fbpx

ทำไมบัตรคอนเสิร์ตแพงขึ้น? รู้จัก “Funflation” ปรากฏการณ์อัดอั้นของผู้คนหลังยุคโควิด-19

ปี 2023 นับว่าเป็น “ปีแห่งคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรี” อย่างแท้จริง เพราะตั้งแต่ต้นปีจนกระทั่งถึงตอนนี้ ชาวไทยและชาวต่างประเทศทั่วโลก ต่างก็สนุกสนานไปกับคอนเสิร์ตของศิลปินดังระดับโลก และเทศกาลดนตรีที่มีสีสันมากมาย แม้ในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะที่ค่าแรงต่ำลง แต่ดูเหมือนว่าไม่ว่าจะมีคอนเสิร์ตอะไร ผู้คนก็ยังคงยินดีจ่ายเงินเพื่อซึมซับประสบการณ์อันเต็มอิ่มนี้

อย่างไรก็ตาม หากสังเกตดีๆ จะพบว่าราคาบัตรคอนเสิร์ตในยุคนี้ ดูเหมือนจะดีดตัวขึ้นสูงกว่าในปีที่ผ่านมา กลายเป็นปรากฏการณ์ที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “Funflation” ที่แม้จะยังไม่มีคำในภาษาไทย แต่เราก็อาจเรียกอย่างไม่เป็นทางการได้ว่า “ภาวะเงินสร้างความสุขเฟ้อ”

เมื่อความสุขไม่เคยมีราคาแพงขนาดนี้มาก่อน ก็น่าสนใจว่าเหตุใดการซื้อความสุขต้องแลกมาด้วยราคาที่สูงจนกลายเป็นปรากฏการณ์เช่นนี้

Funflation คืออะไร

Funflation เป็นคำศัพท์ทางเศรษฐกิจคำใหม่ หมายถึงเทรนด์ที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อประสบการณ์สนุกๆ มากกว่าจะซื้อสินค้าสำหรับใช้ในบ้าน เช่น โทรทัศน์ หรือคอมพิวเตอร์ เทรนด์ดังกล่าวนี้กลายเป็นกระแสมากขึ้น หลังจากที่การแสดงสดอย่างคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรี หรือแม้กระทั่งละครเวที กลับมาทำการแสดงได้ จากที่ต้องหยุดทำการในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เมื่อช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

นอกจากคอนเสิร์ตที่ประสบภาวะ Funflation แล้ว ประสบการณ์ความบันเทิงด้านอื่นๆ ก็จัดอยู่ในภาวะนี้ด้วย เช่น การชมกีฬา ตั๋วเข้าสวนสนุก การรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือแม้กระทั่งภาพยนตร์ ซึ่งเห็นได้จากกระแส “Barbenheimer” ที่เกิดขึ้นจากการที่ภาพยนตร์ Barbie เข้าฉายพร้อมกับภาพยนตร์ระดับตำนานอย่าง Oppenheimer ซึ่งค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงเหล่านี้ได้พุ่งสูงขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ปัจจัยที่ทำให้เกิด Funflation

ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดภาวะ Funflation คือสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเมื่อราว 4 ปีก่อน และนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ในแทบทุกพื้นที่ของโลก เพื่อป้องกันการติดต่อของเชื้อโรค เมื่อทุกคนต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน ความบันเทิงอย่างการฟังดนตรีสดจึงต้องหยุดชะงักลง แม้จะมีคอนเสิร์ตออนไลน์ หรือ virtual concert ก็ดูเหมือนจะทดแทนการชมคอนเสิร์ตในฮอลล์จริงๆ ไม่ได้

เพราะฉะนั้น หลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จนกระทั่งสามารถจัดคอนเสิร์ตได้ ความนิยมในการชมคอนเสิร์ตจึงพุ่งกระฉูด จากความอัดอั้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดย Chris Hayes จาก Oak View Group กล่าวถึงปรากฏการณ์นี้ว่า ก่อนหน้านี้ ผู้บริโภคเสพความบันเทิงอยู่ที่บ้านมากเกินไป และเฝ้ารอที่จะออกจากโลกดิจิทัล เพื่อเสพความบันเทิงแบบสดๆ

“สถิติบางอย่างที่ผมค้นพบ ทั้งก่อนและหลังการระบาด ผู้คนที่ยินดีที่จะใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายเพื่อตัวเอง เพิ่มขึ้นถึง 51% และการบริโภคความบันเทิงในช่วงการระบาดของโรคเพิ่มขึ้นถึง 84%” Hayes กล่าว

และเนื่องจากการที่อีเวนต์ต่างๆ ถูกเลื่อนและคั่งค้างมาตั้งแต่ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 นำไปสู่การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของสถานที่จัดงานและทรัพยากรต่างๆ บวกกับความต้องการที่ถูกควบคุมไว้เป็นเวลาหลายเดือนในช่วงล็อกดาวน์ ทำให้เหล่าออร์แกไนเซอร์อยู่ในจุดที่เพิ่มราคาค่าจัดงานได้ เมื่อความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ราคาค่าเสพความบันเทิงเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นตามธรรมชาติ

นอกจากนี้อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาค่าบัตรคอนเสิร์ตสูงขึ้น คือการใช้วิธีตั้งราคาบัตรแบบอัตราก้าวหน้า โดยแพลตฟอร์มขายบัตรต่างๆ แทนที่จะตั้งราคาแบบตายตัว แพลตฟอร์มเหล่านี้กลับใช้มาตราที่เปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเป็นการตั้งราคาตามความต้องการเข้าชมของอีเวนต์นั้นๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง

ช่วงวัยของผู้บริโภค ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะ Funflation กล่าวคือ ปัจจุบันนี้ คนรุ่นมิลเลนเนียลกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักของประชากรโลก อนาคตที่ไม่แน่นอน ความผิดหวังกับโลกที่เป็นอยู่ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ความโลภของนายทุน นักการเมืองที่พวกเขาไม่อาจยอมรับได้ ทำให้คนกลุ่มนี้ตัดสินใจที่จะสนุกกับชีวิต โดยการ “ซื้อประสบการณ์” แทนที่จะซื้อสิ่งของมาไว้ในครอบครอง

จากรายงานของ United Talent Agency (UTA) หนึ่งในสามของผู้ที่ถูกสำรวจ อายุระหว่าง 15 – 69 ปี ให้คุณค่ากับคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีมากกว่าที่เคยเป็นก่อนช่วงโควิด-19 ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 44% ในหมู่คนกลุ่มมิลเลนเนียล ซึ่งมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับบัตรคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีในงบประมาณรายได้พึงใช้จ่ายของตัวเอง

นอกจากนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าดนตรีมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพจิตและอารมณ์ งานวิจัยชิ้นหนึ่งของ Patrick Fagan ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์ ที่ทำร่วมกับ O2 บริษัทผู้ประสานงานด้านคอนเสิร์ตทั่วโลก พบว่า คอนเสิร์ตส่งผลต่อสุขภาพ ความสุข และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน โดย 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า การแชร์ประสบการณ์ในการชมคอนเสิร์ตกับผู้อื่น ทำให้พวกเขารู้สึกมีความสุขและสุขภาพดีมากขึ้น เมื่อเทียบกับการฟังเพลงคนเดียว และผู้ที่ชื่นชอบการไปชมคอนเสิร์ต มีความรู้สึกเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น 25% รู้สึกเชื่อมโยงกับคนอื่นมากขึ้น 25% และมีแรงกระตุ้นทางจิตใจเพิ่มขึ้น 75%

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า ความอัดอั้นของผู้ชมคอนเสิร์ตไม่ใช่แค่การโหยหาการออกจากบ้านเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของจิตใจและความรู้สึกเชื่อมโยงกับบุคคลอื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้น การชมคอนเสิร์ตสดๆ จึงเป็นประสบการณ์ที่เทคโนโลยีไม่อาจเข้ามาแทนที่ได้ สำหรับผู้บริโภค

Funflation ในวงการคอนเสิร์ต

ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า ปีนี้เป็นปีแห่งคอนเสิร์ตโดยแท้ โดยจากข้อมูลของ Forbes ทัวร์คอนเสิร์ตขนาดใหญ่ 5 อันดับแรกของโลก ประกอบด้วย Taylor Swift’s Eras Tour, Beyonce’s Renaissance World Tour, Ed Sheeran’s Mathematics Tour, Coldplay’s Music of the Spheres และ Pink’s Summer Carnival ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้เสียงตอบรับกันอย่างล้นหลาม 

การคาดการณ์โดยสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา (U.S. Bureau of Economic Analysis) ระบุว่า ชาวอเมริกันจะใช้จ่ายเงินราว 95 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับบัตรคอนเสิร์ต ตั๋วชมภาพยนตร์ และการชมกีฬาในปี 2023 ซึ่งสูงขึ้น 23% จากปีที่แล้ว

นอกจากนี้ จากรายงานของ The Wall Street Journal ราคารีเซลของบัตรคอนเสิร์ตโดยเฉลี่ย (ใน SeatGeek) เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า นับตั้งแต่ปี 2019 จาก 125 เหรียญสหรัฐ เป็น 252 เหรียญสหรัฐ ในปี 2023

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่เราไม่อาจมองข้ามได้ คือ Taylor Swift’s Eras Tour โดยศิลปินสาว Taylor Swift ที่ประกอบด้วย 151 โชว์ ใน 5 ทวีป ซึ่งเริ่มออกทัวร์ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2023 – ธันวาคม 2024

เป็นที่น่าเสียดายที่ Eras Tour ไม่ได้มาโชว์ที่ประเทศไทย ดังนั้น เราจึงสำรวจราคาคอนเสิร์ตจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ จากเว็บไซต์ Viagogo พบว่าปัจจุบัน ราคาบัตร Taylor Swift’s Eras Tour ที่ Singapore National Stadium อยู่ที่ระหว่าง 500 – 1,700 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 20,000 – 60,000 บาท) ส่วนราคาบัตรในจุดหมายสุดท้ายของทัวร์นี้ ที่ BC Place Stadium แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา อยู่ที่ระหว่าง 800 – 2,800 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 30,000 – 100,000 บาท)


ด้าน “แม่บี” หรือ Beyoncé ก็ไม่น้อยหน้า เพราะราคาบัตรคอนเสิร์ต Beyoncé’s Renaissance World Tour ในสหราชอาณาจักร จากรายงานของ PopBuzz เริ่มต้นที่บัตรนั่ง ราคา £56.25 – £199 (ประมาณ 2,100 – 7,600 บาท) ไปจนถึงประสบการณ์สุด exclusive กับที่นั่ง Pure/Honey On Stage Risers Front Row Experience อยู่ที่ £2400 (ประมาณ 91,000 บาท)

จากรายงานของ StubHub ราคารีเซลโดยเฉลี่ยของบัตรคอนเสิร์ต Taylor Swift’s Eras Tour มากกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐ ส่วน Beyoncé’s Renaissance World Tour ราคารีเซลบัตรอยู่ที่ราว 400 เหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ Bloomberg Economics ยังประมาณการณ์ว่า ทัวร์ของ Swift และ Beyoncé รวมกันน่าจะสร้างจีดีพีให้กับสหรัฐฯ ได้ถึง 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับประเทศไทย บัตรคอนเสิร์ตของศิลปินต่างประเทศที่มาจัดในประเทศไทยก็มีราคาสูงเช่นกัน อย่างเช่น คอนเสิร์ตของ Arctic Monkeys เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2023 ราคาบัตรเริ่มต้นที่ 4,000 บาท ส่งผลให้แฟนเพลงหลายคนต่อต้านผู้จัดฝั่งไทย โดยการชักชวนกันให้ไปดูคอนเสิร์ตวงนี้ในประเทศแถบเอเชีย อย่างสิงคโปร์, ฮ่องกง และฟิลิปปินส์ ที่ราคาบัตรถูกกว่า หรือคอนเสิร์ต Jackson Wang เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 ที่ราคาบัตรเริ่มต้นที่ 2,000 – 3,000 บาท แต่ที่นั่งอยู่แถวบนสุด และหากอยากใกล้ชิดกับศิลปิน ต้องจ่ายเงินกว่า 4,000 บาททีเดียว

ด้านศิลปินชั้นแนวหน้าอย่าง BLACKPINK ในคอนเสิร์ต BLACKPINK WORLD TOUR [BORN PINK] BANGKOK ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2022 ก็มีราคาบัตรเริ่มต้นที่ 2,000 – 2,800 บาท ไปจนถึงบัตร VIP ราคา 9,600 บาท ซึ่งแพงกว่าคอนเสิร์ตครั้งแรกของพวกเธอ เมื่อปี 2019 ที่ราคาบัตรถูกที่สุด อยู่ที่ 1,900 บาท ส่วนราคาบัตรที่แพงที่สุดอยู่ที่ 7,500 บาท และขายได้หมดทุกรอบ

คอนเสิร์ตก็ต้องการ แต่งบประมาณไม่ตอบโจทย์

แม้ว่าตัวเลขการชมคอนเสิร์ตจะเพิ่มขึ้นสูง แต่ก็ไม่ได้สะท้อนว่าเศรษฐกิจมีการเติบโตเสมอไป และขณะนี้ก็ยังมีสัญญาณของการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น จากปัจจัยต่างๆ เช่น ราคาค่าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหลายคนลดการไปชมคอนเสิร์ต โดยเลือกเฉพาะคอนเสิร์ตใหญ่ หรือคอนเสิร์ตประจำปีเท่านั้น

Shane Oliver นักเศรษฐศาสตร์ของ AMP Capital ระบุว่า คำตอบอยู่ที่ว่าผู้บริโภคจัดลำดับความสำคัญอย่างไร “เมื่องบประมาณของคุณตึงมือ คุณมักจะจัดลำดับความสำคัญว่าอะไรที่ให้ประโยชน์และความสุขสูงสุดให้คุณได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะเจริญรุ่งเรือง แค่ผู้คนแยกแยะเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินมากขึ้นเท่านั้น” Oliver กล่าว

นอกจากนี้ หลายคนยังแก้ปัญหาบัตรคอนเสิร์ตแพง ด้วยการมองหาดีลหรือส่วนลดจากออร์แกไนเซอร์ หรือชมคอนเสิร์ตขนาดเล็ก ไปจนถึงมองหาบัตรคอนเสิร์ตที่ “หลุดจอง”

ทิศทางของวงการคอนเสิร์ต หลังจาก Funflation

วงการคอนเสิร์ตจะเป็นอย่างไร หลังจากปรากฏการณ์ Funflation? Bank of America ได้ระบุถึงตัวขับเคลื่อนที่ยั่งยืนในระยะยาว ที่จะสร้างการเติบโตให้กับวงการคอนเสิร์ตในอีกหลายปีข้างหน้า ซึ่งประกอบด้วย 5 อย่าง ได้แก่

1. การใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปเป็นการซื้อประสบการณ์

2. ความต้องการที่จริงจังบนฐานของรูปแบบราคาในปัจจุบัน สามารถนำไปสู่โอกาสในการตั้งราคาในอัตราก้าวหน้า

3. อุปทานและอุปสงค์ที่มากขึ้น จากการที่ศิลปินใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเก่งขึ้น และสามารถโปรโมตตัวเองได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในตลาดที่กำลังพัฒนา เพื่อสร้างฐานแฟนเพลง

4. อีเวนต์การแสดงสดเป็นสิ่งที่ “ไม่อาจดิสรัปต์ได้” ดังเช่นอีเวนต์บนโลกเสมือนไม่สามารถเทียบกับอีเวนต์ที่คนสามารถเข้าร่วมได้จริง

5. การสนับสนุนจากสปอนเซอร์ที่เข้มแข็งและการตลาดที่เน้นประสบการณ์

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า