fbpx

สังคมออนไลน์ กับการพิมพ์อะไรก็ได้ แบบไม่แคร์เวิลด์

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนการผลิตผลงานโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


โลกออนไลน์เป็นพื้นที่แห่งการไร้ตัวตน เมื่อผู้ใช้สื่อออนไลน์ไม่เคยรับรู้ถึงตัวตนที่แท้จริงของอีกฝ่าย ดังนั้นสภาวะการไร้ตัวตนนี่เองที่กลายเป็นความอิสระ (ในความคิดของผู้ใช้สื่อออนไลน์) ที่จะทำอะไรก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องแคร์ความรู้สึกของอีกฝ่าย

บทความเรื่อง “Anonymity – ภาวะนิรนาม” โดย คุณรวิตา ระย้านิล  (2563) นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความหมายของคำว่า

ความนิรนาม คือ การไม่มีตัวตน การไม่สามารถระบุตัวตนได้

ความนิรนามเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้คนขาดความรู้ตนเอง ทำให้ขาดความสามารถในการคิดวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์รอบตัวอย่างมีสติ ความคิดและความสามารถในการใช้เหตุผลลดลง ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมบางอย่างซึ่งในเวลาปกติจะไม่ทำพฤติกรรมเช่นนั้น พฤติกรรมเหล่านี้ถูกแสดงออกตามสิ่งเร้าในสถานการณ์อย่างไม่มีการไตร่ตรอง ความรุนแรงของพฤติกรรมจึงมีมากกว่าปกติ

ความนิรนามเป็นองค์ประกอบสำคัญของการลดความเป็นตัวตน (deindividuation) คือการที่บุคคลอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้ความเด่นชัดของตัวบุคคลลดลง เช่น อยู่ในแสงสลัว อยู่ในฝูงชน ใส่หน้ากาก หรือใช้สีทาหน้าตา สภาพการณ์เหล่านี้มักโน้มนำบุคคลให้ทำพฤติกรรมที่ต่างออกไปจากพฤติกรรมปกติ ซึ่งจะเป็นไปในทางบวกหรือลบขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะโน้มนำไปในทางใด

ในงานวิจัยเรื่อง อิทธิพลของอารมณ์ขันทางลบ การละเลยคุณธรรม และการรับรู้ความนิรนามต่อพฤติกรรมการข่มเหง รังแกทางเฟซบุ๊ก โดย อภิญญา หิรัญญะเวช (2561) กล่าวว่า ความนิรนามบนสื่อออนไลน์ ความนิรนามมีประโยชน์ให้เรามีอิสระในการแสดงพฤติกรรม โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงกรอบของสังคม ความคาดหวัง ความเหมาะสม หรือค่านิยมของสังคมที่เป็นตัวกำหนดให้บุคคลทำพฤติกรรมต่าง ๆ ทำให้บุคคลกล้าแสดงออกอย่างเปิดเผยถึงความเป็นตัวตน และนำเสนอสิ่งที่เราคิดได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตัดสินจากผู้อื่น แต่ในทางกลับกันความนิรนามก็อาจส่งผลทางลบได้ เมื่อบุคคลมีอิสระในการแสดงพฤติกรรมโดยมีความตระหนักรู้ในตนเองลดลง อาจก่อให้เกิดผลเสียได้อย่างมากมายเช่นเดียวกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งความนิรนามที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ออนไลน์ สื่อสังคมที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลก ทำให้พื้นที่ออนไลน์กลายเป็นช่องทางในการดูถูก การข่มเหงรังแกกัน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ก้าวร้าว การโจมตีความคิดเห็นของผู้อื่น โดยใช้คำพูดที่ก้าวร้าว เพราะไม่ต้องระวังการแสดงออกพฤติกรรมเท่ากับโลกของความเป็นจริง (Berson, Berson, & Ferron, 2002)

เช่นเดียวกับงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาชุดความรู้ออนไลน์สำหรับบุคลากรด้านการศึกษา เพื่อยุติการสร้างวาทกรรมเกลียดชังในสื่อออนไลน์ที่กระทำต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ โดย สุชาดา ทวีสิทธิ์, นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และ ชิตปภพ ประเสริฐไพฑูรย์ (2562) ได้นำเสนอ ความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในสื่อสังคมออนไลน์คือ สื่อสังคมออนไลน์เป็นตัวกระตุ้นและเพิ่มความเข้มข้นและความรุนแรงของการกลั่นแกล้งให้แผ่ขยายออกไปมากกว่าเดิม เพราะสื่อสังคมออนไลน์เปิดโอกาสให้บุคคลอำพราง ปกปิดซ่อนเร้น ปิดบังตัวตน   การกลั่นแกล้งผู้อื่นจึงทำได้ง่าย รวดเร็ว ไม่ต้องเปิดเผยตัวเอง ไม่ต้องเผชิญหน้าแบบตัวต่อตัว ซึ่งเป็นสภาวะนิรนาม (Anonymity) หรือสภาวะแฝงนาม (pseudonymity) ที่ทุกคนสมมติตัวเองเป็นอะไรก็ได้ 

ในสื่อออนไลน์ มีคนที่ไม่รู้จักกันเข้าไปใช้และสร้างสิ่งต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเกิดขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัด สภาวะดังกล่าวทำให้เกิดการสื่อสารที่ขัดแย้งกันได้ง่าย  โครงสร้างของเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ในยุคดิจิทัลจึงดำรงอยู่นอกกฎกติกาและข้อบังคับ (digital unruliness) (Bertolotti & Magnani, 2013) เครือข่ายสังคมที่วางอยู่บนโครงสร้างดังกล่าวนี้จึงพร้อมจะปะทะและเผชิญหน้ากันตลอดเวลา มนุษย์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในสื่อออนไลน์จึงมีสภาพเป็น “วัตถุทางสายตา” (virtual beings) หมายถึงเรามองเห็นคนอื่นในสื่อออนไลน์ในฐานะเป็นภาพจินตนาการบางอย่างที่จับต้องไม่ได้

Tokunaga (2010) ตั้งข้อสังเกตว่าประสบการณ์ของการกลั่นแกล้งหรือถูกกลั่นแกล้งในสื่อสังคมออนไลน์ต่างไปจากประสบการณ์ในชีวิตจริง ทั้งนี้พื้นที่ไซเบอร์และดิจิทัลคือพรมแดนที่มนุษย์จะเข้าไปแสวงหาและไขว่คว้าบางอย่างเพื่อทำให้ตนเองมีจินตนาการ การใช้ชีวิตในโลกไซเบอร์จึงเปรียบเสมือนเป็นการมีช่วงเวลาพิเศษ เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้จะมีความหมายเฉพาะ ในการศึกษาของ  Law et al (2012a, 2012b) กล่าวว่าสังคมของเยาวชนที่อยู่ในโลกออนไลน์มิได้จัดจำแนกคนเป็นผู้กลั่นแกล้งหรือผู้ถูกกลั่นแกล้ง แต่ให้ความสำคัญกับเทคนิควิธีที่พวกเขาจะสร้างตัวตนในแบบที่เขาต้องการ เช่น การเขียนข้อความ ถ่ายภาพ แต่งภาพ ถ่ายวิดิโอ เป็นต้น

ความนิรนามส่งผลกระทบทางลบให้กับเหยื่อที่ถูกข่มเหงรังแกทางสื่ออออนไลน์ การถูก รังแกโดยบุคคลนิรนามนั้น สร้างผลกระทบทางลบให้กับเหยื่อมากกว่า เพราะสร้างความรู้สึกหวาดกลัวและไม่ปลอดภัยให้กับเหยื่อ (Christopher P. Barlett, 2015) ทำให้เกิดความหวั่นวิตก การรับรู้อำนาจที่ด้อยกว่า การไม่รู้ถึงวิธีการจัดการกับปัญหา (Bryce & Fraser, 2013 อ้างถึงใน อภิญญา หิรัญญะเวช, 2561)

ความนิรนามทำให้บุคคลลดความตระหนักรู้ในตน และเอื้อให้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น ยิ่งในสื่อออนไลน์ที่เป็นพื้นที่เปิดที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ การข่มเหงรังแกทางไซเบอร์ยิ่งเกิดขึ้นได้ง่าย ความนิรนามส่งผลต่อการลดความวิตกกังวลในการข่มเหงรังแกผู้อื่น เพิ่มการรับรู้อำนาจ และลดความรับผิดชอบในตนเอง เนื่องจากตนไม่ได้รับผลกระทบทางลบจากการกระทำของตนเอง บุคคลรับรู้ว่าตนสามารถทำอะไรก็ได้และไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อผลของการกระทำที่เกิดขึ้น (รวิตา ระย้านิล, 2563)

Anonymity – ภาวะนิรนามนี้ ทำให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก ต่างหลงลืมตัว จนสร้างพฤติกรรมก้าวร้าว โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงกรอบของสังคม ความคาดหวัง ความเหมาะสม หรือค่านิยมของสังคม และทำให้สังคมออนไลน์กลายเป็นพิษ ปราศจากความเห็นอกเห็นใจ และการเข้าถึงความรู้สึกของคนอื่น ๆ จนนำมาซึ่งการใช้คำพูดที่รุนแรง ไม่สนใจว่าคนอื่นจะได้รับผลกระทบจากการใช้คำเหล่านั้นอย่างไร และยัง ทั้งนี้แล้ว การเสริมสร้างความตระหนักรู้ในความรู้สึกของผู้อื่น หรือการคำนึงถึงการสร้างพื้นที่ที่เป็นมิตรต่อผู้คน และสภาวะจิตใจของผู้ถูกกระทำจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

Content Creator

Graphic Designer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า