fbpx

ระเบียบวินัย เสรีภาพ และเพศ ความไม่สมดุลของสามสิ่งที่กระทบเด็กไทย [ตอนที่ 1]

– เด็กนักเรียนทุกคน ต่างเคยมีประสบการณ์การโดนทำโทษจากการทำผิดกฏ อันเป็นเหตุมาจากการแต่งกายและทรงผมที่ไม่เป็นไปตามกฏระเบียบของโรงเรียน รวมไปถึงกฏระเบียบอันหยุมหยิม และการถูกตรวจระเบียบ ด้วยการถูกละเมิดสิทธิทางร่างกาย
– การปฏิวัติเครื่องแบบนักเรียน เริ่มมาจากการที่หนุ่มสาวชาวอังกฤษในทศวรรษ 1960 – 1970 พวกเขามองว่า การมีเครื่องแบบ คือ การกดขี่เสรีภาพ จึงทำให้เวลาต่อมาโรงเรียนหลายแห่งในยุโรปต่างยกเลิกระเบียบเครื่องแต่งกายลง
– วิวาทะความเห็นต่าง ที่แฝงด้วยความหวังดีจากทั้งสองฝ่าย ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกหรือสนับสนุนการมีเครื่องแบบนักเรียน เมื่อระเบียบวินัยกับเสรีภาพมีเพียงเส้นบางๆที่กั้นอยู่


ย้อนกลับไปครั้นวัยกำลังโตของเราแต่ละคน ต่างเคยผ่านช่วงแสบซนกันมาไม่มากก็น้อยต่างกัน นอกจากความสนุกภายในโรงเรียน อีกหนึ่งเรื่องที่มักถูกพูดถึงในวงสนทนาในทุกครั้งคราที่ได้เจอเพื่อนเก่า ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องวีรกรรมการแหกกฏ และการตั้งฉายาให้กับครูอาจารย์ผู้ทำโทษ เด็กนักเรียนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นหญิงตรงเพศ ชายตรงเพศ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ต่างเคยมีประสบการณ์การโดนทำโทษ อันเป็นเหตุมาจากการแต่งกายและทรงผมที่ไม่เป็นไปตามกฏระเบียบของโรงเรียน

“ห้ามใส่กระโปรงเหนือเข่านะ…ไม่เรียบร้อย”
“ทำไมไม่เอาเสื้อไว้ในกางเกง…ไม่สุภาพ”

ตัวอย่างสั้นๆของประโยคคุ้นหู ที่นักเรียนทุกยุคสมัยต้องเคยได้ยิน และหากนักเรียนคนไหนยังทำซ้ำ บ้างก็จะถูกทัณฑ์บน การเชิญผู้ปกครอง รวมไปถึงการถูกทำโทษที่ละเมิดสิทธิทางร่างกาย เช่น นักเรียนชายตรงเพศ กลับการโดนครูฝ่ายปกครองทำโทษด้วยการใช้แบตตาเลียนไถผมจนแหว่ง และนักเรียนหญิงตรงเพศ ก็มีประสบการณ์การถูกทำโทษในลักษณะเดียวกัน เช่น การถูกตัดผมสั้นเสมอติ่งหู การตรวจเสื้อซับในและเสื้อชั้นใน เป็นต้น

กฏระเบียบกับความเข้มงวดจัดๆแม้กระทั่งเรื่องหยุมหยิม

จากแฮชแท็คในทวิตเตอร์ ที่เล่าถึงข้อห้ามและกฏระเบียบต่างๆในแต่ละโรงเรียน ซึ่งบางกฏก็มีกันมานาน บางกฏก็มีขึ้นมาใหม่ตามบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น การห้ามสั่งอาหารจากแกร็บ เป็นต้น แต่เรื่องท็อปติดปากสำหรับนักเรียนทุกสถานศึกษา ที่มักจะมีการพูดถึงกันอยู่ร่ำไป ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องเครื่องแบบ

เครื่องแบบการแต่งกาย ยังเป็นประเด็นที่ชนวนให้นักเรียนที่กล้าคิด กล้าแสดงออก ได้ตั้งคำถามกันอยู่เสมอ ด้วยความต้องการเหตุผลที่มีน้ำหนักมากเพียงพอมารองรับกับกฏระเบียบข้อนี้ รวมไปถึงอีกหลายๆข้อที่มี ว่ามีขึ้นเพื่ออะไร แต่ดูเหมือนจะยังคงเป็นคำถามที่ครูอาจารย์ก็ให้ยังให้คำตอบที่แน่ชัดและสมเหตุสมผลกับเด็กนักเรียนไม่ได้

“เป็นหนึ่งคำถามที่ฉันไม่เข้าใจ (นักเรียน)..เป็นหนึ่งคำถามที่ฉันก็ตอบไม่ได้ (ครูอาจารย์)”

ถุงเท้าพื้นดำ…ขัดใจฝ่ายปกครอง

นอกจากถุงเท้าข้อสั้น ลอนเล็ก ลอนใหญ่แล้ว ถุงเท้าพื้นดำก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายวอนโดนยึด ในทุกครั้งที่มีการตรวจเครื่องแต่งกาย ซึ่งการใส่ถุงเท้าพื้นดำ ไม่ใช่แฟชั่นแต่อย่างใด เพราะมันก็มีข้อดีตรงที่ไม่ทำให้ถุงเท้าดูสกปรกง่าย

ถักผมเปีย ห้ามรวบผม และใช้ยางรวบผมสีดำเท่านั้น

นักเรียนหญิงตรงเพศ โดยเฉพาะโรงเรียนที่ถูกเรียกว่า “โรงเรียนหญิงล้วน” มักจะมีกฏระเบียบอันเคร่งขัดให้นักเรียนหญิงรัดผมเปีย และต้องเป็นเปียธรรมดาเท่านั้นนะครับ เปียตะขาบนี่ไม่ได้เลย นอกจากนี้ไม่ว่าจะเป็นยางรวบผม ที่คาดผม กิ๊ฟติดผม และโบว์ผูกผม ทุกสิ่งล้วนต้องเป็นสีดำเท่านั้น

เสื้อซับในต้องเป็นสีขาว

สีขาว‘ มักถูกใช้เป็นสีที่บ่งบอกถึงความถูกต้องตามระเบียบวินัย และทำให้ทุกๆคราที่มีการจัดแถวตรวจระเบียบภาบในโรงเรียน ความหยุมหยิมนี้ก็สร้างความงุนงงต่อเด็กไทยไม่น้อย ยิ่งไปกว่านั้นการถูกตรวจเสื้อซับในหรือชั้นใน ยังเป็นการละเมิดสิทธิทางร่ายกายโดยตรง ไม่ว่าจะถูกตรวจโดยคืออาจารย์ที่เป็นคนต่างเพศหรือเป็นเพศเดียวกันกับเด็กนักเรียนก็ตาม

ความหยุมหยิม คือ ซากความเสียหาย ที่สร้างรอยแยกระหว่างเด็กนักเรียนและครูอาจารย์

กฏระเบียบสร้างความเหลื่อมล้ำในความเป็นมนุษย์

ทุกสถานศึกษามักมีนักเรียนต้นแบบในอุดมคติ
ทั้งจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันและครูอาจารย์ การสร้างต้นแบบขึ้นมา เกิดขึ้นจากมาตราฐานตามอุดมคติของแต่ละสังคม แต่ก็สร้างดาบสองคมเช่นกัน ด้วยว่าต้นแบบนั้นๆ ไม่ใช่ตัวการันตีความดีความไม่ดีของเด็กนักเรียนเสมอไป เพราะผู้สร้าง ไม่ได้สรรสร้างมนุษย์ขึ้นมาจากการหล่อหลอมด้วยแบบแม่พิมพ์เดียวกัน ดาบสองคมเลยตกไปอยู่กับกลุ่มเด็กนักเรียนที่ไม่ได้ตรงตามมาตราฐานอุดมคติของนักเรียนต้นแบบที่สถานศึกษาเยินยอและเชิดชู ซ้ำรอยความบาดเจ็บจากการถูกเมิน และการไม่ได้รับความเอาใจใส่เมื่อเทียบกับเด็กที่ถูกเรียนว่า ‘เด็กดี

การตรวจระเบียบที่ละเมิดสิทธิทางร่างกายถือเป็นความผิดทางกฏหมาย

อ้างอิงจากเพจ กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ที่ได้โพสต์ถึงกรณีที่เด็กนักเรียนชายรายหนึ่ง ถูกฝ่ายกิจการนักเรียนกล้อนผมจนแหว่ง ซึ่งการลงโทษด้วยวิธีการไถผม กล้อนผม เกิดขึ้นและมีให้เห็นบ่อย แต่ความบ่อยนี้มันไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปกติ เพราะการลงโทษเช่นนี้ไม่มีปรากฎอยู่ในกฎกระทรวง ว่าด้วยเรื่องของวิธีการลงโทษนักเรียน จึงกลายเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎกระทรวง ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน อีกทั้งยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษย์ชน และพรากสิทธิ์อันพึงมีเหนือร่างกายไปจากผู้อื่น

“ร่างกายของฉัน ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ” การละเมิดสิทธิทางร่างกายจากการตรวจเสื้อซับใน

การคลำและตรวจระเบียบเครื่องแต่งกาย สร้างความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจแก่เด็กนักเรียน เกิดคำถามว่าเป็นการ Sexual harassment ทางอ้อมหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อผู้ตรวจเป็นครูอาจารย์ที่เป็นเพศตรงข้าม แม้เด็กนักเรียนจะแสดงความไม่พอใจต่อวิธีการตรวจเช่นนี้ แต่ด้วยอำนาจปลูกฝังที่มีมานานในการเอื้ออำนาจให้แก่ครูอาจารย์ แม้เด็กจะแสดงออกว่าไม่พอใจ แต่อำนาจในมือก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการละเมิดสิทธิ ที่อาจเกิดจากความไม่ได้คำนึงถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อนนี้

เครื่องแบบนักเรียนกับการถูกกดขี่ทางเสรีภาพ

เสรีภาพเป็นของคนทุกเพศและทุกวัย แต่มักถูกขโมยไปจากการถูกกดขี่ในเชิงอำนาจ สั่งการ และการบังคับขู่เข็ญ ความเป็นไปได้ของการทำตามๆกันไปจะเป็นผลพวงการส่งต่อวาระการกดขี่ทางสังคมหรือไม่ อันนี้เห็นทีแล้วคงจะขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน ที่ไม่สามารถชี้ขาดได้ในทันที

แม้การกดขี่ในปัจจุบันอาจมีให้เห็นน้อยลง แต่ก็ใช่ว่าจะหายไปหรืออาจกำลังถูกซุกซ่อนอยู่ และหากว่ากันในมุมของสถานศึกษา ที่ได้มีการออกกฏระเบียบที่ให้เด็กสวมใส่ชุดเหมือนกัน ก็ทำให้เด็กนักเรียนเช่นเดียวกับหนุ่มสาวชาวอังกฤษในทศวรรษ 1960 – 1970 พวกเขามองว่า การมีเครื่องแบบ คือ การกดขี่เสรีภาพ จึงทำให้เวลาต่อมาโรงเรียนหลายแห่งในยุโรปต่างยกเลิกระเบียบเครื่องแต่งกายลง

เช่นเดียวกันนั้นในไทย สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้ทำการโพสต์เรียกร้องขอให้ยกเลิกการบังคับให้นักศึกษาแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักศึกษา เป็นการจำกัดเสรีภาพในการเลือกเครื่องแต่งกายเกินควร เนื่องเห็นว่าจากการแต่งกายด้วยเครื่องแบบ ไม่เกี่ยวข้องกับการดําเนินการจัดพิธีหรือจัดสอบแต่อย่างใด (2019)

วิวาทะเรื่องกฏระเบียบและการแต่งกาย ความเห็นต่างบนความหวังดีจากทั้งสองฝ่าย

ฝ่ายสนับสนุนให้แต่งเครื่องแบบชี้ว่า กฏระเบียบสร้างผลลัพธ์ที่ดีในการที่ทำให้เด็กนักเรียนมีระเบียบวินัย และการสวมใส่ชุดนักเรียนเหมือนกันจะทำให้เด็กนักเรียนมีสมาธิอยู่กับบทเรียน อีกทั้งยังช่วยให้พื้นที่ในโรงเรียนปราศจากโอ้อ้วดเรื่องการแต่งกาย ฝ่ายสนับสนุนให้เหตุผลอีกว่า พวกเขากังวลถึงการบูลลี่และความเหลื่อมล้ำอันเนื่องมาจากการสวมใส่เสื้อผ้าของเด็กที่ครอบครัวมีฐานะร่ำรวยกับยากจน และยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ปกครอง

ขณะที่ ฝ่ายที่สนับสนุนให้ใส่ชุดไปรเวท ให้ความเห็นว่า เป็นการเพิ่มอิสระให้กับเด็กนักเรียน และเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นของบรรยากาศในห้องเรียนและโรงเรียน ที่จะเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ให้แก่เด็กๆ และประหยัดเวลาในการที่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อเตรียมเครื่องแบบ รวมถึงฝ่ายสนับสนุนชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยบูชาเครื่องแบบมากกว่าความเป็นมนุษย์

KANCHANABURI THAILAND – JULY 16 : Unidentified Good teacher give midterm exam questions to students in the classroom on July 16,2018 at Watkrangthongratburana school in Kanchanaburi, Thailand

สถานศึกษากับบทบาทในการโอบรับความหลากหลาย [1]

– กรุงเทพคริสเตียนกับโครงการชุดไปรเวท –

วันที่ 8 มกราคม 2562 นายศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริส เตียนวิทยาลัย ริเริ่มโครงการแต่งชุดไปรเวทมาเรียน โดยมีการอนุญาตใหเด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 สามารถสวมชุดไปรเวทมาเรียนได้ทุกวันอังคาร ซึ่งจะทดลองเป็นเวลา 1 เทอม โดยมีพื้นฐาน ความสุขของเด็กนักเรียน เป็นที่ตั้ง หากเทียบกันระหว่างคนที่เรียนเก่งวิชาการกับคนที่เรียนไม่เก่งสอบตก แต่พวกเขาก็สามารถมีอนาคตที่ดีได้ นั่นคือนิยามคำว่าเรียนดีในสมัยใหม่ คือ ไลฟ์สกิล ดีในทางของพวกเขาจากการรู้จักตนเอง


กฏระเบียบหรือแนวปฏิบัติตามโครงสร้างของสังคมที่แต่ละโรงเรียนสั่งสมกันมา เป็นมรดกรุ่นสู่รุ่น พร้อมกับสภาพโรงเรียนที่ไม่ต่างจากโรงงานผลิตมนุษย์นี้ เกิดเป็น “แม่พิมพ์สำเร็จรูป” ของต้นแบบนักเรียนที่ดีในอุดมคติ ที่สร้างข้อเปรียบเทียบที่ว่า  นักเรียนที่ตรงตามบล็อกแม่พิมพ์ คือ เด็กดี และมักจะได้สิทธิพิเศษภายในชั้นเรียนจากครูอาจารย์ และก็คงจะจริงว่า แม้แต่ภายในสถานศึกษาก็เกิดพลเมืองขั้นสองได้

ดาบสองคมจากอุดมคติตามกฏระเบียบ ยังซ้ำรอยบาดแผลแก่เด็กที่ไม่ได้ทำตามกฏ ที่มักเจอการถูกเลือกปฏิบัติและความไม่เป็นธรรม อีกทั้งยังถูกละเมิดสิทธิทางร่างกายและละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกครั้งคราเมื่อมีการตรวจระเบียบ รวมไปถึงกฏระเบียบอันแสนหยุมหยิมที่น่ารำคาญใจ แต่ก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็มองว่ากฏระเบียบมีข้อดี บ้างก็มองว่าไร้สาระ กฏระเบียบจึงมีความเป็นรูปธรรมในด้านที่ว่า ไม่สามารถชี้ผิดชี้ถูกได้ เพราะผิดและถูกแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ดังนั้น ความเป็นไปได้สำหรับทางออกในเรื่องดังกล่าวคงจะต้องมีความสมเหตุสมผลของกฏระเบียบ โดยคำนึงถึงความละเอียดอ่อนมากขึ้น และขณะเดียวกันคงจะเป็นเรื่องของความเหมาะสมในการใช้อำนาจการตรวจสอบอย่างไม่ละเมิดสิทธิเด็กนักเรียนของครูอาจารย์

(มีต่อตอนที่สอง)

อ้างอิง
(1) https://ngthai.com/cultures/16943/school-uniform-debate/
(2) https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_2838356

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า