fbpx

รู้จัก The Active by ThaiPBS – สื่อสาธารณะที่จะตั้งใจเป็น Solution Journalist

สื่อในยุคปัจจุบันนั้นมักมีความเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ หนึ่งในนั้นคือจำนวนสื่อที่เข้ามามีมากขึ้นอย่างน่าตกใจ และหลายสื่อมักเล่นในประเด็นที่สื่อสังคมออนไลน์เป็นที่ฮือฮากัน จนทำให้เราไม่แน่ใจแล้วว่าสื่อในโลกปัจจุบันมันยังสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือ? แต่ยังมีคนอีกบางกลุ่มที่เขาพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อสารมวลชน ด้วยความพยายามและความกล้าลองของพวกเขา ทำให้เกิดสื่อหัวใหม่ขึ้นมาภายใต้ชื่อ “The Active by ThaiPBS”

วันนี้ ทีมกองบรรณาธิการขอพามาพูดคุยกับ “ณาตยา แวววีรคุปต์” ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active by ThaiPBS ถึงที่มาที่ไปของการเกิด The Active by ThaiPBS รวมไปถึงการพัฒนาประเด็นทางสังคมให้เป็นประเด็นในการนำเสนอข่าวสาร หรือที่เรียกว่า Setting Agenda ว่าควรเป็นอย่างไรด้วย? ติดตามจากบทสัมภาษณ์นี้กันครับ

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

มุมมองการสื่อสารประเด็นทางสังคม ในเรื่องของสื่อสารสาธารณะเป็นอย่างไรบ้าง?

จริง ๆ ก่อนหน้านี้เวทีสาธารณะก็ไม่ได้ทำเวทีสาธารณะอย่างเดียว ทำข่าวด้วย มีคอลัมน์ด้วย อย่างเช่น คอลัมน์พลิกมุมข่าว ก็เป็นงานที่พวกเราทำทั้งหมดเลย และก็เวทีสาธารณะก็เป็นส่วนหนึ่ง เรียกว่าทำหลากหลายรูปแบบ เวทีสาธารณะก็เป็นเวทีของการพูดคุย แลกเปลี่ยนกันได้แบบยาวๆ บางทีก็เป็นการคุยเพื่อให้เห็นข้อมูลที่ชัดเจน จากคนที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้เล่า ได้พูดข้อมูลสะท้อนความคิดของตัวเอง และบางเรื่องก็เป็นการคุยกันของคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน เราก็ใช้กระบวนการสนทนาเป็นตัวทำงานเพื่อที่จะเผยแพร่สู่สาธารณะ จากข้อมูลตรงนั้นบางทีก็เหมือนเป็นมุม Thing Tank ที่ให้ข้อมูลเชิงลึกและสามารถใช้ทำข่าวที่มันมีข้อมูลเชิงลึกได้ บางเรื่องก็นำไปต่อยอดต่อในเรื่องข้อเสนอการแก้ปัญหา รวมไปถึงเชิงนโยบายด้วย และก็บางเรื่องที่เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การตัดสินใจออกนโยบายออกมา เพื่อใช้การแก้ปัญหาได้ของหลายปัญหาในช่วงที่ผ่านมา

แต่วิธีการในเวทีสาธารณะช่วงที่ผ่านมาที่ทำมาเกือบๆ 10 ปี และก็หยุดการทำรายการที่หน้าจอ เพราะช่วงนั้นเราคิดว่าประชาชนมีพื้นที่ในการที่มีเสียงของตนเองออกมาเยอะมาก เพราะว่ามันเริ่มมีสื่อสังคมออนไลน์ที่ประชาชน ชาวบ้านกลุ่มต่างๆ มีการสื่อสารของเขาโดยตรงแล้วและก็ทำได้ดีด้วย และเราก็มีคำถามว่าเวทีสาธารณะแบบสื่อนอกอย่างเรามีความจำเป็นเปลี่ยนไปจากยุคแรก ยุคแรกๆ ต้องบอกว่าไทยพีบีเอสเกิดขึ้นมาพร้อมกับการที่จะเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนที่ไม่มีพื้นที่การสื่อสาร ในช่วงแรกมันทำหน้าที่ตรงนี้ได้อย่างดีเยี่ยม เพราะตอนนั้นยังไม่มีสื่อสังคมออนไลน์ แต่ว่าหลังจากที่ทำเวทีสาธารณะก็เลยกลายเป็นพื้นที่ที่มีคนมาขอใช้พื้นที่เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะในพื้นที่ ในขุมชน ในท้องถิ่นต่างๆ แต่พอมีพื้นที่ที่พอจะทำเองได้แล้ว สื่อสารเองได้แล้ว จากออนไลน์ที่เปิดกว้างมากขึ้น เขาก็สื่อสารเองได้ ก็เลยคิดว่าเวทีสาธารณะแบบเดิมไม่จำเป็น มันอาจจะไม่จำเป็นในแบบเดิม ก็เลยหยุดเพื่อตั้งหลัก

แต่ว่าไม่ได้หายไป เพราะว่าในช่วงปีที่ผ่านมาเราเชิญนักวิชาการมาทำวิจัย ถอดบทเรียนเวทีสาธารณะ และก็ทดลองการทำเวทีสาธารณะในรูปแบบใหม่ ซึ่งอาจจะเห็นอยู่บ้างในรูปแบบเพจ The Active บนเว็บไซต์ของ The Active ก็จะมี The Active Public Forum อยู่ในนั้นด้วย อันนั้นอยู่ในช่วงการทดลองว่าจะทำเวทีสาธารณะในรูปแบบไหน? ซึ่งเราก็พบว่าเวทีสาธารณะรูปแบบใหม่ ไม่ใช่เวทีสาธารณะในรูปแบบนั่งล้อมวงคุย แต่มันเป็นเวทีหรือพื้นที่นำเสนอข้อมูลแบบต่าง ๆ บางเรื่องไม่ได้อยู่ในวงคุยแบบนั้น แต่ว่ามันคือข้อมูลชุดหนึ่ง นั่นก็คือเวทีสาธารณะแบบหนึ่ง

เห็น Data Visualization ใน The Active Forum ที่ทำเรื่อง “เรามองเห็นอะไรในโควิด โควิด-19 ทำให้เรามองเห็นอะไรในระบบสุขภาพไทย” พี่ก็นับว่ามันก็คือเวทีสาธารณะแบบหนึ่ง มันคือองค์ประกอบที่ทำให้เกิดพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มการมีส่วนรวมในการตัดสินใจ เพราะฉะนั้น The Active คืออะไร? The Active คือ ทุก ๆ องค์ประกอบที่สำคัญในเรื่องของข้อมูลข่าวสาร ตอบประเด็นที่เป็นวาระทางสังคมที่เราเลือก และก็นำเสนอข้อมูลที่รอบด้าน ที่หลากหลาย หลายแบบหลายแพลตฟอร์ม อย่างที่เรียกว่า Trans media เพื่อที่จะนำการตัดสินใจร่วมเพื่อนำไปสู่สิ่งที่มีคุณภาพ

แสดงว่า The Active จะไม่ได้เป็นแค่สำนักข่าว แต่พยายามจะ Setting Agenda ในสิ่งที่เราอยากจะนำเสนอด้วย?

คือเราก็ยังเป็นสำนักข่าวอยู่ จะเรียกว่าเราทุกคนจะเป็นคนที่ทำข่าวมาก่อน เพราะฉะนั้นนี่คือสัญชาตญาณของเรา เราก็ยังมีความไหวติงอยู่กับเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง ทางสังคมที่เกิดขึ้น ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เหตุการณ์ต่าง ๆ ก็ยังรู้สึก และก็ต้องกระโจนลงไป เมื่อเกิดสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น แล้วก็ยังอยากที่จะทำการสื่อสาร แต่ว่าเราคงจะไม่ได้เน้นเรื่องการทำข่าวแบบเร็ว หรือเป็นข่าวทั่วไปที่เหมือนสำนักข่าวหลาย ๆ สำนักข่าวทั่วไปทำ ส่วนหนึ่งเราจะติดตามข่าวเหล่านั้น ติดตามความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ ยังมีตัวนักข่าวที่ติดตามเหตุการณ์เหล่านั้นอยู่ และนำเสนอออกมาในรูปแบบของข่าว เกาะติดข่าวยังมีอยู่

แต่การเกาะติดข่าวของนักข่าวของเรา จะเป็นข่าวที่มีประสบการณ์กับประเด็นเฉพาะบางประเด็นที่เราสนใจและเราเลือกจัดเป็นวาระ เช่น วาระความมั่นคงทางอาหาร วาระคนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ LGBT เรื่องของการศึกษา เรื่อง HIV หลายเรื่องที่เราทำ ลองไปดูที่หน้าเพจ The Active จะเห็นได้ว่าประเด็นหนึ่งจะติดตามยาว และก็ให้ข้อมูลในหลาย ๆ แง่มุม ไม่นำเสนอเพียงแค่ Event หรือว่าประเด็นสำคัญในตอนนั้นแล้วก็ผ่านไป แต่ถ้ามีประเด็นสำคัญในตอนนั้น เราก็จะไหวติงกับประเด็นในช่วงนั้น และก็ยกระดับมันขึ้นมาจากประเด็นที่น่าสนใจใช่วงนั้นให้เป็นความสนใจของกลุ่มคนที่มีข้อมูลข่าวนั้น ๆ เรื่องนั้นมานาน เราก็ต้องทำให้เป็นความสนใจของสังคมเราต้องหาวิธีการด้วย เพื่อนำไปสู่นโยบายสาธารณะ ทั้งหมด 3 ขั้นตอน ก็คือจากประเด็นร้อนในตอนนั้น เป็นความสนใจในระดับสังคม และก็ไปสู่นโยบายสาธารณะ อันนี้คือแนวทางของเราที่ทำข่าว

แสดงว่าไม่ใช่การทำข่าวเพื่อให้มันจบไป แต่เราเป็น Solution Journalist?

ใช่ค่ะ อันนี้สำคัญมาก เราเป็นสื่อเพื่อสังคม เราเป็น Solution Journalist มานานแล้วด้วย มีสิ่งหนึ่งที่เราเป็นด้วยคือเราเป็น Investigative Journalist คือการเป็นนักข่าวในเชิงสืบสวนหาความจริง เราต้องหาข้อมูล ขุดข้อมูลขึ้นมา เราเริ่มฝึกการหาข้อมูล เราให้ความจริงจัง และก็พัฒนาการทำงานในเชิง Data Journalist มากขึ้น เพื่อที่จะเอาข้อมูลนั้นมาอธิบาย หรือว่าเป็นหลักฐานของข่าว เหตุการณ์ และเพื่อที่จะนำไปสู่การคิดหา Solutions เราถึงได้ทำ Data Visualization ออกมา

อย่างเรื่องภาพยนตร์เรื่อง “ติดถ้ำ” ที่ฉายในโรงภาพยนตร์ในช่วงที่ผ่านมา มีความสำคัญอย่างไรที่เราให้ความสนใจประเด็นนี้?

มันมีที่มาจากการที่มันเป็นความสนใจของกลุ่มคนในระดับโลก ในเรื่องของการกู้ภัยที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน แล้วตรงนั้นมันมีบริบทหลายเรื่องมากที่อยู่รอบ ๆ แต่มันไม่ได้ถูกสนใจในฐานะข่าวในช่วงเวลานั้น แต่เราเห็น นี่คือการสะสมข้อมูล สะสมต้นทุนของเรา แล้วเราจะไปพยายามนำเสนอข่าว เราก็จะไม่ได้รับความสนใจจากผู้ชม เพราะว่าตอนนั้นอารมณ์ของคนไม่ใช่ แต่เราเห็นว่าเรื่องเหล่านั้นมีคุณค่า เราก็คิดหาวิธีการและก็รอจังหวะที่เราจะนำเสนอเรื่องเหล่านั้นออกมาไม่ให้ถูกลืม เพราะว่าไหน ๆ คนก็สนใจถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนและก็ลิสต์ประเด็นไว้ในใจ

จากพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ที่ได้รับความสนใจ และก็ข้อดีอย่างหนึ่งที่ไทยพีบีเอสติดตามในทุกมิติและก็ให้ความสนใจ ให้ความสำคัญ หน้าที่เราที่ต้องคิดเพิ่มก็คือดูจังหวะนำเสนอที่เหมาะสมกับเวลาและโอกาส มันมีหลายประเด็นที่เราไปเห็นในการติดตามการกู้ภัย คนเหล่านี้ก็คือคนในข่าวเหล่านั้น แต่ไม่ได้นำเสนอในรูปแบบปัญหาเชิงโครงสร้างของพวกเขา เราก็คิดว่าเขาถูกควรมองเห็นความเป็นเขาด้วย ไม่ใช่เอาเขามาเป็นวัตถุของข่าวอย่างที่คนนอกต้องการไปฉายเท่านั้น และก็ไปนำเสนอเรื่องของเขาในฐานะคนในที่มีอะไรที่จะสะท้อนออกมาให้คนข้างนอกได้รับรู้

ทีแรกก็คิดว่าทำเป็นสารคดี ซึ่งในตอนแรกเราก็ทำเป็นสารคดี “สูญ-หา-เจอ-รอด-ฟื้น” เป็นสถานการณ์กู้ภัยก่อน พอผ่านไป 1 ปี เราก็คิดว่าทิ้งความเปลี่ยนแปลงอะไรไว้บ้างตรงนั้น ก็เลยกลับไปทำตรงส่วนนั้นด้วย ก็พบว่าเรื่องราวต่าง ๆ ก็ออกมาแบบเนื้อเรื่องในหนัง ชาวนาก็เป็นแบบนี้ เด็กที่อยู่ในถ้ำขุนน้ำนางนอนก็อยู่ในภาวะที่ใกล้แต่ไกล นักฟุตบอลบอกว่าเด็กถ้ำหลวง ทีมหมูป่าอะคาเดมี่รู้จักกันไปทั่วโลก วันนี้ก็เป็นแบบนี้ ทีมหมูป่าหายไปแล้ว แล้วเด็ก ๆ ทีมหมูป่าตอนนี้ชีวิตเป็นอย่างไร? อาจจะไม่ได้เล่าในหนัง แต่ก็เก็บความคืบหน้าและเราก็จะนำเสนอต่อไป เหมือนกับว่าเป็นการฉายหนัง ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้ติดตามความคืบหน้าของหมูป่าทั้ง 13 คนด้วย ซึ่งคอนเทนต์ต่าง ๆ เหล่านี้จะได้ทยอยออกมาด้วย เพื่อให้เห็นว่าความเป็นไปไม่ได้หยุดที่ความสำเร็จ แต่ความสำเร็จที่ทั่วโลกโฟกัสมีอะไรที่ดำเนินไปและไม่ดำเนินไป อยู่ในภาวะที่ติดถ้ำแบบนี้

มองเห็นสื่อมวลชนในยุคนี้ยังไงบ้างในการทำข่าว?

มันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่แค่สื่อมวลชนในยุคนี้ มันเป็นมานานแล้ว ตั้งแต่สื่อมวลชนต้องอยู่ในภาวะเงื่อนไขของธุรกิจ ธุรกิจที่ผลิตสื่อ ธรรมดามากที่จะต้องตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และก็มีการถกเถียงกันว่าจริง ๆ แล้วจะโทษสื่อมวลชนหรือโทษผู้บริโภคสื่อ คำถามนี้ไม่มีใครตอบ แต่คำถามมักจะพุ่งเป้าไปที่สื่อมวลชน พี่ไม่ได้เป็นสื่อมวลชนที่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางธุรกิจแบบนั้น แต่พี่ต้องเข้าใจว่าสื่อมวลชนภายใต้เงื่อนไขทางธุรกิจไม่มีใครมีความสุขหรอก น่าจะต้องทำงานตามหลักการวิชาชีพ เราก็ได้เห็นว่าก็มีสื่อมวลชนบางคนก็ต้องตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองด้วยเงื่อนไขที่เขารู้สึกว่าเขาเรียนสื่อสารมวลชนมาอีกแบบหนึ่ง แล้วเขาก็ต้องมาทำงานแบบนี้ ไม่มีใครมีความสุข แต่โอกาสที่จะเปิดกว้างให้เขามันมีแค่ไหน? นี่แหละโอกาสที่จะสื่อสารมวลชนได้อย่างมีอิสระ

ในฐานะที่เป็นสื่อสาธารณะ มีโอกาสที่จะปักธงจากประเด็นต่าง ๆ จากความสนใจในกลุ่มคนไปเป็นความสนใจเชิงสาธารณะได้ยังไงบ้าง?

มันมีสองแบบ แบบหนึ่งก็เป็นสื่อมวลชนที่ทำความสนใจเชิงกลุ่มคนเพียงอย่างเดียว ไม่ขยับไปสู่ Solution กับอีกแบบที่ตั้งธงมาเลยว่ามี Agenda ในทางนโยบายแบบนี้ ทำอะไรก็ได้เพื่อไปสู่เป้าหมายของนโยบายแบบนั้น ทั้งสองอย่างมีสภาพที่เหมือนกัน แต่สำหรับเรา เราทำในสิ่งที่เป็นความสนใจเชิงกลุ่มคน แล้วก็ค่อย ๆ เขยิบไปตามความเคลื่อนไหวของประเด็น ตามสถานการณ์ ตามเวลา เราได้เห็นกรณีสารเคมีการเกษตร เราได้เห็นข้อมูล เราจะนำเสนอด้วยข้อมูล เช่น เราได้เห็นข้อมูลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เราได้เห็นข้อมูลที่ใครต่อใครที่ว่าสารเคมีตกค้างจากการเกษตรไปสู่สิ่งแวดล้อม เราก็นำเสนอข้อมูลต่าง ๆ เหล่านั้น เสร็จแล้วเมื่อมีข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้จะนำไปสู่ข้อเสนออะไร? นำไปสู่การหาข้อมูลจากต่างประเทศว่ามีวิธีการอย่างไร มีทางเลือกอย่างไรบ้าง พยายามจะนำข้อมูลมาอัพเดทเพื่อให้เห็นทางเลือก

แต่ในเวลาเดียวกันก็มีกลุ่มที่เขาไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่จะต้องคัดค้านหรือแบนสารเคมีทางการเกษตร หรือไม่พร้อมที่ออกมา ก่อนหน้านี้ที่พูดถึงความไม่พร้อมที่จะยกเลิกสารเคมีการเกษตร อันนี้ก็เป็นเสียงที่ต้องฟัง เพราะเราไม่ได้มี Agenda ว่าเราต้องแบนสารเคมีการเกษตร แต่เราก็นำเสนอข้อมูลที่มีออกมาในแต่ละขั้นตอน และเราก็ใช้หลักฐานทางวิชาการที่เกิดขึ้นจริง ที่เกิดผลกระทบในแต่ละชุมชนต่อเด็กที่เกิดขึ้น เช่น การไปตรวจสุขภาพของเด็กที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้ถูกนำเสนอมาก่อน แต่การไปค้นหาข้อมูลที่บ้านตั้งแต่เขาอยู่ในท้องพร้อมกับการใช้สารเคมีที่เขาตั้งท้องยังไง ตอนนี้เขาอายุ 2 ขวบ และเราก็ตามไปดูเด็กอายุ 2 ขวบ ตอนนี้สุขภาพเขาเป็นยังไง เคมีตกค้างในเลือดเป็นอย่างไง เราก็ตามไปหาข้อมูลต่าง ๆ เหล่านั้นมานำเสนอ อันนี้ความสนใจเชิงกลุ่มคน มันก็กลายเป็นความสนใจเชิงสาธารณะ พอเห็นข้อมูลมาก ๆ เราก็จัดเวทีสาธารณะด้วยในตอนนั้น เราก็มาแชร์กัน จัดหลายครั้งมาก มันก็เลยเป็นสิ่งที่เขยิบไปเรื่อย ๆ บางคนอาจจะใช้คำว่าขับเคลื่อนประเด็นด้วยข้อมูล เราไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยประเด็นด้วยการตั้งธงเอาไว้ที่ธงใดธงหนึ่ง เราไม่ได้มีหน้าที่ในการปักธง ในสื่อมวลชน ในฐานะนักข่าวของพี่ก็คือการนำเสนอด้วยข้อมูล

ถ้าสมมติว่าไม่มีข้อมูลตรงนี้ก็ไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนได้?

ใช่ค่ะ อาจจะมีเครือข่ายอื่น ๆ เครือข่ายต่าง ๆ ที่เขามีความเชื่อ มีข้อมูลและก็ได้ข้อสรุปแล้วปลายทาง เขาก็มีหน้าที่ของเขา เราก็ฟัง นั้นก็คือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหนึ่งของข่าวของเรา ขณะเดียวกันก็จะมีข้อมูลอีกชุดหนึ่ง แล้วก็ฟังและก็ตัดสินใจ

เพราะฉะนั้นหน้าที่ของสื่อที่ดีคือไม่ปักธงให้ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง แต่เป็นการให้พื้นที่ทั้งคู่เท่ากัน?

ก็ไม่ถึงขนาดนั้น มันก็มักจะมีคำพูดที่พูดถึงสื่อมวลชนว่าไม่มีจุดยืน จะมีจุดยืนไม่ได้หรือ? อะไรแบบนี้ เพราะฉะนั้นพี่ว่าก็ต่างกันการปักธงกับการมีจุดยืน มันต่างกัน

ก้าวต่อไปของ The Active จะเป็นแบบไหนในอนาคต?

ก็จะเป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ที่สื่อสาร ทำงานสื่อสารมวลชนด้วยวิธีการใหม่ ๆ ในแบบของเขา เพราะสื่อมวลชนยุคนี้มีวิธีการอะไรต่าง ๆ ที่หลายอย่างต่างจากรุ่นก่อน แต่ต้องยึดหลักวิชาชีพบางอย่างที่สำคัญเอาไว้ แต่วิธีการเป็นของพวกเขา ก็ขึ้นอยู่กับพวกเขาว่าพวกเขาอยากจะให้เป็นยังไง แต่ The Active เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ และก็เป็นโอกาสของคนทำงานด้วย เป็นโอกาสของสังคมด้วยที่จะได้ผลลัพธ์จากการทำงานของคนเหล่านี้ สิ่งที่พี่ทำได้ก็คืออำนวยโอกาสเหล่านั้นให้มันเกิดขึ้นให้ดีที่สุดทั้งกับคนทำและคนได้รับผล

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า