fbpx

‘UNO’ การ์ดเกมสามัญประจำบ้าน ที่ใช้ความสร้างสรรค์สร้างความยั่งยืน

      เชื่อว่าในชีวิตผู้คนส่วนใหญ่ไม่มากก็น้อยต้องเคยผ่านการพบเห็น ลองเล่น ไม่ก็เป็นเซียน ‘UNO’ เกมไพ่ไม่กี่ชนิดที่อาจจะรอดจากการถูกอาจารย์ริบที่โรงเรียน ตัวเกมว่าด้วยการใช้ค่าตัวเลข 0-9 และสีสันฉูดฉาดมาสร้างสัมพันธ์กันเป็นทอด ๆ ผนวกเข้ากับกติกาสุดปั่นที่สร้างสรรค์ขึ้นอย่างหลากหลายเพื่อความสนุกสนานบันเทิงของมวลมนุษยชาตินานกว่า 50 ปี

      ที่ต้องเรียกว่าเป็นเกมที่หยิบมาเล่นเมื่อไหร่ สนุกได้เมื่อนั้น และถึงแม้บางคนอาจจะรู้สึกว่าการละเล่นจำพวกบอร์ดเกม หรือการ์ดเกมเข้าถึงยาก เมื่อได้ลองเล่นเกมนี้ก็ติดใจ และกลายเป็นใบเบิกทางสำหรับการเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในวงการบอร์ดเกมเลยก็ยังได้

      ‘UNO’ ถือกำเนิดและพัฒนาตัวเองไปในหลายที่ทางกว่าครึ่งศตวรรษ ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้คงไม่ใช่เรื่องง่ายเป็นแน่ วันนี้เราเลยขอพาคุณไปรู้จักที่มาแต่แรก และที่ไปจนถึงบัดนี้ของการ์ดเกมสามัญประจำบ้านชุดนี้กัน

แจกการ์ด

จุดเริ่มต้นจากการแปลงเกมที่มีอยู่

      ‘UNO’ ถือกำเนิดขึ้นอย่างง่าย ๆ ใน 1971 โดย ‘เมิร์ล ร็อบบินส์ (Merle Robbins)’ ช่างตัดผมชาวอเมริกัน จากเมืองรีดดิ้ง รัฐโอไฮโอ อ่านแค่นี้ก็เริ่มงงแล้วว่าเขากลายเป็นคนคิดเกมแสนยิ่งใหญ่นี้ได้อย่างไร

      แรกเริ่มเดิมทีเมิร์ลเป็นผู้เล่นเกม ‘Crazy Eights’ ตัวยง ซึ่งทำให้ครอบครัวของเขาเล่นเกมนี้บ่อยครั้งด้วยเช่นเดียวกัน อุปกรณ์การเล่นเกมนี้ก็คือไพ่ทั่วไป 1 สำรับ วิธีการเล่นโดยคร่าว ๆ คือการพยายามลงไพ่ยังกองทิ้งในรูปแบบ ‘โดมิโน่’ ให้หมดมือเป็นคนแรก นั่นคือลงไพ่ที่มีค่าตัวเลขเดียวกันกับไพ่ใบบนสุดของกองทิ้ง หรือดอกเดียวกันกับไพ่ใบบนสุดของกองทิ้ง สมมติว่าไพ่ใบบนสุดคือ 2 โพธิ์แดง ไพ่ที่ลงได้คือไพ่เบอร์ 2 ดอกอะไรก็ได้ และไพ่ดอกโพธิ์แดง เลขอะไรก็ได้

      โดยกติกาในการผ่านตาเล่นไปยังผู้เล่นคนถัดไปมีประการเดียว คือการลงไพ่ ‘เบอร์ 8’ เท่านั้น จึงเป็นที่มาของชื่อเกม ‘Crazy Eights’ นั่นเอง

      จากการเล่นเกมนี้มาอย่างยาวนาน ทำให้เขาพยายามหาทางพลิกแพลงวิธีการเล่นบางอย่างเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ที่ดีขึ้นในการเล่นเกมรูปแบบนี้ เขาจึงกำหนดให้ไพ่ ‘King’ แทนไพ่พิเศษที่ทำให้ทิศทางการเล่นในขณะนั้นย้อนกลับ, ไพ่ ‘Queen’ แทนไพ่พิเศษที่เมื่อเล่นแล้ว จะข้ามตาผู้เล่นคนถัดไป และไพ่ ‘Ace’ แทนไพ่พิเศษที่ใช้ลงเป็นการ์ดทดแทนไพ่อะไรก็ได้ โดยเขาใช้ปากกาเมจิกง่าย ๆ เขียนกติกาเหล่านี้ลงในการ์ดเหล่านั้น เพื่อสร้างภาพจำในการเล่นด้วยกันเอง

      ด้วยกติกาใหม่นี้ทำให้เขาพบว่าเกม ‘Crazy Eights’ ที่เคยเล่นเปลี่ยนไป และกลายเป็นเกมใหม่ที่ทำให้ผู้เล่นอายุน้อยเรียนรู้กติกาเกมแบบนี้ได้ไวขึ้นอีกด้วย

      นี่จึงถือกำเนิดไอเดียที่ทำให้จากแค่การพลิกแพลงเกม กลายเป็นการพลิกแพลงสู่เกมชนิดใหม่ที่เคลือบความสนุกเอาไว้อย่างครบรส และเกิดไอเดียให้เมิร์ลอยากออกแบบชุดการ์ดใหม่เพื่อใช้เล่นในเกมใหม่นี้ที่เขาปรับปรุงขึ้นมา

จั่วการ์ด

พัฒนาสู่ธุรกิจเล็ก สู่เส้นทางธุรกิจยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครคาดคิด

      ช่วงเวลาถัดมา เมิร์ลและภรรยาของเขา ‘มารี ร็อบบินส์ (Marie Robbins)’ ได้ขายบ้านเพื่อเอาเงินมาลงทุน รวมถึงลูกชายของเขา ‘เรย์ ร็อบบินส์ (Ray Robbins)’ ก็นำเงินมาช่วยลงทุนด้วยส่วนหนึ่ง เพื่อผลิตชุดการ์ดเกมกว่า 5,000 ชุดมาเริ่มต้นขายกันเองในร้านตัดผมของเมิร์ล

      พวกเขาตั้งชื่อเกมนี้ว่า ‘UNO’ อ่านว่า อู-โน่ เป็นภาษาสเปนและอิตาลีที่มีความหมายว่า ‘หนึ่ง’ ซึ่งตั้งตามกติกาหนึ่งในเกม นั่นคือในช่วงท้ายของผู้เล่นที่เหลือการ์ดในมือเพียง 1 ใบ จะต้องพูดว่า ‘UNO’ ออกมา ที่ถือว่าเป็นจุดแข็งที่เด็ดขาดมาก เพราะการประกาศคำนี้ออกมาก็ยิ่งทำให้ผู้เล่นจดจำทั้งตัวเกม และกติกาการเล่นได้เป็นอย่างดี กลยุทธ์คล้าย ๆ กับเกม ‘บิงโก (BINGO)’ ที่กำหนดให้ผู้เล่นประกาศชื่อเกมเมื่อสร้างค่าตัวเลขที่เรียงกันในแนวตั้ง แนวนอน หรือแนวทแยงได้นั่นเอง

      หลังจากเริ่มขายในบ้านตัวเอง เมิร์ลและภรรยาก็นำเกมนี้ไปเร่ขายตามแคมป์ต่าง ๆ ทั้งในรัฐเท็กซัส และฟลอริดา จนขายหมดทั้ง 5,000 ชุด เขาและเธอก็สั่งทำเพิ่มอีก 10,000 ชุด เพื่อวางขายในร้านค้าปลีกเล็ก ๆ สุดท้ายเกมนี้ก็แพร่หลายออกไปนอกเมืองโอไฮโอเรื่อย ๆ จนขยายไปทั่วประเทศ

      ส่วนหนึ่งของความสำเร็จดังกล่าวต้องยกความดีความชอบให้กับ ‘บ๊อบ เทแซ็ค (Bob Tezak)’ นักการตลาดมืออาชีพที่ยื่นมือเข้ามาช่วยให้ความนิยมของเกมนี้ก้าวกระโดด ผ่านการจัดการสต๊อกเกมในนามของ ‘International Games Incorporated (IGI)’ และการทำการตลาดในหลากหลายรูปแบบ เพื่อทำลายคำปรามาสของผู้คนว่า “ไม่มีใครอยากติดต่อซื้อขายกับบริษัทที่มีสินค้าชิ้นเดียว”

      เทแซ็คใช้กลยุทธ์การนำ UNO ไปเป็นของรางวัลในรายการเด็กที่มีตัวตลกแสนโด่งดังในยุคนั้นเป็นผู้ดำเนินรายการอย่าง ‘The Bozo Show’ ที่ทำให้เกิดการมองเห็น และเกิดลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้อเกมพวกเขาไปกว่า 50,000 ชุด หรือการที่เทแซ็คโทรศัพท์ติดต่อฝ่ายขายของ ‘Wal-Mart’ เพื่อวางขายเกมของพวกเขาในร้านค้ารายใหญ่ รวมไปถึงไม้ตายสุดท้ายที่เทแซ็คไม่ยอมขายลิขสิทธิ์เกมนี้ให้กับบริษัทไหนเลย จนกระทั่ง ‘Mattel’ บริษัทผลิตของเล่นเจ้าใหญ่ของโลกมาติดต่อขอซื้อ เขาจึงไม่ลังเลที่จะขายมันออกไป

      และนั่นทำให้ ‘UNO’ ยิ่งอยู่ยั้งยืนยงและไม่มีวันตาย จากความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบตัวเกมให้ใหม่อยู่เสมอ

Draw Four

จากความคิดสร้างสรรค์ การตลาด และการพัฒนาที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
ทำให้การ์ดเกมสามัญประจำบ้านนี้ไม่เสื่อมความนิยม

      ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ‘UNO’ ยังคงเป็นเกมที่ยืนหยัดอยู่ในอุตสาหกรรมสินค้าอำนวยความสนุกได้เป็นอย่างดี สร้างทั้งยอดขาย และสร้างความรู้จักมักคุ้นกับชีวิตผู้คนทุกเพศทุกวัยทั่วโลก ซึ่งความสำเร็จของ ‘UNO’ นั้นเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมายที่กอปรรวมกันทำให้เกมนี้้อยู่เหนือกาลเวลา และดูจะเป็นการ์ดเกมที่ยั่งยืนในวงการ เราเลยอยากลองวิเคราะห์ถึงข้อได้เปรียบต่าง ๆ ที่ทำให้ ‘UNO’ เรียกได้ว่าเป็นเกมสามัญประจำบ้านของทุกคนจริง ๆ

1. ความเรียบง่าย

      อย่างที่บอกไปว่าตัวเกม UNO ถูกพัฒนามาจากเกมคลาสสิกที่มีอยู่เดิมอย่าง ‘Crazy Eights’ ซึ่งเล่นกันแพร่หลายอยู่แล้ว พอเกมถูกปรับให้ง่ายขึ้น ทำให้เรียนรู้และเข้าใจตัวเกมได้ไว รวมถึงทำให้รู้สึกสนุกกับตัวเกมได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เล่น

2. รอบการเล่นในเกมค่อนข้างรวดเร็ว

      โดยทั่วไประยะเวลาการเล่น UNO ต่อ 1 รอบนั้นค่อนข้างสั้น ซึ่งอาจจะใช้เวลาราว 10 – 15 นาที ซึ่งแปลว่าเราไม่ต้องเสียเวลาเล่นเกมนี้นานนัก และกลายเป็นข้อได้เปรียบของกลุ่มคนที่ต้องการหาอะไรสนุก ๆ เล่นในระยะเวลาไม่นานมากนัก

3. ช่วยปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้เล่น

      จากการเรียนรู้และเข้าใจได้ง่ายในระยะสั้น และความเข้าถึงง่ายของเกม ทำให้ UNO เป็นตัวเลือกที่ดีในการเชื่อมความสัมพันธ์ หรือละลายพฤติกรรมระหว่างกันไม่ว่าใครกับใครก็ตาม เพราะเกมนี้เล่นได้ทุกเพศทุกวัย รวมถึงมู้ดในการเล่นก็ไม่ได้จริงจังหรือเครียดเกินความจำเป็น ทำให้วงการเล่น UNO มีความเป็นมิตรและชวนตื่นเต้นได้ในเวลาเดียวกัน

4. ตัวเกมมีความเป็นสากล

      ด้วยรูปแบบของการ์ดที่ไม่ได้เอียงไปยังชาติใดชาติหนึ่ง ตัวเกมมีความเป็นสากลในด้านกติกาที่เข้าใจง่าย ตัวการ์ดก็ใช้เพียงตัวเลขอารบิก และสัญลักษณ์แทน action ที่ต้องกระทำภายในเกมเท่านั้น ซึ่งเป็นเกมที่ก้าวข้ามอุปสรรคทางวัฒนธรรมและภาษา และจุดนี้มีส่วนทำให้เกิดความนิยมไปทั่วทั้งโลก

5. มีความสมดุลทั้งด้านกลยุทธ์และโชคลาภ

      ตัวเกม UNO เกี่ยวข้องกับทั้งองค์ประกอบการเล่นด้านโชคลาภจากการสุ่มหยิบไพ่จากกองกลาง แต่ในขณะเดียวกันผู้เล่นก็สามารถใช้กลยุทธ์ในการตัดสินใจเล่นไพ่ในมือ ว่าจะเล่นไพ่ใบใดและเล่นเมื่อไหร่ อีกทั้งยังต้องคาดเดาล่วงหน้าว่าผู้เล่นคนก่อนหน้าจะเล่นอย่างไร หรือสรรหากลยุทธ์มากลั่นแกล้งเพื่อนคนถัดไปเพื่อไม่ให้เขากลายเป็นผู้ทิ้งไพ่จนหมดมือแทน

6. เพิ่มรูปแบบการเล่นใหม่และการ์ดพิเศษอยู่เสมอ

      นอกจาก UNO เวอร์ชั่นปกติแล้ว เกม UNO ยังคงสร้างสรรค์และพลิกแพลงรูปแบบเกมเดิมให้ใหม่สดอยู่เสมอ อย่างเช่น ‘UNO FLIP’ การ์ดเกมเวอร์ชั่นพิเศษที่ทำให้ไพ่ด้านหลังกลายเป็นหน้าตัวเลขเหมือนเช่นอีกด้านหนึ่ง โดยเรียกว่า ‘Dark Side’ และเรียกหน้าการ์ดเวอร์ชั่นปกติว่า ‘Light Side’ โดยฝั่งดาร์กก็จะเต็มไปด้วยการ์ดพิเศษที่แตกต่างและปั่นป่วนมากกว่าเวอร์ชั่นปกติที่อยู่ทางอีกด้านหนึ่ง

      หรือการแปลงเกม UNO ให้กลายเป็นเกมรูปแบบอื่น ๆ ที่ยังคงกลิ่นอายและอ้างอิงกติกาเดิมของ UNO อย่างการผสมกับกติกาเกมอื่น ๆ ที่มีอยู่เดิม เช่น UNO Chess, UNO Bingo, UNO Stacko (เกม UNO ในรูปแบบ Jenga) หรืออย่างการเพิ่มอุปกรณ์บางอย่างที่เสริมการเล่นจากแค่การ์ดเกมปกติ เช่น UNO Spin เกมเวอร์ชั่นที่มีวงล้อเสี่ยงดวงกติกาพิเศษแถมไปด้วย หรือ UNO Attack เกมเวอร์ชั่นที่มี ‘เครื่องพ่นการ์ด’ เพื่อให้ผู้เล่นใช้แทนการจั่วการ์ดปกติ เครื่องพ่นออกมากี่ใบก็ถือว่าจั่วการ์ดจำนวนตามที่ได้รับ

      หรืออย่างการ์ดพิเศษต่างๆ ของ UNO อย่างการ์ดข้าม การ์ดย้อนกลับ หรือการ์ดจั่วเพิ่มสองใบนั้น ต่างช่วยเพิ่มองค์ประกอบของความคาดเดาไม่ได้และความตื่นเต้นให้กับเกม การ์ดเหล่านี้สามารถพลิกแพลงความได้เปรียบ-เสียเปรียบของเกม รวมถึงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังมีการสร้างสรรค์กติกาพิเศษใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อเพิ่มใน UNO เวอร์ชั่นดัดแปลง หรือเวอร์ชั่นที่ผนวกเข้ากับภาพยนตร์ เกม การ์ตูน แบรนด์ หรือสื่ออื่น ๆ ต่างก็มีการเพิ่มการ์ดกติกาพิเศษเฉพาะในแต่ละเวอร์ชั่น ซึ่งสร้างความแตกต่างจากการเล่น UNO เวอร์ชั่นปกติได้อีกด้วย

7. เล่นแต่ละครั้ง ความหลังก็ลอยมา

      เชื่อว่าในชีวิตหลาย ๆ คนก็ต่างมีความทรงจำดี ๆ หรือที่เรียกว่า ‘Nostalgia’ กับ UNO มากมาย จากการได้เล่นกับเพื่อนหรือครอบครัว ซึ่งเมื่อเราโตมา UNO ก็ไม่ได้เป็นเกมที่เล่นแล้วดูเด็ก แต่ UNO คือเกมแห่งมิตรภาพที่เราสามารถมีความสุขกับมันได้ทุกช่วงวัยที่เข้าใจกติกาการเล่น จุดนี้ก็ถือเป็นบทบาทสำคัญที่ทำให้ UNO สามารถรักษาความนิยมของเกมได้อยู่เรื่อย ๆ แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 50 ปีก็ตาม

8. ตัวเกมพกพาสะดวก ไปได้ทุกที่

      ตัวเกม UNO มีขนาดกะทัดรัดและพกพาได้ ทำให้สะดวกในการพกพาสำหรับการเล่นเกมอย่างกะทันหัน การพกพาได้นี้มีส่วนทำให้ UNO ได้รับความนิยมในฐานะเกมที่เล่นได้ทุกที่ และเล่นได้ทุกเมื่อ และแทบจะเป็นกิจกรรมสามัญเวลาพบปะสังสรรค์กับใครก็ตาม

9. การ Collab กับสินค้าอื่นอย่างมากมาย

      อีกสิ่งที่เป็นจุดขายหลักของ UNO ที่ยังทำให้ตัวเกมคงความนิยม นั่นคือการออกเวอร์ชันที่มีธีมและลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ผสมผสานในตัวเกม ซึ่งมีแฟรนไชส์ยอดนิยมอย่าง Disney, Marvel มาร่วมสร้างสรรค์หน้าตา และกติกาของตัวเกมให้น่าสนใจมากมาย และเป็นตัวดึงดูดให้แฟน ๆ ของแฟรนไชส์เหล่านั้นเข้ามาซื้อ UNO เวอร์ชั่นเหล่านี้ไปด้วย

10. มีพลวัตอย่างต่อเนื่อง

      แม้ว่ากติกาหลักของ UNO ยังคงเหมือนเดิม แต่ UNO ยังคงเป็นเกมที่สนใจเทรนด์ กระแส และหยิบสิ่งเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ให้กับตัวเกมอยู่เสมอ อย่างเช่น ‘Left hand UNO’ เกมเวอร์ชั่นพิมพ์ใหม่เพื่อคนถนัดซ้าย เพราะเวลาเล่นและเราต้องแผ่การ์ดเพื่อดูค่าตัวเลขที่อยู่บนมุมซ้ายบน คนถนัดซ้ายอาจจะแผ่แบบนั้นได้ไม่ถนัดนัก การ์ดเวอร์ชั่นนี้จึงสลับตัวเลขไปอยู่มุมขวาบนแทน, ‘UNO Braille’ เกมเวอร์ชั่นพิเศษที่พิมพ์อักษรเบรลล์ลงบนแผ่นการ์ดไปด้วย หรือ ‘UNO Colorblind’ การ์ดเวอร์ชั่นพิเศษสำหรับผู้มีภาวะตาบอดสี โดยใช้สัญลักษณ์พิเศษแทนค่าสีบนการ์ดแต่ละใบ

ขอบคุณข้อมูลจาก : upi / museumofplay 1

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า