fbpx

Fantastic Beasts กับความมั่นใจเกินเหตุของสตูดิโอวอร์เนอร์และเจ.เค.โรว์ลิ่ง

นับตั้งแต่เปิดตัวให้โลกได้รู้จักกับโลกเวทมนตร์เป็นครั้งแรกใน Harry Potter and the Sorcerer’s Stone (2001) อุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลีวูดก็ได้กำเนิดแฟรนไชส์หนังพันล้านขึ้นมาอีกแฟรนไชส์ทันที 

ความสำเร็จของแฟรนไชส์ Harry Potter เป็นปรากฎการณ์สะเทือนโลกอย่างแท้จริง การที่ตัวแฟรนไชส์นี้สามารถทำเงินทั่วโลกรวมกันไปกว่า 7787 ล้านเหรียญ (ผ่านหนังทั้งหมด 8 เรื่อง) นับเป็นตัวเลขอันหอมหวานที่สตูดิโอและทีมผู้สร้างรู้ดีว่า จักรวาลเวทมนตร์อันกว้างใหญ่ในจินตนาการของ เจ.เค. โรว์ลิ่ง ยังเดินทางต่อได้อีกไกล แม้เรื่องราวของเด็กหนุ่มที่ชื่อว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ จะจบลงแล้วก็ตามที เรียกได้ว่ามันคือแฟรนไชส์แหล่งเงินแหล่งทองที่ทางสตูดิโอวอร์เนอร์บราเธอร์สจะฝากชีวิตไว้กับมันได้อีกหลายปีเลยทีเดียว 

ทุกคนรู้กันดีว่าเรื่องราวของเด็กชายผู้รอดชีวิตที่มีแผลเป็นรูปสายฟ้ากลางหน้าผาก มีที่มาจากนวนิยายแฟนตาซีของเจ.เค. โรว์ลิ่ง ที่ตัวนิยายนั้นโด่งดังไปทั่วโลกชนิดที่คนที่ไม่เคยคิดจะอ่านหนังสือยังต้องหามาอ่านเพื่อตามกระแสที่เกินต้านทาน และเราปฏิเสธไม่ได้ว่าฝีไม้ลายมือการเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร และจินตนาการในการสร้างโลกพ่อมดแม่มดของโรว์ลิ่งนั้นยิ่งกว่าน่าหลงใหลและน่าทึ่ง

เพราะไม่ใช่เพียงแค่เรื่องราวของแฮร์รี่กับพ้องเพื่อนและวายร้ายอย่างโวลเดอมอร์เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับเส้นเรื่องหลัก การเอ่ยถึงเหตุการณ์สำคัญอันเป็นประวัติศาสตร์ของโลกเวทมนตร์โดยนำมาซึ่งหลากหลายตัวละครที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่เคยปรากฏตัวในอดีต มันคือวัตถุดิบชั้นดีที่สตูดิโอและโรว์ลิ่งสามารถจะหยิบมาสร้างเรื่องราวใหม่ได้อีกไม่รู้ตั้งเท่าไหร่

หลังเรื่องราวของเด็กชายผู้รอดชีวิตได้ปิดฉากลงใน Harry Potter and the Deathly Hallows: Part 2 (2011) ห้าปีต่อมา จักรวาลพ่อมดแม่มดที่รู้จักกันในนาม Wizarding World ก็กลับมาอีกครั้งกับ Fantastic Beasts and Where to Find Them (2016) ที่เล่าเรื่องราวของนิวท์ สคาแมนเดอร์ พ่อมดนักสัตว์วิเศษวิทยาที่ต้องตามหาบรรดาสัตว์วิเศษที่กระจายอยู่ทั่วเมือง โดยฉากหลังคือนิวยอร์กซิตี้ในช่วงปี 1920 นั่นหมายความว่าเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเรื่องราวของแฮร์รีหลายสิบปี ซึ่งในช่วงท้ายของหนังก็ได้มีการเปิดเผยตัวละครสำคัญ นั่นคือเกลเลิร์ด กรินเดลวัลด์ พ่อมดศาสตร์มืดตัวฉกาจแห่งยุค ที่เราได้รับรู้เรื่องราวความร้ายกาจและความยิ่งใหญ่ของเขาจากเรื่องราวในหนังชุด Harry Potter ว่าในยุคสมัยของกรินเดลวัลด์นั้นก็เกิดสงครามในโลกเวทมนตร์ที่รุนแรงและน่าสะพรึงกลัวไม่แพ้ยุคของโวลเดอมอร์ รวมถึงความสัมพันธ์ลับๆ กับคู่ปรับคนสำคัญที่เป็นผู้ต่อกรกับกรินเดลวัลด์อย่างอัลบัส ดัมเบิลดอร์ 

ซึ่งมันหมายถึง Fantastic Beasts เป็นเพียงปฐมบทของเรื่องราวสงครามระหว่างกรินเดลวัลด์และบรรดาพ่อมด-แม่มดที่นำโดยดัมเบิลดอร์ โดยเราได้รู้ในภายหลังว่า เจ.เค. โรว์ลิ่ง และสตูดิโอวางแผนเรื่องราวของ Fantastic Beasts ไว้ถึงห้าภาคด้วยกัน 

แม้ตัวหนังจะประสบความสำเร็จอย่างสวยงามด้วยรายได้ทั่วโลก 814 ล้านเหรียญ แต่เสียงวิจารณ์ที่เข้ามาก็เริ่มส่อแววให้เห็นถึงตัวหนังที่เริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะเรื่องบทภาพยนตร์ที่ค่อนข้างกลวงเปล่าไม่น้อย และเอาตัวรอดได้ก็เพราะโลกเวทมนตร์ที่ยังคงมีพลังดึงดูดความสนใจ รวมถึงบรรดาสัตว์วิเศษที่เป็นตัวขโมยซีนและเรียกรอยยิ้มได้เป็นระยะเสียมากกว่า แล้วค่อยปล่อยหมัดเด็ดในช่วงท้ายเรื่อง

แผลทั้งหมดที่เริ่มส่อแววให้เห็นจากหนังเรื่องก่อน ก็เริ่มเห็นได้อย่างชัดเจนในเรื่องต่อมาใน Fantastic Beasts: The Crimes of Grindelwald (2018) ที่ได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่ลบ ในเรื่องของเรื่องราวที่ดูจะมีแต่น้ำและไม่มีเนื้อ ตัวหนังเล่าเรื่องด้วยเหตุการณ์ที่ไม่จำเป็นหลายประเด็น และความสนุกที่หายไปจนกลายเป็นยานอนหลับชั้นดีแทน ทำให้หนังทำรายได้ทั่วโลกไปเพียง 654 ล้านเหรียญ ซึ่งถือว่าผิดฟอร์มแฟรนไชส์นี้เป็นอย่างมาก ทางสตูดิโอจึงขอกลับไปทำการบ้านมาใหม่ซึ่งใช้เวลากว่า 4 ปี กว่าที่หนังภาคต่ออย่าง Fantastic Beasts: The Secrets of Dumbledore จะได้ออกฉายให้ผู้ชมได้ดูกันในเดือนที่ผ่านมา 

แม้จะยังสรุปไม่ได้ว่าตัวหนังจะปิดรายได้ที่เท่าไหร่ แต่ด้วยรายได้เปิดตัวในอเมริกาที่ 43 ล้านเหรียญ ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในบรรดาหนังโลกเวทมนตร์ของโรว์ลิ่งทุกเรื่อง และจนถึงตอนนี้ก็ยังกวาดรายได้ทั่วโลกไปได้เพียง 286 ล้านเหรียญเท่านั้น (จากทุนสร้าง 200 ล้านเหรียญ) ก็ทำให้เราเริ่มเห็นเค้าลางที่ไม่ค่อยสู้ดีเสียแล้วของหนังภาคนี้ ที่บอกตามตรงว่าลุ้นเหนื่อยว่าหนังจะปิดรายได้เท่ากับหนังเรื่องก่อนๆ เคยทำไว้ได้

แล้วเอาเข้าจริง ปัญหาของ Fantastic Beasts คืออะไร? เหตุใดถึงไม่ได้รับการตอบรับที่ดีเหมือนเคย และเหตุใดตัวหนังถึงมีคุณภาพที่อ่อนลงอย่างเห็นได้ชัดขนาดนี้ ทั้งที่ผู้กำกับ ผู้เขียนบท ก็คือหน้าเดิมที่ทำ Harry Potter ซึ่งทำรายได้ถล่มทลายและเป็นที่รักของคนดูมาก่อน

จอห์นนี เดปป์ กับบทกรินเดลวัลด์ของเขา

อาจจะปลายเหตุอยู่สักหน่อย แต่ก็อาจนับว่าเกี่ยวข้องกับรายได้ของหนังภาคล่าสุด อย่างที่เรารู้กันดีกว่าผู้ที่มารับบทเกลเลิร์ด กรินเดลวัลด์ ในหนังสองภาคก่อนคือจอห์นนี เดปป์ (และ โคลิน แฟร์เรล ในบท เกรฟ พ่อมดมือปราบที่กรินเดลวัลด์ปลอมตัวมา) นักแสดงชายขวัญใจคนทั่วโลก แต่ทันทีที่เดปป์มีคดีความกับอดีตภรรยาอย่าง แอมเบอร์ เฮิร์ต ที่สร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ของเดปป์ สตูดิโอจึงตัดสินใจเปลี่ยนตัวแสดงเป็น แมดส์ มิคเคลเซน นักแสดงชาวเดนมาร์กที่เคยแสดงบทที่น่าจำจดอย่าง เลอ ชีฟ ใน Casino Royale (2006) และตัวร้ายใน Doctor Strange (2016) 

เดปป์เป็นนักแสดงที่ชาวอเมริกันชื่นชอบ ดังนั้นการที่ไม่มีเขาแล้วในหนังภาคล่าสุด ก็ปฎิเสธไม่ได้เหมือนกันว่ามันก็ส่งผลกับรายได้ของหนังไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ต่อให้เด็ปป์มารับบทก็คงช่วยไม่ได้มาก เพราะรายได้ภาคที่แล้วที่ยังคงมีเด็ปป์รายได้ก็ตกลงมาอยู่ดี 

และความเห็นส่วนตัว กลับรู้สึกว่ากรินเดลวัลด์แบบมิคเคลเซนนั้นดูเท่และมีความเป็นมนุษย์มากกว่ากรินเดลวัลด์แบบการ์ตูนๆ ของเด็ปป์อยู่พอสมควรเลยทีเดียว

เดวิด เยตส์ กับการเป็นผู้กำกับมือปืนรับจ้างที่ทำได้เท่านี้

เดวิด เยตส์ คงเป็นผู้กำกับที่สตูดิโอให้ความรักและเชื่อใจในการรับผิดชอบงานใหญ่ได้สำเร็จลุล่วงได้ตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะหนังแฟรนไชส์ที่เกี่ยวข้องกับ Harry Potter เพราะเยตส์คือผู้กำกับที่ได้กำกับหนังในแฟรนไชส์นี้มากที่สุด ไล่ตั้งแต่ Harry Potter and the Order of the Phoenix (2007) เรื่อยมาจนถึง Fantastic Beasts: The Secrets of Dumbledore ทั้งหมดรวมเป็นหนังกว่า 7 เรื่องเข้าไปแล้ว

สำหรับผลงานก่อนหน้าในตอนที่ยังเป็น Harry Potter แม้จะโดนวิจารณ์บ้างว่ากำกับหนังออกมาได้เรียบและเรื่อยเกินไป แต่ก็ยังเอาตัวรอดมาได้ตามมาตรฐาน เพราะบทภาพยนตร์ไม่ได้มีปัญหามาก และวิสัยทัศน์ที่ถ่ายทอดโลกเวทมนตร์ของเขาก็ออกมาได้น่าดูชม แต่พอมาเป็น Fantastic Beasts ที่บทภาพยนตร์มีปัญหา ฝีมือการกำกับของเยตส์กลับช่วยอะไรไม่ได้ นอกจากการกำกับช็อตที่เล่นกับคอมพิวเตอร์กราฟิกสวยๆ หรือสร้างโลกเวทมนตร์ได้น่าสนใจและตื่นตา แต่นอกจากนั้น ฝีมือของเขาช่วยให้หนังดูดีขึ้นไม่ได้เลย

ก็คงไม่ถูกนักหากจะโยนความผิดไปให้ผู้กำกับ เพราะตอนที่เขากำกับ Harry Potter ภาพรวมของหนังมันก็ดีกว่านี้เยอะ ปัญหามันอยู่ที่เรื่องบทมากกว่า แต่กับหนังบางเรื่องเราก็ต้องยอมรับตามตรงว่า ฝีมือผู้กำกับมันสามารถทำให้หนังดูดีขึ้นได้ แม้จะมีบทหนังที่ไม่ดีก็ตาม ซึ่งนอกจากหนังในแฟรนไชส์นี้แล้ว เยตส์เคยกำกับหนังใหญ่เพียงเรื่องเดียวเท่านั้นคือ The Legend of Tarzan (2016) ที่ได้รับเสียงตอบรับไม่ค่อยสู้ดีนักทั้งเสียงวิจารณ์และรายได้ 

ผลงานทั้งหมดจนตอนนี้ก็ทำให้เราเห็นอย่างหนึ่งว่า เขาอาจเป็นผู้กำกับที่เหมาะสมและรู้จักโลกในภาพยนตร์ที่สุดจริง ๆ ก็ได้ แต่เขาไม่ได้เป็นผู้กำกับที่มีฝีมือฉกาจที่มีฝีมือการเล่าเรื่องอันเฉพาะตัวที่พร้อมทำให้หนังเอาตัวรอดได้เมื่อเจอกับบทหนังที่ไม่ดี

เจ.เค. โรว์ลิ่ง กับหน้าที่การเขียนบทหนังของเธอ 

เหล่าสาวกเดนตายของแฮร์รี่ พอตเตอร์คงใจชื้นเมื่อได้รู้ว่ามารดาแห่งโลกเวทมนตร์อย่างเจ.เค. โรว์ลิ่ง จะมารับผิดชอบเรื่องบทภาพยนตร์ด้วยตนเอง เพราะใครมันจะไปเหมาะสมและรู้เรื่องราวของโลกเวทมนตร์ได้ดีกว่าเธออีกล่ะ แต่หลายคนลืมไปว่าโรว์ลิ่งคือนักเขียนนิยายมาตลอดชีวิต เธอไม่เคยเขียนบทภาพยนตร์มาก่อนเลย เพราะในตอนหนัง Harry Potter คนที่รับหน้าที่ดัดแปลงเรื่องราวในนิยายสู่บทภาพยนตร์ก็คือ สตีฟ โคลวส์ ที่รับหน้าที่เขียนบทหนัง Harry Potter ทุกภาค (ยกเว้นภาค Order of the Phoenix ที่คนเขียนบทคือ ไมเคิล โกลเดนเบิร์ก) ซึ่งตัวเธอเองคงมั่นใจว่าเธอเขียนมันเองได้

หากแต่ศาสตร์การเล่าเรื่องในรูปแบบนวนิยายที่ต้องใช้ตัวอักษรในการบรรยายสถานการณ์และเล่าเรื่อง มันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับการเล่าเรื่องในรูปแบบภาพยนตร์ที่ต้องเล่าเรื่องด้วยสถานการณ์และการกระทำของตัวละครเป็นหลัก เรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนอย่างยิ่งจากภาค The Crimes of Grindelwald ที่เห็นเลยว่าโรว์ลิ่งเล่าเรื่องได้เรียบและเรื่อยเกินไป ไม่แตกต่างกับการดูภาพเคลื่อนไหวที่ออกมาจากตัวอักษรในหนังสือเลยแม้แต่น้อย นอกจากนั้นมันยังเป็นการเล่าเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องเล่าก็ได้ หลายๆ ประเด็นที่หนังเล่าเหมือนจะสำคัญและมันกลับไม่สำคัญ จนคนดูต้องตั้งคำถามว่า นี่เรากำลังดูอะไรอยู่… 

มันโอเคกว่านี้แน่ ถ้าเรารับรู้ประเด็นเหล่านี้ผ่านตัวหนังสือ เพราะส่วนนี้อาจเป็นส่วนขยายโลกของตัวละครให้เราเข้าใจมากขึ้น และมันก็อาจเป็นแค่อีกบทในหนังสือที่มีข้อมูลเยอะๆ แต่ไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ ที่ผ่านไปแค่บทหนึ่งเท่านั้นก็ได้ แต่กับหนังเรื่องหนึ่งที่เล่าประเด็นพวกนี้เกือบทั้งเรื่อง มันก็ปฏิเสธได้ยากเหลือเกินว่ามันช่างจืดชืดและไร้ซึ่งความสนุกไปเยอะ นอกจากนั้นหากได้ดูภาค The Secrets of Dumbledore แล้วก็จะเห็นเลยว่าหลายๆ ประเด็นในหนังภาคก่อนหน้า แทบไม่ได้ถูกหยิบมาใช้ประโยชน์อะไรเลย ชนิดที่หากไม่ได้ดูหนังภาคก่อน ก็ยังสามารถดูภาคล่าสุดได้อย่างไร้รอยต่อ 

มันจึงเป็นคำถามที่ค้างคาอยู่ในหัว.. แล้วจะเสียเวลาเล่าเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องเล่าไปทำไมกับเวลาสองชั่วโมงของหนังเรื่องหนึ่ง และคนดู ดูหนังภาคก่อนไปเพื่ออะไร? 

ยังดีที่ทางสตูดิโอวอร์เนอร์ก็คงเห็นปัญหานี้เหมือนกัน เพราะภาคล่าสุดอย่าง The Secrets of Dumbledore สตูดิโอต้องไปตาม สตีฟ โคลวส์ มือเขียนบทเจ้าเก่ามาช่วยโรว์ลิ่งในเรื่องบทภาพยนตร์อีกแรง ซึ่งแม้หนังภาคใหม่จะดูสนุกกว่าภาคก่อนพอสมควร แต่ปัญหาของเรื่องราวที่ดูจะไม่ค่อยเดินไปไหนก็ยังมีและเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกอยู่ดี ซึ่งประเด็นนี้ มาจากปัญหาที่จะกล่าวต่อไป

หนัง 5 เรื่อง กับความทะเยอทะยานที่เกินไป

มันมีเหตุผลว่าทำไม Harry Potter ถึงต้องมี 7 ภาค (แต่มีภาพยนตร์ 8 เรื่อง เพราะภาค 7 ถูกแบ่งเป็น 2 พาร์ท) น่าจะเป็นความตั้งใจของโรว์ลิ่งที่คิดว่าชั้นปีการศึกษาในโรงเรียนฮอกวอตส์มีทั้งหมด 7 ชั้นปี ดังนั้นเรื่องราวการผจญภัยของแฮรี่ก็ควรแบ่งเป็นหนังสือ 7 เล่ม ที่เล่าเรื่องแต่ในชั้นปีว่ามีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นบ้างตามลำดับ ซึ่งการที่มันเป็นหนังสือมาก่อน ทำให้ผู้สร้างนั้นมีพิมพ์เขียวหรือเรื่องราวที่เป็นประเด็นหลักในแต่ละภาคให้เดินตามอยู่แล้ว (เช่น การเล่าถึงสมุดบันทึกของ ทอม ริดเดิ้ล และห้องแห่งความลับในภาค Chamber of Secrets หรือการประลองเวทไตรภาคีในภาค Goblet of Fire เป็นต้น) โดยสลับกับการเล่าเรื่องของเส้นเรื่องหลักที่จะปูทางไปสู่ภาคต่อไป ผู้เขียนบทจึงเหลือแค่ทำหน้าที่ในการตัดทอนส่วนที่ไม่สำคัญ หรือเสริมบางอย่างให้เรื่องราวลงตัวมากขึ้นเมื่อออกมาในรูปแบบภาพยนตร์ 

แต่พอมาถึงคราวของ Fantastic Beasts มันไม่เคยถูกเขียนเป็นหนังสือมาก่อน โรว์ลิ่งใช้จินตนาการเสริมเติมแต่งจากเรื่องราวคร่าวๆ ของตนเองในการสร้างเรื่องขึ้นมาใหม่ทั้งหมด พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องด้นสด เพื่อขยายเรื่องราวบางส่วนในอดีตให้กว้างขึ้นจนเป็นหนัง 5 ภาคให้ได้

ไม่รู้ว่าการที่ต้องเป็นหนัง 5 ภาค เพราะโรว์ลิ่งเองเป็นคนเสนอ หรือสตูดิโอเองที่วางแผนเอาไว้ แต่เรื่องราวที่ดำเนินมาถึงภาคสามเข้าไปแล้ว ก็ต้องบอกตามตรงว่า เราหาหลักใจความสำคัญของหนังสองภาคหลังไม่ได้เลย มันราบเรียบและไปเรื่อยๆ จนเหมือนว่าแต่ละภาคมันไม่มีเหตุการณ์หรือเรื่องราวใดที่เป็นเส้นเรื่องหลักของแต่ละภาคเลย ทั้งที่เอาเข้าจริง หากไม่ได้จะทะเยอทะยานเกินไปนัก เรื่องราวของสงครามกรินเดลวัลด์ก็อาจสามารถสรุปจบได้ 3 ภาคก็เพียงพอ

แม้จะไม่มากนัก แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือเรื่องราวที่มีแต่เนื้อไม่มีน้ำ มีแต่ประเด็นสำคัญที่คนดูต้องรู้ การเดินเรื่องที่กระชับฉับไว และดูสนุกกว่านี้แน่นอน

แถมล่าสุด เรายังไม่รู้เลยว่าท้ายสุดแล้วหนังจะได้สร้างต่อหรือไม่ และเราได้เห็นตอนจบของเรื่องราวนี้หรือเปล่า เพราะทางสตูดิโอวอร์เนอร์ได้ออกมาประกาศแล้วว่ายังไม่มีการอนุมัติการสร้างภาคต่อใดๆ ทั้งสิ้น และจะรอดูเสียงตอบรับและรายได้จากหนังภาคล่าสุดก่อน 

นับเป็นบทเรียนอีกชิ้นที่ฮอลลีวูดและสตูดิโออื่นอาจต้องศึกษาเอาไว้ เพราะในยุคที่แฟรนไชส์ภาพยนตร์และหนังภาคต่อครองโลกแบบนี้ การมีภาคต่อที่ต้องเน้นเยอะเข้าว่า มากกว่าการคำนึงเรื่องความเหมาะสมของเนื้อเรื่อง ก็อาจส่งผลให้ผู้ชมนั้นหมดศรัทธาได้เหมือนกัน เพราะอย่าลืมว่าคนมาดูหนังเพราะอยากดูหนังที่ดี หนังที่สนุก และให้ความบันเทิงกับเขาได้

ไม่ได้อยากมาดูหนังที่เล่าเรื่องแบบแทงกั๊กหวังจะสร้างภาคต่ออย่างเดียวแบบนี้หรอก

อ้างอิง
www.imdb.com
www.boxofficemojo.com

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า