fbpx

กินหวานสันดาน ‘ไทย’ ความไทยที่ย้อนแย้งกับการขึ้น “ภาษีน้ำตาล”

ในฐานะคนไม่กินหวาน และอดน้ำตาลจนถึงขั้นที่ไม่โมโห ข่าวการปรับขึ้น ‘ภาษีน้ำตาล’ อาจไม่สะเทือนเราเท่าใดนัก แต่ในฐานะผู้บริโภคทั่วไป อัตราภาษีน้ำตาลก็อาจก่อให้เกิดความกังวลถึงค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นไป รวมถึงอาจเป็นการคุมพฤติกรรมตามเป้าหมายลดจำนวนผู้ป่วยเบาหวานหน้าใหม่ด้วย

ถึงแม้ภาครัฐจะออกมาประกาศว่าภาษีน้ำตาลจะไม่ส่งผลต่อต้นทุนค่าการผลิต แต่เรื่องกินเป็นเรื่องจำเป็นต่อชีวิต อะไรที่กระทบการกิน ก็กระทบต่อภาพใหญ่ของทั้งประเทศ ยิ่งอาหารนอกบ้านหวานยิ่งกว่ารักแรก ยิ่งกระทบเข้าไปใหญ่

บังเอิญวันนี้ (14 พฤศจิกายน) เป็นวันเบาหวานโลก หากคุณรู้สึกว่ากับข้าวที่คุณกินในแต่ละวัน ‘ติดหวาน’ หรือกำลังพยายามลดน้ำตาลแล้วหงุดหงิด หรือความหวานในใจกำลังต่ำไป (ผิด) เราอยากพาคุณไปดูประวัติศาสตร์ ‘ความหวาน’ ในวิถีการกินของคนไทยไปด้วยกัน

ไม่กินหวาน สันดาน ‘ไพร่’
รสหวานในฐานะตัวแบ่ง “ชนชั้น”

เราคุ้นตาและชินหูกับสำนวน “กินคาวไม่กินหวานสันดานไพร่” กันเป็นอย่างดี แม้ว่าประเทศไทยจะมีอ้อยเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ แต่ในอดีต รสหวานที่ควรจะได้กินกันทุกชั้นชนกลับเป็นอภิสิทธิ์ของชนชั้นสูงเสียอย่างนั้น

เดิมที การผลิตน้ำตาลในดินแดนไทยเป็นไปเพื่อการบริโภคและค้าขายอย่างเป็นอิสระ โดยเฉพาะในลุ่มแม่น้ำท่าจีนซึ่งเป็นแหล่งปลูกอ้อย จนกระทั่ง “สนธิสัญญาเบาว์ริง” มีผลทำให้ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนจากเศรษฐกิจแบบยังชีพเป็นเศรษฐกิจเพื่อการค้า และในเมื่อน้ำตาลมีไว้เพื่อการส่งออกเป็นหลัก คนที่จะซื้อน้ำตาลกลับเข้ามาในประเทศได้ก็ต้องเป็นคนที่ “รวยมากพอ”

ด้วยเหตุนี้เอง การกินหวานจึงดูเป็นเรื่องของชนชั้นสูงไปโดยปริยาย และก่อให้เกิดความเชื่อเกี่ยวกับอาหาร “ชาววัง” ว่าจะต้องมีรสหวานนำ ทั้งที่จริง ๆ แล้วการมีอาหารรสหวานในสำรับเป็นไปเพื่อ “ตัด” รสของอาหารอีกอย่างหนึ่ง แบบเดียวกับที่เราถูกสอนว่าแกงส้มต้องกินกับปลาทอด หรือถ้ามีแกงกะทิ ต้องตัดด้วยผัก เป็นต้น

รสนิยมการกินเช่นนี้คือความแตกต่างของการกินระหว่างผู้ “มีอันจะกิน” กับคนที่มีฐานะด้อยกว่า  และกว่าความหวานจะเป็นเรื่องของสามัญชน ก็ต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงทั้งเวลา เงินตรา และความคิดมากมายทีเดียว

นอกเหนือจากนี้ การกินหวานยังสัมพันธ์กับพื้นที่เพาะปลูกด้วย เช่นกระแสในอินเทอร์เน็ตที่พูดถึงรสชาติอาหารในจังหวัดเพชรบุรี (ที่เป็นพื้นที่ปลูกพืชให้ความหวานอย่าง “ตาลโตนด”) ว่าหวานกว่าจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งเป็นปกติของพื้นที่เพาะปลูกที่เมื่อปลูกอะไรได้ เหลือจากขายก็ทำสิ่งนั้นเป็นอาหาร

กลับกัน เมื่อเรานึกถึงอาหารอีสาน เรามักนึกถึงความเปรี้ยว เค็ม เผ็ด นัว อันเกิดจากผลผลิตของภาคอีสาน จึงอาจกล่าวได้ว่าเมื่อคนต่างภูมิภาค ต่างชนชั้นนำอาหารอีสานมาดัดแปลง จึงทำให้เกิด “ความหวาน” มากกว่ารสชาติดั้งเดิม เมื่อบวกกับค่านิยม “เหยียดภูมิภาค” ในประเทศนี้แล้ว การแปลงรสชาติให้เข้ากับปากของคนที่เป็น “กระแสหลัก” จึงอาจสะท้อนให้เห็นภาวะชนชั้นแบบ “อ้อม ๆ” ในสังคมไทยไปในตัว

(หากจะลงรายละเอียดไปที่การกินกับสายธารการเมืองไทย เราขอแนะนำให้คุณอ่าน จาก “ซอยจุ๊” สู่ “อึ่งไข่” อาหารการกินกับสายธารการเมืองร่วมสมัย ประกอบด้วย)

หวาน ๆ (หา) ทานง่าย
รสหวานที่ถูกส่งเสริม (?) โดยระบบเศรษฐกิจ

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาชีพ รสชาติ และพื้นที่กลายเป็นเรื่องที่ผู้คนจับต้องได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชน เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ไปพร้อม ๆ กับอาชีพสงวน รวมถึงนโยบายที่ส่งผลต่อการกินที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างนโยบายการจัดสรรที่ดินของจอมพล ป. พิบูลสงครามที่มุ่งเน้นการผลิตจากรายย่อยเป็นหลัก และมีข้อดีต่อเกษตรกรที่จะสามารถจัดสรรที่ดินทำกินเป็นของตัวเองได้ ไม่ต้องเสียส่วยให้กับเจ้าที่ดิน

หลังจากนั้น เมื่ออำนาจเปลี่ยนขั้วไปยัง “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” และนำไปสู่การสร้างทิศทางผลักดันเศรษฐกิจอย่าง “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” การส่งเสริมการปลูกอ้อยในฐานะพืชสำคัญทางการส่งออกในไทยก็เหมือน ๆ กับเทรนด์โลกช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่การผลิตอ้อยเพิ่มสูงขึ้น ทว่ามีต้นทุนที่สูง ทำให้เกิดองค์กรเพื่อควบคุมการผลิตน้ำตาลให้ตรงตามหลักวิชาการและสามารถส่งออกได้

ส่วนน้ำตาลที่เหลือจากการผลิตได้ถูกแปรรูปไปเป็นอาหารและเครื่องดื่มหลากหลายประเภท หนึ่งในนั้นคือ “เครื่องดื่มชูกำลัง” ซึ่งเข้าถึงชนชั้นแรงงานอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากราคาเข้าถึงง่าย แถมด้วยชื่อ “ชูกำลัง” ก็เข้าใจได้ไม่ยากถึงสรรพคุณของเครื่องดื่มประเภทนี้ว่าเอื้อต่อตลาดแรงงานอย่างไร

นอกเหนือจากนี้ รสหวานยังช่วยให้วัตถุดิบที่เสื่อมคุณภาพดูดีขึ้น ในขณะที่ต้นทุนก็ไม่ได้เพิ่มสูงมากนักอีกด้วย (หลักการเดียวกับเวลาเราเชื่อมผลไม้ด้วยน้ำตาลอย่างไรอย่างนั้น) เราจึงไม่แปลกใจว่าทำไมกับข้าวนอกบ้านถึงหวานจนทำให้เกิดอาการ “ติดหวาน” งอมแงมอย่างง่ายดาย รสหวานจึงเป็นรสชาติที่ “หาทานง่าย” ขึ้น จากกลไกการผลิตที่มากกว่าความต้องการตลาด จนกลายมาเป็นรสชาติหลักของอาหารไปโดยปริยาย

ด้วยเหตุผลเช่นนี้ โรคเบาหวานจึงกลายเป็นโรคท็อปฮิตของคนไทยมาตลอด เนื่องจากพฤติกรรมการกินหวานที่ “เคลือบ” ชีวิตประจำวัน หากจะลองสังเกตง่าย ๆ อาหารคลีนในท้องตลาดมีราคาสูงกว่ากับข้าวปกติอย่างชัดเจน หรือแม้กระทั่งหากคุณจะหักดิบเลิกกินหวาน ก็เกิดเอฟเฟกต์ “วีน” แบบฉ่ำ ๆ จนก่อให้เกิดการสร้างความตระหนักรู้เรื่อง “โรคเบาหวาน” และเกิดการจัดการจากภาครัฐ

‘ภาษีน้ำตาล’
รสหวาน การคุมพฤติกรรม หรือวิธีหาเงินของรัฐ

อันที่จริงแล้ว “ภาษีน้ำตาล” ไม่ใช่เรื่องใหม่

เพราะภาษีน้ำตาลเป็นภาษีที่จัดเก็บมาตั้งแต่ 2560 และค่อย ๆ เริ่มจัดเก็บในอัตราก้าวหน้าจนมาถึงระยะที่ 3 (เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2566 – 31 มีนาคม 2568) มีผลต่อเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาลโดยตรงอย่างน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มชูกำลัง

เราอาจมองได้ว่าการขึ้นภาษีน้ำตาลในระยะนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อภาคการผลิตนัก เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้ผลิตก็ได้ “ปรับสูตร” ให้ยังคงความหวานไว้ อย่างน้ำอัดลมสูตรไม่มีน้ำตาล หรือการเลือกใช้สารให้ความหวานอื่น เช่น หญ้าหวาน ที่ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ลดหวาน แต่เอาเข้าจริง ๆ ความหวานแบบปรับแล้วเช่นนี้ก็ยังคงมีผลกระทบต่อสุขภาพไม่แพ้เครื่องดื่มสูตรปกติอยู่ดี หากเราจะให้เหตุผลว่าการจัดเก็บภาษีเช่นนี้เป็นหนทางหนึ่งที่สร้างความตระหนักรู้ในเรื่องสุขภาพ เพื่อผลปลายทางคือ การลดจำนวนผู้ป่วยเบาหวานลง

เมื่อเราลองพิจารณาตัวเลขผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลก จะพบว่า อัตราผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยคาดการณ์กันว่าในปี 2573 จะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 643 ล้านคน ส่วนในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นปีละ 3 แสนคน การใช้มาตรการ “ภาษี” ควบคุมปริมาณ “น้ำตาล” เช่นนี้จึงอาจแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะส่งเสริมให้คนไทย “กินดี” ขึ้น เพื่อสุขภาวะของประชาชาติที่ดีขึ้น

ทว่าปัญหาของการจัดเก็บภาษีชนิดนี้อยู่ที่การบังคับใช้กับเครื่องดื่มเท่านั้น หากเราพิจารณาต่อไปว่าการควบคุมปริมาณน้ำตาลในภาพใหญ่ (ต่ออาหาร) การขึ้นภาษีน้ำตาลจึงอาจไม่ได้สะท้อนแค่การคุมพฤติกรรมการกินของคนไทยโดยรัฐเท่านั้น แต่อาจสะท้อน “กึ๋น” ในการหารายได้เข้ารัฐ เพราะไม่เพียงแต่จะมีภาษีความหวาน แต่ยังมีภาษีความเค็มอีกด้วย

เพราะท้ายที่สุด การคุมพฤติกรรมการกินอาจไม่ได้เกี่ยวกับแค่ผู้ผลิตเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้บริโภคที่ถูกรีดนาทาเร้นและบังคับไลฟ์สไตล์โดยรัฐด้วย

แหล่งอ้างอิง : ocsb / silpa-mag / diabetesatlas / pr.moph.go.th / excise / thainews / prachatai / thairath

  • อาสา คำภา. (2565). รสไทย(ไม่)แท้: ถอดรูปทิพย์อาหารไทย ในสนามการเมืองวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: มติชน

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า