fbpx

เมื่อ #สื่อไร้จรรยาบรรณ เกิดขึ้น คนในวงการสื่อต้องแก้ตรงไหน?

คอนเทนต์นี้เขียนครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563

เมื่อวานนี้ (8 กุมภาพันธ์ 2563) เกิดเหตุทหารยิงผู้บังคับบัญชาและประชาชนที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนคงเศร้าและเสียใจที่สุด โดยเฉพาะกับคนที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนตั้งคำถามเลยก็คือการรายงานข่าวของสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ หรือสื่อออนไลน์ที่ปักหลักรายงานกันตั้งแต่เวลา 16.00 น.โดยประมาณ ไปจนถึงรุ่งเช้าของวันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2563) การกระทำของสื่อมวลชนบางสำนักทำให้ก่อให้เกิด #สื่อไร้จรรยาบรรณ ขึ้น นอกจากนี้เทรนด์นี้ยังนำขึ้นเป็นอันดับ 2 ในเช้าของวันนี้ เนื่องจากสื่อสิ่งพิมพ์บางสำนักได้มีการลงภาพผู้เสียชีวิตอีกด้วย

ส่องสื่อ ในฐานะสถาบันสื่อที่ดำเนินการขึ้นเพื่อสร้างระบบการเรียนรู้ในนิเวศสื่อ และเป็นสื่อที่เน้นสะท้อนสื่อด้วยกันเอง เราไม่รอช้าที่จะเก็บสถานการณ์สื่อที่เกิดขึ้น และมุ่งตรงไปถามยังนักวิชาการสื่อทั้ง 2 ท่าน เพื่อไขคำตอบและหาหนทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยทั้งนี้ ส่องสื่อไม่ได้มีเจตนาในการมุ่งให้ร้ายกับสื่อมวลชนสำนักใดสำนักหนึ่ง เพียงแต่เป็นพื้นที่ที่ให้ทุกคนเรียนรู้การทำสื่อมวลชนอย่างรับผิดชอบสังคมไปด้วยกัน และสร้าง Solution ที่ทำให้สังคมและสื่อเข้าใจร่วมกันในการนำเสนอในช่วงภาวะวิกฤตอีกด้วย

โดยแขกรับเชิญในบทความพิเศษนี้ ได้แก่ ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการสื่อสารมวลชน และ ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ตำแหน่งในปัจจุบัน) มาร่วมให้ข้อมูล เพื่อเป็นบทเรียนแก่สื่อมวลชนต่อไป

ขอให้ทุกท่านจงตั้งใจอ่านทุกบรรทัด และนำไปพัฒนาปรับปรุง
เพื่อเป็นสื่อที่รับผิดชอบต่อสังคมต่อไป


มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ : จรรยาบรรณไม่ได้มีความสำคัญหรอกแค่มีความเป็นคนก็พอแล้ว

ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชนที่ได้จับตามองการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนมาตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา และดร.สิขเรศคอยตอบ ติชมไปยังสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ทั้งในส่วนของเนื้อหา และภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการรายงาน วันนี้เราจะมาฟังเสียงของท่านต่อการนำเสนอข่าวสารในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ต่อเนื่องถึง 9 กุมภาพันธ์ 2563 กัน

เห็นการนำเสนอข่าวของสื่อเป็นยังไงบ้าง?

ในรอบ 17 ชั่วโมง เราต้องตั้งคำถามกับวงการของเราเองเนี่ยว่าต้องการการปฏิรูปสื่ออย่างจริงจังใช่หรือ? ในหลายบริบท ผมคิดว่าเราหยุดเลิกเรื่องดราม่า ว่าเรา กสทช. หรือ ฝ่ายอำนาจนิยม จ้องเล่นงานมาตรา 37 เราอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน เราอภิวัฒน์หรือปฎิรูปตัวเองมากน้อยขนาดไหน  อันนี้คือไม่ได้เป็นการตำหนิอะไรทั้งโกลนนะ สื่อที่ดีอย่างเช่น ThaiPBS ก็ดี MThai ก็ดีหรืออะไรก็แล้วแต่

ที่เรามอนิเตอร์กันมาในรอบ 17 ชั่วโมงเนี่ยก็เห็นว่าสื่อที่ดีก็มีอยู่ แต่ว่าสื่อที่ผมคิดว่าถ้าเรียนอยู่ก็คิดว่านี่คือการวิจัยหลังปริญญาเอกคณะนิเทศศศาสตร์มากกว่า และมีบทเรียนถอดองค์ความรู้ถอดบทเรียนกันเยอะมากจนเกินไปแล้ว เพราะงั้นผมถึงบอกเนี่ยว่า จรรยาบรรณไม่ได้มีความสำคัญหรอกแค่มีความเป็นคนก็พอแล้ว คือผมคิดว่าถ้าจะถามผมตรงนี้หลักการจรรยาบรรณเนี่ยไม่ว่าในวงการวิชาการองค์การวิชาชีพการจัดการเรียนการสอนทุกคนที่ผ่านนิเทศศาสตร์วารสารศาสตร์มาในรอบ 4 ปีนี้จะมี 1-2 คอร์ส แล้วอาจารย์ก็พร่ำสอนอยู่แล้ว

ส่วนที่ 2 คือจรรยาบรรณวิชาชีพว่าสมาคมองค์กรนักข่าวทุกองค์กร 4-5 องค์กรที่มีอยู่ก็มีแนวทางปฏิบัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมคิดว่าการแถลงการณ์ดังกล่าวมันไร้ค่าและไม่มีประโยชน์อะไรเลย กลับมาในเรื่องของเราคิดว่าถามคำถามได้ว่าเราจำเป็นต้องรายงานสถานการณ์เหล่านี้หรือไม่ มองจากมุมมองทั่วโลก มีความจำเป็น เพราะเรามีบริบทและหน้าที่ของ Watchdog คือสุนัขเฝ้าบ้านนั้นเอง แต่ไลน์ของมันคือเส้นของมันในการที่เราจะทำงานมีอะไรบ้าง

ยกตัวอย่างเช่นว่าในบริบทอันที่ 1 เราต้องพิจารณาว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้น มันกระทบถึงสิทธิของประชาชนหรือไม่? ยกตัวอย่างง่ายๆ คือมีการนำเสนอภาพ 17 ชั่วโมงมีการนำเสนอภาพของผู้ตายทั้งสื่อหลักและสื่อออนไลน์จำนวนมากได้ มีคนถามผมว่าอาจารย์เขาเบลอแล้ว Visual communication ผมก็สอนนะวิชานี้ มาดูเบลอสิถูกไหม? ผมคิดว่าตัวอย่างที่ดีก็เหมือนกันก็จะบอกว่านักวิชาการหยุดก่อนนู่นนี่นั่นก่อนคือคุณไปดูด้วยความบริสุทธิ์ใจใน 17 ชั่วโมงนี้ก็ได้ การเบลอหรือการนำเสนอภาพต่างๆ จะสังเกตว่ายุคหลังๆ สื่อต่างประเทศก็ทำให้ไม่มีเลยนะ วันนี้จริงๆ เช้านี้ผมคาดหวังให้อย่างน้อยสื่อประเพณีนิยมเนี่ยคืออย่างหนังสือพิมพ์เนี่ยลงภาพขาวดำด้วยซ้ำไป

ข้อที่ 2 ดูตัวอย่างของนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ “ขอให้เราจงระลึกถึงผู้วายชนม์ในงานภาวนา เราจะไม่เอ่ยนามถึงชื่อผู้ก่อการร้ายเลย” คือมันเป็นการสร้าง Copycat ต่างๆ ดังนั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องราวละเอียดอ่อนมาก ผมตกใจมากเลยว่าสื่อเองมีการโพสต์ฉอดกลับด้วย ช่องหนึ่งเมื่อคืนนี้ ผมตกใจมากๆ นะว่าในภาวะวิกฤต ตรงนี้ผมถึงบอกไง 17 ชั่วโมงมันวัดแล้วไง ไม่ต้องเอาเรื่องเก่าคดีเก่า ผมคิดว่ามันเป็นการวัดถึงวุฒิภาวะของกองบรรณาธิการของโต๊ะข่าวสำนักข่าวนั้นๆ ครับ                     

การนำเสนอข่าวอาชญากรรมควรจะต้องเป็นแบบไหนบ้าง?

งดเว้นในการนำเสนอภาพ อุจาดตา ผู้วายชนม์นะครับ ไม่ว่าคุณจะเบลอหรือไม่ก็ตาม เช้านี้นี้คุณยังอาจจะเห็นหนังสือพิมพ์สีบานเย็นก็ยังเห็นภาพอยู่ตรงนั้นเต็มๆ เลย คนที่นอนตายคนที่เสียชีวิตด้วยครับ

อันที่ 2 อันหนึ่งอย่าขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ หรือ การนำตัวเองสู่ภาวะอีกครั้งหนึ่ง

อันที่ 3 ผมคิดว่าการไลฟ์สดต่างๆ producible ของมัน ยกตัวอย่างเมื่อคืนนี้การไลฟ์สดที่ถูกสังคมและประชาชนวิพาทย์มากเลย ตอนนี้เราไม่ทราบและไม่รู้หรอกการไลฟ์สดของสถานนีต่างๆ ช่องต่างๆ หรือเว็บข่าวออนไลน์ต่างๆ เนี่ย มันมีลิมิตมากขนาดไหน ที่จริงแล้วเนี่ยเอาตรงๆ เลยคือมันควรตัดสัญญาณเตือนภัยในภาวะวิกฤตตรงนี้ เรายังไม่ทราบว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเบาะแสมากน้อยขนาดไหน

ขนาดเดียวกันคนที่อ้างข้อมูลว่าคนร้ายได้ตรวจสอบแล้ว มอมิเตอร์การไลฟ์สดของสำนักข่าวตลอดเวลา คุณกับผมอยู่แล้วเราไปหยิบโทรศัพท์ของใครก็ได้ของเราเนี่ยมันถูกไหม? ถึงแม้ Facebook Account ของเราจะถูกปิดไป ก็ยังสามารถดูคนอื่นได้เพราะงั้นอย่าลืมนะครับ ในห้างไปอยู่ในแผนกไฟฟ้า เราก็สามารถรับชมโทรทัศน์ได้ไหมครับ เพราะงั้นการไลฟ์สดของสำนักข่าวต่างๆ ต้องมีวิจารณญาณพอสมควรนะครับ

อันที่ 4 ผมคิดว่าสิ่งที่เราให้บทบาทน้อยมากก็คือตอนนี้เราให้บทบาทนักวิเคราะห์ เมื่อวานนี้ผมงงมาก เอาให้นักวิเคราะห์ยุทธภัณฑ์ปืนและอื่นๆ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับตรงนี้ แทนที่เราจะเปิดพื้นที่ให้นักจิตวิทยา นึกภาพออกไหมครับ มีบางช่องเนี่ย วิเคราะห์ ปืน ลักษณะปืนเป็นอย่างนี้นู่นนี่นั่น เรากำลังจะส่งเสริมความรุนแรงต่อไปถูกไหม? นอกจากการเสนอภาพต่างๆ หรือวีดีโอวอลล์ต่างๆ ด้วยความสะเพร่าไปด้วยความอยากจะเพิ่มเรทติ้งหรืออะไรก็แล้วแต่

อันที่ 5 ผมคิดว่าเราต้องตักเตือนไปถึงผู้กำกับดูแลด้วยเหมือนกัน กสทช. DE ถูกไหม เมื่อวานนี้ กสทช. และ DE ไม่สามารถทำบทบาทของตัวเองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเลย ตอนนี้ กสทช และ DE ทำไรอยู่? เมื่อประมาณตอนประมาณหัวค่ำโพสต์แล้วก็บอกว่า “ขอความร่วมมือจากสถานีโทรทัศน์ทุกแห่งในไลฟ์สดทุกคนงดไลฟ์สด” ทุกคนเปิดดูโทรทัศน์ยังไลฟ์สดอยู่เลย เพราะฉะนั้นคือแนวทางตรงนี้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลด้วยและคุณมีการกำกับดูแลได้อย่างไร?

ต่อมาผมคิดว่าสมาคมสื่อเอง เราไม่ฝักใฝ่และเราไม่นิยมอํานาจนิยมอยู่แล้ว แต่สมาคมสื่อเองนอกจากการแถลงการณ์จดหมายหนึ่งฉบับ A4 1 ฉบับแล้ว จะมีแนวทางในการกำกับดูแลร่วมได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า 4-5 ประการ Principle ที่ต้องพูดถึง

การเสนอข้อมูลกับประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน สื่อมีความสำคัญไหม?

มีความสำคัญมากครับ ตอนนี้ยังไม่ทราบผลกระทบที่ตามมาคือผลกระทบทางด้านจิตใจ ขนาดตัวผมและคุณยังรู้สึกหดหู่เลย เพราะฉะนั้น Level ของแต่ละคนมันแตกต่างกันออกไป ในสังคมตะวันตกที่มีอารยะแล้ว สื่อมีความสำคัญ ผมคิดว่าสื่อมีความสำคัญในการรายงาน Balancing  ของการนำเสนอข่าว Balancing บรรณาธิการเองวันนี้เป็นการวัดผลที่สำคัญว่าบรรณาธิการงานข่าวของสถานีโทรทัศน์ หรือเว็บไซต์ใดมีวิจารณญาณและมีความรับผิดชอบมากกว่ากัน

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กราดยิงโคราช
ภาพโดย ไทยรัฐออนไลน์

มีสื่อบางเจ้าที่นำเสนอแม้กระทั่งว่า “โทรโฟนอินไปยังผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่อยู่ในห้าง” อาจารย์คิดอย่างไร?

อย่างผมบอกนะครับเลเยอร์ที่ 1 ก็คือ จิตสำนึกของตัวเราไม่ต้องมีจรรยาบรรณขอแค่มีความเป็นคนก็พอ เลเยอร์ที่ 2 การกำกับดู มี 2 นัยยะคือการกำกับดูแลในส่วนของภาคประชาชน เพราะงั้นประชาชนต้องปิดรีโมทจริงๆ มีหลายคนที่โพสต์ทางโซเชียล ทางสื่อทุกช่องทางว่าเขาไม่สามารถยอมรับได้ในการกระทำของสื่อของกองบรรณาธิการนั้นๆ หรือสำนักข่าวนั้นๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้วอันนั้นเป็นการ boycott  เป็นเรื่องธรรมดา อย่าปากว่าตาขยิบ อันนี้คือสิ่งที่ประชาชนต้องดูแลตัวเองและดูแลคนที่รัก อันที่สองสมาคมสื่อต่างๆ ก็เหมือนกันตอนนี้ผมคิดว่ามันถึงเวลาที่ต้องเรียกคำว่า น้ำยา ครับ ประชาชนเบื่อหน่ายมากเลยในรอบ 5 ปี 6 ปีก็ไม่ต้องย้อนไกล คุณกับผมได้อ่านแถลงการของ 5 สมาคมกี่ครั้งแล้ว เพราะฉะนั้นผมเหนื่อย บางทีผมเปิดผ่านเลยนะทั้งๆ ที่คนข้างในก็รู้จักกันหมดครับ แต่ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว

ในส่วนต่อไป องค์กรกับดูแล ผมคิดว่าทั้งดราม่าเรื่องเดิมก็ได้ พรบ.คอมพิวเตอร์ มีดาบอยู่แล้วในกรณีที่ไม่ทำอะไร เขาทำเรื่องการเมืองอย่างเดียวใช่ไหม? ถ้าเขาเอาอย่างเดียว Fake news ที่แอนตี้รัฐบาลโดนจับ แต่ Fake news ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบทาด้านจิตใจ มาตรา 14 มีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อำนาจเต็มที่เป็นที่เรียบแล้ว ตัดภาพเข้ามาในส่วนกฎหมายอาญามีเป็นร้อยแล้ว การโพสต์นู่นนี่นั่นที่มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับผู้ต่อกับผู้วายชนม์ก็เป็นความผิดอาญาเป็นกฎหมายอาญาด้วยซ้ำไป การกำกับด้วย กสทช มาตรา 37 เหมือนกัน ตลกที่สั่งทันที ปิดทันทีถูกไหมในเรื่องการเมือง แต่ตรงนี้ทำไมไม่ทำ ประชาชนทุกคนก็เห็นพร้อมครับ กสทช. โพสต์มาเป็นชั่วโมงยังไลฟ์อยู่เลย ตัวสื่อเองเหมือนกันกลับมาฉอดกับคนที่ให้ความคิดเห็นโดยสาธารณะ ผมรู้สึกเฟลมากเลย

เราจะเห็นได้ชัดว่าคนที่รับชมสื่อตอนนี้กำลังเพ่งเล็งไปที่สื่อที่ไม่มีจรรยาบรรณ อาจาร์ยเห็นปรากฎการณ์ตรงนี้บ้างไหม?

ช่อง 30 กว่าพวกนี้ HD โดนเรียบเลย โดยประมาณเพราะงั้นผมคิดว่า กระแสแบนตรงนี้คือสิ่งที่ผู้บริหารต้องรับฟังนะ ผู้บริหารก็รู้ดีเอาเทรนด์ทวิตเตอร์ไปขายโฆษณาได้ไหม ได้ คุณก็ต้องขอบอกเหมือนกันว่ามันคุ้มเสียกันหรือเปล่า แล้วทำให้แบรนด์อิมเมจของแต่ละคนหายไปเลยนะ บรรณาธิการที่เรารู้อยู่แล้วว่าเขาต้องใช้เวลาแบกศักดิ์ศรี แบกชื่อของเขามา แต่ละคนไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว รางวัลโทรทัศน์ดีเด่นเนี่ย ผมตกใจเลยรางวัลอะไรก็แล้วแต่ในเครื่องทิ้งเลยดีกว่าไม่ต้องเกรงใจกันเลยถูกไหม?

คือคุณไม่ต้องมาบอกหรอกว่าผมต้องทำตามหน้าที่ของผม ผมถึงบอกว่าจรรยาบรรณไม่ต้อง มีความเป็นคนมันสำคัญมากกว่า เหมือนถามว่า Hashtag เหล่านี้มีผลหรือไม่มีผล? มีผลครับในระยะสั้นและระยะยาว และอย่าดูถูกพลังประชาชนในโลกสื่อออนไลน์ เขาไปแล้วไปลับไม่กลับมา ทางเลือกในชีวิตของเขามีเยอะแยะมากมาย ผมคิดว่า Hashtag ต่างๆ มีผลครับและกว่าคุณจะสร้างแฮชแท็กให้ติดเทรนด์ได้ในทางที่ดีมันยากมาก แต่ชั่วแป๊บเดียว ลองคิดดู 17 ชั่วโมงที่ผ่านมากับ 6 ปีที่ลงทุนกันเป็นพันพันล้านในสถานีของคุณมันคุ้มหรือไม่? นี่คือ wording ที่ผมอยากจะฝากไว้ 17 ชั่วโมงเอง แต่คุณทำลายชื่อเสียงเกียรติยศภูมิของช่องและมันคุ้มหรือไม่?

คนที่อยากรับสื่อแล้วเขาจะต้องคำนึงถึงอะไรไหม? ถ้าสื่อนำเสนอตรงนี้ไม่ดี เขาจะมีช่องทางในการบอกกล่าวไหม?

ผมคิดว่าตรงนี้กระบวนการของพลเมืองดิจิทัล กำลังอภิวัฒน์สื่อและกลไกลของสื่อและระบบสื่อโดยค่อยเป็นค่อยไป และโดยรุนแรงและฉับพลันในบางกรณี วันนี้ถามจริงว่าผมเป็นห่วงหรือไม่ ตีเส้นแบ่งเลยนะครึ่งนึง ผมเป็นห่วงและสื่อพลเมืองดิจิทัลเราดำดิ่งดำลึกเข้าไปสู่ในลักษณะต่ำตมมาก แต่ถ้าลองดูดีๆ ขีดเส้นครึ่งนึงอยู่ดีๆ อีกฝั่งนึงเนี่ยกำลังอภิวัฒน์เป็นแบบ Citizens มีคุณภาพเขา Say no เขาบอกปฏิเสธ เขาต่อต้าน เขาท้วงติง เขาทำทุกอย่าง เพราะงั้นผมคิดว่าอีกฝั่งนึง ผมเห็นความหวังมากกว่า คนกลุ่มนี้เนี่ยโดยเฉพาะในทวิตเตอร์ก็ดี เราก็รู้อยู่แล้วทวิตเตอร์ประชากรส่วนหลักๆ ก็คืออายุต่ำกว่า 30 ลงมา ถือเป็น movement ในการปฏิวัติได้แล้ว และถือเป็น Hashtag ที่สามารถ Balance กับผู้ประกอบการสื่อได้

ลองคิดถึงสมัย 10 ปีที่สื่อเขาไม่สนใจหรอก แต่วันนี้สื่อเริ่มจะสะดุ้งเริ่มจะสะเทือนแล้ว ในฐานะปัจเจกชนถึงแม้ปากจะฝืนจะเถียง ฉอดๆ อยู่ผมคิดว่า ปิดไมค์ปิดกล้องกลับบ้านเขาก็รู้สึกเพราะเขาอยู่ตลอดเวลา บอกแล้วไงชื่อสร้างมา 17 ปีกับ 17 ชั่วโมงที่เขาทำไปมันเห็นชัดเจนไงครับ


ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม : ข่าวอาชญกรรมถ้าไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Solution Journalism มันจะมีประโยชน์มาก ๆ

ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม เป็นผู้ที่คร่ำวอดอยู่ในวงการสื่อสารมวลชน และเป็นอาจารย์ที่เน้นสอนในเรื่องของ Storytelling ในการเล่าเรื่องนิเทศศาสตร์ 24 ชั่วโมงที่อาจารย์คอยจับตามองถึงการนำเสนอข่าวในสถานการณ์ขับขันอยู่ในขณะนั้น วันนี้อาจารย์จึงให้เกียรติมาแลกเปลี่ยนกับทีมกองบรรณาธิการด้วยเช่นกัน ติดตามได้เลย

เห็นปรากฏการณ์อะไรจากการนำเสนอข่าวการกราดยิงบ้าง?

จริงๆ แล้วเราเห็นว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ทุกครั้งในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์วิกฤต เหมือนกับสื่อเราก็ยังทำผิดซ้ำในการนำเสนอข่าวในลักษณะนี้ คือจะมีการกระหาย อยากจะนำเสนอข้อมูลด้านนี้ให้มากๆ คือเข้าใจว่ามันเป็นยุคที่แข่งกันเร็ว แล้วก็แข่งกันว่าใครจะได้ข้อมูลชุดนี้มาก่อน อยากจะตรึงคนไว้ที่หน้าจอเราก่อน ก็เลยเห็นปรากฏการณ์หลายๆ ครั้งในการนำเสนอ ก็จะนำเสนอข่าวเป็นชิ้นๆ ไป ข้อมูลอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็หยิบมารายงานแล้ว ไม่ได้ตรวจสอบว่ามันจริงหรือไม่จริง บางครั้งขาดการกลั่นกรอง คือหน้าที่ของยามเฝ้าประตูมันไม่แข็งแรงพอที่เราจะกลั่นกรองว่าสิ่งที่เราตัดสินใจรายงานไปมันมากกว่าความอยากรู้ของคนไหม? ไม่พิจารณาว่าสิ่งที่นำเสนอมันมีผลกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่กระทบต่อผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ หรือมีประโยชน์ต่อเหตุการณ์นั้นไหม? ไม่มีการอธิบายหรือฉีกการมุมมองของการนำเสนอ ทุกคนไปอยู่ตรงหน้าห้างหมดเลย แล้วหยิบข้อมูลที่เกิดจากตรงนั้นมา แล้วก็รบกวนการทำงานบ้าง เราเลยเห็นว่าเป็นการรายงานให้พอมีอะไรออกอากาศไป แต่ไม่เกิดประโยชน์ต่อการรับรู้ข่าวสารมากนัก

ขอบเขตในการรายงานเราคืออะไร? เราควรอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุเท่าไหร่? หรือเราควรไหมที่จะไปสัมภาษณ์ผู้ที่ออกมาจากจากเหตุการณ์ไหม? เห็นเลยว่าเขาสัมภาษณ์ละเอียดมากๆ รู้เลยออกมาจากจุดไหน รู้เลยว่าถ้าคนร้ายดูถ่ายทอดสดอยู่จะไปดักคนตรงจุดไหนบ้าง คือเมื่อวานนี้เป็นสถานการณ์ที่เราไม่รู้เลยว่าเหตุการณ์นี้คนร้ายอยู่จุดไหน แต่คนร้ายสามารถรู้หมดเลยว่าเจ้าหน้าที่อยู่จุดไหน ทำอะไรบ้าง? เพราะนักข่าวพยายามรายงานข่าว จนต้องคิดว่าในสถานการณ์นี้เราควรรายงานมากน้อยแค่ไหน บางเรื่องก็จำเป็นต้องรอเวลาผ่านไปก่อน เพราะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ และการปฏิบัติหน้าที่บางจุดต้องเก็บเป็นความลับ เพื่อที่จะสามารถเจรจากับคนข้างในได้ หรือหาวิธีการเข้าไปข้างในได้โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และการรายงานข่าวในสภาวะวิกฤติมันมีหลายอย่าง เช่น การติดต่อคนที่อยู่ข้างในห้างเพื่อให้ข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งการกระทำทำแบบนี้มันจะทำให้คนร้ายรู้ข่าวได้ จึงต้องมีการบอกให้ปิดเครื่องเพื่อเก็บแบตเตอรี่โทรศัพท์ไว้ 

มีผู้สื่อข่าวท่านหนึ่งเขาเขียนไว้น่าสนใจมาก ใจความว่า ในสถานการณ์แบบนี้ เราควรจะประหยัดแบตเตอรี่ของคนที่อยู่ข้างในเอาไว้ เผื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือจำเป็นต้องเข้าไปช่วย จะได้รู้พิกัดกันได้ พอเอามาใช้ให้สัมภาษณ์กันแบบนี้ เวลาต้องใช้จริงอาจจะช่วยไม่ทัน เพราะแบตเตอรี่หมด ติดต่อกันไม่ได้ 

มันมีหลายอย่างที่นักข่าวควรจะเรียนรู้สำหรับสถานการณ์แบบนี้ จากเหตุการณ์ที่ผ่าน ๆ มา เช่น เรื่องร้านทองก็ด้วย ต่างก็กระหายที่จะนำเสนอ แทนที่ประชาชนจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ มันก็มีแต่ข้อมูลที่สะเปะสะปะ กระจัดกระจาย เพราะมันมาเป็นชิ้นๆ อย่างเมื่อวาน สำนักข่าวต่างรายงานกันแบบนี้ ๆ โดยที่ข้อมูลนั้นยังไม่ถูกยืนยันเลย พอประชาชนได้รับข้อมูล ก็เชื่อไปแล้วว่าเรื่องจริงมันเป็นไปตามนั้น ถึงแม้อีก 5 นาที นักข่าวคนเดิมจะมาแก้ แต่หลายคนอาจจะไม่ได้อ่านเวอร์ชั่นที่แก้แล้ว มันจึงกลายเป็นว่า แทนที่เราจะสกัดข่าวลือ ข่าวปลอม ความเข้าใจผิด หรือความวิตกกังวล กลายเป็นว่าเกิดความสับสน ตื่นตระหนกไปมากกว่าเดิม นี่คือความวิกฤตของการรายงานข่าวที่เราเห็น

จริง ๆ แล้ว หลักในการรายงานข่าวในภาวะวิกฤต ควรจะทำให้ประชาชนเข้าใจ และรู้เท่าทันสถานการณ์ รวมถึงรู้วิถีปฏิบัติตัวต่อสถานการณ์นั้นๆ แต่สิ่งที่นักข่าวไทยรายงาน คือทำให้เราสับสนต่อสถานการณ์ เพราะพอข้อมูลมันมากระจัดกระจาย มีน้อยมากที่จะเอาเหตุการณ์มาเรียงลำดับ แล้วรายงานตามลำดับนั้น สังเกตการรายงานข่าวในบ้านเรา ถ้าเป็นเว็บ ก็จะมาเป็นชิ้นๆ คนก็จะได้รับข้อมูลเป็นชิ้นๆ ในขณะที่ต่างประเทศ เค้าจะเอามาสรุป และให้มันอยู่ในหน้าเดียว แล้วอัพเดทเวลาไปเรื่อย ๆ คนเข้าไปอ่านแต่ละครั้ง ก็จะรู้ว่ามันมีการอัพเดท อันไหนข่าวเก่า อันไหนข่าวใหม่ บ้านเราไม่มีกระบวนการแบบนั้น คาดว่าคงอยากได้ยอดวิวต่อหนึ่งหน้าเยอะ ๆ มั้ง มันเลยทำให้คนสับสนและไม่เข้าใจ ไม่มีวิธีการอธิบายสถานการณ์และการปฏิบัติตัวต่อสถานการณ์ มีแต่การรายงานข่าวแบบเน้นอารมณ์ เน้นความตื่นเต้น ที่เรียกว่ารายงานข่าวแบบสีสัน ไปรายงานที่อยู่ใกล้กับเจ้าหน้าที่ แล้วถ้าคุณถูกยิงลงมาจากข้างบนห้าง คุณโดนแน่เลย แต่ได้ความตื่นเต้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการรายงานข่าวแบบนั้น ซึ่งไม่ได้ทำให้สังคมรู้และเข้าใจในเหตุการณ์นั้นจริงๆ พอไปอ่านในทวิตเตอร์แล้วจะเห็นทั้งแบบ กำลังสับสนว่าข้อมูลที่นำเสนอคืออะไร

แบบที่ว่า กำลังตื่นตระหนกว่าจะทำอย่างไรต่อไป รวมถึง Hate Speech ที่นำไปโยงกับเรื่องอื่นๆ เลยทำให้ไม่มีการอธิบายเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ทุกคนเข้าใจว่า ควรปฏิบัติตัวอย่างไรหากเกิดขึ้นอีก แล้วเดี๋ยวก็จะมีข่าวแบบนี้มาอีก แต่จะมาแบบเรารู้ทีหลัง กว่าจะเข้าใจการปฏิบัติตัวก็ช้ากันไปแล้ว

จากทวิตเตอร์มีการแบนช่องต่าง ๆ จากการนำเสนอข่าว มองเหตุการณ์นี้ว่าอย่างไร?

จริง ๆ แล้ว อยากให้แบนกันอย่างจริงจัง เพราะในวงของการพูดคุยปัญหา ก็ยังมีการอ้างจากพี่ ๆ ในวิชาชีพ ประมาณว่า “มันมีคนอยากดู” หรือ “ก็คนอยากเห็น” เสมอ พอเขาใช้ข้ออ้างนี้ เขาก็คิดว่ามันยังสามารถทำต่อได้ เป็นความชอบธรรมในการทำแบบนี้

แต่ในยุคนี้ มันเป็นยุคที่ผู้รับสารมีอำนาจมากกว่าเมื่อก่อน จริง ๆ คือ เราเลือกได้ ไม่ต้องรอให้เค้ามาป้อน มันมีช่องทางหลากหลายมาก เราอยากเห็นพลังของคนดูในยุคนี้ ที่จะลุกขึ้นมาบอกว่า “ฉันไม่เอา ฉันไม่ดู สื่อแบบนี้” ซึ่งไม่เอาก็คือไม่เอาจริง ๆ นะ ไม่ใช่แค่บ่นในเฟสบุ๊ค แล้วก็กลับไปดูอีก เพราะเว็บข่าวที่เราว่าเขา เขาก็ยังติดอันดับ Top 5 ของยอดวิวนะ (หัวเราะ) เขาก็จะอ้างได้ว่า “คุณว่าเราผิดจริยธรรม แต่มีคนต้องการดูข่าวเราอ่ะ” หรือช่องทีวีที่เราว่าเค้า ว่าทำผิดจริยธรรม ก็เป็นช่องที่มีเรตติ้งที่ดีในรายการข่าว

เราว่าถ้าจะแก้ ก็ต้องแก้ทั้งสองฝั่ง ถ้าเราอยากให้เขามีคุณภาพ เราก็ต้องแบนอย่างจริงจัง เมื่อคืนเราก็เชิญชวนให้แบน ลองไม่ดูกันไหม ลองไม่ดูช่องแบบนี้ ที่ทำสื่อแบบนี้ ถ้าเกิดเขาไม่มีคนดูจริง เขาก็ต้องปรับตัว มีคนบอกว่าให้ บก. หรือเจ้าของลองดูในทวิตเตอร์ดูสิ เมื่อวานมีคนว่าสื่อว่าอะไร ระบุเลยว่าช่องไหนดี ช่องไหนไม่ดี แต่ถามว่าสุดท้ายเขาเห็นในทวิตเตอร์แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับเค้าไหม มันไม่ใช่เรตติ้งที่เขาได้อ่ะ คนก็บ่นไป แต่เรตติ้งฉันดีเหมือนเดิม ฉันก็ทำเหมือนเดิม

ฉะนั้นเราควรมีแอคชั่นในชีวิตจริง แบนจริง ถ้าบริษัท ห้างร้านต่าง ๆ ลุกขึ้นมาแบนสื่อที่ไม่มีคุณภาพ เพราะมันก็มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัท บริษัทคุณอาจจะดี แต่ลงโฆษณากับข่าวที่ไม่มีจริยธรรมในการนำเสนอ  มันก็มีผลต่อคุณนะ ถ้าช่วยกันจริง ๆ แบบ Social Sanction (มาตรการลงโทษทางสังคม) มันก็น่าจะทำให้สื่อกลับมาสะท้อนตัวเอง เพราะเมื่อก่อนเรายังมีการตรวจสอบกันเองของสื่อ เดี๋ยวนี้บ่นกันเองก็ไม่ได้ (หัวเราะ) ฉะนั้น เราคิดว่าเดี๋ยวนี้คนเสพสื่อมีอำนาจ อยากให้ช่วยกันตรวจสอบสื่อ ลงโทษสื่อ เพราะถ้าเราบ่นเขา แต่สุดท้ายก็เสพข่าวแย่ ๆ ที่เขาทำ มากกว่าข่าวดี ๆ ที่เขาทำ มันก็กลายเป็นแรงผลักดันให้เขาทำข่าวแบบนั้น เพราะเขาก็ต้องการอยู่รอด

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กราดยิงโคราช
ภาพโดย ไทยรัฐออนไลน์

เราจะใช้อะไรจัดการกับสื่อที่รายงานเกินขอบเขตแบบนี้ได้บ้าง?

เอาจริง ๆ กระบวนการกำกับกันเองในบ้านเรามันไม่เคยใช้ได้จริงเลยนะ พูดตรง ๆ เลยนะ เราไม่อยากให้ใครมากำกับเรา เราต้องการเสรีภาพ แต่เราไม่มีความรับผิดชอบบนเสรีภาพนั้น มันไม่ใช่นักข่าวทุกคนที่เป็นนะ มีจำนวนหนึ่งเลยที่พยายามรักษาคุณภาพตัวเอง พยายามสู้กับนายทุน พยายามบอกว่าเราควรมีความรับผิดชอบ แต่มันไม่ใช่กลุ่มใหญ่ แล้วมันแปลกตรงที่กลุ่มคนที่ทำข่าวดี ก็ไม่ค่อยมีคนไปดูเขา เสียงของคนที่ทำดีมันเลยไม่ดังพอ เวลาสื่อถูกว่าก็โดนเหมารวมทั้งกระจาดว่าสื่อไม่ดี จริง ๆ ที่มีมันก็ดี

ถ้าเราในฐานะผู้ชมสนับสนุนสื่อที่ดี มีจริยธรรม รับผิดชอบคนในสังคมไหม? เอาใจเขามาใส่ใจเราไหม? และเคารพสิทธิ์ของผู้อื่นไหม? เราไม่ต้องไปดูแนวปฏิบัติเลยนะ มันอยู่บนพื้นฐานเดียวกันหมดว่าเคารพสิทธิ์คนอื่น มีความถูกต้อง มีความรอบคอบ และปกป้องคนในสังคม ถ้าสื่อที่รายงานข่าวแล้วเป็นแบบนี้เราก็ควรสนับสนุน แต่ถ้าไม่เป็นไปตามสี่ข้อนี้ เราควรเลิกดู เลิกอ่าน อันนี้อยากให้คนในสังคมทำอย่างจริงจัง เราว่าถ้าทำกันอย่างจริงจัง ไม่กี่เดือนก็เห็นผลแล้ว เขาสะดุ้งแน่ถ้าไม่มียอดวิว หรือเรตติ้ง

ส่วนหน่วยงานที่กำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นสมาคมวิชาชีพ หรือ กสทช. เราควรมาทบทวนบทบาทตัวเอง ว่าเราทำได้ในขอบเขตแค่ไหน แค่การส่งจดหมายเตือนในยุคนี้มันไม่พอแล้ว บางคนเตือนแล้วเถียงกลับด้วยนะ ว่าไม่ได้ผิดกฎหมาย คือเถียงว่าไม่ผิดกฎหมาย อย่างเคสที่มีพยานชี้ว่าคนร้ายอยู่ที่ไหน แล้วเราก็เปิดหน้าพยาน ให้สัมภาษณ์กัน สำนักข่าวที่รายงานข่าวนั้นก็บอกว่าตามกฎหมายแล้วทำได้ เพราะคนที่เป็นพยานเค้ายินยอม เค้าอยากออกสื่อ แต่ในแง่จริยธรรมมันทำไม่ได้ พอเป็นแบบนี้ มันก็ทำได้แค่เตือน พอเตือนมาก ก็ลาออกจากสมาชิก

อย่างช่องทีวีที่เราว่าเขาว่าทำภาพกราฟฟิกแบบโหดมาก เขาก็ไม่ได้อยู่ในสมาคมวิชาชีพนะ แล้วสมาคมวิชาชีพก็เตือนไม่ได้ จัดการไม่ได้ ในกรณี กสทช. ก็บอกว่า บางเรื่องมันเกินขอบเขตที่กฏหมายกำหนดให้ กสทช. มีบทบาทในการทำ เอ้า แล้วตกลงเรามีไหม หน่วยงานที่กำกับดูแลได้จริง อย่างในต่างประเทศมันมี การเตือน การลงโทษ มันมีผลจริง พิธีกรลาออก ผู้ประกาศถูกพักงานอย่างงี้ แต่เราไม่เคยเห็นมันเกิดขึ้นในบ้านเรา พอเราบอกว่า เราอยากกำกับดูแลกันเอง ก็ต้องย้อนกลับมาที่ว่า เราจะทำยังไงให้มันทำได้จริง ซึ่ง 20 ปีที่ผ่านมา มันไม่เคยทำได้จริง แต่ในยุคนี้ ถ้าเราเอากลุ่มคนที่เป็น Active Citizen เข้ามาเป็นกลไกในเฝ้าระวัง และตรวจสอบ มันอาจจะทำกลไกนี้มันเคลื่อนไปได้ มากกว่าสมาคมวิชาชีพด้วยกันเองทำกันเอง

อีกอย่างที่อยากเห็น คืออยากเห็นบริษัท ห้างร้านต่าง ๆ ที่จริงๆ แล้วมีผลมากนะ ถ้าใจแข็ง ตัดเงิน ไม่ลงโฆษณากับที่นี่เลย มีผลที่จะทำให้สื่อต้องหาคำตอบกับตัวเอง ว่าเขาควรเป็นสื่อแบบไหนที่มีคุณภาพต่อสังคม แล้วยังหารายได้อยู่รอดได้ มันจะมีจุดตรงกลางที่มาเจอกัน เพราะตอนนี้สื่อก็จะพูดกันว่า เราต้องอยู่รอดในสถานการณ์แบบนี้ จนบางทีมันอาจจะละเลยคุณภาพ หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของการเป็นสื่อ ที่ควรทำให้สังคมดีขึ้น มีวิธีคิด มีความแตกต่างหลากหลาย และทำให้คนเข้าใจเรื่องต่าง ๆ บทบาทตรงนั้นมันหายไปเลย มันเป็นแค่การรายงานยังไงก็ได้ให้คนดูเรา

จริงหรือไม่ ที่สื่อบางสำนักจำเป็นต้องชิงพื้นที่ข่าวเพื่อให้ได้มาซึ่งเรตติ้งหรือยอดวิว

ก็เขาก็คิดกันอย่างนั้นนะ (หัวเราะ) ถ้าเราเร็วสุด คนก็ดูเราก่อน ซึ่งก็จริง แต่อย่าลืมว่า สื่อเร็วขนาดไหน ก็สู้คนบนทวิตเตอร์ หรือคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นจริงๆ มีความรู้เรื่องนั้นจริง ๆ ไม่ได้ Social Media มันเร็วกว่าสื่อกระแสหลักไปแล้ว ฉะนั้น เรื่องความเร็ว เราว่ามันต้องมาเป็นขั้นตอนที่สองแล้ว ขั้นตอนที่สองคือคนต้องการคำอธิบาย สังเกตดูว่า พอเหตุการณ์นั้นไม่กี่ชั่วโมง ก็จะเริ่มมีคำถามว่าทำไมมันถึงเกิดเหรอ เขาคิดยังไงเหรอ แสดงว่านี่คือข้อมูลที่เขาอยากรู้จริง ๆ เป็นเรื่องที่คนอยากได้ แต่หาที่ไหนไม่ได้ไง เพราะสื่อไม่รายงาน ไปรายงานว่าเกิดอะไรขึ้น รายงาน What แต่ไม่รายงาน Why กับ How ลองปรับใหม่เป็นว่าถ้ารายงานสองอย่างหลังนี้ คนจะวิ่งไปดูอันนั้น

นักข่าวที่รายงานว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราดูจะพบว่า มีคนดูจำนวนหนึ่ง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เริ่มบอกบริบทของข่าว ใส่ Background ใส่เหตุผลที่มันหาจากที่อื่นไม่ได้ ยอดแชร์จะเยอะมากเลย คอมเมนต์ก็ด้วย เพราะนั่นคือสิ่งที่คนโหยหา แต่หาจากสื่อกระแสหลักไม่ได้ คนก็วิ่งไปหาทวิตเตอร์ ซึ่งมันน่ากลัวตรงที่ไม่ใช่ทุกอย่างบนทวิตเตอร์มันคือเรื่องจริง แล้วยังประกอบไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกเยอะ แทนที่คนจะได้ข้อมูลที่ตรวจสอบและกรองแล้วจากสื่อกระแสหลัก มันหาไม่ได้

ฉะนั้น ลองถอยออกมาจากความเร็ว ฉีกออกมาเป็นสื่อที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติม หลังจากความเร็วมันผ่านไปแล้ว เชื่อว่าก็มีคนดู ย้อนกลับมาตรงที่ว่า เราอยากทำเพื่อให้มันมีเรตติ้ง ให้มียอดยวิว มีคนดู มันก็มี ไม่จำเป็นต้องไปแข่งกันที่ความเร็วจนมันไร้จริยธรรม

การนำเสนอข่าวอาชญกรรมมันขาด Storytelling ไหม?

เขาพยายามบอกว่าเขามี เนี่ยดูสิ เราใช้กราฟฟิกอธิบายรายละเอียดทุกขั้นตอน ทุกคนโชว์เทคโนโลยีในการทำ ไม่มียุคไหนที่อธิบายการฆ่าหั่นศพได้ละเอียดเท่ายุคนี้แล้ว เขาจะเถียงว่า Storytelling เขาดีมากเลย แต่เราต้องกลับไปดูที่ว่า เป้าหมายของการรายงานข่าวอาชญกรรมมันคืออะไร

  1. คือเราอยากสะท้อนให้เห็นว่าสังคมมีปัญหา
  2. เราอยากให้คนเข้าใจสถานการณ์นั้น และรู้ว่าจะปฎิบัติตัวอย่างไร
  3. เราอยากให้อาชญกรรมมันเป็นปัญหาของสังคม ซึ่งมันมีปัจจัยจากปัญหาอื่น ๆ ในสังคม มันจึงเกิดอาชญกรรมขึ้น เราอยากให้มันเกิดการแก้ไขปัญหานี้ในสังคม

ฉะนั้นต้องถามว่า Storytelling ของคุณ มันแก้ไขตรงนี้ไหม หรือว่า มันแค่ตอบโจทย์ความอยากรู้ ว่าเกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์นั้นเท่านั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารายงานแค่ให้คนรู้แค่นี้ มันไม่ได้แก้ปัญหา หรือป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก แต่อาจจะทำให้เกิดการทำซ้ำหรือเลียนแบบ นั่นไม่ใช่ข่าวอาชญกรรมที่ดี หรือตอบโจทย์เป้าหมายของอาชญกรรม

อย่างข่าวอุบัติเหตุเราเห็นกันทุกวัน ข่าวจากกล้องหน้ารถอะไรแบบนี้ ก็แค่บอกว่า มีรถชนกัน ตายกี่คน ตายบ่อยแค่ไหน แต่ไม่เคยลงไปดูสาเหตุว่ามันเกิดจากอะไร โค้งอันตรายนั้นไม่เคยได้รับการแก้ปัญหา หรือแบบรอดจากโค้งนี้ได้เพราะพระอะไร (หัวเราะ) ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอีก

ข่าวอาชญกรรมมันเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะรายงาน เพราะคนสนใจมาก และมีผลกระทบต่อชีวิตคนด้วย เพราะ เหตุการณ์หลาย ๆ อย่างมันสามารถเกิดในชีวิตเราได้ ช่วยให้เราป้องกันตัวได้ แต่สิ่งที่รายงานออกมา มันไม่ได้ช่วยให้เรารู้วิธีป้องกันตัว หรือคนที่มีอำนาจในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ก็ไม่สามารถดึงให้เค้าลงมาแก้ปัญหาได้ เพราะมันเป็นแค่การรายงานว่า เกิดอะไรขึ้น โหดร้ายแค่ไหน ดราม่าแค่ไหน แล้วพอผ่านไปสองสามวัน คนก็ลืมแล้ว แล้วมันก็จะวนกลับมาตรงที่เหตุการณ์เกิดขึ้นอีก ก็รายงานแบบเดิมอีก แบบเดิมอีก วนเวียนกันไป เราไม่เห็นว่าข่าวมันไปแก้ปัญหาสังคมได้จริง ๆ อย่างที่เราคิดว่ามันควรจะเป็น

ถ้าอย่างนั้น ข่าวอาชญกรรมควรนำเสนอ Solution เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาตรงนี้ใช่ไหม?

ใช่ ถูกต้อง มันมีเทรนด์หนึ่งในเมืองนอกที่เรียกว่า Solution Journalism เขาพูดกันว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ข่าวส่วนใหญ่จะรายงานแบบ Problem Base คือพูดถึงว่าปัญหาคืออะไร การเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ของปัญหา แต่ยังไม่มีทางออก เทรนด์นี้มันก็เลยมา มันจะไมไ่ด้บอกว่าฮีโร่คือใคร ทำอะไร แต่จะบอกว่า มันมีกระบวนการอะไรบ้างที่แก้ไขปัญหานั้น แล้วมันทำสำเร็จ มันสามารถนำไปใช้กับปัญหาอื่นได้ไหม ซึ่งพอเราอ่านข่าวแบบนี้เราจะพบว่า ปัญหามันสามารถแก้ไขได้ มันมี Solution 1 2 3 4 5 เราลองเอามาทำไหม มันแก้ได้หรือเปล่า

ข่าวอาชญกรรมถ้าไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Solution Journalism มันจะมีประโยชน์มาก ๆ แล้วเรารู้สึกว่าควรมี ข่าวอาชญกรรมก็ช่วยให้สังคมมันดีขึ้นได้จริง

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กราดยิงโคราช
ภาพโดย บีบีซีไทย

จากการเสนอข่าวเหตุการณ์กราดยิง สื่อได้บทเรียนอะไรบ้างไหม?

อย่างแรก สื่อควรรับฟังเสียงของสังคมที่พยายามสะท้อนการทำงานของสื่อให้มาก ๆ คนสะท้อนเยอะนะ ว่าสิ่งที่ไม่อยากเห็นสื่อทำคืออะไร และควรเรียนรู้ว่าเราไม่ควรทำผิดซ้ำในการรายงานข่าวแบบนั้น

สอง สื่อควรมีสติกับการรายงานข่าว เมื่อวานคนที่ไม่มีสติที่สุดคือสื่อนะ (หัวเราะ) ทำไมต้องอยากได้ข่าวขนาดนั้น คำถามหลายคำถามที่ถูกถามออกมา มันไม่ได้ถูกกรั่นกรอง ว่าปกป้องคนในเหตุการณ์หรือเปล่า เคารพสิทธิ์คนอื่นหรือเปล่า

การใส่ความเห็นลงไปในข่าวด้วย เมื่อวานมีช่องหนึ่งหลังจากรายงานข่าวแล้ว ใส่อารมณ์ลงไปนะว่าแบบ “ทำไมถึงเป็นคนแบบนี้ ทำแบบนี้ได้ยังไง จิตใจทำด้วยอะไร” เฮ้ย เดี๋ยว ๆ นี่รายงานข่าวอยู่ใช่ไหม เรารู้ว่าทุกคนมีความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้น แต่ความเป็นกลางมันก็ควรจะรักษาไว้ ไม่ใช่ชี้นำให้คนมีอารมณ์รวมในลักษณะแบบนี้หมด มันจะยิ่งวุ่นวาย สื่อควรเรียนรู้ว่า ในภาวะวิกฤต สื่อควรเป็นที่พึ่งในการให้ข้อมูล เพื่อให้คนสามารถปฏิบัติตัวต่อเหตุการณ์นี้ได้ แล้วหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว ทำอย่างไรให้มันแก้ปัญหานี้ หรือป้องกันไม่ให้เกิดการทำซ้ำขึ้น

เราจะรอดูนะ เหตุการณ์มันผ่านไปแล้วใช่ไหม เราจะดูว่า จะรายงานข่าวดราม่า ไปสัมภาษณ์ผู้บาดเจ็บนู่นนี่ หรือจะมีใครไหมที่พยายามออกมาหาทางออก คือมันเกิดหนึ่งครั้ง มันเกิดซ้ำได้นะ เราไม่เคยคิดว่ามันจะเกิดเหตุการณ์นี้ในเมืองไทย ตอนดูข่าวกราดยิงที่เมืองนอกเรากลัวมาก เราไม่เคยคิดว่ามันจะมีเหตุการณ์นี้ในเมืองไทย ทำอย่างไรให้สังคมเรียนรู้จากมัน และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ดูซิว่าจะมีสื่อรายงานแบบนี้ไหม ถ้าสื่อทำได้ เรียนรู้จากบทเรียนนี้ในการเป็นผู้ให้ข้อมูล คำอธิบาย ตรวจสอบข้อมูล ทำงานให้ช้าลง แต่ละเอียดมากขึ้น เป็นประโยชน์มากขึ้น สื่อนั้นแหละจะเป็นที่พึ่งของคน และเค้าจะเปิดไปที่ช่องของคุณ หรือเข้าเว็บไซต์ของคุณเวลาที่เกิดเหตุการณ์นั้น


สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้สื่ออยู่รอดได้ในยุคนี้ จำเป็นที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม และให้คุณค่าในการนำเสนอข่าวอย่างเข้าใจมากที่สุด เพื่อสร้างสังคมที่มีคุณภาพต่อไปนั่นเอง.

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า