fbpx

เสพข่าวอย่างไร เมื่อข่าวและชีวิตกลายเป็นเรื่องเดียวกัน

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนการผลิตผลงานโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


โลกของข่าวสารในปัจจุบันอยู่ในแทบจะทุกพื้นที่ของการใช้ชีวิต จากรายงาน Digital 2021 เผยแพร่โดยความร่วมมือระหว่าง We Are Social และ Hootsuite พบว่า คนไทยใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการอัพเดทข่าวสารและได้อันดับ 1 ของโลก คิดเป็น 78% ของผู้ใช้งานทั้งหมด และตัวเลขการเป็นเจ้าของโทรศัพท์ Smartphone สูงขึ้นจากปีก่อนมาอยู่ที่ 98.9% (ข้อมูลจากการตลาดวันละตอน และกรุงเทพธุรกิจ)

บทความเรื่อง แนวโน้มสื่อไทยในมุมมอง “รศ.พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช”อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ชี้โควิด-19 ตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคสื่อปี 64 ในไทย กล่าวว่าในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคใช้เวลาอยู่กับบ้านหรือทำงานที่บ้านมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีเวลาในการเสพสื่อในปริมาณที่มากขึ้น ผู้บริโภคต้องการรับข่าวสารจากหลากหลายช่องทางให้ได้มากที่สุด เพื่อนำความรู้มาป้องกันตนเองจากอันตรายหรือผลกระทบของโรคระบาด ประเภทของสื่อที่ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันน่าจะให้ความสำคัญมากที่สุดจึงเป็นสื่อที่ให้ข้อมูลข่าวสาร

ผู้บริโภคยุคนี้ เขาเรียกว่ายุค Anytime, anywhere consumption คือสามารถ Consume ทุกอย่างได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน หรือเมื่อไรก็ได้ เพราะฉะนั้นโซเชียลมีเดียจึงเข้ามาตอบสนองผู้บริโภค

จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าสื่อออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทกับคนไทยมากขึ้น ทำให้บางครั้งผู้ใช้สื่ออาจจะหลงลืมนึก หรืออาจจะเข้าใจว่าข่าวและชีวิตได้กลายเป็นเรื่องเดียวกันไป ส่งผลให้ผู้ใช้สื่อออนไลน์แยกไม่ออกระหว่างเรื่องที่เกิดขึ้นในข่าวกับเรื่องจริงในชีวิตของตนเอง ในงานศึกษาเรื่อง การรู้เท่าทันข่าวลวงในสื่อสังคมออนไลน์ของกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มผู้สูงอายุในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดย กฤศ โตธนายานนท์, คมสัน รัตนะสิมากูล และอัญมณี ภักดีมวลชน, 2564) กล่าวว่า ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ควรหาวิธีป้องกันหรือปราบปรามปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้น ควรมีทักษะความรู้ความเข้าใจรูปแบบลักษณะการนำเสนอ วัตถุประสงค์ หรือที่เรียกทักษะเหล่านี้ว่า “การรู้เท่าทันสื่อ” (Media literacy) เป็นการมีทักษะที่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สามารถวิเคราะห์ข้อมูลองค์ประกอบของสาร สามารถประเมินแยกแยะข้อมูลข่าวสารว่ามีประโยชน์ต่อตนเองหรือไม่ มีแหล่งที่มาของข้อมูลที่มาอย่างน่าเชื่อถือหรือไม่

สื่อมวลชนหลายแหล่งเองนั้น ได้มีการรายงานข่าวในรูปแบบของเชิงสืบสวนและตรวจสอบ (Investigative news) ได้หายไปจากวงการอยู่ช่วงหนึ่ง และก็กลับมา ดังจะเห็นได้จากการนำเสนอคอนเทนต์ประเภทข่าวที่สื่อรุ่นใหม่ได้หยิบมานำเสนอ พร้อมกับ “เจาะลึก วิเคราะห์ และต่อยอด” ประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างหรือกำลังเป็นกระแส “อย่างข่าวน้ำท่วม ผู้ชมไม่ได้อยากรู้ว่า นํ้าท่วมที่ไหนเพียงอย่างเดียว ถ้าอย่างนั้นจะเป็นข่าวแบบ in general แต่ถ้ามีบางช่องที่รายงานว่า สาเหตุของนํ้าท่วมเกิดจากอะไร ปัญหาอยู่ที่ไหน และจะแก้ไขอย่างไร ก็จะมีโอกาสได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากกว่า” พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช (2564)

นอกจากนี้แล้วเมื่อเรื่องไหน หรือกระแสข่าวไหนได้รับความนิยมสูงมากขึ้น สื่อมวลชนหลายแหล่งก็ต่างเข้ามารายงานเชิงสืบสวนมากขึ้น และเนื้อหาข่าวเหล่านั้นก็มีการนำความรู้สึกนึกคิดของตนเองใส่เข้ามามากขึ้น จนการรายงานข่าวนั้นขาดความเชื่อถือและอาจยังเป็นข้อมูลในเชิงทัศนะหรือความเห็นส่วนตัวของผู้สื่อข่าวคนนั้น เช่น งานวิจัยเรื่อง “กระแสข่าวแตงโม นิดา และวาระข่าวสารที่หายไปในรายการข่าวทีวี” โดย Media Alert (2565) นอกจากการทำหน้าที่สะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อมวลชน ถือเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดวาระข่าวสาร และทิศทางความสนใจทางสังคมที่สำคัญกลไกหนึ่ง ดังจะเห็นจากกระแสข่าวแตงโม นิดา ที่อยู่ในความสนใจของสังคมตลอดทั้งเดือนมีนาคม 65 ที่ผ่านมา สื่อมวลชนถือเป็นผู้มีบทบาทในการติดตามความเคลื่อนไหวและรายงานข่าวดังกล่าว จนเกิดข้อสังเกตถึงพื้นที่ข่าวอื่น ๆ ที่สื่อไม่นำเสนอ หรือนำเสนอน้อย จนสังคมไม่สนใจ ไม่ได้รับรู้เท่าที่ควร โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์ที่เป็นความสนใจในระดับโลก คือ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

ผลการศึกษาพบ พื้นที่ข่าวที่หายไป (Missing Topics) ข่าวที่ถูกนำเสนอน้อย (Underrepresented Topics) รวมถึงพื้นที่ข่าวที่ล้นเกิน (Overrepresented Topics) ที่พบจากการเปรียบเทียบสัดส่วนประเด็นข่าวในผลการศึกษาในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นภาพรวมปัญหาความไม่สมดุลของวาระข่าวกับความเป็นจริงของเหตุการณ์ และการทำหน้าที่กำหนดวาระข่าว-วาระทางสังคมของข่าวโทรทัศน์ในปัจจุบัน ที่มีแนวโน้มมุ่งนำเสนอข่าวสารที่ตอบโจทย์กระแสอารมณ์และความอยากรู้อยากเห็นของคนในสังคม ทั้งนี้เพื่อการแข่งขันเรื่องความนิยมและรายได้เป็นหลัก และในขณะเดียวกันก็ใช้เหตุความจำเป็นดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการจำกัดบทบาทหน้าที่ของตนเอง จนอาจละเลยบทบาทหน้าที่ในการนำเสนอข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ควบคู่กับความรับผิดชอบในการสื่อสารรายงานเหตุการณ์และสถานการณ์ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงเป็นไปของสังคมและโลก เพื่อสร้างความเท่าทันให้ผู้บริโภคข่าวสาร สามารถแสดงความเห็น ตัดสินใจ และสามารถนำข้อมูลความรู้จากการรายงานของสื่อมาปรับใช้ในการดำรงชีวิต (Media Alert, 2565)

เช่นเดียวกับงานศึกษาเรื่อง ข่าวในยุคสื่อดิจิทัล โดย ชนิดา รอดหยู่ (2563) กล่าวว่าข่าวสารที่เผยแพร่อยู่บนสื่อออนไลน์ในปัจจุบันมีจำนวนมากมายมหาศาล ข่าวสารจำนวนมากมาจากแหล่งที่มาที่หลากหลาย ทั้งคนทั่วไปที่เป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และสื่อมวลชนมืออาชีพ ซึ่งเป็นทั้งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ขณะเดียวกันข้อมูลจำนวนมากที่เผยแพร่ออกมาเพื่อผลประโยชน์บางอย่างของคนบางกลุ่ม และข่าวสารที่ขาดความน่าเชื่อถือนี้บางส่วนมากจากเว็บไซต์ประเภท click bait ซึ่งใช้เทคนิค การพาดหัวข่าวที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของผู้อ่าน ทำให้ต้องคลิกเข้าไปอ่านเนื้อหาข่าวแต่พออ่านแล้ว อาจจะพบว่าเป็นเรื่องไร้สาระหรือเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับที่พาดหัวเลยก็ได้ ข่าวประเภทนี้ต้องการใช้ยอด การกดถูกใจ (like) และแบ่งปัน (share) ของผู้ใช้สื่อสังคมเพื่อเป้าหมายในการขายพื้นที่โฆษณา ดังนั้น ผู้เขียนคิดว่าทักษะที่เกี่ยวข้องกับข่าวในยุคสื่อดิจิทัลนี้จำเป็นต้องมีอยู่ทั้งในตัวของผู้สื่อข่าว (ผู้ส่งสาร) และผู้ใช้สื่อ (ผู้รับสาร) ด้วย

ทั้งนี้แล้วการเสพสื่อยุคที่ข่าวสารไหลไปอย่างรวดเร็ว สื่อมวลชนเองก็ต่างพยายามนำเสนอข่าวสารที่หวังจะตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายของตนเอง การขาดความใส่ใจและละเลยการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารก่อนการนำเสนอ ส่งให้บางครั้งข่าวสารเหล่านั้นถูกนำเสนอแบบผิด ๆ และส่งต่อการรับรู้หรือความเข้าใจผิดของผู้รับสาร ดังนั้นแล้วเมื่อข่าวกับชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน ผู้รับสารที่อยู่กับโลกออนไลน์ต้องรู้เท่าทัน ตระหนักรู้ และวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นก่อนที่จะเลือกยอมรับหรือเลือกจะเชื่อแหล่งข่าวไหน เพื่อไม่ให้ตัวเองกลายเป็นผู้บริโภคที่เพิ่มรายได้ให้สื่อที่นำเสนอข่าวสารผิด ๆ

Content Creator

Graphic Designer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า