fbpx

จาก “Crown” นั้นถึง “Crown” นี้ มองข้างๆ อีกที เหล่า “นายกรัฐมนตรี” โคตรสำคัญ

ซีรี่ย์ The Crown (เดอะ คราวน์) ซีรี่ย์ที่ตีแผ่ชีวประวัติของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สมเด็จพระราชินาถแห่งสหราชอาณาจักร (ครองราชย์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1952-2022) ตั้งแต่ครั้งยังเป็นรัชทายาทจนการก้าวขึ้นสู่บัลลังก์ แน่นอนว่าซีรี่ย์เรื่องนี้ฉายเรื่องราวของพระนางผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามเย็นการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจของโลก ณ ขณะนั้นระหว่างสหรัฐอเมริกา-สหภาพโซเวียต สงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ วิกฤตคลอสุเอซ ตลอดจนเหตุการณ์ที่สหราชอาณาจักรคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีน

ในด้านชีวิตส่วนตัวและบุคคลรอบข้างล้วนมีสีสันสะท้อนออกมาผ่านซีรี่ย์อย่างน่าติดตาม  ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์การสวรรคตของพระเจ้าจอร์จที่ 6 การประสูติเจ้าฟ้าชายแอนดรูว์และเจ้าฟ้าชายเอ็ดเวิร์ด ความสัมพันธ์ช่วงต้นของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์กับคามิลล่า แชนด์ การลอบสังหารลอร์ดหลุยส์เมานต์แบทเทน การแยกทางและหย่าร้างของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์กับไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ , การเสียชีวิตของไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ จนถึงซีซั่นล่าสุดคือซีซั่น 6 เราจะได้เห็นฉากพระราชพิธีกาญจนาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ใน The Crown อย่างแน่นอน

ชีวิตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ล้วนผ่านเหตุการณ์สำคัญของโลก และเหตุการณ์ดราม่าในราชวงศ์มานับไม่ถ้วน แน่นอนว่าการความเป็นราชินีหรือผู้สวมมงกุฎใน The Crown ย่อมไม่พ้นเรื่องของการเมือง ซึ่งการเมืองอังกฤษย่อมต้องไปผูกกับตัวบุคคลสำคัญอย่างนายกรัฐมนตรี

The Modernist ภูมิใจเสนอ จาก “Crown” นั้นถึง “Crown” นี้ มองข้างๆ อีกที เหล่า “นายกรัฐมนตรี” โคตรสำคัญ เปิดประวัตินายกรัฐมนตรีรอบข้างของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ว่าในซีรี่ย์ The Crown มีนายกรัฐมนตรีกี่คนปรากฏตัวในหน้าฉากชีวิติของควีน จะได้ดูกันอย่างเมามันและข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองของอังกฤษในสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

พร้มอกับพกความรู้เตรียมไปพบกับ The Crown ซีซัน 6 ในวันที่ 16 พฤศจิกายน อย่างเข้าใจไปพร้อมๆ กันทั่วประเทศ

วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill)

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1951-1955 ตรงกับช่วงที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาของพระองค์ จะเห็นได้จากซีรี่ย์ The Crown ซีซันที่ 1เชอร์ชิลจะมีบทบาทมากในซีซันดังกล่าวถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่เปิดศักราชยุคของควีนเอลิซาเบธที่ 2 การที่เชอร์ชิลก้าวเข้ามาสู่อำนาจอีกครั้งในตำแหน่งนายกรัฐมตรีจากพรรคอนุรักษ์นิยมหลังจากที่พ่ายแพ้ให้กับพรรคแรงงาน

ถึงแม้ว่าควีนจะมีพระชนม์มายุน้อยแตกต่างจากเชอร์ชิลที่มีอายุมากแล้ว และแก่พรรษาทางการเมือง หลายคนอาจจะมองว่าควีนกับนายกรัฐมนตรีย่อมมีเรื่องที่ต้องขัดกันและมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปอย่างแน่นอน แต่กระนั้นจะพบว่าทั้งสองคนสามารถทำงานด้วยกันอย่างราบรื่นควีนเองก็ชื่นชมมาก เนื่องจากมีรายงานว่าเมื่อใดก็ตามที่พระสหายผู้สูงวัยได้เข้าเฝ้าฯ มักจะเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะอย่างครื้นเครงอยู่เสมอ

แอนโทนี อีเดน (Anthony Eden)

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1955-1957 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ในสมัยของควีน ซึ่งตรงกับซีซันที่ 2 ของ The Crown ตรงกับช่วงที่ นีกีตา ครุชชอฟ ผู้นำของสหภาพโซเวียต เริ่มลดท่าทีแข็งกร้าวลงทำให้สถานการณ์โลก ณ ขณะนั้นมีท่าทีจะสงบสุข แต่ๆๆ ใช่ว่าจะเป็นเช่นนั้นเพราะในยุคนายกรัฐมนตรีแอนโทนี อีเดน เกิดเหตุการณ์สำคัญคือ วิกฤติการณ์คลอสุเอซ สาเหตุเกิดจาก กาเมล อับดุล นัสเซอร์ ผู้นำอียิปต์ ณ ขณะนั้นคิดจะฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการสร้างเขื่อนที่เมืองอัสวาน ริมฝั่งแม่น้ำไนล์ได้รับการรับรองจากทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และธนาคารโลกให้กู้เงิน

แต่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดเมื่อ นัสเซอร์ เองทำสัญญากู้เงินกับตะวันตกแล้วยังแอบไปขออาวุธและกู้เงินจากสหภาพโซเวียต ทำให้ชาติตะวันตกและธนาคารโลกถอนการสนับสนุนการกู้ยืมเงิน ใช่ว่าเหตุการณ์จะจบลงเท่านั้นเพราะ นัสเซอร์ เองเมื่อรู้ตัวว่ายังไงชาติตะวันตกก็ไม่ให้กู้เงินแล้วเลยยึดบริษัทคลองสุเอซซึ่งเป็นกิจการของเอกชนร่วมระหว่างอังกฤษ-ฝรั่งเศสเองสะเลย ทำให้รัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสไม่พอใจเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกันอังกฤษ-ฝรั่งเศสเอง หวั่นใจการขึ้นมามีอำนาจของอียิปต์ จึงทำข้อตกลงกับอิสราเอลเข้าโจมตีอียิปต์เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ.1956 อังกฤษและฝรั่งเศสเคลื่อนกำลังเข้าควบคุมคลองวุเอซในทันที ทำให้นานาชาติประณามอังกฤษ ฝรั่งเศสและอิสราเอล อย่างหนัก ขณะที่สถานการณืภายในประเทศพรรคแรงงานเองก็ประณามการกระทำของรัฐบาล แอนโทนี อีเดน เล่นเอารัฐบาลต้องรีบยุติสงครามยอมสงบศึก โดยอียิปต์ยินยอมจ่ายเงินให้แก่ผู้ถือหุ้นบริษัทคลองสุเอซเป็นจำนวนเงิน 81 ล้านเหรียญ

ผลที่อังกฤษได้รับคืออียิปต์ปิดการเดินเรือในคลองสุเอซยากต่อการขนส่งของอังกฤษ ท่อส่งน้ำมันในซีเรือถูกปิด เศรษฐกิจหดตัวทองคำและเงินสำรองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงทำให้ แอนโทนี อีเดน ต้องลาออก

เรียกได้ว่าเหตุการณ์นี้ในซีซันที่ 2 ของ The Crown สร้างความตื่นเต้นมากในสมัยของควีน เพราะบ่งบอกถึงสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป การสงคราม รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจที่มีผลกระทบโดยตรง เรียกได้ว่าซีซั่นนี้เหตุการณ์นี้ควีนคงจะเหนื่อยสุดๆ กับการต้องลุ้นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ เพราะมีหลักฐานที่ว่าทำให้ นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ในรัชสมัยของพระองค์ ต้องเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงาน รวมถึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเอกสารลับของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติในครั้งนี้ด้วย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่พระองค์ได้รับเอกสารลับจากทางรัฐบาลอังกฤษ

ฮาโรลด์ แมคมิลแลน (Harold Macmillan)

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1957-1963 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ในสมัยของควีน ซึ่งตรงกับซีซั่นที่ 2 ของ The Crown เป็นนายกรัฐมนตรีที่เรียกได้ว่ามากู้วิกฤตเศรษฐกิจต่อจาก แอนโทนี อีเดน โดยเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นโดยใช้วิธีการลดอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกันอังกฤษยังรักษาความ “โดดเดี่ยวอย่างสง่างาม” ไม่ยอมเข้าร่วมตลาดร่วมยุโรป

แต่เมื่อไม่เข้าร่วมตลาดร่วมยุโรปทำให้อังกฤษสูญเสียผลประโยชน์ในสมัยนี้อังกฤษจึงก่อตั้ง “สมาคมการค้าเสรียุโรป” หรือ “เอฟตา” เศรษฐกิจก็ยังไม่ดีขึ้น อังกฤษจึงจำยอมต้องขอเข้าร่วมตลาดร่วมยุโรป แต่ถูกกีดกันจากประธานาธิบดีชาร์ล เดอโกล ทำให้ยังไม่สามารถเข้าร่วมตลาดร่วมยุโรปได้

ด้านการเมืองพรรคฝ่ายแรงงานกำลังแตกแยกด้วยเหตุมองประเด็นเรื่องยกเลิกนิกายประจำชาติต่างกัน การลดอาวุธก็มองคนละมุม และความเห็นไม่ตรงกันเรื่องโอนกิจการเอกชนมาเป็นของรัฐมากขึ้น ทำให้พรรคอนุรักษ์นิยมอยู่ในสภาพมั่นคงยิ่งขึ้น แต่ในปี ค.ศ.1963 ต้องมาสะดุดลงจากคดี โพรฟูโม เนื่องมาจาก จอห์น โพรฟูโม (John Profumo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามยอมรับว่าพูดเท็จต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อครั้งเคยกล่าวปฏิเสธสายสัมพันธ์ระหว่างเขากับ คริสตีน คีลเลอร์  โสเภณีซึ่งเคยมีความสัมพันธ์กับทูตทหารรัสเซีย

ถึงแม้จะไม่กระทบต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรงแต่เป็นเรื่องอื้อฉาวของคณะรัฐมนตรีทำให้ แมคมิลแลน ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่สุด

และยุคนี้เองเป็นยุคที่เรียกได้ว่า ยุคเอกราชของดินแดนในเครือจักรภพ เพราะดินแดนต่างๆ ได้เอกราชและยังอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ เช่น สหพันธรัฐมลายา (ต่อมาคือมาเลเซีย) ไนจีเรีย ยูกันดา เคนยา สหภาพแอฟริกาใต้ จาเมกา เป็นต้น

ด้านความสัมพันธ์เองน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ราบรื่นปรากฏให้เห็นคำพูดของนายกรัฐมนตรีที่มีต่อควีนว่า “ไม่เพียงแต่พระองค์จะทรงเต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ แต่ยังมีพระสติปัญญาที่ชาญฉลาดและเข้าใจในรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างเหลือเชื่อด้วย

อเล็กซ์ ดักลาส-โฮม (Alec Douglas-Home)

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1963-1964 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ในสมัยของควีน ซึ่งตรงกับซีซันที่ 2-3 ของ The Crown เป็นช่วงการปกครองที่สั้นๆ เพราะพรรคอนุรักษ์นิยมกำลังมีปัญหาภายในประกอบกับความนิยมของประชาชนต่อพรรคเริ่มน้อยลง ทำให้ ดักลาส โฮม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประมาณ 1 ปี เท่านั้นเป็นยุคที่เหตุการณ์สำคัญของสหราชอาณาจักรคือยุคเอกราชของดินแดนในเครือจักรภพ เป็นยุครับช่วงต่อจากแมคมิลแลน

สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ทรงคุ้นเคยกับนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นพระสหายสนิทของพระองค์มาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ และพระองค์ยังทรงร้องขอให้ อเล็กซ์ ดักลาส-โฮม ช่วยตั้งชื่อม้าของพระองค์อีกหลายตัวด้วย

ฮาโรลด์ วิลสัน (Harold Wilson)

ภายหลังการเสื่อมของพรรคอนุรักษ์นิยมที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานในที่สุดพรรคแรงงาน (Labour) ก็ชนะการเลือกตั้งโดยมี ฮาโรลด์ วิลสัน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงาน ตั้งแต่ปี ค.ศ.1964-1970 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ในสมัยของควีน ซึ่งตรงกับซีซันที่ 3 ของ The Crown

นายกรัฐมนตรีของพรรคแรงงานได้เริ่มนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นการส่งออก ลดสภาพเงินเฟ้อด้วยการจำกัดสินเชื่อ ประกอบกับเขามองว่าอุตสาหกรรมอังกฤษล้าสมัยด้านเทคโนโลยีการผลิตน้อยลงสู้กับประเทสอื่นๆ ไม่ได้จึงมีการเสนอร่างกฎหมายโอนอุตสาหกรรมเหล็กกล้าเป็นของรัฐ และมีการพยายามจะเข้าร่วมตลาดร่วมยุโรป แต่กระนั้นก็ถูกประธานาธิบดีชาร์ล เดอโกล เจ้าเก่าเจ้าเดิมกีดกันไม่ให้สหราชอาณาจักรเข้าร่วม

เหตุการณ์สำคัญของสมัยฮาโรลด์ วิลสัน คือสงคราม 6 วันระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอังกฤษเพราะคลองสุเอซถูกปิดลงทำให้การขนส่งของอังกฤษต้องชะงักลงไป เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้รัฐบาลต้องลดค่าเงินปอนด์ จากเดิม 1 ปอนด์ เท่ากับ 2.80 ดอลลาร์สหรัฐ เปลี่ยนเป็น 1 ปอนด์ เท่ากับ 2.40 ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนในด้านสังคมเองมีการเปิดกว้างทางเพศมากขึ้นที่สำคัญยังเป็นยุคกำเนิดวงดนตรีอย่างวงเดอะบีเทิลส์ (The Beatles) วงเดอะโรลลิงส์สโตนส์ (The Rolling Stones) อีกด้วย

ด้านความสัมพันธ์กับควีนนั้นฮาโรลด์ วิลสัน ถือเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงานคนแรกในรัชสมัยของพระองค์ มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ ที่พระราชวังบัลมอรัล ในสกอตแลนด์ หลังเสร็จสิ้นงานเลี้ยงพระกระยาหาร นายกรัฐมนตรีท่านนี้มักจะชื่นชอบการเข้าไปช่วยทำความสะอาดในห้องครัวอยู่เสมอๆ ความอบอุ่นและเป็นกันเองที่เกิดขึ้นนี้ จึงทำให้หลังเสร็จสิ้นการเข้าเฝ้าฯ ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการจึงมักได้รับพระราชทานให้เข้าร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังทรงเสด็จพระราชดำเนินมาร่วมงานเลี้ยงอำลาตำแหน่งที่บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ซึ่งถือเป็นเกียรติที่พระองค์ทรงมอบให้กับ วินสตัน เชอร์ชิลล์ และ ฮาโรลด์ วิลสัน เท่านั้น

เอ็ดเวิร์ด ฮีธ (Edward Heath)

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1970-1974 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ในสมัยของควีน ซึ่งตรงกับซีซันที่ 3 ของ The Crown เอ็ดเวิร์ด ฮีธ ขึ้นมาอำนาจถือได้ว่าเป็นการกลับมามีอำนาจของพรรคอนุรักษ์นยมอีกครั้งหลังจากที่พ่ายแพ้ให้กับพรรคแรงงาน (Labour)

เหตุการณ์ในสมัยนี้คือเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเอยู่ในเครือจักรภพ เพราะมีการออกกฎหมายปฏิรูปเพื่อยุติการแบ่งแยกระหว่างผู้นับถือศาสนานิกายคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ แต่สายเกินไป ขณะเดียวกันทั้ง 2 ฝ่ายเกิดการวิวาทกันทำให้มีผู้เสียชีวิต เกิดขบวนการไออาร์เอทำให้อังกฤษต้องส่งทหารเข้าไปในไอร์แลนด์เหนือเพื่อระงับเหตุการณ์ความไม่สงบ และในที่สุดถึงขั้นยุบรัฐบาลท้องถิ่นโดยโอนอำนาจรัฐบาลท้องถิ่นแก่รัฐมนตรีของอังกฤษที่ดูแลกิจการไอร์แลนด์เหนือ แต่ความไม่สงบก็ยังเกิดขึ้นอยู่

เหตุการณ์สำคัญอีกหนึ่งเหตุการณ์คือในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1973 อังกฤษได้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ขององค์กรการตลาดร่วมยุโรป โดยประธานาธิบดีชอร์ช ปงปีดู ของฝรั่งเศส ไม่ขัดข้องแต่ประการใด แต่ทำให้ทำให้ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นนักกับ นายกรัฐมนตรีเอ็ดเวิร์ด ฮีธ ที่สนับสนุนการเข้าร่วมกับสหภาพยุโรปอย่างเต็มตัว เพราะพระองค์ทรงไม่เห็นด้วย

ฮาโรลด์ วิลสัน (Harold Wilson) สมัยที่ 2

ภายหลังความไม่พอใจของสหภาพแรงงานที่มีต่อ ฮีท ของพรรคอนุรักษ์นิยมที่ครองอำนาจและเป็นปฏิปักษ์ต่อการนัดหยุดงาน ทำให้ในที่สุดพรรคแรงงาน (Labour) สามารถชนะการเลือกตั้งกลับมาอีกครั้งโดยมี ฮาโรลด์ วิลสัน กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี ค.ศ.1974-1976 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 สมัยที่ 2 ในสมัยของควีน ซึ่งตรงกับซีซันที่ 3 ของ The Crown

เป็นสมัยที่นายกรัฐมนตรีต้องเหนื่อยกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำ แต่มีการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองการจ้างงาน ทำให้สถานะของสภาพแรงงานแข็งแกร่งมากขึ้น สร้างความเป็นธรรมให้กับแรงงานอังกฤษเช่นนายจ้างต้องเตือนลูกจ้างก่อนเลิกจ้าง 90 วัน หรือให้คนงานหญิงลาคลอดได้ 6 เดือน มีการโอนบริษัทต่อเรือและเครื่องบินเป็นของรัฐบาล

แต่กระนั้นปัญหาเงินเฟ้อก็ใช่จะหมดไปบวกกับการเมืองในพรรคแรงงานเริ่มรุนแรงขัดแย้งกันเอง ฮาโรลด์ วิลสัน จึงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 เจมส์ คัลลาฮาน (James Callaghan)

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงาน (Labour) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1976-1979 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ในสมัยของควีน ซึ่งตรงกับซีซันที่ 3-4 ของ The Crown

บทบาทของ เจมส์ คัลลาฮาน ไม่ค่อยโดดเด่นนักเพราะมีปัญหาทั้งจากการเมืองในพรรคแรงงานเอง ประกอบกับปัญหาขาดดุลเรื่องรายรับรายจ่ายของรัฐยังรุนแรง อุตสาหกรรมยังล้าหลัง ประชาชนตกงาน นายกรัฐมนตรีต้องอาศัยเสียงจากพรรคอื่นสนับสนุน ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1979 มีการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลผลปรากฏว่าชนะเพียง 1 เสียงเท่านั้นเพราะมีสียงจากพรรคเสรีนิยมและพรรคชาตินิยมสกอตด์หนุนอยู่ เมื่อรัฐบาลรู้ตัวว่าไม่สามารถอยู่ได้ เจม คัลลาฮาน จึงลาออกและจัดให้มีการเลือกตั้ง

มาร์กาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher)

และแล้วก็มาถึงการรอคอยของหลายๆ คน สุภาพสตรีท่านนี้เป็นนายกรัฐมนตรีที่จะไม่กล่าวถึงก็ไม่ได้เพราะเรียกได้ว่าเป็นตัวแม่ตัวมัมตัวมารดาที่หลายๆ คนต้องรู้จัก เพราะเขาคือนายกรัฐมนตรีที่ได้สมญานามว่า “นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็ก” สุภาพสตรีท่านนี้ก็คือ มาการ์เรต แทตเชอร์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1979-1990 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ในสมัยของควีน ซึ่งตรงกับซีซันที่ 4 ของ The Crown

เธอคือนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของสหราชอาณาจักรและของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ที่สำคัญเป็นนายกที่มีอายุการดำรงตำแหน่งยาวนากว่าหลายๆ คน ขณะเดียวกันรัฐบาลของเธอดำเนินแนวทางการบริหารไปในทิศทางขวามากขึ้น ขณะที่พรรคแรงงานมีนโยบายไปฝ่ายซ้ายมากขึ้น การเมืองสหราชอาณาจักร ณ ช่วงเวลานี้ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่าง  2 พรรคอย่างชัดเจน

โดยรัฐบาลของแทตเชอร์มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาคเอกชน เช่นลดภาษีเงินได้ ภาษีมรดกลง เน้นให้คนซื้อบ้านเป็นของตนเองมากกว่าจะเช่าอยู่ เหตุการณ์สำคัญในรัฐบาลนี้ปรากฏในซีรี่ย์ The Crown ด้วยคือเหตุการณ์สงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ (The Falklands Wars)

เหตุการณ์เกิดขึ้นที่หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่อาร์เจนตินาอ้างว่าเป็นของตนเอง จึงมีข้อพิพาทเรื่องดินแดนนี้เรื่อยมาในที่สุดวันที่ 2 เมษายน ค.ศ.1982 อาร์เจนตินาตัดสินใจยกพลขึ้นบกยึดหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ได้อย่างรวดเร็ว

นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กของเราจึงตอบโต้ทันควันโดยใช้วิธีทางการทูตเรียกร้องผ่านคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติให้อาร์เจนตินาถอยทัพออกจากหมู่เกาะดังกล่าวและใช้วิธีทางการทหารโดยส่งกองทัพเรือรวมถึงเรือบรรทุกเครื่องบินไปอยู่หมู่เกาะฟอล์กแลนด์

มีหรืออาร์เจนตินาจะสู้กองทัพเรือของราชนาวีอังกฤษได้เรียกได้ว่ากองทัพอาร์เจนตินาต้องพ่ายแพ้ถอยออกจากหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ เป็นการแสดงแสนยานุภาพของราชนาวีอังกฤษอีกครั้งให้ทั่วโลกได้เห็นทำให้ทุกคนได้รำลึกถึงยุคจักรวรรดิอังกฤษที่รุ่งโรจน์อีกด้วย

อีกเหตุการณ์ที่สำคัญคือการที่สมาชิกของกองกำลังสาธารณรัฐไอริชหรือไออาร์เอทำการวางระเบิดลอบสังหาร ลอร์ด หลุยส์ เมานต์แบตเทน อุปราชประจำอินเดียคนสุดท้ายของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประปิตุลาของเจ้าชายฟิลิป (Philip) ดุ๊กแห่งเอดินบะระ พระสวามีของควีน นั่นเท่ากับว่าพระญาติคนสำคัญถูกลอบสังหาร ทำให้ปัญหาไอร์แลนด์เหนือต้องรีบแก้ไข แต่สมัยแทตเชอร์เองก็ไม่สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้แต่อย่างใด

เรียกได้ว่าสหราชอาณาจักรในสมัย แทตเชอร์ มีสีสันที่น่าสนใจมากมายแต่กระนั้นเธอก็ถูกท้าทายอำนาจากคนในพรรคอนุรักษ์นิยมของเธอเอง ซึ่งเหตุการณ์ที่เธอถูกท้าทายอำนาจทางการเมืองที่เกิดขึ้นเกิดจากเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ ชาวอังกฤษรวมถึงแทตเชอร์เองต่อต้านการใช้เงินสกุลเดียวกับยุโรป ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมสหภาพยุโรป ทำให้คนในพรรคอนุรัก์นิยมไม่พอใจ

หรือการเก็บภาษีที่เท่ากันหมดทำให้ภาษีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานไม่พอใจเพราะกลายเป็นว่าพวกเขาต้งถูกเก็บภาษีที่สูงขึ้น ขณะที่ชนชั้นสูงหรือผู้มีรายได้มากไม่ได้รับผลกระทบ และแน่นอนว่าภาวะเงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้นประกอบกับการว่างงานที่เพิ่มขึ้นทำให้คนในพรรคอนุรักษ์นิยมเกรงว่าพรรคจะได้รับความนิมลดลงจึงเริ่มต่อต้านแทตเชอร์

ทำให้ในที่สุดคนในพรรคเริ่มท้าทายอำนาจของเธอด้วยการเปิดหน้าลงแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม ทำให้แทตเชอร์ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรคเปิดทางให้คนอื่นๆ ขึ้นมามีบทบาทแทน

เรียกได้ว่าเป็นการก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเธออย่างภาคภูมิตลอด 11 ปีที่นั่งอยู่ในฐานะประมุขของฝ่ายบริหารถึงแม้จะมีนโยบายลดรายจ่ายของรัฐในด้านสวัสดิการทำให้หลายๆ คนไม่พอใจแต่ชื่อของเธอก็กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่สำคัญในสมันควีนเอลิซาเบธที่ 2 ที่ขาดไม่ได้เลยในซีรี่ย์ The Crown

แม้จะมีรายงานว่าความสัมพันธ์ระหว่าง สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 และ อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กผู้นี้ไม่ค่อยราบรื่นนัก แต่อดีตที่ปรึกษาของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในงานเลี้ยงฉลองอายุครบ 80 ปี ของ มาร์กาเรต แทตเชอร์ ซึ่งขณะนั้นเริ่มป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์จนกระทั่งมักมีอาการหลงลืม นั้น พระองค์ทรงใช้พระหัตถ์จับมือนายกรัฐมนตรีหญิงผู้นี้อย่างอ่อนโยนพร้อมกับพาเธอเดินไปทั่วงานเลี้ยงเพื่อทักทายกับแขกที่มาร่วมงานอย่างอบอุ่น

ในปี ค.ศ.1992 แทตเชอร์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นบารอนเนสแทตเชอร์แห่งเคสติเวน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอและได้นั่งในสภาขุนนางอีกด้วย

เรียกได้ว่าในสมัยนายกรัฐมนตรีแทตเชอร์เองได้สร้างความโดดเด่นให้กับสหราชอาณาจักร กลายประวัติศาสตร์การเมืองที่ต้องบันทึกว่าเป็นสมัยที่มีสุภาพสตรีในหน้าการเมืองอังกฤษที่โดดเด่นอยู่ 2 คน 1.คือมาร์กาเรต แทตเชอร์ และ 2.คือสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นั่นเอง

จอห์น เมเจอร์ (John Major)

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1990-1997 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ในสมัยของควีน ซึ่งตรงกับซีซันที่ 5 ของ The Crown ตัวเขาเองยังคนสานต่อนโยบายของ แทตเชอร์ ในบางด้านเช่นการลดบทบาทของรัฐการด้านกิจการเศรษฐกิจและสังคม การโอนกิจการรถไฟให้เอกชนเป็นผู้ดูแล ทำให้ยุคสมัยของเขาไม่ได้ต่างจาก แทตเชอร์ มากเท่าไหร่ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าไม่มีแนวนโยบายใหม่ๆ ประกอบกับบุคลิกภาพของเขาจืดชืด ทำให้พรรคคู่แข่งอย่างพรรคแรงงานที่มีนโยบายใหม่ๆ ได้รับความพึงพอใจจากประชาชนในอนาคตพรรคแรงงานจึงกลับมาชนะพรรคอนุรักษ์นิยมอย่างท่วมท้น

แต่ในสมัยสมัยของเขาก็มีเหตุการณ์สำคัญมากมายไม่ว่าจะเป็นสงครามอ่าวเปอร์เซีย การส่งมอบฮ่องกงคืนให้กับจีน หรือเหตุการณ์ท่สร้างปมและข้อสงสัยให้กับราชวงศ์คือเหตุการณ์อุบัติเหตุทางรถยนตร์นำไปสู่การเสียชีวิตของเจ้าหญิงไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลล์

ทางด้านความสัมพันธ์กับควีนนั้นเรียกได้ว่าเป็นสมัยแห่งการเกื้อกูลกันเลยทีเดียว เพราะต่างฝ่ายต่างให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันเป็นอย่างดีในการนำพาอังกฤษฝ่าฟันวิกฤตการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สงครามอ่าวเปอร์เซียรอบแรก การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ 

โทนี แบลร์ (Tony Blair)

ภายหลังความเบื่อหน่ายแนวทางการบริหารประเทศของพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative) ประกอบกับพรรคแรงงาน (Labour) ได้เสนอนโยบายใหม่ๆ ทำให้พรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งไปอย่างท่วมท้นมีที่นั่ง สส.ในสภา 419 คน ขณะที่พรรคอนุรักษ์นิยมมี สส.ในสภาเพียง 165 คน

เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงาน (Labour) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1997-2007 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ในสมัยของควีน ซึ่งตรงกับซีซันที่ 6 ของ The Crown

เขาเปลี่ยนรูปโฉมของนโยบายพรรคแรงงานใหม่ เช่น การเปิดตลาดเสรีจากเดิมที่พรรคแรงงานมีนโยบายให้รัฐเข้าดูลกิจการของเอกชน หรือด้านสวัสดิการจากเดิมรัฐบาลของพรรคแรงงานจะใช้งบประมาณไปค้ำจุนสวัสดิการก็เปลี่ยนมาเป็นการกำกับให้ประชาชนอดออมผ่านโครงการที่เอกชนดำเนินการสร้างหลักประกันให้กับประชาชน

ถึงขนาดที่ จอห์น เมเจอร์ อดกล่าวไม่ได้ว่าพรรคแรงงานสมัย โทนี แบลร์ มีลักษณะคล้ายพรรคอนุรักษ์นิยม

เหตุการณ์สำคัญในสมัย แบลร์ คือสกอตแลนด์ได้รับสิทธิให้มีรัฐสภาเป็นของตนเองหรือสงครามอิรัก-อิหร่าน ที่สหราชอาณาจักรทำตัวเองเข้าไปพัวพันและมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลวอชิงตันในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ บุช มากอีกด้วย

ทำให้ความสัมพันธ์กับควีนไม่ราบรื่นนักเพราะความเห็นต่างเรื่องโบราณราชประเพณีต่างๆ ขณะเดียวกัน พระองค์ยังทรงไม่เห็นด้วยนักที่ โทนี แบลร์ ให้ความสนิทชิดเชื้อกับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ มากจนเกินไปด้วย

โทนี แบลร์ จึงกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ถูกพูดถึงคนสุดท้ายในซีรี่ย์ The Crown ซีซัน 6 นั่นเอง แต่ๆๆ นายกรัฐมนตรีของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ใช่ว่าจะมีเพียง 10 ท่าน เพราะยังมีต่อมาอีก 5 ท่านได้แก่

  • 11.กอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) ดำรงตำแหน่ง ค.ศ.2007-2010
  • 12.เดวิด คาเมรอน (David Cameron) ดำรงตำแหน่ง ค.ศ.2010-2016
  • 13.เทเรซา เมย์ (Theresa May) ดำรงตำแหน่ง ค.ศ.2016-2019
  • 14.บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) ดำรงตำแหน่ง ค.ศ.2019-2022
  • 15.ลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) ดำรงตำแหน่ง ค.ศ.2022

มีนายกรัฐมนตรีทั้งหมดในสมัยของสหราชอาณาจักรสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 รวม 15 คน

ในซีรี่ย์ The Crow รวมถึงประวัติศาสตร์อังกฤษเองได้ทำให้ให้เราเห็นชัดเจนว่าในการเมืองสมัยใหม่ถึงแม้การเมืองภายในจะวุ่นวายขับเคี่ยวกันอย่างบ้าคลั่งทางการเมืองระหว่างพรรคการเมือง แต่กระนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เองก็ยังไม่ลงมายุ่งเกี่ยวกันการเมืองปล่อยให้ผู้เล่นทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้ดำเนินการสมกับคำว่า “The King (Queen ) Can Do No Wrong” การกระทำของกษัตริย์จะได้รับความคุ้มครองด้วยกฎหมาย แต่มีเงื่อนไขว่าการกระทำเหล่านั้นต้องเป็นไปตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของสหราชอาณาจักรเป็นที่ยงย่องนับหน้าถือตาในเวทีโลกตราบเท่าที่ยังรักษาหลักการ

แหล่งอ้างอิง ไทยรัฐ / บีบีซี / บีบีซี / Wikipedia / เดลินิวส์

  • รศ.ดร.ชาคริต ชุ่มวัฒนะ .ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอังกฤษปัจจุบัน .ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า