fbpx

“ร่างทรง” หนังเปิดตัวอันดับ 1 ที่เกาหลีของ GDH ที่ใช้ความเชื่อพื้นถิ่นเดินทางไปทั่วโลก

เราตื่นเต้นกับการร่วมงานระหว่างค่ายหนังอารมณ์ดี GDH และโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์เกาหลีมือฉมังอย่างนาฮงจิน และโต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับฝีมือดีที่มีผลงานภาพยนตร์หลากหลายแนวซึ่งได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่อง

ถึงตอนนั้นเราจะรู้อยู่แล้วว่าร่างทรง คือชื่อโปรเจคต์นั้น แต่เราก็ตั้งตารอภาพยนตร์ที่ผู้กำกับจากสองประเทศได้ร่วมงานกัน จนเราได้เห็นตัวอย่างแรกและข่าวการทุบสถิติรายได้ Box Office ที่เกาหลีซึ่งทำรายได้รวมกว่า 250 ล้านบาท การทำสถิติที่ดีมากๆ ในไต้หวัน รวมถึงบทวิจารณ์ การออกสื่อ คำชมจากภาพยนตร์ การเปิดพื้นที่ถกเถียงในวงกว้าง นำไปสู่การได้รางวัล Best of Bucheon จากเวที ​​Bucheon International Fantastic Film Festival และการถูกเลือกให้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์ทั้งในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรีย ทำให้เราในฐานะคนไทยตั้งตารอที่จะชมภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างใจจดใจจ่อ

ก่อนที่เราจะได้ชมร่างทรงในโรงภาพยนตร์แบบถึงอารมณ์ Modernist มีนัดหมายพิเศษกับโต้งและสองนักแสดงนำอย่างญดา-นริลญา กุลมงคลเพชร และเอี้ยง-สวนีย์ อุทุมมา มากะเทาะเบื้องหลัง ถอดบทเรียนจากการทำงานภาพยนตร์ด้วยฉากหลังพื้นถิ่นอีสาน การเรียนรู้บทเรียนใหม่ๆ ผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ และผลตอบรับที่เกินความคาดหมาย

เกินกว่าที่จะคาดเดา

GDH x นาฮงจิน

โต้ง: ผมเจอคุณนาฮงจินเมื่อ 6 ปีก่อน ก็คือมีงานฉายหนัง ซึ่งทางหอศิลป์ฯ ให้ผมเลือกหนัง ก็เลือกเรื่อง The Chaser ซึ่งก็คือหนังเรื่องแรกของเขามาฉายครับ แล้วเขาก็เชิญคุณนาฮงจินมาด้วย การที่เขามากรุงเทพฯเนี่ย ตอนนั้นก็ตกใจมาก เพราะไม่คิดว่าคนระดับเขาจะมา

ปรากฏว่า 3-4 ปีต่อมา เขาติดต่อผมมาว่ามีโปรเจคต์อยากให้ทำ โดยการที่เขาเขียนมาเป็นบทหนัง เป็นทรีทเม้นท์ (เรื่องย่ออย่างละเอียด) และเซ็ตแล้วด้วยซ้ำ แต่เขารู้สึกว่าอยากจะให้มันเกิดในประเทศอื่นๆ แล้วเขาจะผันตัวเองมาเป็นโปรดิวเซอร์ครั้งแรกโดยให้ผมทำเป็นหนังไทยขึ้นมา  ผมก็รู้สึกว่า โอ้โห เรื่องนี้มันเข้มข้น แล้วก็เป็นมิติใหม่ที่เราไม่เคยทำหนังสยองขวัญแบบนี้ เราก็เลยพูดคุยกันหลายรอบเลยครับ มีการบินไปคุยที่เกาหลีด้วย แล้วก็สุดท้ายก็เห็นหนทางในการทำมันออกมาเป็นหนังไทยที่ตลาดหลักเป็นเกาหลีด้วยซ้ำ ซึ่งผมว่ามันก็เป็นมิติใหม่ของทั้งเกาหลีและไทยเลยครับ

โต้ง, ญดา, เอี้ยง x “ร่างทรง”

โต้ง: ถ้าพูดตรงๆ เลยนะครับ ภาพลักษณ์ที่มีต่อร่างทรงก่อนทำ ก่อนที่จะไป Research ไปเจอตัวจริงเยอะๆ ผมจะค่อนข้างลบเลย ลบแบบว่าไม่เชื่อเลย แล้วก็พอไปเริ่มไปเจอ ไป Research ต่างๆนานาก็ไม่ได้ทำให้ถึงกับรู้สึกว่ามีจริงหรือเชื่อขนาดนั้นนะครับ แต่ว่าเข้าใจมิติของมันแบบว่ามันมีบทบาทยังไงต่อชาวบ้านอะไรมากมายก่ายกอง เรามองมันในมุมมองที่หลากหลายขึ้น

เอี้ยง: เป็นตัวแทนของอะไรบางอย่างที่พยายามจะสื่อสารไปกับอะไรบางอย่าง อะไรอย่างนี้ ไปสู่คนอื่นๆ 

ญดา: สำหรับหนูก็น่าจะตอบเป็นชื่อเรื่องเลยค่ะ น่าจะเป็นสื่อกลางระหว่างสิ่งที่เรามองไม่เห็นกับโลกความเป็นจริงของเราค่ะ

การตีความ “ร่างทรง” ของผู้กำกับ

โต้ง: คือความยากของมันในการตีความก็คือมันเป็นหนังผีแบบใหม่มากกว่าครับ มันไม่ใช่หนังผีแบบที่คนไทยคุ้นเคย แบบหนังผีแบบปกติที่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผีที่เป็นเกี่ยวกับคนตายแล้วก็กลับมาหา แต่เรื่องนี้มันไม่ใช่ผีในความหมายอย่างนั้นเลย มันจะเป็นความน่ากลัวคือ อาการของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งตอนแรกเขาคิดว่าเป็นแค่อาการสืบทอดร่างทรง แต่หลังจากนั้นมันมีเรื่องราวมากมายว่า อะไรเกิดขึ้นกับผู้หญิงคนนี้กันแน่วะ มันเป็นปริศนาแล้วก็เป็นพูดเรื่องวิญญาณ ความชั่วร้ายต่างๆ ที่ไม่ใช่ผีหรือคนตายเลย ความยากมันคือตรงนี้มากกว่า เราไม่ได้คิดว่าจะต้องทำให้มันแบบหนังเรื่องนี้ต้องสากลที่เราต้องใส่ซีนนี้ๆๆ ลงไป ผมจะคิดแค่ว่าพล็อตนี้ คอนเซปต์นี้ควรจะเป็นซีนไหนถึงจะดูขลังที่สุดในสิ่งที่ผมคิด ส่วนในเรื่องการนำภาพยนตร์เดินทางไปต่างประเทศ ต่างๆ นานาเนี่ยมันก็จะไปของมันเองโดยที่คุณนาฮงจินซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์จะเป็นคนคอยเช็คให้เราว่า ในมุมมองของคนต่างชาติน่าจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจอะไรบ้าง เขาก็จะคอยเช็คให้เราในแง่ คือถ้าเรามองหนังเรื่องนี้เป็น World Cinema อยู่แล้วในตัว แต่ว่าไม่จำเป็นต้องตั้งหน้าตั้งตาทำเพื่อจะไปขายอะไรขนาดนั้น เราไม่ได้คิดแบบนั้นเลยคิดแค่ว่า เรื่องนี้ยังไงเหมาะที่สุดดีที่สุด แค่นั้นเอง เราเชื่อในอะไรร่วมกัน

การปรับตัวเพื่อกำกับภาพยนตร์กับโปรดิวเซอร์ต่างชาติ

โต้ง: ผมปรับตัวเยอะนะครับ มากๆ เลย คือคุณนาฮงจินเขาเป็นโปรดิวเซอร์ที่ Input เยอะมากแล้ว เราก็เรียนรู้พวกเรื่อง World Cinema จากเขานี่แหละ อย่างแรกเลยคือเขาไกด์เราไปในทิศทางที่เราไม่เคยไปซึ่งผมแฮปปี้มาก เขาบอกว่าหนังเรื่องนี้ควรจะเป็นหนังที่ให้คนดูเชื่อมต่อข้อมูลและความน่ากลัวได้ด้วยตัวเอง หมายถึงว่าก่อนหน้านี้ถ้าผมทำหนังมาตลอด ผมจะเป็นคนทำหนังสายค่อนข้างกังวลว่าคนดูหมู่มากจะเก็ทหรือเปล่า ดูต้องเข้าใจ ณ เดี๋ยวนั้นด้วย แต่มันพอเป็นหนังสยองขวัญในยุคที่ผมต้องการอย่างเรื่องนี้ มันเลยกลายเป็นว่าความสนุกของมันคือการหยอดนู่นหยอดนี้ ข้อมูลต่างๆ ให้คนดูไปเชื่อม ไปผูก ไปถกกัน เป้าหมายคือถ้าคุณเคยดู The Willing มา คุณก็จะรู้ว่ามันเป็นหนังที่เอาจริงๆ แล้วไม่เข้าใจนะ ดูจบแล้วคือเกาหัวเกากบาล แล้วก็ไปเถียงกับเพื่อนได้เป็นคืนเลย ปรากฏว่าสิ่งที่ได้ด้วยกันคือสนุกและน่ากลัวมากๆ คือ The Willing มันพาเราไปสู่ที่ทางที่เราไม่คิดว่าหนังสยองขวัญมันไปได้ เขาก็เลยบอกว่า ปล่อยให้คนดูคิด ปล่อยให้คนดูเชื่อมโยงเองบ้าง ตรงนี้แหละที่มันเป็นที่ที่สนุกสนานมาก 

หรืออย่างเราทำหนังมาจุดนึง จำได้เลยช่วงตัดต่อแล้วเราก็แบบวาง Score วางเพลงสยองขวัญไว้ มีบางเพลงที่เขาบอกว่าคุณไม่ต้องทำให้มันน่ากลัวก็ได้ หนังเรื่องนี้มันน่ากลัวอยู่แล้ว ให้คุณกล้า โอ้โห คำนี้มันเปิด ปลดล็อคเราอะไรหลายๆ อย่างเลย ปล่อยให้ความเข้มข้นของตัวเรื่องมันดำเนินไปด้วยพลังของมันเองได้เลย โดยที่เราไม่ต้องตั้งหน้าตั้งตา กลัวคนดูจะไม่รู้ แต่เราทดลองบางสิ่ง เหมือนหนังทุกเรื่องมันจะมีตัวข้อต่อแล้วก็ทางเลี้ยวเยอะมาก กูกล้าเลี้ยวไปทางนี้เว้ย โดยที่กล้าๆ ไปเลยแล้วสุดท้ายก็มันก็พอ โดยที่คนดูจะรู้สึกยังไงเนี่ย มันเป็นเรื่องของคนดูแล้ว 

มันก็เป็นนิมิตหมายใหม่ที่เราไม่เคยคิดกับการทำงานมาก่อน เราเลยเข้าใจแล้วว่าทำไมเขาถึงไปในระดับนั้น

การปรับตัวของนักแสดงกับภาพยนตร์ World Cinema

ญดา: พอพูดว่า World Cinema แล้วใจมันเต้นเลยค่ะ เพราะตอนที่เราถ่ายทำมันไม่ได้มีคำนี้อยู่ในตอนถ่ายทำค่ะ แค่รู้สึกว่าเราต้องทำหน้าที่นี้ให้มันดีที่สุด แล้วก็อยากจะสร้างปรากฏการณ์ที่แบบมันยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ก็คงจะตรงกับที่พี่โต้งคิดเหมือนกัน แล้วก็คือหนูได้อะไรเยอะมากๆ จากภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งประสบการณ์ด้านการแสดงเอง แล้วก็ประสบการณ์ในการร่วมงานกับทีมงานที่เป็นมืออาชีพขนาดนี้ ทีมงานมืออาชีพที่เก่งมากจริงๆ ค่ะ รวมทั้งพี่โต้งด้วยก็คือ หนูชื่นชอบพี่โต้งมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ แล้ว แล้วพอมาร่วมงานกับพี่โต้งก็รู้สึกแบบ โห มันไม่สงสัยแล้วว่าทำไมผลงานของพี่โต้งถึงได้ประสบความสำเร็จขนาดนี้ พี่โต้งเก่งมากจริงๆ ค่ะ

โต้ง: ชัตเตอร์ (กดติดวิญญาณ) ออกฉายตอนน้อง 4 ขวบ พีคมาก (หัวเราะ)

เอี้ยง: ด้วยความเราไม่ได้ Aware เรื่องมันจะเป็น World Cinema หรือไม่ใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับตัวพี่ พี่แค่รู้สึกว่าเราก็ทำเต็มที่ในบทบาทที่เราได้มานะ อันนี้สำคัญ แล้วที่มันดีไปกว่านั้นก็คือว่าในความเป็น Local ของเรา ตัวเราก็ Local มากนะ ไม่งั้นไม่ได้เล่นเรื่องนี้หรอก (หัวเราะ) แล้วก็ฉาก สถานที่ เรื่องราวทุกอย่าง หรือแม้กระทั่งทีมงานที่เป็นทีมผลิตจริงๆ ไม่นับรวมถึงทั้งองค์รวมที่พาไป World Cinema ทุกคนก็คือคนไทยหมดเลย

พี่รู้สึกว่าจุดหนึ่งมันคือทุกคนจริงกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ พี่รู้สึกว่า be real เถอะ เราไม่ได้หมายความว่า Acting Real แต่หมายความว่าจริงกับสิ่งที่คุณทำ ไม่ว่าจะเป็น Local เป็นอะไรก็ตาม แล้ว Local มันก็จะขยับไปเป็นที่ยอมรับของ World ได้เอง จริงๆ แล้วมันก็คือแค่จริงกับสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ มันถึงจะพาไปสู่ World ได้

การอ่านบทภาพยนตร์ครั้งแรกที่มีแต่ Treatment

เอี้ยง: ตอนอ่านบทครั้งแรกแล้วรู้สึกอย่างนี้ รู้สึก “โว้ว ยากแน่ๆ” (หัวเราะ) แต่ว่ารู้สึกก็อยากเล่นไปเลย เพราะตอนแรกที่เรารู้ว่าเราจะได้ทำงานกับ GDH แล้วตอนต่อมาก็มารู้ว่าเป็นพี่โต้งกำกับอีกมันก็มีความอยากมาเรื่อยๆ แล้วพอมันเจอบทที่มันไม่ธรรมดา คือมันไม่ได้เป็นบทเหมือนที่เรื่องอื่นๆ จะมีไดอะล็อกครบถ้วนอะไรอย่างนี้ใช่ไหม มันก็ยิ่งท้าทายให้เราทำงาน แล้วเราก็เห็นว่าในความเป็นบทเหล่านั้นมันกระตุ้นอะไรบางอย่างอยู่ มันพูดเรื่องความเชื่อความศรัทธา ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่าสนใจนะสำหรับยุคนี้นะคะ

โต้ง: ขยายความพี่เอี้ยงนิดนึง ว่าบทเรื่องนี้จะเขียนเป็นแค่ทรีทเม้นท์นะ คือจะเห็นว่าเขียนไกด์ว่าความหลักๆ ของแต่ละซีนคืออะไร แต่ไม่ได้เขียนเป็นบทพูด เพราะเป้าหมายของมันคือการให้รู้สึกว่ามันจริงที่สุด สมจริงมากๆ ถึงแม้ว่ามันจะมีคีย์เวิร์ดอะไรอย่างนี้ แต่ผมรู้สึกว่าไม่อยากจะล็อคไว้แต่ต้น คือมันจะเหมือนเป็นการว่าค้นหาไปพร้อมๆ กันกับผมกับนักแสดงว่าตัวละครมันควรจะพูดยังไง แล้วควรจะทำอะไรบ้าง มันก็จะมีการทำงาน ณ ตอนที่ออกกองเยอะมากๆ เลยครับ คือเราค้นหาร่วมกัน มันจะมีซ้อมกันก่อนแหละ แล้วก็คุยกันว่าต้องพูดประมาณไหน หามู้ด หาทุกอย่างกันหมดแล้วแหละครับ แต่ว่าคำพูดนี้เราก็จะหาไปพร้อมๆ กัน

เหมือนนักแสดงก็จะมาช่วยเราด้วยเพราะว่าเป้าหมายคืออยากให้มันจริงที่สุด มันก็ประกอบไปกับเรื่องการ Casting ด้วยครับ อย่างที่เห็นว่าตัวแสดงเมนแทบทั้งหมด ครอบครัวมันดูเหมือนคนทั่วไปจริงๆ คนที่อยู่แถวบ้านเรา ซึ่งในที่นี้ก็คือผู้คนในอีสานแล้วก็ชุมชนที่มีร่างทรง ซึ่งบทบาทที่เขียนขึ้นมาก็เอื้อให้ พี่เอี้ยง พี่ปู (ยะสะกะ ไชยสร-รับบท มานิต) ที่เล่นเป็นตัวละครเมนทั้งหลายเนี่ย เหมือน Content ไทยมันแทบจะไม่มีที่ว่าตัวละครวัยนี้เป็นบทหลักๆ นี่ก็เป็นเป้าหมายว่าเราอยากจะให้ทุกอย่างมันรู้สึกเฟรชจริงๆ ทั้งบทที่อยากจะให้ Improvise (ด้นสด) ร่วมกัน ตัวแสดงที่ดูไม่ใช่ดาราปกติครับ มันเป็นทิศทางเดียวกันหมดเลย

ญดา: ตอนอ่านบทเราคิดว่ามันไม่ใช่บทแบบเสร็จสมบูรณ์ค่ะ คือตอนแรกเราคิดว่าบทยังไม่เสร็จค่ะ แค่ว่าอ๋อ อันนี้แค่ให้อ่าน Treatment ก่อนมั้ง แล้วเดี๋ยวบทแบบเป็นไดอะล็อกจริงๆ คงจะตามมา หนูไม่เคยได้มีประสบการณ์กับบทแบบนั้นมาก่อนนะคะ ก็อย่างที่บอกว่าหนูคิดว่า มันน่าจะไม่ใช่ของจริงนะเรื่องนี้ ของจริงก็คงจะตามมาอีกทีนึง ก็เป็นอะไรที่หนูประทับใจเหมือนกันนะคะเพราะว่าหนูยังไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้มาก่อนเลยค่ะ 

การแสดงที่ทำงานกับจินตนาการ

ญดา: คือตัวละครมิ้งเป็นตัวละครที่ห่างไกลจากตัวหนูมากๆ ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ได้มีเหตุการณ์ที่วิญญาณร้ายอยู่กับตัวเขาเลยนะคะ ตั้งแต่เขามีชีวิตปกติ เป็นเด็กหญิงสาวคนนึง หนูก็ต้องทำการบ้านค่อนข้างหนักค่ะ แล้วก็พูดคุยกับพี่โต้งค่อนข้างเยอะค่ะว่า จะทํายังไงให้หนูเข้าใจตัวละครนี้ได้มากขึ้น แล้วก็ตอนที่มิ้งจะต้องมีวิญญาณร้ายเข้าสิงอะไรอย่างนี้ค่ะ มันก็ต้องใช้จินตนาการ แล้วก็ความเชื่อมากพอสมควร ตอนนั้นหนูโฟกัสไปที่การแสดงแล้วก็เชื่อว่าตัวละครมิ้งกำลังเผชิญหน้าอยู่กับวิญญาณร้ายอยู่จริงๆ เลยค่ะ ก็สนุกดีค่ะ

เอี้ยง: ในความใกล้เคียงกับความเป็นป้านิ่มเนี่ย โอเค อายุก็ใกล้เคียงกับเรา เราเป็นคนอีสานด้วย เรามีวัฒนธรรมภูมิหลังของเรา เรียนรู้เรื่องพวกนี้มา แล้วจริงๆ ตัวพี่เองก็เคยเจอร่างทรงคนหนึ่งที่นิ่งๆ แต่ว่าสัมผัสได้อะไร แล้วก็จากการซ้อมหรือแม้กระทั่งทีมงานส่งคลิปนั่นนี่มาให้ดู แล้วเราก็ไปดูเพิ่มตามยูทูปบ้าง ทั้งหมดทั้งมวลพอมันดูเสร็จแล้วก็คือเราก็คุยกับพี่โต้ง แล้วก็ซ้อมกันไป แล้วพี่โต้งก็เลือกโทนหรือมวลที่คิดว่าน่าจะใช่สำหรับเรื่องนี้ จริงๆ แล้วคนที่ปรุงเก่งมากก็คือพี่โต้ง เพราะจริงๆ แล้วพี่เล่นเวทีมาก่อน ญดาเล่นละครทีวี อะไรอย่างนี้ คือทุกคนมาจากหลากหลายสายงานของตัวเอง แต่ว่าคนที่ปรุงเก่งคือพี่โต้ง แล้วทำให้มันนวลเนียนไปด้วยกัน อันนี้พี่ว่าสำคัญมากสำหรับการที่แกชัดเจนว่าแกจะเลือกอะไรเพื่อที่จะใช้เล่าเรื่องนี้ 

จริงๆ พี่ทำการบ้านกับความเป็นป้านิ่มเยอะกว่าความเป็นร่างทรงด้วยซ้ำ เพราะร่างทรง พอเราเจอก็คือเจอประมาณนี้นะ ที่เราเลือกใช้ฟอร์มมัน ที่เหลือนั้นคือ Background ของตัวคนที่เป็นร่างทรงคนนั้น คือตัวป้านิ่มมี Background อะไรที่มันหลอมให้เขาเข้ามาเป็นตัวนี้ เมื่อมันเจอก้อนนี้แล้ว เราทำการบ้านจนมันชัดขึ้นจนเราเจอก้อนนี้ เราก็พกก้อนนี้ไปทุกๆ อันที่เราเล่น แต่ไม่ได้หมายความว่าไปแบบแข็งๆ นะ เราอาจจะพกไปแค่ครึ่งเดียว ที่เหลือมันคือตรงที่เราไปแสดงตรงนั้น

ผลตอบรับที่ดีของภาพยนตร์ไทยที่ฉายในต่างประเทศ

เอี้ยง: พี่ว่าคนดูมีทัศนคติใดๆ ก็ได้กับหนัง แต่ว่าบังเอิญในส่วนหนึ่งคิดแตกมันออกมาในแง่บวกค่อนข้างเยอะ แล้วพี่ก็เชื่อว่าอีกฝั่งนึงก็อาจจะมีชอบ ไม่ชอบ ก็ไม่เป็นไร แต่ว่าพอหนังมันได้ทำงานกับเขา ความคิด หรือไปกระตุ้นหรือไปทำงานอะไรบางอย่าง มุมไหนก็ได้ ความสนุก ความน่ากลัวก็กลายเป็นความสนุกได้ พี่รู้สึกว่าอันนี้เพียงพอแล้ว แฮปปี้มากค่ะ ไม่ต้องชมว่าดีตลอดก็ได้ แล้วพี่โต้งก็เคยพูด อันนี้แอบขโมยพี่โต้ง (หัวเราะ) พี่โต้งบอกว่าคือแบบมันทำให้คนได้คุยกัน ได้ถกเถียงกัน อันนี้สุดยอด

ญดา: ตอนแรกหนูก็รู้สึกตกใจเหมือนกันค่ะ เพราะว่าผลตอบรับที่ได้รับกลับมามันเป็นสิ่งที่หนูไม่ได้คาดคิดแล้วก็ไม่ได้เห็นภาพนี้มาก่อน ไม่ได้วางภาพนี้ไว้ในหัวมาก่อนเลย พอ Feedback มันกลับมามันก็มีทั้งดีแล้วก็ไม่ดีมันก็เป็นเรื่องปกติ แต่ว่าทางที่มา ที่เราเห็นเยอะๆ มันค่อนไปในทางที่ดี ก็ตกใจค่ะแล้วก็รู้สึกว่าภาพยนตร์มัน Success แล้ว ในฐานะของหนูที่เป็นนักแสดงคนนึงกับภาพยนตร์เรื่องแรก กับประสบการณ์ครั้งแรก ถือว่าเกินคาดมากๆ แล้วค่ะ

โต้ง: ญดานี่ถึงขั้นมีสินค้าจากเกาหลีมาจ้างแล้วนะ 

ญดา: ใช่ค่ะ เพราะว่าผู้ชมชาวเกาหลีมาติดตามในอินสตาแกรมค่อนข้างเยอะ

โต้ง: ตั้งแต่นาทีที่หนังเสร็จแล้วนะครับ แล้วก็เห็นตัวอย่างออกมา ผมจำได้ว่าตัวอย่างที่ออกมาเรายังคุยกับทีมอยู่เลยว่า เราจำความรู้สึกของความกว่าจะได้แต่ละช็อตมา เพราะมันโหด มันยากเย็นมาก ทุกอย่างมันเหมือนเป็นของแถมแล้ว เพราะว่ารู้สึกว่าการทำหนังเรื่องนี้มันมีแต่ได้ ได้เรียนรู้เยอะ แล้วพอนาทีที่มันเปิดตัวเกาหลีอันดับ 1 เหมือนเซอร์เรียลเหมือนกันนะครับ เพราะว่าเรานั่งอยู่บ้านตลอดเลย เราไม่ได้ไปไหนเลย นั่งแล้วก็ทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเลข เรารีเฟรชเห็น Box Office มาอย่างนี้แล้ว มันเหมือนไม่ใช่ความจริง ก็รู้สึกเกินคาด คือการที่มันเป็นหนังที่พูดภาษาไทยแล้วฉายวงกว้างในเกาหลีก็ดีจะแย่แล้ว แล้วพอมันเปิดตัวอันดับ 1 อีก เอาจริงๆ ก็ทำฝันให้เกิดขึ้นได้ครับ

เมื่อภาพยนตร์สร้างพื้นที่ถกเถียงในหมู่ผู้ชม

โต้ง: ผมว่าเขาถกกันในทุกมิติ มันก็สนุกดีอะ มันจะไม่ใช่คอมเมนต์แค่ว่า “น่ากลัวว่ะ” หรือ “กากว่ะ” แต่มันจะเป็นว่าซีนนี้ต้องเบอร์นี้เลยหรอ ซึ่งบางคนชอบมาก บางคนไม่ชอบ มันมีตั้งคำถามเรื่องตัวละครนี้ทำแบบนี้มันได้ไหม แล้วเมืองไทยมันเป็นยังไงหรอ มันมีมิติในการถกที่กว้างขวางมากๆ ซึ่งบางอย่างเราก็ไม่เข้าใจก็ต้องถามจะคุณนาฮงจินเหมือนกัน ก็มีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ด้วยความที่สังคมเกาหลีบางทีเรื่องเพศ บางครั้งก็เป็นเรื่องใหญ่โตมาก 

มันสนุกดีในการมาฉายในประเทศต่างๆ มันก็จะมีมุมมองที่ไม่เหมือนกัน คือผมก็อยากรู้เหมือนกันนะ เพราะบางอย่างมันมีมิติทางภาษาที่เราไม่เข้าใจ ยกตัวอย่างเช่น ที่เกาหลีหนังเราเป็นหนังที่อื้อฉาวมาก แล้วฉายช่วงซัมเมอร์ ในขณะที่สิงคโปร์เหมือนหนังแบบกินเงียบๆ มันไม่ได้ขึ้นอันดับ 1 เลยนะ แต่ว่าพอมันฉายตอนนี้ 8 สัปดาห์ยังใช้ได้อยู่เลยที่สิงคโปร์ มันก็กลายเป็นหนัง GDH ทำเงินอันดับ 3 ไปแล้วตอนนี้ แล้วงงมากว่าอะไรที่มันโดนใจคนสิงคโปร์ มันแปลกมากเลย ทั้งที่มันกินเงียบๆ มาเรื่อยๆ 

ทุกวันนี้ยังหาคำตอบไม่ได้นะครับแต่ว่า เราอยากรู้เหมือนกันว่าแต่ละประเทศเขาโดนอะไรหรือไม่โดนอะไร มันมีมิติที่ไม่เหมือนกัน อย่างเกาหลี เราพอเข้าใจได้เพราะเรารู้ว่า เราโดนสัมภาษณ์อะไรบ้าง ก็จะมีคำถามเรื่องความรุนแรง เรื่องอย่างนั้นอย่างนี้ สนุกสนานเต็มไปหมด

ทบทวนตัวเองจาก “ร่างทรง” 

ญดา: หนูได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการแสดงหลายๆ อย่างค่ะ แล้วก็วิธีคิด มุมมอง จริงๆ แล้วมันได้ไปถึงแบบการดำเนินชีวิตของหนูเลย ได้แรงบันดาลใจหลายๆ อย่างเยอะมาก ทั้งกับทีมงานเองแล้วก็ตัวภาพยนตร์เอง คือหนูได้กลับไปตั้งคำถามในชีวิตของตัวเองเหมือนกันว่า สรุปตัวเราใช่ตัวเราไหมเนี่ย บางทีเราก็เกิดคำถามจากตัวละครนี้ ก็หนูว่าสิ่งนี้มันเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตหนูเลยเหมือนกันนะคะกับสิ่งที่หนูได้รับประสบการณ์จากภาพยนตร์เรื่องนี้

เอี้ยง: เรียกว่าไม่ได้เปลี่ยนขนาดนั้น แต่ว่ามันเรียงให้เราหันกลับมาทบทวนศรัทธาของเราจริงๆเหมือนกัน เหมือนกับที่หนังมันพูดไว้ โดยเฉพาะกับฉากสุดท้ายของเรื่อง อันนี้มัน โห มันเรื่องตัวพี่เข้ามานั่งทบทวนถามตัวเองด้วยนะ

ญดา: อย่าสปอยล์นะคะ อย่าสปอยล์นะ (หัวเราะ)

เอี้ยง: (หัวเราะ) ไม่สปอยล์ๆ แค่มันกระตุ้นอะไรบางอย่างในตัวเราได้ ซึ่งพี่รู้สึกว่างานศิลปะชิ้นนี้มันก็ทำงานกับเราเยอะเหมือนกัน ที่เป็นเรื่องภายใน ก็น่าสนใจดี

โต้ง: เรียนรู้เยอะอยู่เหมือนกันนะครับ คือการที่เราทำหนังเรื่องนี้โดยที่สุดท้ายมันออกมาเป็นแบบหนังที่ทางคุณนาฮงจินใช้คำว่า The Most Debated หมายถึงว่าคนถกแบบเมามันเลย มันก็เลยทำให้ผมนิยามการทำหนังตัวเองเปลี่ยนไปเหมือนกันนะครับะ ก่อนหน้านี้เรากลัวคนดูจะไม่ชอบเสียเหลือเกิน ตอนที่เรายังทำหนัง เหมือนประมาณว่าเรามองเรื่องการเอาใจคนดู ซึ่งพอเราโตขึ้นมา การเอาใจคนดูไม่ได้แปลว่าต้องทำให้เขาชอบเท่านั้น แต่ผมรู้สึกว่าหน้าที่อย่างนึงคือการทำให้เขารู้สึกได้รับอะไรใหม่ๆ เพราะเราแทนตัวเองเป็นคนดู เราคิดว่าถ้าเราเป็นคนดู เราน่าจะอยากดูอะไรแบบนี้ เราก็เลยใส่ไปในร่างทรง คือเราเบื่อลีลาท่าทีเดิมๆ แล้ว เราอยากให้คนดูเห็นหนังที่มันมีความทดลองอะไรบ้างลงไป แล้วมันมีความรู้สึกที่แบบว่า เออเว้ย หนังแบบนี้เราไม่เคยดูว่ะ คือปีหลังๆ ที่ผมดูหนังเนี่ย จะให้คะแนนหนังที่แบบมันมีลูกบ้าอะไรบางอย่าง ซึ่งบางครั้งมันอาจจะแบบเป็นท่าทีที่มันดูไม่น่าเชื่อว่าจะมาจากหนังเรื่องนั้นๆ นะ ผมจะรู้สึกชอบอะไรแบบนี้มาก ก็รู้สึกว่ามันเปิดแง่มุมใหม่ๆที่เราเองไม่เคยดู เพราะผมเองนี่เป็นคนทำหนัง ดูหนังแบบมหาศาลอยู่แล้ว ดูทุกวัน ยิ่งโควิดนี้ยิ่งดูแล้วใหญ่เลย ดูอยู่นั่น เราก็เลยมีคอนเทนต์ที่เราดูแล้วเบื่อมากๆ เยอะเหลือเกิน เราก็เลยต้องการอะไรแบบนี้มากๆ มันก็เลยเปลี่ยนมุมมองเราในการทำหนังไปเลย จากการที่ทำงานกับเขาด้วยแล้วก็ Feedback เรื่องนี้ด้วยครับ

ความเซ็กซี่ของการชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์

พี่โต้ง: ผมฟินมากเลยครับผมสุดท้ายไม่ว่าจะหนังแนวอะไรก็ตาม มันถูกสร้างมาเพื่อให้คนโฟกัส 100 เปอรเซนต์ การดูหนังที่บ้านเอาจริงๆ ถ้าคุณโฟกัสมันเท่ากับการดูหนังในโรง ผมว่ามันก็ไม่มีอะไรต่างนะสำหรับบางคน แต่พลังของจอใหญ่ แล้วเราแบบอยากปิดไฟมืด ทุกคนปิดมือถือ เราก็จะอินกับหนังได้เต็มที่มากๆ แล้วก็อย่างตอนช่วงโรงหนังปิดไปนานๆ แล้วก็มีหนัง A Quiet Place  มาฉายแถวชานเมือง โห ผมรีบพุ่งรถไปเลย แล้วพอได้ดู A Quiet Place 2 ในจอใหญ่แล้วมัน ​โห มันคือคำตอบว่าทำไมเราต้องดูหนังในจอใหญ่ โดยเฉพาะหนังสยองขวัญ ผมรู้สึกว่าอรรถรสน่าจะหายไปครึ่งหนึ่งได้เลยนะถ้าคุณดูที่บ้าน มีสิทธิ์สูงมากเพราะว่าระบบเสียง สมาธิของคุณ การคุมแสงไฟ เพราะว่าหนังแนวนี้มันต้องอาศัยบรรยากาศ แล้วก็สมาธิเต็มๆ เพราะฉะนั้นหนังร่างทรงเป็นหนังที่เราพยายามจะทำทุกเฟรมให้มันมีบรรยากาศจริงๆ ให้มันขลังจริงที่สุดอะไรอย่างนี้ การสัมผัสมันในจอใหญ่ผมว่ามันจะแตกต่างโดยสิ้นเชิงเลยครับ

ความหมายของ “ร่างทรง” ต่อผู้กำกับและนักแสดง

ญดา:  อย่างที่บอกว่าหนูได้อะไรจากภาพยนตร์เรื่องนี้เยอะมากค่ะ หนูรู้สึกว่าเป็นภาพยนตร์แล้วก็เป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าที่สุดในชีวิตหนูเลยค่ะ แล้วหนูก็จะจดจำสิ่งนี้ไปตลอดเลยค่ะ

เอี้ยง: สำหรับเรามันจะดีมากเลยถ้าทุกคนลองดูแล้วก็ลองทบทวน มันจะทำให้ตัวนักแสดงเองรู้สึกว่าสิ่งที่ได้ถ่ายทอดผ่านเรื่องราวหรืออะไรออกไปเนี่ยมันส่งผลอะไรบางอย่างกับคนดู แล้วถ้าเขาเอาไปทบทวน โดยเฉพาะทบทวนศรัทธาของเขาอ่ะค่ะ พี่รู้สึกว่านี้จะทำให้ตัวพี่รู้สึกว่ามีค่ามากขึ้นไปอีกกับงานชิ้นนี้ค่ะ 

โต้ง: ของผมตอบในมุมคนทำแล้วกันนะครับ คือแค่ในมุมคนทำ การได้ทำหนังแบบนี้ในปีนี้ ส่วนตัวก็รู้สึกฟินมากครับเพราะว่าเราเดินทางมาถึงทำหนังในอีก Step นึงที่เราได้ทดลองอะไรใหม่ๆ ได้ทำในสเกลใหม่ๆ ทำงานกับคนใหม่ๆ แล้วก็ตอนระหว่างถ่ายทำมันเต็มไปด้วยความสุขอ่ะครับ  เพราะว่าทีมงานแบบว่า โอ้โห เรารู้เลยว่าเขากำลังมุ่งไปสู่สิ่งเดียวกันจริงๆ แล้วก็มันมีพลังเหลือเกินที่ทุกคนอยากจะสร้างอะไรบางอย่าง แค่ตอนท้ายๆ ที่มีฉากบางอย่างที่ต้องมาใส่สตั้นนะฮะ แล้วสตั้นแต่ละคนเนี่ย เขาทำให้เราแบบน้ำตาจะไหล แต่ละคน แม้กระทั่งองค์เล็กๆ ในกอง ผมรู้สึกว่าเรารู้เลยว่าเรากำลังมองสิ่งเดียวกันอยู่ เหมือนตอนที่มีฉากนึงที่เป็นฉากที่ร่างทรงรวมตัวกันเยอะๆ อย่างที่เห็นในตัวอย่างนะฮะ ผมก็จะบิ้วว่าคุณกำลังเป็นหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศไทยอยู่นะ หนังเรื่องนี้จะฉายไปทั่วโลกอะไรอย่างนี้ ดูเหมือนจะพูดเล่นนะฮะ แต่ผมเชื่อว่าคนเขาคิดอย่างนี้จริงๆ เขาเลยใส่ให้ผมแบบขนาดนั้นเลย ผมบิ้วกึ่งขำแต่ว่าเป็นการกระตุ้นให้ทุกคนใส่เต็มให้กับซีนนั้น แล้วผลที่ได้มันก็ขนลุกจริงๆ ว่ามันดีกว่าที่เราคิด 

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก GDH

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า