fbpx

To be fair, It’s BOOK FAIR (?) เมื่องานหนังสือมี “แฟนไซน์” แทรก ความสำคัญแรกอยู่ไหน?

แฟนหนังสือทุกคนรู้ดี กลางเดือนสี่และเดือนสิบคือเวลาของ “งานหนังสือ” มหกรรมใหญ่คู่แลนด์มาร์กศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เวลาที่ทุกคนเฝ้ารอซื้อหนังสือออกใหม่ เวลาที่ทุกคนได้ตามหาหนังสือที่อยากได้มานาน เวลาที่นักอ่านได้พบปะสนทนากับนักเขียนในดวงใจ และเป็นเวลาที่คนรักหนังสือได้มาเจอกัน

แต่เหนือกว่าประโยชน์ในมุมผู้บริโภค งานหนังสือมีความสำคัญต่อสำนักพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสืออย่างยิ่ง ในฐานะงานรวมตัวผู้ผลิตครั้งใหญ่ ปีหลัง ๆ มานี้เราจึงได้เห็นบรรยากาศมหกรรมวิ่งมาราธอนของเหล่าสำนักพิมพ์ที่มีกลเม็ดเด็ดพรายมานำเสนอผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นธีมประจำงาน ลำดับการเปิดตัวหนังสือ คำโปรย ปกใหม่ ตลอดจนโปรโมชันที่ดึงดูดใจล่อให้เราล้มละลายเหมือนถูกสาปทุกครึ่งป

ก่อน “ศูนย์สิริกิติ์” จะรีโนเวตไม่นาน ปัญหาใหญ่ที่งานหนังสือประสบคือผู้เข้าร่วมงานที่ลดลง แม้จะแตะหลักล้านอย่างสม่ำเสมอ ซึ่ง pain point นี้แก้ได้ด้วยการจัดระเบียบผังงานให้เดินสะดวกขึ้น ทว่ามรสุมโควิดก็ทำให้ผู้เข้าร่วมงานลดน้อยลงตามมาตรการของรัฐที่บันดาลให้ทุกอีเวนต์คนน้อยลงทั้งคนจัดคนดู กระนั้น งานหนังสือก็สู้กลับด้วยการจัดงานในรูปแบบออนไลน์ซึ่งวัดผลหลัก ๆ ด้วยเงินสะพัดแทนการเข้าร่วมงาน

ล่าสุด สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้จัดงานหนังสือได้เผยแพร่สถิติการเข้าชมงานสัปดาห์หนังสือ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตลอดจนผลการสำรวจความพึงพอใจระหว่างงาน พบว่า แม้ผู้เข้าชมงานจะสูงถึง 1,148,674 คน แต่ยอดขายที่เกิดขึ้นสูงถึง 350,578,678 บาท ซึ่งถือว่าเป็นยอดที่สูงมากเมื่อเทียบกับงานหนังสือในสถานการณ์ปกติ ทั้งนี้ทั้งนั้น ความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมงานเน้นหนักไปที่ความหลากหลายของหนังสือในงาน ตลอดจนราคาหนังสือ และโปรโมชันในงานที่ดึงดูดใจผู้อ่านด้วย

กระนั้น เมื่อมาตรการทุกอย่างผ่อนคลาย ทุกคนเบาใจจากโควิด แถมงานหนังสือยังได้กลับบ้านอย่างศูนย์สิริกิติ์ ยอดผู้เข้าร่วมงานก็กลับมาสูงขึ้นด้วย แต่อุปสรรคสำคัญที่งานหนังสือต้องกลับมาเผชิญอีกครั้งคือ “อีเวนต์แทรก”

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แฮชแท็ก #งานหนังสือ66 ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการจัด Fan Meeting ศิลปิน จนทำให้การสัญจรเพื่อเข้าชมงานแออัด สร้างความไม่พอใจแก่คนที่มาเลือกซื้อหนังสืออย่างยิ่ง และเกิดการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของการจัดงานที่ “ไม่เกี่ยวข้อง” กับงานหนังสือด้วย

มาถึงเดือนตุลาคม คำถามเรื่องความเหมาะสมของ “อีเวนต์แทรก” เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเกิดกิจกรรม “แจกลายเซ็นจากศิลปิน” จากการออกหนังสือในวาระพิเศษ ขึ้นอีกครั้งจนทำให้ทวีตเชิญชวนเข้าร่วมงานหนังสือรอบหลังนี้ถูก “ทัวร์ลง” ยับจากนักอ่านในทวิตภพ

และเมื่อเขาว่ากันว่า สิ่งแสดงทัวร์ลงที่ชัดเจนที่สุดคือจำนวนโควตเยอะกว่าจำนวนรีโพสต์ เราจึงทำการสำรวจโควตเหล่านั้น พบว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ วิจารณ์การจัดงานเช่นนี้ว่าไม่เหมาะสม หากต้องการจัดงานจริง ๆ ให้เลี่ยงไปจัดที่ฮอลล์อื่นที่แยกออกจากบริเวณที่จัดงานแทนเพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดไปในตัวด้วย

ขณะเดียวกัน เมื่อเราเข้าไปตรวจสอบบรรยากาศการจัดงานดังกล่าวบนโลกออนไลน์ พบว่ามีการกั้นโซนอย่างชัดเจน มีกฎกติกาในการ “แจกลายเซ็น” อย่างชัดเจนรวมไปถึงสอดคล้องกับงานหนังสือด้วยการมีกิจกรรม talk ถึงเนื้อหาของหนังสือในการแฟนไซน์ (fansign) ครั้งนี้

คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมแทรกเหล่านี้คือ แล้วความสำคัญแรกของการมางานหนังสืออยู่ “ที่ไหน”

จากสถิติในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมงานที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่าง ๆ อันเนื่องจากงานหนังสือนั้นเป็นสิ่งที่ผู้เข้าชมงานพิจารณาเป็นลำดับหลัง ๆ ซึ่งมีแนวโน้มไม่แตกต่างจากงานหนังสือครั้งก่อนๆ สอดคล้องกับการสำรวจความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดียในเรื่องนี้ พบว่าเป็นเหรียญสองด้าน เรื่องหนึ่ง เราอาจพบว่าการจัดกิจกรรมเหล่านี้สามารถเพิ่มยอดผู้เข้าชมงานหนังสือได้ ยิ่งเมื่อเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับหนังสือด้วยแล้ว ก็อาจดึงความสนใจของเหล่าแฟนคลับมาที่หนังสือที่จัดจำหน่ายในงานอีกด้วย

อีกหนึ่งปัจจัยน่าสนใจของกลุ่มผู้เข้าชมงานหนังสือคือวัฒนธรรม “แฟนด้อม” ที่เกิดขึ้น ความเติบโตของ “แฟนฟิค” (fan fiction) ในสังคมไทยเกิดจากการสนับสนุนของแฟนคลับศิลปินนั้น ๆ อย่างชัดเจน ซึ่งแม้วรรณกรรมเหล่านี้จะเติบโตงอกงามผ่านการสร้างและเสพบนโลกออนไลน์ แต่ผลพวงจากความนิยมดังกล่าวนำมาซึ่งการจัดพิมพ์แฟนฟิคเหล่านี้โดยสำนักพิมพ์ต่าง ๆ จนเคยเกิดการพบปะระหว่างนักเขียนและแฟนคลับมาแล้ว หรือหากศิลปินดาราออก “พ็อกเก็ตบุ๊ก” กับสำนักพิมพ์ต่าง ๆ จึงจะมีกิจกรรมแจกลายเซ็นเกิดขึ้น เราจึงอาจมองได้อีกแง่ว่า นี่คือการแจกลายเซ็นเช่นกัน แต่ว่ามีสเกลที่ใหญ่ขึ้น ฐานแฟนคลับเติบโตมากยิ่งขึ้น ในวันที่การประชาสัมพันธ์งานทั่วถึงยิ่งขึ้น

ในขณะเดียวกัน เสียงจากผู้เข้าชมงานหนังสือยังสะท้อนว่า แม้การจัดอีเวนต์เช่นนี้จะมีการแก้ปัญหาด้วยการจัดในพื้นที่แยก มีตารางจำกัดชัดเจนทั้งวันและเวลาจัดงาน แต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อบรรยากาศของงาน จนอาจลบเลือนความสำคัญแรกของงานหนังสือที่เป็นแหล่งรวมผู้จัดพิมพ์หนังสือ ตลอดจนเป็นที่พบปะระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคหนังสือในรอบ (ครึ่ง) ปี ทั้งนี้ทั้งนั้น กิจกรรมและนิทรรศการต่าง ๆ ในงานหนังสือรอบนี้ได้พยายามที่จะนำเสนอวัฒนธรรมใหม่ ๆ ในวงการหนังสือเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการชูประเด็นทางสังคมเพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมและชุมชนการอ่านที่เผชิญกับข้อวิจารณ์ว่า “ซบเซา” ลงมาโดยตลอด

อนึ่ง ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป อาจทำให้พฤติกรรมการเลือกซื้อของคนไทยเปลี่ยนแปลง การสั่งซื้อหนังสือไม่จำเป็นต้องไปถึงที่ เพียงแค่รู้ว่าอยากอ่านหนังสือเล่มใด ก็สามารถกดสั่ง ใช้โค้ดส่วนลด ก็มาส่งถึงที่พร้อมให้เราเช็กสภาพ หรือแม้กระทั่งชิมจากตัวอย่างในเว็บไซต์ แล้วจิ้มลิงก์สั่งอีบุ๊กก็ได้ กระนั้นตัวเลขผู้เข้าชมงานหนังสือแบบ on ground ก็เป็นเครื่องชี้ชัดว่าพฤติกรรมการช็อปออนไลน์อาจใช้ไม่ได้เสมอไปกับโลกของหนังสือ เราอาจจำเป็นต้องตั้งคำถามทบทวนกันว่า ความสำคัญแรกในการจัด “งานหนังสือ” คือสิ่งใดกันแน่ 

และความสำคัญแรกนี้จะยังคงเป็นที่ถกเถียงต่อไป

แหล่งอ้างอิง : urbancreature / pubat 1 / thailandbookfair / twitter 1 / becommon

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า