fbpx

Old town, new tales จับตา “เมืองเก่า” พื้นที่สร้างสรรค์บนความคลาสสิก

ตั้งแต่จำความได้ เราหลงเสน่ห์เขต “เมืองเก่า” จนถอนตัวไม่ขึ้น ไม่ว่าจะด้วยตึกรามบ้านช่องหลากรูปร่าง อาหารการกินหลากหลาย แหล่งรวมศิลปวัฒนธรรมแทบทุกสำนัก เรียกได้ว่า ทุกตารางนิ้วมี “คอนเทนต์” ให้ได้ขบคิด พูดคุย หรือแม้แต่เล่าถึงได้เสมอ

แม้จะรู้อยู่ตลอดว่าพื้นที่เมืองเก่ามีกิจกรรมมากมายเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพิธีการสำคัญของชาติไปจนถึงงานสร้างสรรค์ แถมเป็นแหล่งรวม public space ที่ทั้งน่าสนใจและมี “ประสิทธิภาพ” ในการรวมคน ทว่ากิจกรรมเหล่านี้กลับไม่ได้เป็นที่สนใจของผู้คนนัก

แต่ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา พื้นที่ “เมืองเก่า” กลายเป็นสนามสร้างสรรค์ที่น่าจับตามอง เพราะไม่ว่าจะเป็นงานนิทรรศการทางดีไซน์ กิจกรรมต่าง ๆ ล้วนมีโลเคชันอยู่ที่เมืองเก่านี้ เราเลยอยากชวนคุณออกเดินสัมผัสชีวิตของเขตนี้แบบ “on focus” ไปด้วยกัน

01
ที่เก่า – เล่าใหม่

จุดเด่นสำคัญของเขตเมืองเก่าคือ “สถานที่สำคัญ” ที่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นวัด วัง หรือแม้กระทั่งศูนย์กลางการค้าที่ยังคงมี “มนต์ขลัง” อยู่จนถึงปัจจุบัน

และมนต์ขลังที่ว่า ก็สอดคล้องกับ “การปรับเปลี่ยน” ตัวเองให้เข้ากับยุคสมัยของพื้นที่เหล่านี้ กรณีที่ The Modernist เคยนำเสนอไปแล้วคือ ปากคลองตลาด ศูนย์กลางการค้าดอกไม้ที่สำคัญ ทั้งยังเป็นตลาดกลางในการซื้อขายผัก – ผลไม้ทั้งประเทศอีกด้วย มาบัดนี้ ปากคลองตลาดกลายเป็นสถานที่ยอดฮิตของเหล่าวัยรุ่น ตลอดจนกลายมาเป็นพื้นที่จัดงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ ไปด้วย

อีกกรณีที่น่าสนใจคือ “มิวเซียมสยาม” ซึ่งแต่เดิมเป็นวังของเจ้านาย ก่อนที่จะกลายมาเป็นที่ทำการกระทรวงพาณิชย์ และเป็นพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร” ซึ่งอยู่ในเขตพระราชวังบวรสถานมงคล อยู่ในบังคับของกรมศิลปากร ฟังดูเหมือนจะอยู่ในกรอบและระเบียบสุด ๆ ทว่าก็กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์และมีการปรับเปลี่ยนตนเองอย่างน่าสนใจ เช่นการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับ “อาร์ตทอย” ในทุกเดือน หรือการหยิบยกประเด็นที่เป็นเทรนด์มาจัดกิจกรรม เป็นต้น

พลวัตของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ “วัง” ในเขตเมืองเก่าก็เป็นเรื่องน่าสนใจเช่นกัน เนื่องจากเดิมพื้นที่เช่นนี้สัมพันธ์กับ “ศูนย์กลางอำนาจ” ที่เปลี่ยนไปตามระบอบการปกครองและการขยายตัวของเมือง การปรับตัวของพิพิธภัณฑ์มาสู่ความเป็น “พื้นที่สร้างสรรค์” ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่าพื้นที่เดิมได้ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง โดยมีกิจกรรมสร้างสรรค์เป็น “ตัวเชื่อม”

(ภาพมิวเซียมสยาม ขณะเป็นที่ทำการกระทรวงพาณิชย์ จาก Facebook มิวเซียมสยาม)

(ภาพมิวเซียมสยาม ก่อน และระหว่างการจัดงาน Bangkok Art Biennale 2023; ภาพโดยผู้เขียน)

นอกเหนือจากนี้ สถานที่ที่เคยเป็น “สถานที่สำคัญ” ในอดีตก็ค่อย ๆ ได้รับการค้นพบและ “เปล่งแสง” มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ” อดีตโรงพิมพ์เอกชนแห่งแรกที่ปล่อยร้างมานาน ก่อนจะกลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์และ renovate ต่อไป หรือ “การประปาแม้นศรี” อดีตที่ทำการการประปาที่กลายมาเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ ด้วยจุดเด่นอย่างหอเก็บน้ำประปาคู่ที่ไม่ว่าจะมองจากฝั่งใดก็สามารถสะกดสายตาผู้คนได้ ไม่ว่าจะในงาน Bangkok Design Week เมื่อต้นปี หรืออีเวนต์ล่าสุดอย่าง “กรุงเทพกลางแปลง” การกลับมาของแลนด์มาร์ก(เคย)สำคัญเหล่านี้ชวนให้เราค้นหา hidden gem ที่ซ่อนอยู่ในเมืองเก่า รวมไปถึงพื้นที่อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

(โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ และการประปาแม้นศรีในระหว่างงาน Bangkok Design Week 2023, ภาพจากกองบรรณาธิการ)

02
เคยเป็น “ที่ลับ” – ไขเป็น “ที่แจ้ง”

พูดถึงพื้นที่สาธารณะ “สวน” เป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่ผู้คนจะนึกถึง ด้วยความที่เป็นทั้งพื้นที่เปิด เหมาะแก่การทำกิจกรรมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นออกกำลังกาย ใช้เวลากับเพื่อน ครอบครัว คนรัก หรือแม้กระทั่งเป็นพื้นที่กิจกรรม สวนเหล่านี้เอง ในอดีตเคยเป็น “ที่ลับ” ที่คนมักจะเบือนหน้าหนี แต่เช่นเดียวกับสถานที่สำคัญในอดีตที่เรายกตัวอย่างไปด้านบน พื้นที่สวนได้รับการ “ไข” ให้เป็น “ที่แจ้ง” มากขึ้น

ในย่าน “เมืองเก่า” เองมีสวนสาธารณะหลายแห่ง ซึ่งมีอาณาบริเวณที่สามารถจัดกิจกรรมได้ ไม่ว่าจะเป็น “สวนสราญรมย์” อดีตพระราชอุทยานประจำวังที่กลายมาเป็นพื้นที่ในการพบปะสังสรรค์ของคนหลากหลาย ตั้งแต่ชนชั้นสูงไปจนถึงงานฉลองรัฐธรรมนูญในยุคคณะราษฎร หรือการปรับเปลี่ยนพื้นที่คุกเก่าให้กลายเป็นสวนสาธารณะอย่าง “สวนรมณีนาถ” หรือ “สวนสันติชัยปราการ” ซึ่งแปลงพื้นที่ถนนรอบป้อมพระสุเมรุกลายเป็นสวนสาธารณะ

Rommaninart Park during Bangkok Design Week, Feb 2023

(แนวนอน: ภาพสวนรมณีนาถเมื่อปี 2554 จาก Google Street View, แนวตั้ง: สวนรมณีนาถขณะจัดงาน Bangkok Design Week 2023 – ภาพโดยผู้เขียน)

ยุคหนึ่ง พื้นที่สวนเชื่อมโยงกับความเป็น “ที่อโคจร” อย่างชัดเจน สุมทุ่มพุ่มไม้ เวลาโพล้เพล้ และพื้นที่เปิดที่เอื้อต่อ “อบายมุข” ทำให้สวนสาธารณะเป็นที่ที่ติด red flag สำหรับคนทั่วไปอย่างชัดเจน การส่งเสริมบทบาทของ “สวนสาธารณะ” จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะลบภาพจำแย่ ๆ ของสวนออกไปจากความคิดของผู้คน ยิ่งเป็นสวนที่มีที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าที่มีตรอกซอกซอยมากมาย ยิ่งต้องส่งเสริมบทบาทมากขึ้นอีก

พื้นที่สวนสาธารณะยังเป็นพื้นที่สำคัญในการเยียวยาจิตใจผู้คนจากชีวิตการทำงานที่เร่งรีบ ลองคิดเล่น ๆ ว่าถ้ากำลังเครียด ๆ อยู่ มองลงมาจากตึกที่ทำงานแล้วได้เห็นสีเขียวของต้นไม้ก็รู้สึกดีขึ้นเป็นกอง หรือแม้กระทั่งหากพอมีเวลา ได้มาสูดอากาศบริสุทธิ์ในสวนสาธารณะก็ยิ่งดีขึ้นไปอีก กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในพื้นที่ “สวน” ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม “ดนตรีในสวน” การเต้นสวิง หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้เราเห็นความสามารถของ Public Space ที่ซ่อนอยู่ในพื้นที่เมือง และน่าจับตาขึ้นไปอีกว่าพื้นที่เหล่านี้จะสามารถ “ขยาย” ให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่มในสังคมให้สามารถมีพื้นที่ “ร่วมกัน” ได้อย่างดี

03
“โอกาส” และ “อุปสรรค”

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่น่าจับตามอง แต่เราก็อดมองข้าม “โอกาส”​ และ “อุปสรรค” ไปไม่ได้

แง่หนึ่ง พื้นที่เมืองเก่ากลายเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงง่ายมากขึ้นจากการมาถึงของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และอนาคตจะมีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีม่วงเข้าถึงด้วยเช่นกัน การเข้าถึงของรถไฟฟ้าไม่ได้นำมาเพียงแต่ความสะดวกสบายเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง “กระแสคน” ที่หลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่ต่าง ๆ ไปด้วย นอกเหนือจากนี้ การพัฒนาย่านเมืองเก่าถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายของกรุงเทพมหานครที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้พื้นที่ต่าง ๆ ในเมืองให้เป็น “ย่านสร้างสรรค์” ด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่อาจละเลยบทบาทของเมืองเก่าในฐานะอดีตศูนย์กลางการค้าไปได้ ซึ่งทำให้ย่านเมืองเก่ามีพื้นที่ที่หลากหลาย รองรับกิจกรรมสร้างสรรค์หลากรูปแบบ แถมยังมีความสามารถที่จะปรับตัวเข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้คนได้มากขึ้น เมื่อนำจุดแข็งเหล่านี้มาใช้ในการสร้าง “เมืองสร้างสรรค์” แล้วก็ยิ่งทำให้พื้นที่ตรงนี้น่าจับตามองขึ้นไปด้วย

แต่นอกเหนือจากโอกาสแล้ว ก็ยังคงมี “อุปสรรค” อยู่ กล่าวคือ กิจกรรมสร้างสรรค์อาจเข้ามาแล้วจากไป แต่สิ่งที่เรายังเห็นอยู่สม่ำเสมอคือการที่พื้นที่เหล่านี้ถูกละเลยหลังการจัดงานเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการจัดการขยะ หรือแม้กระทั่ง “มุมอับ” ของเมืองเก่า (ซึ่งมีมากเหลือเกิน) ก็ยังมีความเสี่ยงในฐานะที่ยัง “ไม่ปลอดภัย” นัก

“Gentrification” หรือการไล่รื้อพื้นที่ก็เป็นอีกอุปสรรคสำคัญที่เกิดขึ้นในเมืองเก่า ด้วยการเข้ามาของ “แหล่งทุน” และ “การพัฒนา” ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์มากขึ้น และแม้การไล่รื้อพื้นที่จะส่งผลเชิงบวกต่อราคาที่ดิน แต่อาจมีผลกระทบถึงแหล่งเรียนรู้ของผู้คนในด้าน “วิถีชีวิต” ของผู้อยู่อาศัยจริง ๆ ที่อาจจะอยู่กันมาหลายชั่วอายุคน และกลายมาเป็นอุปสรรคสำคัญของหลาย ๆ เมือง

ซึ่งจะต้องได้รับการหาทางออกร่วมกันระหว่าง “ความเก่า” และ “ความใหม่” ต่อไป อย่างไรก็ตาม เมืองสะอาด ไฟสว่าง ทางสะดวก รวมถึงแหล่งเรียนรู้ ยังคงจำเป็นเสมอต่อคนเดินเมือง ไม่ว่าจะกลางวันกลางคืน หากปิด pain point นี้ได้ เราเชื่อเหลือเกินว่า “เมืองสร้างสรรค์” จะแบ่งบานเติบโตไปได้อย่างงดงาม

และเรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่อาศัยความร่วมมือของ “ผู้คน” เสาร์อาทิตย์นี้ เราขอชวนคุณออกมาเดินเล่นในเมือง “จริง ๆ” เพื่อให้เห็นชีวิต เห็นสีสัน เห็นความเป็นไปของสิ่งรอบตัว

แหล่งอ้างอิง :

  • Jenny Roe และ Layla McCay. (ธาม โสธรประภากร แปล). (2566). Restorative Cities ให้นครเยียวยาใจ. กรุงเทพฯ : มติชน.

bangkokbiznews / prachachat / resource / bangkokdesignweek / onebangkok / webportal.bangkok / matichon

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า