fbpx

ธรรมเนียมในคอนเสิร์ตแต่ละแนว ที่ทำตามแล้วจะได้อรรถรส

สำหรับนักฟังเพลง การชมคอนเสิร์ตถือเป็นกิจกรรมที่ขาดไม่ได้ในการเสพดนตรี ด้วยเสียงเพลงที่ศิลปินบรรเลงให้ฟังกันแบบสดๆ แสงสีเสียงที่เร้าอารมณ์ สถานที่ที่เอื้อให้เสียงดนตรียิ่งมีพลัง และอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมที่หลอมรวมกันกลายเป็นบรรยากาศแห่งความสุข

คอนเสิร์ตเป็นพื้นที่ซึ่งคนที่มีความแตกต่างหลากหลายมารวมตัวกัน ด้วยจุดประสงค์เดียวกันคือการดื่มด่ำเสียงเพลงและบรรยากาศ ทว่าในความร้อยพ่อพันแม่ จึงจำเป็นต้องมีธรรมเนียมในการชมคอนเสิร์ต เพื่อให้ผู้ชมทุกคนได้ซึมซับบรรยากาศ ฟังดนตรีได้อย่างมีความสุข มีอิสระ และปลอดภัยภายในพื้นที่แห่งศิลปะแขนงนี้

อย่างไรก็ตาม นอกจากกฎเกณฑ์พื้นฐานอย่างการเตรียมตัวให้พร้อม มาถึงสถานที่ตรงเวลา ปิดเครื่องมือสื่อสาร และไม่รบกวนคนอื่นขณะชมการแสดง คอนเสิร์ตแต่ละแนวก็มีธรรมเนียมปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของดนตรีและวัฒนธรรมของแฟนเพลงนั้นๆ

คอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิก

ดนตรีคลาสสิกเป็นดนตรีที่เต็มไปด้วยรายละเอียดซับซ้อน มีช่วงไดนามิกที่กว้าง และมีความเป็นบทกวี ซึ่งผู้ที่ฟังเพลงแนวนี้มักจะต้องการฟังรายละเอียดทุกอย่าง โดยที่เสียงร้องและเสียงดนตรีจะไม่ถูกขยายเสียงผ่านลำโพง เพราะฉะนั้น มารยาทที่สำคัญที่สุดในการชมคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกคือ ต้องทำให้ผู้อื่นสามารถฟังเพลงได้โดยที่ไม่ถูกรบกวน

ด้วยเหตุนี้ ในการเข้าชมคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิก ผู้ชมจึงต้องมาถึงสถานที่จัดคอนเสิร์ตตรงเวลา และหาที่นั่งให้เรียบร้อยก่อนการแสดงจะเริ่ม หากมาไม่ทัน ต้องรอจนกว่าจะถึงช่วงพักเบรกระหว่างเพลง จึงจะสามารถเข้าไปหาที่นั่งได้

ขณะที่เพลงบรรเลงอยู่ ผู้ชมต้องไม่ส่งเสียงดัง หลีกเลี่ยงการพูดคุย ปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดในระหว่างคอนเสิร์ต รวมถึงถอดหมวก เพื่อไม่ให้บังสายตาผู้ชมที่อยู่ด้านหลัง

ถ้าไม่สามารถส่งเสียงให้กำลังใจศิลปินขณะทำการแสดงได้ แล้วผู้ชมจะใช้วิธีในการแสดงความรู้สึก? ธรรมเนียมในการปรบมือของคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกมีดังนี้

เมื่อเพลงจบลง วาทยากรจะส่งสัญญาณว่าเพลงจบแล้ว โดยการวางมือข้างลำตัว และขณะที่วาทยากรยกมือค้างไว้ด้านหน้า หมายความว่าดนตรียังบรรเลงอยู่ แม้ว่าจะเป็นเสียงเงียบก็ตาม เพราะฉะนั้น ตราบใดที่วาทยากรยังไม่ลดมือลงวางข้างลำตัว ผู้ชมต้องไม่ส่งเสียงดังหรือปรบมือ

อย่างไรก็ตาม ธรรมเนียมการปรบมือขณะชมคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่น ปลายศตวรรษที่ 18 นักแต่งเพลงอย่างโมซาร์ต จะคาดหวังให้คนพูดคุยกัน โดยเฉพาะขณะรับประทานอาหารเย็น และจะดีใจมาก หากผู้ชมปรบมือให้กับเทคนิคทางดนตรีที่ยอดเยี่ยมของเขา

ต่อมาในศตวรรษที่ 19 สถานที่เล่นดนตรีเปลี่ยนแปลงจากงานเลี้ยงของชนชั้นสูงไปสู่เวทีสาธารณะ นักดนตรีชื่อดังอย่างมาห์เลอร์จะคอยควบคุมการปรบมือของหน้าม้าที่รับจ้างชมคอนเสิร์ต โดยเฉพาะในเพลง Kindertotenlieder ที่ไม่ควรมีเสียงปรบมือรบกวนระหว่างที่เพลงบรรเลง

และในศตวรรษที่ 20 เมื่อมีเทคโนโลยีการอัดเสียงเกิดขึ้น ก็ทำให้เสียงปรบมือที่แทรกระหว่างการบรรเลงเพลงซิมโฟนีหรือเพลงชุด ถือเป็นการรบกวนการเลื่อนไหลของเพลงและความเป็นหนึ่งเดียวของเพลง และปัจจุบันนี้ถือเป็นมารยาทที่ไม่ดี แม้จะเป็นเสียงปรบมือเบาๆ หรือทำไปด้วยเจตนาดีก็ตาม


แต่สำหรับโอเปรา ผู้ชมสามารถปรบมือเพื่อแสดงความประทับใจได้ แม้ดนตรีจะยังบรรเลงอยู่ การโห่ร้องตะโกนพร้อมปรบมือเป็นมารยาทที่ยอมรับได้ โดยสามารถตะโกนว่า bravo หรือ brava ในกรณีที่เป็นนักแสดงหญิง หรือ bravi สำหรับนักแสดงหลายคน และ bravissimo สำหรับการแสดงที่ยอดเยี่ยม


เมื่อคอนเสิร์ตจบลง นักดนตรีจะลงจากเวที แต่หากผู้ชมยังคงปรบมือดังต่อเนื่อง นักดนตรีจะกลับขึ้นมาบนเวทีอีกครั้ง และอาจจะเล่นเพลงพิเศษเพิ่ม เพราะฉะนั้น การปรบมือต่อเนื่องของผู้ชมจึงเป็นเหมือนการ “อังกอร์” (Encore) ให้นักดนตรีขึ้นมาแสดงอีกครั้งในระยะเวลาสั้นๆ การที่ผู้ชมเดินออกจากฮอลล์ในช่วงนี้จึงถือว่าเป็นการเสียมารยาท คอนเสิร์ตจะจบลงอย่างสมบูรณ์เมื่อเสียงปรบมือจบลงและเปิดไฟในฮอลล์

ดนตรีแจ๊ส

ดนตรีแจ๊สเป็นดนตรีที่มีรากมาจากดนตรีบลูส์ และแร็กไทม์ มีจุดเด่นอยู่ที่การด้นสด (improvisation) และยังเป็นดนตรีที่มีการเล่นอยู่ทั่วโลก ในสถานที่ทั้งกลางแจ้งและสถานที่ปิด

หากสถานที่จัดคอนเสิร์ตแจ๊สเป็นสถานที่ปิด ให้ใช้ธรรมเนียมเดียวกับคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิก คือการไปถึงสถานที่จัดงานตรงเวลา ไม่พูดคุยเสียงดังรบกวนผู้อื่น แต่ธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่แตกต่างกับดนตรีคลาสสิกก็คือ ผู้ชมสามารถปรบมือให้กับนักดนตรี หลังจากเล่นท่อนโซโลแบบด้นสดได้ ถือเป็นการแสดงความชื่นชมความสามารถของนักดนตรี

ดนตรีร็อกและเมทัล

โดยทั่วไป คอนเสิร์ตดนตรีร็อกและเมทัลจะเป็นการเล่นดนตรีผ่านเครื่องขยายเสียง ทำให้เกิดเสียงที่ดัง และมีไดนามิกที่แน่นอนมากกว่าดนตรีคลาสสิก ดังนั้น การที่ผู้ชมส่งเสียงดังจึงไม่ได้ทำลายบรรยากาศในการฟังดนตรีร็อกและเมทัลมากเท่ากับคอนเสิร์ตแนวอื่นๆ

ลักษณะของดนตรีที่กระแทกกระทั้น หนักหน่วง เร้าอารมณ์ให้ผู้ชมแสดงปฏิกิริยาต่างๆ จนกลายเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมา ไม่ว่าจะเป็นการโยกหัว ชนกำปั้น การปีนขึ้นไปบนเวทีและกระโดดลงมาใส่ผู้ชมคนอื่นๆ หรือ stage diving ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ crowd surfing หรือการกระโดดและนอนเคลื่อนตัวไปบนคลื่นของผู้ชมคนอื่นๆ ในฮอลล์

แต่ธรรมเนียมของชาวร็อก พังก์ และเมทัลเฮดที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ “มอชพิต” (mosh pit) ซึ่งก็คือการที่ผู้ชมยืนเป็นวงกลมหน้าเวที และวิ่งเข้ามากระแทกตัวใส่กัน ราวกับว่าทุกคนกำลังมีเรื่องกระทบกระทั่งกัน  แต่ที่จริงแล้ว “มอชเชอร์” (mosher) เหล่านี้ไม่ได้ตีกัน ตรงกันข้าม มอชพิตคือการแสดงความเป็นมิตรต่อกันตามสไตล์ชาวร็อกนั่นเอง

การแสดงพลังของมอชเชอร์ภายในมอชพิต สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ “circle pit” คือการวิ่งวนไปรอบๆ วงมอชพิต และ “walls of death” หรือการแบ่งมอชเชอร์ออกเป็นสองฝั่ง และวิ่งเข้ามาชนกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพของมอชพิตที่ปรากฏในสื่อจะดูเป็นภาพที่รุนแรง แต่ที่จริงแล้ว การมอชก็มีกฎ กติกา มารยาท ที่ทุกคนยึดถือเช่นกัน ซึ่งกฎเหล็กของมอชพิตคือ หากมีใครล้มลงในวง ต้องช่วยกันพยุงขึ้นมา และจะไม่มีการทำร้ายร่างกายหรือทะเลาะวิวาท ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม หากเกิดการพลาดพลั้ง ทำให้ผู้อื่นเจ็บตัว ให้ขออภัยอย่างสุภาพและเป็นมิตร และจะไม่มีการบังคับให้ผู้อื่นเข้ามาเล่นในมอชพิต นอกจากนี้ หากพบว่ามีคนบาดเจ็บรุนแรงจากการมอช ให้ทุกคนล้อมวงเพื่อป้องกันคนเจ็บ โดยเผื่อพื้นที่ไว้สำหรับหายใจ จนกว่าจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ 

กิจกรรมที่เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของคอนเสิร์ตร็อกและเมทัล คือ crowd surfing หรือการกระโดดและนอนเคลื่อนตัวไปบนคลื่นของผู้ชมคนอื่นๆ ที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัน และทุกสภาพร่างกาย สามารถทำได้ โดยที่ผู้คนด้านล่างจะคอยผลักตัวไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ตามมารยาทแล้ว ไม่ควรทำ crowd surfing เกินหนึ่งครั้ง เนื่องจากจะสร้างความรำคาญให้ผู้ชมคนอื่นๆ ที่ต้องยกตัวคุณในขณะที่ชมคอนเสิร์ตไปด้วย นอกจากนี้ การ crowd surfing ไม่ได้แปลว่าอนุญาตให้ใครก็ตามมาลวนลามหรือล่วงละเมิดทางเพศ เพราะฉะนั้น ไม่ควรล่วงละเมิดผู้ที่ทำ crowd surfing

แม้จะดูเหมือนว่ามอชพิตหรือ crowd surfing จะเป็นธรรมเนียมหลักของคอนเสิร์ตร็อกและเมทัล แต่ที่จริงแล้ว ในระบบนิเวศของดนตรีร็อกและเมทัลยังมีผู้คนจำนวนมากที่ตั้งใจมาฟังเพลง โดยที่ไม่ได้กระโดดเข้าร่วมวงมอชพิต ดังนั้น ผู้ชมคอนเสิร์ตร็อกและเมทัลจึงสามารถเลือกจุดที่ยืนตามประสบการณ์ที่อยากจะได้รับ

โดยทั่วไปแล้ว คอนเสิร์ตร็อกและเมทัลจะแบ่งออกเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ แถวหน้า ซึ่งจะเป็นที่รวมพลของแฟนคลับฮาร์ดคอร์ ผู้ชมจะยืนเบียดกันแน่น ทำให้เคลื่อนตัวได้ยาก ถัดจากนั้นจะเป็นพื้นที่สำหรับมอชพิต ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ชมจะกระแทกตัวเข้าใส่กัน สร้างวง circle pits และ walls of death หรือทำตัวไร้สาระ และพื้นที่ห่างจากมอชพิต ซึ่งจะเป็นพื้นที่ของแฟนเพลงทั่วไป อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปผู้ชมคอนเสิร์ตมักจะเลือกจุดที่มองเห็นเวทีได้ชัด ไม่ไกลจากบาร์ มีพื้นที่ที่เพียงพอในการโยกหัว

Sources :
LibreTexts / RebelsMarket / metal stuff / ascribe

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า