fbpx

เบื้องหลัง 10 ปี 8 ซีซั่นของ The Voice Thailand รายการประกวดร้องเพลงที่เสียงสำคัญที่สุด

ในฐานะที่เคยทำงานในวงการดนตรี และคุ้นเคยกับคนดนตรีพอสมควร กลุ่มคนเหล่านั้นพูดตรงกันเสมอว่า The Voice เสียงจริง ตัวจริง คือหนึ่งในปลายทางแห่งความฝันของคนร้องเพลง ที่อยากเป็นศิลปินที่โด่งดังจนมีชื่อเสียง เหมือนกับศิษย์เก่าที่ผ่านเวทีนี้มาแล้วทั้งนนท์-ธนนท์ จำเริญ, โบกี้-พิชญ์สินี วีระสุทธิมาศ (bowkylion), วี-วิโอเล็ต วอร์เทียร์, แม็ก-ณัฐวุฒิ เจนมานะ หรือล่าสุดกับบักจ่อย หรือโจอี้-ภูวศิษฐ์ อนันต์พรสิริ

The Voice คือสังเวียนที่พิสูจน์ความเป็น “ตัวจริง”​ ของศิลปินในเรื่องเสียงที่มีมาตรฐานมากที่สุดเวทีหนึ่งของไทย จากปุ่มสีแดงและเก้าอี้โค้ชหันหลังที่ใช้เกณฑ์การตัดสินอย่างเดียวคือ “เสียง” เท่านั้น จึงไม่มีองค์ประกอบอื่นๆ และตัวช่วยใดๆ นอกจากเสียงเพียงอย่างเดียว

จากปี 2012 ที่ The Voice Thailand ออกอากาศครั้งแรก รายการถูกพูดถึงแทบจะทันทีในความแปลกใหม่และรูปแบบการแข่งขันที่เอื้อให้ผู้เข้าแข่งขันได้แสดงความสามารถจริงๆ รวมถึงองค์ประกอบสำคัญอย่าง “โค้ช” หรือนักปั้นทั้งสี่คนที่ต้องโชว์กึ๋นและคารมในการดึงผู้แข่งขันเข้าทีม รวมถึงคอยขัดเกลาและให้คำแนะนำก่อนเข้าสู่การแข่งขันในแต่ละรอบ ทำให้ The Voice Thailand ซีซั่นแรกประสบความสำเร็จทั้งในแง่เรตติ้ง การขายโฆษณา และเป็นกระแสทันทีในแทบจะทุกสื่อ

ปีแล้วปีเล่าที่รายการเลยผ่าน The Voice พัฒนารูปแบบใหม่ๆ และเปิดโอกาสให้คนหลายช่วงวัยได้แสดงความสามารถมากขึ้น ทั้ง The Voice Kids ที่เปิดเวทีให้กับเสียงจริง ตัวจริง รุ่นจิ๋ว หรือ The Voice Senior ที่ให้วัยเก๋า 60+ ได้เผยศักยภาพผ่านการร้องเพลงที่ได้เสียงตอบรับดีไม่แพ้กัน

จนถึงเวลาโรคระบาดที่ทำให้ The Voice ซีซั่นใหม่เกิดขึ้นไม่ได้ จนต่างคนต่างแยกย้ายกันไปกว่า 2 ปี วันนี้ The Voice กลับมาอีกครั้งในรูปแบบใหม่ The Voice All Stars ที่รวบรวมศิษย์เก่าที่เป็นเสียงจริง ตัวจริง เอาไว้มากที่สุดเพื่อมาประชันความเป็น The Voice อีกครั้งในนามของผู้จัด Exit365 ที่คราวนี้แท็กทีมกับ PlanB ผู้ให้บริการสื่อโฆษณานอกที่พักอาศัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และ Independent Artist Management หรือ iAM ที่เป็นต้นสังกัดของวงไอดอล BNK48 และ CGM48 ในบ้านใหม่อย่างช่องวัน 31

วันนี้เราจึงเดินทางมาที่ ShowDC Hall ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำของ The Voice All Stars เพื่อย้อนเวลากลับไปฟังเส้นทาง 10 ปีของรายการประกวดร้องเพลงที่ผู้ชมหลงรักมากที่สุดจากปากคำของผู้ที่อยู่กับ The Voice มาตั้งแต่วันแรกอย่างโอ๋-พัฒนี จรียะธนา Executive Producer และผู้ถือลิขสิทธิ์ The Voice ประเทศไทย

เรากดปุ่มหันเก้าอี้ของเราแล้ว ดังนั้น เรื่องราวของเวทีเสียงจริง ตัวจริง จึงเริ่มจากตรงนี้

Image Courtsey of ChomPR

เก้าอี้แดงที่ต้องคว้ามา

ก่อนหน้านี้โอ๋อยู่ในส่วนของการดูแลศิลปินจากเวทีประกวดใหญ่ในยุคนั้นอย่าง True Academy Fantasia (2547-2558) ซึ่งต้องดูแลเหล่า “นักล่าฝัน” ที่ออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงให้มีผลงานออกสู่สายตาประชาชนในสังกัด True Fantasia รวมถึงการดูแลภาพรวมของคอนเทนต์ที่ออกอากาศผ่านสื่อในมือทั้งช่อง True Music, AF Channel และช่องมะจัง 

ในเวลานั้น โอ๋ทำงานร่วมกับ พี่โอ๋ใหญ่-อาจกิจ สุนทรวัฒน์ เขาบังเอิญได้ชมรายการ The Voice ของสหรัฐอเมริกาที่ออกอากาศเป็นครั้งแรก พี่โอ๋ใหญ่โทรหาโอ๋แทบจะทันทีเพื่อชวนกันทำรายการ The Voice ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยให้ได้

“เราก็พอรู้จักรายการเพราะเราเห็นใน Youtube พอดูแล้วก็เห็นว่า เฮ้ย มันดีมาก มันต้องทำ แล้วพี่โอ๋ใหญ่ก็โทรมาเลยถามว่า เราทำกันไหม เราก็ตกลง แล้วก็เสิร์ชเลย ตามหาจนโทรไปที่สถานีโทรทัศน์ NBC จนได้โทรไปต่อที่เนเธอร์แลนด์ เพราะจริงๆ เจ้าของลิขสิทธิ์คือ ทัลปา มีเดีย กรุ๊ป (ปัจจุบันเป็นลิขสิทธิ์ของ itv Studios สหราชอาณาจักร-บรรณาธิการ) จนไปเจอคนที่เป็นเซลล์ ก็โทรไปนัดคุยกันไว้ เขาก็พูดแบบเป็นภาษาดัตช์ แต่ก็พยายามจนสุดท้ายก็ได้พูดคุยกันมา” โอ๋เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอตัดสินใจติดต่อซื้อลิขสิทธิ์มา

ตัวแปรสำคัญที่สุดของ The Voice คือการใช้ “เสียง” พิชิตใจโค้ชเท่านั้น ซึ่งโอ๋มองว่านี่คือจุดแข็งที่สุดซึ่งน่าจะเอาชนะใจผู้ชมได้

“ลองคิดว่าถ้าเป็นตัวเราเองที่ไม่ได้เป็น Someone แต่เมื่อเราได้ขึ้นมาอยู่บนเวทีนี้ และถ้าโค้ชกดหันมาปุ๊บ คุณจะเป็น Someone ทันที คุณจะมีพลังอยู่ในมือที่คุณจะเลือกใครก็ได้ให้เป็นโค้ชของคุณ คุณมีตัวตน คุณมีเวทีที่คุณสามารถถือดาบวิเศษสามารถเลือกใครก็ได้ ซึ่งถ้าเราอยู่ปกติเนี่ย ค่ายเพลงจะเป็นคนเลือกเรา แต่รายการนี้คุณเป็นคนเลือก ถ้าถูกกดแสดงว่าคุณมีความสามารถจริง นั่นแหละ คือ หัวใจของรายการ ซึ่งพี่มองว่า The Voice มันเป็นรายการที่แบบมีจุดแข็งแรงเรื่องนี้” โอ๋ขยายความ

ผ่านไปหนึ่งปี โปรเจคต์ The Voice ที่วาดหวังไว้ก็เกิดขึ้นได้จริง และด้วยฟอร์แมตระดับโลกที่ผู้คนต่างให้ความสนใจ โอ๋จึงมองว่ารายการแบบนี้ต้องอยู่บนทีวีช่องหลักเท่านั้น ทำให้ The Voice ในซีซั่นแรกจึงได้ออกอากาศในวันอาทิตย์ 6 โมงเย็น ทางไทยทีวีสีช่อง 3

และนั่นทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีรายการ The Voice เป็นของตัวเอง

“โค้ช” คือหัวใจหลัก

นอกจากรูปแบบการแข่งขันที่ใช้เสียงเป็นกุญแจหลักเพียวๆ อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ The Voice เป็น The Voice จริงๆ คือโค้ช

“โค้ชต้องได้ โค้ชต้องสนุก โค้ชต้องมันส์ ต้องคุยกันได้ และแย่งลูกทีมกันสนุก” โอ๋พูดถึงเกณฑ์สำคัญในการคัดเลือกโค้ชของ The Voice ประเทศไทย

ด้วยโครงสร้างโค้ชต้นแบบที่โอ๋เลือกมาอ้างอิง คือโค้ชชุดแรกของ The Voice สหรัฐอเมริกา ได้แก่ ศิลปินคันทรีบุคลิกอบอุ่นอย่างเบลค เชลตัน, ซุปตาร์ป๊อปแดนซ์สุดแซ่บอย่างคริสตินา อาร์กิเลรา, ซี โล กรีน โปรดิวเซอร์ตัวท็อปแห่งวงการดนตรีอเมริกัน และฟรอนต์แมนของวงป๊อปที่คนทั่วโลกหลงรักอย่างอดัม เลอวีน แห่งวง Maroon 5 

ดังนั้นพื้นฐานของการเลือกศิลปินที่จะมาเป็นโค้ชจึงต้องเข้าถึงได้ และมีตัวตนของความเป็นคนดนตรีจริงๆ

“คนแรกที่พี่คิดถึงคือเจนนิเฟอร์ คิ้ม เพราะพี่รู้สึกว่าเธอคือ The Voice จริงๆ” โอ๋บอกเรา

ซึ่งเราเห็นด้วยแบบปฏิเสธไม่ได้เลย เจนนิเฟอร์ คิ้ม คือดีว่าตัวแม่ที่มีเสียงทรงพลังที่มาพร้อมกับศักยภาพในการร้องเพลงที่หาตัวจับยาก รวมถึงฝีปากที่จัดจ้านบนเวทีการแสดง ทำให้เธอเป็นตัวเลือกแรกในแทบจะทันที

“ส่วนโปรดิวเซอร์ เรานึกถึงโจอี้ บอย อยู่แล้ว เรามีคนอื่นในใจแต่เขายังไม่ใช่ และเราคิดว่าโจอี้มีของอยู่แล้ว”

โค้ชคนที่สองที่ทีมเลือกให้มานั่งเก้าอี้แดงคือ โจอี้ บอย หรือโจ้-อภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต แรปเปอร์ โปรดิวเซอร์ และเจ้าของค่ายเพลงแรปที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดอย่างก้านคอคลับ

แต่เมื่อนึกภาพของคิ้มและโจอี้ บอย อยู่บนเฟรมเดียวกัน ด้วยความเป็นรายการสำหรับออกอากาศบนโทรทัศน์ที่ต้องมีความแมส เข้าถึงง่าย อีกชื่อหนึ่งที่โอ๋นึกถึงคือ ก้อง-สหรัถ สังคปรีชา ที่เป็นนักร้อง-นักดนตรี ที่มีความสามารถจัดจ้าน และเข้าถึงได้ด้วยความหล่อแบบมหาชน ส่วนโค้ชคนสุดท้าย โอ๋ดันนึกถึงศิลปินและนักแต่งเพลงน้องใหม่ที่ประสบความสำเร็จมากๆ อย่างแสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข เพราะจากการร่วมงานผ่านคอนเสิร์ตแสตมป์ควบว่าน (2553) ที่ทำให้เธอได้เห็นถึงศักยภาพของแสตมป์

เมื่อศิลปินทั้ง 4 รวมตัวกันในนามโค้ชของ The Voice Thailand ประกอบกับตัวรายการที่ใหม่มากๆ ทำให้ผู้คนต่างหลงรักโค้ชกลุ่มนี้ ทั้งการแย่งสมาชิกเข้าทีมแบบหยิกแกมหยอก ลีลาในการช่วงชิงสมาชิกแต่ละคนเข้าทีมที่ต่างคนต่างไม่ยอมใคร และวิธีการดูแลสมาชิกในทีมที่สามารถดึงเอาความสามารถลึกๆ ออกมาแสดงให้ผู้ชมได้เห็น โค้ชชุดนี้จึงกลายเป็นโค้ชที่ผู้ชมหลงรักมากที่สุดตลอด 10 ปีของรายการ

แต่ทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง หลังจากที่โค้ชแสตมป์ทำหน้าที่โค้ชได้ 3 ซีซั่น ก็ส่งต่อเก้าอี้ตัวซ้ายสุดให้สิงโต-นำโชค ทะนัดรัมย์ มาทำหน้าที่แทนถึง 2 ซีซั่น จนถึงการเปลี่ยนผ่านไปยังโค้ชคนปัจจุบันอย่าง ป๊อบ-ปองกูล สืบซึ้ง ส่วนโค้ชคิ้มก็ขอวางมือหลังจากเป็นโค้ชได้ 4 ซีซั่น จึงมีโค้ชหญิงคนที่สองอย่างดา เอ็นโดรฟิน (ธนิดา ธรรมวิมล) มาทำหน้าที่แทนอยู่ 2 ซีซั่นด้วยกัน

และจากการเก็บสำรวจเล็กๆ น้อยๆ ของเรา The Voice Thailand มีอัตราการเปลี่ยนตัวโค้ชต่ำมากเมื่อเทียบกับ The Voice ประเทศอื่นๆ 

ทุกอย่างวัดกันที่หน้าจอ

โอ๋เล่าว่า ในช่วงเวลาการถ่ายในซีซั่นแรกมีอุปสรรคมากมายเกิดขึ้น แต่เพราะมันเป็นครั้งแรกที่ทุกอย่างใหม่เกือบทั้งหมด จึงกลายเป็นความท้าทายที่ทีมทำงานต้องผ่านไปให้ได้

มีอุปสรรคมากมายตลอดการเตรียมงานและถ่ายทำ แต่เมื่อรายการจบซีซั่นและได้ผู้ชนะ นำมาสู่ตัวเลขหลังบ้านที่สูงมากในหลายๆ มิติ ที่เรียกได้ว่า The Voice Thailand ซีซั่นแรกประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม นั่นจึงเป็นสิ่งที่โอ๋ภูมิใจมากๆ ในฐานะโปรดิวเซอร์

“สำหรับพี่นะ พี่ไม่ได้พยายามที่จะต้องคว้าอะไร แต่อยากทำให้ดีที่สุด นี่คือสิ่งที่ภูมิใจว่าพวกเราทำได้ ก็เป็นความภูมิใจแหละ พอรายการดังได้ เรารู้สึกมันเป็นหนึ่งผลงานในชีวิตแหละ เหมือนเราไปถึงเป้าหมายอันหนึ่งของชีวิตเหมือนกัน” โอ๋บอกเรา

จากความสำเร็จของซีซั่นแรกคือการกรุยทางสู่ซีซั่นใหม่ที่ค่อยๆ พัฒนารายการให้น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้น ทั้งโปรดัคชั่นการถ่ายทำที่เคยมีตัวเลขว่า ต้นทุนของรายการ The Voice หนึ่งซีซั่นใช้ทุนสร้างสูงถึง 150 ล้านบาท! นำไปสู่การออกแบบโชว์ที่ดีขึ้น อลังการขึ้น สนุกขึ้น 

และรวมไปถึงการคัดผู้แข่งขันที่ค่อยๆ เพิ่มความโหดในการทำงานของทีมงานมากขึ้น

“เราเสียเงินเรื่องออดิชั่นสูงมาก ที่ต้นทุนส่วนนี้มันแพงเพราะว่าเราค่อนข้างจะคัดคนแบบพรีเมียมเลย ซึ่งมีผู้สมัครเข้ามาให้เราคัดเลือกในรอบแรกถึงหมื่นกว่าคนจากทั่วประเทศซึ่งต้องมีทีม Scout เป็น 10 คนไปนั่งเลือกกัน จาก 10,000 เหลือ 500 เหลือ 300 ละก็เหลือแค่คนที่จะเอามาแข่ง และพอเหลือเข้ารอบ 200 คน ก็จะต้องเอามานั่งคุยกันทีละคน” โอ๋เล่าถึงเบื้องหลังการออดิชั่นผู้แข่งขัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือการการันตีในความเนี๊ยบของการคัดผู้แข่งขันที่เรียกได้ว่าจะหลุดจากมาตรฐานไปไม่ได้เลย

“เรารู้สึกว่ามาตรฐานจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งเราเริ่มมาตันตอนซีซั่น 4 พี่รู้สึกว่าคนมาออดิชั่นเริ่มหาย โค้ชเริ่มติดหู เพราะมาตรฐานหูเขาสูงมันก็เลยลำบาก เลยต้องมีการเปลี่ยนโค้ช ไม่งั้นเขาจะจำเสียงเดิมไว้ มาตอนซีซั่น 3 เนี่ยแทบจะไม่ยอมกดกันเลย พอเป็นแบบนี้พี่ก็เลยบอกให้โค้ชว่า ‘หยุด พี่ต้องล้างหู’ เพราะคนแข่งมันไม่สามารถหาไปได้เรื่อยๆ มันจะหมดประเทศแล้ว (หัวเราะ)” 

รูปแบบใหม่ ย้ายบ้านใหม่ เริ่มต้นใหม่

หลังจากที่ The Voice Thailand ออกอากาศทางช่อง 3 ได้ถึง 6 ซีซั่น ก็ถึงคราวเปลี่ยนแปลงที่รายการได้ย้ายการออกอากาศไปยัง PPTVHD ช่อง 36 ในช่วงเวลาสองทุ่มวันจันทร์ คราวนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่รายการระดับท็อปในเวลาไพร์มไทม์ ต้องชนกับคอนเทนต์เรือธงอย่างละครหลังข่าวของช่องใหญ่

“คราวนี้เราก็ย้ายช่องมา PPTV ซึ่งกระแสตอนนั้นก็ยอมรับว่ามันหายไปด้วย เนื่องจากเวลาออกอากาศ ซึ่งไพร์มไทม์ของเรามันคือวันอาทิตย์ 18:00 น. เท่านั้น มันคือรายการของครอบครัวจริงๆ แต่เราดันออกวันจันทร์ตอน 20:00 น. ซึ่งมันไม่ใช่เวลา ซึ่งตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์เองก็บอกเวลานี้มันไม่ได้นะ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นกระแสรายการก็ยอมรับว่าดรอปหายไปเยอะ” 

ถึงแม้ว่าตัวเลขเรตติ้งอาจไม่สูงมากเมื่อเทียบกับซีซั่นก่อนๆ แต่เมื่อนับรวมยอดวิวบนยูทูปแล้ว The Voice Thailand 2019 ซึ่งเป็นซีซั่นสุดท้ายบนช่อง PPTV กลับมียอดผู้เข้าชมรวมเกือบ 400 ล้านวิว 

หลังจากนั้นทุกอย่างก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเพราะโรคระบาดใหญ่ ทำให้ไม่สามารถถ่ายทำได้ซึ่งยืดเยื้อมานานถึง 2 ปี จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ทุกคนตัดสินใจ “แยกย้าย” ไม่ทำรายการ The Voice ต่อ 

การตัดสินใจครั้งนี้จริงจังถึงขนาดที่ว่า พร๊อพมือถือไมค์ชูสองนิ้วที่เป็นสัญลักษณ์ของรายการ รวมถึงฉากและอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ ถูกทำลายทิ้งไปแล้ว ส่วนโอ๋ยังเดินต่อในเส้นทางของตัวเองด้วยการเปิดบริษัทผลิตคอนเทนต์เล็กๆ ชื่อ Exit365 ในคอนเซปต์ที่ว่า “เรามีทางออกให้กับทุกคนในทุกวัน”

วันหนึ่งโอ๋ได้เข้าพบคุณบอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ บิ๊กบอสของช่องวัน 31 เพื่อนำเสนอรายการให้กับสถานี ซึ่งหลังจากการนำเสนอจบลง คุณบอยกลับถามโอ๋ด้วยคำถามสั้นๆ ที่ทำให้เธอต้องตัดสินใจอีกครั้งว่า

“ทำไมคุณโอ๋ไม่เอา The Voice กลับมาทำอีก”

ด้วยข้อเสนอที่ช่องวัน 31 ให้เวลาวันอาทิตย์ 6 โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาเดิมที่แข็งแรงมากๆ ของ The Voice Thailand ทำให้ไฟในการปลุกรายการที่เธอรักและภูมิใจมากๆ กลับมาอีกครั้ง โอ๋จึงนำไอเดียนี้กลับไปปรึกษากับเจ้าของลิขสิทธิ์ จนเธอได้รับทราบว่าตอนนี้มีรูปแบบรายการ The Voice อีกหนึ่งฟอร์แมตที่น่าสนใจมากๆ 

“มันคือการที่เอาเด็กที่ไม่ใช่แชมป์มาแข่งกันอีกครั้ง อย่างหนึ่งที่เรามองก็คือ เราผูกพันกับเด็กๆ เราก็อยู่กับเด็กตั้งแต่ Season 1 ถึง Season 8 เราเห็นศักยภาพของแต่ละคน เราเลยรู้สึกว่าเราอยากให้โอกาส เลยเป็น The Voice All Stars ที่มันคือโอกาสที่เขาจะกลับมาสร้างฝันของเขาอีกครั้งหนึ่ง กลับมาพิสูจน์ตัวตนของเขาอีกครั้งหนึ่ง ถ้าเรามีโอกาสให้เขา เรามีเวทีให้เขากลับมาโชว์ จะกดหันหรือไม่กด ไม่รู้ แต่คุณเป็น The Voice All Stars มันก็เพียงพอแล้ว” โอ๋ขยายความ

เก่า แต่ เก๋า

เมื่อถึงเวลานำโปรเจคต์ The Voice All Stars ไปขายสปอนเซอร์ สิ่งหนึ่งที่โอ๋และทีมงานต้องเผชิญคือการตั้งคำถามว่า “รายการรูปแบบนี้มันไม่เก่าไปเหรอ” 

“แต่มันท้าทายค่ะ สุดท้ายพี่เอามาเป็นแรงขับเคลื่อนให้ตัวเองว่า ลองซักตั้ง สมมติถ้ามันจะไม่เกิด เราก็ถือว่าเราทำดีที่สุด อย่างที่พี่โอ๋บอกคือพี่อยากให้โอกาสเด็กๆ ยอมรับนะว่ามันยาก แต่พี่ก็ยังมั่นใจในรายการพี่ แล้วพอเป็น The Voice All Stars พี่มั่นใจในศักยภาพของเด็กที่มาแข่ง เพราะมันคือความสุขของแต่ละคนที่มา คือเขามาด้วยใจแล้วเวที The Voice มันการันตีความสามารถของพวกเขา” โอ๋เล่า

ในขณะที่โอ๋ต้องต่อสู้กับความท้าทายครั้งใหญ่ ขณะเดียวกันเมื่อช่องวัน 31 ประกาศว่ารายการฟอร์แมตระดับโลกนี้จะกลับมาสู่หน้าจออีกครั้ง กลับกลายเป็นปรากฎการณ์ที่ทำให้โลกอินเทอร์เน็ตพูดถึงกันอีกครั้ง พร้อมกับความยินดีที่รายการที่เป็นที่รักของพวกเขากำลังจะกลับมาแล้ว

“คือแฟนคลับมาเต็มเลย พอทุกคนได้ยินก็ถามเข้ามาในช่องทางอินบ็อกซ์กันเต็มเลยว่าเปิดออดิชั่นเมื่อไหร่ กระแสดีนะ กระแสดีมาตลอด แต่ในแง่ของ Commercial เขาก็ยังไม่เชื่อหรอก เพราะว่าสุดท้ายเขาก็ต้องการให้รายการออกมาก่อน แล้วดูว่าดังหรือไม่ดัง แต่ว่าวันนั้นพี่แฮปปี้มากนะ ช่องวันเอาไปลงสื่อที่ไหน ตัวยอดวิวของ The Voice จะสูงสุด จะมีคนกดเยอะสุด เข้าคอมเมนต์เยอะที่สุด พูดถึงเยอะที่สุด”

และมันก็เป็นจริงตามที่คาดเดา The Voice All Stars ตอนแรกที่เพิ่งออกอากาศไปเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มียอดวิวย้อนหลังแบบ Full Episode และ Highlights 1 ล้านวิวภายใน 24 ชั่วโมงทุกคลิป บางคลิปถึงขั้นติดอันดับใน “มาแรง” ของยูทูปประเทศไทย ยังไม่นับถึงคอมเมนต์ที่หลั่งไหลซึ่งไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งความคิดถึงที่มีต่อตัวรายการ ผู้แข่งขัน และเสียงชื่นชมที่บอกว่า The Voice All Stars เป็นการกลับมาที่สมศักดิ์ศรีซึ่งเปี่ยมด้วยคุณภาพในทุกองค์ประกอบของรายการ

This is The Voice!

ถึงตรงนี้รายการกำลังออกอากาศในรอบ Blind Auditions ที่ยังไม่รู้ถึงปลายทางทั้ง 13 ตอนว่า The Voice All Stars จะมีบทสรุปแบบไหน แต่เมื่อเราลองชวนโอ๋สรุปสิ่งที่เธอเรียนรู้ตลอดการทำรายการ The Voice ในรอบ 10 ปีนี้

เธอบอกเราว่า มันทำให้เธอเข้าใจวัฎจักรของความเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อ

และความไม่จีรังของคน

“การที่ขึ้นจุดสูงสุดและก็ลงจุดที่อาจจะไม่ได้ต่ำสุด แต่เป็นจุดที่เข้าใจวัฏจักรของการทำทีวีว่ามันไม่ได้อยู่ได้ยาว แต่อันหนึ่งที่เราต้องคิดได้ก็คือ เราจะต้องเปลี่ยนไปให้ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างที่พี่เล่าให้ฟังคือ สังคมมันเปลี่ยนวิธีการ สื่อมันเปลี่ยนตาม เพราะฉะนั้นเราปรับได้  อย่างปีหน้าถ้าพี่ทำได้พี่จะมีออนไลน์มาเสริม พี่จะหาอะไรที่แตกยอดออกไป ต้องมีทำคอนเทนต์เพิ่ม ไม่ได้ทำคอนเสิร์ตแล้ว อาจจะทำเป็น Vlog ของศิลปิน ปีหน้าอาจจะไม่ใช่ทีวี อาจจะหาช่องทางออกอากาศทางออนไลน์อย่างเดียวไหม หรือช่องทางแพล์ตฟอร์มที่ไปร่วมกับใครไหม ก็ยังเป็นสิ่งที่จะทำงานต่อไป

“The Voice ให้อะไรกับพี่เยอะนะ พี่ว่าอย่างน้อยมันก็เป็นจุดสำเร็จอีกอันหนึ่งในชีวิตที่ตัวเองทำมา The Voice All Stars ก็ถือว่าเป็นตัวพิสูจน์สุดท้ายที่เราอยากพิสูจน์ว่าเราสามารถเอามันกลับมาได้ไหม แต่ที่แน่ๆ เลยเราได้เรียนรู้ชีวิตคน แค่ The Voice อย่างเดียวพี่ก็เจอคน 400 กว่าคน รู้สึกว่ามันเป็นประสบการณ์ชีวิตที่สอนให้เรารู้สึกว่าต้องเข้าใจความเป็นไปของมีเดีย ความเข้าใจของโลกมนุษย์ เราเข้าใจเด็กแต่ละคนที่เราเห็นบางคนดี บางคนไม่ดี แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นความทรงจำ มันเป็นประสบการณ์ชีวิตในตัวเองที่ทำให้เรามีความสุขแล้วอิ่มกับมัน 

“อีกอันหนึ่งที่พี่รู้สึกว่าเราให้นั่นคือเราให้โอกาส พี่ภูมิใจนะ คือเป็นรายการที่เราไม่ได้สนใจว่าหน้าตาคุณเป็นยังไง แต่เราให้โอกาสคุณมีตัวตนมายืนบนเวทีได้ นั่นคือสิ่งที่พี่ภูมิใจและพี่แฮปปี้มาก ถึงยอมกลับมาทำ The Voice All Stars อีกรอบหนึ่ง” โอ๋ส่งท้าย

ขอขอบคุณ
Exit365
ChomPR

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า