fbpx

ภาคีเครือข่ายโคแฟค จัดเวทีเสวนานักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 19

วันนี้ (24 พฤศจิกายน 2564) ภาคีเครือข่ายโคแฟค ประเทศไทย จัดงานเวทีเสวนานักคิดดิจิทัลส่งท้ายปลายปี 2564 ครั้งที่ 19 “จากข้อมูลลวงสู่โลกเสมือน : แนวทางการหาความจริงร่วม” ร่วมกับการมอบรางวัลจากกิจกรรม Fact-Collab to Debunk Dis-infodemic โดยผู้ชนะเลิศก็คือ “ทีมบอท” ที่ใช้เทคโนโลยีการสร้างส่วนเสริมบนเว็บไซต์และค้นหาความจริงได้เลย จะได้รับทุนในการต่อยอดกิจกรรมจากมูลนิธิฟรีดริชเนามัน (ประเทศไทย)

หลังจากนั้น ในช่วงการปาฐกถาพิเศษ  “จากข้อมูลลวงสู่โลกเสมือน : แนวทางการหาความจริงร่วม” ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของเพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง By เจษฎ์” ได้ร่วมพูดคุยในครั้งนี้ โดยกล่าวว่า พื้นฐานคนไทยเป็นคนเชื่อง่าย ตามคุณวุฒิ วัยวุฒิ ซึ่งบางเรื่องเกิดขึ้นเพียงเพราะความสนุกสนาน และเกิดการบิดเบือนขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น เรื่องเครื่องตรวจระเบิด GT200 ที่คนทั้งประเทศเชื่อว่าสามารถตรวจจับได้จริง หรือกรณีงูสวัดถ้าเกิดขึ้นรอบตัวจะทำให้เสียชีวิตได้ แม้กระทั่งในเชิงทางด้านการเมืองก็เกิดขึ้นมาแล้ว ฉะนั้นสังคมไทยอยู่กับข่าวลวงมานาน แต่มีความพร้อมที่จะตรวจสอบข่าวลวงแล้วหรือยัง?

ในกรณีเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นที่เกิดขึ้นมาแล้ว 2 ปี มันมักจะถูกโยงกับเรื่องข่าวลวงต่างๆ และเกิดการแชร์ข้อมูลเป็นจำนวนมาก ในทางกลับกันเราไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลที่จริงจังมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันถึงแม้จะเริ่มมีหน่วยงานต่างๆ เกิดขึ้น แต่ข่าวลวงกลับไปไวกว่าข่าวจริงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องวัคซีนโควิด-19 ที่มีข้อมูลลวงไม่ให้ฉีดเป็นจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งจริงๆ แล้วเราต้องเริ่มจากการมี “ต่อมเอ๊ะ” คือการมีข้อสงสัยและตั้งคำถาม ซึ่งในสังคมไทยไม่เคยสร้างการตั้งคำถามให้เกิดขึ้นในสังคมเลย

ในเชิงวิทยาศาสตร์มักจะตั้งคำถามว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเท็จ และมีการพิสูจน์ตลอดเวลาเพื่อทำให้เข้าใจกลไกของวิทยาศาสตร์และทฤษฎีมากขึ้น แน่นอนว่าสิ่งนี้สังคมไทยไม่มี ปัจจุบันโคแฟคหรือหน่วยงานอื่นๆ ก็มักจะมีการตั้งคำถามแทนเหมือนกัน ซึ่งในการดำเนินการข่าวลวงทุกๆ เรื่องมักจะมีสิ่งที่แอบแฝงทำให้เกิดขึ้นได้อยู่ แน่นอนว่าหลายครั้งบรรดาผู้คนที่มีผู้ติดตามจำนวนมากแย้งด้วยชุดข้อมูลความจริง เขากลับเชื่อมากกว่ารัฐบาลด้วยซ้ำ

แน่นอนว่าความจริงไม่มีร้อยเปอร์เซ็นต์ และมันเปลี่ยนแปลงได้ แต่ข่าวลวงหลายเรื่องราวมันมักจะเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลของมันอยู่ ซึ่งถ้าเราพิจารณาดีๆ เราก็จะค้นพบว่ามันคือข่าวลวง ในทางนิเทศศาสตร์ของเมืองไทย นี่คือความล้มเหลวในการนำเสนอข่าวสาร ซึ่งมันมีแค่การรายงานแต่ไม่ตรวจสอบและทำให้สามารถนำไปสู่การถกเถียง ตรวจสอบความจริงได้ เช่นเดียวกับเวทีถถกเถียง ประเทศไทยก็มักไม่ชอบเช่นเดียวกัน เพราะคนไทยไม่ชอบการแย้งเรื่องราวที่เกิดขึ้น ถ้าต่อไปกระแสของโลกออนไลน์ดีขึ้น

สำหรับกระแสของโลก Metaverse นั้น ผมมีความเห็นว่ามันดึงดูดทำให้คนเข้ามาเล่นแพลตฟอร์มของเขามากขึ้น เพียงแต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นตัวจริงหรือตัวปลอมกันแน่ ซึ่งมันน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะโครงสร้างของสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้เกิดการเสพข่าวด้านเดียว นอกจากนี้ปัญหาของแพลตฟอร์มคือการจัดสรรของแพลตฟอร์มนั้นๆ ซึ่งกลายเป็นทำให้เราเรียนรู้แค่ด้านนั้นๆ

หลังจากนั้นในช่วงต่อมา ได้มีเวทีเสวนานักคิดดิจิทัล “จากข่าวลวงสู่ความฉลาดยุคดิจิทัล : มุมมองจากเยาวรุ่นถึงบูมเมอร์” โดยมีตัวแทนได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศจากกิจกรรม Fact-Collab to Debunk Dis-infodemic ร่วมพูดคุยในครั้งนี้ด้วย

โดย ผศ.ดร. เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษา Cofact (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปัจจุบันคนที่เล่าโลกออนไลน์พอจะเข้าใจเรื่องข้อมูลข่าวสารมากขึ้น แต่สถานการณ์ในปัจจุบันก็ยังไม่ดีขึ้น แต่กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ฉะนั้นตอนนี้ยังไม่ได้น่าเป็นห่วงมากเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้น่าไว้วางใจมากสักเท่าไหร่ สำหรับงานวิจัยของ Media Alert พบว่าทั้ง 3 ส่วนมีการแพร่ข้อมูลที่สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และแต่ละส่วนมีแนวทางที่ชัดเจน ซึ่งก็ทำให้การคู่ขนานของข้อมูลเกิดขึ้นได้นั่นเอง ซึ่งปัจจุบันโคแฟคกำลังดำเนินการในการร่วมมือกับสื่อท้องถิ่นในการร่วมเป็นผู้ตรวจสอบข่าวลวงด้วยเช่นกัน และการจัดกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ในขณะที่ ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟรีดริชเนามัน (ประเทศไทย) กล่าวต่อว่า เราต้องเท่าทันเทคโนโลยีให้มากขึ้น เราต้องรู้เพื่อให้เท่าทันและตั้งคำถามให้มากขึ้นว่าทำไมถึงเกิดสิ่งนี้ขึ้น แม้กระทั่งในการรับข้อมูลข่าวสารก็ต้องเท่าทันและตั้งคำถามด้วยเช่นกัน ซึ่งทุกการเปลี่ยนแปลงมักจะมีนัยยะแอบแฝงด้วยเช่นกัน ในส่วนของการให้ทุนทีมบอทนั้น เกิดจากการอยากทำให้การตรวจสอบหาความจริงเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงไปยังหลากหลายแพลตฟอร์ม เพื่อทำให้เข้าถึงมากขึ้นและสร้างความจริงให้ปรากฏ สร้างภูมิคุ้มกันได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้บนหน้าเว็บหรือการใช้ Webtoon นั้นมันส่งผลต่อประสิทธิภาพมากขึ้นในการสร้างภูมิคุ้มกันได้เลย ใช้ได้จริง และเข้าถึงทุกคนได้ นั่นคือจุดมุ่งหมายในการอยากให้ทุนของแต่ละโครงการไปทำก่อนนั่นเอง

ในส่วนของ คุณธนภณ เรามานะชัย Trainer, Google News Initiative (GNI) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันเราไม่สามารถพึ่งพิงบริษัทเทคโนโลยีได้เลย ฉะนั้นการให้ความรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อสำคัญเป็นอย่างมาก ที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามตั้งแต่วัยเด็กจนถึงปัจจุบัน กระบวนการทางความคิดของคนต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปเช่นกัน มันต้องเป็นการทำควบคู่ด้วยกันไป บางทีอาจจะต้องมองคอนเทนต์ที่อยู่ในแพลตฟอร์มด้วย เพราะทุกอย่างมันเอื้อทำให้เกิดนิเวศในพื้นที่กันเอง การรู้เท่าทันสื่อจึงไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องแนวคิดผู้คนด้วย

นอกจากนี้ คุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ บมจ. อสมท กล่าวว่า อย่างเรื่อง Metaverse มันเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จในทันที ต้องอาศัยเรื่องระยะเวลาและจังหวะด้วยเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันมีความพร้อมเรื่องเทคโนโลยี และทำให้คนยอมรับในการไหลมาของข้อมูล แต่สิ่งที่น่าลุ้นอยู่ในวันนี้คือการเคลื่อนไหวในการสร้างการรู้เท่าทันสื่อให้มากขึ้น ให้มีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยี และเชื่อมไปยัง PDPA ด้วยเช่นกัน เพราะในยุคนี้คนให้ความสำคัญเรื่องความเป็นส่วนตัวมากขึ้นด้วย

ฝั่งของเยาวชนนั้น คุณไอรีณ ประสานแสง New Gen Next FACTkathon กล่าวว่า ข่าวลวงในทุกวันนี้มาในรูปแบบแนบเนียนขึ้นกว่าสมัยก่อน ซึ่งเราเผลอเชื่อไปโดยไม่รู้ตัวด้วยเช่นกัน ซึ่งพวกเราก็ไม่ใช่ Digital Native เหมือนกัน แม้กระทั่งคนในพื้นที่คลองเตยที่ใช้มือถือคนละรุ่น ก็จะมีความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลต้องจัดสรรให้เข้าถึงอย่างไม่เหลื่อมล้ำ ทั้งในเชิงเทคโนโลยีและข้อมูล สำหรับเทคโนโลยีที่เราทำก็ใช้แนวทางในการนำเอาการ์ตูนผ่าน Webtoon มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความรู้พื้นฐาน และทำให้รับมือข่าวลวงได้ เราเชื่อว่าการสร้างความเข้าใจและรับมือได้จะทำให้เกิดการต่อยอดไปยังคนอื่นๆ บอกต่อหรือสร้างภูมิคุ้มกันได้

และ คุณสุธิดา บัวคอม หัวหน้าทีมบอท กล่าวต่อว่า เราไม่รู้สึกว่าถูกหลอกจากเรื่องหนึ่ง แต่อาจจะถูกหลอกในอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งทุกคนก็คือเหยื่อของข่าวลวงด้วยเช่นกัน โดยการแก้ไขปัญหาเดียวกัน แต่แก้ไขในกลุ่มคนละอายุอาจจะใช้วิธีการเดียวกันไม่ได้ ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาของทีมบอท จะใช้เครื่องมือนำไปสู่ฐานข้อมูล เราไม่ได้อยากสร้างแพลตฟอร์มในการตรวจสอบข่าวลวง แต่เราจะใช้เครื่องมือการหาข้อมูลไปอยู่บนอินเตอร์เน็ตเลย โดยตรวจสอบได้เลยในหน้าเว็บไซต์นั้นๆ และเชื่อมไปยังฐานข้อมูลไปยังชัวร์ก่อนแชร์ หรือโคแฟคนั่นเอง

ซึ่งปัจจุบันโคแฟคกำลังพัฒนาแพลตฟอร์มในการตรวจสอบข่าวลวง โดยร่วมมือกับเครือข่ายตรวจสอบข่าวลวง และร่วมมือกับภาคีเครือข่ายหลากหลายแห่ง เพื่อพัฒนาให้เข้าถึงมากที่สุด โดยทุกท่านสามารถตรวจสอบข่าวลวงหากเกิดความไม่น่าเชื่อถือของข้อมูล ได้ผ่านทาง www. cofact.org และ Line Official : @Cofact และติดตามกิจกรรมเสวนานักคิดดิจิทัลในตอนต่อไปได้ในปี 2565

Journalist

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า