fbpx

เดินหน้าสู่สนามการเมืองด้วยความกล้ากับ พีเค-พัสกร วรรณศิริกุล แห่งพรรคกล้า

พีเค-พัสกร วรรณศิริกุล เป็นที่รู้จักจากการเป็นผู้เข้าประกวด The Face Men Thailand เมื่อปี 2017 หลังจากจบรายการนี้ เขาก็ได้โลดแล่นในวงการบันเทิงและวงการศิลปะ และได้ลองทำ ลองเป็นอะไรหลายอย่าง เช่น เป็นศิลปิน เป็นนักแสดง เป็นนายแบบ เป็นนักธุรกิจ เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจ เป็นเจ้าของอาร์ตแกลอรี่ ฯลฯ

แต่หากจะมีอะไรที่เขาเป็นแล้วชวนให้แปลกใจที่สุด ก็คงจะเป็นนักการเมือง และเราก็ต้องแปลกใจต่อที่สอง เพราะพรรคที่เขาเลือกคือพรรคกล้า ซึ่งดูไม่ใช่พรรคที่เป็นตัวเลือกแรกของคนในรุ่นเดียวกับเขาเท่าไรนัก

“ทำไมถึงเป็นพรรคกล้า?” จึงเป็นคำถามที่เขามักถูกถามถึงบ่อยๆ หลังจากประกาศตัวเข้าสู่สนามการเมือง ในการเดินทางมาเจอกับเขา ณ ห้องประชุมที่ทำการพรรคกล้าวันนี้ เราก็อดไม่ได้ที่จะถามเขาด้วยคำถามนี้เช่นกัน

และมันเป็นคำถามที่เขาไม่เคยเหนื่อยที่จะอธิบายว่าทำไม 

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ทำไมถึงต้องเป็นพรรคกล้า

จริง ๆ ก็มีคนถามเยอะเหมือนกันนะว่าทำไมไม่ไปพรรคก้าวไกล คุณกรณ์ (กรณ์ จาติกวณิช) เขาชวนน่ะครับ เขาอยากให้เรามาเป็นคณะกรรมการเศรษฐกิจสร้างสรรค์กับเป็นที่ปรึกษาทางการเมืองให้เขา ผมอยากจะทำงานด้านการเมืองอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยงด้วยว่าต้องทำกับพรรคไหน พอมีโอกาสเข้ามาผมก็ยินดีที่จะเต็มที่กับมัน

ในฐานะที่ผมเป็นคนรุ่นใหม่อายุ 25 ปี ผมรู้สึกว่ามันโอเคที่เขาให้พื้นที่กับเรานะ ผมมีแคมเปญที่อยากทำเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิต อยากจะผลักดันให้พรรคการเมืองและรัฐบาลมาให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น คุณกรณ์เขารับฟังเรื่องนี้ผมเลยยินดีที่จะทำครับ

ก่อนหน้านี้ได้รู้จักคุณกรณ์มาก่อนไหม?

ไม่เลยครับ ผมรู้จักผ่านทางลูกสาวเขาเพราะเคยเดินแบบด้วยกัน มีวันหนึ่งผมก็คุยกับรุ่นพี่ที่รู้จักว่าอยากทำงานการเมือง แล้วพอดีลูกคุณกรณ์เขานั่งอยู่ตรงนั้น ก็ได้รุ่นพี่คนนี้นี่แหละที่สะกิดให้ทำความรู้จักเลยได้รู้ว่าพ่อเขาทำงานการเมือง แล้วจังหวะมันซิทคอมมาก เพราะผมหันไปถามเขาว่า “ขอโทษนะครับ พ่อคุณคือใครครับ” เขาตอบกลับมาว่าพ่อคือคุณกรณ์ ผมก็ร้องอ๋อเลย แล้วด้วยความที่ผมมีเพื่อนสนิทเคยฝึกงานอยู่พรรคกล้าก็เลยลองไปสมัครดู ตอนแรกก็ว่าจะไปสมัครฝ่ายมาร์เก็ตติ้ง คุยไปคุยมาประมาณหนึ่งชั่วโมงเลยได้ข้อสรุปว่าเขาอยากให้เราสมัครเป็นคณะกรรมการ ผมก็กลับบ้านไปเขียนลิสต์ยาว ๆ มาเลยว่าคนรุ่นใหม่เขาต้องการอะไรบ้าง คุณกรณ์เข้าก็รับฟัง ก็มีโอกาสได้ระดมความคิดกัน 

คุณกรณ์ตัวจริงต่างกับที่คิดไว้ไหม

ก่อนหน้านี้ผมไม่ได้รู้จักนักการเมืองคนไหนเลย ก่อนจะได้พบผมก็ทำ Research มาบ้างว่าเขาทำอะไรมาบ้าง พอได้มาเจอได้สัมผัสจริง ๆ ผมรู้สึกว่าเขาเป็นคนที่สุภาพมากนะ เป็นคนที่รับฟัง แล้วก็ดูสุภาพแบบมีชั้นเชิง

บทบาทในฐานะคณะกรรมการคือต้องทำอะไรบ้าง?

ผมเป็นที่ปรึกษาเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือก็คือเรื่อง Soft Power นั่นแหละ ซึ่งมันเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของพรรคกล้า ผมก็จะเป็นคนดูเรื่องวิธีการพัฒนา เสนอนโยบาย หรือค้นคว้าข้อมูลว่าปัญหาในวงการศิลปะตอนนี้มันมีอะไรบ้างเพราะผมอยู่ในวงการนี้เกือบทุกแขนงเลย พูดง่าย ๆ ก็คือผมเป็นคนให้คำแนะนำกับทางพรรคว่าจะต้องทำอะไรบ้าง จริง ๆ ตอนเด็กผมไม่เคยคิดอยากทำงานการเมืองเลยนะ

ความฝันแรกตอนเด็กเลยคืออยากเป็นนักเต้น นอกจากนั้นผมก็อยู่ในแวดวงศิลปะมานานมากไม่เคยคิดจะลงเล่นการเมืองเลยจนกระทั่งได้มาทบทวนชีวิตตัวเองจนได้คำตอบว่าเราอยากมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง แล้วอาชีพนักการเมืองนี่แหละที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้เร็วที่สุดในมุมมองของผม

ปรับตัวยังไงบ้างเมื่อเข้ามาทำการเมือง?

เรารู้อยู่แล้วว่าการเมืองมันเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเล่ห์เหลี่ยม มันเลยไม่ต้องปรับตัวอะไรมากเพราะรู้อยู่แล้วว่ากำลังเผชิญหน้ากับอะไร แต่ในส่วนของชีวิตส่วนตัวก็ต้องปรับกันหน่อยเพราะกลายมาเป็นคนของสังคมอีกครั้งเหมือนเมื่อห้าปีก่อนตอนแข่ง The Face ก็ต้องระมัดระวังในเรื่องของการพูด การกระทำหน่อย

ผลตอบรับเป็นยังไงบ้างในวันที่ประกาศเข้าพรรคกล้า

ไม่ได้แย่อย่างที่คิดนะ ตอนแรกกลัวเหมือนกัน เพราะผมมีแนวความคิดอิงไปทางฝั่งขวาแบบรีพับลิกันมากกว่าเดโมแครต และผมก็เชื่อมั่นในความคิดนี้ แต่ผลตอบรับก็ดีนะครับ

ส่วนที่บ้านก็โอเคครับ เขาตกใจด้วยซ้ำเพราะบ้านเราเป็นบ้านธุรกิจมีกิจการโรงพิมพ์ก็ไม่มีใครนึกว่าจะทำด้านการเมืองนะ ตระกูลก็ภูมิใจมากเพราะมันเป็นงานที่ดูมีอนาคต ที่บ้านก็สนับสนุนและยินดีจะช่วย

บรรยากาศการทำงานกับสมาชิกในพรรคกล้าเป็นยังไงบ้าง

ก็ดีนะ จริงๆ คนเขาจะคิดว่าพรรคกล้ามีแต่คนที่มีอายุ จริงๆ มันก็มีหลายคนเหมือนกันนะที่อายุไล่ๆ กัน 30-40 อะไรอย่างงี้ การทำงานก็ทุกคนก็ต้องทำในสิ่งที่ตัวเองทำเนอะ เวลาที่เรามาร่วมงานกันเราก็มีความเป็นครอบครังก็รักกันอะ สนับสนุนกันและกัน แน่นอนว่าทุกคนก็ไม่ใช่ทหารที่ยอมฆ่าตัวตายเพื่อพรรค ทุกคนก็มีความคิดเห็นของเขา เราไม่ได้มาเพื่อฟังคำสั่งแล้วทำ เรามาเพื่อ Sharing ทุกคนมาด้วยใจไม่มีใครที่ได้รับเงินเพื่อให้มาทำตำแหน่งนี้

ได้มีการคุยกับคนในพรรคอื่นๆ บ้างไหม

ผมคิดว่าประชาธิปไตยมันคือการเกิดขึ้นของหลาย ๆ ความคิดนะ ไม่ใช่แค่ความคิดเดียว ทุกคนเป็นเพื่อนกัน อย่างในงานเสวนาที่ผมเคยไป ผมก็จะคุยกับ สส.ก้าวไกล เช่น ครูธัญ (ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์) หรือพรรคอื่น ๆ อย่าง ไทยสร้างไทย, รวมไทยยูไนเต็ด สิ่งแรกที่ผมทำคือเข้าไปจับมือเขา สวัสดีแนะนำตัว สส.คือผู้แทนของกลุ่มคนหลายกลุ่ม พี่ ๆ เขาเป็นตัวแทนคนกลุ่มหนึ่ง ผมเป็นตัวแทนอีกกลุ่มหนึ่ง แต่หน้าที่เราคือการหาวิธีดีลให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนทั้งสองกลุ่ม เพราะหน้าที่ของนักการเมืองก็คือการเป็น Civil Servant หรือผู้รับใช้ประชาชน ถึงหลายพรรคจะมีนโยบายคล้าย ๆ กัน แต่ความแตกต่างคือทิศทางมากกว่าว่าจะเลือกเดินไปแบบไหน

ทั้งที่เราเป็นพรรคใหม่แต่มักจะถูกเชื่อมโยงกับประชาธิปัตย์เสมอ รู้สึกยังไงกับตรงนี้บ้าง

มันก็เป็นเรื่องปกติที่เขาจะคิดว่าเราเป็นพรรคประชาธิปัตย์ เพราะว่าหนึ่ง สี (หัวเราะ) และสอง คุณกรณ์เขาก็อยู่ประชาธิปัตย์มา 15 ปี ก็ต้องยอมรับว่าเป็นภาพติดตา ผมไม่รู้สึกอะไรนะ ประชาธิปัตย์เขาก็เป็นพรรคที่เก่าแก่ ถ้าคุยทางปรัชญามันก็พรรคที่ไม่มีเจ้าของ ผมว่ามันก็โอเคนะ 

เรานิยามจุดยืนของตัวเองว่าเป็นขวาแบบรีพับลิกัน แล้วขวาในไทยเป็นแบบไหน

คือผมยกตัวอย่างการเมืองในอเมริกาน่ะ ซึ่งมันต่างกับในไทยเลย ขวาบ้านเขาคือ รีพับลิกัน ซ้ายคือเดโมแครต ที่มีนโยบายในการบริหารประเทศต่างกัน แต่เมืองไทยมันไม่ใช่แบบนั้น ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าคำว่า ขวา-ซ้าย สำหรับเมืองไทยมันคืออะไร นอกจากเรื่องเอาหรือไม่เอาประชาธิปไตย เพราะพรรคกล้าตามหลักการแล้วเราเป็นพรรคฝั่งขวา แต่เราเห็นด้วยเรื่องสังคมหรือเรื่องการกระจายอำนาจ เพราะฉะนั้นผมว่าเรื่องซ้ายหรือขวาในไทยมันพูดยาก ผมรู้สึกว่ามันไม่มีซ้ายขวาชัดเจนในไทยนะ มันเป็น spectrum มากกว่า

แล้วมีมุมมองอย่างไรกับคำว่า สลิ่ม ซึ่งดูเหมือนเป็นคำที่ไม่ชัดเจนเหมือนกันกับเรื่องซ้าย-ขวา

คำถามนี้ผมถามหลายคนจริงๆ นะว่าคำว่า ‘สลิ่ม’ หมายถึงอะไร คือฝั่งที่ตรงข้ามกับกลุ่มชูสามนิ้วแค่นั้นหรอ นิยามมันคืออะไรอะ อนุรักษ์นิยมเหรอ ผมถามหลายๆ คนก็ได้คำตอบมาว่าหมายถึงกลุ่มคนที่ขวางความเจริญประเทศ งั้นแสดงว่าพรรคผมก็ไม่ใช่พรรคสลิ่มอย่างที่ใครเขาด่าสิเพราะเราก็เรียกร้องให้เกิดการพัฒนาทางสังคมตั้งหลายอย่าง
เป็นพรรคอนุรักษ์นิยมมั้ย ก็อาจใช่ แล้วไงต่อ ผมว่าคำนี้มันตลกมาก ซาหริ่ม (อาหาร) มันมีหลายสีใช่มั้ย? หลายสีหมายถึงคนหลายแบบ หลายความแตกต่าง การยอมรับความแตกต่างมันก็คือประชาธิปไตยไม่ใช่เหรอ? ผมพูดแบบนี้ไม่รู้จะโดนด่ามั้ยนะ (หัวเราะ)

คุณเคยพูดว่า “การเมืองคือศิลปะ” ช่วยอธิบายเพิ่มเติมหน่อยได้ไหม

การเมืองคือศิลปะเพราะว่าเราต้องใช้วาทะศิลป์ ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาให้ได้ดีที่สุดเพราะเรามีทรัพยากรจำกัด ผมว่ามันต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ค่อนข้างเยอะ ใช้ความทุ่มเท ความละเอียด มันเลยไม่ใช่อะไรที่ทำกันแบบเล่น ๆ แบบกว่าจะเกิดงานศิลปะหนึ่งชิ้นมันไม่ง่าย เพราะฉะนั้นผมเลยมองว่าการเมืองมันก็คือศิลปะ มันคืองานฝีมือที่เหนือชั้นที่สุด

เราสนับสนุนความหลากหลายทางเพศยังไงบ้าง ในฐานะที่เป็นที่ปรึกษาเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์

จริงๆ ในพรรคกล้าก็มีกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเยอะนะ ผมก็เลยเป็นเหมือนทูตของพรรคที่จะสนับสนุนพวกเขาในหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็น Pride Parade งานแฟชั่นโชว์ ที่ผมช่วยในเรื่องของการออกมาพูด ออกมาสนับสนุน ไปทำความรู้จัก ทำคอนเทนต์พร้อมกับครูธัญ เปิดเผยว่าพรรคกล้าสนับสนุนเรื่องนี้นะ

ถึงเราจะไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาล เราไม่ได้เป็นสส.ที่จะยกมือร่วมโหวตได้ แต่เราก็ช่วยในเรื่องของการออกมาพูดผ่านสื่อ คุณกรณ์เขาก็จะมองในด้านเศรษฐกิจอย่างที่เขาเขียนเรื่อง Rainbow Economy ว่ามันเป็นเรื่องจริง ผมโน้มน้าวคนรุ่นผม คุณกรณ์โน้มน้าวคนรุ่นเขา นี่คือสิ่งที่เราทำได้

แล้วเรื่อง Soft Power ที่เรากำลังทำอยู่ล่ะ มีมุมมองอย่างไร

อย่างเรื่องซีรีส์วายเนี่ย ผมว่ามันเป็น Soft Power ที่ดีเลยนะ ผมรู้จักกับมิว (ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์) เลยมีแฟนคลับเขามากดติดตามไอจีผม เชื่อมั้ยครับว่าในบรรดากลุ่มแฟนคลับที่มากดนี่มีหลายเปอร์เซ็นต์มากที่มาจากประเทศชิลี เปรู เม็กซิโก คือซีรีส์วายไทยมันไม่ได้มีความนิยมอยู่แค่ในจีน เกาหลี ญี่ปุ่นแล้ว ประเทศไทยส่งออกซีรี่ส์วายจนได้รับความนิยมไปไกลแล้ว และมันสามารถไปได้ไกลกว่านี้ถ้าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพราะนี่คือศิลปะที่เราส่งออกเหมือนกับภาพยนตร์เกาหลี หนังเอวีญี่ปุ่น คนอาจจะไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว ซีรี่ส์วายนี่เราได้มาจากทางญี่ปุ่นนะ เรายืมเขามาต่อยอดจนมันไปได้ไกลแล้ว นี่คือความภาคภูมิใจในการสร้าง Soft Power ของเราเลยนะ

ประสบการณ์การลงพื้นที่กับพรรคเป็นยังไงบ้าง?

ช่วงเลือกตั้งผู้ว่าผมก็ได้มีโอกาสได้ไปเดินกับสก.ตามที่ต่างๆ แต่ช่วงนั้นผมเพิ่งเข้ามาใหม่เลยยังอยู่ในช่วงเรียนรู้วัฒนธรรมและการทำงานขององค์กรอยู่ แล้วก็กำลังเขียนนโยบายเรื่องสุขภาพจิตด้วยก็เลยไม่ได้ทำอะไรมากครับ แต่ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ใหม่สำหรับผมนะ อย่างเรื่องการลงพื้นที่ในชุมชนนี่เป็นเรื่องที่เปิดหูเปิดตามาก การลงเล่นการเมืองทำให้เราคิดถึงกลุ่มคนหลายๆ กลุ่ม ได้รับประสบการณ์ที่ไม่เคยสัมผัสอย่างเช่นการได้เรียนรู้ ได้แลกเปลี่ยนกับคนในชุมชน มันเหมือนเป็นการเอาใจเขาใส่ใจเราเหมือนกันว่าชีวิตของเราจะเป็นยังไงถ้ามีเงินแค่เก้าพันต่อเดือน อะไรทำนองนี้ แต่ผมคิดว่าตัวเองเหมาะกับการเป็น สส. บัญชีรายชื่อมากกว่านะ คิดว่าผมดูเรื่องนโยบายดีกว่า

มันจะมีคำหนึ่งที่ผมชอบคือ “You are only just as fast as the slowest person in your team” แปลว่าประเทศเราเดินไปได้เร็วที่สุดกับคนที่เดินช้าที่สุดของประเทศ เนี่ยมันต้องใช้ความคิดว่าจะแก้ยังไงให้เขาเงินเดือนเยอะขึ้น

มองภาพของปลายทางชีวิตทางการเมืองของตัวเองว่าอยากไปอยู่ในจุดไหน

ผมไม่อยากตีกรอบตัวเองนะว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทุกวันนี้เราก็ไม่ได้ตีกรอบตัวเองว่าความฝันเราต้องอยู่ตรงไหน เราไม่รู้หรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราอาจจะไม่ได้เคยเป็นรัฐบาล อาจจะเป็นฝ่ายค้านอย่างเดียวก็ได้ทั้งชีวิตก็ได้ การได้รับใช้ประชาชนแค่นี้ผมก็มีความสุขแล้ว 

จะได้เป็นฝ่ายค้านที่ชอบคัดค้านคนอื่น หรือเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมก็เราไม่รู้เพราะฉะนั้นผมเลยตอบไม่ได้ รู้แค่ว่าเราต้องเดินหน้าต่อไป ผมอายุยี่สิบห้ายังมีแรงอีกนานถ้าผมต้องหาเสียงไปอีก 8 ปีก็ช่างมัน

ส่วนเรื่องที่ผมอยากทำตอนนี้ก็เรื่องสุขภาพจิตอย่างที่บอกไปนั่นแหละครับ ผมมีนโยบายว่าอยากให้มีครูที่รับฟังปัญหาชีวิตที่โรงเรียนภาครัฐทั้งประถมและมัธยมมากขึ้น อยากให้ลดตราบาปเรื่องสุขภาพจิต แต่ถ้าผมไม่ได้ สส.ปีนี้หรือรอบหน้าผมก็ทำเรื่องอื่นๆ ต่อไป

ทำงานมาเยอะ มีงานที่ชอบที่สุดไหม

เรามองว่าการทำงานมันเป็นหน้าที่มากกว่า จริง ๆ คือชอบอยู่บ้าน พักผ่อน (หัวเราะ) ชอบชิล ชอบจีบสาว เรามองว่างานมันเป็นความรับผิดชอบ ไม่ต้องชอบก็ได้แต่ต้องทำ

ผมก็ทำมาหลายอย่างนะไม่ว่าจะเป็นนักแสดง นายแบบ เปิดแกลเลอรี่ ภัณฑารักษ์ โปรดิวเซอร์ AE เซลล์ ทุกอย่างมันก็สนุกดีเพราะมีความท้าทายไม่เหมือนกัน ผมรักในทุกสิ่งที่ทำเพราะมันสร้างผลประโยชน์ ทำแล้วไม่รู้สึกเคว้งเพราะเรายังมีงานยังเลี้ยงชีพได้

เห็นบอกว่าเปิดแกลเลอรี่ มีแนวศิลปะหรือศิลปินที่ชอบไหม

ส่วนตัวผมชอบศิลปะดั้งเดิมนะ ศิลปะร่วมสมัยผมก็ชอบ ผมเป็นคนรักศิลปะ ถ้าถามว่าชอบอะไรคือผมลองมาหลายๆ อย่าง ทุกแขนงแล้วก็จะมีเซ้นส์ว่าอันไหนต่อยอดได้ อันไหนน่าจดจำ อันไหนน่าแชร์ อันไหนส่งผลกระทบดีต่อสังคม พวกนั้นผมก็แชร์ ส่วนอันที่เฉยๆ ผมก็ไม่ได้พูดอะไร ไม่วิจารณ์เพราะเราไม่ได้ทำ

ส่วนจิตรกรที่ผมรักที่สุดคือศิลปินอิตาเลียนชื่อว่า Caravaggio (จิตกรคนสำคัญในยุค Baroque มีชีวิตอยู่ช่วงค.ศ.1571-1610) ชีวิตของเขากับภาพของเขามันขัดแย้งกันเลย ภาพพระเยซูโคตรงดงาม แต่ชีวิตเขานี่โคตรร็อคแอนด์โรลเลย แต่ถ้าศิลปะร่วมสมัยผมชอบ Jackson Pollock (ศิลปินยุค Abstract มีชีวิตอยู่ช่วงค.ศ.1912-1956)

เรื่องศิลปะนี่ก็อยากพัฒนาให้มันทันสมัยขึ้นนะ ผมคิดว่ามันมีพื้นที่ต่อยอดให้ศิลปะดั้งเดิมของไทยทันสมัยขึ้นได้ มันจะเป็น Soft Power ที่ดีเลยถ้ารัฐบาลยอมรับและให้การสนับสนุน

มองปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่อย่างไร

ผมคิดว่าปัญหาตอนนี้มันคือการที่ทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ไม่ฟังกัน มันก็เลยทะเลาะกัน ตอนนี้มันขั้วลบมาก ปิดกั้นทั้งสองฝ่าย ผมรู้สึกว่ามันไม่โอเคเลย ส่วนหนึ่งที่มาทำเรื่องสุขภาพจิตก็เพราะเรื่องนี้แหละครับผมอยากให้คนคุยกันมากขึ้น คือในเชิงเศรษฐกิจนะทุกครั้งที่มันมีความไม่มั่นคงทางการเมืองเนี่ย สองอย่างจะเกิดขึ้น หนึ่งคือค่าเงินบาทลด สองคือบริษัทต่างประเทศถอนตัวออก 

ทุกครั้งที่มีความขัดแย้งนายทุนฝรั่งเขาเริ่มคิดแล้วว่าเราเอาไงดี ชิ่งดีกว่าไหม ไปสิงคโปร์ พม่า ลาว ดีกว่าไหม ผมบอกเลยนะถ้าเป็นบริษัทไทย ก็ได้เงินเดือนระดับหนึ่ง บริษัทนอกได้เงินเดือนอีกระดับหนึ่ง แล้วสมมติว่าเราชกตีกันอย่างงี้ จริงๆ มันมีผลกระทบต่อทุกคนเลยนะ มันรวมไปถึงคนที่เป็นลูกจ้างฝรั่งด้วยที่เขาอาจจะไม่มีงาน ผมว่าเลิกสู้กันได้แล้วมาพัฒนากันดีกว่า มันเป็นเรื่องของความมั่นคง ของเศรษฐกิจ ยิ่งเราปิดกั้นมันยิ่งทำร้ายตัวเอง

ผมรู้สึกว่าแคนดิเดตนายกมาหลายประเภท เราเห็นนักกฏหมายมาแล้ว เห็นนักธุรกิจมาเป็นนายกแล้ว ทหารก็มีแล้ว ผมว่าสิ่งที่บ้านเมืองเราต้องการมากที่สุดตอนนี้คือเศรษฐกิจที่ดีขึ้นมากกว่า ผมไม่ตำหนิพรรคอื่นและนโยบายของเขานะ แต่ผมคิดว่าเศรษฐกิจมันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด มันเป็นแก่นหลักของทุกอย่าง ผมว่าบ้านเราต้องการเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า