fbpx

คุณเป็นทีมไหน? เกษียณไวไฟลุก vs อยู่ยาวเป็นสุขกับงาน

หมดยุคของการทำงานไปจนแก่! เมื่อคนรุ่นใหม่จำนวนมากโดยเฉพาะคน Gen Z มีความใฝ่ฝันที่จะเกษียณเร็วหรือเกษียณให้ได้ภายในช่วงอายุ 35-40 ปี ต้องการสร้างอิสรภาพทางจากเงินและเดินออกจากวงจรมนุษย์เงินเดือน เพื่อไปทำสิ่งที่ตัวเองสนใจโดยไม่ผูกชีวิตไว้ในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ทำให้แนวคิดการเกษียณเร็วแบบ F.I.R.E กลายเป็นที่ได้รับความนิยมในกลุ่ม Gen Z

F.I.R.E (Financial Independence, Retire Early) แนวคิดในการสร้างอิสรภาพทางการเงิน มีจุดเริ่มต้นมาจาก Vicki Robin และ Joe Dominguez เป็นผู้เผยแพร่แนวคิด F.I.R.E ผ่านหนังสือ “Your Money or Your Life” โดยพฤติกรรมการเก็บเงินตามแนวคิดดังกล่าวต้องเก็บเงินให้มากถึง 50-70% ของรายได้ ควบคู่ไปกับการลงทุนเพื่อย่นระยะเวลาในการเกษียณด้วยอิสรภาพทางการเงิน

จากผลสำรวจล่าสุดของ Intuit Credit Karma พบว่า 53% ของคน Gen Z มุ่งมั่นในการเก็บเงินและมีการลงทุนตามแนวคิด F.I.R.E นอกจากนั้นอีก 47% มีแนวโน้มที่จะเกษียณเร็วก่อนกำหนด แต่ปัญหาที่พบคือ 32% มีความตั้งใจเกษียณเร็วแต่ยังไม่มีเงินเก็บสำหรับการเกษียณ อย่างไรก็ตามคน Gen Z มองว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่ยังไม่มีเงินเก็บตอนนี้ เพราะเพิ่งเริ่มต้นทำงานอีกทั้งยังมีช่องทางในการสร้างรายได้มากมาย จึงทำให้พวกเขาไม่ได้รู้สึกว่าการทำตามแนวคิด F.I.R.E เป็นเรื่องที่ยาก

แม้แนวคิด F.I.R.E จะเป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมมากในกลุ่มของ Gen Z แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยมีความเห็นว่าแนวคิด F.I.R.E เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในบริบทของสังคมและวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น อีกทั้งพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่มักใช้เงินซื้อประสบการณ์ชีวิตในปัจจุบัน มากกว่าการเก็บเงินให้เยอะและรอไปใช้ในวันที่เกษียณ ยิ่งไปกว่านั้นการมีข้อเสนอ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” กลายเป็นกับดักที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีอุปสรรคในการเก็บเงินด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี แนวคิด F.I.R.E กลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย The Modernist จึงอยากแชร์มุมมองของคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดเห็นกับแนวคิดของ F.I.R.E จากเวทีดีเบตหนึ่งเดียวในงาน Creative Talk Conference 2023 ในหัวข้อ “เกษียณไวไฟเออร์ F.I.R.E ฝันนี้เป็นจริงได้ไหม” โดยผู้ร่วมดีเบตประกอบไปด้วย คุณโอม – โอมศิริ วีระกุล, คุณทอม – จักรกฤต โยมพยอม, คุณจ๋า – อัยย์ทัชชา พลศรีเลิศ และคุณวอร์ม – สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ พร้อมด้วยเหล่าคอมเมนเตเตอร์ คุณถนอม – ถนอม เกตุเอม, คุณอั้ม – ศุภกร เทพวิชัยศิลปกุล และคุณแพร – พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ โดยสรุปประเด็นต่าง ๆ ได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1: ไลฟ์สไตล์การทำงานและการทำเงิน

การดีเบตเริ่มต้นด้วยคุณโอมอธิบายว่า ตลอดการใช้ชีวิตของคนเราไม่มีช่วงไหนที่ไม่ใช้เงิน เรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญ ทุกคนจึงต้องมีแผนเกษียณ ถึงแม้แนวคิดของ F.I.R.E จะเป็นการเกษียณในช่วงอายุระหว่าง 30-40 ปี แต่รูปแบบการเก็บเงินตามแนวคิด F.I.R.E มีถึง 5 ประเภท ประกอบด้วย Lean FI เกษียณแบบพอเพียง, Regular FI เกษียณแบบรักษารูปแบบชีวิตคงเดิม, Fat FI เกษียณแบบชีวิตหรูหรา, Barista FI เกษียณแบบทำงานพาร์ตไทม์ และ Coast FI เกษียณแบบลงทุนครั้งเดียว ซึ่งแนวคิด F.I.R.E มีความยืดหยุ่นและขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลในการบริหารจัดการวางแผนเกษียณ

ด้านคุณทอมชี้ว่า เขาไม่เห็นด้วยกับแนวคิด F.I.R.E เพราะเขาสามารถทำงานได้ตลอดชีวิต ตราบใดที่ยังมีความสุขกับการทำงานอยู่ ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง พิธีกร หรือนักเขียน การที่ทำงานเหล่านี้เป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มคุณค่าให้กับชีวิตของเขาได้ อีกทั้งคุณทอมเผยผลสำรวจจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ผู้สูงอายุ 10% มีภาวะซึมเศร้าหลังเกษียณ โดยสาเหตุเกิดจากความเคยชินในการที่ทำงานตลอด 30-50 ปี แล้วต้องมาเป็นผู้เกษียณ ส่งผลให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป เคมีในร่างกายจึงมีการเปลี่ยนแปลงจนเกิดเป็นภาวะซึมเศร้า

ประเด็นที่ 2: ภาพความสุขอยู่ในวันนี้หรืออยู่ในอนาคต

คุณวอร์ม หนึ่งในผู้ดีเบตที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิด F.I.R.E มองว่า หากต้องทำตามแนวคิดนี้ ต้องเก็บเงินอย่างน้อย 70% ของรายได้ต่อเดือน สมมติว่ามีเงินเดือน 20,000 บาท เท่ากับว่าต้องเก็บเงินอย่างน้อย 14,000 บาท ซึ่งทำให้เหลือเงินใช้ 6,000 บาท เฉลี่ยต่อวันเหลือเพียง 200 บาทเท่านั้น สำหรับบางคนที่ต้องดูแลครอบครัวไปด้วยแนวคิดนี้จึงไม่ตอบโจทย์วิถีการใช้ชีวิต

คุณวอร์มตั้งข้อสงสัยต่อว่า ทำไมเราต้องเก็บเงินเพื่อรอไปทำสิ่งที่รักในวัยเกษียณ เมื่อวันนั้นมาถึงอาจจะไม่มีเรี่ยวแรงในการออกไปเที่ยวหรือได้ใช้ชีวิตสนุก ๆ เหมือนในวัยหนุ่มสาว พร้อมนำแนวคิดของคนญี่ปุ่นเรื่อง ‘อิจิโกะ อิจิเอะ’ แปลความหมายได้ว่าชีวิตนี้เราอาจจะเจอกับบางอย่างเพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยเขาได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “บางทีโอกาสผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่กลับมาอีกเลย พ่อแม่ไม่ได้อยู่รอไปกินข้าวในวันที่เราเกษียณ ฉะนั้นผมจึงอยากถามว่า จำเป็นมากแค่ไหนกับการต้องรีบเกษียณ ในเมื่อโอกาสมาได้ทุกช่วงเวลาของชีวิตและเราสามารถมีความสุขไปได้เรื่อย ๆ”

ทางด้านคุณจ๋าตอบโต้ว่า การเกษียณตามแนวคิด F.I.R.E ประกอบไปด้วย 3 เงื่อนไขหลัก ได้แก่ เงื่อนไขแรกต้องรู้ตัวเองก่อนว่ามีเป้าหมายเกษียณตอนอายุเท่าไร และจะใช้เงินเท่าไรในวันนั้น เงื่อนไขที่สองหากต้องการใช้เงินที่มีจำนวนมาก ก็ต้องเก็บเงินให้มากขึ้น แต่สำหรับใครที่ไม่ได้ต้องการเงินจำนวนมากขนาดนั้น ในการเกษียณก็สามารถเก็บเงินเท่าที่ตัวเองพอรับได้ และเงื่อนไขสุดท้ายคือการใช้สกิลที่ชอบเพื่อหารายได้เสริม หากมีการวางแผนตามโครงสร้างชีวิตและทำตามเงื่อนไขทั้งหมดนี้ จะสามารถเกษียณได้เร็วไวและอุ่นใจมากขึ้น เพราะนี่คือ comfort zone ในการเกษียณที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์

ประเด็นที่ 3: ชีวิตมนุษย์เงินเดือนกับเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน

ในการดีเบตรอบสุดท้ายเป็นการพูดถึงมุมมองชีวิตมนุษย์เงินเดือนและเศรษฐกิจในไทยที่ไม่มีความแน่นอน ด้านคุณโอมอธิบายว่า ยุคปัจจุบันผันผวนไปอย่างรวดเร็ว หากหยุดทำงาน 1 ปีเหมือนสูญเสียไป 10 ปี ซึ่งแนวคิดการเกษียณแบบ F.I.R.E ไม่ใช่แนวคิดที่บอกให้ทุกคนหยุดทำงาน แต่เป็นสิ่งที่เข้ามาตอบโจทย์มนุษย์เงินเดือนที่อยากหนีจากวัฏจักรการทำงานที่วนลูป

“วัฏจักรการทำงานคือ เริ่มงาน 9 โมง เลิกงาน 6 โมง รถติด 3 ชั่วโมง กว่าจะอาบน้ำ 4 ทุ่ม ดูหนังจบ ดูข่าวสามมิติต่อ นอนอีกทีเที่ยงคืน แล้วก็ตื่นมาทำงานอีกรอบ บวกกับในภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน เงินสำรองฉุกเฉินจึงต้องมีเป็นพื้นฐาน แผนการเกษียณก็ต้องมองในระยะยาวมากขึ้น” คุณโอมกล่าวเสริม

คุณวอร์มถามกลับว่า “หากเราต้องรีบเกษียณ ชั่วโมงการทำงานก็จะเพิ่มขึ้น อาจจะต้องเริ่มทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้า เลิกงานอีกที 4 ทุ่ม หากเป็นแบบนี้ การเกษียณเร็วจะเวิร์กจริงหรือไม่”

คุณโอมตอบกลับว่า “ความโชคดีของยุคสมัยใหม่นี้ คือ เราสามารถบริหารจัดการเงินได้หลายช่องทาง การทำธุรกิจปัจจุบันไม่จำเป็นต้องสต็อกสินค้าเอง มีเครื่องมือใหม่ ๆ ในการสร้างรายได้ และอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญคือการบริหารต้นทุน ‘เวลา’ ที่ทุกคนมีเท่ากัน บางคนโฟกัสการทำงานกับองค์กรอย่างเดียวจนไม่ได้แบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นเลย ดังนั้นต้องกลับมามองที่ตัวเราว่าควรบริหารจัดการอย่างไร เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดวิกฤตอะไรขึ้นบ้าง”

คุณทอมตอบโต้ว่า “วิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องกำหนดกฎเกณฑ์ให้ชีวิตมากขนาดนั้นว่าต้องเกษียณเมื่อไร เพราะวิกฤตสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราควรมีความสุขกับการทำงานทุกวัน อย่างน้อยความเครียดที่เกิดขึ้นก็จะน้อยกว่าการที่เรากำหนดเป้าหมายให้ชีวิต ซึ่งการมีแผนเกษียณเป็นเรื่องที่ดีแต่เราไม่จำเป็นต้องเกษียณ ควรจะรับมือไว้ในกรณีที่ฉุกเฉินมากกว่าการทำตามแผนทั้งหมด เพราะแผนเกษียณไม่ใช่แกนหลักของการใช้ชีวิตและไม่ควรให้แผนเกษียณมาบังคับชีวิตเรา”

ตอนท้ายของการดีเบตเหล่าคอมเมนเตเตอร์ได้สรุปเนื้อหาการดีเบต โดยคุณถนอมมองว่า ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแนวคิด F.I.R.E ที่สำคัญคือควรมีเป้าหมายในชีวิต เพียงแต่ต้องไม่นำเป้าหมายมากดดันในสิ่งที่ตัวเองเป็น และอย่างน้อยทุกคนต้องรู้ตัวเอง ว่าต้องการมีเงินเท่าไรในวันที่เกษียณ

“ทั้งสองฝ่ายมีจุดร่วมเดียวกันคือความสุขในการใช้ชีวิต แต่จุดที่แตกต่างกันคือ ความสุขเหล่านั้นอยู่ในปัจจุบันหรืออยู่ในอนาคต ซึ่งคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิด F.I.R.E มองว่าตัวเองสามารถมีความสุขได้ในทุก ๆ วัน ส่วนคนที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ มองว่าตัวเองสามารถมีความสุขได้เช่นกัน เพียงแต่ความสุขที่ว่านั้นอยู่ในอนาคต พวกเขาจึงมีการวางแผนเกษียณที่ชัดเจน 

อย่างไรก็ตาม จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแนวคิด F.I.R.E ขึ้นอยู่กับจังหวะชีวิตและช่วงวัยของแต่ละคน สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าเป้าหมายในชีวิตคืออะไร แล้วค่อยเลือกแนวทางที่เหมาะสม เพราะสุดท้ายแล้วการใช้ชีวิตก็ไม่มีถูกไม่มีผิด” คุณแพรสรุป

ที่มา : creditkarma

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า