fbpx

เปิดข้อมูลลับพยัคฆ์ร้าย กับ 6 นักแสดง เจมส์ บอนด์ ก่อนเฟ้นหาสายลับ 007 คนใหม่

เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าหากพูดถึงหนึ่งในตัวละครในโลกภาพยนตร์ที่ถูกจัดเป็น ‘ไอคอน’ ที่ไม่ว่าเป็นคนที่ชอบดูหนังหรือไม่ก็ต้องรู้จัก ตัวละครอย่าง เจมส์ บอนด์ ต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเป็นลำดับแรก ๆ ตัวละครสายลับทรงเสน่ห์จากปลายปากกาของ เอียน เฟรมมิ่ง เป็นที่นิยมทันทีตั้งแต่ถูกถ่ายทอดลงแผ่นฟิล์มเป็นครั้งแรกด้วยหนังอย่าง Dr. No (1962) ด้วยแคแรกเตอร์ที่น่าจดจำ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ไม่ว่าผ่านไปกี่สิบปี ก็ยังคงเสน่ห์น่าหลงใหล

แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความดีความชอบอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวละครในนิยายมีชีวิตขึ้นอย่างสง่างาม และเป็นที่นิยมไปทั่วโลก คือบรรดานักแสดงที่มารับบทเป็นสายลับ 007 ที่ตอนนี้มีทั้งหมด 6 คนที่เคยมารับบทเป็นสายลับเจ้าเสน่ห์ผู้นี้ ผ่านหนังทั้งหมด 25 เรื่อง

นักแสดงแต่ละคนเป็นใคร และได้มอบบทบาทของ เจมส์ บอนด์ ที่แตกต่างกันในแต่ละยุคสมัยเป็นอย่างไรบ้าง และอนาคต เจมส์ บอนด์คนใหม่น่าจะเป็นใครกัน …

ภาพ: 007.com

ฌอน คอนเนอรี่ (Sean Connery) 

รับภารกิจใน Dr. No (1962), From Russia with Love (1963), Goldfinger (1964), Thunderball (1965), You Only Live Twice (1967) และ Diamonds Are Forever (1971) 

เราอาจพูดได้ว่านักแสดงคนแรก มักจะเป็นแม่แบบของตัวละครเสมอ มันคือการวางรากฐานในเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ตัวละครจำเป็นต้องมี และนักแสดงอย่าง ณอน คอนเนอรี่ ก็คือนักแสดงคนนั้น 

ใครจะไปคิดว่าจุดเริ่มต้นของนักแสดงผู้มารับบท เจมส์ บอนด์ คนแรก คือหนุ่มชาวสก็อตแลนด์ผู้เป็นอดีตนายแบบนามว่า โธมัส ฌอน คอนเนอรี่ ในฐานะหนุ่มหน้าคมรูปงามทั้งหน้าตาและสรีระที่เป็นผู้ประกวดรายการ Mister Universe ในช่วงยุค 50 ที่ทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จัก และเริ่มเข้าวงการด้วยการแสดงละครเวทีและทีวีซีรีส์ มีข้อมูลรายงานว่าในตอนนั้นเขามีโอกาสไปแข่งฟุตบอลเยาวชนแถมมีฝีเท้าเข้าตาแมวมองทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จึงชักชวนให้เขามาเซ็นสัญญาอีกด้วย แต่ท้ายสุดคอนเนอรี่ก็เลือกงานแสดง จนกระทั่งมีผลงานการแสดงภาพยนตร์ครั้งแรกใน No Road Back (1957) จนแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการกับ Another Time, Another Place (1958) 

ช่วงเวลานั้นเองที่ อัลเบิร์ต อาร์ บล็อคโคลี่ และ แฮร์รี ซอลต์แมน สองโปรดิวเซอร์กำลังมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการหยิบนวนิยายชุดชื่อดังอย่าง เจมส์ บอนด์ 007 ของเอียน เฟรมมิ่ง มาสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่งก็ได้เล็งณอน คอนเนอรี่ เอาไว้อยู่แล้ว 

แต่เส้นทางพยัคฆ์ร้ายของคอนเนอรี่ก็ดูจะไม่ง่ายเหมือนเส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะทางเจ้าของบทประพันธ์อย่างเฟรมมิ่งกลับไม่ค่อยชอบรูปลักษณ์อันบึกบึนของคอนเนอรี่สักเท่าไหร่ เพราะมันขัดกับภาพในหัวของเขา ที่มีความเป็นผู้ดีอังกฤษแบบดั้งเดิม แต่ท้ายสุดเมื่อทั้งสองโปรดิวเซอร์ยังคงยืนยัน แถมคราวนี้มีเสียงของฝั่งเพศหญิงมาช่วยยืนยันอีกเสียงโดย ดาน่า บล็อคโคลี่ ภรรยาของอัลเบิร์ตได้แสดงความเห็นอย่างหนักแน่นว่าผู้ชายแบบฌอน คอนเนอรี่ นี่แหละ ที่เป็นผู้ชายที่มีเสน่ห์ดึงดูดทางเพศอย่างแท้จริง ทำให้หัวเรือใหญ่ทั้งสามได้ข้อสรุปว่า ฌอน คอนเนอรี่จะเป็นนักแสดงที่มารับบทเจมส์ บอนด์ 

หลังจากนั้นคือปรากฏการณ์ คอนเนอรี่ตีความบทสายลับเจ้าเสน่ห์ได้น่าสนใจไปอีกขั้น ไม่ต้องเอ่ยถึงหน้าตาคมเข้มอันหล่อเหลา แต่บุคลิก ท่าทางการพูดจา การมีอารมณ์ขัน เจ้าเล่ห์ มีลูกล่อลูกชน แต่พอบทจะสวมบทโหดเลือดเย็น ก็ทำได้อย่างถึงอารมณ์ ทั้งหมดนี้หลอมรวมเป็นเจมส์ บอนด์ ได้อย่างไร้ที่ติ ภาพยนตร์ทำรายได้ถล่มทลาย และตัวละครอย่างเจมส์ บอนด์ก็กลายเป็นไอคอนแห่งยุคสมัย และแน่นอนว่าสิ่งที่คอนเนอรี่ได้แสดงเอาไว้ มันกลายเป็นแม่แบบของตัวละครเจมส์ บอนด์ ไปตลอดกาล 

หนังเจมส์ บอนด์ในยุคของคอนเนอรี่ เป็นยุคที่สร้างมาตรฐานและความคลาสสิกไว้มากมาย เช่น Goldfinger ที่เป็นภาคที่เป็นจุดเริ่มต้นว่าต้องมีเพลงประจำภาคและไตเติ้ลอันสวยงามก่อนเริ่มเรื่อง กำเนิดอุปกรณ์ไฮเทคต่าง ๆ รวมถึงรถเจมส์ บอนด์ในตำนานอย่าง Aston Martin DB5 ฉากน่าจดจำหลายฉากที่ถูกนำมาคารวะในหนังเรื่องต่อ ๆ มา จนกระทั่งหลังจบ You Only Live Twice คอนเนอรี่ก็เริ่มรู้สึกเบื่อกับบทบอนด์ จากปัญหาการถ่ายทำอันยากลำบากในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงวิธีการทำงานในกองถ่ายโดยเกิดปัญหาขัดแย้งระหว่างคอนเนอรี่กับโปรดิวเซอร์ ทำให้เขาประกาศยุติการแสดงบทบอนด์ไปโดยปริยาย 

และหลังจากที่เปลี่ยนนักแสดงแล้วไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวังไว้ ทำให้บริษัท United Artist และ สองโปรดิวเซอร์ใหญ่อย่างบล็อคโคลี่และซอลต์แมนก็ต้องตามคอนเนอรี่ให้กลับมารับบทสายลับ 007 อีกครั้งใน Diamonds Are Forever โดยมอบค่าตัวให้สูงถึง 1.5 ล้านปอนด์ แต่ผลลัพธ์กลับไม่ดีนัก โดยมีเสียงวิจารณ์ถึงตัวหนังที่ตกลงไป และเจมส์ บอนด์ในเรื่องนี้ดูเฉื่อยชาและอ่อนล้า ทำให้คอนเนอรี่ออกมาประกาศอีกครั้งว่าเขาจะไม่กลับมารับบทเจมส์ บอนด์อีกต่อไป ปิดฉากตำนานเจมส์ บอนด์คนแรก ไว้ที่หนัง 6 เรื่องด้วยกัน

ป.ล. หลังจากที่ยุติการรับบทบอนด์ คอนเนอรี่ก็กลับมาสวมบทบอนด์อีกครั้งใน Never Say Never Again (1983) หนังบอนด์นอกตระกูลซึ่งเป็นการนำหนังบอนด์อย่าง Thunderball มารีเมคใหม่ โดยสตูดิโอวอร์เนอร์และ เควิน แม็คคลอรี่ โปรดิวเซอร์ของหนัง เพราะตามกฎหมายแล้ว เจ้าของลิขสิทธิ์หนังบอนด์ภาค Thunderball ถือเป็นของแม็คคลอรี่ด้วย เนื่องจากเอียน เฟรมมิ่งเคยเอาไอเดียของแม็คคลอรี่ไปใช้ตอนที่เขียนนิยายเรื่องนี้ ทำให้แท้จริงแล้วคอนเนอรี่รับบทบอนด์ไปทั้งหมด 7 เรื่อง เพียงแต่เรื่องสุดท้ายเป็นหนังบอนด์นอกตระกูล จึงไม่ถูกนับรวมด้วยนั่นเอง

ภาพ: The Guardian

จอร์จ เลเซนบี้ (George Lazenby) 

รับภารกิจใน On Her Majesty’s Secret Service (1969) 

หลังจากที่เกิดปัญหาระหว่างคอนเนอรี่และสองโปรดิวเซอร์ใหญ่จากปัญหาการถ่ายทำหนังที่ญี่ปุ่น เลยไปถึงคอนเนอรี่ประกาศว่าจะไม่รับบทเจมส์ บอนด์อีก ทำให้สองโปรดิวเซอร์จำเป็นต้องตามหาบอนด์คนใหม่ที่จะมาแทนที่ ซึ่งคนนั้นคือ จอร์จ เลเซนบี้ ที่กลายเป็นเจมส์ บอนด์ ที่คนจดจำได้น้อยที่สุด แต่ทว่าตัวภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ เพียงเรื่องเดียวที่เลเซนบี้แสดงเอาไว้ ก็กลายเป็นอีกหนึ่งหนังบอนด์ที่น่าจดจำที่สุดเรื่องหนึ่งเช่นกัน 

เส้นทางการเป็นบอนด์ของ จอร์จ เลเซนบี้ เริ่มต้นอย่างน่าประหลาดใจ เพราะนายแบบและอดีตเซลล์ขายรถสายเลือดออสเตรเลียคนนี้ ไม่ได้เป็นนักแสดงและไม่เคยผ่านงานการแสดงมาก่อนเลย แต่ดันผ่านการออดิชั่นจากนักแสดงกว่า 400 คน และได้บทเจมส์ บอนด์ไปอย่างน่าเหลือเชื่อ มีข่าวลือเล่าว่าทันทีที่เลเซนบี้ทราบข่าวว่ากำลังมีการเฟ้นหานักแสดงบอนด์คนใหม่ เขาก็ไปตัดสูทที่ร้าน Savile Row Company อันเป็นร้านประจำของคอนเนอรี่ รวมถึงไปตัดผมที่ร้านเดียวกับอัลเบิร์ต บล็อคโคลี่ เพื่อให้คนในสังคมเห็นความเป็นบอนด์ในตัวเขา 

หลังจากนั้นทุกอย่างก็ดำเนินไป จับพลัดจับผลูไปออดิชั่น โดยที่สองโปรดิวเซอร์ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเลเซนบี้แสดงหนังไม่เป็น หลังจากได้รับเลือก เลเซนบี้ต้องทำการ Workshop ก่อนที่หนังจะเปิดกล้องถึง 4 เดือนเต็ม ไล่ตั้งแต่การฝึกการพูดจา บุคลิกท่าทาง การขี่ม้าและฝึกการต่อสู้ เพื่อให้พร้อมกับการรับบทบอนด์ 

แต่แล้วปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อความไร้ประสบการณ์และทักษะการแสดงของเลเซนบี้ที่ยังไม่ดีพอ การถ่ายทำจึงดำเนินไปอย่างเคร่งเครียด เพราะเลเซนบี้มีปัญหากับการท่องบทพูดยาว ๆ อีกทั้งยังมีปัญหาในเรื่องของนิสัยส่วนตัวที่อีโก้สูงลิบลิ่ว จนคนอื่นทำงานด้วยยาก จนไปมีปัญหากับผู้กำกับอย่าง ปีเตอร์ ฮันต์ ที่แทบไม่มองหน้ากัน โดยฮันต์จะใช้วิธีการกำกับโดยสั่งผ่านผู้กำกับภาพให้ไปบอกเลเซนบี้แทน แม้แต่นักแสดงอย่าง ไดอาน่า ริกก์ ผู้รับบทเป็นสาวบอนด์ประจำภาคนี้ที่ต้องสวมบทหวานกับบอนด์ ยังเขียนจดหมายถึงสื่อเพื่อแฉพฤติกรรมอันชวนปวดหัวของเลเซนบี้กันเลยทีเดียว 

อย่างไรก็ตาม เมื่อตัวหนังออกฉาย On Her Majesty’s Secret Service ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดี โดยเฉพาะในแง่ของเสียงวิจารณ์ เพราะตัวหนังเต็มไปด้วยรายละเอียดที่น่าจดจำและมีทุกอย่างที่หนังบอนด์ควรจะมี ตั้งแต่ฉากแอ็คชั่นใหญ่โตท่ามกลางหิมะบนเทือกเขาแอลป์ ฉากการสืบสวนที่น่าติดตาม และแม้ว่าทักษะการแสดงของเลเซนบี้จะมีปัญหา แต่พอทุกอย่างมาอยู่บนจอ เจมส์ บอนด์ ในแบบเลเซนบี้แม้จะไม่ได้ดูลื่นไหลเป็นมืออาชีพเหมือนคอนเนอรี่ แต่ก็ถือว่าสอบผ่านด้วยรูปลักษณ์และบุคลิกที่ยังคงความเป็นบอนด์ที่ทรงเสน่ห์ 

นอกจากนั้นนี่ยังถือเป็นหนังบอนด์เรื่องแรกที่สร้างความแปลกใหม่ในแง่ที่ว่า มันได้สำรวจจิตใจของพยัคฆ์ร้ายพราวเสน่ห์ผู้นี้อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน เพราะภาคนี้เป็นภาคเดียวที่เจมส์ บอนด์ สลัดคารมเสือผู้หญิงทิ้งและตัดสินใจแต่งงานกับ เทรซี่ หญิงสาวที่เขารักสุดหัวใจ รวมถึงเป็นภาคเดียวที่ฉากสุดท้ายของหนังได้จบลงด้วยโศกนาฏกรรมสะเทือนอารมณ์ ด้วยฉากที่ภรรยาของเขาถูกองค์การร้ายสเปคเตอร์ฆ่าตายบนรถที่เขานั่งอยู่ด้วย โดยมีไดอะล็อคที่น่าจดจำที่สุดของบอนด์อย่าง ‘We Have All the Time in the World’ มาปิดท้าย และการแสดงของเลเซนบี้ ก็แสดงออกมาได้อย่างจับใจผู้ชม

องค์ประกอบเหล่านี้เองที่ส่งให้ On Her Majesty’s Secret Service เป็นหนึ่งในหนังบอนด์ที่ได้รับการยกย่องและน่าจดจำที่สุด แม้แต่สุดยอดผู้กำกับแห่งยุคนี้อย่าง คริสโตเฟอร์ โนแลน ยังเคยบอกว่า  On Her Majesty’s Secret Service เป็นหนังบอนด์ที่เขาชอบมากที่สุด แถมยังเอาโทนหนังสายลับและฉากจำในหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะฉากแอ็คชั่นสกีบนหิมะหรือฐานทัพกลางหิมะบนเทือกเขา มาเป็นแรงบันดาลใจในงานของตัวเองอย่าง Inception (2010) อีกด้วย

แต่แม้เสียงวิจารณ์จะออกมาดีแค่ไหน แต่เมื่อรายได้ที่แม้จะไม่ขาดทุน แต่ก็ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่ยุคของคอนเนอรี่เคยสร้างไว้ ประกอบกับปัญหาส่วนตัวในเรื่องนิสัยอันเป็นขบถและดื้อรั้นของเลเซนบี้ที่คนทำงานรอบตัวดูจะเข็ดขยาดไปตาม ๆ กัน ทำให้สองโปรดิวเซอร์ยกเลิกสัญญาที่เซ็นกันไว้ถึง 8 เรื่อง ปิดฉากตำนานพยัคฆ์ร้าย 007 ของเลเซนบี้ไว้ที่หนังเรื่องเดียว 

แต่แม้จะเป็นเพียงเรื่องเดียว ก็เพียงพอให้เราจดจำจอร์จ เลเซนบี้ ในฐานะเจมส์ บอนด์คนหนึ่งในหนังบอนด์ที่น่าจดจำที่สุดอีกเรื่องหนึ่งเช่นกัน

ภาพ: 007.com

โรเจอร์ มัวร์ (Roger Moore) 

รับภารกิจใน Live and Let Die (1973), The Man with the Golden Gun (1974), The Spy Who Loved Me (1977), Moonraker (1979), For Your Eyes Only (1981), Octopussy (1983) และ A View to a Kill (1985)

หลังจาก Diamonds Are Forever ไม่ค่อยประสบความสำเร็จตามที่สตูดิโอคาดหวัง และคอนเนอรี่ก็โบกมือลาอย่างเป็นทางการ สองโปรดิวเซอร์อย่างบล็อคโคลี่และซอลต์แมนก็เห็นตรงกันว่าถึงคราวที่หนังเจมส์ บอนด์ต้องเปลี่ยนผ่านยุคสมัยเสียที การคัดเลือกหานักแสดงบอนด์คนใหม่ จึงมาพร้อมกับการเปลี่ยนโทนหนังที่ลดความซีเรียสจริงจังลง และใส่อารมณ์ขันลงไปมากขึ้น โดยตัวเลือกลำดับต่อมาก็คือนักแสดงเลือดอังกฤษแท้ ๆ อย่าง โรเจอร์ มัวร์ 

แท้จริงแล้ว สองโปรดิวเซอร์ได้แอบเล็งให้มัวร์มารับบทต่อคอนเนอรี่ตั้งแต่หลังจากจบงานอย่าง You Only Live Twice แล้ว พร้อมกับแอบส่องผลงานของนักแสดงอย่าง ทิโมธี ดาลตัน เอาไว้ด้วย แต่ดาลตันในเวลานั้นยังอายุน้อยเกินไป ส่วนในกรณีของมัวร์ ก็ต้องบอกว่าจังหวะเวลายังไม่ลงตัว เพราะมัวร์ติดสัญญาการแสดงในซีรีส์จารชนอย่าง The Saint (1962-1969) อยู่ จึงไม่มีเวลาว่างมาถ่ายทำได้ 

แต่หลังจากที่ซีรีส์ The Saint จบลงในปี 1969 และเมื่อจังหวะเวลาตรงกันกับที่ทางสองโปรดิวเซอร์ต้องหาเจมส์ บอนด์คนใหม่มาแทนที่จอร์จ เลเซนบี้ ก็ถึงคราวของมัวร์ ในบทพยัคฆ์ร้ายเจ้าเสน่ห์เสียที 

บอนด์ในยุคของมัวร์ คือบอนด์ที่เราอาจพูดได้ว่าเป็นบอนด์ที่ขี้เล่น พราวเสน่ห์และมีความเป็นเสือผู้หญิงที่สุดก็ว่าได้ สาเหตุเพราะทางผู้สร้างได้เปลี่ยนโทนหนังที่ใส่อารมณ์ขันมากขึ้น จากสถานการณ์ของโลกที่อยู่ในช่วงปลายของสงครามเย็นที่เคร่งเครียดมานาน ผู้คนเริ่มหาหนังที่มีเนื้อหาที่ไม่เครียดมากเกิน และเน้นสร้างความบันเทิงเป็นหลัก จากที่ในยุคของคอนเนอรี่ที่เราได้เห็นว่าตัวร้ายของหนังมักจะเป็นสหภาพโซเวียตที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ของสงครามเย็นอยู่ร่ำไป 

เราจึงได้เห็นหนังบอนด์ยุคนี้ เจมส์ บอนด์ จะเก่งกาจมากเป็นพิเศษ ไม่ต้องใช้หัวคิดหรือมีโจทย์แก้ปัญหาที่ยากมาก เวลาที่ถูกโยนลงไปในสถานการณ์ที่คับขัน บอนด์ก็มักจะใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบเหนือจริง หรือพูดได้อีกอย่างว่ามันเวอร์ ๆ เกินมนุษย์ไปไกล และแน่นอนว่าผู้ร้ายก็ถูกบอนด์กำจัดแบบไม่ยากเย็นนักในช่วงท้ายเรื่อง 

นอกจากนั้นการใส่อารมณ์ขันลงไป ทำให้มัวร์ได้มีโอกาสบริหารเสน่ห์กับสาว ๆ มากที่สุดในบรรดาบอนด์ทุกคน ซึ่งบางคนก็ไม่เห็นด้วยเพราะบอนด์ในยุคของมัวร์เหมือนจะมีคติที่ใช้ผู้หญิงเป็นเพียงเครื่องมือทางเพศให้บอนด์หลับนอนด้วยเท่านั้น แต่ไม่มีบทบาทอื่นที่มีผลต่อเนื้อเรื่องมากเท่าที่ควร 

อย่างไรก็ตาม บอนด์ในแบบฉบับของมัวร์ก็เป็นบอนด์อีกคนที่ผู้คนจดจำได้ดี แม้โทนหนังจะลดความจริงจังลง แต่ความบันเทิงที่มอบให้ก็เป็นความบันเทิงเต็มรูปแบบที่ดูสนุก ทำรายได้ไปมหาศาล และมีหลายเรื่องที่น่าจดจำ โดยมัวร์ถือเป็นนักแสดงที่รับบทเจมส์ บอนด์มากที่สุดในบรรดานักแสดงทุกคน โดยแสดงไปถึง 7 เรื่องด้วยกัน และโบกมืออำลาบทพยัคฆ์ร้ายเจ้าเสน่ห์ด้วยอายุถึง 58 ปีเลยทีเดียว

ภาพ: 007.com

ทิโมธี ดาลตัน (Timothy Dalton) 

รับภารกิจใน The Living Daylights (1987) และ Licence to Kill (1989)

เมื่อหมดยุคของโรเจอร์ มัวร์ เจมส์ บอนด์ คนใหม่ก็ถูกส่งไม้ต่อให้คนเดิม ที่บล็อคโคลี่ได้แอบเล็งไว้อยู่นานแล้ว เพียงแต่ต้องรอเวลาให้ช่วงอายุนั้นเหมาะสม คนนั้นคือ ทิโมธี ดาลตัน ในขณะที่ดาลตันกลายเป็นเจมส์ บอนด์คนใหม่ เขาอายุ 41 ปี มากพอที่รับบทสายลับ 007 ได้แล้ว 

หากเรามองว่าหนังบอนด์ในยุคของมัวร์ คือหนังบอนด์ที่มีอารมณ์ขันและมีโทนหนังที่เบาที่สุด การเปลี่ยนยุคมาถึงดาลตัน ก็เป็นการพลิกโทนหนังบอนด์อีกครั้ง เพราะสิ่งที่ดาลตันนำมาใส่กับบทเจมส์ บอนด์ คือบุคลิกที่ซีเรียสจริงจัง เลือดเย็นและเหี้ยมที่สุดก็ว่าได้ ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับเจมส์ บอนด์ยุคของมัวร์โดยสิ้นเชิง 

มีข้อมูลรายงานว่าดาลตันได้ทำการบ้านก่อนที่จะเริ่มโปรเจกต์หนัง ด้วยวิธีการที่เขากลับไปย้อนอ่านนิยายเจมส์ บอนด์ของเอียน เฟรมมิ่งทุกเล่ม ซึ่งดาลตันตีความตัวละครบอนด์ในนิยายออกมาว่า บอนด์เป็นสายลับที่เลือดเย็น ที่ไม่มีความปราณีต่อศัตรูตรงหน้า มีความโผงผาง และแสดงความไม่พอใจต่อภารกิจของตัวเองบ่อยครั้ง 

นั่นทำให้หนังบอนด์ทั้ง The Living Daylights และ Licence to Kill จึงเป็นหนังบอนด์ที่ซีเรียสจริงจัง บอนด์ในหนังทั้งสองเรื่องเป็นบอนด์ที่ดุดัน ไร้ความปราณี ไม่ค่อยมีอารมณ์ขัน และมีฉากโหด ๆ พอสมควร ซึ่งอาจทำให้ผู้ชมนั้นปรับตัวกับการเปลี่ยนโทนหนังและบุคลิกของบอนด์ไม่ทัน ทำให้ผลตอบรับทำให้หนังทั้งสองเรื่องทำรายได้ต่ำกว่าหนังบอนด์ในยุคของโรเจอร์ มัวร์ 

แต่แท้จริงแล้ว ตามสัญญาที่เซ็นไว้ ดาลตันยังต้องแสดงหนังบอนด์อีกหนึ่งเรื่อง หากแต่ตอนนั้นทางสตูดิโอ MGM มีปัญหาเรื่องข้อพิพาทด้านกฎหมายการครองสิทธิในการสร้าง จึงยังไม่สามารถสร้างต่อได้ ทิโมธี ดาลตันจึงตัดสินใจไม่รอ และอำลาบทบาทนี้ไปด้วยผลงานหนังเพียง 2 เรื่อง

ภาพ: 007.com

เพียรซ์ บรอสแนน (Pierce Brosnan)

รับภารกิจใน GoldenEye (1995), Tomorrow Never Dies (1997), The World Is Not Enough (1999) และ Die Another Day (2002)  

หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทแสนวุ่นวาย สตูดิโอก็เดินเครื่องต่อทันที และกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ด้วย GoldenEye หนังบอนด์ที่เป็นการเปิดยุคใหม่ได้อย่างสง่างามด้วยรายได้ในอเมริกาถึง 106 ล้านเหรียญ และปิดรายได้ทั่วโลกไปกว่า 352 ล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นแท่นหนังบอนด์ที่ทำรายได้สูงที่สุดในเวลานั้น นอกจากตัวหนังที่พูดได้ว่ามีทุกอย่างที่แฟนหนังบอนด์คิดถึง หนังแอ็คชั่นสุดมันส์ มีอารมณ์ขันที่ลงตัว บทภาพยนตร์ที่เข้มข้น และเจมส์ บอนด์คนใหม่ ที่แสดงโดย เพียรซ์ บรอสแนน สอบผ่านในทุกด้าน จนอาจพูดได้ว่าเขาเป็นเจมส์ บอนด์ในยุคหลัง ที่ผู้คนจดจำได้มากที่สุดคนหนึ่ง 

นักแสดงสัญชาติไอริชอย่างเพียรซ์ บรอสแนน มีเส้นทางสู่บทพยัคฆ์ร้ายอีกคน ที่ผู้สร้างนั้นเห็นแววมานาน แต่ต้องรอเวลาให้สุกงอมและพอดี โดยจังหวะชีวิตน่าจะเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อย ทุกอย่างเริ่มต้นในปี 1981 ในกองถ่ายหนังบอนด์อย่าง For Your Eyes Only ที่สาวบอนด์ประจำภาคนั้นอย่าง แคสแซนดรา แฮร์ริส ได้ชวนสามีของเธอเข้ามาเยี่ยมในกองถ่าย ซึ่งบรอสแนนก็คือชายคนนั้น 

แน่นอนว่าราศีความเป็นบอนด์บางอย่างของบรอสแนน ได้ไปสะดุดตาของอัลเบิร์ต บล็อคโคลี่ที่เข้ามาควบคุมงานสร้างในกองถ่ายเข้าอย่างจัง และได้เล็งนักแสดงคนนี้เอาไว้แล้ว โดยต้องรอเวลาให้เหมาะสม 

หลังจากที่โรเจอร์ มัวร์ ได้ประกาศยุติบทบาทเจมส์ บอนด์ ทางผู้สร้างก็มี 2 ตัวเลือกสำคัญ คือทิโมธี ดาลตันและเพียรซ์ บรอสแนน แต่เอาเข้าจริงรายของบรอสแนนดูจะมีคะแนนนำอยู่เล็กน้อย แต่ปัญหาก็ติดขัดตรงที่ว่าทันทีที่บรอสแนนถูกรายงานจากสื่ออย่างหนาหูว่าเขาอาจจะเป็นบอนด์คนใหม่ ทำให้เกิดกระแสฮือฮาในตัวบรอสแนนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ซีรีส์สัญชาติอังกฤษที่สร้างชื่อให้บรอสแนนอย่าง Remington Steele (1982-1987) ที่ในตอนแรกประกาศจบไปแล้ว กลับมีเรตติ้งที่สูงขึ้นทันตา สถานีโทรทัศน์ NBC จึงฉวยโอกาสนี้สร้างซีซั่นต่อไป และบรอสแนนที่ติดสัญญากับทางช่องจึงต้องจำยอมแสดงต่อ บทนี้จึงตกเป็นของทิโมธี ดาลตันในที่สุด 

แต่หลังจากที่เสียงตอบรับในหนังทั้งสองภาคของดาลตันไม่ค่อยสู้ดี ประกอบกับเกิดกรณีพิพาทเรื่องกฎหมายการครองสิทธิ์ มันจึงได้นำมาสู่จุดเปลี่ยนสำคัญ ที่คราวนี้มันคือทีของบรอสแนนอย่างไม่มีอะไรขัดขวางได้อีกแล้ว เมื่อถึงเวลาที่สุกงอม จังหวะชีวิตที่ลงตัว ในปี 1994 บรอสแนนจึงถูกประกาศอย่างเป็นทางการว่าเขาคือเจมส์ บอนด์ คนใหม่ และเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ด้วย GoldenEye ที่กล่าวไปข้างต้น

เจมส์ บอนด์ ในยุคของบรอสแนน คือบอนด์ในแบบที่สามารถดึงเสน่ห์ของบอนด์ในยุคก่อนกลับมาได้อย่างครบถ้วนในคนเดียว เพราะบอนด์ในฉบับบรอสแนนมีส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างบอนด์ของคอนเนอรี่ และบอนด์ของมัวร์ กล่าวคือ บอนด์คนนี้มีเสน่ห์เฉพาะตัวที่น่ามอง มีความคมเข้ม นิ่ง และเลือดเย็นในบางครั้งแบบที่คอนเนอรี่เป็น แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเจ้าคารมคมคาย มีอารมณ์ขัน เจ้าเล่ห์ และมาดเสือผู้หญิงแบบที่มัวร์เป็น

ส่วนผสมที่ลงตัวนี้ทำให้หนังบอนด์ยุคของบรอสแนนเข้าสู่ยุคยิ่งใหญ่ ตัวหนังบอนด์ยุคนี้จึงเต็มไปด้วยความบันเทิงขีดสุด มีความเหนือจริงแบบระเบิดภูเขาเผากระท่อม แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีเนื้อเรื่องที่เข้มข้น ดูสนุก เป็นความพอดีที่ลงตัวระหว่างความจริงจังและอารมณ์ขัน ทำให้หนังบอนด์ทั้งสี่เรื่องของบรอสแนน ต่างก็ทำรายได้ถล่มทลายและเป็นหนังฮิตทั้งหมด โดยบอนด์เรื่องสุดท้ายที่เขาแสดงอย่าง Die Another Day ก็ปิดรายได้ทั่วโลกไปถึง 431 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากที่สุดในบรรดาหนังบอนด์ทุกเรื่อง

แต่จุดเปลี่ยนก็มาถึงอีกครั้งเมื่ออายุของบรอสแนนที่แม้จะบู๊สนั่นจอได้อยู่ แต่เราเริ่มเห็นความโรยราใน Die Another Day ประกอบสถานการณ์โลกในยุคหลังเหตุการณ์ 9/11 ทำให้ความต้องการของผู้ชมเปลี่ยนไป หนังบอนด์แบบเวอร์ ๆ เหนือจริงแบบฉบับของบรอสแนนอาจไม่ตอบโจทย์อีกแล้ว การเจรจาแยกทางจึงเกิดขึ้น ปิดตำนานบอนด์ยุคใหม่ที่ผู้คนยุคนี้จดจำได้มากที่สุดคนหนึ่งด้วยหนัง 4 เรื่อง

Skyfall (2012) Directed by Sam Mendes Shown from left: Javier Bardem, Daniel Craig

แดเนียล เคร็ก (Daniel Craig)

รับภารกิจใน Casino Royale (2006), Quantum of Solace (2008), Skyfall (2012), Spectre (2015) และ No Time to Die (2021)

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป พฤติกรรมของผู้ชมที่ไม่ได้แสวงหาความบันเทิงที่เหนือจริงจากภาพยนตร์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ต้องการความสมจริง อยู่บนพื้นฐานความจริงของปัจจุบันมากที่สุด ทำให้การสานต่อภารกิจพยัคฆ์ร้ายดูจะยากเกินไปหากจะสานต่อสิ่งที่ Die Another Day ทิ้งเอาไว้ โดยมีทั้งรถล่องหน จานดาวเทียมยักษ์ที่ยิงเลเซอร์ลงมาบนโลกที่เหนือจินตนาการไปไกล 

อีกทั้งยังมีอิทธิพลจากหนังแฟรนไชส์สายลับอีกเรื่องอย่าง เจสัน บอร์น ใน The Bourne Identity (2002) และ The Bourne Supremacy (2004) ที่ได้เสียงวิจารณ์ในแง่บวกอย่างมาก ในแง่ของเนื้อเรื่องสุดเข้มข้น ที่เต็มไปด้วยฉากสืบสวนและการชิงไหวชิงพริบ ฉากแอ็คชั่นที่ติดดินที่เน้นความสมจริงสุดระทึก รวมถึงการถ่ายทอดตัวละครเอกอย่างมีมิติและมีความเป็นมนุษย์อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งผลตอบรับเป็นอย่างดีทั้งรายได้และคำวิจารณ์ ยิ่งตอกย้ำว่าในยุคสมัยนี้หนังบอนด์แบบในอดีตดูจะเป็นสิ่งที่ตกยุคไปเสียแล้ว

ดังนั้นการล้มหน้ากระดานแล้วเริ่มใหม่ทั้งหมด ดูจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมมากกว่า ทีมผู้สร้างจึงตัดสินใจหวนกลับไปสู่นวนิยายของเอียน เฟรมมิ่งอีกครั้ง อย่าง Casino Royale ที่เป็นนิยายเรื่องแรกของเจมส์ บอนด์ โดยมันเปิดโอกาสให้ผู้สร้างได้ย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่ภารกิจแรกของบอนด์ ในฐานะสายลับ MI6 เจ้าของรหัส 007 หน้าใหม่ไฟแรง โดยมอบหน้าที่ผู้กำกับในภารกิจชุบชีวิตหนังบอนด์ใหม่ให้กับ มาร์ติน แคมป์เบล ผู้ที่เคยชุบชีวิตหนังบอนด์ให้ร่วมสมัยในตอนกำกับ GoldenEye มาแล้ว 

นำมาซึ่งบอนด์คนใหม่ ที่นับว่าเป็นบอนด์ที่หักปากกาเซียนสื่อทุกสำนัก โดยการเลือก แดเนียล เคร็ก นักแสดงอังกฤษผมทอง ตาสีฟ้า ที่ตอนนั้นไม่ได้เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงมากมาย หากเทียบกับผู้ท้าชิงคนอื่น ๆ ทั้ง ไคลฟ์ โอเวน, ฮิวจ์ แจ็คแมน หรือ ยวน แม็คเกรเกอร์ ประกอบกับหน้าตาที่ไม่ได้ดูหล่อเหลา คมเข้ม และดูเจ้าเสน่ห์แบบที่บอนด์คนก่อน ๆ เป็น ทำให้ในครั้งแรกที่ประกาศเปิดตัว กระแสต่อต้านก็มาทันที เพราะมันผิดจากบอนด์ในแบบฉบับที่คุ้นเคยเกินไป

แต่ทันทีที่ Casino Royale ออกฉาย ความดูแคลนและคำสบประมาทก็มลายหายไป เพราะบอนด์ฉบับของเคร็ก ก็เป็นการพลิกบทบาทสายลับผู้นี้เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ได้อย่างเต็มภาคภูมิ จากบอนด์เจ้าสำอางสุดเนี้ยบเปี่ยมด้วยคารมคมคาย สู่สายลับที่มีความเคร่งขรึม มุทะลุ ดุดัน ติดดิน และบึกบึนด้วยหุ่นรูปงามที่ดูแข็งแรงแทนโดยไม่ต้องห่วงหล่อ ฉากแอ็คชั่นเต็มไปด้วยความสมจริง เน้นการต่อสู้แบบประชิดตัว ไม่ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือไฮเทคใด ๆ คอยช่วย

สิ่งสำคัญที่สุดมันคือการตีความตัวละครเจมส์ บอนด์ ในแบบที่ผู้ชมไม่เคยเห็นมาก่อน บอนด์ฉบับเคร็กเปิดโอกาสให้ผู้ชมเห็นว่าคนแบบเจมส์ บอนด์ก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขับเคลื่อน ใช้อารมณ์แก้ปัญหา ทำผิดพลาดเป็น ไม่ได้เก่งตลอดเวลาเพราะก็เกือบตายอยู่หลายครั้งหลายหน ที่สำคัญคือบอนด์คนนี้มีหัวใจ รักเป็น เสียใจเป็น รู้สึกผิดเป็น และเป็นคนที่มีปมกับเรื่องราวในอดีตเหมือนกับมนุษย์ปุถุชน 

ด้วยตัวหนังที่มีองค์ประกอบทั้งเรื่องราวที่เข้มข้น จริงจัง ฉากแอ็คชั่นที่ยอดเยี่ยม รวมถึงฉากการเล่นไพ่โป็กเกอร์ในคาสิโนสุดเชือดเฉือนที่น่าจดจำ การใส่โทนหนังสายลับ แอ็คชั่น และดราม่าได้อย่างลงตัว รวมถึงได้เห็นมิติตัวละครของเจมส์ บอนด์ในฐานะมนุษย์ ทำให้ Casino Royale ได้รับการยกย่องให้เป็นหนังบอนด์ที่ดีที่สุดอีกเรื่องหนึ่งอย่างเป็นเอกฉันท์ และหนังปิดรายได้ในอเมริกาไป 167 ล้านเหรียญ และรายได้ทั่วโลกที่ 616 ล้านเหรียญ ซึ่งมากที่สุดในหนังบอนด์ทุกเรื่อง เปิดศักราชใหม่ของหนังบอนด์ได้อย่างงดงามทั้งรายได้และเสียงวิจารณ์

รถไฟเหาะตีลังกา น่าจะนิยามหนังบอนด์ในยุคของแดเนียล เคร็กได้ดี เพราะหลังจากที่เปิดตัวอย่างยอดเยี่ยมในหนังเรื่องแรก เรื่องต่อมาอย่าง Quantum of Solace ที่เล่าเรื่องต่อจากเรื่องก่อนทันที กลับตกลงทั้งเสียงวิจารณ์ที่ไม่ดีเท่าเดิม และรายได้ที่ตกลงไป จนเวลาผ่านไปก็กลับมาแก้ตัวด้วยงานที่พยายามดึงเสน่ห์ความเป็นบอนด์ยุคเดิมกลับมาอย่าง Skyfall ที่ได้ผู้กำกับดีกรีออสการ์อย่าง แซม เมนเดส มากำกับ ซึ่งคราวนี้ก็เป็นปรากฏการณ์อีกครั้งเพราะ Skyfall ได้รับความชื่นชมอีกครั้งด้วยเสียงวิจารณ์ด้านบวก ในแง่ที่หนังมีเรื่องราวที่เข้มข้น และมีตัวละครที่มีมิติทางอารมณ์มาก โดยเฉพาะวายร้ายที่ได้นักแสดงดีกรีออสการ์อย่าง ฮาเวียร์ บาเดม มาแสดงอีกด้วย ลงท้ายด้วยรายได้ทั่วโลกถล่มทลายระดับพันล้านเหรียญ เป็นหนังบอนด์เพียงเรื่องเดียวจนถึงตอนนี้ที่ทำรายได้ถึงหลักพันล้าน

จนมาเงียบ ๆ กับ Spectre ที่คุณภาพตกลงไปอีกรอบ และปิดท้ายอย่างยอดเยี่ยมกับหนังอำลาอย่าง No Time to Die ที่หากใครได้รับชมแล้ว ก็จะเห็นเลยว่ามันคือหนังบอนด์ที่มีไว้สำหรับการส่งท้ายแดเนียล เคร็ก จริง ๆ นอกจากนั้นยังเป็นหนังบอนด์ที่เราได้เห็นแทบทุกมิติความเป็นมนุษย์ของบอนด์เลยก็ว่าได้ 

แดเนียล เคร็ก ปิดฉากตำนานสายลับ 007 ยุคปัจจุบันไว้ที่หนัง 5 เรื่องด้วยกัน โดยเป็นครั้งแรกที่หนังบอนด์ทั้ง 5 เรื่อง มีเรื่องราวที่ต่อเนื่องกันคล้ายกับหนังภาคต่อ 

และหนังบอนด์ยุคของแดเนียล เคร็ก ก็เป็นหนังบอนด์ยุคที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์

เจมส์ บอนด์คนใหม่ ใครดี?

เฮนรี คาวิลล์: นี่อาจเป็นนักแสดงที่แฟน ๆ เชียร์กันมากที่สุดแล้ว เพราะนักแสดงผู้เคยเป็นบุรุษเหล็กซูเปอร์แมน ก็มีหน้าตาที่หล่อเหลาเอาการ ประกอบกับการที่ตัวเขามีสายเลือดอังกฤษอยู่แล้ว นอกจากนั้นยังเคยมีผลงานแสดงเป็นสายลับเจ้าเสน่ห์ใน The Man from U.N.C.L.E (2015) ที่อาจส่งผลให้ใครต่อใครเห็นความเป็นบอนด์ในตัวเขาก็เป็นได้

ทอม ฮาร์ดี้: นี่ก็คนเชียร์ไม่น้อย สำหรับนักแสดงอังกฤษคนนี้ ที่กลับมาแจ้งเกิดกับ Inception ของคริสโตเฟอร์ โนแลน ด้วยหน้าตาที่หล่อเข้มและดุดัน ขณะเดียวกันก็มีความกวนอยู่ในที นอกจากนั้นแคแรกเตอร์ของฮาร์ดี้เองก็ดูมีความคล้ายแดเนียล เคร็ก อยู่เหมือนกัน 

ไอดริส เอลบา: มีกระแสมาพอสมควรถึงความเป็นไปได้ที่บอนด์คนใหม่ จะเป็นบอนด์ฉบับผิวสี! ตามสมัยนิยมที่เปิดกว้างเรื่องเชื้อชาติมากขึ้น และหากเป็นแบบนั้นตัวละครสำคัญก็หนีไม่พ้นรายของ ไอดริส เอลบา นักแสดงผิวสีที่มีผลงานดังมากมาย และมีมาดที่ทั้งนิ่งและมีเสน่ห์เฉพาะตัว

ทอม ฮิดเดลสตัน: ปิดท้ายของเจ้าของตัวละคร โลกิ ขวัญใจแฟน ๆ MCU ที่ยังถือว่าพอมีลุ้นอยู่เหมือนกันกับนักแสดงสายเลือดผู้ดีอังกฤษคนนี้ ด้วยหน้าตาที่มีเสน่ห์ และมาดที่ต้องบอกว่ากินขาด หากจับมาใส่สูท ใส่แว่นดำ แต่รายนี้ก็ได้ออกมาประกาศแล้วว่าไม่ได้มีอะไรติดต่อมาทาบทามอะไรทั้งนั้น ก็ได้แต่รอกันต่อไปว่า รายของฮิดเดลสตันเป็นตัวเลือกหรือเปล่า

โดยมีการเปิดเผยจาก บาร์บาร่า บล็อคโคลี่ โปรดิวเซอร์ใหญ่ของแฟรนไชส์เจมส์ บอนด์ ว่าจะเริ่มดำเนินการคัดเลือกนักแสดงเจมส์ บอนด์คนใหม่กันในปีหน้า ส่วนตอนนี้จะมุ่งความสนใจให้กับ No Time to Die เพียงอย่างเดียวก่อน 

ก็เอาเป็นว่าน่าจะอีกนาน กว่าที่เราจะรู้ว่าใครจะเป็นเจมส์ บอนด์คนใหม่ ซึ่งอาจจะพลิกโผ หักปากกาเซียนกันอีกครั้ง ไม่ใช่ใครสักคนที่เอ่ยชื่อมาเลย …ก็เป็นได้ 


อ้างอิง

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า