fbpx

รวม 9 โมเมนต์สำคัญชวนอมยิ้ม ประทับใจ และชวนช็อคที่น่าจดจำบนเวทีออสการ์

งานประกาศผลรางวัลออสการ์ นับเป็นงานประกาศรางวัลประจำปีที่มีผู้ชมติดตามมากที่สุด นับเป็นหนึ่งงานในวงการที่ทุกสายตาจะจับจ้องมาที่งานนี้ แน่นอนว่าตั้งแต่อดีต งานออสการ์เป็นที่รวบรวมช่วงเวลาที่น่าจดจำทั้งสุนทรพจน์จากปากของนักแสดงหรือทีมงานที่ขึ้นมารับรางวัล บรรยากาศการร่วมยินดีจากผู้คนในโรงละคร หรือการจิกกัดหยอกล้อขำ ๆ ระหว่างพิธีกรและนักแสดง รวมถึงช่วงเวลาป่วน ๆ ที่ไม่มีใครคาดคิดด้วยเช่นกัน 

เราจะพาไปย้อนดูช่วงเวลาที่น่าจดจำบนเวทีออสการ์ ทั้งเหตุการณ์ชวนอมยิ้ม ประทับใจ รวมถึงบางเหตุการณ์ที่ทำเอางงเป็นไก่ตาแตกไปทั้งงาน 

รูปเซลฟี่ในตำนาน 

น่าจะเป็นหนึ่งในรูปเซลฟี่ที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก เพราะบุคคลในภาพประกอบนักแสดงเบอร์ใหญ่ของฮอลลีวูดด้วยอารมณ์ที่แสนชื่นมื่น โดยจุดเริ่มต้นของรูปเซลฟี่ในตำนานนี้เกิดขึ้นในงานประกาศผลออสการ์ครั้งที่ 86 ที่จัดขึ้นในปี 2014 

ในปีนั้นพิธีกรคือ เอลเลน ดีเจนเนอเรส พิธีกรหญิงมากฝีมือขวัญใจคนทั่วอเมริกา โดยในช่วงหนึ่งของงานในขณะที่กำลังดำเนินรายการ เธอเดินลงมาจากเวทีไปเดินตรงบริเวณที่บรรดานักแสดงนั่งอยู่ด้านล่าง และไล่ถ่ายรูปเซลฟี่กับผู้คนไปพร้อมกับพูดขำขัน จนเธอเดินไปถึงจุดที่ เมอริล สตรีพ นั่งอยู่ และได้ขอเมอริลเซลฟี่ ขณะที่บริเวณที่นั่งแถวนั้นมีนักแสดงชื่อดังทั้ง จูเลีย โรเบิร์ต, แชนนิ่ง เททั่ม, เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์, แบรดลีย์ คูเปอร์ เอลเลนเห็นดังนั้นจึงเรียกทุกคนเข้าเฟรมถ่ายรูปพร้อมกันไปเลย พร้อมกับเรียก แบรด พิทท์, แองเจเลน่า โจลี  ลูพิต้า ยองโก และ ปีเตอร์ ยองโก ที่นั่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเข้ามาร่วมเฟรมด้วย นอกจากนั้นยังมี เควิน สเปซี และ จาเรด เลโต้ เข้ามาขอร่วมเฟรมแจมด้วยอีกคน 

ซึ่งทันทีที่รูปถูกอัพลง Twitter ก็ปรากฏการรีทวีตรูปเซลฟี่นั้นถึง 2 ล้านครั้ง กลายเป็นรูปไวรัลที่โด่งดังไปทั่วโลกในช่วงเวลาอันรวดเร็ว กลายเป็นรูปเซลฟี่ในตำนานจนถึงปัจจุบัน ที่โมเมนต์นั้นกลายเป็นโมเมนต์ชวนอมยิ้มที่น่าจดจำของเวทีออสการ์ไปโดยปริยาย 

พากลุ่มทัวร์นักท่องเที่ยวเข้ามาเซอร์ไพรส์ในงานออสการ์

ช่วงเวลาน่าจดจำคราวนี้เกิดขึ้นในงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 89 ที่จัดขึ้นในปี 2017 ที่มี จิมมี่ คิมเมล รับหน้าที่พิธีกร โดยในช่วงหนึ่งขณะที่คิมเมลกำลังดำเนินรายการ เขาได้พูดถึงทัวร์ฮอลลีวูดที่ผู้คนมักจะซื้อทัวร์เพื่อขึ้นรถบัสสองชั้นไปดูบ้านคนดังหรือจุดท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮอลลีวูด และทันใดนั้น ภาพในงานก็ตัดมาที่ภาพรถทัวร์สองชั้นกำลังจอดอยู่ด้านหน้า ดอลบี้ เธียเตอร์ อันเป็นสถานที่จัดงาน คิมเมลก็กล่าวต่อว่าวันนี้เราจะให้พวกเขาเข้ามาในนี้ โดยหลอกว่าจะให้เข้ามาดูงานแสดงชุดเครื่องแต่งกายในงานออสการ์ โดยที่พวกนักท่องเที่ยวไม่รู้เลยว่าจะได้เข้ามาเจอกับบรรดานักแสดงเบอร์ใหญ่และบุคลากรภาพยนตร์ชั้นนำที่มารวมตัวกันในงานประกาศรางวัลออสการ์ในเวลานี้ 

ทันทีที่ประตูเปิดให้บรรดานักท่องเที่ยวเข้ามาในฮอลล์ที่ดำเนินรายการอยู่ ก็เกิดโมเมนต์น่ารัก ๆ ที่บรรดานักแสดงต่างให้การต้อนรับเป็นอย่างดีทั้ง นิโคล คิดแมน ไรอัน กอสลิ่ง และ เจนนิเฟอร์ อนิสตัน ท่ามกลางสายตาที่เซอร์ไพรส์สุด ๆ ของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ไม่คาดคิดว่าเจออะไรเหตุการณ์เซอร์ไพรส์แบบนี้ 

โดยมีจังหวะน่ารัก ๆ ที่คู่รักนักท่องเที่ยวคู่หนึ่งที่ชื่อว่า แกรี่ และ วิกกี้ กำลังจะเข้าพิธีวิวาห์กันในเดือนต่อมา คิมเมลจึงถามวิกกี้ถึงนักแสดงคนโปรด และวิกกี้ชี้นิ้วไปที่ เดนเซล วอชิงตัน คิมเมลจึงเสนอให้วอชิงตันรับหน้าที่เป็นบาทหลวงในพิธีแต่งงานในงานออสการ์ซะเลย ซึ่งวอชิงตันก็ลุกขึ้นทำหน้าที่นั้นอย่างเต็มใจจนเรียกเสียงปรบมือไปทั้งงาน 

เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ สะดุดล้มตอนเดินขึ้นเวทีรับรางวัล 

เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ นับเป็นนักแสดงหญิงอนาคตไกล ที่ทำได้ดีทั้งในงานสายรางวัลและหนังตลาด เธอมีชื่อเข้าชิงออสการ์ครั้งแรกจากหนังดราม่าเรื่อง The Winter’s Bone (2010) ในขณะที่เธออายุเพียง 21 ปีเท่านั้น และใช้เวลานับจากเข้าชิงครั้งแรกเพียง 2 ปี เธอก็คว้าออสการ์มาครองได้แล้วจากการแสดงในหนังเรื่อง Silver Linings Playbook ในงานประกาศผลรางวัลครั้งที่ 85 ในปี 2013

ในวันนั้นเธอดูสวยสง่าด้วยชุดเดรสสีขาวที่มีชายกระโปรงใหญ่ลากยาวถึงพื้น หลังจากที่เธอได้ยินชื่อของเธอเป็นผู้ชนะสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ไม่รู้ว่าเพราะความตื่นเต้นหรือประหม่าหรือเพราะชุดเดรสเจ้ากรรมที่ยาวเกินไป แต่จังหวะที่เธอกำลังก้าวขึ้นบันไดเพื่อไปรับรางวัลบนเวที เธอดันสะดุดล้ม โชคดีที่ไม่ได้รับบาดเจ็บอะไร และจังหวะนั้น ฌอง ดูจาร์แดง นักแสดงชาวฝรั่งเศสที่รับหน้าที่เป็นผู้ประกาศรายชื่อผู้ชนะ ก็รีบเดินเข้ามาช่วยยื่นมือมาให้เธอจับเดินขึ้นเวทีไป ซึ่งเธอก็กล่าวแบบเขิน ๆ ว่าจังหวะที่สะดุดล้มนั้นน่าอายมาก ๆ แต่ก็แก้เขินด้วยการกล่าวขอบคุณทีมงาน 

กลายเป็นจังหวะหกล้มในตำนานที่แม้จะน่าอายอยู่บ้าง แต่ในความน่าอายนั้นมันก็เป็นโมเมนต์น่ารัก ๆ ของเธอ ที่เกิดขึ้นในงานออสการ์ที่น่าจดจำอยู่เหมือนกัน

จูบในตำนานของ เอเดรียน โบรดี้ และอาถรรพ์ออสการ์ของเขา 

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2003 ชื่อของนักแสดงอย่าง เอเดรียน โบรดี้ เป็นชื่อโด่งดังระดับที่เคยเป็น Talk of the Town ในช่วงหนึ่งของฮอลลีวูด เพราะนักแสดงที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักคนนี้ กลายเป็นดาวเด่นทันทีกับผลงานการแสดงในหนังอย่าง The Pianist (2002) หนังดราม่าที่เขาต้องรับบทเป็นนักเปียโนชาวยิวที่ต้องหนีการตามล่าจากทหารนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง 

การแสดงของเขานั้นโดดเด่นและมีกระแสมากขึ้นเรื่อย ๆ จนท้ายสุดเขาก็สามารถคว้ารางวัลสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จ ชนะคู่แข่งเบอร์ใหญ่ในปีนั้นทั้ง แจ็ค นิโคลสัน, แดเนียล เดย์-ลูอิส, ไมเคิล เคน และ นิโคลาส เคจ ซึ่งกลายเป็นสถิติใหม่ทันที เพราะเขากลายเป็นนักแสดงที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายในขณะที่อายุเพียง 29 ปี 

ภาพของโบรดี้ที่ดีใจและตื่นเต้นสุดขีดขณะที่เสียงปรบมือกึกก้องไปทั่ว ขณะที่เขาเดินขึ้นเวทีก็เก็บความดีใจไม่ไหวอีกต่อไป โบรดี้รีบเดินเข้าไปหา ฮัลลี่ เบอร์รี่ นักแสดงหญิงที่เป็นผู้ประกาศรางวัลของเขา และคว้าตัวเธอมาจูบอย่างดูดดื่มต่อหน้าคนทั้งงาน กลายเป็นภาพในตำนานของออสการ์ที่แสดงถึงความดีใจอย่างที่สุดของผู้ที่ได้รับรางวัล

แต่น่าเสียดายที่ช่วงเวลานาทีทองของเขากลับอยู่ได้ไม่นานนัก เพราะหลังจากนั้นเป็นต้นมา ตัวเขาเองก็ค่อยเงียบหาย ๆ ไปเรื่อย ๆ จากหนังเรื่องต่อมาของเขาที่ไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีเหมือนก่อน จะหันไปเล่นหนังตลาดก็มักจะเจอแต่หนังที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จไปเสียอย่างนั้น โบรดี้จึงกลายเป็นนักแสดงที่ถูกผู้คนเรียกว่าเจออาถรรพ์ออสการ์เข้าอย่างจัง เพราะจากที่เคยดังมาก ๆ ในอาชีพ เป็นนักแสดงที่มีฝืมือจนได้ออสการ์ตั้งแต่อายุยังน้อย จนถึงตอนนี้เขาเป็นเพียงนักแสดงธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครจำได้แล้วด้วยซ้ำไป

I’m the king of the world

ต้องบันทึกเป็นสถิติไว้เลยว่า ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 70 ในปี 1998 เป็นงานประกาศรางวัลออสการ์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดจนถึงปัจจุบัน จากตัวเลขเรตติ้งที่ออกมาปรากฏจำนวนผู้ชมถึง 52 ล้านคนที่รับชมรายการถ่ายทอดสดงานออสการ์ปีนั้นอยู่หน้าจอโทรทัศน์ 

โดยสาเหตุก็เพราะในรายชื่อภาพยนตร์ที่เข้าชิงนั้นมีรายชื่อหนังอย่าง Titanic ของ เจมส์ คาเมรอน ที่เข้าชิงถึง 14 สาขา รวมรางวัลใหญ่อย่างผู้กำกับยอดเยี่ยมและภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย 

กระแสไททานิคฟีเวอร์ เป็นกระแสฟีเวอร์ไปทั่วโลกของหนังที่เคยเกิดขึ้นและเป็นปรากฏการณ์อย่างที่ปฏิเสธไม่ได้ จากเดิมที่มันถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นหนัง’ยักษ์ล้ม’ตัวใหญ่อีกหนึ่งเรื่องที่เต็มไปด้วยปัญหาในตอนถ่ายทำมากมายจนต้องเลื่อนฉายจากช่วงกลางปีมาเป็นช่วงปลายปี นอกจากนั้นด้วยตัวเลขทุนสร้างถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ซึ่งถือเป็นสถิติหนังที่ใช้ทุนสร้างสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ณ เวลานั้น) ทำให้บรรดานักข่าวและนักวิจารณ์ต่างคาดการณ์ว่ายังไงก็เจ๊งแน่นอน แต่พอหนังเข้าฉาย ตัวหนังนั้นโด่งดังและเดินหน้าทำเงินอย่างต่อเนื่องชนิดที่หักปากกันเซียนกันเป็นแถว มันเดินหน้าเข้าสู่หลักพันล้านอย่างที่ไม่มีใครคาดฝัน กลายเป็นหนังเรื่องแรกที่ทำรายได้ถึงหลักพันล้านได้สำเร็จ และปิดรายได้ที่ราว ๆ 1800 ล้านเหรียญ กลายเป็นหนังที่ทำเงินสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ แน่นอนว่าเมื่อคุณภาพดีพอและกระแสมาแบบนี้ ออสการ์จึงไม่รอช้าและตามกระแสนั้นไป 

ผลลัพธ์คือ Titanic คว้าออสการ์มาได้ถึง 11 สาขา  ซึ่งถือเป็นสถิติภาพยนตร์ที่ชนะรางวัลมากที่สุดของออสการ์ โดยครองสถิตินี้ร่วมกับภาพยนตร์เรื่อง Ben-Hur และ The Lord of the Rings: The Return of the King ที่ชนะไป 11 สาขาเช่นเดียวกัน 

คืนนั้นกลายเป็นคืนของ Titanic และแน่นอนว่าพระเอกของงานหนีไม่พ้นเจมส์ คาเมรอน ในฐานะผู้กำกับของหนัง ซึ่งจังหวะที่เขากล่าวสุนทรพจน์ขณะที่รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม ก็กลายเป็นอีกโมเมนต์ที่ทำให้ผู้คนแอบหมั่นไส้อยู่ไม่น้อย เพราะหลังจากที่กล่าวขอบคุณแล้ว คาเมรอนก็เอ่ยประโยคปิดท้ายว่า ‘I’m the king of the world … oooooh’ 

ประโยคสุดท้ายจากปากคาเมรอนตีความได้สองแบบ แบบแรกคือเขาอาจจะแค่อยากพูดเลียนแบบประโยคที่ตัวละคร แจ็ค ดอว์สัน ของเขาพูดในหนัง ซึ่งมันคือประโยคเด็ดของหนังที่คนจดจำได้เท่านั้นเอง แต่ตีความอีกแบบ มันก็เหมือนกับคาเมรอนนั้นต้องการประกาศก้องถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของตัวเองในคืนนั้นแบบสุด ๆ จนทำเอาคนแอบหมั่นไส้อยู่เหมือนกัน 

แต่หลังจาก Titanic เขาก็หายหน้าไปร่วม 10 ปี และกลับมาพร้อมกับหนังเปลี่ยนโลกอย่าง Avatar (2009) ซึ่งมันกลายเป็นหนังที่ล้มสถิติเดิมตัวเอง และสร้างสถิติใหม่ด้วยรายได้ที่สูงถึง 2700 ล้านเหรียญสหรัฐ กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุด ที่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีเรื่องไหนที่ล้มได้เลย 

จะว่าน่าหมั่นไส้ก็ว่าไปเถอะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ดูเหมือนว่าสิ่งที่คาเมรอนพูดไว้อย่างอหังการในตอนนั้นก็ไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด

มาร์ลอน แบรนโด ปฏิเสธการรับรางวัล และส่งหญิงสาวอินเดียนแดงขึ้นเวที 

กิตติศัพท์ที่ขึ้นชื่อลือชาของนักแสดงแบดบอยยอดฝีมืออย่าง มาร์ลอน แบรนโด เป็นที่รู้กันดีในแวดวงว่าเขามักจะมีพฤติกรรมที่คาดเดาไม่ได้ และยากต่อการควบคุม แต่จนแล้วจนรอด เขาก็ยังมีผลงานการแสดงระดับมาสเตอร์พีซที่ทุกคนยอมรับในฝีมือ โดยเฉพาะการรับบทเป็น ดอน วิโต้ คอเลโอเน่ ในหนังขึ้นหิ้งอย่าง The Godfather 

ในงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 45 ในปี 1973 มาร์ลอน แบรนโด ได้รับการคาดการณ์เอาไว้แล้วว่าเขาน่าจะคว้าออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมได้จากกระแสของตัวหนังที่ดีเหลือเกินประกอบกับการแสดงอันยอดเยี่ยมของเขาในหนัง และผลลัพธ์ก็เป็นดังนั้นจริงเมื่อชื่อของแบรนโดกลายเป็นชื่อที่ได้รับรางวัลออสการ์ แต่แบรนโดกลับไม่ปรากฏตัว และกลายเป็นหญิงสาวในชุดอินเดียนแดงคนหนึ่งที่เดินขึ้นมาบนเวที และปฏิเสธการรับรางวัลแทนแบรนโด 

เธอคนนั้นชื่อว่า ซาชีน ลิตเทิลเฟเทอร์ นางแบบและนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกันที่สวมชุดอินเดียนแดงขึ้นไปเพื่อกล่าวแสดงพลังต่อต้านและทวงความยุติธรรมให้ชาวอินเดียนแดงพื้นเมือง ที่ในเวลานั้นมักจะถูกสื่ออเมริกันวางตัวให้เป็นตัวตลกหรือเป็นตัวร้ายในหนังหรือซีรีส์ ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อแบบผิด ๆ แก่คนทั่วไป 

การกระทำนี้จึงเป็นเหมือนความตั้งใจการแสดงพลังต่อต้านและเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมให้กับชาวอินเดียนแดงของมาร์ลอน แบรนโด และกลายเป็นโมเมนต์แปลก ๆ ที่คนในงานไม่ทำตัวไม่ถูกเมื่อเจอสถานการณ์นั้น และทุกวันนี้ยังถูกหยิบมาพูดถึงเหตุการณ์นี้กันพอสมควรเมื่อคิดถึงเหตุการณ์น่าจดจำของออสการ์

เปลือยกายล่อนจ้อนเรียกร้องสันติภาพ

ในช่วงยุค 70 ของสหรัฐอเมริกา เป็นช่วงเวลาที่เกิดการเรียกร้องสันติภาพและต่อต้านสงครามกันมาก อันเนื่องจากสถานการณ์ในช่วงสงครามเย็น ที่สหรัฐถือเป็นหนึ่งในขั้วอำนาจเสรีประชาธิปไตย โดยดำเนินการทำสงครามกับสหภาพโซเวียตที่เป็นขั้วอำนาจฝั่งคอมมิวนิสต์ ที่ทำสงครามตัวแทนกันหลายครั้ง โดยมีสมรภูมิหลักอยู่ที่เวียดนาม หลังจากเกิดสงครามและมีความยืดเยื้อที่ดูไม่มีทีท่าว่าอเมริกาจะชนะ ประชาชนอเมริกันเริ่มก็ต่อต้านเพราะไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมที่ประชาชนอเมริกันต้องเอาชีวิตไปทิ้งที่เวียดนามทั้งที่ไม่ใช่สงครามของประเทศตัวเองโดยตรง 

วัฒนธรรมการเรียกร้องสันติภาพของคนรุ่นใหม่ ก็เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายไปทั่วแผ่นดิน เกิดการเดินขบวน การตั้งเวทีปราศัยต่อต้านรัฐบาลในกรุงวอชิงตัน ดีซี ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะลามมาถึงเวทีออสการ์ด้วย 

ในงานประกาศผลรางวัลครั้งที่ 46 ที่จัดในปี 1974 ในขณะที่ เดวิด นีเวน ซึ่งรับหน้าที่พิธีกร กำลังประกาศแนะนำ เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ ในฐานะผู้ประกาศผลรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม อยู่ ๆ ก็มีผู้ชายนามว่า โรเบิร์ต โอเปล วิ่งขึ้นมาจากหลังเวทีด้วยสภาพที่เปลือยกายล่อนจ้อนผ่านกล้อง พร้อมกับชูสองนิ้วเป็นรูปตัววี อันเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงสันติภาพ ต่อหน้าต่อตาคนทั้งงานและคนทั่วประเทศที่กำลังรับชมการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ 

ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรียกเสียงกรี๊ดและเสียงฮือฮาจากผู้ชมในงานอย่างกึกก้อง ผู้คนในงานต่างตะลึงและมีท่าทีที่ขำขันกับสถานการณ์นี้ และพิธีกรอย่างนีเวนก็ต้องแก้ไขสถานการณ์ด้วยการพูดติดตลกไปแทน 

จดหมายผิดซอง

น่าจะเป็นอีกเหตุการณ์ป่วน ๆ บนเวทีออสการ์ที่โด่งดังที่สุดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สำหรับเหตุการณ์จดหมายผิดซอง ที่เกิดขึ้นในช่วงท้ายของงานที่เป็นจังหวะการประกาศรางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ที่เกิดขึ้นในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 89 ที่เกิดขึ้นในปี 2017

วอร์เรน เบตตี้ และ เฟย์ ดันนาเวย์ คือสองนักแสดงอาวุโสที่ได้รับหน้าที่ขึ้นมาประกาศผลรางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เมื่อถึงเวลาประกาศชื่อเบตตี้ที่แกะซองจดหมายออกมาและกำลังจะอ่านรายชื่อหนังที่ชนะ กลับมีท่าทีแปลก ๆ ที่เขาดูกระอักกระอ่วน พยายามมองซ้ายมองขวาหาทีมงาน และไม่ประกาศชื่อภาพยนตร์เสียที ผู้ชมก็นึกว่าเบตตี้พยายามเล่นมุก ทางด้านดันนาเวย์ก็พยายามจะแก้ไขสถานการณ์ด้วยการพยายามบอกให้เบตตี้พูดชื่อออกมาแต่เขายังอึกอัก ดันนาเวย์จึงดึงจดหมายมาจากเบตตี้และประกาศชื่อหนังว่า La La Land 

แต่แท้จริงแล้ว รายชื่อหนังที่ชนะรางวัลคือ Moonlight ที่กว่าทางทีมงานจะแก้ไขปัญหา ก็ช้าจนทีมโปรดิวเซอร์ของ La La Land ก็แทบจะกล่าวสุนทรพจน์ขอบคุณกันเกือบหมดแล้ว จนกระทั่ง จอร์แดน โฮโลวิซ หนึ่งในโปรดิวเซอร์ของ La La Land ต้องเดินมาพูดแทรกด้วยอารมณ์ที่หัวเสียพอสมควรว่า ‘ไม่ ไม่ มันคือความผิดพลาด.. Moonlight คุณคือผู้ชนะรางวัล’ 

เสียงฮือฮาเกิดขึ้นทันที ผู้คนในงานคิดว่านี่เป็นมุกตลก แต่โฮโลวิซก็ย้ำอีกทีว่านี่ไม่ใช่มุก พร้อมกับหยิบผลรางวัลในจดหมายที่ถูกต้องออกมาโชว์หน้ากล้อง ข้อความในนั้นปรากฏชื่อ Moonlight ว่าเป็นผู้ชนะสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจริง ๆ 

สายตาผู้ร่วมงานรวมถึงทีมโปรดิวเซอร์และผู้กำกับ Moonlight ต่างอ้าปากค้างและไม่เชื่อสายตากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และค่อย ๆ เดินขึ้นเวทีไปรับรางวัล สลับกับทีมงานของ La La Land ที่เดินลงมาอย่างหัวเสีย โดยทางจิมมี่ คิมเมล พิธีกรงานในปีนั้นก็พยายามจะแก้ไขสถานการณ์ด้วยการเล่นมุกตลกและให้เบตตี้ออกมาอธิบาย แต่ก็ไม่อาจห้ามความโกลาหลงงงวยไปทั่วดอลบี้ เธียเตอร์ รวมถึงผู้ชมทั่วโลกที่กำลังรับชมการถ่ายทอดสดกันช่วงเวลานั้นได้ ซึ่งเหตุการณ์นี้กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกพูดถึงทันที

โดยสาเหตุความวุ่นวายทั้งหมด มาจากความผิดพลาดของ ไบรอัน คัลลิแกน เจ้าหน้าที่ของบริษัท PricewaterhouseCoopers บริษัทที่รับหน้าที่จัดการผลคะแนนของออสการ์มาถึง 83 ปี ที่ได้ยื่นซองจดหมายผลรางวัลผิดซองให้วอร์เรน เบตตี้ โดยเขาดันยื่นซองจดหมายผลรางวัลสาขานักแสดงนำหญิงของ เอ็มม่า สโตน จาก La La Land ให้เบตตี้ แทนที่จะยื่นซองจดหมายผลรางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมให้ ซึ่งเวลาต่อมาบริษัท PricewaterhouseCoopers ก็ได้ออกมาขอโทษและยอมรับผิดกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้คัลลิแกนถูกสื่อโจมตีการทำงานอย่างหนัก ว่ามัวแต่สนใจดาราโดยละเลยการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี เพราะมันได้ปรากฏรูปของเอ็มม่า สโตนในทวิตเตอร์ของเขาที่ถ่ายหลังเวทีและโพสต์ก่อนที่เหตุการณ์จดหมายผิดซองจะเกิดขึ้นเพียงนาทีเดียว ทั้งที่ช่วงขณะนั้นเขาควรจะตรวจสอบให้แน่ใจเรื่องซองจดหมายผลรางวัลว่าส่งให้ผู้ประกาศรางวัลอย่างถูกต้อง

กลายเป็นเหตุการณ์โกลาหลในตำนานอีกหนึ่งเหตุการณ์ถึงความผิดพลาดบนเวทีออสการ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ที่แม้เหตุการณ์จะผ่านไปด้วยดี แต่นึกย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์นั้น การที่ได้เป็นผู้ชนะไม่กี่นาทีของทีมงาน La La Land ที่ต้องดีใจเก้อ เพราะความผิดพลาดที่ไม่น่าพลาดในงานระดับนี้ ก็ทำให้เสียความรู้สึกไปไม่น้อยเหมือนกัน และกลายเป็นตราบาปงานออสการ์ที่คงถูกหยิบมาพูดถึงกันไปอีกนาน

ตบหน้าสะท้านฮอลลีวูด

เรื่องเดือดสดๆ ร้อนๆ ที่เกิดขึ้นบนเวทีงานประกาศรางวัลครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อ วิล สมิธ นักแสดงตัวเต็งสาขานำชายยอดเยี่ยม ที่ไม่อาจเก็บอารมณ์เดือดดาลไว้ได้อยู่ เมื่อ คริส ร็อก นักแสดงตลก เดี่ยวไมโครโฟนชื่อดังและเป็นเพื่อนของวิลมายาวนาน ได้รับโอกาสเป็นผู้ประกาศรางวัลผู้ชนะในสาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม โดยก่อนที่จะประกาศผล เขาได้พูดแซว เจด้า พินเกตต์ สมิธ ภรรยาของวิล สมิธ ทำนองว่ารอดูเจด้าไปเล่นหนัง G.I. Jane ภาคสองไม่ไหวแล้ว (หนัง G.I. Jane คือหนังแอ็คชั่นในปี 1997 ที่ เดมี่ มัวร์แสดงนำ ในบทที่ตัวละครต้องโกนหัว) เพราะเจด้ามางานวันนี้ในลุคหัวโล้น ที่ไม่ได้เป็นเพราะเหตุผลในเรื่องแฟชั่น แต่เนื่องจากเธอป่วยเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) มาตั้งแต่ปี 2018 

ในตอนแรกวิล สมิธก็ดูขำกับมุกของร็อก แต่สีหน้าของเจด้าที่นั่งข้าง ๆ นั้นไม่ขำด้วยแม้แต่น้อย ทันใดนั้นวิลก็เดินขึ้นเวทีไปหาคริส ร็อค และตบหน้าเขาเสียงดังฟังชัดจนร็อกหน้าหัน พร้อมกับเดินลงมาด้วยสีหน้าหงุดหงิด พอถึงที่นั่งก็พูดอย่างเดือดดาลแบบเก็บสีหน้าแววตาไม่ได้อีกต่อไปว่า ‘Keep my wife name out of your f****** mouth!’ (หยุดพูดชื่อเมียกูจากหมา ๆ ของมึงได้แล้ว!) โดยกล้องจับสีหน้าที่ตกใจของ ลูพิต้า ยองโก นักแสดงสาวที่นั่งข้าง ๆ ได้ชัดเจน ซึ่งเธอมีสีหน้าที่ตกใจมากกับคำพูดของวิลที่พ่นคำหยาบออกมาเสียงดังลั่นกลางงานใหญ่ที่ถูกถ่ายทอดสดไปทั่วโลก

คริส ร็อกที่หน้าเจื่อนไปแล้ว ก็ได้แต่ต้องด้นสดกลบกลื่นไป ด้วยการพูดส่งเสียง โว้ว โว้ว และพูดเล่นมุกว่า ‘นี่คือคืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์’ 

มีภาพนิ่งออกมาว่าหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เดนเซล วอชิงตัน ได้มีการเดินเข้าไปหาวิล สมิธ เพื่อพูดให้วิลสงบสติอารมณ์และคลี่คลายสถานการณ์ระหว่างเขากับร็อก ในเวลาต่อมาเมื่อถึงจังหวะการประกาศผลรางวัลสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม วิล สมิธก็คือผู้ที่ได้รับรางวัลจากภาพยนตร์เรื่อง King Richard เขาเดินขึ้นไปรับรางวัลและพูดทั้งน้ำตาโดยกล่าวว่า 

‘Richard Williams (ตัวละครบุคคลจริงที่วิลรับบทบาท) เป็นคนที่ปกป้องครอบครัวอย่างไม่เกรงกลัวผู้ใด การได้มีส่วนร่วมในภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เขาได้เรียนรู้การปกป้องคนที่รัก ผ่านทั้งการแสดงและการทำงานร่วมกัน’ 

‘ศิลปะเลียนแบบชีวิต! ผมดูเหมือนพ่อที่บ้าคลั่งเหมือนที่เขาพูดถึง Richard Williams แต่ความรักก็ทำให้คุณทำเรื่องบ้า ๆ ได้’ 

และท้ายสุดเขาก็กล่าวขอโทษทางสมาคมและเพื่อนนักแสดงทุกคนสำหรับบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมขอบคุณสำหรับช่วงเวลานี้ และพูดติดตลกว่า หวังว่าทาง Academy จะเชิญเขามาอีก 

โดยในจังหวะที่วิลกล่าวสุนทรพจน์ต่าง ๆ กล้องได้จับไปที่หน้าของเจด้า เธอมีแววตาที่เข้มแข็งและมองสามีของเธอด้วยความมั่นใจอย่างที่สุดว่าผู้ชายของเธอคนนี้คือคนที่จะปกป้องเธอ ปกป้องครอบครัว ไม่ว่าจะมีเรื่องอะไรก็ตาม 

ไม่ว่าผลลัพธ์จากการกระทำสุดช็อคบนเวทีออสการ์ของวิล สมิธจะออกมาเป็นแบบไหน เขาต้องรับผลกระทำนั้น เพราะการที่คุณจะเดินขึ้นเวทีไปตบหน้าใครสักคนและพูดคำหยาบออกอากาศก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง และเอาเข้าจริง เขาก็ควรควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีกว่านี้ ตัวเขาเองคนเดียวเท่านั้นที่ทำให้ค่ำคืนแห่งชีวิตกับรางวัลออสการ์ตัวแรกที่ควรชื่นมื่นกลับมีมลทิน 

แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจน ไม่ว่าจะผิดอย่างไร เขาทำเพื่อปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีของคนที่เขารัก และนั่นอาจเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัวพึงกระทำ  

อ้างอิง
คลิปวิดีโอ 5 เรื่องป่วนๆ บนเวทีออสการ์ โดย The Movement/Ton youtube.com/watch?v=tpNCqpznLG4
www.imdb.com
https://en.wikipedia.org/wiki/Academy_Awards

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า