fbpx

วาทกรรมทางการศึกษา ค่านิยมทางสังคม …(อาจ)ทำให้เด็กไม่รู้ตนเองว่าชอบอะไร

ครั้นจำได้ตั้งแต่วัยเด็ก ผมก็มักจะได้ยินประโยคที่ไม่ว่าจะพ่อแม่หรือครูอาจารย์ ต่างกล่อมเกลาใส่หูผม รวมไปถึงนักเรียนคนอื่นๆให้ได้ยินอยู่บ่อยครั้งว่า “ตั้งใจเรียนนะจะได้เป็นเจ้าคนนายคน โตไปจะได้ไม่ลำบาก” และอื่นๆอีกมากมายสารพัดในการพยายามที่จะกล่อมให้เด็กนั้น ตั้งใจและพากเพียรในการเรียนหนังสือ ด้วยความเป็นห่วง

เด็กน้อยในวันนั้นอย่างตัวผม ที่คงยังไม่รู้ประสามาก ว่าทำไมเราต้องเป็นเจ้าคนนายคน ทำไมเราต้องกลัวลำบาก ในเมื่อพ่อกับแม่ก็ยังดูแลอยู่ เรายังสามารถขอค่าขนมได้ เรายังสามารถลงไปชักดิ้นชักงอกับพื้นเวลาอยากได้ของเล่นและท้ายที่สุดพ่อกับแม่ก็ใจอ่อน เด็กน้อยในวันนั้นก็ยังไม่มีคำถามหรือความกังวลในอนาคตมาก อีกทั้งยังคงเล่นสนุกไปตามวัย โดยที่ยังไม่ได้สนใจหรือรู้จักการเปลี่ยนแปลงของโลกเท่าไหร่นัก

เมื่อวันเวลาผ่านไป จากประถมต้นสู่ประถมปลายและจากประถมปลายขึ้นสู่มัธยมต้น วันเวลาช่างหมุนไปเร็วมากจนตามไม่ทันแล้วพี่บัวลอย อะไรมันจะไวเช่นนี้ แต่ถึงกระนั้น เด็กมัธยมต้นคนนั้นที่เป็นตัวผมที่เติบโตขึ้นจากเด็กน้อยในอดีต แม้ผมจะขึ้นระดับชั้นมัธยมต้นแล้ว แต่วาทกรรมการกล่อมเกลาให้ตั้งใจเรียนเพื่อจะอะไร ก็ยังคงมีให้ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง

“สอนจนปากเปียกปากแฉะ..เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา”

ประโยคยอดฮิตติดดาวที่เหล่าอาจารย์ต่างมอบให้แก่เด็กซน เด็กเกเร และเด็กหลังห้อง และใช่ครับ ผมก็อดีตเด็กหลังห้องคนนึงที่เคยได้รับใบทัณฑ์บนเยอะซะยิ่งกว่าประกาศณียบัตรเด็กเรียนดีเสียอีก

“ตั้งใจเรียนนะ…โตไปจะได้เป็นเจ้าคนนายคน”
“จะเรียนสายอาชีพหรอ….เรียนสายสามัญสิ”
“เรียนวาดรูปไปทำไม….ไส้แห้ง”
หรือ อื่นๆตามที่หลายๆคนอาจเคยได้ยินมา

ผมคนนึงครับที่เกิดความค้านในใจว่า ทำไมจุดหมายปลายทางของการศึกษาถึงมีเพียงเท่านี้ ทุกคนต้องเดินไปในทางเดียวกันหมดเลยหรือ… ไม่ครับ เราทุกคนต่างมีทางของตนเอง เราต่างรู้ว่าเราทำอะไรได้ ผมเชื่ออย่างนี้นะ

เหตุแห่งการไม่รู้ตนเองของเด็ก เกิดจากอะไรกัน

จากแหล่งข่าวอ้างอิงบทความ ได้กล่าวถึงพ่อแม่ของเด็กนักเรียนหลายคนมาปรึกษาครูว่า ลูกดิฉันไม่รู้ตัวเองว่าอยากเรียนอะไร ไม่รู้ว่าโตไปอยากเป็นอะไร และส่วนมากจะเกิดขึ้นกับเด็กที่มีเกรดเฉลี่ยปลานกลางถึงน้อย โดยส่วนใหญ่เวลาพ่อแม่ถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เด็กหลายคนจะตอบเพื่อให้พ่อแม่สบายใจ เช่น อยากเป็นหมอ อยากเป็นทหาร อยากเป็นตำรวจ อยากเป็นพยาบาล แต่เมื่อพ่อแม่ได้คำตอบที่พอใจแล้ว เมื่อถามลูกอีกลูกก็จะตอบตามเดิม โดยที่คำตอบนั้น เด็กหลายคนก็ตอบไปโดยที่ไม่รู้ตนเอง

การที่เด็กไม่รู้ความต้องการของตนเอง ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการเรียนรู้ การแสดงออกในวัยเด็กที่ส่งออกมา แต่อาจถูกจำกัดการเรียนรู้และการพัฒนาต่อยอด ด้วยว่าพ่อแม่เด็กหลายคนมองว่านั่นคือพฤติกรรมการเล่นซน และอาจถูกห้ามไม่ให้กระทำซ้ำ จนเด็กขาดความมั่นใจหรืออาจมองว่าเด็กก็สนใจอะไรตามประสาเด็กแค่ชั่วคราว

ยิ่งไม่รู้ตนเอง….ยิ่งขาดแรงจูงใจ

การหมดแรงจูงใจในการเรียน เนื่องจากไม่รู้ว่าทุกวันที่เรียนอยู่ เป็นการเรียนไปวันๆหรือเรียนเพราะพ่อแม่บอกให้เรียน สุดท้ายเมื่อมีความคิดเหล่านี้ แรงจูงใจในการเรียนก็จะค่อยๆหมดไป

แต่การที่เด็ก(นักเรียน/นักศึกษา)ได้เลือกเรียนในคณะที่ตรงกับความสนใจของพวกเขา จะช่วยเพิ่มแรงกระตุ้นในการเรียน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่พวกเขารู้ว่าตนเองอยากเรียนคณะอะไร และโตไปอยากเป็นอะไร ซึ่งการรู้ตนเองและมุ่งสู่เป้าหมายที่ชัดเจน ย่อมส่งผลดีต่อชีวิตวัยทำงาน

รักวัวให้ผูก รักลูก(ไม่)ให้เปรียบเทียบ

เด็กหลายคนมักถูกเอาไปเปรียบเทียบอยู่เสมอ โดยอาจเป็นความคาดหวังของผู้ปกครองด้วยอีกนัยนึง ที่อยากให้ลูกของตนสู้กับลูกคนอื่นๆได้ และนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการแพลนชีวิตให้ลูก และอัดแน่นด้วยตารางเรียนพิเศษ อัดๆๆ เหมือนจับปลาหลายมือ เพื่อสร้างความสบายใจแก่พ่อแม่ว่า ลูกฉันก็เรียนพิเศษเยอะเหมือนกันนะ (แต่ความเป็นจริง คือ ตราบใดที่เราตัดเสื้อไซส์เดียวให้คนทั้งโลกใส่ไม่ได้ วิธีการเดียวกันก็อาจใช้กับเด็กอีกคนไม่ได้ผล) เด็กเลยไม่ได้เป็นเด็ก และมีเด็กที่ถูกตัดฝัน ด้วยพ่อแม่บางคนจำกัดฝันว่า ฝันนั้นไม่ช่วยทำให้ลูกอยู่ดีกินดีได้ หรือฝันนั้นเหมือนนำมาเทียบ อาจเป็นฝันที่ไม่เป็นที่นิยมของสังคม

ปฏิรูปการศึกษาของฟินแลนด์ ชั่วโมงเรียนน้อยลง..แต่เด็กรู้ตนเอง

ประเทศไทยและหลายๆประเทศ เด็ก(นักเรียน)ต่างถูกเคี่ยวเข็ญอย่างหนักให้เรียนเจ้าจรดเย็น โดยมีผู้ปกครองเป็นผู้จัดสรรและออกแบบเวลาเรียนให้ ขณะเดียวกันฟินแลนด์กลับทำตรงกันข้าม ด้วยการให้เด็กมีชั่วโมงเรียนที่น้อยลง

เนื่องด้วยระบบการศึกษาของฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับความสุขและสิ่งที่เด็กสนใจ โดยเน้นให้เด็กได้มีเวลาเล่นมากกว่าเรียนหนักๆเพื่อที่เด็กจะได้สามารถเรียนรู้และค้นพบตนเองว่าชอบอะไร อีกทั้งจะได้มีเวลาเพื่อศึกษาค้นคว้าในสิ่งที่พวกเขาสนใจ และมีเวลาได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น

เฉลี่ยแล้วเด็กวัยประถมในฟินแลนด์จะมีชั่วโมงไม่เกินวันละ 5 ชั่วโมง คิดเป็นปีราว 670 ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น

ระบบการศึกษาของฟินแลนด์ มอบทั้งโอกาสและรองรับความสนใจของเด็กที่หลากหลาย

จากตารางดังกล่าว ได้ระบุถึงแต่ละช่วงวัยของเด็กตั้งแต่ 0-5 ขวบ เด็กกลุ่มนี้จะอยู่ในระบบการศึกษาแบบ Day care ระบบการดูแลเด็กทั้งที่บ้านและศูนย์เลี้ยงเด็ก จนกระทั่งเด็กอายุได้ 6-7 ขวบก็จะขึ้นสู่เตรียมอนุบาล และเมื่อเด็กก้าวเข้าสู่วัย 7-16 ปี ก็จะได้เรียนในการศึกษาขั้นพื้นฐาน

เมื่อเด็กมีอายุได้ 16 ปี เด็กจะมีสิทธิ์ได้เลือกการศึกษาแบบสามแนวทาง ดังนี้ สายสามัญ สายอาชีวะ และสาม คือ ขอเรียนต่ออีกหนึ่งปี สำหรับเด็กที่ยังหาตนเองไม่ชอบว่าจะไปทางไหน ถ้าหากเด็กเรียนสายสามัญจนจบปริญญาตรีแล้วและอยากข้ามไปเรียนสายอาชีพ ก็สามารถทำได้ จึงเป็นการเรียนรู้ที่ไร้ทางตัน เป็นทั้งโอกาสที่ทำให้เด็กไม่เสียเวลา และเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด

ทำอย่างไรให้เด็กรู้ตนเอง (How to) สำหรับผู้ปกครองและครูอาจารย์

พฤติกรรมการแสดงออกของเด็กสะท้อนสิ่งที่พวกเขาทำได้และสนใจ เมื่อผู้ปกครองสังเกตุและเป็นที่ปรึกษาให้แก่พวกเขา เป็นการส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้และต่อยอดสิ่งที่พวกเขาสนใจ รวมถึงให้เด็กได้ทดลองในสิ่งที่พวกเขาชอบและไม่ชอบ เพื่อเป็นการให้เด็กได้ออกแบบชีวิตของตนเอง กล้าที่จะคิดและเลือก พร้อมทั้งฝึกรับผิดชอบต่อสิ่งพวกเขาเลือกให้ดีที่สุด เพื่อฝึกให้พวกเขาไม่ทำอะไรครึ่งๆกลางๆ

เด็กต้องได้เป็นเด็ก ความหวังดีของผู้ปกครองอาจทำให้เด็กไม่ได้เป็นเด็ก การลงทุนทางการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ดีแต่ถ้าจะให้เกิดผลดีกับเด็กมากที่สุดต้องเหมาะสม ตามความสนใจ วัย และพัฒนาการ อีกทั้งการเปรียบเทียบหรือสั่งห้าม อาจจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในตนเอง การสอนให้คิดกับการสั่งให้คิดตาม จึงมีผลกับเด็กอย่างมาก และยังมีผลต่อทักษะในการคิด วิเคราะห์ และการชั่งใจ

สุดท้ายนี้ ให้เด็กที่จะโตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ได้เดินไปตามลู่วิ่งของตนเอง ให้พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะแข่งขันกับตนเอง โดยมีผู้ปกครองและครูอาจารย์เป็นที่ปรึกษาและอำนวยการการเรียนรู้ให้แก่พวกเขา เพื่อให้เด็กรู้จักตนเองได้เร็วและมุ่งมั่นสู่เป้าหมายให้ได้มากที่สุด


อ้างอิง

(1)https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1262046
(2)https://www.tcaster.net/2019/02/how-to-แรงจูงใจในการเรียน/
(3)https://www.thairath.co.th/news/foreign/1743446
(4)https://www.longtunman.com/17666
(5)https://thematter.co/social/a-little-bit-more-about-finland-education/20261

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า