fbpx

“ฉ่ำ” “ของแทร่” “ช็อตฟีล” รวม “ศัพท์ฮิตโซเชียล” ประจำปี 2566

ช่วงปลายปีก่อนจะถึงปีใหม่แบบนี้ เป็นช่วงเวลาแห่งการ Recap เรื่องราวที่ผ่านมาตลอดปี และล่าสุด Wisesight ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับคำศัพท์ยอดฮิตในโลกโซเชียล ประจำปี 2566 และสรุปออกมาเป็น 10 อันดับศัพท์ฮิตโซเชียล ซึ่งวัดจากยอด Engagement จะมีคำว่าอะไรที่เข้าชิงมงกันบ้าง มาดูกันเลย

ฉ่ำ

เรียกว่าใช้กันฉ่ำไปเลยในโลกออนไลน์ สำหรับคำสั้นๆ ง่ายๆ แต่ความหมายสุดลึกล้ำอย่าง “ฉ่ำ” ที่ไม่ได้หมายความแค่ผิวหน้าฉ่ำวาวอิ่มน้ำ แต่ยังสามารถหมายถึง มาก, ปัง, ปั๊วะ, เลิศ เช่น นางงามไทยคว้ามงฉ่ำ, ไปเที่ยวมา อัพรูปฉ่ำ หรืออาจใช้ในความหมายเชิงลบได้ด้วย เช่น คนด่าฉ่ำ (คือคนด่าเยอะมาก), ดราม่าฉ่ำ (ดราม่าระดับมหากาพย์) เป็นต้น

ไอ้เราก็เท่ซะด้วย ทีนี้ก็ว้าวุ่นเลย

ประโยคเต็มของวลีฮิตนี้ คือ “ไอ้เราก็เท่ซะด้วยอะ ทีนี้ก็ลำบาก ก็ว้าวุ่นเลย บางทีแบบไปเจอสาวสวยๆ มากรี๊ดกร๊าดอะไรอย่างงี้ เธอจะเผลอใจบ้างไหม เขาก็มีถามเรา แต่เราก็บอกว่าไม่… เราไม่สนใจอยู่แล้ว เธอทำให้ผู้หญิงทุกคนบนโลกใบนี้สวยน้อยลง” ซึ่งเป็นคำตอบของเก้า – จิรายุ ละอองมณี ที่ตอบคำถามนักข่าวเกี่ยวกับการผันตัวมาเป็นร็อกเกอร์ นักร้องนำแห่งวง Retrospect และต้องเจอกับแฟนคลับสาวๆ ซึ่งหลังจากประโยคนี้เผยแพร่ออกไป ก็กลายเป็นไวรัลทันที ทั้งความเบียวของเจ้าตัว และความคลั่งรักแฟนสาว วี – วิโอเลต วอเทียร์ ที่ทำเอาสาวๆ ใจละลายกันทั่วบ้านทั่วเมือง

ของแทร่

“ของแทร่” เพี้ยนมาจากคำว่า “ของแท้” ซึ่งหมายถึงการเป็นตัวจริง เป็นของจริง ไม่ไก่กา เจ๋งจริง มีที่มาจากภาษาเฉพาะกลุ่มของเหล่าวัยรุ่นสร้างตัว ผู้พิศมัยในความเร็วของยานยนต์และแฟชั่นทรงเอ นอกจากนี้ คำว่า “แทร่” ยังถูกนำไปใช้ประกอบในคำอื่นๆ อีก เช่น “ชายแทร่” ที่เพิ่มระดับความ toxic ของคำว่าชายแท้ ใน พ.ศ. นี้ขึ้นไปอีก เป็นต้น

ช็อตฟีล

“ช็อตฟีล” เป็นการผสมกันระหว่างคำว่า “ช็อต” ที่หมายถึงไฟช็อต และ “ฟีล” ที่มาจากคำว่า ฟีลลิง (Feeling) มีความหมายว่า การช็อตอารมณ์ของคู่สนทนา เป็นการขัดบรรยากาศของคู่สนทนาแบบกะทันหัน ทำให้คู่สนทนารู้สึกเสียอารมณ์ โดยมากมักใช้กับสถานการณ์ที่ขัดอารมณ์ดีให้เป็นอารมณ์ไม่ดี นอกจากนี้ ผู้สามารถช็อตฟีลชาวบ้านได้บ่อยๆ ยังมักได้รับการยกย่องให้เป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เนื่องจากสามารถผลิตกระแสไฟฟ้ามาช็อตฟีล ขัดอารมณ์คนอื่นได้อย่างเชี่ยวชาญนั่นเอง

วาสนาผู้ใดหนอ

วลีเด็ดที่ต้องใส่สำเนียงเป็น “วาสนาผู้ใด๋หน๊อ” มีที่มาจากเพลง “วาสนาผู้ใด” ของ Parkmelody เพลงแอบรักยุคใหม่ ที่มีเนื้อหาว่าด้วยความสงสัยว่าใครกันเป็นผู้โชคดี ได้ดูแลผู้หญิงที่เจ้าของเรื่องแอบชอบ และกลายเป็นเพลงที่โด่งดังใน TikTok และด้วยเนื้อหาที่หลงรักคนมีเจ้าของ ก็ทำให้ชาวเน็ตหยิบเอาเนื้อเพลงท่อนนี้มาใช้เป็นแคปชั่นกล่าวถึงคนหน้าตาดี ที่ไม่รู้ว่ามีแฟนหรือยัง หรืออาจจะมีแล้ว ว่าใครกันนะที่มีวาสนาได้คบกับคนน่ารักแบบนี้ เป็นต้น

ตัวมารดา

หลายๆ คนน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า “ตัวแม่” ที่มักจะหมายถึงผู้หญิง เกย์ หรือผู้หญิงข้ามเพศ ที่โดดเด่นและเป็นผู้นำในด้านต่างๆ แต่สำหรับปีนี้ คำว่าตัวแม่ ถูกขยายออกมาเป็น “ตัวมัม ตัวมารดา ตัวให้นมบุตร ตัวสูตินรี” จากการที่อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังอย่าง “Aertha” หรือ “เอิร์ธ อติรุจ” ผู้ทำคลิปรีแอคชั่นซีรีส์ The Interns พร้อมวิพากษ์วิจารณ์เนื้อเรื่องในมุมมองของบุคลากรทางการแพทย์อย่างถึงเครื่อง ทำให้คลิปของ Aertha กลายเป็นไวรัลในชั่วข้ามคืน พร้อมวลี “ตัวมัม ตัวมารดา ตัวให้นมบุตร ตัวสูตินรี” ที่ถูกนำไปใช้ในการสรรเสริญตัวแม่ในทุกวงการ

รังสิตมันร้าย

“รังสิตมันร้าย” มีที่มาจากเพลงในชื่อเดียวกัน ผลงานของธนดล คลกันเอง, กฤษดี หมีเรืองแสง และทัตพงศ์ คงกระพัน นักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต เป็นเพลงฮิตอีกหนึ่งเพลงในแพลตฟอร์ม TikTok ด้วยดนตรีแดนซ์ จังหวะโจ๊ะ และเนื้อหากวนๆ เกี่ยวกับหนุ่มสาวในย่านรังสิตภิรมย์ ความโจ๊ะของ “รังสิตมันร้าย” ทำให้ชาว TikToker พากันหยิบเพลงนี้มาประกอบคลิปเต้น โดยหลังจากที่ปล่อยเพลงนี้มาเพียง 1 เดือน ก็สามารถกวาดยอดวิวได้กว่า 4 ล้านครั้ง และมียอดกดไลก์กว่า 4 หมื่นครั้ง

ต้องมีอะไรผิดพลาดตรงไหน

“ต้องมีอะไรผิดพลาดตรงไหน” เป็นวลีที่มาจากท่อนฮุคของเพลง “เลือดกรุ๊ปบี” ของ Chrrissa  หรือเอิ้ก ชาลิสา หนึ่งในแก๊งหิ้วหวี เนื้อหาของเพลงเป็นการตัดพ้อชีวิตโสด ที่ทำทุกวิถีทางแล้วก็ยังไม่มีความรักสักที ต้องมีอะไรผิดพลาดตรงไหนแน่ๆ ดังนั้น วลีนี้จึงถูกนำมาใช้ในสถานการณ์ที่ไม่ว่าทำอะไรก็ไม่สมหวัง จนต้องกลับมาพิจารณา มองหาความผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างทางนั่นเอง

คนไทยคนแรก

โดยทั่วไป การเป็น “คนไทยคนแรก” มักจะมีความหมายที่ดี เช่น ในกรณีที่คนไทยทำภารกิจใดๆ ได้เป็นคนแรกของโลก สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย แต่สำหรับ พ.ศ. นี้ “คนไทยคนแรก” กลับถูกใช้ในเชิงแซะ เหน็บแนม บุคคลที่ทำเรื่องธรรมดาแต่มั่นใจว่าตัวเองทำเรื่องพิเศษ หรือสถานการณ์ปกติที่ได้รับการชื่นชมจนเกินเหตุ ประมาณว่า ทำเรื่องธรรมดา แต่พราวด์มากเหมือนตัวเองเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ทำสิ่งนี้นั่นเอง

กรี๊ดสิครับ

“กรี๊ดสิครับ” มาจากประโยคเต็มว่า “กรี๊ดสิครับ กรี๊ดนะ กรี๊ดเลย ไม่ต้องกลั้นเอาไว้ กรี๊ด… (ลากเสียง) กรี๊ด ระบายมันออกมา ระบายมันออกมา…” เป็นคำพูดของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรข่าวชื่อดัง ในรายการ “กรรมกรข่าว คุยนอกจอ” เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเขาพูดเพื่อตอบโต้คอมเมนต์เชิงลบในรายการ ที่ระบุว่ารายการของเขาเป็นสื่อเอียงข้าง นำเสนอแต่ข่าวของพรรคก้าวไกล ด้วยเหตุนี้ สรยุทธเลยปลอบใจแอนตี้แฟนกลุ่มนี้ โดยการบอกให้กรี๊ดระบายความอัดอั้นตันใจออกมา นับแต่นั้นมา ไม่ว่าจะมีข่าวอะไร เมื่อมีผู้คอมเมนต์ “ดิ้น” หรือแสดงความไม่พอใจ ก็จะมีคนบอกให้ “กรี๊ดออกมา” นั่นเอง

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า