fbpx

ย้อนเกร็ดรายการเกมโชว์ประกวดร้องเพลง จากยุคเรียลลิตี้บานเบอะ สู่สมรภูมิเกมโชว์ที่ล้นตลาด

ในวันที่โทรทัศน์ไทยเปลี่ยนผันเข้าสู่ยุคของดิจิตอล ยุคแห่งความเร็วของข้อมูล ยุคแห่งความหลากหลายของเนื้อหา ผู้บริโภคสามารถเลือกสื่อเสพได้ตามใจ และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้วงการโทรทัศน์ต้องกระตือรือร้นให้ตัวเองยังได้ความนิยมชมชอบอยู่ แล้วยิ่งพวกเขารับรู้อีกว่าเกมโชว์แนวความรู้ ให้ผู้ชมลุ้นตาม กลับกลายเป็นว่า “ไม่เวิร์ค” สำหรับพฤติกรรมคนดูแบบไทย ๆ อีกต่อไป แล้วอะไรล่ะที่จะตอบโจทย์นี้ได้?

นั่นก็คงไม่พ้น “เพลง” สิ่งที่จะทำให้มนุษย์ผ่อนคลายได้ตลอดเวลา บทความนี้เราจะพาทุกคนไปสำรวจโลกของรายการประกวดร้องเพลง รวมถึงวิจารณ์เรียลลิตี้ และเกมโชว์ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการร้องเพลงกันครับ

จุดเริ่มต้นของเรื่อง : เรียลลิตี้ประกวดร้องเพลง

อธิบายอย่างหนึ่งว่าในยุคสมัยเมื่อ 20 ปีก่อนนั้น เขายังไม่ค่อยมีใครนิยมทำรายการประกวดร้องเพลงในรูปแบบของเรียลลิตี้โชว์มากสักเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่คือถ้าไม่ประกวดตามเวทีทั่วไป ก็มักจะเข้าวงการมาผ่านการออดิชั่นของค่ายเพลงนั้น ๆ แต่อาจจะเป็นข้อยกเว้นสำหรับเวทีประกวดร้องเพลงชิงถ้วยพระราชทาน “เคพีเอ็นอวอร์ด” ซึ่งสำหรับผู้ที่ได้เข้าประกวดเวทีนี้ หากมีผลงานที่เข้าตาคนในวงการ ก็อาจจะมีสิทธิ์เข้าวงการมาได้ เพราะเวทีนี้คนที่จะขึ้นเวทีก็ต้องมั่นใจมาแล้วว่ามีพลังเสียงที่ดีในระดับหนึ่ง เพราะเป็นถึงเวทีประกวดร้องเพลงที่มีศักดิ์ศรี และคุณค่าในตัวของเขาเอง

แต่ในช่วงปี 2547 ซึ่งถือว่าเป็นช้วงเบอกบานของเรียลลิตี้โชว์ 

ผู้ชมที่ติดตั้งกล่องดาวเทียม หรือเคเบิลทีวีของยูบีซี (หรือทรูวิชั่นส์ในปัจจุบัน) ก็คงจะมีโอกาสตื่นตาตื่นใจกับการประกวด “อะคาเดมี่ แฟนเทเซีย (เอเอฟ)” เป็นครั้งแรก ด้วยรูปแบบเรียลลิตี้ 24 ชั่วโมง ที่น่าจับตา และน่าหลงใหล ทำให้ผู้ชมที่มีกำลังทรัพย์ พร้อมจะติดตามพวกเขาไปตลอด 24 ชั่วโมง โดยในซีซั่นแรกยังไม่ได้มีการออกอากาศบนฟรีทีวี ก่อนที่ในซีซั่นถัดมาจะออกอากาศคอนเสิร์ตทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี และเปลี่ยนสถานีมาเป็นสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวีในอีกซีซั่นถัดมา

สำหรับผู้เข้าแข่งขันที่ชนะการประกวด ฝั่งของเอเอฟค่อนข้างจะมีของรางวัลที่อู้ฟู่กว่า ดึงดูดใจผู้เข้าประกวด ด้วยความที่สเกลทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์นั้นก็จัดว่าไม่ใช่น้อย ๆ นะครับ บ้านเอเอฟต่างก็ปั้นศิลปินที่มีชื่อเสียงออกมามากหน้าหลายตา ซึ่งบางส่วนก็ยังคงวนเวียนอยู่ในวงการบันเทิง ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ทรูจะไม่ได้ใช้คนจากเวทีนี้บ่อย ๆ แบบเมื่อก่อนแล้วก็ตาม… ด้วยหลาย ๆ ปัจจัย

ส่วนฝั่งฟรีทีวี ในเวลาใกล้เคียงกัน ก่อนหน้านั้นไม่นานมากเท่าไหร่ ฝั่งของเอ็กแซ็กท์ก็ขอส่ง “เดอะสตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว” ลงจอช่องโมเดิร์นไนน์ทีวีในช่วงเวลาใกล้เคียงกันไม่นานนัก

เท่าที่ได้ยินมา เดอะสตาร์ในซีซั่นแรกๆ ยังไม่ได้มีการให้ผู้เข้าแข่งขันเข้ามาอยู่ในบ้านเดียวกัน และไม่มีเพลงธีมประจำเวที แต่ในซีซั่นถัดมา ก็มีการปรับให้ผู้เข้าแข่งขันเข้ามาอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน และมีเพลงธีมประจำเวทีอย่าง “เพื่อดาวดวงนั้น” เป็นเพลงหลัก

เดอะสตาร์ไม่ได้มีของรางวัลอู้ฟู่หรูหราให้กับผู้เข้าแข่งขันมาก เมื่อเทียบเท่ากับฝั่งของเอเอฟ แต่เดอะสตาร์ก็มีโอกาสสำคัญมอบให้ คือการได้เป็นศิลปินในสังกัดจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ค่ายเพลงอันดับต้นๆ ของไทย (ที่ฟาดฟันกับอาร์เอสเป็นประจำ) ซึ่งก็มีหลายคนที่มีโอกาสดี ๆ มีชื่อเสียงในวงการ และมีหลายคนที่ผู้อ่านบางท่านอาจจะลืมเลือนหน้าไปแล้วส่วนหนึ่ง บางท่านก็ผันตัวไปเป็นหมอ, พนักงาน มุ่งสู่ถนนการเมือง หรือเป็นผู้ประกาศข่าว

“ประกวดร้องเพลง” ที่เข็นใหม่ – ปรับใหญ่

ส่วนอาร์เอส ก็ไม่รู้ว่าทางนั้นเขายึดติดกับเวที “พานาโซนิค สตาร์ ทาเลนต์” เกินไปหรือเปล่า หรือรู้สึกว่ายังไม่เก๋าเกมในด้านการผลิตรายการทีวี จึงดูเหมือนจะไม่ตามเทรนด์เรียลลิตี้โชว์ไปกับอีกค่าย แต่เขาก็ขอส่งรายการประกวดร้องเพลงสำหรับเด็กอย่างรายการ “เพชร” ซึ่งมีพิธีกรชื่อดังอย่าง “จ๋า – ณัฐฐาวีรนุช ทองมี” ควบคู่กับพิธีกรหน้าใหม่ในตอนนั้นอย่าง “มั้งค์ – ชัยลดล โชควัฒนา”

ในปี 2554 ก็ไม่รู้ว่าฝั่งเจเอสแอล โกลบอล มีเดีย ติดใจอะไรกับเวทีประกวดร้องเพลงหรือเปล่า แต่ก็ขอจับ 2 รายการบนจอช่อง 7 อย่าง “กิ๊กดู๋” และ “จันทร์พันดาว” มาแต่งหน้า แต่งตัว เติมชื่อห้อยท้าย ปรับรูปแบบมาเป็นรายการประกวดร้องเพลงอย่างเต็มตัว ในนาม “กิ๊กดู๋สงครามเพลง” และ “จันทร์พันดาว โจ๊ะ พรึม พรึม”

จันทร์พันดาว โจ๊ะ พรึม พรึม: JSL Global Media (2553)
กิ๊กดู๋สงครามเพลงเงินล้าน: JSL Global Media (2564)

หรือแม้แต่กระทั่ง “ทีวีธันเดอร์” ก็ขอหยิบ “มาสเตอร์คีย์” มาปัดฝุ่นใหม่กลายเป็นรายการประกวดร้องเพลง “มาสเตอร์คีย์ เวทีแจ้งเกิด” ต่ออายุ และลมหายใจให้ชื่อรายการ

ก่อนที่ในช่วงปลายปี รายการประกวดร้องเพลงจะกลับมาบูมจัดๆ หลังจากการมาของรายการ “เดอะวอยซ์ เสียงจริง ตัวจริง” รายการประกวดร้องเพลงฟอร์แมตระดับโลกที่กลุ่มทรูขอซื้อสูตรสำเร็จจาก Talpa มาทำเป็นเวอร์ชั่นไทย (ปัจจุบันลิขสิทธิ์อยู่ในมือ ITV Studios แล้ว-บรรณาธิการ)

เดอะวอยซ์แจ้งเกิดศิลปินที่มีพลังเสียงที่ดีอยู่หลายคน หนึ่งในนั้นคือหนุ่มเสียงทรงเสน่ห์อย่าง “นนท์ – ธนนท์ จำเริญ”, หรือหากไม่ใช่หน้าใหม่ เวทีนี้ก็กลับมาชุบชีวิตศิลปินที่เคยมีผลงานมาก่อนอย่าง “ฟิล์ม – บงกช เจริญธรรม” หรือ “ไก่ – อัญชุลีอร บัวแก้ว” ให้กลับมาเป็นที่รู้จักของคนไทยอีกครั้ง

หลังจากนั้นมาเลยไม่ค่อยแปลกใจ ถ้าจะเป็นยุคของ “สงครามเกมโชว์ประกวดร้องเพลง”

เวทีศักดิ์สิทธิ์…ที่ต้องขอเบรคเพราะล้นตลาด

หลาย ๆ ท่านที่มีอายุประมาณหนึ่ง อาจจะจำเวทีประกวดร้องเพลงชิงถ้วยพระราชทานซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์และมีมนต์ขลังอย่าง “เคพีเอ็นอวอร์ด (หรือในชื่ออื่นๆ ก่อนหน้านี้ เช่นนิสสันอวอร์ด / ซูบารุอวอร์ด)” ของกลุ่มเคพีเอ็นได้

ในช่วงแรก ๆ การประกวดมักจะเป็นการประกวดแบบรายปีต่อปี ไม่ได้ออกมาในลักษณะเรียลลิตี้เท่าไหร่นัก 

แต่ในช่วงประมาณปี 2549 ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงเฟื่องฟูของรายการเรียลลิตี้ประกวดร้องเพลง เพราะทรูก็มี AF ส่วนเอ็กแซ็กท์ก็มี The Star “คุณดาว – พอฤทัย ณรงค์เดช” หลังจากที่แต่งงานกับคุณณพ ณรงค์เดช ผู้เป็นสามี ทางคุณดาวก็นำรูปแบบใหม่ของเวทีนี้ในแบบฉบับเรียลลิตี้โชว์ไปเสนอผู้ใหญ่อยู่หลายช่อง จนในที่สุด ในอีก 3 ปีถัดมา ก็ตัดสินใจเข็นเวทีประกวดร้องเพลงอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้มาลงจอที่ช่องโมเดิร์นไนน์ทีวี ช่องที่จัดได้ว่าเป็น “House Of Singing Reality Show” ของเมืองไทยในขณะนั้นเลยก็ว่าได้ [1]

ก่อนที่ในช่วงปี 2553 เวทีนี้จะมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งคือมีการปรับรูปแบบมาเป็นเรียลลิตี้ประกวดร้องเพลงแบบรายฤดูกาลเต็มรูปแบบ โดยเริ่มจากปี 2553 ที่ได้ “เจเอสแอล โกลบอล มีเดีย” มาจัดการด้านงานโปรดักชั่น

ก่อนที่ในอีกไม่นานนัก ในปีเดียวกัน จะมีการปรับรูปแบบขนานใหญ่ โดยเปลี่ยนชื่อต่อท้าย จากเลขปี เป็นเลขครั้งที่จัดประกวด (ทำให้ในปี 2553 มีการจัดประกวดถึง 2 ครั้ง) และได้ทีมโปรดักชั่นคอนเสิร์ตสุดอลังการอย่าง “โฟร์โนล็อก” เข้ามาดูแลให้จนถึงครั้งล่าสุด(ครั้งที่ 25) และมีจุดเปลี่ยนสุด ๆ ในครั้งที่ 22, ครั้งที่ 23 และครั้งที่ 24 ที่มีการปรับรูปแบบโดยแบ่งผู้เข้าแข่งขันเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งที่ถูกเลือกมาจาก “เสียงร้อง” และฝั่งที่ถูกเลือกมาจาก “หน้าตา” ซึ่งทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก แรงจนถึงขั้นที่ว่าเนื้อหารายการในซีซั่นที่ 23 ได้ถูกจัดเรตไว้ที่ “น.13+” ซึ่งไม่ค่อยมีรายการประกวดร้องเพลงเวทีไหนได้รับการจัดอยู่ในเรตนี้

เวทีนี้ปั้นศิลปินที่มีชื่อเสียงออกมาหลายสิบคน รวมถึง “เพิท – พงษ์ปิติ ผาสุขยืด” ผู้ก่อตั้ง Ad Addict ที่ก่อนจะผันตัวมาทางด้านนี้ เขาก็ผ่านการประกวดเวทีนี้มาเช่นกัน

แต่ด้วยจำนวนเวทีที่มันเยอะ ล้นตลาดขนาดนี้ ทำให้เวทีแห่งนี้ต้องตัดสินใจเบรคตัวเองไว้ที่การแข่งขันครั้งที่ 25 ซึ่งเป็นซีซั่นที่มีผู้เข้าแข่งขันเก่า ๆ จากซีซั่นก่อน ๆ กลับมาร่วมประกวด

“เกมโชว์เพลง” ที่ไม่ใช่ “เกมโชว์ประกวดร้องเพลง”

ถ้าให้ย้อนกลับไปเนี่ย รายการเกมโชว์เพลงก็มีหลายยุค หลายรูปแบบ แต่เราจะพูดถึง 3 รายการที่สำคัญ ๆ อย่าง “จู๊คบอกซ์เกม” “คอซองเกม” และ “คาราโอเกม” ครับ

“จู๊คบอกซ์เกม” หนึ่งในรายการของ “บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอทด์” ที่สร้างภาพจำความเป็นเกมโชว์เพลงได้อย่างดี และมีพิธีกรเป็น 2 คู่หูสุดกวน “ไก่ – สมพล ปิยะพงศ์สิริ” และ “ตุ๊ก – ญาณี จงวิสุทธิ์” ว่ากันว่าเกมโชว์รายการนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่โปรโมทเพลง ที่ค่ายต่าง ๆ ก็พากันแย่งชิงเลยล่ะ โดยพัฒนามาจากรูปแบบของรายการในค่ายเดียวกันอย่าง “เพลงต่อเพลง”

“คอซองเกม” รายการของ “แกรมมี่ เทเลวิชั่น” ที่อยู่ในผังช่อง 3 หลัง “บอร์นฯ” ตัดสินใจย้ายรายการไปพร้อมกับการปรับผังใหม่ของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี สร้างความงุนงงให้กับผู้ชม เพราะผู้ชมก็งงว่าทำไมรายการเปลี่ยนไป ทั้งชื่อ ทั้งการที่ใช้เพลงค่ายแกรมมี่มากขึ้น (แน่นอนว่าไม่มีเพลงค่ายอาร์เอส) แถมพิธีกรดันมีอาไก่ สมพล จากรายการเมื่อตะกี๊อีก (โดยทำทั้ง 2 รายการ คือรายการเมื่อกี้ และรายการนี้)แต่แค่เปลี่ยนพิธีกรคู่มาเป็นคู่หูอีกคนนึงอย่าง “ตุ๊ยตุ่ย – พุทธชาด พงศ์สุชาติ” และดีเจผู้ล่วงลับอย่าง “ดีเจโจ้ – อัครพล ธนะวิทวิลาศ”

และ “คาราโอเกม” เกมโชว์ที่เกิดขึ้นในช่วงโมเดิร์นไนน์ทีวีกำลังปรับไปเรื่อย ๆ และเรื่อย ๆ เริ่มต้นด้วยพิธีกร 2 คนอย่าง “ฟลุ๊ค – เกริกพล มัสยวาณิช” และ “ธงธง มกจ๊ก” ก่อนที่จะหลีกทางให้กับเรียลลิตี้ร่วมค่ายอย่าง “เดอะสตาร์” ไปพักหนึ่ง และกลับมาอีกครั้งด้วยพิธีกรเซ็ตใหม่อย่าง “ชาคริต แย้มนาม” และ “แฟรงค์ – ภคชนก์ โวอ่อนศรี”

แฟรงค์ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการ “คุยแซ่บโชว์” เมื่อไม่นานมานี้ว่าเขามีส่วนร่วมในการคิดเกมนี้อีกด้วย และในการเป็นพิธีกรครั้งนั้น ก็เกิดจากการที่บอสใหญ่อย่างคุณบอย – ถกลเกียรติ วีรวรรณ ต้องการพิธีกรที่เข้าใจเกมนี้เป็นอย่างดี[2]

ก่อนจะหายไปอีกสักพักใหญ่ และกลับมาด้วยพิธีกรคู่ใหม่ (อีกแล้ว) อย่าง “หยวน – กวินรัฏฐ์ ยศอมรสุนทร” และ “ตุ๊ยตุ่ย – พุทธชาด พงศ์สุชาติ” และหายไปยาว ๆ

หลังจากนั้น ก็น้อยครั้งนะครับที่เราจะได้เห็นรายการเกมโชว์เพลงจากบนหน้าจอทีวี จนมาถึงยุคของประกวดร้องเพลงที่ผสมเกมโชว์…

ตีโจทย์แนวคิด “ประกวดร้องเพลง” ทำไมถึงได้นิยมมากนัก

เอาจริง ๆ ต้องยอมรับว่าการทำรายการประกวดร้องเพลงนั้น สิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นมาได้ บางอย่างก็คือ “การพัฒนารูปแบบ” แต่บางอย่างก็คือ “การทำตามกระแส” อย่างเช่นช่วงที่รายการ “เกมเศรษฐี” ดังใหม่ ๆ หลาย ๆ ช่องก็แห่กันทำควิซโชว์เต็มไปหมด(และเจ๊งเต็มไปหมด!) 

ช่วงที่รายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” โด่งดัง หลายช่องก็อยากกลับมาปั้นเวลาข่าวเช้าให้เด่น และเจิดจ้า

หรือช่วงที่รายการเรียลลิตี้โชว์ดังระเบิดระเบ้อ ก็ทำให้บางช่องก็อยากจะตามเสียเหลือเกิน

Trendsetter ที่เห็นได้ชัดเลยในสังเวียนนี้คือรายการ “ศึกวันดวลเพลง” ของช่องวัน 31, รายการ “ไมค์หมดหนี้” ของช่องเวิร์คพอยท์, รายการผู้มาก่อนที่โลกลืม ตั้งแต่ยุคดาวเทียมเริงร่าอย่างรายการตระกูล “เสียงสวรรค์” ของช่อง 8 ซึ่งมีหลายยุคเสียเหลือเกิน หรือรายการ “ร้องได้ให้ล้าน” ที่เพิ่งหลุดจากผังช่องไทยรัฐทีวีได้ไม่นาน

ซึ่ง 4 รายการนี้ เป็นรายการที่พัฒนารูปแบบเวทีประกวดร้องเพลง จากรูปแบบเวทีทั่วไป และเรียลลิตี้ ให้เป็นลูกผสมระหว่างรายการประกวดร้องเพลง และเกมโชว์ จากที่เคยเห็นมา หลาย ๆ รายการต่างก็มีรูปแบบที่เป็นลูกผสมระหว่างประกวดร้องเพลง และเกมโชว์ แถมหลายเวทีได้ผู้ชนะแล้วใช่ว่าจะได้เลย ต้องผ่านการรักษาแชมป์ติดต่อกันหลาย ๆ สมัย เพื่อเพิ่มพูนเงินรางวัล และบางรายการอาจมี Spin Off ซึ่งถ้าไม่ให้ผู้เข้าแข่งขันหน้าเดิม ๆ กลับมาแข่งกันอีกครั้งเพื่อหาสุดยอดผู้เข้าแข่งขัน (เช่น “ศึกวันดวลเพลง เสาร์๕”) ก็เป็นรูปแบบใหม่ไปเลย (เช่น “ไมค์หมดหนี้ ตั้งตัว”)

สงครามนี้ในช่วงแรกก็ยังไม่ค่อยชัดเจนนัก เพราะในช่วงแรก ผู้มาก่อนอย่าง “ศึกวันดวลเพลง” ออกอากาศในช่วง 1 ทุ่ม และผู้มาทีหลังอย่าง “ไมค์หมดหนี้” ก็ออกอากาศในช่วง 6 โมง 20 แต่เมื่อศึกวันดวลเพลงขยับเวลามาชนกัน การแข่งขันจึงเริ่มต้นขึ้น 

ถึงแม้ว่าช่องวันจะเคยนำรายการ “บันไดเศรษฐี” ซึ่งเป็นรายการควิซโชว์มาแทนรายการศึกวันดวลเพลงก็จริง แต่สุดท้ายช่องวันก็ต้องทำใจ ก้มหน้ายอมรับความจริง ว่าเรตติ้งรายการควิซโชว์ในปัจจุบันมันไม่ได้ดีแบบเมื่อก่อน! ก็เลยต้องนำรายการ “ดวลเพลงชิงทุน” ที่ทางช่องเป็นผู้ผลิตเองมาลงผังรายการแทน

และล่าสุดช่อง 7 ก็เอาบ้าง ส่งรายการ “ร้องต้องรอด” มาท้าชนกับสงครามรายการประกวดร้องเพลงที่เร่าร้อน แทนรายการ “เกมแจกเงิน The Money Drop Thailand” จากผู้ผลิตเดียวกันอย่าง “เซ้นส์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์” ที่สร้างบาดแผลให้กับเรตติ้งช่วงเย็นของสถานี

ร้องต้องรอด: Zense Entertainment (2564)

หลายช่อง หลายแห่ง ต่างก็สนใจรายการประกวดร้องเพลง เพราะทำยังไงก็มีคนดู และอย่างน้อย ๆ ถ้ามีผู้ชนะและค่ายเพลงเตรียมพร้อมละก็ เท่ากับว่าอาจจะได้ศิลปินมาประดับวงการด้วย แถมเวลามาก็ชอบมาแบบติดกันถี่ ๆ ยุคนี้รายการเกมโชว์ประกวดร้องเพลงน่าจะมีเยอะกว่ารายการเพลงจริง ๆ ด้วยซ้ำ

(ไม่ต่างกับเมื่อก่อนที่ทุกค่ายต้องมีรายการเพลง ไว้โปรโมตเพลงค่ายตัวเอง แต่วันนี้มันไม่ใช่แล้วน่ะสิ…)

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า