fbpx

ตบเดียวที่ออสการ์ สะเทือนมาถึงยูเครน แล้วสองอย่างนี้เกี่ยวอะไรกัน

ทำไมเราถึงต้องพูด ต้องวิเคราะห์เรื่องนี้กันหลายครั้ง ทั้งๆ ที่เป็นประเด็นที่มาแล้วก็ไป เรียกว่าจบเสียทีก็ว่า ทว่าการกระทำของ Will Smith นั้น เป็นมากกว่ากระแสหรือ Meme ที่จะอยู่บนอินเตอร์เน็ตไปตลอดกาล แต่มันหมายความว่า สิ่งนี้เป็นปรากฎการณ์ที่ไม่อาจจะมองข้ามได้ และมันอาจจะมีผลกระทบสูงกว่าที่เราคิด

แม้สื่อต่างๆ ทั้งไทยและเทศ ต่างปั่นกระแสเรื่องนี้ไปในวงกว้าง จนดาราเซเล็ปต่างเรื่องเอือมระอาและเบือนหน้าหนีที่จะพูดถึง และมันสามารถกลบข่าวที่สำคัญกว่าอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กำลังปะทุอย่างรุนแรงขึ้นทุกที แต่หากเรามองผ่านแว่นของสิ่งที่เรียบง่ายอย่าง “ความรุนแรง” แล้ว เราอาจจะเห็นมิติอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกันอย่างเป็นระบบได้ด้วย

เกิดอะไรขึ้นกับตบนั้นกันแน่

หากเราพิจารณาเหตุการณ์กันให้ละเอียด เราจะเห็นว่าข้อเท็จจริงเรื่องโรคผมร่วงเป็นหย่อมนั้นมาทีหลัง เป็นประเด็นที่ต้องอาศัยข้อมูลเฉพาะมาก่อน ดังนั้นหากตัดชุดข้อมูลนั้นออกไป การล้อเลียนผู้หญิงสักคนที่ตัดผมสกินเฮดธรรมดา มุกตลกที่ว่า “เธอเตรียมตัวเล่น G.I.Jane 2 ได้เลย” นั้น เป็นเรื่องที่รับได้หรือไม่ และจะมีความรุนแรงเท่าไหร่ จะเท่ากับการรู้ข้อมูลที่สนับสนุนความรุนแรงของประโยคที่ว่า Jada เธอป่วยเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อม ซึ่งเป็นต้นเหตุของการตัดผมของเธอในลักษณะนี้ และเธอทุกข์ทรมานกับการสูญเสียทรงผมมากแค่ไหน มาหักลบกับการเสียดสีนี้หรือไม่อย่างไร

และในชั่วขณะแรกนั้น Will Smith กลับรับมุกตลกนั้นได้ในทันที แต่อารมณ์ขันร่วมของเขาต้องเฝื่อนลง เมื่อเห็นรอยยิ้มของภรรยาหายไปจากใบหน้าของเธอ นั่นหมายความว่า ก่อนการลุกขึ้นมาปกป้องภรรยานั้น เขาก็ดูจะตลกไปกับมุกของเพื่อนอย่างไม่คิดหน้าคิดหลังให้ถี่ถ้วนแต่แรก

อย่างไรก็ตาม หากเราลองไปส่องดูความสัมพันธ์ของ Will Smith และ Chris Rock เขาทั้งคู่เป็นเพื่อนร่วมงานที่รู้จักนิสัยใจคอกันมาเป็นอย่างดีเป็นเวลานาน และความ “ปากสุนัข” ของคริสนั้น ก็คงเป็นสิ่งที่ Will รับมือมาอย่างยาวนานมากเช่นกัน เพราะ Chris เป็นนักแสดงตลกเสียดสี และเป็น Stand Up Comedy ที่มีชื่อเสียง กระนั้นความเป็นนักตลกเสียดสีอยู่กับเพื่อนมาหลายสิบปี ก็คงไม่มีใครรู้ได้ว่า Will จะเคย “ตบปาก” เพื่อนมาก่อนหน้านี้บ้างหรือไม่ หากแต่การ “แซวเมีย” ที่ควรเป็นเรื่องส่วนตัว หรือมุกตลกเสียดสีที่ควรอยู่ในพื้นที่ของ Stand Up Comedy กลับถูกหยิบมาเป็น “Dark Jokes” บนเวทีที่เป็นสาธารณะระดับโลกอย่าง OSCARS เวทีประกาศรางวัลภาพยนตร์ระดับโลก เวทีที่ให้คุณค่างานศิลปะของภาพยนตร์ และขับเคลื่อนประเด็นสังคมการเมืองไปพร้อมกัน 

ก็นับเป็นการผิดมารยาท หรือผิดคำไทยอย่าง “กาละเทศะ” เป็นอย่างมากทีเดียว เพราะคนทั้งโลก ไม่มีทางรู้ระดับความสนิทของทั้งคู่ว่า กับที่ไม่รู้ข้อมูลเรื่องโรคร้ายของ Jada เช่นเดียวกัน และไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

ดังนั้นเมื่อภาพออกไป ทั้งมุกตลกที่ล้อเล่นกับโรคร้าย กับการรับมือเพื่อปกป้องภรรยาด้วยความรุนแรงแบบ “ลูกผู้ชาย” จึงกลายเป็นการถูกตั้งข้อสงสัยไปทั้งโลก โดยเฉพาะการพูดถึง “มุกตลกและการตอบโต้ด้วยความรุนแรง” ที่มีสัดส่วนความชอบธรรมอยู่ในระดับไล่เลี่ยกัน

สังคมไทยและเทศ กับการตระหนักที่ต่างกัน?

แม้จะมีการวิพากษ์ถึงความถูกผิดกันทั้งคู่ ถึงขั้นตั้งคำถามกับ “ความเป็นชายและสามีที่ล้นเกิน” ของการรับมือการเสียดสีด้วยความรุนแรงของวิล ที่ “ลุกขึ้นไปตบแม่งเลย” จนกลายเป็นไวรัลไปทั่วโลก อาจจะดังกว่าหนังที่ได้รับรางวัล Best Pictures เสียอีก ดังนั้นการนำมาวิเคราะห์วิพากษ์ จึงกลบประเด็นสำคัญที่มากกว่านั้นไปเสีย

สังคมโดยทั่วไปมีความชอบธรรมหลายฐาน ดังนั้นในบางสังคม จึงให้ค่าความชอบธรรมกับการกระทำระดับโลกครั้งนี้ต่างกัน บ้างก็ว่าสังคมที่ให้คุณค่า Free Speech มักจะใช้การประณามกับคำพูดที่ไม่ให้เกียรติหรือส่อไปในเชิงลดทอนคุณค่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากกว่า หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ให้ใช้คำพูดประณาม เพื่อตอบโต้คำพูดเอา เพราะสังคมที่ให้ค่า Free Speech นั้น คือสังคมที่คิดว่าเสียงของทุกคนเท่ากัน เราจะตอบโต้กันได้

ส่วนในบางสังคมที่อาจจะเห็นว่าการใช้ความรุนแรงและเป็นเรื่องส่วนตัว เคลียร์กันส่วนตัวก็จบ อาจจะให้ฐานความชอบธรรมกับการลุกขึ้นไปตบปากสั่งสอนมากกว่า บางคนอาจจะมองลึกลงไปถึงว่า ความที่เป็น “คนดำ” เคลียร์กันเอง และยังมีตัวกลางเป็น “คนดำ” ด้วยกัน มันก็คือความรุนแรงแบบเสมอกันแล้ว มันแค่ผิดที่ผิดทางไปเท่านั้น ที่เอาเรื่องส่วนตัวมาอยู่บนเวทีสาธารณะที่ถ่ายทอดสดทั่วโลก

แต่สังคมไทย ที่ว่ากันว่าเสียงโดยส่วนใหญ่ ให้ความชอบธรรมความรุนแรงแบบ “ตบแม่งเลย” ของ Will Smith มากกว่า จนเข้าทางสำนวนว่า “จะปากหมาก็หมาไป เจอตีนเข้าไปเดี๋ยวก็เงียบ” นั้น ก็ไม่อาจจะบอกว่าเป็นสังคมที่ให้ความรุนแรงในการแก้ปัญหามากกว่า ไม่ยอมรับความปากเสียไม่ว่าจะกรณีใดใด แถมเสี่ยงต่อการที่จะโดนตบปากกันเองได้ทุกเมื่อ 

เพราะนั่นมันขัดแย้งกับข้อเท็จจริงอีกอย่างของสังคมไทยเช่นกัน เพราะเราก็เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยการล้อเลียน บูลลี่ เหยียดหยามอยู่ไม่น้อย ภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศในทุกๆ สื่อ ล้วนเป็นคอนเทนต์ที่มีมุกตลกส่อเสียดล้อเลียนปากเสีย และอยู่ในขั้นรุนแรงทั้งสิ้น ไม่มีอะไรที่เราล้อเลียนไม่ได้ แม้แต่บินลาดินที่เป็นชื่อผู้ก่อการร้าย ก็ยังเคยเป็นชื่อเพลงลูกทุ่งมาแล้ว 

ดังนั้นเราจึงเป็นสังคมที่ให้ค่าทั้งการล้อเลียนปากเสีย ไปพร้อมๆ กับความรุนแรงตอบโต้ด้วยเหมือนกัน

ซ้ำร้าย คนที่สะใจกับการตบคนปากเสียของ Will Smith กับคนที่ขำขันกับมุกล้อเลียนคนชายขอบ อาจจะเป็นคนเดียวกัน

มุกตลกของเสียงที่หลากหลาย กับ ความรุนแรงแบบเผด็จการ

ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการวิจัยเรื่องการใช้อารมณ์ขันในประท้วงและสันติวิธี เคยกล่าวไว้ว่า “เผด็จการไม่ชอบถูกล้อ” ดังนั้นหากเรามองภาพเป็นสเกลที่ใหญ่ขึ้นไปอีก การใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหา และคิดว่าการลุกขึ้นมากระทำในนามความดีและความรัก มักนำไปสู่ความรุนแรงที่เลวร้ายมาก และปรากฎชัดเจนในหน้าประวัติศาสตร์ และมันมักมาจากจุดเล็กๆ อย่างความรุนแรงที่มองเป็นเรื่องส่วนตัวนี้เอง

และหากเรามองผ่านแว่นของ Power Dynamic หรือพลวัฒน์ทางอำนาจ การใช้คำพูดเพื่อลดทอนคุณค่าของคน จะมีอำนาจรุนแรงมากหากมีกลไกทางสังคมเข้ามากระทำด้วย เช่น การล้อเลียนคนพิการ หรือคนเป็นเพศชายขอบ ถูกล้อเลียนจากคนที่สังคมให้ค่าว่าปกติ เมื่อถูกเรียกว่า “ไอ้โล้น” หรือ “อีตุ๊ด” คำเรียกที่แม้ไม่มีคำหยาบคายเลย แต่เมื่อมีพลวัฒน์ทางอำนาจ คำเหล่านั้นจะทำหน้าที่ผลักให้อีกฝ่ายไปอยู่ชายขอบ ด้วยเนื้อความจึงแฝงไว้ด้วยการไม่ถูกยอมรับ และถูกเรียกว่าเป็นสิ่งไม่ปกติของสังคมนั้นๆ ไปด้วย น้ำหนักของคำพูดจึงเพิ่มขึ้นทันที ถึงแม้จะเป็นคำที่สุภาพมากๆ ก็ตาม

ในทางกลับกัน หากคนที่มีอำนาจกลายเป็นฝ่ายถูกล้อเลียน พลวัฒน์ทางสังคมก็จะถูกกระทำในลักษณะที่ต่างกันออกไป เช่น การล้อเลียนนายพลทหารที่อ้วนฉุ ไปไหนมาไหนก็ต้องมีคนคอยประคอง แต่การอ้วนฉุนั้น ไม่ได้เกิดจากการเป็นคนชายขอบ หากแต่เกิดจากการคอรัปชั่น โกงกินภาษี และอยู่บนห่วงโซ่สูงสุดทางอำนาจผ่านการกดขี่ประชาชนส่วนใหญ่ การส่อเสียดจึงเป็นไปในรูปแบบการล้อเลียนผู้มีอำนาจ ที่ส่งเสียงจากคนตัวเล็กตัวน้อย หรือจากประชาชนที่หลากหลาย แม้จะหยาบคาย และเป็นคำดูแคลนในหลายประเด็นแต่กลับไม่มีอำนาจแฝงมากพอ ที่จะผลักให้นายพลทหารท่านนั้นกลายเป็นคนชายขอบไปได้ เพราะสิ่งที่ผู้อำนาจนั้นมี มันมากกว่าเสียงที่เสมอกัน ประชาชนทำได้แค่หัวเราะกับรูปร่างของท่าน แต่ท่านมีทั้งกฎหมาย ปืน และอาจจะรวมถึงอำนาจนอกกฎหมายอื่นๆ อีก ที่จะกระทำกับประชาชนกลับได้อย่างรุนแรงกว่า โดยแทบไม่ต้องลงแรงอะไรเลย

เช่นกัน การที่ดาราคนดำสองคนที่สนิทกัน ปากเสียแซวเมียเพื่อนแรงๆ แล้วเพื่อนคนดำที่ก็ดังพอๆ กัน ลุกขึ้นไปตบปาก จึงสามารถมองว่าไม่มีอำนาจกดทับระหว่างกันได้เลย เพราะเป็นคนดำในสังคมอเมริกันทั้งคู่ แต่ทว่าด้วยความที่เป็นคนดัง ความรุนแรงทั้งคำพูดและการกระทำ อาจจะกำลังส่งเสริมอำนาจในมิติอื่นๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกทันที

การเจรจาไม่เป็นผล ก็ รบ! เอ้ย ตบ! แม่งเลยละกัน

“แล้วจะให้นั่งอยู่เฉยๆ เหรอ ถ้าคนในครอบครัวกำลังโดนล้อเลียนอยู่”

ประโยคคำถามนี้ จะมีคำตอบอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับระดับจินตนาการของผู้คิดคำถามและผู้ตอบ ว่าจะมีขีดจำกัดในการจำลองความเป็นไปได้ในหัวมากน้อยแค่ไหน ซึ่งคำถามพื้นฐานนี้ เป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญของหลักการสื่อสารเวลาเกิดปัญหา ตั้งแต่ปัญหาในระดับปัจเจก ไปจนถึงปัญหาระดับการทูตได้ด้วย

เมื่อประเทศต่างๆ ขัดผลประโยชน์ หรือเริ่มมีกรณีพิพาทระหว่างกัน จะให้นั่งเฉยๆ เพื่อให้คนในประเทศถูกเอาเปรียบมันก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์โลกก็มีให้เห็นแล้วถึงความรุนแรง ว่านำพาโลกไปสู่อะไรได้บ้าง ความศรัทธาที่มากล้น ความเชื่อทางศาสนาที่มากเกิน ความรักชาติอย่างไร้การไตร่ตรอง ก็มักจะนำไปสู่ความรุนแรงอย่างเป็นระบบ และสนับสนุนการฆ่าล้างเผาพันธุ์มาแล้วถึงสองครั้งใหญ่ๆ และครั้งย่อยๆ อีกนับไม่ถ้วน

ดังนั้น การจะแก้กรณีพิพาท การเจรจา การส่งสาสน์ ประณาม หรือหาข้อตกลงระหว่างกัน จึงเป็นเหมือนนวัตกรรมที่ชาญฉลาดของมนุษยชาติ ที่พยายามจะออกแบบเครื่องมืออื่นๆ เพื่อหลบเลี่ยงความรุนแรงให้ได้มากที่สุด แม้ว่าประเทศต่างๆ จะมีการพิพาทกัน ชนิดที่เสียดสีแทงจิตใจ ขัดผลประโยชน์กันชนิดที่รับกันไม่ได้ และมีการประณามหยามเหยียดจากอารยประเทศแค่ไหนก็ตาม เราจะไม่ลุกขึ้นไปตีหัวกัน หรือไม่ส่งหัวรบไปลงบ้านกันและกัน

ทว่าน่าเศร้าที่หลายครั้ง เราไม่เคยทำสำเร็จ จนดูเป็นอุดมการณ์ที่โลกสวยเกินไป

เราเจรจากันไม่เคยสำเร็จ และลงท้ายด้วยความรุนแรงทุกทีไป

แม้แต่ในกรณีสงครามของยูเครนและรัสเซีย ที่หลังจากยูเครนเพียงแค่ส่อแววจะเข้าร่วมไปกับยุโรปและเป็นสมาชิก NATO แม้จะยังไม่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่การกระทำของยูเครน ก็ถือเป็นการหยามเหยียดความเป็นปึกแผ่นของรัสเซียที่ไม่อาจจะรับได้

และก็คงกลับไปที่คำถามเดียวกัน “แล้วจะให้นั่งอยู่เฉยๆ เหรอ ถ้าส่วนหนึ่งของรัสเซียกำลังโดนท้าทายอยู่”

ประโยคคำถามนี้ จะมีคำตอบอย่างไร ก็คงไม่ต่างกันนัก ไม่ต่างแม้แต่ว่า ผู้นำยูเครนอย่าง Volodymyr Zelenskyy ก็เคยเป็นนักแสดงตลกมาก่อน 

เป็นการตอกย้ำว่า เสียงตลก คงไม่ถูกใจเผด็จการทุกครั้งไป ไม่ว่าจะหยาบคายหรือไม่ก็ตาม

ก็คงเป็นความชอบธรรมของรัสเซียที่ “จะซ่าก็ซ่าไป ลุกไปตบปากแม่งเลยละกัน”

แม้สองเหตุการณ์ความรุนแรงบนเวทีออสการ์และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่อาจจะนำมาทาบเสมอกันได้ ทั้งบริบทและปัจจัยความรุนแรง รวมถึงที่มาของเหตุการณ์ที่มีตื้นลึกหนาบางต่างกัน แต่สิ่งที่รายล้อมความรุนแรงนั้น ดูเหมือนจะยังมีผลของการกระทำที่ต่อยอดและทิ้งไว้ให้โลกตั้งคำถามต่อไปไม่ต่างกัน

Will Smith นั้น ได้ชดเชยการกระทำของเขาไปแล้ว จากการออกจากสมาชิกสมาพันธ์ OSCARS และอาจจะถูกพักโปรเจ็คการแสดงของเขาไปอีกพักใหญ่ แต่ทว่าสงครามในอีกซีกโลกนึง อาจจะยังไม่ถึงจุดที่จะถอยและเข้าสู่การเยียวยาได้เสียที

สิ่งที่ระบาดหนักต่อไปมากกว่าคำพูดและมุกตลก คงเป็นความรุนแรงที่มนุษยชาติคงยังไม่สามารถหาคำตอบได้ซักทีว่า “เมื่อไหร่ เราจะหยุดทำร้ายกัน”

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า