญาในระดับปริญญาตรี 57.3% ปริญญาโท 59.4% และปริญญาเอก 53.3%[1] โดย Mark Zandi หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Moody กล่าวว่า “..ตอนนี้ผู้หญิงกลายเป็นพนักงานส่วนใหญ่ ผู้หญิงจะครองตลาดแรงงานมากขึ้นเรื่อย ๆ  แรงงานผู้หญิงกำลังเข้าสู่อาชีพประเภทที่งานมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว นี่คือยุคสมัยของการมาถึงของแรงงานที่เป็นผู้หญิง..”

เมื่อเราหันกลับมาที่ประเทศไทยแล้วอ้างอิงจากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ก็ได้เปิดเผยข้อมูลการทำงานของผู้หญิงในประเทศไทยประจำปี 2560 พบว่า ผู้หญิงที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 28.95 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงานประมาณ 17.35 ล้านคน (เป็นผู้มีงานทำ 17.11 ล้านคน ผู้ว่างงาน 2.05 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 2.78 หมื่นคน) หรือคิดเป็น 59.9%[2] ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ดียิ่งขึ้นว่าผู้หญิงไทยจะสามารถทัดเทียม เทียบเท่าผู้ชายได้มากขึ้นในทางเศรษฐกิจ และการมีส่วนร่วมในการแสดงออกด้านความคิดและดำเนินตามแนวทางการใช้ชีวิตในแบบอื่นนอกเหนือกรอบเกณฑ์ทางเพศตามวิถีเดิมๆ

หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วมันเกี่ยวกับเพลง The Weekend ของ Milli อย่างไร ? เราลองมาวิเคราะห์ข้อมูลสถิติไปพร้อมๆ กับนักเขียนสตรีศึกษาคนนี้กันบ้าง

ในขณะที่ดิฉันฝันใฝ่ใคร่ครวญหาที่จะได้เห็นสังคมหญิงเป็นใหญ่สักครั้งในชีวิต เมื่อเห็นว่าผู้หญิงไทยหลายคนมีสถานภาพในชีวิตที่ดีขึ้นถูกจ้างงานเป็นแรงงานคุณภาพที่ได้รับเงินเดือนทัดเทียมกับผู้ชาย และเลิกค่ำครวญหาการแต่งงาน แต่มันไม่ได้หมายความว่า ‘ผู้หญิงไม่ได้มองหาความรัก’

เช่นเดียวกับเนื้อหาในเพลง The Weekend เราจะเห็นว่าผู้หญิงที่เติมเต็มตัวเองได้ รักสนุก ปาร์ตี้ทุกอาทิตย์ เพื่อนฝูงมากมาย แต่ใจก็ยังใฝ่หาพ่อหนุ่มคนนั้นอยู่ดี คนที่จะโทรหาเราแค่วันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ซึ่งหากข้อสันนิษฐานของดิฉันถูกต้อง แสดงว่าตัวผู้หญิงเองหรือเปล่าที่ไม่มีเวลาไปหาผู้ชาย เพราะโดนเจ้านายโหลดงานเกินเบอร์ เมเนเจอร์ตามจิก ลูกค้าแก้งาน กว่าจะถึงห้องก็ปาไปสองทุ่มกว่ามีแรงออกไปเที่ยวอีกทีก็คงเป็นคืนวันศุกร์ที่จะได้หยุดงานเสาร์อาทิตย์

หรือข้อสันนิษฐานที่สองคือ ชายหนุ่มผู้นั้นก็คือไอ้ต้าวใจร้ายคนนึงที่เฟรนลี่ Friend of the world ชอบไปคุยจีบ หว่านเสน่ห์กับใครหลายๆ คน ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจะเป็นเพื่อนของเราหรือสาวออฟฟิศตรงข้ามก็เป็นได้

ข้อมูลอันน่าทึ่งอีกอย่างที่ดิฉันได้ค้นพบ และทำให้ความฝันสังคมหญิงเป็นใหญ่ใกล้เคียงความเป็นจริงไปอีกหนึ่งขั้นหลังจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผยข้อมูลประชากรและสัดส่วนระหว่างเพศชายและเพศหญิง ปี 2560 และคาดเดาไว้ว่าในปี 2563 ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้หญิงตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไปจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงตัวคนเดียวจะมีเพิ่มมากขึ้น ประมาณ 5.6 ล้านคน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวนั้นรวมถึงผู้หญิงที่เป็นหม้าย และผ่านการหย่าร้าง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ผู้ชายมีแนวโน้มเสียชีวิตเร็วกว่า และมีแนวโน้มแต่งงานใหม่มากกว่าผู้หญิง จึงทำให้มีผู้ชายที่ผ่านการหย่าร้างและพ่อม่ายน้อยกว่าด้วย[3]

โดยข้อมูลในปัจจุบันปี 2565 จำนวนประชากรชายไทยเป็น 32,339,118 คน ซึ่งน้อยกว่าประชากรหญิงไทยที่มีถึง 33,960,884 คน ก็ยืนยันให้เห็นบ้างแล้วว่าต่อไปในอนาคตก็จะมีประชากรหญิงไทยเพิ่มสูงขึ้นอีก อธิบายจากอายุคาดเฉลี่ย (life expectancy) ที่ยืนยาวของผู้หญิงร่วมด้วย

หลังจากการค้นพบสาเหตุถึงความไม่สมดุลในตัวเลขประชากรแล้ว ในแง่ของความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวในโลกปัจจุบัน การใช้ชีวิตรักจึงไม่สามารถมีสูตรสำเร็จตายตัวอีกต่อไป เราจะพบเห็นความสันพันธ์หลากหลายมากขึ้น เช่น One Night Stand, Friends with Benefit, Partner, Roommate, Twin flam และอื่นๆ อีกมากมายที่ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์กับใครคนใดคนหนึ่ง แต่เลือกที่จะหยิบชิมไปเรื่อยๆ เหมือนลูกกวาดสักแท่งก็ไม่ได้ผิดแปลกอะไร ซึ่งสอดคล้องกับเพลงป๊อบในปัจจุบันที่นักร้องหญิงต่างออกมาแต่งเพลงพูดถึงความสัมพันธ์ที่ลึกลับอธิบายยาก ความรักที่ไม่สมหวังแต่ก็ต้องเดินหน้าต่อไป และเพลงขอบคุณแฟนเก่าอีกมากมายที่ช่วยขยายความว่า นิยามความรักแบบในอดีตไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้หญิงยุคใหม่ ที่หันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น มีปากมีเสียงมากขึ้นในวงการต่างๆ ของสังคมไทย

เช่นเดียวกับการก้าวเข้ามาเป็นแรปเปอร์หญิงแนวหน้าอย่างมิลลิ หรือการออกมานำหน้าขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับชาติอย่างรุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) และเบญจา อะปัญ แต่ทำไมปัญหาปิตาธิปไตยหรือ ‘ความนิยมชายเป็นใหญ่’ ในสังคมไทยจึงไม่จางหายไปสักที

เราจะเห็นได้จากการมีอยู่ของกลุ่มเบียวหรือกลุ่มต่อต้านแฟมินิสต์ที่มีจำนวนมากขึ้นบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ พร้อมจะเตะตัดขาการ Call Out ประเด็นทางเพศจนหลงลืมความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับมนุษย์คนหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทางกายและทางใจ

โดยเนื้อแท้ของแนวคิดนิยมชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึกในสังคมไทยนั้น ไม่ได้ทำร้ายจิตใจหรือกดขี่เพียงเพศหญิงฝ่ายเดียว แต่ผู้ชายเองก็ถูกกดขี่เช่นกัน เมื่อดิฉันถามถึงประสบการณ์ปิตาธิปไตยที่เคยประสบกับเหล่าเพื่อนชายฉกรรจ์ พวกเขาต่างใช้เวลาครุ่นคิดพิจารณาอยู่นานกว่าจะได้คำตอบ

ซึ่งมีบางส่วนที่อธิบายว่าบ่อยครั้งพวกเขาเองมักถูกนำไปเปรียบเทียบกับคนที่มีความเป็นชายที่สมบูรณ์กว่า เช่น มีความก้าวหน้าในชีวิต มีรายได้มั่นคง หรือแม้กระทั่งต้องมีร่างกายกำยำ กล้ามโตเยี่ยงชายแท้ ซึ่งในความเป็นจริงเราทุกคนต่างก็ต่างมีเพื่อนผู้ชายแท้ที่มีความแตกต่างหลากหลาย

และแม้จะบางคนจะไม่ได้ตอบคำถามแต่ยืนยันว่าตนนั้นไม่เคยมีประสบการณ์ถูกกดขี่โดยผู้ชาย หรือนึกเหตุการณ์ไม่ออก แต่เมื่อวิเคราะห์คำตอบดูแล้วเสมือนว่า ผู้ชายที่ดิ้นรนหรือสามารถปรับตัวให้เข้ากับฝั่งผู้กดขี่ได้ ก็อาจจะไม่เซนส์ถึงประสบการณ์การถูกกดขี่ในชีวิต หรือไม่ก็รู้สึกอับอายมากเสียจะปริปากเล่าเหตุการณ์นั้นออกมา

แต่หากทุกคนลองย้อนคิดจริงๆ แล้ว แนวคิดนิยมชายเป็นใหญ่ไม่ว่าถูกนำมาใช้โดยคนเพศใดก็มักจะสร้างความเจ็บปวดไว้บ้างไม่มากก็น้อย ดังนั้นในท้ายที่สุด ผู้หญิงกับความสัมพันธ์ที่สมดุลลงตัวจึงเป็นเรื่องของการสร้าง Consent ร่วมกันระหว่างคนสองคน การได้พบกับใครสักคนที่คิดเห็นตรงกัน ศีลเสมอกัน เชื่อใจกันได้ ก็คงจะเป็นสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้นได้โดยที่ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้ชายมาขอแต่งงานเพื่อสร้างครอบครัวสมบูรณ์

อย่างตอนอวสานในละครไทยเสมอไป


[1] อ้างอิงจาก , Smart SME News. ‘สถิติเผยผู้หญิงมีงานทำมากกว่าผู้ชาย และมีแนวโน้มที่จะครองตลาดแรงงานของสหรัฐฯ’ .2563 ที่มา: https://www.smartsme.co.th/content/231573

[2] อ้างอิงจาก, มติชนออนไลน์. ‘สสช.’ เผยปี 60 หญิงไทยประกอบอาชีพลูกจ้างเอกชน สูงสุด 37.4% จากยอดเพศหญิงมีงานทำ 17.11 ล้านคน’ .2565 ที่มา: https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1109511

[3] อ้างอิงจาก, bugaboo tv. ‘สถิติเผย ไทยมีชายน้อยกว่าหญิงเฉลีย 1.3 ล้านคน อีก 5 ปี หญิงไทยโสดทั่วเมือง’ .2561 ที่มา: https://www.bugaboo.tv/news/384438

ภาพประกอบ: Yupp!

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า