fbpx

ทำไมคนเชื่อข้อมูลในไลน์มากกว่าการอ่านข่าว

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนการผลิตผลงานโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


ในอดีตหากพูดถึงการส่งผ่านข้อมูลจากพื้นที่หนึ่งสู่พื้นที่หนึ่งซึ่งกว้างกว่า เราก็มักจะนึกถึงการกระจายข้อมูลผ่านสื่อมวลชนกระแสหลัก เช่น วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ แต่ในปัจจุบันภูมิทัศน์สื่อได้เปลี่ยนไปค่อนข้างมาก ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ด้วยตนเองแล้ว และที่สำคัญเรามีสมาร์ทโฟนที่สามารถทำงานได้มากมาย นั่นจึงทำให้ขั้นตอนในการกระจายข่าวลดน้อยถอยลงไป กลับกันการมีสิ่งที่ทำให้สามารถกระจายข่าวได้เร็วขึ้นก็ย่อมส่งผลร้ายในการขาดการตรวจสอบข่าวที่ดีได้ด้วยเช่นเดียวกัน

ปัญหาการส่งต่อข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงจึงเกิดขึ้นในช่วงสมัยที่เทคโนโลยีรู้จักคำว่า “สื่อสังคมออนไลน์” หรือ SNS (Social Network Services) โดยเฉพาะเทคโนโลยีในการรับส่งข้อมูลที่ไม่ต้องพึ่งพาระบบ SMS (Short Message System) หรือ MMS (Multimedia Message System) โดยเสียค่าใช้จ่ายอีกต่อไป โดยข้อมูลจาก We Are Social ที่ได้ทำการสำรวจไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พบว่าคนไทยมีปฏิสัมพันธ์บนสื่อสังคมออนไลน์รวมกันทุกแพลตฟอร์มมากถึง 56.85 ล้านคน และยังพบว่าอินเตอร์เน็ตเข้าถึงกลุ่มประชากรโดยรวมแล้วถึง 70.01 ล้านคน และใช้เวลาในการใช้สื่อสังคมออนไลน์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.59 ชั่วโมงต่อวัน

และถ้ามองถึงข้อมูลลงไปจะพบว่าคนไทยใช้ LINE อยู่อันดับที่ 2 (ร้อยละ 92.8) ซึ่งเป็นรองแค่ Facebook เท่านั้น (ร้อยละ 93.3) ในขณะที่อันดับที่ 3 ก็เป็นผู้ให้บริการด้านการรับส่งข้อความอย่าง Facebook Messenger (ร้อยละ 84.7)

สุภิญญา กลางณรงค์ ได้ให้ข้อมูลผ่านจุลสารราชดำเนินในตอนหนึ่งว่า ข้อมูลที่ทำให้คนตื่นตระหนกโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือการส่งต่อข้อมูลจากไลน์กลุ่ม เนื่องจากที่ผ่านมามีประเด็นการสร้างความเข้าใจที่ผิดในหลายเรื่องราว แต่ไม่สามารถหาต้นตอได้ ซึ่งการที่หาต้นตอไม่ได้นั่นอาจจะสามารถคาดการณ์ได้ว่ามาจากแพลตฟอร์มไลน์ โดยเฉพาะไลน์กลุ่มต่างๆ เนื่องจากแพลตฟอร์มไลน์เป็นแพลตฟอร์มปิด ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลต้นทางได้ ซึ่งพฤติกรรมของผู้ที่ส่งต่อข้อมูลนั่นก็คือ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป และส่วนใหญ่แชร์เรื่องสุขภาพ เพราะเป็นห่วงลูกหลาน นั่นอาจจะเปรียบได้ว่าไลน์กลุ่มเป็นต้นตอของ “คลัสเตอร์ข่าวลวง” ก็ว่าได้

หากจะยกตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้น ก็คงมาจากตัวคุณแม่ของผู้เขียนเองที่ได้เข้าไปอยู่ในไลน์กลุ่มต่างๆ เช่น ไลน์กลุ่มสถานที่ทำงาน หรือไลน์กลุ่มโควิด-19 และมีการแชร์ข่าวเป็นจำนวนมากจนบางครั้งไม่สามารถสืบค้นความจริงได้ คุณแม่จึงได้ส่งข้อมูลมาเพื่อสอบถามหลายครั้ง เช่น การที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตไม่ตรงกับที่รายงาน หรือเชื้อที่กลายพันธุ์ เป็นต้น ผู้เขียนจึงไปหาข้อมูลเพื่อมาช่วยคุณแม่ได้รวดเร็วและทัน แต่ในบางข่าวก็ไม่สามารถสืบค้นความจริงได้ เนื่องจากเป็นความคิดเห็นมากกว่าความจริง ซึ่งนอกเหนือจากการตรวจสอบข้อมูลกับสำนักข่าวต่างๆ แล้ว เรายังมีศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ของ MCOT หรือ Cofact ที่เราสามารถค้นหาข้อมูลข่าวลวงได้ทันที

และถ้าลองแกะออกมาดูสาเหตุกันจริงๆ จะพบว่าสาเหตุที่การส่งต่อข้อมูลผ่านทางไลน์น่าเชื่อถือกว่าการอ่านข่าว มีเหตุผลรองรับดังต่อไปนี้

  1. เพราะว่าข้อมูลที่ส่งต่อกันมา เกิดมาจากคนที่น่าไว้วางใจ
  2. ข้อมูลที่ถูกส่งต่อมาเป็นข้อมูลที่อยู่ในความสนใจของผู้คนในตอนนั้น
  3. ข้อมูลพาดหัวข่าวมีความน่าสนใจจนขาดการอ่านเนื้อหา

ฉะนั้น เราในฐานะคนที่แชร์ ก่อนที่จะส่งต่อข่าวออกไป เราควรทำสิ่งต่อไปนี้ให้เป็นกิจวัตรเสมอ ได้แก่

  1. ค้นหาต้นตอข่าวอยู่เสมอว่ามาจากแหล่งน่าเชื่อถือหรือไม่
  2. คัดลอกข้อมูลบางส่วนใน Google เพื่อตรวจที่มา
  3. ตรวจสอบวันที่เผยแพร่ว่าเป็นข้อมูลล่าสุดหรือไม่

ถ้าหากไม่มีข้อใดข้อหนึ่ง ให้ถือว่าไม่สามารถแชร์ต่อได้นั่นเอง

หยุดสักนิด ตั้งสติก่อนแชร์
เพื่อสังคมไทยที่มีคุณภาพต่อไป

Content Creator

Graphic Designer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า