fbpx

“Closed on Monday” เหตุใดพื้นที่ศิลปะและพิพิธภัณฑ์จึงปิดทุก ‘วันจันทร์’

สวัสดีวันจันทร์!

วันแห่งการเริ่มต้นสัปดาห์ที่แท้จริง วันแห่งการแหกขี้ตาตื่นไปโรงเรียน ฝ่ารถติดไปทำงาน หรือลากสังขารที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด ทั้งปวดหัว ปวดหลัง ปวดเข่า ให้ออกไปใช้ชีวิตอีกครั้งหลังจากพักผ่อนมาสองวัน หรือบางคนก็อาจจะไม่ได้พัก และต้องลากเลือดออกมาใช้ชีวิตต่อ

สำหรับหลายคนคือจุดเริ่ม แต่สำหรับบางสถานที่ หรือบางคนที่ทำงานในนั้นคือการหยุดพัก หากกวาดสายตาดูตารางเปิดปิดของ art gallery ไปถึงพิพิธภัณฑ์มากมายทั่วเมือง หรือทั่วโลก เราจะพบว่าส่วนใหญ่วันหยุดไม่ใช่วันเสาร์และอาทิตย์เหมือนอย่างเช่นกิจการหรือสถานที่ในรูปแบบอื่น ๆ แต่วันหยุดของพวกเขาคือ ‘วันจันทร์’

ทำไมกัน ‘วันจันทร์’ จึงกลายเป็นวันหยุดของ ‘พื้นที่ศิลปะ’ และ ‘พิพิธภัณฑ์’ ส่วนใหญ่หลากหลายแห่ง บทความนี้จาก The Modernist มีคำตอบ

ภาพจาก Pexels โดย Suzy Hazelwood

เหตุผลบางส่วนในมุมประวัติศาสตร์

ในแง่ประวัติศาสตร์ การปิดทำการในวันจันทร์ของ ‘พื้นที่ศิลปะ’ และ ‘พิพิธภัณฑ์’ ส่วนใหญ่นั้นเหมือนจะเป็นการทำต่อ ๆ กันมา ข้อมูลบางแหล่งกล่าวว่าประเพณีการหยุดให้บริการในวันจันทร์นี้เริ่มต้นตั้งแต่สมัยแรกของการกำเนิดพิพิธภัณฑ์ทางฝั่งยุโรป ก่อนจะแพร่หลายไปยังสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นแบบแผนกลาย ๆ ของการกำหนดให้วันจันทร์กลายเป็นวันหยุดหลัก ๆ ของพิพิธภัณฑ์

สันนิษฐานว่าจุดเริ่มต้นของวันหยุดนี้มาจากรากฐานทางประวัติศาสตร์ของหลายประเทศในยุโรป ที่กำหนดให้ ‘วันอาทิตย์’ เป็นวันแห่งการพักผ่อน ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวหรือคนที่รัก ทำกิจกรรมร่วมกัน และประกอบพิธีทางศาสนา สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในโบสถ์เป็นหลัก

ข้อกำหนดนี้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไป ทำให้กลายเป็นวันที่สถานที่หลายแห่งปิดทำการรวมถึงสถาบันทางวัฒนธรรมทั้งองค์กรในทางศาสนา, กลุ่มผลประโยชน์, สมาคมต่าง ๆ ที่ทำงานในภาคสังคมและวัฒนธรรม และพิพิธภัณฑ์ด้วย เหตุนี้จึงมีการปิดทำการพิพิธภัณฑ์เพิ่มเติมใน ‘วันจันทร์’ เพื่อรองรับงานการบำรุงรักษาและทำความสะอาดของพนักงานดูแลพิพิธภัณฑ์ ก็คือปิดทำการ แต่เปิดเป็นวันทำงานของคนในนั่นเอง

และเนื่องจากอิทธิพลหลายด้านจากพิพิธภัณฑ์ทางฝั่งยุโรป ทำให้พิพิธภัณฑ์ทางฝั่งอเมริกาที่เกิดในช่วงศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 เต็มไปด้วยวิธีคิดและการจัดการในรูปแบบที่คล้ายคลึงกันกับยุโรป ทั้งการที่คอลเลกชั่นงานศิลปะส่วนใหญ่ในยุโรป อย่างพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ในปารีส หรือพิพิธภัณฑ์บริติชในลอนดอน นั้นต่างเป็นต้นแบบให้กับคอลเลกชั่นงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งที่อเมริกา

ภาพจาก Pexels โดย Silvia Trigo

หรืออิทธิพลทางสถาปัตยกรรมจากยุคคลาสสิกและนีโอคลาสสิกของพิพิธภัณฑ์ในยุโรป ก็กลายมาเป็นต้นแบบในการสร้างพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในอเมริกา ไม่ว่าจะพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิตันในนิวยอร์ก หรือหอศิลป์แห่งชาติในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

นั่นทำให้แนวทางการปฏิบัติหลาย ๆ อย่างในพิพิธภัณฑ์ฝั่งยุโรป รวมถึงประเพณีการหยุดทุกวันจันทร์ถูกนำมาเป็นต้นแบบของวิธีคิดในการดูแลและจัดการกับพิพิธภัณฑ์ของอเมริกาด้วยเช่นเดียวกัน แล้วก็ค่อย ๆ กระจายกลายเป็นประเพณีในการเลือกวันหยุดของพิพิธภัณฑ์และ art gallery ต่าง ๆ ทั่วโลก

ภาพจาก Pexels โดย Martin Péchy

เหตุผลบางส่วนในมุมความเป็นจริงที่สอดคล้องกัน

หากมองในมุมประวัติศาสตร์ว่าเป็นเพียงแค่การทำตามกันมา แต่ในมุมความเป็นจริงของโลกยุคปัจจุบัน การปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ในวันจันทร์นั้นก็เป็นเหตุเป็นผลอยู่เช่นเดียวกัน

เหตุผลข้อแรกคือการปิดทำการเนื่องจากเป็นวันที่มีแนวโน้มการเข้าชมต่ำที่สุดในสัปดาห์ ภาพลักษณ์ของวันจันทร์คือวันเริ่มต้นการทำงาน หรือการเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างหลังจากการพักผ่อนอย่างเป็นสากลในวันเสาร์และอาทิตย์สิ้นสุดลง ที่หมายความว่าผู้คนจะไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตในสถานที่อื่น ๆ การหยุดวันจันทร์ของพิพิธภัณฑ์จึงเป็นโอกาสที่ดีของการประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และการเป็นการหยุดให้พนักงานบางส่วนได้พักผ่อน และเอาแรงกับเวลาไปรองรับความต้องการของผู้เข้าชมในวันอื่น ๆ ของสัปดาห์ที่น่าจะมีแนวโน้มการเข้าชมมากกว่า

เหตุผลข้อถัดมาคือการปิดทำการเพื่อทำความสะอาดและการดูแลรักษา ลองคิดดูว่าหอศิลป์กรุงเทพฯ มี 9 ชั้น ถ้าพนักงานทำความสะอาดทั้งวันคงจะรบกวนผู้เข้าชมงานศิลปะอยู่ไม่น้อย ในทางเดียวกันผู้เข้าชมก็รบกวนการทำงานของพนักงานด้วยเช่นกัน การมีวันหยุดเพื่อให้พนักงานมีเวลาดูแลสถานที่อย่างเต็มที่โดยไม่มีสิ่งใดรบกวน จะช่วยให้การเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าชมในวันอื่น ๆ เป็นไปได้ดีกว่า

เหตุผลข้อสุดท้ายคือการปิดทำการเพื่อจัดเตรียมงานศิลปะชุดใหม่ ๆ ให้เสร็จสิ้นครบถ้วน ลองคิดดูว่าเวลาเราอยากไป art gallery เราคงจะไปเพื่อรับประสบการณ์ในทุกพื้นที่อย่างเต็มที่ แต่หากไปแล้วห้องนั้นยังทำไม่เสร็จ ห้องนี้ยังเตรียมงานไม่จบ ก็คงจะเป็นวันที่ไม่จอยไปเลย การหยุดวันจันทร์ของพิพิธภัณฑ์จึงเป็นวันแห่งการติดตั้งงานศิลปะชุดใหม่ ๆ ที่อาจต้องใช้เวลาในการดำเนินการอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตามในพิพิธภัณฑ์ หรือพื้นที่ศิลปะหลากหลายแห่งก็มีความยืดหยุ่นในเรื่องของวันหยุดแตกต่างกันไป บางแห่งหยุดเพิ่มจากแค่วันจันทร์ เป็นการหยุดวันอังคารเพิ่มเติม เพื่อให้พนักงานได้มีวันหยุด 2 วัน เหมือนเช่นพนักงานบริษัทอื่น ๆ ที่ได้หยุดในวันเสาร์ และวันอาทิตย์

ในทางกลับกันพิพิธภัณฑ์และพื้นที่ศิลปะบางแห่งก็เปลี่ยนเป็นเปิดทำการทุกวัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าชมของผู้คน และอาจเป็นโอกาสในการเพิ่มรายได้หรือเพิ่มยอดผู้เข้าชม แม้จะต้องแลกมาด้วยการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับพนักงาน และค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคก็ตาม หรือพิพิธภัณฑ์บางแห่งก็มีการเปิดปิดระหว่างวัน อย่างในประเทศกัมพูชา หรือเวียดนาม ซึ่งได้อิทธิพลมาจากพิพิธภัณฑ์ในฝรั่งเศส และสอดคล้องการรูปแบบการท่องเที่ยวในแต่ละวันของชาวพื้นถิ่น ซึ่งอาจจะประกอบด้วยองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เวลาในการเปิดปิดพิพิธภัณฑ์และพื้นที่ศิลปะแต่ละแห่งทั่วโลกมีความแตกต่างกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก

arnabontempsmuseum 2 / oatuu / tcbmag

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า