fbpx

‘Threads’ เข้าเมืองไทย ผู้ใช้งานโพสต์อะไรในวันแรกกันบ้าง

นับตั้งแต่การเข้ามากุมอำนาจนกฟ้าของ ‘อีลอน มัสก์’  ที่ทำให้แพลตฟอร์มทวิตเตอร์สั่นคลอนอย่างหนัก จากอาการผีเข้าผีออก หรือการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของ CEO ซึ่งส่งผลให้ทั้งคนทำงานในทวิตเตอร์เอง หรือผู้ใช้งานก็เอือมระอาไปตาม ๆ กัน

จนมีแพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ที่คล้ายคลึงกับทวิตเตอร์ออกมาให้ได้ใช้กันมากมาย เพื่อตอบสนองผู้ใช้งานที่เบื่อ ๆ เซ็ง ๆ กับเจ้านกฟ้า ตั้งแต่ ‘Bluesky’ แอปฯ ฝาแฝดทวิตเตอร์โดย CEO เก่าที่เขาทำเอง หรือ ‘Mastodon’ ที่คล้ายคลึงกับทวิตเตอร์ แต่เป็นแพลตฟอร์มฟรีที่ทุกคนสามารถปรับแต่งได้อย่างอิสระมากกว่า

ล่าสุดนายหัว ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ ของฝั่ง Meta ก็ได้เวลาออกโรงฉากใหญ่ เปิดตัวแพลตฟอร์มในเครือใหม่อย่าง ‘Threads’ ที่คล้ายกับทวิตเตอร์เหมือนกัน แต่ด้วยความสะดวกสบายในการใช้งาน ที่แทบไม่ต้องสมัครบัญชีใหม่ แค่ผูกเข้ากับแอ็กเคานต์ Instagram ก็สามารถใช้งานได้แทบจะทันที ทำให้ช่วงเช้าของการเปิดตัวในวันนี้ (6 กรกฎาคม 2566) เต็มไปด้วยผู้ใช้รายใหม่ที่ต่อแถวกันโพสต์ Threads เพื่อต้อนรับการมาถึงของมัน

เราเลยขอเก็บตกซักเล็กน้อยว่าโพสต์แรก ๆ ของผู้ใช้งาน Threads ในวันแรกของการเปิดตัว พวกเขาโพสต์อะไรกันบ้างนะ

เริ่มต้นด้วยผู้ใช้งานยุคโบราณของทวิตเตอร์ ที่ดูจากรูปโปรไฟล์ในทวิตเตอร์แล้วเรียกได้ว่าเห็นเป็นเม็ดพิกเซล อย่าง ‘สุกรี’ หรือแอ็กเคานต์ @sugree แอ็กเคานต์ในตำนานที่โพสต์อะไรลอย ๆ ไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อกลับมาดูซ้ำอีกครั้งก็พบว่าข้อความบางอย่างมันสะท้อนบริบทสังคมปัจจุบันได้แบบเป๊ะ ๆ ก็มีคนตามหาใน Threads แล้วตั้งแต่วันแรก ใจเย็นสิพี่ มันเพิ่งเปิด !

อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือมีคนทดลองพิมพ์ # (Hashtag) ในระบบโพสต์ของ Threads แล้วพบว่าใช้การไม่ได้ เป็นเรื่องน่าแปลกเหมือนกันที่ระบบนี้ไม่สามารถใช้ได้ในแพลตฟอร์มออนไลน์แบบนี้ แต่ไม่เป็นไร รอดูกันไปเรื่อย ๆ อาจจะเป็นแค่บั๊ก ในภายภาคหน้า หรืออาจจะแค่ไม่กี่วันก็คงจะแก้ไขได้

เรื่องการจำกัดรูปในโพสต์ก็เป็นหนึ่งเรื่องที่ผู้คนอาจจะอึดอัดไปบ้างในบางกรณี เพราะบางครั้งเราก็ต้องการพื้นที่ในการโพสต์รูปครั้งเดียวมากกว่า 4 รูปก็มี ซึ่งข้อนี้ Threads ก็เอาระบบเดียวกันกับการโพสต์รูปใน Instagram มาใช้ คือโพสต์รูปหรือคลิปวิดีโอพร้อมกันทีเดียวได้ถึง 10 รูป ในเธรดเดียวเลย

บางส่วนก็มองว่าพี่มาร์กก็ตัวดีไม่แพ้กัน ลด Reach ในเฟสบุ๊กให้คนทำคอนเทนต์ต้องปวดเศียรเวียนเกล้าไปตาม ๆ กัน จากนั้นจึงค่อยเปิดระบบเสียเงินรายเดือนให้คนต้องยอมจ่ายเพื่อเปิดการมองเห็น มันใช่มั้ยนะพี่มาร์ก !?

จนเรื่องนั้นจบไป แสงสว่างใหม่เรืองรองมาในนาม Threads ที่เปิดโอกาสให้ผู้อพยพจากเรือนกฟ้า มาขึ้นฝั่งพร้อม ๆ กัน แต่ผู้ใช้งานก็ไม่ได้ไว้ใจพี่มาร์กขนาดนั้น เพราะคาดเดาว่าในอนาคตอาจจะมีการเปิดระบบ Verified ผ่านการเสียเงินให้พี่มาร์กในแพลตฟอร์มใหม่นี้ก็เป็นได้

ตลอดช่วงเช้าวันนี้เต็มไปด้วยผู้คนที่สมัครเข้าใช้งานแพลตฟอร์มใหม่นี้กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ซึ่งข้อหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือการสมัครเพื่อหนีจากทวิตเตอร์ ที่กลายเป็นแอปฯ ลูกผีลูกคนเหมือนอย่างที่กล่าวไว้ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งผู้ใช้งานวันแรกก็มีทั้งผู้ที่โพสต์ทักทายแพลตฟอร์มใหม่ หรือโพสต์เพื่อแซะกลับไปยังทวิตเตอร์ก็มี เพราะนอกจากทวิตเตอร์จะสั่นคลอนด้วยอีลอนแล้ว ตอนนี้ทวิตเตอร์ก็กำลังสั่นคลอนอีกระลอกด้วยกระแสที่มาแรงของ Threads ด้วยเช่นเดียวกัน

อันนี้ก็ตลกร้ายเหมือนกัน เพราะท้ายที่สุดแล้วสังคมทวิตเตอร์ก็เต็มไปด้วยเนื้อหาของกระแสรายวันที่ทันท่วงที ซึ่งวันนี้ก็เป็นกระแสของแพลตฟอร์ม Threads คู่แข่งของตัวเอง ที่มีพื้นที่เทรนด์ทิวเตอร์ของตัวเองด้วยเช่นกัน ใจนึงก็สงสารอีลอน ใจนึงก็น่าตลกดีเหมือนกันนะ

อีกเรื่องที่พี่มาร์กแอบซ่อนความแสบของตัวเองไว้ คือการสร้างปุ่มแชร์ไปยัง Twitter ได้ทันที ! ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกัน แถมเป็นคู่แข่งกันอีกต่างหาก เรียกได้ว่านอกจากทำแอปมาแข่งกัน ยังเปิดโอกาสให้โพสต์ตัวเองได้ไปอยู่บนพื้นที่คู่แข่งได้แบบง่าย ๆ อีกด้วย

ในอีกมุมหนึ่งก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่า พอคุณสมบัติในการโพสต์ใกล้กันแบบนี้ คงจะมีคนทำคอนเทนต์ที่ใช้ Threads เป็นพลเมืองชั้นสองในการโพสต์คอนเทนต์ หรือกล่าวง่าย ๆ ว่าโพสต์เดียวกันนี้จะถูกโพสต์ใน Twitter ก่อน ที่มีความเป็นแอ็กเคานต์มากกว่า ก่อนจะนำโพสต์ที่มารายละเอียวเดียวกันนี้มาโพสต์อีกครั้งใน Threads นั่นเอง

เรื่องสุดท้ายที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือการก่อร่างสร้างตัวตนของคนใน Threads ที่แม้จะเป็นแพลตฟอร์มฝาแฝดของทวิตเตอร์ แต่การสร้างแอ็กเคานต์ในแพลตฟอร์มนี้แตกต่างจากทวิตเตอร์อยู่มากโข รวมถึงกลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มแรก ๆ ก็ยังคงเป็นผู้ใช้งานคนละกลุ่มกันกับในทวิตเตอร์

ทำให้เราคาดการณ์อนาคตของสังคมผู้ใช้งาน Threads ได้ยากอยู่หน่อย แต่ก็มีผู้ใช้งานบางคนเชื่อว่าอีกไม่นานเราน่าจะรู้ว่า สุดท้ายสังคมผู้ใช้งานจะถูก Shape ให้ไปในทิศทางไหน เพื่อผลสุดท้ายคนทำคอนเทนต์ทั้งหลายจะได้เข้าใจกลุ่มเป้าหมายในแพลตฟอร์มใหม่นี้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า