fbpx

“เฟมทวิต” กับความประสาทที่เป็นพิษกับเบียว

หากจะพูดถึงดราม่าในโลกออนไลน์ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเรียกร้องทางเพศแล้วนั้น คำว่า “เฟมทวิต” เป็นหนึ่งในคำที่เกี่ยวข้องกับดราม่าที่ได้ยินกันบ่อยครั้ง เป็นคำเรียกที่ถูกใช้เพื่อแปะป้ายกลุ่มการเรียกร้องทางเพศของผู้หญิง และใช้แพลตฟอร์มทวิตเตอร์ในการพูดเรื่องประเด็นทางเพศเป็นหลัก เพื่อช่วยกระจายข่าวความรุนแรงทางเพศ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ค่านิยม “ชายเป็นใหญ่” ที่ว่ากันว่าเป็นต้นตอหลักของปัญหาการกดขี่ทางเพศอื่นๆ ทั้งหมดในสังคม

ถึงแม้ #METOO จะประสบความสำเร็จในโลกทวิตเตอร์ เป็นหนึ่งในหมุดไมล์สำคัญให้กับการขับเคลื่อนมูฟเมนต์สตรี แต่ขณะเดียวกัน “ความทวิตเตอร์” ก็กลายเป็นสนามอารมณ์ สนามดราม่า ให้กับเหล่า “เบียว” ที่เหมือนเป็นกลุ่มผู้ใช้งานออนไลน์แบบไม่แสดงตัวตน จะรู้สึกว่าการมีอยู่ของ “เฟมทวิต” นั้น ไม่ได้สร้างประโยชน์ มีแต่ทำให้ทุกอย่าง Toxic ไปมากกว่าเดิม

และแล้ว สงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น ก็เริ่มต้นขึ้นจากจุดนี้

“ชายเป็นใหญ่” 

ประเด็นหลักสำคัญของการเรียกร้องการกดขี่ทางเพศ คือการมองกลับไปที่ต้นตอของปัญหา ซึ่งหลายๆ ครั้ง ไม่ใช่ทุกคนจะมองเห็นปัญหาพร้อมต้นตอของมันได้ บางคนเห็นเพียงการกดทับที่ตัวเองเผชิญอยู่ รู้และรับทราบไว้เพียงแค่นั้น แต่ไม่อาจะเข้าใจว่าสิ่งที่ตัวเองต้องโดนกดทับอยู่ หลายครั้งมันวนเวียนอยู่กับคำว่า “ชายเป็นใหญ่”

ระบอบ “ชายเป็นใหญ่” คือการเชื่อว่าเพศชาย มีสภาวะร่างกาย ความคิด อารมณ์ ที่แข็งแรง มั่นคง และเป็นตรรกะมากกว่าผู้หญิง ด้วยชุดความคิดนี้ จึงเกิดการสร้างโลกที่ทำให้ทุกคนถูกจับลงกล่องตั้งต้นอย่างน้อยสองใบ ว่าผู้ชายต้องมีลักษณะเป็นสุภาพบุรุษอย่างนึง ส่วนผู้หญิงก็เป็นสุภาพสตรีอีกแบบนึง จะสลับสับเปลี่ยนกันไม่ได้ หรือมาเท่าเทียมกันไม่ได้ ซึ่งความคิดนี้ ทำให้เกิดค่านิยม วัฒนธรรมแบบอื่นตามมาอีกมากมาย ทั้งการกรอบให้ผู้ชายทำงานเกี่ยวกับช่าง ทหาร และความแข็งแกร่ง เป็นผู้น้ำครอบครัวและช้างเท้าหน้า ส่วนผู้หญิงก็ต้องวนเวียนอยู่กับความสวยงาม แม่บ้าน เพศแม่ เป็นเพศที่มีบทบาทสำคัญรองลงมาเป็นต้น 

ในยุคสมัยใหม่ การพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ จึงไม่ใช่การบอกว่าผู้หญิงต้องมาเท่ากับผู้ชาย แต่เป็นการบอกว่าทุกๆ เพศนั้นมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว เฉพาะคน กรอบบางอย่างเป็นมายาคติที่ไม่จริง ไม่มีผลทางวิทยาศาสตร์ที่อัพเดทมากพอว่าเพศใดเพศหนึ่งแข็งแรงกว่า หรือมีตรรกะมากกว่าได้จริง ฉะนั้นค่านิยมบางอย่าง อาจจะต้องมีการชำระประมวลกันใหม่ ยกใหญ่ เพื่อให้กรอบความคิดทางเพศมันลดลง

กรอบความคิดทางเพศชายเป็นใหญ่กว่า ที่ว่ากันว่าเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ทั่วโลก ถึงขนาดที่โอบาม่า เคยกล่าวไว้ว่า “ปัญหาต่างๆ ในโลก เกิดจากชายแก่ที่ไม่ยอมลงจากอำนาจ” นั่นเอง

ความเท่าเทียมทางเพศ ที่ไม่ได้พูดถึงการเอามาเท่ากัน

ปัญหาคือการใช้คำว่า “ความเท่าเทียม” เป็นการหลักใหญ่ในการเอามาเรียกร้อง ทำให้เกิดการตีความคำว่า “ทำให้เท่ากัน” นั้นผิดไป เพราะหัวใจหลักของการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ คือการลดอำนาจของการกดขี่โดยเพศใดเพศหนึ่งออกไปเท่านั้น และช่วยส่งเสริมศักยภาพเพศอื่นที่โดนผลักให้กลายเป็นชายขอบ ให้มีที่ยืน หรือพอจะมีเสียงและบทบาทออกมาทำสิ่งต่างๆ ได้ ไม่ต่างจากเพศชายที่ถือครองพื้นที่มาอย่างยาวนาน

ดังนั้นเมื่อเกิดการตีความผิด การเข้าใจในเรื่องต่างๆ ก็จะผิดเพี้ยนไป การถกเถียงในตัวบทกฎหมายที่เป็นรูปธรรมหรือแม้แต่ดราม่าในเน็ตที่กระจัดกระจาย ล้วนมาจากการตีความคำว่า “เท่าเทียมทางเพศ” ผิดไปทั้งหมด หรือแม้แต่ไม่เข้าใจการถูกกดทับที่ตรงกันแต่แรก

เมื่อ “ชายเป็นใหญ่” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แม้เพศชายแท้โดยทั่วไปจะไม่เชื่อว่ามันมีจริง แต่ตัวเองก็อาจจะได้รับผลกระทบจากมันอยู่ เช่นในเชิงโครงสร้างและกฎหมาย กำหนดให้เพศชายทุกคนต้องเกณฑ์ทหาร ผู้ชายไทยทุกคนต้องเกณฑ์ทหารและถือเป็นการกดขี่โดยถ้วนหน้าพร้อมกัน เพราะความเชื่อที่ว่า ผู้ชายนั้นแข็งแรงกว่าผู้หญิง โดยไม่มองปัจจัยในเชิงอัตลักษณ์และทักษะในรายบุคคล 

หากมองแบบความเท่าเทียมทางเพศแล้วทุบดิน ชายไทยจำนวณหนึ่งก็จะมองว่า งั้นทุกเพศควรมาโดนเกณฑ์ทหารเหมือนกันให้หมด จะได้ไม่มีเพศไหนได้อภิสิทธิ์ ทั้งๆ ที่เราควรจะคุยกันว่า ถ้าอยากให้ทุกเพศเป็นทหารจริงๆ ก็ควรยกเลิกการบังคับ และเพิ่มสวัสดิการให้กับทุกเพศที่อยากจะมาเป็นทหาร รวมถึงผู้หญิงด้วย ถ้าอยากจะเป็นทหาร ก็จะสามารถได้รับสวัสดิการและการดูแลในฐานะที่เป็นผู้หญิงได้ไม่ต่างจากผู้ชาย หรืออาจจะเพิ่มการลาคลอดได้ด้วยพร้อมกับสามี ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างการใช้ทางเลือกอื่นๆ ด้วยความสามารถทางสติปัญญา มากกว่าลากทุกคนลงมาหามาตรฐานที่ต่ำลงกว่าเดิมเช่นการบังคับกดขี่โดยถ้วนหน้าพร้อมกัน

Power Dynamic ที่ถูกเอาออกไป

เมื่อการกดทับทางเพศเกิดขึ้น สิ่งที่มักจะต้องหยิบมาประเมินเสมอคือ “พลวัตทางอำนาจ” หรือ Power Dynamic ซึ่งหากเป็นเรื่องเผด็จการและการกดทับในสังคมอื่นๆ จะเห็นได้ชัดมาก แต่พอมาเป็นเรื่องเพศ หลายๆ ครั้งประเด็นนี้ถูกลืมหายไป และทำให้ประเด็นดราม่าทางเพศ ยิ่งถกเถียงกันมากเท่าไหร่ก็ยิ่งออกทะเลมากขึ้นเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น การใช้คำพูดในเชิงล้อเลียนเป็นมุกตลกต่อปัญหาต่างๆ หากเราไม่คำนวณ Power Dynamic เลย คำพูดบันเทิงเอาสนุกปาก อาจจะไป Endose (ส่งเสริม) ปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราให้มันมีอำนาจมากขึ้นไปอีก แล้วย้อนกลับมากดทับเราเองอีกทอดหนึ่งเสียเอง เช่น หากเราพูดว่า “คนนี้น่ารัก อยากจับขย้ำจังเลย” หากในสังคมที่พลวัฒน์ทางเพศมันเท่าเทียมกันหมดแล้ว ทุกเพศสามารถพูดเหมือนกันได้หมด เพราะพูดแล้วก็ไม่ได้เหยียบให้เพศไหนจมลงไป หากไปพูดกับใครแล้วเขาไม่พอใจ เขาก็สามารถสู้กลับ หรือฟ้องร้องเรียนได้ หรือมองเป็นมุกตลก แค่คำธรรมดาก็ยังได้

แต่ในบางสังคมที่มีค่าความผิดปกติ หรือการกดทับในมิติอื่นๆ สูง “คนนี้น่ารัก อยากขย้ำจังเลย” หากเป็นคำที่ถูกพูดโดยเพศใดเพศหนึ่งที่มีอำนาจมากกว่า แม้จะเป็นคำง่ายๆ แต่มันอาจจะลุกลามกลายเป็น Harrasment หรือการสนับสนุนการกดขี่ทางเพศในรูปแบบอื่นๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เช่น หากคำพูดนี้ถูกพูดโดยคนที่อำนาจทางสังคมเป็นพื้นฐาน อย่าง ข้าราชการ นักการเมือง ครู หรือแม้แต่บุคคลที่มีชื่อเสียง พูดใส่คนที่อยู่ใต้บังคับบัญชา ข้าราชการพูดกับประชาชน ครูพูดกับลูกศิษย์ พร้อมกับผู้ติดตามที่เห็นด้วยกับคำง่ายๆ แบบนี้นี้ พูดออกสื่อ หรือถูกพูดพร้อมกันเป็นจำนวนมากโดยมองว่าเป็นคำง่ายๆ ที่กระทำได้ Power Dynamic ก็จะเปลี่ยนไปทันที 

Power Dynamic ยังเกี่ยวข้องการใช้คำด่า หรือคำส่อเสียดอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งแทบจะเป็นตัวหักล้าง Hate Speech ได้แทบสมบูรณ์แบบ คำด่าบางคำ เมื่อพูดจากปากคนที่มีอำนาจต่ำกว่า กลับไม่มีดาเมจรุนปรงอะไรเลย เสียงตะโกนของคนที่ไม่มีอำนาจแม้จะหยาบคาย และรุนแรงแค่ไหน กลับไร้คนได้ยิน 

เช่น เมื่อประชาชนไม่พอใจนโยบายการจัดหาวัคซีน ด่าหยาบคายและรุนแรงต่อผู้ที่ควรจะรับผิดชอบ ก็แทบไม่มีผลอะไรเกิดขึ้นจริง ประชาชนไม่มีอำนาจ หรือเครื่องไม้เครื่องมือที่จะสามารถบุกไปทำร้ายผู้รับผิดชอบได้จริง กลับกัน ผู้รับผิดชอบ แม้จะไม่พูดหยาบเลย ก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมที่รุนแรงได้ ผมรู้สึกว่าการร้องเรียนของคุณหยาบคาย เราควรมีมาตรการเด็ดขาดในการจัดการเสียงที่ไม่น่าฟังเหล่านั้น เป็นคำพูดที่ดูสุภาพมาก แต่เมื่อคำนวณ Power Dynamic แล้ว “มาตรการเด็ดขาดในการจัดการเสียงที่ไม่น่าฟัง” เป็นคำที่รุนแรงมากทีเดียว

อย่างไรก็ตาม Power Dynamic ไม่ใช่สิ่งที่จะหยิบมาพูดเพื่อปิดปากคนให้พูดหรือไม่พูดอะไร หากแต่เป็นตัวที่เราสามารถเอาไว้ใช้มองดูปรากฎการณ์ต่างๆ ทางสังคม ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่าพลวัฒน์ทางอำนาจ มันกำลังทำงานกับสิ่งง่ายๆ อย่างคำพูดง่ายๆ บางคำอยู่หรือเปล่า

ชายเป็นใหญ่ ความเท่าเทียม และ Power Dynamic มีผลเป็นศูนย์ในโลกออนไลน์

แม้จะมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ในการต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แต่เมื่อทุกอย่างกระโจนเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ กลับมีค่าเป็นศูนย์ทันที

โลกออนไลน์เป็นแพลตฟอร์มที่กระจายอำนาจทุกอย่างแทบจะเท่าเทียมกันหมด ทุกอย่างถูกผูกขาดอยู่เพียงอัลกอริทึ่มของผู้ให้บริการโซเชี่ยลมีเดียเพียงเท่านั้น ด๊อกเตอร์ผู้ทรงคุณวุฒิกับแม่ค้าออนไลน์มีอำนาจในการพูดเท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าอัลกอริทึ่มจะจัดอะไรให้ขึ้นมาแสดงใน Feed ซึ่งอัลกอริทึ่มก็ไม่ได้เป็นมาตรฐานชัดเจนถาวร หากแต่จะแปรผันกับยอดผู้ติดตามและการเข้าถึง ที่อาจจะมีการเลือกปฏิบัติโดยผู้ดูแล หรือแม้แต่จ่ายเงินเพื่อเพิ่มการเข้าถึงก็ยังได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ ที่อนุญาตให้ผู้ใช้งานหลายกลุ่มไม่จำเป็นต้องใช้หน้าจริง ไม่ต้องยืนยันตัวตน มันจึงเป็นที่ที่หลักการ และอารมณ์มากองรวมกัน การเรียกร้องทางเพศในทวิตเตอร์จึงมีทั้งการล่ารายชื่อ เปิดพื้นที่ถกเถียง และการด่ากราด เหมารวม Hate Speech เรื่องเล่าไร้สาระ คนเล่นบทเหยื่อ คนให้ความชอบธรรมการข่มขืน ทุกอย่างมากองรวมกันอยู่ในโลกออนไลน์นี้หมด

“เฟมทวิต” เป็นกลุ่มคนที่อ้างว่าใช้ “ทวิตเตอร์” เป็นเครื่องมือในการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ มีทั้งเปิดเผยตัวตนและไม่เปิด แม้จะมีทั้งการร่วมลงชื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศต่อผู้หญิง ประณามเหตุการณ์ความรุนแรงในผู้หญิง ร่วม #METOO และทำแคมเปญการเรียกร้องอื่นๆ ที่เป็นรูปธรรมได้จริง แต่หลายๆ ครั้ง การใช้ทวิตเตอร์ที่ไม่ระบุตัวตน ก็มักจะปรากฎเรื่องราวของเหยื่อข่มขืนที่ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง มีข่าวลือ การปั่นกระแส ที่ไม่ได้ไปด้วยกันในการช่วยแก้ปัญหาหรือเรียกร้องเป็นรูปธรรม แต่เป็นเพียงการช่วยกันสนับสนุนเหยื่อที่ไม่ระบุตัวตน ซึ่งอาจเลยเถิดไปถึงการใช้ Hate Specch สร้างการเหมารวมไปแปะป้าย โดยใช้อำนาจทางแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นฐานอำนาจใหม่บนโลกออนไลน์ เพื่อคัดง้างเท่านั้น 

“เบียว” ซึ่งมาจากคำว่า “จูนิเบียว” กลุ่มอาการของคนที่คิดว่าความคิดของตัวเองนั้นเจ๋ง มุกตลก การ “ปั่น” การเล่นมุก Dark Jokes ล้อเลียนในห้องแคบ กลุ่มลับ ขำกันเองในกลุ่มเฉพาะ เป็นเรื่องที่เจ๋ง และการเบียวก็คือการพยายามเอาสิ่งที่อยู่ในหัวว่าที่ว่าเจ๋งนั้น ออกไปสู่โลกภายนอก เพื่อแสดงว่าสิ่งที่อยู่ในหัวนั้นเจ๋งแค่ไหน และแพลตฟอร์มโลกออนไลน์นั้น ก็ส่งเสริมสิ่งนี้ได้ง่ายเพียงปัดนิ้ว 

กลุ่มคนที่มีลักษณะเบียว กลุ่มปั่นในโลกอินเตอร์เน็ตนั้นมีทั้งไทยและต่างประเทศ มักจะเป็นผู้ใช้งานออนไลน์ที่ไม่ระบุตัวตนเช่นกัน และใช้แอคเคาท์เหล่านั้นปั่นประแส พูดในสิ่งที่ขวางกระแสโลกออนไลน์ และคิดว่าสิ่งที่ขวางนั้นเจ๋ง ซึ่งบ้างก็ว่าทำเพื่อเอาสนุก บ้างก็ว่าทำเพื่อคานกระแสในโลกออนไลน์ที่มักง่ายเกินไป เช่น หากโลกให้คุณค่า PC (การเคารพหลักความถูกต้องทางการเมือง) ธงรุ้ง ความหลากหลายทางเพศ หรือแอนตี้สงครามมากเกินไป ก็จะต้องคานกระแสกลับด้วยการขวางออกมาเลยว่าไม่เห็นด้วย และเล่นตลกกับการเคลื่อนไหวเหล่านั้น ให้กลายเป็นเรื่องไร้สาระเสีย หรือทำให้คนรู้สึกว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องดราม่า ละเอียดอ่อนตามเลย มาขำขำกันดีกว่า หรือบางกลุ่มก็อ้างว่า เพื่อคานเสียงในการเลือกตั้งของโลกเสรี กลุ่มสนับสนุนทรัมพ์ หรือเสียงสนับสนุนสงคราม ก็เป็นผู้ใช้งานในลักษณะนี้ที่ปะปนในโลกออนไลน์ทั้งสิ้น

“สังคมประชาธิปไตย ก็ต้องเคารพเสียงที่คาน แตกต่างหลากหลายไม่ใช่เหรอคับ แหะแหะ”

คือคำพูดที่มักใช้สนับสนุนแนวคิดและการกระทำของตัวเองอยู่เนืองๆ

เพราะการเชื่อว่าโลกออนไลน์ ไม่มี Power Dynamic แต่แรก และเป็นแพลตฟอร์มที่เอาไว้ “หลบโลกแห่งความจริง” ดังนั้นการปะทะกันของกลุ่มคนที่เชื่อว่าถืออำนาจเสมอกันเฉพาะในโลกออนไลน์ จึงเกิดขึ้นบ่อย และเป็นพิษต่อกัน โดยเฉพาะในเรื่องการขับเคลื่อนทางเพศ ที่มีต้นตอการมองของปัญหามาไม่เท่ากัน

การปะทะกัน ที่ทำให้เพิกเฉยปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ

โดยหลักๆ ของความประสาทในดราม่าเหล่านี้ คือมีคนจำนวณมากไม่เชื่อว่า โลกยังมีการขับเคลื่อนโดย “ชายแก่ที่ไม่ยอมลงจากอำนาจ” เยอะกว่า และคำว่า “ชายเป็นใหญ่”​ มันแสลงหูสำหรับสำนึกสมัยใหม่ โลกออนไลน์ ทุกคนเท่าเทียมกันหมดแล้ว ในเมื่อทุกฝ่ายมีเน็ต มีโอกาสเข้าถึงพื้นที่การถกเถียงแล้ว เราต้องเท่ากัน เพราะเราต่างก็อยู่หน้าจอมือถือเหมือนกัน ในเมื่อมีเรียกร้องที่ดูประสาทแดกได้ ก็จะต้องมีการโทรลล์ การปั่น มุกลดทอนคุณค่าได้เหมือนกัน แบบไม่จำเป็นต้องคำนวณ Power Dynamic ใดใด

แต่ความจริงคือ ยังมีโลกข้างนอกนั้นอีกที่การกดทับดีนมันมีจริง การที่หลบมาอยู่ในโลกออนไลน์ แล้วไม่เชื่อ ไม่เห็น ไม่ได้แปลว่ามันไม่มีอยู่ ฉะนั้นต่อให้มีพวกเรียกร้องประสาทแดก เป็น “ซอมบี้” ในโลกออนไลน์ ที่ทำให้เต็มไปด้วยประเด็นดราม่า ที่เอะอ่ะก็เรียกร้องทางเพศกันอยู่ได้ ตีกันอยู่ได้ เป็นเรื่องประสาทแดกสำหรับใครหลายๆ คน มันก็อาจจะมีอยู่จริงๆ 

แต่การมีอยู่จริงของ เฟมทวิตประสาทแดก หรือพวก LGBTQ ไร้สติ คอยปะทะกับความเบียว มนุษย์ที่เจ๋งที่สุดในเน็ต ก็ไม่ได้ทำให้การกดทับข้างนอกนั้นกลายเป็นศูนย์อยู่ดี

มันหมายความว่า ในโลกจริง การกดทับที่มีจริงอยู่ข้างนอก การเรียกร้องทั้งหมด ไม่ว่าจะประสาทแดก หรือสุภาพ ล้วนเป็นการกระทำเพื่อ “ขวางโลก” เพราะว่าโลกมันรันด้วยชายแก่ที่ไม่ยอมลงจากอำนาจ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นอยู่และดำเนินไป ยังคงเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน

แต่ถ้าย่อแคบลงมาเหลือแต่ในโลกออนไลน์ ก็จะรู้สึกเหมือนว่าเป็นเรื่องที่น่ารำคาญ เพราะเราต่างโดนกดทับอยู่เหมือนกันทุกคน ไม่ว่าจะเพศไหน ทำไมต้องออกมาเรียกร้อง ทุกคนเขาก็มีปัญหาเหมือนกันหมดนั่นแหละ จึงมีคนบางส่วนคิดว่าเรามีวุฒิภาระมากกว่าในบางประเด็น และให้เป็น Dark Jokes ล้อเลียนขำขำเสีย Power Dynamic ไม่มีอำนาจที่นี่ 

คนบางกลุ่ม เลยมองว่ากระแส แคมเปญ เทรนด์เรียกร้องทางเพศของเฟมทวิต รวมไปถึงพวก LGBTQ เป็นการทำให้โลกออนไลน์ไหลไปทางเดียวกันหมด ธงรุ้งอยู่เต็มไปหมด เป็นมาตรฐานศีลธรรมใหม่ ที่จะพูดแซวอะไรก็ไม่ได้ ดูกลายเป็น Sexual Harrasment ไปหมด 

จึงต้องรวมตัวกัน เพื่อคานกระแสนี้ “ขวางโลก(ออนไลน์)” นี้เสีย

แต่น่าเศร้า การทำตัว “ขวางโลก” ในโลกแคบดันไป “ตามโลก” ที่กว้างกว่าซะงั้น 

จริงๆแล้ว เราอาจจะมีเส้นบางๆระหว่างขวางโลก กับพยายามเปลี่ยนโลก ซึ่งมันขึ้นอยู่กับว่า เรามองโลกในชั่วโมงปัจจุบันเป็นยังไง และเห็นอะไรบ้าง สายตาแต่ละคนมันไม่เท่ากัน เลยทำให้จินตนาการบางคนมันจำกัด และในแว่นของการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศก็เช่นกัน

ท้ายที่สุด เราอาจจะต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งที่เราเรียกร้อง ต้นตอของมันคืออะไร และการกระทำของเรามันจะนำไปสู่อะไรได้บ้าง 

เพื่อไปสู่เป้าหมายที่บรรลุเป็นรูปธรรมชัดเจน เราอาจจะต้องดูว่าสิ่งที่เราทำอยู่ มันเกิดประโยชน์อยู่หรือเปล่า หากลดประเด็นความประสาทแดกเป็นพิษในดราม่าปะทะกันในเน็ตออกไป เราอาจจะได้ไปทำอย่างอื่นที่สร้างสรรค์ และจับต้องได้มากกว่านี้

การเรียกร้องทางเพศ เป็นการวิ่งมาราธอน วิ่งระยะยาว ไม่สามารถเกิดได้เพียงดีดนิ้ว หรือพรุ่งนี้รวย! ฉะนั้นระหว่างทาง อาจจะสิ่งรบกวนเส้นทางบ้าง เราก็ต้องต้องตั้งสติ และมองภาพปลายทางให้ตรงกันเสียก่อน เท่านั่นเอง

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า