fbpx

เพราะสื่อของ Farose คือ Farose – รีวิวเว็บไซต์ farose.studio พื้นที่ปล่อยของใหม่ของคุณแดงและชาวคณะ

ตั้งแต่เด็กจนโต เราเชื่อเสมอว่าพื้นที่ของ ‘เว็บไซต์’ นั้นเป็นพื้นที่แสนศักดิ์สิทธิ์ ที่ไม่ว่าจะสร้างสรรค์อย่างไรก็จะไม่พ้นความเป็นทางการ จริงจัง ไม่ว่าก่อนหน้านั้น ‘กลุ่มบุคคลนั้น ๆ’ จะมีบุคลิกที่สนุกสนาน หรือเคยทำคอนเทนต์ / สินค้าออกมารูปแบบไหนก็ตาม เวลาสิ่งนั้นถูกนำเสนอบนแพลตฟอร์มของเว็บไซต์ มันจะกลายเป็นความจริงจังไปหมด

สื่อมวลชนเองก็นำเสนอ ‘ตัวตน’ ของตัวเองบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจไม่ว่าจะผ่านรูปแบบวิดีโอที่มีเนื้อหาหลากหลาย ทั้งคลิปยาว คลิปสั้น ที่อาจกลายเป็นไวรัลสุดโด่งดังในสังคม หรือนำเสนอตัวตนในรูปแบบบทความสั้น ๆ บน Facebook ที่เต็มไปด้วย Storytelling หรือรูปแบบภาษาที่ชวนอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ แต่เมื่อทุกอย่างที่ว่าไปถูกจับมารวมกันในเว็บไซต์ ดันทำให้ความน่าอ่านลดลงมากพอสมควร

อาจเพราะตัวตนที่เสียไป หรือรูปแบบ ‘แนวคิด’ และ ‘DNA’ ที่แข็งแรงนั้นไม่ได้ถูกนำเสนอในเว็บไซต์มากเพียงพอ

แต่ล่าสุดก็มีเว็บไซต์หนึ่งที่นำเสนอตัวตนของเจ้าของสื่อนั้น ๆ ได้อย่างน่าสนใจ นั่นคือ ‘farose.studio’ เว็บไซต์คอนเทนต์ที่ Spin-off เพิ่มเติมจากช่อง Youtube ‘Farose’ Content Creator ที่เปิดโลกกว้างทางความคิดและความรู้ให้ผู้ชมมากว่า 5 ปีแล้ว และขวบปีนี้ช่องทางเว็บไซต์ใหม่ของ Farose กำลังจะทำให้ภาพรวมใหม่ของ Farose น่าสนใจขึ้น

และด้วยความน่าสนใจนี้เอง เราเลยขอรีวิวเว็บไซต์ farose.studio แบบกระชับ เพื่อให้คุณได้รู้จักความน่าสนใจของเว็บไซต์ใหม่นี้ไปด้วยกัน

รู้จักช่อง Youtube ‘Farose’ แบบคร่าว ๆ

เดิมทีช่อง Youtube ‘Farose’ คือช่องส่วนตัวของ ‘ฟาโรส-ณัฏฐ์ กลิ่นมาลี’ เจ้าของสถาบันสอนภาษาอังกฤษ ‘Farose Academy’ ที่เคยลงคลิปคอนเทนต์ทั่ว ๆ ไปอยู่ราว 3 – 4 คลิป ในช่วงแรก ก่อนที่เธอจะเริ่มต้นทำคลิปจริงจังรายการแรกในชื่อ ‘ไปเรื่อย’ ซึ่งเป็นรายการที่ฟาโรสมานั่งเล่าเรื่องไปเรื่อย ๆ ตามความสนใจส่วนตัว

รายการไปเรื่อย EP.1 ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560

ฟาโรสผุดรายการที่สองในชื่อ ‘ไกลบ้าน’ ซึ่งเกิดจากความบังเอิญในการท่องเที่ยวทั่วโลกกับเพื่อน บทสนทนาระหว่างกันที่น่าสนใจถูกเล่าทิ้งไปเฉย ๆ ฟาโรสจึงหยิบกล้องมาเพื่อบันทึกโมเมนต์ และบันทึกบทสนทนาระหว่างการท่องเที่ยวที่มีคุณค่านั้นเอาไว้ จนสุดท้ายก็กลายเป็นคอนเทนต์หลักของช่องไปโดยปริยาย

รายการไกลบ้าน EP.1 ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561

เรื่อยมาจนถึงตอนนี้ ช่อง Farose กลายเป็นช่องสาระความรู้ภาษาไทย ที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์สากล ทั้งเรื่องราวประวัติศาสตร์ในประเทศ บุคคลสำคัญของโลก หรือเรื่องราวตามความสนใจของฟาโรสและผองเพื่อน ที่เคยเป็นแขกรับเชิญในรายการไกลบ้าน และกลายเป็นผู้เล่าเรื่องในรายการอื่น ๆ ภายในช่อง ทำให้เกิดความหลากหลายในฐานะผู้เล่า แต่เรื่องราวยังคงเป็นเรื่องเก่าที่น่าสนใจอยู่เสมอ

จากนั้น  ‘Farose’ สร้างช่องแยกใหม่ในชื่อ ‘Farose Podcast’ ช่องพอดแคสต์เล่าเรื่องสาระ หรือเกร็ดความรู้ที่มีทั้งประเด็นร่วมสมัย และประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ และแตกต่างด้วย DNA ของผู้เล่าที่มีความเป็นองค์รวมต่อยอดมาจากช่องหลัก และเพิ่งต่อยอดกลายเป็นคอนเทนต์บทความในเว็บไซต์ ‘farose.studio’ ที่แตกต่างจากสื่ออื่นทั่วไป และมีความเป็นปัจเจกอย่างช่อง ‘Farose’ ทุกประการ

รีวิวหน้าเว็บแรกของ ‘farose.studio’

เมื่อเข้าหน้าแรกของเว็บไซต์ ภาพแรกที่เห็นช่างดูสบายตา เว็บไซต์ถูกนำเสนอด้วยความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ตามสไตล์เว็บไซต์คอนเทนต์ทั่วไป ไล่เรียงจากด้านบนสุดถึงด้านล่างด้วยหมวดหมู่บทความ บทความใหม่ล่าสุด บทความคัดเลือกโดยบรรณาธิการ

ตัวอย่างหน้าแรกของเว็บไซต์ farose.studio

ส่วนที่จะแตกต่างจากเว็บไซต์อื่นคือการใส่หน้าตาของ ‘Content Creator’ ไว้ที่หน้าแรกของเว็บไซต์ จากการเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในช่อง Youtube หลักเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งทำให้ความแข็งแรงของคอนเทนต์แตกต่างจากเว็บไซต์คอนเทนต์อื่น ๆ ในตลาด รวมถึง section เนื้อหาพิเศษจากรายการหลักในช่อง ‘Farose’ และ ‘Farose Podcast’ ซึ่งจะยิ่งทำให้คอนเทนต์หลักแข็งแรง และคอนเทนต์ side story น่าสนใจมากขึ้นไปอีก

ภาษา ‘Farose’ ใน ‘farose.studio’

ด้วยความที่ ‘ผู้เล่า’ ช่อง ‘Farose’ เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นหลัก ทำให้ DNA ความสร้างสรรค์ และความแตกต่างจะยิ่งชัดเจนขึ้น เหมือนกับที่ช่อง Youtube ‘Farose’ และ ‘Farose Podcast’ สร้างความแตกต่างจากช่องอื่นได้อย่างชัดเจน

ตัวอย่างคำที่ใช้บนหน้าแรกของเว็บไซต์ farose.studio

เมื่อกลายเป็นเว็บไซต์คอนเทนต์ แม้หน้าเว็บจะเหมือนกับเว็บไซต์อื่นทั่วไป แต่ภาษาที่เว็บไซต์นี้เลือกใช้นั้นทำให้กำแพงความจริงจังของบริบทเว็บไซต์ในประเทศไทยทลายลง ด้วยคำสนุก ๆ ที่ถูกนำมาใช้แทนคำทั่วไปบนเว็บไซต์คอนเทนต์ เช่น คำว่า ‘ใหม่ล่า’ ที่ถูกใช้เป็นคำพาดหัวเนื้อหาใหม่ล่าสุด, ‘เรื่องเด่นเป็นดาว’ คำพาดหัวเนื้อหาที่น่าสนใจ, ‘แจ้งทราบ’ คำพาดหัวเนื้อหาฝากประชาสัมพันธ์ หรือเนื้อหาอื่นที่ไม่ใช่บทความทั่วไปในเว็บไซต์ หรือ ‘ตัวต้นเรื่อง’ คำพาดหัวแนะนำ Content Creator ที่เป็น ‘ผู้เล่า’ กลุ่มเดียวกันในช่อง Youtube

หรืออย่างหัวข้อหมวดหมู่คอนเทนต์ ที่แม้จะเป็นคำทั่วไปอย่าง ‘Art & Culture’ ‘Food & Travel’ ‘People & Society’ หรือ ‘Sci & Tech’ แต่ในนิยามของคอนเทนต์ในหัวข้อรองก็ยังมิวายใส่ความเป็น ‘Farose’ ลงไป อย่างเช่นในหัวข้อ ‘Money & Business’ ก็นิยามบทความในหมวดนี้ว่า “กินหรู อยู่สบาย เลือกใช้ของแบรนด์เนม สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สะสมอัญมณีเพชรพลอย”

แม้แต่แถบพื้นที่โฆษณาบนเว็บไซต์ที่รอสปอนเซอร์มาลง ก็ใช้คำว่า ‘รอเฟิร์ม’ บนพื้นที่ที่ลูกค้ากำลังรอเคาะ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นรูปแบบภาษาที่กล้าพูดว่าไม่เคยเห็นบนเว็บไซต์ไหน ที่อาจจะกลายเป็นวิธีการใหม่ในการนิยามเว็บไซต์ที่เคยเป็นความจริงจังแบบเดิม ๆ

ตัวอย่างคอนเทนต์เซ็ตแรกในเว็บ ‘farose.studio’

‘ซื้อไอโฟนยังไงให้คุ้มค่าที่สุด’

‘4 วิธีบริหารเงินของกะเทยวัย 30’

‘ชีโหโชว์บ้าน’

‘วิธีเอาสามีให้อยู่หมัด ฉบับเมียหลวงนัมเบอร์วัน’

‘3 วิธีเก๋ๆ ให้รอดพ้นจากการโดนด่า เมื่อมาทำงานสาย’

แค่ชื่อก็แตกต่างแล้ว

คอนเทนต์บทความเซ็ตแรกของเว็บ ถูกกระจายตามหมวดหมู่ต่าง ๆ ภายในเว็บไซต์ ด้วยประเด็นที่แตกต่างหลากหลาย และใช้ลีลาการเล่าที่ง่ายที่สุด แต่สร้างสรรค์และแตกต่างที่สุดจากเว็บไซต์ทั่วไป

วิธีการเล่าส่วนใหญ่บนเว็บไซต์ถูกนำเสนอในแนวทางที่คล้ายกับ ‘บล็อกเกอร์’ คือมีความทางการน้อยที่สุด เพื่อนำเสนอตัวตนของผู้เขียนให้มากที่สุดในประเด็นต่าง ๆ ที่ใช้เล่า ซึ่งมีความเป็นปัจเจกสูง และเลือกใช้ท่าทางการเล่าเดียวกันกับมุมความเป็น ‘ผู้เล่า’ บนคลิปใน Youtube ที่ทำให้ DNA ของ ‘Farose’ เดิมยังอยู่ครบ แม้จะกลายเป็นตัวอักษร แต่ทุกครั้งที่เราอ่านบทความของ ‘ตัวต้นเรื่อง’ คนไหนก็ตามบนเว็บไซต์นี้ เราก็ได้ยินเสียงของเขาและเธอลอยมาตามตัวอักษรที่อ่านด้วยเช่นกัน

สำหรับใครที่ยังไม่เคยติดตามช่องคุณฟาโรสและชาวคณะ ลองกดดูคลิปของพวกเธอ และอ่านบทความของพวกเธอได้ที่ @FAROSECHANNEL และ FAROSEPODCAST หรือ farose.studio

ขอบคุณข้อมูลจาก: adaybulletin

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า