fbpx

จาก “ซอยจุ๊” สู่ “อึ่งไข่”  อาหารการกินกับสายธารการเมืองร่วมสมัย

“จะรวยจะจน เราทุกคนต้องกินอาหาร”

      ก็เพราะว่าอาหารสำคัญขนาดนี้ อาหารจึงเป็นเครื่องบ่งบอกสถานะทางสังคมได้อย่างชัดเจนสมัยก่อน ชนชั้นสูงในชาติตะวันตกบริโภคเกลือเนื่องจากเป็นสินค้าหายาก แถมใช้เกลือถนอมอาหารให้อยู่ได้นานมากขึ้นในฤดูหนาว กลับกันการกินขนมหวานในสังคมไทยเป็นเรื่องของชนชั้นสูงเพราะน้ำตาลสมัยก่อนนั้นหายาก และกรรมวิธีที่ซับซ้อน หรือการเข้ามาของอาหารเหลาและอาหารตะวันตกในยุคแรกแสดงให้เห็นถึงความศิวิไลซ์ของสังคม ซึ่งนำไปสู่การดัดแปลงสูตรของกุ๊กชาวไหหลำที่เรียกว่า “กุ๊กช็อป” 

      แต่พอมายุคนี้ อาหารหลากหลายมากขึ้น มิติทางสังคมวัฒนธรรมก็หลากหลายเช่นกัน และน่าสนใจว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอาหารมีบทบาทสำคัญยิ่งในสายธารความเคลื่อนไหวทางการเมืองและการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งคาวและหวาน อาหารและเครื่องดื่ม ล้วนแต่สะท้อนความคิดเห็นทางการเมืองทั้งสิ้น

      เริ่มที่ “ซอยจุ๊” ถือเป็นอาหารจานหนึ่งที่เป็นตัวแทนของผู้เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถึงขั้นมีกิจกรรมการทำและกินลาบในนาม “คณะลาบ” เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออก ในช่วงปี 2563 ด้วยความที่ซอยจุ๊เป็นอาหารสามัญ เนื้อดิบ ขมเพี้ย หอมข้าวคั่ว แต่กลมกล่อม เช่นเดียวกับเส้นทางการได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่ถึงแม้จะขมขื่น ดิบเถื่อน และรวดร้าว แต่ท้ายที่สุดมันจะงดงามและโอบรับความหลากหลายทุกประการ ความเคลื่อนไหวของประชาชนนี้จึงทำให้ซอยจุ๊เป็นที่รู้จักมากขึ้น และหากินง่ายมากขึ้น 

      ก่อนหน้านี้ “ซ่าหริ่ม” (หรือที่ออกเสียงว่า สลิ่ม) กลายเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มผู้สนับสนุนฝ่ายขั้วอำนาจเดิมที่เรียกว่า “กลุ่มเสื้อหลากสี” ที่ไม่ยึดโยงตนเองเข้ากับสีใดสีหนึ่งของฝ่ายการเมือง แต่ในเวลาต่อมาก็เผยตนว่ามีแนวคิดโน้มเอียงทางการเมือง สุดท้ายแล้วสลิ่มกลายเป็นคำนิยามคนที่มีทัศนคติ “บูด” เหมือนน้ำกะทิเก่าเก็บ แถมยัง “หวาน” แหลมดูไม่จริงใจอีกด้วย

      หรือเมื่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมา ในรายการ “Woody Talk” มีการเปรียบเทียบอาหารบนโต๊ะกินข้าวซึ่งเป็นฉากหลักของรายการ กับผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกคะแนนจากผู้ชม เช่น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ต่อมาชนะการเลือกตั้ง ได้เลือกเมนู “ถั่วงอกกุ้ยช่ายขาวเต้าหู้หมูสับ” ที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับนโยบายของเขาเอง ซึ่งธเนศ เวศร์ภาดา นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยและนักวิชาการด้านวรรณกรรม ตั้งข้อสันนิษฐานว่าการเปรียบเทียบคุณสมบัติของอาหารนั้นเชื่อมโยงกับการหยิบยกจุดเด่นของตัวผู้สมัครแต่ละคนอย่างเห็นได้ชัด

      ส่วนในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งครั้งล่าสุด “มินต์ช็อก” (หรือจะเรียกช็อกมินต์ก็ตามสะดวก) และ “กาแฟส้ม” ถือเป็นสองเมนูเครื่องดื่มที่เป็นตัวแทนของสองพรรคการเมืองใหญ่ที่ฟาดฟันหนักหน่วงในสนามเลือกตั้งอย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลตามลำดับ ที่ส่งผลต่อความนิยมต่อสองเมนูนี้อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะ “มินต์ช็อก” ที่ความนิยมพุ่งกระฉูดท้าทายความชอบว่าจะอร่อยหรือจะเป็นยาสีฟัน หรือแม้กระทั่งการออกเมนูใหม่ชื่อ “ประชาชนช็อก” ช็อกโกแลตนมเย็น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของประชาชนต่อสถานการณ์บ้านเมืองสุดมหัศจรรย์ในช่วงเวลานี้

      และล่าสุด “อึ่งไข่” ที่กลายเป็นคำแกงตัวเองของชาว “นางแบก” โดยเริ่มจากการเปรียบเทียบของ “คำ ผกา” ที่กล่าวถึงการด้อยค่าเสียงของโหวตเตอร์เพื่อไทย ในผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาดันบังเอิญสอดคล้องกับความนิยมอึ่งไข่ในโลกโซเชียลด้วย โดยผู้คนนำอึ่งไข่ไปรับประทานด้วยสารพัดวิธี ไม่ว่าจะต้ม จะย่าง หรือจะนึ่ง ก็แซบหลายนัวมันชวนให้เราอยากลิ้มลอง ทว่า ‘อึ่งไข่’ ก็อาจจะกินได้แค่ไข่เพียงส่วนเดียว ที่อาจมีนัยถึงนโยบายประชานิยมที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถาวรทีเดียว

      ในลักษณะเดียวกับการเลือกอาหารขึ้นมาสะท้อนตัวตน อาหารยังสอดคล้องกับวัฒนธรรมการ “เชื่อมโยง” ของสังคมไทยอย่างชัดเจน การเปรียบเทียบวัตถุดิบ สีสัน และรสชาติเข้ากับอัตลักษณ์ของคนกลุ่มหนึ่งถือเป็นเรื่องหนึ่งที่มนุษย์จะคิดแถมยังเชื่อมโยงกับความหมายของอาหารที่เข้ากับวิถีของมนุษย์มาอย่างยาวนาน และยังส่งผลถึงการเลือกกิน – ไม่กินของบางอย่างอีกด้วย 

      จากซ่าหริ่ม ซอยจุ๊ จนถึงล่าสุดคือ “อึ่งไข่” อาหารจึงสามารถสะท้อนให้เห็นมุมมองของผู้คนต่อสังคมและการเมืองอย่างชัดเจน แต่ในขณะเดียวกัน อาหารคือรสนิยม เราจึงไม่สามารถตัดสินคนจากสิ่งที่เขากินได้ เช่นเดียวกับการไม่ตัดสินคนจากสีเสื้อหรือหน้าตา เหนือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าอาหารจะบอกความคิดเห็นอย่างไร อาหารยังคงมีบทบาทใหญ่ในการหล่อเลี้ยงชีวิต ชุบชูหัวใจในวันเหนื่อยล้าเช่นเดิม  

      ว่าแล้วก็ไปกินข้าวกันเถอะ หิวแล้ว

แหล่งอ้างอิง : VespadaAcademy / sanook / vogue / themomentum / คณะลาบ 2563 / workpointtoday / thairath

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า