fbpx

ก้าวต่อไปของสมรสเท่าเทียมและเรื่องเพศที่เท่ากัน กับธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์

ครูธัญ-ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศจากพรรคก้าวไกล ที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เธอได้เสนอ ร่าง พรบ. สมรสเท่าเทียม ที่จะทำให้คู่รักทุกเพศสามารถสมรสกันได้เข้าสู่สภา แม้จะผ่านการลงมติโดยได้คะแนนเสียงข้างมาก แต่กลับถูกสภาแขวนไว้ โดยแจ้งว่าจะนำร่างฯ ไปศึกษาเพิ่มเติมก่อน

และไม่นานนี้ เมื่อทราบข่าวว่าสภาได้ทำการอนุมัติให้ตั้งอนุกรรมการยกร่างกฎหมายรับรองเพศ และคำนำหน้าคนข้ามเพศ โดยแต่งตั้งให้เธอเป็นประธานอนุกรรมาธิการชุดนี้

เราจึงไปเพื่อหาเธอทันทีที่สัปปายะสถาน เพื่อคุยกับเธอในเรื่องอนุกรรมาธิการชุดนี้ และเรื่องร่าง พรบ.สมรสเท่าเทียม ที่กำลังจะกลับเข้าสู่สภาอีกครั้งในวันที่ 8 มิถุนายนนี้

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

คิดยังไงกับการที่สภายอมให้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้

จริงๆ เรื่อง Gender recognition เป็นเรื่องแรกที่ครูได้ยื่นเข้าไปในสภาในฐานะ สส. และเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ครูก็ได้มีโอกาสไปร่วมงานกับเขาและตอนนี้ครูก็มีเวลาเหลืออยู่ประมาณ 6 เดือน ครูอยากทำให้มันเสร็จ รู้สึกว่ามันเฉียดฉิว ครูก็ไม่เข้าใจว่าทำไมมันถึงยืดยาด มันก็มีข่าวลือว่า ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน หรือคนอาจไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับปากท้อง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราโดนแรงเสียดทานจากสังคม เพราะงั้นตอนนี้ครูเลยรู้สึกว่ามันท้าทาย ที่เราจะต้องทำมันให้อย่างน้อยที่สุดในอีก 3-4 เดือนต้องทำให้เสร็จ เราจะได้มีโมเดลหลักในกฎหมายนี้เพื่อนำเสนอต่อไป

แล้วอนุกรรมมาธิการชุดนี้จะมีหน้าที่อย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง

ในการตั้งอนุกรรมาธิการก็จะมีหลายฝ่ายเข้ามา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักกฎหมาย นักสิทธิ เข้ามาเพื่อถกเถียงกันยกร่างกฎหมาย อย่างเช่นที่ครูทำเรื่อง Sex Worker ในการที่เราจะทำกฎหมายสักตัวหนึ่งเราก็ต้องเริ่มจากไปทบทวนกฎหมายต่างประเทศ ว่าในต่างประเทศ ซึ่งเขามีกฎหมายนี้มาตั้งแต่ 2004 ก็ 20 ปีมาแล้วเนี่ย มาดูสิว่ากฎหมายมันมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปยังไง เขามีโมเดลเป็นยังไง ปัญหาที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง เพื่อนำมาพัฒนาร่างฯ พอศึกษาโมเดลเสร็จ เราก็ทำการยกร่างฯ การยกร่างกฎหมายเราจะต้องทำเป็นหมวดหมู่ การรับรองเพศหมวดนึง ที่พูดถึงมาตราที่กำหนดคำในกฎหมาย บทบาทหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือบทลงโทษ อะไรแบบนี้มันก็ต้องมีการทำให้เป็นร่างกฎหมายก่อน

เพราะฉะนั้นคณะอนุกรรมาธิการจึงมีหน้าที่ยกร่างกฎหมาย โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้ามา เพื่อให้กฎหมายนั้นสมบูรณ์ที่สุด

ผลักดันเรื่องความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศในสภามา 3 ปี คิดว่านับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ รัฐสภาไทยมีความเข้าใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้นแค่ไหน

ครูคิดว่าเป็นสภาชุดแรกของประเทศไทยที่มีการพูดเรื่องเพศกัน เรามีการพูดเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ เรามี สส. ที่เป็น LGBTQ+ มีการพูดถึงการตอบโต้ทางการเมืองในเชิงเพศ มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงวัฒนธรรมทางการเมืองที่กว้างออกไปนอกจากพื้นที่สภา ครูก็ทำหน้าที่ตรงนี้อยู่ตลอด ซึ่งในวันที่ครูอภิปรายเรื่องสมรสเท่าเทียมครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่าน ครูรู้สึกเป็นเกียรติมาก ที่ครูได้นำเรื่องราวของประชาชนที่ครูได้รับได้ฟัง มาพูดแทนพวกเขาในสภา เพื่อให้สภาบันทึกไว้ ในสภานี้เราคุยเรื่องเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเพศมากมาย และแน่นอน มันเป็นเรื่องที่ถูก Rise up ขึ้นมา อาจมีบางคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ แต่อย่างน้อยที่สุดมันเริ่มขึ้นแล้ว

เมื่อนำเสนอ พรบ. สมรสเท่าเทียมเข้าสภาไป มีปฏิกิริยาอย่างไรบ้างจากสังคม

สมรสเท่าเทียมที่มันถูกเสนอโดยครูและพรรคก้าวไกลมันก็ถูกคนหลายคนมาค้าน บอกว่ามันไม่ผ่านหรอก แต่ไม่จริงนะ มันอาจเป็นวิธีคิดของเขา แต่วิธีคิดของครูเชื่อว่าการที่เรานำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประชาชน พวกคุณต่างหากที่ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าพวกคุณจริงใจต่อประชาชนรึเปล่า สมรสเท่าเทียมไม่ได้เป็นเพียงที่แต่งและจดลิขสิทธิ์ และคุณห้ามเอาไปใช้ การร่างกฎหมายไม่มีลิขสิทธิ์นะ เพราะมันเป็นประโยคสาธารณะ

เวลาที่มีใครหรือฝ่ายใดมาพูดว่าทำไมฝ่ายค้านต้องเสนอเรื่องสมรสเท่าเทียม ทำไมไม่รอฝ่ายรัฐบาลเสนอ คำถามคือแล้วทำไมคุณไม่เสนอสมรสเท่าเทียมตั้งแต่แรก คุณมีความแบบใดที่เสนอความไม่เท่าเทียมให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ มันเป็นสิ่งที่เราต้องถามกลับมากกว่า

ในวันนี้เราเห็นแล้วว่ามีการเกิด #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต และ #สมรสเท่าเทียม ขึ้นอันดับหนึ่ง แล้วคุณยังไม่ได้ยินประชาชนอีกเหรอ หลายคนก็มองว่าพอเรามีฝ่ายรัฐบาล มีฝ่ายค้าน ก็ทะเลาะกันตลอด แล้วกฎหมายมันจะผ่านได้ยังไง นี่ก็เป็นความคิดที่ผิด ไม่เข้าใจประชาธิปไตย เพราะฉันเสนอสิ่งที่มันเสมอภาคอย่างสมรสเท่าเทียม แต่คุณเสนอสิ่งที่ไม่เสมอภาค นี่คือสิ่งที่เราวิพากษ์ว่าสิ่งที่รัฐคิดให้นั้นไม่เสมอภาค และการที่มีข้อโต้แย้งทางการเมืองตลอดเวลาหมายความว่าคนจะรู้ทันทีว่าเราไม่ได้ซูเอี๋ยกัน เพราะงั้นถ้ามีรัฐบาลแล้วทุกคนเห็นพ้องต้องกันไปหมด อันนั้นจะน่าวิตก เพราะเท่ากับว่าเขาซูเอี๋ยกัน และที่บอกว่า เฮ้ย จริงๆ พรบ.คู่ชีวิตก็ดีนะ มันไม่ใช่นะ เพราะมันไม่ใช่หลักการที่ถูกต้อง และนั่นคือสิ่งที่คุณ (รัฐบาล) ต้องพิสูจน์ ไม่ใช่มาบอกว่า คุณธัญ คุณห้ามเสนอกฎหมาย

จริงๆ ครูได้มีโอกาสไปคุยกับทุกฝ่ายเลย และทุกคนก็เห็นด้วย แต่ก็ไม่ได้มีเสียงคัดค้านอะไร แต่ต้องรอดูวันที่ 8 มิถุนายนนี้ ว่าเขาจะโหวตรับหรือไม่รับ แต่ครูรู้ว่าในขณะที่ครูไปคุยกับ สส. ในสภาเนี่ย มันก็มีอำนาจบางอย่างที่พยายามผลักดัน พรบ.คู่ชีวิตนั่นแหละ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดว่าเวลาเข้าไปคุยกับหน่วยงานต่างๆ เห็นท่าทีของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในกระทรวงยุติธรรมก็มีท่าทีที่จะผลักดัน พรบ.คู่ชีวิตอย่างยิ่งยวด แต่ครูคิดว่ามันหมดเวลาของเขาแล้วที่จะผลักดันสิ่งนี้ เพราะประชาชนไม่เอา ยิ่งคุณผลักดัน พรบ.คู่ชีวิตมันยิ่งแสดงให้เห็นว่าคุณไม่จริงใจกับประชาชน

และขอฝากไปถึงท่านรัฐมนตรีด้วยว่า เวลาที่ท่านเชื่อฝ่ายที่ทำงานให้ท่าน ไม่ผิดนะ แต่ท่านไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคนที่ช่วยงานท่านเขาพูดเรื่องจริงเพื่อประชาชน หรือเขาพูดเพื่อผลประโยชน์ที่จะได้จากการผลักดัน พรบ.คู่ชีวิต ถ้าผู้มีอำนาจลุกขึ้นมาฟังประชาชน ก็จะรู้ว่าประชาชนไม่ได้ต้องการสิ่งนี้

อุปสรรคสำคัญของการผลักดันเรื่องสมรสเท่าเทียม

หลังจากครูได้อภิปรายเรื่องนี้ไป ก็มีการนำร่างฯ ของครูไปศึกษาวิจัยโดยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เขาก็มีการเชิญคนที่อยู่ในศาสนาคริสต์ พุทธ อิสลาม ซึ่งครูก็แสดงความเคารพตรงนี้ว่า ครูไม่ได้มีปัญหากับศาสนา แต่แค่สงสัยว่าทำไมเขาถึงเอากลุ่มคนในศาสนามาทำงานวิจัยตรงนี้ เพื่อต้องการผลลัพธ์ว่าสมรสเท่าเทียมนั้นผิดหลักศาสนา ต้องเป็นพรบ.คู่ชีวิตเท่านั้นรึเปล่า มันจะเป็นงานวิจัยที่ปักธงรึเปล่า เพราะถ้าคุณใช้วิธีคิดแบบนี้ ถ้าสมรสเท่าเทียมเราต้องไปถามมุสลิม ก็อยากจะถามกลับไปว่า งั้นคุณก็ต้องทำวิจัยไปเลยว่าประเทศไทยขายหมูได้ไหม หรือว่าห้ามขายถุงยางไหม เพราะในศาสนาคริสต์ก็ห้ามคุมกำเนิด อสุจิหลั่งก็เพื่อการสืบพันธุ์เท่านั้น แล้วเรื่องการที่เทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วยในการมีบุตร อันนี้ก็ต้องทำวิจัยกับกลุ่มศาสนาด้วยไหม เราก็ไม่ต้องมีร้านตัดผม ก็ใช้แค่ผ้าโพกหัวก็พอ

ทำไมคุณต้องเอากลุ่มศาสนาเข้ามามีผลกับงานวิจัยชิ้นนี้ เพราะเขาไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย สมรสเท่าเทียมไม่ใช่กฎหมายบัตรประชาชนที่ทุกคนต้องไปทำ แต่ถ้าคุณอยากจด คุณจด ถ้าไม่อยากก็ไม่ต้องจดแค่นั้นเอง และมันเป็นคนละเรื่องกันนะ เพราะเราไปจดที่อำเภอ ไม่ได้ไปจดที่วัด มัสยิด หรือโบสถ์ และคนที่จดก็เป็นนายทะเบียนของรัฐที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน ไม่ใช่นักเทศน์หรือนักบวชทางศาสนา

ก้าวต่อไปในการผลักดันเรื่องสมรสเท่าเทียม

ร่างฯ จะกลับเข้าสู่สภาในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ แล้วก็จะอภิปรายเพื่อให้มีการรับวาระหนึ่ง พอผ่านวาระหนึ่งแล้ว ก็จะเป็นกระบวนการในสภา ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ทุกพรรคก็จะมาร่วมกันทำงาน แก้คำนั้น เติมคำนี้ แล้วก็จะออกมาสู่วาระสอง และผ่านไปสู่วาระสาม เหล่านี้คือขั้นตอนในสภา

ส่วนตัวของครู ในเรื่องประเด็นเรื่องเพศก็ได้ฟังหลายฝ่ายมาสักพัก ประเด็นแรกที่ครูจะต้องทำคือครูต้องไม่ตกร่องการเมืองความขัดแย้งของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะถ้าครูอยู่ในความขัดแย้งจะทำให้ครูไม่สามารถทำงานให้กับประชาชนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ครูต้องผลักมันออกไป ไม่ว่าบางครั้งเราก็ต้องฟังหรือเกรงใจอะไรกันบ้าง แต่คนที่เราต้องเกรงใจที่สุดคือประชาชน

ประเด็นที่สอง มันมีกฎหมายอีกหลายตัวที่ต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นสมรสเท่าเทียม, Gender recognition, Sex Worker ซึ่งเสร็จแล้ว เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติ ครูอยากจะพามันไปจนถึงเรื่องงบประมาณให้มันส่งเสริมความเสมอภาคได้

ครูคิดว่าแนวทางของครูคงจะต้องทำให้ความเสมอภาคเกิดขึ้น และสิ่งที่น่ากังวลก็คือ Propaganda (โฆษณาชวนเชื่อ) ในกลุ่ม LGBTQ+ ที่มันทำให้กลุ่ม LGBTQ+ เนี่ยแบ่งแยกกันเอง ซึ่ง Propaganda นี้ก็พูดได้นะว่ามันมาจากฝ่ายขวา จากความเชื่อบางความเชื่อ ทำให้กลุ่ม LGBTQ+ ก็เกิดความแย้งและมีปัญหากันบ้าง มันจะส่งผลให้กลุ่มไม่สามารถเคลื่อนที่ไปไหนได้ มันจะไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นรูปธรรม

ในการปักธงทางความคิดให้แก่ประชาชนและสังคม ให้เข้าใจเรื่องความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ คิดว่ามีความก้าวหน้ามากแค่ไหน

ในวันนี้ ความหลากหลายทางเพศได้ถูกพูดอย่างกว้างขวางในสังคม ไม่ว่าจะจากสื่อออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ และบทสัมภาษณ์ต่างๆ หรือแม้แต่ภาคประชาชน NGOs ทุกฝ่ายที่รวมกันพูดเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นคิดว่ามันเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ครูไม่สามารถบอกได้ว่ามันเป็นความสามารถของครู มันเป็นเรื่องของทุกฝ่ายที่ต่อสู้กันมา บ้างก็ถูกคดี เพื่อยืนยันในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพ

สังคมเราในวันนี้เปลี่ยนไปมาก และมันทำให้ครูรู้ว่าวันนึงมันจะต้องเปลี่ยน แม้ตอนนี้สมรสเท่าเทียมจะยังไม่ผ่าน แต่ครูก็ยังมีหวังกับมันเสมอ

ความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่นอกสภาส่งผลต่อสิ่งที่เราผลักดันมากน้อยแค่ไหน

ส่งผลมาก เพราะความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่มันเป็นพลังสำคัญ เสียงสมรสเท่าเทียมจะไม่ดังหากขาดเสียงของคนที่ออกมาช่วยเคลื่อนไหว มันสำคัญกับการที่จะทำให้คนที่ไม่เคยสนใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมาฟังมากขึ้น ว่ายังไม่เสมอภาคตรงไหน เป็นการช่วยอธิบายกับคนรอบข้าง เป็นการอธิบายเรื่องสมรสเท่าเทียมในหลายๆ แง่มุม นี่เป็นการสื่อสารที่มีพลังและช่วยขับเคลื่อนทางการเมืองให้ก้าวหน้าขึ้น

คุณเคยบอกว่าหากสมรสเท่าเทียมผ่าน คนที่ได้ประโยชน์จะไม่ใช่แค่กลุ่ม LGBTQ+ เท่านั้น แต่รวมไปถึงกลุ่มคนรักเพศตรงข้ามก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย

การที่คนเราสมรสกันได้ แน่นอนว่าต่างชาติก็จะยอมรับเราในฐานะที่เราเป็นประเทศที่ให้ความเคารพในเรื่องสิทธิมนุษยชน และต่อมาเมื่อคนเราสร้างครอบครัวได้ เขาก็จะลงทุนซื้อบ้าน ซื้อรถ จัดงานแต่งงาน จัดพรีเวดดิ้ง มันก็เป็นเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ กลุ่ม LGBTQ+ เขาไม่ได้มีภาระเหมือนผู้ชายผู้หญิง ผู้ชายผู้หญิงเขาจะมีการสืบสายโลหิต แต่กลุ่ม LGBTQ+ ก็จะมีพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ที่แตกต่าง เพราะฉะนั้นภาระและการจัดอันดับความสำคัญในชีวิตของพวกเขามันก็ต่างกัน กลุ่มนี้ (รักเพศตรงข้าม) ก็จะอาจจะให้ลูกก่อน ส่วนกลุ่มนี้ (LGBTQ+) ก็จะนึกถึงการสร้างสรรค์ และการเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพราะงั้นมันก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้นอยู่แล้ว อย่างตัวเลขทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาก็เติบโตขึ้นมากนะคะ จากการที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม

มันมีกฎหมายหรือกฎระเบียบอะไรในไทยที่มันไม่ Gender Neutral (เป็นกลางทางเพศ) และเราต้องแก้บ้างรึเปล่า

Gender Neutral มันก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันนะ ต้องถามว่าเวลาที่เราใช้คำคำนี้ เราใช้ในแง่มุมไหน อย่างสมรสเท่าเทียมเนี่ยมัน Gender Neutral ได้ สามีภรรยาเป็นคู่สมรส แต่ทีนี้ในประเด็นบิดามารดามัน Gender Neutral ไม่ได้ เพราะสิทธิ์ของผู้หญิงจะหายไป เพราะเวลาที่ผู้หญิงมีบุตรเขาต้องรับรองบุตรได้โดยอัตโนมัติด้วยตัวเขาเลย ผู้ชายที่ไม่ได้เป็นฝ่ายตั้งครรภ์ก็มารับรองบุตรทีหลัง อันนี้ก็คือความแตกต่าง เพราะฉะนั้นถ้ามัน Neutral หมดเลย มันก็ไม่เสมอภาค มันจะยิ่งทำให้ผู้หญิงถูกกดทับ

สมมติว่าทุกอย่าง Gender Neutral หมดเลย แล้วในคุกล่ะ ฝ่ายที่แย่ก็จะเป็นผู้หญิง มันก็อาจมีเด็กเกิดขึ้นในคุกมากมาย เพราะงั้นมันจึง Neutral ไม่ได้ หรือว่า Lady parking (ที่จอดรถสำหรับผู้หญิง) ก็ทำให้มัน Neutral ไปเลยทุกเพศจอดได้หมด ก็เท่ากับว่าผู้หญิงก็ต้องหอบผ้าอ้อมลูก จ่ายกับข้าว และต้องทำทุกอย่างให้ทันผู้ชายในขณะที่มีภาระหลายๆ อย่าง ถ้าเราจะไม่มี Lady parking เพื่อบอกว่านี้คือ Gender Neutral แบบนี้มันก็ไม่ได้นำมาสู่ความเสมอภาค หรือถ้างั้นเราก็ไม่ต้องมีกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ผู้หญิงก็ยังคงต้องเจอกับความเหลื่อมล้ำต่อไป

เพราะงั้นเวลาพูดถึง Gender Neutral ก็ต้องมองว่าเราใช้ในรูปแบบไหน ถ้าในรูปแบบของคุณค่าทางวัฒนธรรมเราก็ควรจะ Neutral มัน แต่ถ้าในแง่ของพฤติกรรมและนโยบายเราก็ต้องมันให้ดี ว่าการไป Neutral อาจจะผลิตซ้ำความไม่เสมอภาค

ชัยชนะของพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยในสนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสภาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ส่งผลต่อการผลักดันเรื่องสมรสเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศแค่ไหน

พรรคก้าวไกลก็ได้ สก. 14 ที่เนอะ แน่นอนว่าพรรคเราพูดเรื่อง LGBTQ+ มาตลอด และตอนนี้มันก็อยู่ในช่วง Pride Month การที่ผู้ว่าฯ ขึ้นมาพูดเรื่อง LGBTQ+ เราก็อยากจะให้เห็นว่าท่านจะสนับสนุนงาน Pride แบบไหน มันก็มีการฝากความหวัง และรอดูว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น

การที่พรรคการเมืองหลายพรรคต่างก็ชูเรื่องความหลากหลายทางเพศขึ้นมาในช่วงนี้ คิดว่าเป็นความตั้งใจจริงของพรรคการเมืองต่างๆ หรือเป็นเพียงจุดขายที่เอามาดึงความนิยม

ไม่รู้ ต้องรอดูตอนเขาโหวต (หัวเราะ) มันจะพิสูจน์เอง ก็ไม่อยากจะไปดักคอไว้ก่อนหรอก แต่คุณพิสูจน์ตัวเองได้ ประชาชนเขาตัดสินได้ พวกท่านไม่ใช่เหรอที่เบรกสมรสเท่าเทียมไว้ พวกท่านไม่ใช่เหรอที่พยายามจะเสนอคู่ชีวิตที่มันไม่เสมอภาค ท่านต้องบอกว่าท่านจริงใจหรือไม่จริงใจ มันไม่จำเป็นต้องพูดด้วย มันอยู่ที่การกระทำ

อย่างครูทำสมรสเท่าเทียมก็หมายมั่นปั้นมือขอให้มันเกิดเถอะ คิดว่าเราทำเพราะเป็นจุดขายหรอ ไม่ใช่นะ ครูต้องขอขอบคุณอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่มองว่า สส.บัญชีรายชื่อ (พรรคอนาคตใหม่) ต้องมี โควตาของกลุ่มชาติพันธุ์ โควตาเรื่องเพศ หรือ โควตาผู้หญิง เพราะโลกของเราเป็นโลกของผู้ชายที่มีอำนาจและมีเงิน เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่มีการจัดเรียงหรือเว้นวรรคให้ผู้หญิง ให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศสลับเข้ามา สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นในสภา เพราะผู้ชายก็จะอยู่ 3-4 อันดับแรกหมด เพราะเราต้องการเสียงของคนที่ไม่เคยพูดในสภา ในโครงสร้างที่มันใหญ่แบบนี้

กิจกรรม Pride Month หรือกิจกรรมต่างๆ จากภาคประชาชนสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อฝั่งสภาบ้างรึเปล่า

มันสะเทือนแน่ ด้วยความที่ตอนนี้สื่อมันเปลี่ยนไปด้วย มีออนไลน์ เวลาชุมนุมเสร็จแล้ว เรามีสื่อมวลชนที่รายงานข่าว สัมภาษณ์แบบเจาะลึก ม็อบหนึ่งวันมันถูกขยายให้ข้อความมันถูกส่งไปหาทุกคน สื่อมีผลมากๆ การทำงานการเมืองเราต้องดูข่าวทุกวัน อย่างโรม (รังสิมันต์ โรม) เขาก็ต้องดูข่าวว่ามันมีประเด็นอะไร ครูก็ต้องคอยตามติดในประเด็นของครูว่ามันมีอะไรต้องอภิปราย ที่เราต้องหา มีกฎหมายอะไรที่ภาคประชาชนต้องการผลักดัน มันก็เหมือนเป็นประเด็นที่เราต้องดู เพราะงั้นถ้าถามว่าเวลาที่ภาคประชาชน หรือ NGOs เคลื่อนไหว รัฐบาลได้ยินแน่นอน และเขาเสพข่าวรายวัน แทบจะรายครึ่งวันเลยด้วย

ความรู้สึกของคุณที่มีต่อ Pride Month

มันเป็นเดือนที่เราจะภาคภูมิใจในความเป็นตัวตนของเรา เพราะเราถูกมองว่าเป็นพวกผิดปกติ วิปลาส วิปริตมาตลอดเวลา ดังนั้นนี่จะเป็นเดือนที่เราจะย้ำเตือนตัวเองว่าสิ่งที่เราเป็นนั้นน่าภาคภูมิใจ และไม่ต้องกลัว เมื่อเราหันออกไปข้างนอกแล้ว เราจะเห็นความลำบากที่ทุกคนมีร่วมกัน เราจะจับมือไปด้วยกันและก็เดินหน้าเปลี่ยนแปลงสังคมนี้

เพราะฉะนั้น เดือน Pride เป็นเดือนที่ทุกคนจะตอบคำถามตัวเองได้ชัดขึ้นในทุกๆ ปี อย่าง Pride เมื่อ 5 ปีที่แล้ว กับ Pride วันนี้ครูก็ตอบตัวเองต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ครูอยากจะบอกคือว่าเราต้องโฟกัสให้ถูกจุดว่าสิ่งที่เราต่อสู้นั้นเพื่อมนุษย์ทุกคน ต้องไม่ทำให้ใครหลงประเด็น

ถ้า พรบ. สมรสเท่าเทียมผ่านวาระการพิจารณาในสภาไปได้ด้วยดี ในมิติเรื่องความหลากหลายทางเพศ มีประเด็นอะไรที่ต้องต่อสู้อีกไหม

ก็มีเรื่อง Gender Recognition หรือการรับรองคำนำหน้าเพศที่กำลังทำอยู่ และก็เรื่องของ Gender Responsive Budgeting คือเราต้องออกแบบการจัดสรรงบประมาณให้เป็นธรรมต่อเพศต่างๆ ทั้งผู้หญิง และ LGBTQ+ จริงๆ ตอนนี้มันก็มีของผู้หญิงอยู่บ้าง แต่เราก็ยังไม่ได้ไปไกลถึง LGBTQ+ เพราะฉะนั้นการรับรองเพศมันเป็นตัวที่จะบอกว่าเรามีประชากร LGBTQ+ กี่คนเพื่อนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณว่าจะจัดสรรไปสู่อะไรบ้าง เช่น เราควรจะมีคลีนิก LGBTQ+ ในจังหวัดไหนบ้าง เราควรจะมีแผนกเฉพาะ LGBTQ+ เกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมน การศึกษาปัญหาชีวิตเกี่ยวกับความเข้าใจในตัวเองต่างๆ เราอาจต้องมีการออกแบบชุดสุขภาพของ LGBTQ+ หรือของ Transgender ที่วันนี้เขายังไม่มีชุดสุขภาพของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่มีความแตกต่างจากชายหญิงทั่วไป เพราะว่ากลุ่มทรานส์เขาก็มีข้อควรระวังแบบนึง กลุ่มเกย์ก็มีพฤติกรรมบางอย่างที่ต้องการดูแลสุขภาพที่มันต่างกัน หรือคำปรึกษาที่ต่างกันอะไรต่างๆ เหล่านี้มันต้องมี

มันอาจไปถึงนโยบายที่ส่งเสริมความเสมอภาค ความเหลื่อมล้ำของกลุ่มคนข้ามเพศ ซึ่งเขาก็มีต้นทุนทางเพศที่เขาต้องจ่าย สมมติผู้ชายมีเงินสามแสน เอาไปซื้อทองกับดาวน์รถ กลุ่มคนข้ามเพศก็ต้องเอาสามแสนไปเปลี่ยนตัวเองก่อน ต้นทุนชีวิตมันไม่เท่ากัน และเขายังหางานทำยากด้วย บางคนก็ต้องบินไปต่างประเทศเพื่อไปทำงานที่ไม่อยากทำ มันมีเรื่องอีกเยอะมากที่ต้องขับเคลื่อน

แล้วถ้า พรบ.สมรสเท่าเทียมไม่ผ่านวาระพิจารณาในสภา คุณจะท้ออยู่ไหม

เราก็คงนั่งจิบกาแฟสักสองชั่วโมง แล้วยื่นใหม่ (หัวเราะ) ไม่ท้อค่ะ เพราะว่าสิ่งที่ประชาชนขับเคลื่อนต่อสู้มา เราจะไปเหนื่อยได้ยังไง

ในฐานะที่เป็น สส. เพียงไม่กี่คนที่เป็น LGBTQ+ รู้สึกกดดันไหมที่ประชาชนตั้งความหวังกับเรา

ถ้าถามว่ากดดันไหม ไม่เคยคิดในมุมนี้เลยนะ ครูแค่ทำให้ดีที่สุด แข่งกับตัวเอง ไม่ได้แข่งกับใคร เราทำด้วยความจริงใจ กฎหมายฉันต้องทำให้เสร็จ อย่าเผลอไปกับอำนาจ แบบว่าเป็น สส.แล้วฉันเบ่งหรือเหลิง ไม่เลย งานฉันอันนี้ต้องเสร็จ ประชาชนให้โอกาสฉันมาแล้ว อาจารย์ปิยบุตรให้โอกาสฉันมาแล้ว ไม่ได้เครียด แค่แข่งกับตัวเอง ทำมันให้เป็นไปตามเป้า และสิ่งที่ประชาชนจะได้รับคือผลประโยชน์ที่เราตั้งใจทำมา

ครูไม่ได้เป็นคนการเมือง แต่พอเรามาอยู่ในการเมืองจะรู้ว่ามันมีหลายเลเยอร์ คือครูเป็นคนทำงาน ครูจะไม่แบบ พี่ฮะ ท่านฮะ แก้อันนี้หน่อยได้ไหมฮะ เราจะไม่เป็นคนแบบนี้ เราก็จะแค่ทำงาน ถึงคิวเรา เราต้องเข้านะ

การเข้าสภาช่วงแรกๆ ปรับตัวยากไหม

มันปรับไม่ยากหรอก แต่มันต้องปรับเร็ว (หัวเราะ) คือแค่เป็นตัวเองแหละ แค่ใส่สูทส้ม แล้วก็หมุนตัวไป เป็นกะเทยน่ะ พอเป็นกะเทยแล้วมันจะโดนด่าเยอะ คือเรื่องนิดเดียว แต่พอเป็นกะเทยจะโดนเยอะ ทำให้เราเข้าใจการเมืองว่า เราควรต่อสู้แบบที่ไม่ให้มีอะไรมาตีเรา แล้วคนไม่ได้ยินข้อความที่เราอยากจะสื่อสาร ครูจึงจำเป็นต้องเลือกวิธีการสื่อสารบ้างแบบเพื่อให้คนได้ยินเนื้อหาสำคัญ ถ้าเราสื่อสารแบบเดิม เดินหมุนตัว ก็อาจทำให้คนไม่ได้ยินเรา แต่ครูก็ยังเป็นเหมือนเดิมนะ อยู่กับเพื่อนก็ยังแบบ ไปไหนหล่อน ยังเหมือนเดิมแหละ แต่แค่ว่าครูจะไปพูดแบบนั้นมันก็ไม่ได้ นักข่าวก็จะสนใจกับสีเสื้อครูมากกว่าสิ่งที่ครูพูด ซึ่งครูไม่ได้อยากให้นักข่าวมาสนใจสีเสื้อครู อยากให้สนใจสิ่งที่ครูพูด

ตอนที่กอล์ฟ​ (ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์) หนึ่งใน สส. LGBTQ+ ของพรรคก้าวไกลถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสภาพการเป็น สส. รู้สึกยังไงบ้าง

รู้สึกเหมือนที่ทุกคนรู้สึก เหมือนก่อนหน้านี้ที่มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ เรื่องคุณธนาธร (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) เรื่องอาจาร์ยป๊อก (ปิยบุตร แสงกนกกุล) หรือคุณช่อ (พรรณิการ์ วานิช) มันคือความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น วันนั้นเราก็คุยกันหลายเรื่อง ครูก็ให้กำลังใจ เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่หนักหนา ต้องคืนเงิน ต้องโดนคดีอาญา จะพูดว่าเห็นใจมันก็เป็นเรื่องที่เราไม่รู้จะแบ่งปันความรู้สึกตรงนั้นยังไง

กลัวเสียตัวตนของตัวเองไปไหม เมื่อเข้ามาทำงานในสภา

ไม่ได้กลัว แต่ครูคิดว่าครูเติบโต ครูเองเป็นนักเต้น ออกแบบท่าเต้น สอนนักร้อง แล้วก็มานั่งทำกฎหมาย ช่วง 4-5 เดือนแรกต้องเรียนรู้เยอะมาก และคิดว่ามันเป็นเรื่องท้าทาย มันเป็นโอกาสที่เราจะทำเพื่อคนหลายๆ คน มันเป็นโอกาสที่เราจะเปลี่ยนมันด้วยมือของเรา ครูอยากจะเปลี่ยนมันจริงๆ

แล้วก็มีบางอย่างที่จะต้องลดความเป็นตัวของตัวเองลงในหน้าสื่อ ครูไม่ได้ซีเรียส เพราะมันได้ผลดี คนฟังครูเยอะขึ้น เทียบกับตอนช่วงแรก สื่อให้ความสนใจในสิ่งที่ครูนำเสนอ

นอกจากประเด็นเรื่องความหลากหลายและเท่าเทียมเพศแล้ว ในฐานะ สส. มีประเด็นอะไรที่อยากจะผลักดันอีกบ้าง

สิ่งหนึ่งที่ครูเริ่มไปบ้างแล้ว แต่ทำไม่ทันจริงๆ ก็มีประเด็นเรื่อง Soft Power และก็ประเด็นที่เกี่ยวกับความเป็นธรรมของอาชีพที่เขาต้องใช้ Talent เช่น นักแสดง นักร้อง หรือคนที่มีคาแรคเตอร์บางอย่างบนสื่อ ที่อาจถูกบริษัทยักษ์ใหญ่ทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม อย่างดาราต่างประเทศยิ่งอายุเยอะ จะยิ่งรวย ได้เปอร์เซ็นต์ แต่ดาราไทยก็จะต้องเป็นฝ่ายที่เข้าหา ทำความรู้จักกับคนนั้นคนนี้ เพื่อให้ตัวเองได้งาน

ครูคิดว่า คาแรคเตอร์ เสียงร้อง บุคลิกภาพอะไรเหล่านี้มันเป็นของเขา อย่าง มาริลิน มอนโร เธอเป็นประวัติศาสตร์ เป็นภาพลักษณ์ที่โลกเข้าใจว่านี่คือความเซ็กซี่ นี่คือความน่ารัก สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันมีมูลค่าและเขาควรได้รับประโยชน์ตรงนี้อย่างเป็นธรรม ก็เป็นสองประเด็นที่ครูอยากจะผลักดันต่อไป

มีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการทำงานของเรา อยากบอกอะไรกับคนรุ่นใหม่ที่ในอนาคตจะเข้ามาสานต่อภารกิจต่อจากเราไหม

เราต้องเปิดใจเรียนรู้ เวลาที่อยู่นอกสภาและพูดเรื่องเพศหรือพูดเรื่องความเท่าเทียมเนี่ย พอเข้าสภามามันจะเป็นอีกเรื่องนึง เป็นเรื่องทางนิติบัญญัติ อย่างที่ได้พูดไปเรื่อง Gender Neutral เวลาที่อยู่นอกสภาเราเข้าใจ Gender Neutral แบบนึง แต่พอมาในเชิงนโยบาย เรื่องการออกกฎหมาย มันไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องความปลอดภัย เป็นสิ่งที่ถูกออกแบบมาอยู่แล้ว ความอีหลักอีเหลื่อตรงนี้มันลำบาก สมมติเราจะนำเสนอในสิ่งที่เราแก้ไข เราก็ต้องระวังตอนสื่อสาร เพราะคนอาจเข้าใจผิดไปว่า เฮ้ย Gender Neutral ไม่ดีหรอ มันดี แต่ไม่ใช่เสมอไป

หรืออย่างเรื่อง Sex Worker เนี่ย ยกเลิก พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีไปเลยสิ แล้วไปใช้กฎหมายแรงงาน มันไม่ได้ เพราะถ้าใช้กฎหมายแรงงานนั่นหมายความว่า Sex Worker ต้องทำงาน 8 ชั่วโมง เพื่อค่าแรงไม่กี่ร้อยบาท และที่สุดมันก็จะเกิดการกดขี่อยู่ดี เท่ากับว่าทำงาน 8 ชั่วโมง รับแขกชั่วโมงละคน ได้ 600 บาท แต่ชาร์จลูกค้าคนละ 3,000 บาท เพราะกฎหมายแรงงานบอกว่าอำนาจในการบริหารกำไรอยู่ที่นายจ้าง เข้าใจใช่ไหม มันเลยยกเลิกไม่ได้

โอเค Sex Worker is work คือเข้าใจ แต่มันทำแบบนั้นเลยไม่ได้ จะไปยกเลิกกฎหมายอาญาก็ไม่ได้อีก เพราะจะเท่ากับส่งเสริมการค้ามนุษย์ เด็กทำงานช่วงปิดเทอม งั้นไปขายบริการ มันก็ไม่ได้ มันก็มีเรื่องสิทธิเด็กด้วย

มันไม่ได้ง่ายแบบนั้น เพราะงั้นถ้าอยากจะเป็น สส. ก็ต้องดูเรื่องนโยบายและกฎหมายและต้องเข้าใจความเสมอภาคด้วย มันถึงจะออกแบบกฎหมายได้

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า