fbpx

“เรื่องอื้อฉาว 1950s” ต้นเหตุที่ทำให้เกมโชว์เปลี่ยนไปตลอดกาล

จากบทความที่แล้วที่เราได้เล่าไปเกี่ยวกับรายการ Twenty-One ที่เป็นต้นกำเนิดเรื่องราวในบทความนี้ สำหรับใครที่ยังไม่เคยอ่าน กดตรงนี้ เพื่อกลับไปอ่านบทความที่แล้วครับ และในบทความนี้เราจะมาเล่าต่อว่าหลักจากที่คำมั่นสัญญาระหว่างโปรดิวเซอร์กับผู้เล่นคนเก่าที่เคยปั้นไว้ได้ขาดสะบั้นออกจากกัน จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ต้องตามอ่านกันครับ…

เมื่อสัญญาไม่เป็นสัญญา การเปิดโปงจึงตามมา

Image – NBC [ภาพระหว่างการแข่งขันในรายการ ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา]

Stampel เรียก Jack O’Brian คอลัมนิสต์ด้านวงการทีวีของหนังสือพิมพ์ New York Journal-American เพื่อที่จะเปิดโปงเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ถึงแม้ว่า O’Brian เขาจะเห็นว่าเรื่องราวทั้งหมดมันมีมากพอที่จะนำไปเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์และพร้อมแฉแล้วก็จริง

แต่ด้วยเอกสารที่มันพัวพันกับองค์กร (คาดเดาว่าน่าจะเกี่ยวข้องกันในด้านความร่วมมือขององค์กรสื่อ) และความกลัวที่จะโดนฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท เขาเลยตัดสินใจที่จะ “ปฏิเสธ” การพิมพ์บทความที่มีข้อมูลจากสิ่งที่ Stampel พูดมาทั้งหมดนี้ลงในหนังสือพิมพ์ เพราะว่ามันยังไม่มีข้อพิสูจน์ หากสรุปภาษาชาวบ้านคือถ้าเรื่องมันไม่จริงขึ้นมา O’Brian ก็กลัวโดนฟ้องไปด้วย

Stampel ก็ได้ขึ้นว่าความต่อศาลในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1957 บอกกับศาลว่าเขานั้นเคยได้คุยกับนักข่าวของ New York Post ในเรื่องนี้เหมือนกัน แต่เอกสารการนัดเจอของนักข่าวมันดันไปเหมือนกับฉบับของ Journal-American ซึ่งทำให้เรื่องที่เขาว่าความมานั้นไม่มีความน่าเชื่อถือ ประกอบกับหลักฐานอื่น ๆ ที่ยังไม่มีการตรวจสอบใด ๆ หรือยากที่จะสนับสนุนคำพูดของ Stampel ทำให้เรื่องนี้ถูกปัดตกไป แถม Enright ก็ยังไม่สนใจเรื่องนี้ด้วยซ้ำ ยังกล่าวอีกว่าพวกเขาเป็นแค่กลุ่มแอนตี้ของ Van Doren (ตอนนั้น Van Doren ดังมากนะครับเป็นพิธีกรสำรองของรายการ Today ซึ่งเป็นรายการแนววาไรตี้ข่าวเช้า ซึ่งตอนนี้ตัวรายการก็ยังมีอยู่นะครับ ประมาณนี้) แถมตอนนั้น Van Doren ออกมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่โยงเข้ามาที่ตัวเขา

แต่ก็ยังมีแรงสนับสนุนจาก Ed Hilgemeier ผู้เข้าแข่งขันที่รอเรียกเข้าฉาก เขาเจอสมุดที่เต็มไปด้วยคำตอบที่ใช้ในรายการของ Marie Winn ที่เป็นผู้เข้าแข่งขันอีกคนในรายการ Dotto ที่จะออนแอร์ในช่อง CBS [1] ออกโน้มน้าวให้ทั้งอัยการ สำนักพิมพ์ รวมไปถึงตัว Stampel เอง จริงจังกับเรื่องทั้งหมดนี้สักที

ไม่ใช่แค่รายการเดียวที่มีเรื่องให้แฉกัน

ในเดือนธันวาคม ปี 1956 Dale Logue หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันรายการเกมโชว์ที่มีชื่อว่า “The Big Surprise” ได้ทำการยื่นฟ้องตัวรายการเพื่อให้รายการตัดสินใจว่า จะชดใช้เงินจำนวน $103,000 หรือจะให้ตัวเธอกลับมาเป็นผู้เล่นในรายการนี้อีกครั้งหนึ่ง โดย Louge อ้างว่าเธอถูกถามในคำถามเดิมในตอนถ่ายทำโดยที่คำถามนั้น เป็นคำถามเดียวกันกับช่วงวอร์มอัพก่อนถ่ายทำที่เธอไม่รู้คำตอบ (ประมาณว่าเหมือนขยี้จุดเดิมซ้ำอีกรอบหนึ่ง)

เธอยังให้การกับศาลว่าเรื่องทั้งหมดนี้เป็นความตั้งใจของทีมงาน เพื่อจะกำจัดเธอออกจากการเป็นผู้เล่นของรายการให้เร็วที่สุด

ณ ตอนที่ Louge ยื่นฟ้องไปแล้วนั้น ผู้อำนวยการผลิตของ บริษัท Entertainment Productions จำกัด (ชื่อแปลกดี) อย่าง Steve Carlin (ที่เป็นเจ้าของรายการนี่แหละครับ) ออกมาบอกว่าสิ่งที่เธอยื่นฟ้องไปนั้น “ไร้สาระสิ้นดี” [2] โดยในตอนนั้นมีคำกล่าวอ้างว่ารายการเสนอให้เธอ $10,000 ในเดือนมกราคม ปี 1957 เพื่อยุติเรื่องราวเหล่านี้ทั้งหมด ซึ่งสิ่งที่เล่ามาเมื่อกี้ก็ไม่มีมูลเหตุใด ๆ มาสนับสนุนทั้งสิ้น [3] หลังจากเรื่องมันเกิดได้สักพัก Charles Revson เจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Revlon และยังเป็นผู้สนับสนุนหลักของรายการ (ทำไมคนชื่อ Charles เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เยอะจังเลย) ก็เข้ามาถามโปรดิวเซอร์ของรายการว่า “เออ ไอ้เรื่องที่ Louge ฟ้องไปนี่เรื่องจริงปะ?” แล้วโปรดิวเซอร์ก็ตอบว่า “ไม่หรอก เรื่องขี้ฮกทั้งเพ” ไปตามระเบียบ (เพราะถ้าตอบใช่ขึ้นมาก็คงหนีไม่พ้นการหาสปอนเซอร์ใหม่เข้ารายการแน่ ๆ)

“และแล้วมันก็มาถึง” รายการ The Big Surprise ถูกยกกองในปี 1957 หลังจากที่มีคำสั่งเพื่อการสืบสวนเบื้องต้นของคณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ หรือ FTC ปล่อยออกมา และหลังจากนั้น 1 ปีต่อมา FTC ก็ได้เห็นแค่การแถลงการณ์ของโปรดิวเซอร์ที่บอกแค่ว่า “เรื่องนี้มันอยู่เหนือพวกเขาไปแล้ว”

ท่ามกลางการโดนยกกองของหลาย ๆ รายการเนื่องจากการฟ้องร้องของผู้เล่นทั้งสอง (Stempel และ Louge) มีหรือที่อีกรายการที่กล่าวไว้ในหัวข้อแรกอย่าง Dotto จะรอดกระแสนี้ไปได้

หลังจากที่ Hilgemeier เจอสมุดตัวดี เขาก็เอาหลักฐานนี้เข้ายื่น FTC ทันที [4] และทำให้รายการนั้นต้องปิดตัวลงในเดือนสิงหาคม ปี 1958 โดยที่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อใดทั้งสิ้น แต่แล้วข่าวเร็วมันก็ช้ากว่าข่าวลือ วันต่อมามีการลือกันว่ารายการนี้มีการเกี่ยวข้องกับการเตี๊ยมเหมือนรายการที่ผ่าน ๆ มา

เรื่องยิ่งมาก ข่าวยิ่งกระจาย

Image – CBS [ภาพระหว่างการแข่งขันในรายการ ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา]

เรื่องราวของการเตี๊ยมกันในรายการต่าง ๆ ถูกแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ชาวอเมริกันได้รับรู้เรื่องนี้อย่างรวดเร็ว และมั่นใจเกี่ยวกับเรื่องราวที่ได้ยิน ได้อ่าน หรือได้เห็น

มีการสำรวจเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า “คุณรู้เรื่องการโกงที่เกิดขึ้นหรือไม่” ซึ่งมีผลสำรวจออกมาว่า กว่า 87% – 95% “รู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี” [5]

นับแต่ตั้งปลายปี 1958 จนถึงต้นปี 1959 ควิซโชว์หลากหลายรายการต่างก็พากันยุบรายการจากกระแสอันรุนแรง จนบางรายการที่ถ่ายทำปกติต้องพากันหนีตามไปด้วย ซึ่งมีรายการดังนี้

Dotto (15 สิงหาคม 1958), The $64,000 Challenge (7 กันยายน 1958) [6], Twenty-One (16 ตุลาคม 1958), The $64,000 Question (2 พฤศจิกายน 1958) [7], Tic-Tac-Dough ฉบับไพรม์ไทม์ (29 ธันวาคม 1958) และ For Love or Money (30 มกราคม 1959) [8] [9]

หมายเหตุ : วันที่ที่กำกับอยู่ท้ายชื่อรายการ เป็นวันที่ที่ออกอากาศเทปสุดท้ายของรายการ

ถึงวันแห่งบทสรุป

Image – NBC [ภาพระหว่างการแข่งขันในรายการ ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา]

ปลายเดือนสิงหาคม 1958 อัยการ Joseph Stone ได้เรียกคณะลูกขุนเพื่อสอบสวนข้อกล่าวหาในเรื่องราวที่เกิดขึ้น ในขณะที่ทำการสอบสวน ผู้เล่นที่เคยโดนเตี๊ยมในตอนที่เล่นควิซโชว์ที่ในเวลาต่อมาต่างก็กลายเป็นคนดัง มีงานเข้ามาถล่มทลาย มีรายการบนจอแก้วเป็นของตัวเอง ต่างก็กลัวผลกระทบที่จะซัดเข้ามาโดนตัวเองจากการที่ยอมรับว่ามีการเตี๊ยมกับตัวพวกเขา ถึงขั้นที่ว่าพวกเขาต้องจำใจโกหกเพื่อให้มีที่ยืนในสังคมต่อไป โปรดิวเซอร์ที่เตี๊ยมรายการแบบ “ถูกกฎหมาย” เพื่อเพิ่มเรทติ้งให้กับรายการของตัวเองแต่ก็ไม่อยากเกี่ยวข้องกับคดีในครั้งนี้ รวมไปถึงสปอนเซอร์ประจำรายการและเจ้าของสถานีต่างเบือนหน้าหนีกับเรื่องนี้ สรุปรวม ๆ คือ ปฎิเสธข้อกล่าวหาทุกคนนั่นแหละ

หลังจากที่มีการสืบสวนคดีนี้มาร่วม 9 เดือน ก็ไม่มีคำร้องมาเพิ่ม และผู้พิพากษาตัดสินใจปิดซองและหยุดการสืบสวนคดีนี้ในช่วงหน้าร้อนตอนปี 1959 ซึ่งคดีนี้ใหญ่มากขึ้นไปอีกเมื่อรัฐบาลในขณะนั้นได้หยิบยกเรื่องนี้เข้าที่ประชุมทันทีในเดือนตุลาคม 1959

สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ (ข้อมูลผิดขออภัยด้วยนะครับ) ซึ่งตอนนั้นได้ Oren Harris นั่งเก้าอี้อยู่ ได้สั่งให้มีการไต่สวนคดีนี้ทันที ซึ่งเรื่องของ Stempel, Snodgrass และ Hilgemeier ต่างก็ได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นเรื่องจริงทั้งหมด [10] ตอนแรก Von Doren เหมือนจะไม่เต็มใจให้การไต่สวน แต่สุดท้ายก็ยอมรับและให้การกับศาลหลังจากนั้นก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 1959 และต่อมาศาลก็ประกาศว่าจะขยายการสืบสวนให้ลึกไปกว่านี้อีก

หลังจากที่ได้ยินประกาศของศาลแล้ว Frank Stanton ประธานบริหารของ CBS ตัดสินใจถอด 3 รายการทันทีทันควัน ตั้งแต่วันที่ 16-19 ตุลาคม 1959 ได้แก่ Top Dollar, The Big Payoff, and Name That Tune [11] ด้วยเหตุผลที่ว่า “ไม่สามารถที่จะป้องกันให้เกิดการทุจริตได้” [12]

และแล้วเรื่องอื้อฉาวทั้งหมดนี้ก็ได้จบลงสักที ในวันที่ 2 พฤศจิกายน เมื่อ Van Doren พูดกับศาลในการถ่ายทอดสดระดับประเทศ (คดีเด็ดคดีดังขนาดนี้ ก็คงไม่น่าแปลกหรอกครับที่จะมีการถ่ายทอดสดระดับประเทศ) ว่า

“ผมมีส่วนเกี่ยวข้องในการหลอกลวงทั้งหมด และตัวผมก็ยังเป็นผู้ถูกหลอก แต่ตัวผมเองยังไม่สามารถที่จะป้องกันตัวเองจากการถูกหลอกได้ เพราะตัวผมเองดันกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความหลอกหลวงไปแล้ว”

เรื่องหลังจากคดีครั้งใหญ่

ในด้านกฎหมาย การเตี๊ยมกันในรายการเกมโชว์ประเภททดสอบความรู้ถือเป็นเรื่องต้องห้าม และในช่วงของประธานาธิบดี Eisenhower ได้เซ็นอนุมัติกฎหมายมากมายซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “การหลอกลวงผู้ชมถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย”

ในฝั่งของผู้เข้าแข่งขันหลาย ๆ คน ชีวิตการงานของพวกเขากลับพังทลายลงไป อย่าง Charles Van Doren ที่การงานในด้านจอแก้วของเขานั้นพังไม่เป็นท่า และโดนให้เซ็นสัญญากลับไปเป็นอาจารย์ในมหา’ลัยเช่นเดิม แถมยังปฎิเสธการให้สัมภาษณ์ถึง 3 ทศวรรษ แต่ในปี 2008 เขาก็ได้กลับมาเขียนบทความให้ The New Yorker ถึงเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวจากมุมมองของเขา [13] Marie Winn (เจ้าของหนังสือที่จุดไฟให้เรื่องนี้) ก็กลายมาเป็นนักเขียนหนังสือที่ตามจิกกัดในเรื่องที่โทรทัศน์มีผลต่อเด็กมากน้อยขนาดไหน

ส่วนฝั่งของพิธีกรและโปรดิวเซอร์ Barry ถูกขึ้นแบล็กลิสต์ในวงการทีวีจนถึงปี 1969 / Enright เดินทางไปทำงานด้านทีวีที่แคนาดา แต่ก็ไม่สามารถกลับมาทำหน้าที่เดิมในสหรัฐอเมริกาได้ จนระยะเวลาที่ถูกขึ้นแบล็กลิสต์ของ Barry หมด พวกเขาจึงกลับมาทำงานแบบคู่หูได้ดังเดิมในปี 1975 ถึงอย่างไรก็ตามก่อนที่จะกลับมาทำงานได้ดังเดิม Enright ก็ย้ายสำมะโนครัวไปหางานทำที่ LA จนได้ทำงานสถานีท้องถิ่นของที่นั้น เขาให้สัมภาษณ์กับ TV Guide แล้วบอกประมาณว่า “มันเป็น 5 ปีที่ลำบากนะ ถึงแม้ว่าผมจะกลับมาทำงานเหมือนเดิมได้ แต่ชื่อเสียงผมก็ไม่ได้ดีขึ้นเลย”

หลังจากนั้นทั้ง Enright และ Barry ก็กลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้งกับสองรายการอย่าง Tic-Tac-Dough และ The Joker’s Wild (ที่ใครตามเกมโชว์ต่างประเทศในปัจจุบัน คงจะคุ้นหน้ากับแบบฉบับของ Snoop Dogg มากกว่า) และพิธีกรกับโปรดิวเซอร์คนอื่นที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้นั้น ต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันกับทั้งสอง

ส่วนในด้านวงการโทรทัศน์ เรื่องนี้ทำให้สถานีมีอำนาจในการควบคุมการผลิตและถ่ายทำรายการที่ออกอากาศในสถานีมากขึ้น ควิซโชว์ที่หายไป ก็หายไปนานนับทศวรรษ

ส่วนที่ยังอยู่ก็ปรับลดเงินรางวัลและจำนวนการแข่งให้ลดลง รายการใหม่ ๆ ที่ผุดขึ้นมาก็ปรับลดความตึงจากความรู้ก็กลายเป็นปริศนาและเกมคำศัพท์ ในยุค 60s แล้วนั้นใครที่คิดจะทำควิซโชว์ ต่างก็ต้องเจ๊งไปไม่เป็นท่า จากแผลเก่าที่เกิดในยุค 50s แต่ก็ยังมีมรดกหลงเหลือจากยุคนี้นั้นก็คือ “Jeopardy!” ที่ตอนนั้นสามารถรักษาแผลเก่าได้ และยังคงเหลือรอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ และอีกรายการที่รักษาแผลเก่าในด้านเงินรางวัลได้นั้นก็คือ “The $1,000,000 Chance of a Lifetime” ที่ออกอากาศในยุค 80s และแผลเป็นทั้งสองก็ได้รับการรักษาแบบเต็มที่ในยุค 2000s จากการมาของ “Who Wants to Be a Millionaire?” ที่โด่งดังแบบถล่มทลาย

และนี่คือเรื่องราวทั้งหมดของความอื้อฉาวของการเตี๊ยมในยุค 1950s ที่รายการควิซโชว์ในยุคนั้นต่างมีซีนเป็นของตัวเอง หากใครอยากเห็นภาพ ผมแนะนำว่าให้ไปดูหนังเรื่อง “Quiz Show (1994)” ที่จำลองสถานการณ์ได้ใกล้เคียงที่สุด (เสียดายที่หนังเรื่องนี้ขาดทุน คงจะเป็นเพราะว่าเขาทำเนื้อหามาลึกเกินไป) บทความหน้าจะมาแนวไหนอีก ต้องรอติดตามครับ


อ้างอิงเพิ่มเติม :
[1] Ten Facts About… , March 30, 2012 จากเว็บไซต์ Wayback Machine
[2] เว็บไซต์ Newspaper, “Sues Quiz Program For $103,000” ตัดจากหนังสือพิมพ์ The News Palladium ฉบับวันพฤหัสบดี ที่ 27 ธันวาคม 1956 หน้าที่ 22
[3] เว็บไซต์ Newspaper, “Out of the Air” ตัดจากหนังสือพิมพ์ The Evening Review ฉบับวันอังคาร ที่ 8 มกราคม 1957 หน้าที่ 10
[4] เว็บไซต์ Newspaper, จากหนังสือพิมพ์ The News Journal ฉบับวันพฤหัสบดี ที่ 28 สิงหาคม 1958 หน้าที่ 6
[5] Boddy, W.(1990). Fifties Television: The Industry and Its Critics. Urbana, IL: University of Illinois Press.
[6] เว็บไซต์ Newspaper, “Charged With Fix, $64,000 Challenge Taken From Air” ตัดจากหนังสือพิมพ์ The Lima Citizen ฉบับวันอาทิตย์ ที่ 14 กันยายน 1958 หน้าที่ 40
[7] เว็บไซต์ Newspaper, “$64,000 Question, First Big-Money Quiz, Ended” ตัดจากหนังสือพิมพ์ Fort Worth Star-Telegram ฉบับวันพุธ ที่ 5 พฤศจิกายน 1958 หน้าที่ 27
[8] เว็บไซต์ Newspaper, “’Rigged’ Quiz Show Cancelled” ตัดจากหนังสือพิมพ์ St. Louis Globe-Democrat ฉบับวันอังคาร ที่ 3 กุมภาพันธ์ 1959 หน้าที่ 27
[9] เว็บไซต์ Newspaper, “TV Quiz Show Cancelled to Avoid Fraud” ตัดจากหนังสือพิมพ์ The Star Press ฉบับวันอาทิตย์ ที่ 1 กุมภาพันธ์ 1959 หน้าที่ 26
[10] United States. Congress. House. Committee on Interstate and Foreign Commerce (1960). Investigation of television quiz shows. Hearings before a subcommittee of the Committee on Interstate and Foreign Commerce, House of Representatives, Eighty-sixth Congress, first session. Washington : U.S. Govt. Print. Off. p. III.
[11] เว็บไซต์ Newspaper, “TV Ban Criticized” ตัดจากหนังสือพิมพ์ Fort Lauderdale News ฉบับวันเสาร์ ที่ 17 ตุลาคม 1959 หน้าที่ 6
[12] เว็บไซต์ Newspaper, “Name That Tune Goes Off Air After Tonight” ตัดจากหนังสือพิมพ์ Opelika Daily News ฉบับวันจันทร์ ที่ 19 ตุลาคม 1959 หน้าที่ 1
[13] Charles Von Dolen, All The Answer จาก The New Yorker

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า