fbpx

สิบพัน ร้อยหมื่น สิบร้อยล้าน ทำไมการนับเลขจำนวนมากๆ ในภาษาอื่นช่างปวดหัวแบบนี้

  • คริสเตียโน โรนัลโด นักฟุตบอลระดับตำนานของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีค่าเหนื่อยอยู่ที่ 510 พันปอนด์ต่อสัปดาห์
  • อีลอน มัสก์ บุคคลผู้ร่ำรวยที่สุดในโลก เจ้าของบริษัท SpaceX และรถยนต์ Tesla มีมูลค่าทรัพย์สินที่ 219 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกคือจีน ด้วยจำนวนทั้งหมด 14 ร้อยล้าน 2067 หมื่นคน
  • สหรัฐอเมริกามีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ด้วยขนาด 983 หมื่นตารางกิโลเมตร

ทำไมตัวเลขที่กล่าวมาข้างต้นมันช่างพิลิกสิ้นดี อ่านไปก็นึกมูลค่าไม่ออกว่ามันเยอะแค่ไหน ต้องเสียเวลาปรับหน่วยให้เป็นแบบไทยถึงจะเข้าใจอีกที ถ้าเขียนหน่วยเป็น 5.1 แสน, 2.19 แสนล้าน, 1.4 พันล้าน, 9.83 ล้าน อ่านทีก็เข้าใจปริมาณทันทีว่ามีมากน้อยแค่ไหน

แต่ถ้าคุณเรียนภาษาต่างประเทศ จำเป็นต้องเข้าใจระบบนับเลขของภาษานั้น การเรียกจำนวนด้วย “100 พัน, 10 หมื่น, 10 ร้อยล้าน, 100 พันล้าน” ถือเป็นเรื่องปกติเลยนะ เรียกว่าถ้าไม่รู้การนับเลขของภาษาต่างๆ แล้ว คุณจะมึนทันทีว่าหมายถึงจำนวนเท่าไหร่ เพราะต้องมาเสียเวลาคิดเลขให้เป็นจำนวนแบบไทยอีกทีนึง

โดยปกติแล้วใน 3-4 หลักแรกแต่ละภาษาก็จะมีชื่อหลักของตัวเองเหมือนกันคือ สิบ, ร้อย, พัน, หมื่น แต่เมื่อยิ่งหลักมีสูงขึ้น (เลข 0 มากขึ้น) การตั้งชื่อหลักเพิ่มอาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีอีกต่อไป เพราะอย่างจำนวน 1,000,000,000 มีทั้งหมด 9 หลัก ถ้าจะให้ตั้งชื่อทั้ง 9 หลักเลยมันก็ดูจะฟุ่มเฟือยเกินไป เราจึงเรียกชื่อหลักซ้อนกันว่า “พันล้าน” และโดยปกติเราก็ไม่ค่อยได้ใช้เลขจำนวนมากขนาดนี้ในชีวิตประจำวันแน่ๆ ทำให้ในหลายภาษาเลือกที่จะเวียนเอาเลขหลักแรกๆ กลับมาใช้คู่กับหลักที่มากที่สุด ซึ่งแต่ละภาษาเองก็มีหลักการนับเลขต่างกันไป ตามที่จะอธิบายต่อไปนี้

*หมายเหตุ: เนื่องจากการเขียนตัวเลขจำนวนมากที่มี 0 เยอะ อาจทำให้คนอ่านสับสนหลักได้
ดังนั้นในบทความนี้จะเขียนย่อเป็นรูปเลขยกกำลัง หรือ 10x แทน
โดยตัว x คือจำนวนเลข 0 ที่ต่อท้ายเลข 1 เช่น 106 = 1,000,000

ภาษาไทย
เรียกชื่อทุกหลักจนถึงหลักล้านแล้วพอ

ภาษาไทยนับว่ามีความโดดเด่นเรื่องการตั้งชื่อหลัก เพราะ 6 หลักแรกในภาษาไทยมีชื่อเรียกทั้งหมด ซึ่งจะต่างจากภาษาอื่นที่มีชื่อเรียกถึงแค่หลักพันหรือหลักหมื่น จนต้องเรียกชื่อหลักซ้อนกัน โดยชื่อเรียก 6 หลักแรกในภาษาไทยมีดังนี้

  • 10: สิบ
  • 100: ร้อย
  • 1,000: พัน
  • 10,000: หมื่น
  • 100,000: แสน
  • 1,000,000: ล้าน

อย่างไรก็ตามในภาษาไทยนั้นกลับเรียกสุดไว้แค่หลักล้าน เพียงแค่นั้น โดยไม่มีการตั้งชื่อหลักที่มากกว่านี้อีก หากจะเรียกมากกว่านั้นก็เติมจำนวนหลักที่ใช้ไปก่อนหน้าวนมาใหม่เป็น

  • 10,000,000 (107): สิบล้าน
  • 100,000,000 (108): ร้อยล้าน
  • 1,000,000,000 (109): พันล้าน

และเมื่อมาถึงจำนวน 1,000,000,000,000 (1012) ก็จะเรียกว่า “ล้านล้าน” และวนเรียกชื่อหลักใหม่ไปเรื่อยๆ และเมื่อครบทุก 6 หลักก็จะใส่ “ล้าน” เพิ่มไปอีกตัวเช่น 1018 จะเรียก “ล้านล้านล้าน” และ 1024 ก็จะเรียกเป็น “ล้านล้านล้านล้าน”

หรือกล่าวโดยสรุปคือ จำนวนในภาษาไทยสุดที่หลักล้าน และเมื่อนับจำนวนที่มากกว่านั้นก็ใช้ล้านซ้ำไปเรื่อยๆ ซึ่งพอใช้เยอะๆ ก็เสี่ยงที่ทำให้คนฟังมึนได้ว่า มันมีล้านกี่ตัวกันแน่ (ทั้งนี้ไม่รวมจำนวนที่อ่านแบบบาลีเช่น โกฏิ, ปโกฏิ ที่ใช้เพียงในด้านศาสนาเท่านั้น)

ภาษาอังกฤษ
นับถึงหลักพัน จากนั้นตั้งชื่อใหม่ทุกๆ 3 หลัก

ภาษาอังกฤษเรียก 3 หลักแรกคือ ten, hundred และ thousand ตามลำดับ โดยมีความต่างจากภาษาไทยคือ ในหลักหมื่น และหลักแสน จะไม่มีชื่อหลักของตัวเอง แต่จะนำหลักสิบและร้อยกลับมาใช้คู่กับหลักพันคือ

  • 10,000 (104): ten thousand (สิบพัน)
  • 100,000 (105): hundred thousand (ร้อยพัน)

ชื่อหลักจะกลับมาอีกรอบที่จำนวนหนึ่งล้านหรือ 106 คือ million และจากนั้นก็จะเรียกเพิ่มทุก 3 หลัก คือ

  • 1,000,000 (106): million
  • 1,000,000,000 (109): billion
  • 1,000,000,000,000 (1012): trillion
  • 1,000,000,000,000,000 (1015): quadrillion
  • 1,000,000,000,000,000,000 (1018): quintillion

(และทุก 3 หลักจะมีชื่อใหม่เรื่อยๆ โดยอิงจากตัวเลขในภาษาละติน)

แม้ว่าภาษาอังกฤษจะมีการนับหลักที่ต่างจากภาษาไทยไปบ้าง แต่การแบ่งหลักนับว่ายังแปลเป็นไทยได้ง่าย คือ million – ล้าน, billion – พันล้าน, trillion – ล้านล้าน

ภาษายุโรปอื่นๆ
billion คือ “ล้านล้าน”, trillion คือ “ล้านล้านล้าน”

แม้ว่าคนไทยจะคุ้นเคยกับการนับเลขในภาษาอังกฤษ แต่สำหรับคนที่เรียนภาษาอื่นในยุโรปเช่นฝรั่งเศส, เยอรมัน, อิตาลี, สเปน, โปรตุเกส กลับพบว่าจำนวนพันล้าน (109) และล้านล้าน (1012) มีชื่อเรียกที่ต่างจากภาษาอังกฤษโดยสิ้นเชิง

ชื่อเรียกจำนวนตั้งแต่หลักล้านในภาษาฝรั่งเศส, สเปน, อิตาลี และเยอรมัน เป็นดังนี้ (เทียบกับภาษาอังกฤษในวงเล็บ)

  • 1,000,000 (106): million/ millón/ milione/ Million (million)
  • 1,000,000,000 (109): milliard/ millardo/ miliardo/ Milliarde (billion)
  • 1,000,000,000,000 (1012): billion/ billón/ bilione/ Billion (trillion)
  • 1,000,000,000,000,000 (1015): billiard/ billardo/ biliardo/ Billiarde (quadrillion)
  • 1,000,000,000,000,000,000 (1018): trillion/ trillón/ trilione/ Trillion (quintillion)

การเรียกแบบนี้เรียกว่า Long Scale ซึ่งจะนับเลขทุก 6 หลัก โดยเป็นการนับเลขที่เป็นมาตรฐานของภาษาต่างๆ ในยุโรป ขณะที่การนับแบบภาษาอังกฤษเรียกว่า Short Scale ซึ่งจะนับเลขทุก 3 หลัก

เดิมทีในภาษาอังกฤษก็แบ่งการนับเลขเป็น 2 แบบเช่นกันคือ Long Scale ในสหราชอาณาจักร และ Short Scale ในสหรัฐอเมริกา แต่ในปี 1974 รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ปรับการนับเลขเป็นแบบ Short Scale ในเอกสารราชการทั้งหมด ทำให้ในภาษาอังกฤษในปัจจุบันนับเลขแบบ Short Scale ทุกประเทศแล้ว

ภาษาจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี
นับทีละ 4 หลัก อยากจะนับเลขภาษาเหล่านี้ต้องฝึกแปลงหน่วยให้เป็น

คนที่เรียนตัวเลขในภาษาเหล่านี้ แรกๆ จะตกใจกับระบบการนับเลขที่ต่างจากภาษาไทยหรืออังกฤษโดยสิ้นเชิง เพราะขณะที่ภาษาไทยกับอังกฤษจะแบ่งการนับเลขทุก 3 หลัก และสามารถแปลระหว่างกันได้โดยตรง แต่ในภาษาจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีจะนับเลขทุก 4 หลักแทน โดยมีชื่อเรียกในภาษาจีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีตามลำดับดังนี้

  • 10: 十  (shí/ jū/ sip)
  • 100: 百 (bǎi/ hyaku/, baek)
  • 1,000: 千 (qiān/ sen/ cheon)
  • 10,000: 萬/万 (wàn/ man/ man)

แต่เมื่อนับเลขขึ้นหลักแสน ภาษาเหล่านี้ก็จะเวียนหลักซ้ำอีกครั้ง โดยแปลเลขแบบตรงตัวได้ดังนี้

  • 100,000 (105): 十万 (สิบหมื่น)
  • 1,000,000 (106): 百万 (ร้อยหมื่น)
  • 10,000,000 (107): 千万 (พันหมื่น)

ที่เป็นเช่นนี้เพราะ 3 ภาษานี้นับเลขทุก 4 หลัก ดังนั้นในหลักที่ 8 (ร้อยล้าน), 12 (ล้านล้าน), 16 (หมื่นล้านล้าน) และไปเรื่อยๆ จะมีชื่อหลักใหม่ดังนี้ คือ

  • 100,000,000 (108): 億/ 亿 (yì/ oku/ eok)
  • 1,000,000,000,000 (10¹²): 兆 (zhào/ chō/ jo)
  • 10,000,000,000,000,000 (1016): 京 (jīng, kei, gyeong)

จากผลของการนับหลักที่ต่างจากภาษาไทยหรืออังกฤษ ทำให้เวลาคนไทยหรือฝรั่งเจอตัวเลขของภาษาเหล่านี้ ต้องแปลงหน่วยให้เป็นภาษาของตัวเอง และต้องอาศัยทักษะการคำนวณเพิ่มเติม เช่น

  • 360万 (360 หมื่น) = 3.6 ล้าน
  • 8450 万 (8450 หมื่น) = 84.5 ล้าน
  • 5 亿 3200 万 (5 ร้อยล้าน 3200 หมื่น) = 532 ล้าน
  • 60 亿 (60 ร้อยล้าน) = 6 พันล้าน

จะเห็นว่าการนับเลขในแต่ละภาษาก็มีความแตกต่างกัน ที่เราจำเป็นต้องเรียนรู้ไว้หากสนใจจะเรียนภาษาเหล่านี้ ยิ่งในภาษาจีนและญี่ปุ่นที่เป็น 2 ภาษาหลักที่คนไทยนิยมเรียนแล้ว หากจะนับเลขใน 2 ภาษานี้ให้คล่องก็ต้องฝึกคิดคำนวณแปลงหน่วยมาให้แม่นๆ เพราะถ้าแปลจำนวนออกมาผิดแล้ว เงินคุณอาจหายไป 10 หรือ 100 เท่าได้เลย

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า