fbpx

ปัญหา “อาชญากรเด็ก” กฎหมายและความคุ้มครอง ในมุมมองนักสังคมสงเคราะห์

เหตุกราดยิงพารากอนผ่านไปแล้วหลายสัปดาห์ แต่การพูดคุยถกเถียงเรื่องของ “อาชญากร” ยังคงร้อนแรงในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเมื่อผู้ก่อเหตุคือ “เด็กชายอายุ 14 ปี” ที่สร้างความตกใจและสะเทือนใจให้คนในสังคมมากกว่าเดิม เช่นเดียวกับการเรียกร้องให้ใช้บทลงโทษเทียบเท่ากับผู้ใหญ่ เพื่อให้สาสมกับชีวิตของเหยื่อที่ผู้ก่อเหตุปลิดชีวิต 

ขณะที่โลกโซเชียลเรียกร้องให้ใช้มาตรการลงโทษเทียบเท่าอาชญากรผู้ใหญ่ หลายฝ่ายก็พยายามออกมา “เตือนสติ” คนในสังคม พร้อมชี้ให้เห็น “กระบวนการสร้างอาชญากร” ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงข้ามคืน แม้ไม่แน่ใจว่าการออกมาเตือนสติสังคมในลักษณะนี้จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน แต่ในฐานะ “นักสังคมสงเคราะห์” นี่ถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทหน้าที่ ที่ “กอล์ฟ” ยังต้องทำต่อไป เพื่อสร้างความเข้าใจและลดการสร้างอาชญากรเด็กที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

The Modernist คุยกับนักสังคมสงเคราะห์ตัวตึง ที่ร่วม “ดึงสติ” สังคมในห้วงเวลาที่ทุกคนยังตกใจกับเหตุการณ์เลวร้าย ที่เราทุกคนอาจมีส่วนร่วมกันสร้างขึ้นมา

เมื่อเด็กกลายเป็นอาชญากร

ทุกครั้งที่เกิดเหตุอาชญากรรมและมี “เด็ก” เป็นผู้ก่อเหตุ หนึ่งวิชาชีพที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมก็คือ “นักสังคมสงเคราะห์” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสหวิชาชีพที่ต้องเข้ามาทำงานร่วมกับเด็กและเยาวชนเหล่านี้ โดยเหตุผลที่ต้องมีสหวิชาชีพคือประเด็นเรื่อง “การคุ้มครอง” ที่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็ก เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และนำไปสู่โอกาสในการทำงานด้าน “การเยียวยาและฟื้นฟู” 

“กฎหมายมองว่าเด็กในฐานะผู้ต้องหา ก็ต้องได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายในฐานะเด็กเหมือนกัน โดยคำว่าเด็กในที่นี้ก็คืออายุต่ำกว่า 18 ปี และเหตุผลที่กฎหมายมองแบบนั้น ก็เพราะกฎหมายยังมองว่าเด็กมีความเปราะบางอยู่ การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจึงไม่ควรเหมือนกระบวนยุติธรรมแบบผู้ใหญ่” กอล์ฟเริ่มต้นอธิบาย

ความเปราะบางของเด็กสามารถพูดได้หลายมิติมากๆ ทั้งความเปราะบางในแง่พัฒนาการ ที่สมองส่วนหน้าหรือสมองส่วนเหตุผลยังไม่พัฒนาเต็มที่ แต่สมองส่วนอารมณ์กลับพัฒนาในระดับหนึ่งแล้ว จึงนำไปสู่การที่เด็กจะมีโอกาสทำผิดพลาดหรือหุนหันพลันแล่นได้มากกว่าผู้ใหญ่ อันนี้ยังไม่รวมประเด็นที่ว่าเด็กคนหนึ่งไม่สามารถลุกขึ้นมาเป็นอาชญากรหรือเป็นฆาตกรได้ภายใน 1 วัน แต่มันมีกระบวนการในการสร้างให้เด็กเป็นอาชญากร ซึ่งมันก็มีหลายปัจจัยมากๆ ในการผลิตอาชญากรสักคนหนึ่งมากระทำเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญ”

เด็กร้องขอให้ช่วย…

“สิ่งที่ผ่านประสบการณ์ของพวกเราคนทำงานมาก่อน คือเด็กเหล่านี้มีประสบการณ์ปัญหาที่ควรได้รับความช่วยเหลือ อาจจะตั้งแต่ที่พวกเขาอายุน้อยกว่านี้ แต่สถานการณ์ปัญหาเหล่านั้นไม่เคยถูกพูดถึง ไม่เคยถูกมองเห็น หรือในหลายๆ ครั้ง มันเคยถูกมองเห็นมาแล้ว แต่ไม่เคยมีใครเข้าไปจัดการ ดังนั้น เราก็มองว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐด้วยส่วนหนึ่ง และเป็นความรับผิดชอบของสังคมด้วยส่วนหนึ่ง ที่ปล่อยปละละเลยพวกเขา จนวันหนึ่งพวกเขาส่งเสียงร้องที่ดังมากแบบนี้ออกมา” กอล์ฟชี้

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด พ.ศ. 2549 โดยระบุให้เป็นเด็กที่อยู่ในสภาพจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพ มีดังต่อไปนี้

  1. เด็กที่ประพฤติตนไม่สมควร ได้แก่ เด็กที่มีพฤติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
    • ประพฤติตนเกเรหรือข่มเหงรังแกผู้อื่น
    • มั่วสุมในลักษณะที่ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น
    • เล่นการพนันหรือมั่วสุมในวงการพนัน
    • เสพสุรา สูบบุหรี่ เสพยาเสพติดให้โทษหรือของมึนเมาอย่างอื่น เข้าไปในสถานที่เฉพาะเพื่อการจำหน่ายหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
    • เข้าไปในสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
    • ซื้อหรือขายบริการทางเพศ เข้าไปในสถานการค้าประเวณีหรือเกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี
    • ประพฤติตนไปในทางชู้สาว หรือส่อไปในทางลามกอนาจารในที่สาธารณะ
    • ต่อต้านหรือท้าทายคำสั่งสอนของผู้ปกครอง จนผู้ปกครองไม่อาจอบรมสั่งสอนได้
    • ไม่เข้าเรียนในโรงเรียนหรือสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ
  2. เด็กที่ประกอบอาชีพที่น่าจะชักนำไปในทางกระทำผิดกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดี ได้แก่ เด็กที่ประกอบอาชีพ ดังต่อไปนี้
    • ขอทานหรือกระทำการส่อไปในทางขอทานโดยลำพังหรือโดยมีผู้บังคับ ชักนำ ยุยงหรือส่งเสริม หรือ
    • ประกอบอาชีพหรือกระทำการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดี
  3. เด็กที่คบหาสมาคมกับบุคคลที่น่าจะชักนำไปในทางกระทำผิดกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดี ได้แก่ เด็กที่คบหาสมาคมกับบุคคล ดังต่อไปนี้
    • บุคคลหรือกลุ่มคนที่รวมตัวกันมั่วสุม เพื่อก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น หรือกระทำการอันขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือ
    • บุคคลที่ประกอบอาชีพที่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี
  4. เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือสถานที่อันอาจชักนำไปในทางเสียหาย ได้แก่ เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือสถานที่ ดังต่อไปนี้
    • อาศัยอยู่กับบุคคลที่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษหรือให้บริการทางเพศ
    • เร่ร่อนไปตามสถานที่ต่างๆ โดยไม่มีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่งที่แน่นอน หรือ
    • ถูกทอดทิ้งหรือถูกปล่อยปละละเลยให้อยู่ในสภาพแวดล้อมอันอาจชักนำไปในทางเสียหาย

แต่ผู้ใหญ่ไม่รับฟัง

ตามกฎหมายคุ้มครองเด็กนั้น ระบุไว้ว่าเราจะเริ่มกระบวนการคุ้มครองเด็กตั้งแต่เห็นสัญญาณที่เด็กมีความเสี่ยงต่อการกระทำความผิด แต่ส่วนตัวเราคิดว่ากระบวนการคุ้มครองเด็กในประเทศไทยตอนนี้ยังโฟกัสที่เด็กที่ถูกกระทำเป็นหลัก และละเลยการเข้าถึงเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำความผิด ดังนั้น ประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างหนึ่งในตอนนี้ คือเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. เด็ก ก็อาจจะยังไม่ค่อยเห็นสถานการณ์ส่วนนี้ หรือเห็นความสำคัญของการเข้ามาจัดการกับเด็กที่มีความเสี่ยงจะกระทำความผิดมากนัก”

ในขณะที่โลกมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน กฎกระทรวงก็จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขเช่นเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะลักษณะของเด็กที่มีแนวโน้มจะกระทำความผิดที่อาจต้องมีการเพิ่มเติมลงไปในกฎกระทรวง เช่น เด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิต หรือเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่อาจจะมีสภาวะกดดัน เป็นต้น

“กระบวนการคุ้มครองเด็กอาจจะต้องมองให้เห็นเด็กกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ต้องได้รับการฝึกฝนให้สามารถเข้าไปจัดการเด็กกลุ่มนี้ได้ดีขึ้นด้วย เพราะสิ่งที่เราเจอจากประสบการณ์ คือพอเราเห็นว่าเด็กคนหนึ่งดูมีความเสี่ยงที่จะกระทำความผิด แต่บทบาทหรือความเข้าใจของพนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่ค่อยอินเท่ากับการทำงานกับเด็กที่เป็นผู้ถูกกระทำ เพราะว่าเด็กที่ถูกกระทำค่อนข้างชัดเจนกว่าเด็กกลุ่มนี้ ว่าควรได้รับการปกป้องคุ้มครอง แต่กับเด็กที่มีแนวโน้มจะทำผิด ความเข้มข้นของการทำงานยังไม่เท่ากัน ซึ่งจริงๆ มันเป็นส่วนที่สำคัญมาก เนื่องจากมันคืองานป้องกัน เพื่อให้เด็กได้รับการดูแล”

อาชญากรเด็กที่ต้องบำบัดฟื้นฟู

เมื่อเด็กคนหนึ่งกระทำความผิดลงไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ “การรับโทษ” ซึ่งกอล์ฟมองว่าระบบยุติธรรมที่ทำงานกับเด็กของประเทศไทยมีความก้าวหน้าในระดับหนึ่งแล้ว โดยรัฐมีการเปลี่ยนแปลงในแง่วิธีคิด จากการทำโทษให้หลาบจำ สู่การเน้นเรื่อง “การบำบัดฟื้นฟู” มากขึ้น หรือที่เรียกว่าระบบการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูเด็กและเยาวชนเฉพาะรายแบบไร้รอยต่อ (Uninterrupted Tailormade Routing) ซึ่งกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้นำระบบนี้มาพัฒนาและประยุกต์ใช้ในกระบวนการดูแลเด็กและเยาวชน

“ตอนนี้แนวปฏิบัติที่ดีมากๆ ก็คือแนวปฏิบัติของบ้านป้ามล (ทิชา ณ นคร – ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก) ที่เราจะเห็นบทบาทของการดึงจุดแข็งของเด็กเข้ามาทำงาน การจัดการกับเรื่องการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของเด็ก การดึงผู้เชี่ยวชาญเข้ามา หรือการมีส่วนร่วมของครอบครัวที่เข้ามามีส่วนในการบำบัดฟื้นฟู เพราะในหลายกรณี ครอบครัวมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการทำความผิด” 

“แต่เวลาที่เราพูดถึงการบำบัดฟื้นฟู มันไม่ใช่แค่การทำงานกับเด็กอย่างเดียว เพราะเมื่อเด็กกลับไปอยู่ในครอบครัวที่ไม่ได้รับการเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนแปลงวิถีปฏิบัติที่เขามีต่อเด็ก หรือวิถีปฏิบัติเดิมในครอบครัว มันก็คือการให้เด็กกลับไปเจอตัวกระตุ้นเดิมๆ ดังนั้น การทำงานของนักสังคมสงเคราะห์จึงไม่ใช่การทำงานคนเดียว แต่ต้องดึงทรัพยากรจากหลายภาคส่วน ทั้งดึงทรัพยากรที่มุ่งเน้นเรื่องการปรับเปลี่ยนวิธีคิด การบำบัดพฤติกรรม การบำบัดทางสังคม ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่งานสังคมสงเคราะห์และงานฟื้นฟูเยียวยาเด็กที่กระทำความผิด” กอล์ฟเล่า

ลงโทษให้หลาบจำไม่ได้ผลในระยะยาว

เมื่อมาถึงตรงนี้ หลายคนก็อาจจะรู้สึกหงุดหงิดไม่พอใจกับแนวทางการปฏิบัติต่ออาชญากรเด็กที่ก่อเหตุสะเทือนขวัญ เหมือนกับการเรียกร้องในโลกโซเชียลมีเดียที่อยากให้อาชญากรเด็กเหล่านี้โดนลงโทษเหมือนผู้ใหญ่ไปเลย แต่เราทุกคนต่างก็ได้เห็นมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ว่าวิธีการลงโทษเด็กแบบนั้นไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว

วิธีการแก้ไขปัญหาแบบที่หลายคนบอกมา เช่น ควรลงโทษเด็กเหล่านี้แบบผู้ใหญ่ หรือการใช้การลงโทษให้หลาบจำเท่านั้น แต่เราคิดว่ามันไม่ได้ผล และมันไม่ใช่การสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมในระยะยาว เวลาที่นักสังคมสงเคราะห์ออกมาพูดแบบนี้ สิ่งที่เรามักจะโดนด่าคือโลกสวย ซึ่งเราก็จะบอกว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันไม่ใช่การโลกสวย แต่มันคือการเรียนรู้จากวิถีปฏิบัติเดิมๆ ที่เคยปฏิบัติกันมา แล้วมันไม่ได้ผล ก่อนหน้านี้ที่เราทำกันมาคือทำให้หลาบจำ เน้นการลงโทษเป็นหลัก แล้วเราก็ได้เห็นว่าอัตราการทำผิดซ้ำสูงมาก มันเหมือนจุดยอมแพ้ที่ไม่ได้ย้อนกลับไปถึงกระบวนการสร้างเด็กเหล่านี้ เหมือนเราแก้กันที่ปลายเหตุ” กอล์ฟระบุ 

“ดังนั้น ถ้าเราหยุดแค่ตรงนี้ เอาแค่ความสะใจ เน้นบังคับให้หลาบจำ มันก็เหมือนประวิงเวลาให้อาชญากรตัวน้อยที่กำลังถูกผลิตอยู่ โดยที่เราก็ไม่ได้ไปแก้ที่รากของปัญหา แล้วเราก็ต้องเจอกรณีแบบนี้อีกเยอะ เพราะยังมีกระบวนการผลิตอาชญากรเด็กเหล่านี้ออกมาอยู่”

อาชญากรเด็ก = ปัญหาปัจเจก (จริงหรือ?)

ความคิดเห็นที่ผ่านตาบ่อยๆ ในโลกออนไลน์ (อย่างน้อยก็กับผู้เขียน) คือหลายคนไม่เชื่อว่าสังคมคือผู้ผลิตสร้างอาชญากรเด็กเหล่านี้ แม้จิตแพทย์ นักวิชาการ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือคนทำงานคลุกคลีกับเด็กมากมายจะออกมาอธิบายความเชื่อมโยงของสังคมและพฤติกรรมของเด็กมากแค่ไหนก็ตาม

“เราเปลี่ยนความเข้าใจนี้ของสังคมได้ยาก เพราะถ้าเราไม่ได้เรียนหรือมาทำงานทางด้านนี้ เราก็คงจะไม่เชื่อ เพราะเราไม่เห็น แต่เราได้ที่เห็นสถานการณ์เหล่านี้ ได้เห็นสายพานชีวิตของเด็กเหล่านี้ สิ่งที่เราจะบอกสังคมก็คือเราไม่ได้คาดหวังให้สังคมเปลี่ยน แต่เราในฐานะนักวิชาชีพ เราเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของปัจเจก มันไม่ใช่แค่เด็กคนนี้ และเราก็จะทำหน้าที่พูดในสิ่งที่เรามองเห็นให้สังคมฟัง จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน”

“แต่ถ้าถามว่าอยากร้องขออะไร เราก็อยากร้องขอการเปิดใจและเรียนรู้ว่าในเรื่องเดียวกันนี้ มันยังมีมุมอื่นๆ อย่างไรบ้าง ให้โอกาสตัวเองทำความเข้าใจสถานการณ์นี้ ส่วนเรื่องจะตัดสินใจอย่างไร เชื่อหรือไม่เชื่อ อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของแต่ละคนเลยว่าจะยังไงต่อ แต่ในแง่บทบาทของรัฐและวิชาชีพแบบเรา เราก็ยังจำเป็นต้องทำสิ่งนี้ แม้ว่าสังคมจะไม่เห็นด้วย อย่างน้อยเรามีจุดยืนที่ชัดเจนว่าทำสิ่งนี้เพื่ออะไร ด้วยหลักการแบบไหน” กอล์ฟกล่าวปิดท้าย

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า