fbpx

เมื่อการเสนอข่าวต้องมีความจริงมากกว่าความรู้สึก

จากหนังสือเรื่อง จริยธรรมในวิชาชีพสื่อมวลชน โดย ศิริวรรณ อนันต์โท และสันทัด ทองรินทร์ (2559) ได้ให้ความหมายของคำว่าจรรยาบรรณในวิชาชีพสื่อมวลชนไว้ว่า หลักการทำงานของสื่อมวลชนภายใต้องค์กรวิชาชีพหรือสาขาวิชาชีพของตน ไม่ว่าจะทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม จรรยาบรรณเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงค่านิยมขององค์กรและความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ที่สื่อมวลชนมีต่อสังคม

ย้อนกลับมาอ่านหนังสือเล่มดังกล่าว ก็พบว่า การแข่งขันของธุรกิจสื่อ ความต้องการบริโภคข้อมูลข่าวสารของประชาชน สิ่งเหล่านี้เป็นตัวเร่งให้สื่อมีบทบาทสำคัญและมีอิทธิพลต่อชีวิตคนสังคมอย่างมากและกว้างไกลมากขึ้นกว่าในอดีต ดังนั้นนอกเหนือจากความมีเสรีภาพแล้ว การทำงานของสื่อมวลชนจึงจำเป็นต้องยึดถือจริยธรรมและจรรยาบรรณควบคู่ไปกับเสรีภาพที่ได้รับมาด้วย (ศิริวรรณ อนันต์โท และสันทัด ทองรินทร์, 2559) โดยหนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยชุด “จริยธรรมในวิชาชีพ” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วริยา ชินวรรโณ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาวิกฤติจริยธรรมในสังคมไทย

แม้ว่าการศึกษาชุดดังกล่าวนี้จะเกิดในช่วงปี 2559 แต่ข้อมูลดังกล่าวก็สามารถนำมาใช้ในช่วงเวลาปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แต่ทว่าในช่วงที่ผ่านมานี้ตั้งแต่ปี 2559 – 2565 สื่อมวลชนไทยต่างขาดการใส่ใจในเรื่องจริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อเป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่นั้นผู้ประกาศข่าวหรือผู้สื่อข่าวเลือกที่จะใส่ความรู้สึกของตนเองลงไปในการนำเสนอข่าวนั้น ๆ มากจนเกินพอดี เช่นในกรณีข่าวเรื่อง “คดีน้องชมพู่ บ้านกกกอก” ที่รายการข่าวต่างแข่งขันกันลงพื้นที่เกาะติดสถานการณ์ต่าง ๆ สร้างเรื่องดราม่าเล่นข่าวจนสร้างตัวตนของ “ลุงพล” ให้กลายเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในเวลาอันไม่นาน

ในบทความเรื่อง จากเปรี้ยวถึงลุงพล : เข้าใจ Agenda Setting หัวใจสำคัญของสื่อมวลชน โดย ชิตปภพ ประเสริฐไพฑูรย์ (2564) กล่าวว่า “คดีน้องชมพู่” บ้านกกกอก สื่อใช้อำนาจของตนเอง สร้างตัวละครขึ้นมาภายใต้เรื่องราวของคดีฆาตรกรรมที่เป็นปริศนา ด้วยการหยิบยกผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ให้กลายเป็นตัวละครเอก ซ้ำยังใส่ความน่าเห็นอกเห็นใจ การยกย่องเชิดชูให้ตัวละครนี้กลายเป็นที่รู้จัก และมีชื่อเสียงในเวลาอันไม่นาน ผศ.ดร. วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลไว้ในเว็ปไซต์ บีซีซีไทย เรื่อง “น้องชมพู่: มองกระแส “ลุงพล-ป้าแต๋น” ผ่านความเห็นนักวิชาการ” สื่อได้สร้างภาพความเป็นละคร มีการใส่อารมณ์ ปมเรื่อง และเหตุการณ์ต่าง ๆ ลงไปในการนำเสนอข่าว

สื่อกระแสหลัก เริ่มให้ความสนใจ “ลุงพล” และภรรยา “ป้าแต๋น” มากขึ้น โดยมีบางสำนักนำเสนอข่าวเกาะติดที่บ้านของ  “ลุงพล” ชนิดแบบต่อเนื่องทุกวัน และยังมีการทาบทาม “ลุงพล” ให้ไปเล่นภาพยนตร์ “บ้านกกกอก เดอะซีรีส์” ดำเนินการโดย นักปั้นและผู้จัดการดาราชื่อดัง “อุ๊บ วิริยะ” ส่งผลให้ “ลุงพล” เริ่มมีฐานแฟนคลับ และมีเหล่ายูทูบเบอร์คอยติดตามการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น (PPTV online, 2564)

เช่นเดียวกับที่ ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ คณาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวไว้ในงานเสวนาเรื่อง “การนำเสนอภาพลักษณ์เด็กบนพื้นที่สื่อโทรทัศน์ในประเทศไทย ภายใต้มิติวัฒนธรรมชุมชน” เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ประเด็นเกี่ยวกับเด็กเป็นประเด็นที่สื่อหยิบยกเอามาขายได้ ทั้งความน่าสงสาร ความน่าเวทนา สามารถนำมาเพื่อเรียกร้องความสนใจ และง่ายต่อการที่จะขายข่าว คนเราทุกวันนี้ต้องการดราม่าสูงมาก เมื่อก่อนข่าวคือข้อเท็จจริง ปัจจุบันข่าวคือการใส่สีสันเข้ามา ทำให้ข่าวเป็นเรื่องเล่ามากขึ้น ผู้ชมลดคุณค่าความเป็นข่าว มีอารมณ์กับความเป็นข่าว และเมื่อข่าวไหนมีแนวโน้มที่จะทำให้คนมีอารมณ์กับข่าว ก็จะถูกหยิบยกมาเล่า และเป็นกลายเป็นประเด็นมากขึ้น” (ชิตปภพ ประเสริฐไพฑูรย์, 2564)

ดังนั้นแล้ว หากจะสรุปให้เห็นชัดเจนว่าบทบาทหน้าที่ และกรอบจริยธรรมในวิชาชีพสื่อมวลชนที่ควรคำนึงถึงมากที่สุด จากหนังสือเรื่อง จริยธรรมในวิชาชีพสื่อมวลชน โดย ศิริวรรณ อนันต์โท และสันทัด ทองรินทร์ (2559) ได้วิเคราะห์และสังเคราะห์ผลการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ พบว่า จะสามารถสรุปกรอบจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนใน 22 ประเด็นสำคัญดังนี้

  1. ความรับผิดชอบต่อสังคม
  2. การคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ
  3. การไม่นำเสนอ/ส่งข้อมูลอันอาจกระทบต่อสถาบันอันเป็นที่เคารพ
  4. ความเป็นกลาง ไม่ลำเอียงในการหน้าที่สื่อมวลชน
  5. ความถูกต้องแม่นยำในการนำเสนอข้อมูล
  6. การไม่นำเสนอ/ส่งข้อมูลอันอาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติ
  7. ความซื่อสัตย์ การยึดมั่นเกียรติภูมิแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน
  8. การไม่นำเสนอ/ส่งข้อมูลอันเป็นเท็จและสร้างความเสียหายให้ผู้อื่น
  9. การสร้างจิตสำนึก การปลูกฝังอุดมการณ์ การยึดถือในเกียรติและความภาคภูมิใจในวิชาชีพ
  10. การระมัดระวังประเด็นที่อาจกระทบต่อเชื้อชาติ ศาสนา และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม
  11. การทำหน้าที่อย่างโปร่งใส่ ให้สังคมตรวจสอบได้
  12. การธำรงรักษาและส่งเสริมวัฒนธรรม และศีลธรรมอันดี
  13. การไม่นำเสนอ/ส่งข้อมูลอันอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือวุ่นวายในสังคม
  14. การมีความรับผิดชอบด้านจริยธรรมของผู้ประกอบกิจการ/เจ้าของสื่อ
  15. การไม่ใช้วิชาชีพสื่อมวลชนเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
  16. การระมัดระวังตรวจสอบผู้แสดงความคิดเห็นที่ใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ
  17. การแสดงความรับผิดชอบต่อผู้เสียหายและแหล่งข้อมูล
  18. การไม่ตกอยู่ใต้อำนาจ/การครอบงำของธุรกิจหรืออิทธิพลที่มิชอบ
  19. การเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น
  20. การช่วยชี้นำสังคมไปในทิศทางที่ถูกต้อง
  21. ความระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว
  22. การไม่นำเสนอภาพหรือข้อความที่เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

เมื่อลองย้อนทบทวนเหตุการณ์ที่ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ยังพบว่าสื่อมวลชนหรือสำนักข่าวหลาย ๆ แหล่งเองนั้นยังหมิ่นเหม่ต่อการปฏิบัติได้ตามกรอบจริยธรรมที่เสนอไว้ตั้งแต่ปี 2559 โดยงานชิ้นนี้ได้นำเสนอแนวทางในการป้องกันการฝ่าฝืนจริยธรรมในวิชาชีพสื่อมวลชนว่า ควรใช้แนวคิดแบบผสมผสานระหว่างการกำกับดูแลตนเอง การกำกับดูแลกันระหว่างสื่อ และการใช้มาตรการทางกฎหมาย ทั้งนี้แล้วสื่อมวลชนต้องคำนึงเสมอว่าการนำเสนอข่าวสารต้องเน้นความจริงมากกว่าความรู้สึก จนกลายว่าข่าวนั้นเป็นเพียงทัศนะของผู้สื่อข่าวเท่านั้น แต่ข่าวนั้นต้องเป็นการสื่อสารข้อเท็จจริงที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของผู้สื่อข่าว

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า