fbpx

พื้นที่สัก “สิทธิ” Gentrification กับวิถีคนเมืองที่เปลี่ยนไป

“อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป็อป”

คำพูดจิกกัดสมัยเรา (ผู้เขียน) เรียนมัธยมต้นดังขึ้นในหัวเมื่อเหยียบย่างไปยังพื้นที่ใดก็ตามที่อุดมไปด้วยตึกสูง ร้านกาแฟหน้าตาดูดีหลายสิบร้านผุดเป็นดอกเห็ด ไม่พักต้องพูดถึงร้านหม่าล่าและอื่น ๆ มากมายที่เกิดใหม่บนถนนแห่งอาหารเส้นเดิมตั้งแต่พ่อแม่เรายังวัยรุ่น พลันคิดว่าชีวิตมันต้องป็อปแค่ไหนถึงจะอยู่ในเมืองนี้ได้รอด ลำพังข้าวตามสั่งจานละ 60 บาทขึ้น น้ำแก้วละร้อยบาท++ ให้กินมื้อละแพง ๆ บ่อยครั้งก็คงไม่ไหว ใครจะเลี้ยงข้าวก็แสนจะเกรงใจ หยาดเหงื่อแรงงานหมดกับค่ากินกันไปเท่าไหร่ ยังอุตส่าห์มีน้ำใจให้กัน แถมร้านเหล่านี้คนยังต่อคิวมหาศาลอีก

เราเดินออกจากพื้นที่แถวนั้นไปด้วยความรู้สึกว่า ที่แห่งนี้เปลี่ยนแปลงเร็วเหลือเกิน

ไม่นาน เมื่อหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็กข่าว สายตาเหลือบไปเห็นโครงการมิกซ์ยูสเกิดใหม่ใกล้จุดที่กำลังยืน แต่เอะใจอีกที ที่ตั้งโครงการมีข้อพิพาทว่าด้วย “ศาลเจ้าแม่ทับทิม” สถานที่ที่แทบจะเป็นที่สุดท้ายที่บอกว่ารอบมหาวิทยาลัยชื่อดังที่เคยร่ำเรียนมาเคยมีชุมชนอยู่ ที่แห่งนี้เองที่เราไปของาน ขอความรักที่ดี และพาเพื่อนไปเยียวยาใจในวันที่ไม่รู้จะพึ่งพาสิ่งใด

ไม่รู้ว่าที่แห่งนี้ – ที่หมายถึงเมืองหลวง – และที่หมายถึงพื้นที่เมือง จะเปลี่ยนแปลงเร็วไปถึงไหน

แม้จะเล่ามาราวกับเป็นเรื่องแต่ง แต่การเปลี่ยนแปลงเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นเรื่องจริง ถ้าคุณลองสังเกตพื้นที่ที่คุณอยู่ จะพบว่ามีสถานที่ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายในพื้นที่นั้น ๆ เช่น เดิมเป็นร้านโชห่วย แต่ตอนนี้กลายเป็นคาเฟ่ หรือเดิมเคยเป็นบ้านคน มาวันนี้กลายเป็นคลินิกศัลยกรรมไปแล้ว แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม ให้สังเกตว่า ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นจากคนที่มีทุนทรัพย์ มีการศึกษา และเข้ามาแทนที่ผู้อยู่อาศัยเดิม

ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เรียกว่า “Gentrification”

ผลจากการทำสิ่งเหล่านี้ คือราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น และการขับคนที่อยู่อาศัยเดิมออกไป ซึ่งก็หนีไม่พ้น “คนจน” ที่จะต้องโบกมือลาบ้านของตัวเองออกไป สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อนายทุนที่ดินได้ที่มาแล้วจะเอามาทำอะไรต่อ ยิ่งเป็นที่ดินในเมืองด้วยแล้วยิ่งน่าสนใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะสัมพันธ์กับไลฟ์สไตล์ของคนอย่างไรบ้าง แล้วคนทั่วไปอย่างเรา ๆ มีสิทธิไหมคะ เงินไม่ค่อยจะมี แต่มีชีวิตนะ

1 – ที่อยู่

เพราะเมืองขยายตัวทุกวัน ที่อยู่ก็แทบจะไม่พออยู่กันแล้ว การได้ที่ดินไปสร้างที่อยู่อาศัยนั้นจึงเข้ามาตอบโจทย์การทำธุรกิจอย่างชัดเจน แต่ว่าที่อยู่อาศัยในยุคนี้ไม่ได้เป็นแค่บ้านอย่างเดียว แต่ต้องตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่ต้องสะดวกสบายด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นจาก Gentrification คือโครงการ “มิกซ์ยูส” (Mix-used) ที่มีทั้งที่อยู่อาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งมักเป็นห้างสรรพสินค้าเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น ‘สามย่าน มิตรทาวน์’ ห้างซึ่งมีโรงแรมและคอนโดมีเนียมรวมอยู่ในโครงการด้วย

แน่นอนว่าแผนปรับปรุงที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยย่อมไล่รื้อคนที่อยู่อาศัยเดิมออกไป ซึ่งเดิมพื้นที่สามย่านมิตรทาวน์เคยเป็น “ตลาดสามย่าน” มาก่อน ก่อนที่จะโยกย้ายไปอยู่ตำแหน่งปัจจุบัน ดังนั้น การแทนที่ที่อยู่อาศัยด้วยที่อยู่อาศัยอีกแบบหนึ่งจึงอาจจะทำให้เห็นภูมิทัศน์ของเมืองที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยเป็นพื้นที่ชุมชน ปรับเปลี่ยนสู่การรองรับนิสิตนักศึกษาที่มีกำลังทรัพย์มากพอต่อการพักอาศัยในที่อยู่ใหม่ ที่ไม่ปะปนกับคนอื่น ทั้งที่ที่จริงแล้วการมีที่พักรองรับนักศึกษาจำเป็นต้องเป็นสวัสดิการมหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งรองรับผู้อยู่อาศัยที่เป็นวัยทำงานที่ทำงานใกล้เคียงกับละแวกนั้น ทำให้พื้นที่แห่งนี้รองรับกลุ่มคนกลุ่มใหม่ที่มาอาศัยที่นี่เพียงชั่วคราวเท่านั้น ความเปลี่ยนแปลงนี้จึงนำไปสู่การปรับเปลี่ยนสู่ความเป็น “เมือง” ด้ว

ไม่เพียงแต่ย่านสามย่านเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายย่านที่จะปรากฏโครงการมิกซ์ยูสเช่นนี้เพิ่มขึ้น ทั้งในย่านเมืองเก่า และย่านเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งบอกได้เลยว่านี่คือมาตรฐานใหม่ของการใช้ชีวิต แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เอื้อมถึงที่อยู่อาศัยแบบนี้

2 – ที่กิน

นอกเหนือจากที่อยู่แล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพคือการ “กิน”

อาหารเป็นเครื่องบ่งบอกรสนิยมของคนที่ชัดเจนที่สุดอย่างหนึ่ง การที่เราจะกินอะไรสักอย่างบ่งบอกได้ถึงทั้งความสัมพันธ์กับผู้ร่วมโต๊ะ ความชอบของตน วิธีการกินต่าง ๆ อย่างชัดเจน รวมไปถึง “เทรนด์” การกินด้วย

และเมื่อพูดถึงเทรนด์แล้ว เม็ดเงินส่งผลถึง “เทรนด์” การกินอย่างชัดเจน เรียกได้ว่าถ้าร้านแบบไหนดัง ปัง แล้วล่ะก็ เตรียมกอบโกยเงินไม่หวาดไหวเลยทีเดียว และนั่นนำไปสู่เทรนด์การเปิดร้านอาหารที่คนนิยมจำนวนมาก ในย่านที่มีผู้คนพลุกพล่านและดึงดูดนักท่องเที่ยว

หนึ่งในนั้นคือ “ถนนบรรทัดทอง” ถนนที่มีทั้งประชากรที่เป็นชุมชนเดิม นิสิตนักศึกษา คนทำงานละแวกใกล้เคียง ตลอดจนนักท่องเที่ยวและนักชิมที่ต่างก็รู้ว่าบรรทัดทองอุดมไปด้วยร้านอาหารอร่อย ๆ และหลากหลาย ตอบคำถามแสนน่าเบื่ออย่าง “วันนี้กินอะไรดี” ได้อย่างตรงจุด เหตุนี้เองที่ทำให้บรรทัดทองคลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา

ทว่าในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นบนถนนเส้นนี้คือความเปลี่ยนแปลงของร้านอาหารที่เกิดขึ้นบนถนนสายนี้ ซึ่งแม้จะมีร้านใหม่ ๆ มากมาย แต่ร้านที่เพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษคือ “ร้านหม่าล่าสายพาน”

เช่นเดียวกับย่านอื่น ๆ ที่อย่างน้อยจะต้องมีร้านหม่าล่าผุดขึ้นมาสักร้านหนึ่ง เพราะต้องยอมรับว่าโจทย์สำคัญที่ร้านหม่าล่าเหล่านี้ตอบได้คือ กินได้ทั้ง ‘อิ่มเดี่ยว’ และ ‘เป็นกลุ่ม’ ทว่าการที่ร้านหม่าล่าเพิ่มจำนวนมากขนาดนี้สัมพันธ์กับการเข้ามาของทุนจีนในไทยอย่างมีนัยสำคัญ หลายคนอาจจะจำคอนเทนต์ของนักท่องเที่ยวจีนคนหนึ่งที่กล่าวถึงการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ที่เหมือนกับอยู่ “บ้าน” ของตัวเองได้ สิ่งนี้เองที่เป็นที่กังวลว่าท้ายที่สุดทุนจีนจะเข้ามาครอบงำ ผ่านการซื้อที่ดินและลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ โดยมีธุรกิจอาหารเป็นหนึ่งในนั้น

Gentrification ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่เฉพาะร้านอาหารต่างสัญชาติเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงธุรกิจอาหารอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากการกว้านซื้อที่ดินในลักษณะเดียวกันอีกด้วย

3 – ที่เที่ยว (?)

ใครสักคนเคยบอกเราว่า เมืองแห่งนี้ขาดพื้นที่ให้คนได้ตกหลุมรักกัน

คิดตามแล้วก็เป็นความจริงไม่หยอก เพราะนึกไม่ออกจริง ๆ ว่าจะไปเดินตกหลุมรักกันที่ไหน ถ้าตกหลุมถนนก็ว่าไปอย่าง มีให้เห็นถมไป (ช่วงโฆษณา: จริง ๆ เคยพูดถึงเรื่องนี้ไปบ้างแล้ว ย้อนอ่านเหตุผลที่เคยเขียนไว้แล้วได้ ที่นี่

เราคงไม่กล่าวซ้ำว่าการมีพื้นที่สาธารณะมีผลต่อความสัมพันธ์ของผู้คนแค่ไหน เพราะจริง ๆ แล้วหลายพื้นที่ที่ดูเหมือนจะเป็นพื้นที่สาธารณะมันไม่เป็นสาธารณะจริง ๆ น่ะสิ ซึ่งเราอาจเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น Pseudo-public space ที่แปลอย่างง่าย ๆ ว่า “พื้นที่สาธารณะเทียม”

พื้นที่สาธารณะเทียมมีลักษณะสำคัญคือ อยู่ในพื้นที่เปิด แต่พื้นที่เปิดนั้นเป็นของกลุ่มทุนหรือนิติบุคคล ถ้าลองนึกอย่างเร็ว ๆ อาจจะเห็นภาพของสวนสาธารณะในห้างสรรพสินค้าชัดมากกว่าอย่างอื่น ซึ่งพื้นที่จำพวกนี้อาจจะจำเป็นต้องเสียเงินเข้าใช้งาน หรือมีเงื่อนไขในการเข้าใช้ด้วย เช่น Co-working Space ที่มีกฎเกณฑ์การเข้าใช้งานอย่างการสมัครสมาชิก หรือการเสียเงินซื้อเครื่องดื่มเพื่อเข้าไปทำงาน แลกกับสัญญาณไวไฟ เป็นต้น

มองเผิน ๆ แล้วพื้นที่เหล่านี้เข้ามาตอบโจทย์คนเมืองที่ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน และปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอาจหลีกเลี่ยงพื้นที่แบบนี้ไม่ได้ แต่เราคงต้องยอมรับว่าการเข้ามาของพื้นที่แบบนี้แบ่งแยกคนแต่ละชนชั้นออกจากกัน แนนซี่ เฟรเซอร์ นักทฤษฎีวิพากษ์และเฟมินิสต์เสนอว่า พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรง แต่ขณะเดียวกัน พื้นที่สาธารณะเทียมที่เกิดขึ้นแบ่งแยกคนผ่านชนชั้นทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลที่ง่ายที่สุดคือพื้นที่เหล่านี้ไม่ได้เป็นของทุกคน ผ่านเงื่อนไขการเข้าใช้งาน ถ้าถามเช็กให้ง่ายกว่านั้นคือ เคยไปที่ไหนแล้วรู้สึกว่าตัวเองตัวลีบเล็กลง จากเป็นคนธรรมดา แต่งตัวก็ดูดี อยู่ดี ๆ กลายเป็น “หนูจน” ขึ้นมาหรือเปล่า

พื้นที่สาธารณะยังหมายถึงพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนด้วย กรณีของ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” เป็นข้อพิสูจน์ชั้นดีที่สรุปกระบวนการ Gentrification อย่างชัดเจน แม้การต่อสู้ระหว่างศาลเจ้าแม่ทับทิมและสำนักงานทรัพย์สินแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะดำเนินมาถึงคำตัดสินของศาลปกครองแล้ว แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมจะไม่สามารถอยู่บนพื้นที่ตั้งเดิมได้ นี่อาจทำให้สังคมเสียโอกาสการมีพื้นที่เรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ชุมชนไปเลยก็ได้ แถมวิถีของศาลเจ้าสัมพันธ์กับชุมชนอย่างแยกกันไม่ออก ประเพณีล่าสุดอย่าง “เทศกาลทิ้งกระจาด” หรือที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่าง “เทศกาลไหว้พระจันทร์” ทำให้ผู้คนและศาลเจ้าเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจนด้วยวิถีความเชื่อด้วย

มาถึงตรงนี้ คำว่า “อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป็อป” ดังขึ้นมาในหัวซ้ำอีกครั้ง เพราะการมีพื้นที่สาธารณะอย่างแท้จริงในเมืองสมัยใหม่อาจจะไม่ได้ช่วยให้แค่คนมีพื้นที่จะตกหลุมรักมากขึ้น แต่ยังรวมไปถึงการมีพื้นที่ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กันในสังคมมากยิ่งขึ้น เมืองดัดจริตที่เราใช้ชีวิตกันอยู่มีผลทำให้เราสนใจเพียงแต่เราในฐานะปัจเจก มีไลฟ์สไตล์ที่เป็นแม่พิมพ์จากระบบทุนนิยมที่ครอบงำเรา กระเสือกกระสนให้วิ่งไล่ไขว่คว้าจนหลงลืมว่าสิ่งที่ชีวิตต้องการคืออะไรกันแน่

แต่เวลาเดินไปไม่หวนคืน ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นไม่หยุดยั้ง ชีวิตในเมืองเช่นนี้อาจทำให้เรายอมรับและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ทั้งความสวยงามและความแห้งแล้ง ทั้งชีวิตของเมืองและชีวิตของเรา

เพียงแต่ขอให้มีสัก “สิทธิ” บนพื้นที่ที่เป็นที่ของเราบ้าง เพื่อมีสิทธิที่จะเป็นเรา แบบเรา ได้อย่างเต็มที่ ไม่ได้ไหลไปตามเม็ดเงินหรือกระแสที่ท่วมท้นเข้ามา

ถึงเมื่อนั้น ชีวิตก็คงไม่ต้อง “ป็อป” ก็ได้

ขอแค่ “รอด” ก็พอ

แหล่งอ้างอิง : nationalgeographic / theguardian / theguardian / tci-thaijo / matichonweekly 1

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า