fbpx

งานหนัก-เงินน้อย-บูลลี่  เมื่องานราชการไทยพ่นพิษใส่คนรุ่นใหม่

“ทำงานราชการสิ ชีวิตจะได้สบาย”

ค่านิยมของสังคมไทยที่ปลูกฝังมาตั้งแต่อดีตคือการให้ลูกหลานรับราชการ ตอกย้ำด้วยคำสอนที่ว่าต้องเรียนหนังสือให้เก่ง โตขึ้นไปจะได้เป็น “เจ้าคนนายคน” ครอบครัวไหนที่มีลูกรับราชการก็จะมีหน้ามีตาในสังคม ด้วยความมั่นคงของอัตราเงินเดือน สวัสดิการ เงินบำเหน็จและเงินบำนาญหลังเกษียณ ทำให้แนวคิดการเข้ารับราชการถูกถ่ายทอดในสังคมไทยส่งต่อรุ่นสู่รุ่น สังเกตได้ง่าย ๆ หากครอบครัวไหนมีพ่อ แม่ หรือญาติโกโหติกาเป็นหมอ ลูกหลานก็จะถูกผลักดันให้ต้องเป็นหมอเหมือนกัน ซึ่งครอบครัวที่รับราชการไม่ว่าจะเป็น ครู ทหาร หรือตำรวจ คนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานก็ถูกปลูกฝังด้วยค่านิยมเหล่านี้เช่นกัน

แต่ทว่าเบื้องหลังของการทำงานราชการ กลับไม่ได้สวยงามเหมือนในซีรีส์ที่อยู่บนจอทีวี เมื่อระบบการทำงานเชิดชูความเสียสละมากกว่าความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นทัศนคติของการทำงานที่ถูกแช่ไว้กับรุ่นเก่า ทำให้การทำงานไม่ได้รับการพัฒนา ไม่ยอมรับศักยภาพของเด็กรุ่นใหม่ สภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นพิษเต็มไปด้วยคำพูดที่ดูถูก เหยียดหยาม ระเบิดอารมณ์ และลดทอนความเป็นมนุษย์ด้วยกันเอง

ปัญหาของโครงสร้างระบบราชการที่เหมือนแก้วแตกเป็นเสี่ยง ๆ ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาเชิงปัจเจกบุคคล ทำให้เด็กรุ่นใหม่หลายคน มองหาทางเลือกอื่นที่ตอบโจทย์การทำงานมากกว่า จะเห็นได้ว่าอัตราการลาออก (Turnover) ของข้าราชการรุ่นใหม่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทว่าคนกลุ่มนี้กลับถูกมองว่า “ทำไมเด็กสมัยนี้ถึงไม่มีความอดทน สมัยเรายังผ่านมาได้เลย” คำถามคือแล้วเราจะทนอยู่กับระบบการทำงานราชการแบบนี้ไปนานแค่ไหนกัน?

อย่างกรณีล่าสุดที่ หมอปุยเมฆ แพทย์หญิง นภสร วีรยุทธวิไล ได้ทวีตทั้งน้ำตา พร้อมเผยเบื้องหลังการลาออกจากตำแหน่งแพทย์ฝึกหัด (Intern) ในระบบราชการว่า “เห็นช่วงนี้กระแสข่าว Intern ลาออกจากระบบกันเยอะ ขอพูดในฐานะคนที่เพิ่งตัดสินใจลาออกมาละกัน งานในระบบหนักจริง แต่ถามว่าอยู่ในระดับทนได้มั้ย ทนได้ ไม่ตาย แต่ใกล้ตาย เสียทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต” 

ทวีตดังกล่าวกลายเป็นประเด็นที่คนหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันบนโซเชียล ปัญหาที่ถูกซ่อนไว้ใต้พรมมาเป็นเวลานานค่อย ๆ ถูกเปิดเผยออกมา ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยถึงวิธีการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในวงการแพทย์ของไทยว่าจะทำอย่างไรต่อไป

เปิดปม ‘วงการแพทย์’ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ลาออก

The Modernist ได้สอบถามไปยัง นพ.ธนโชติ สิทธิมาตย์ อดีตนายแพทย์ที่ทำงานในระบบราชการ เล่าถึงประสบการณ์ขณะที่เป็นแพทย์จบใหม่ว่า ปีแรกของแพทย์จบใหม่ต้องไปทำงานในโรงพยาบาลรัฐตามจังหวัดที่ใหญ่พอจะสามารถเทรนการทำงานได้ ทำให้ได้เจอคนไข้เยอะกว่าโรงพยาบาลชุมชน โดยใน 1 ปี จะหมุนเวียนการทำงานในแผนกต่าง ๆ ของโรงพยาบาล เช่น ทำงานแผนกอายุรกรรม 3 เดือน, แผนกศัลยกรรม 2 เดือน, แผนกห้องฉุกเฉิน 1 เดือน เป็นต้น 

นพ.ธนโชติ ได้เล่ารายละเอียดปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะที่เกิดขึ้นขณะที่เป็นแพทย์ ได้แก่

ปัญหาแรก คือ ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ที่มากเกินไป 

หากนับตามเวลาราชการ คือ 8 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น แต่ตอนทำงานจริง เมื่อต้องไปดูแลผู้ป่วยใน (Round Ward) ในวอร์ดหนัก ๆ เช่น อายุรกรรม แพทย์ก็ต้องมาก่อนเวลาเพื่อจะให้ดูแลคนไข้ทันตอน 4 โมงเย็น

การเข้าเวรของแพทย์จะถูกแบ่งออกเป็น 3 กะ ได้แก่ 8.00 – 16.00 น., 16.00 – 00.00 น. และ 00.00 – 8.00 น. ยกตัวอย่างการเข้าเวร เช่น เริ่มงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าในวันจันทร์ เข้าเวรต่อจนถึงเช้าวันอังคาร และทำงานตามเวลาราชการต่อจนถึงวันอังคาร 4 โมงเย็น รวมทั้งหมด คือ 32 ชั่วโมง พอชั่วโมงการทำงานที่มีมากเกินไปแล้วร่างกายไม่ได้พักผ่อน ส่งผลให้ร่างกายทรุดโทรม บางทีเกิดอาการเวียนหัวถึงขั้นทำงานไม่ได้

“เวรที่เป็นปัญหาที่สุดก็คือ ‘เวรกลาง’ เป็นการเข้าเวรที่แผนกฉุกเฉิน โดยต้องแบ่งแพทย์จากแผนกอายุรกรรมหรือศัลยกรรมมาผลัดกันเข้าเวรในแต่ละวัน ซึ่งแผนกฉุกเฉินจะมีความวุ่นวาย ต้องวิ่งตลอด รับเคสคนไข้ตลอด และความจริงอันโหดร้ายที่เจอมากับตัว คือ แพทย์เฉพาะทางไม่ได้ลงมาหารเวรกับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปเลย ทั้ง ๆ ที่มีชื่อของเขาติดอยู่หน้าห้อง แต่กลับเอาชื่อของเราไปจัดใส่ในไว้เวร หรือเรียกง่าย ๆ คือ แพทย์เฉพาะทางขายเวรให้กับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป แล้วเพิ่มเงินให้เวรละ 600 บาท ซึ่งสำหรับเราไม่ได้อยากได้เงิน แต่อยากได้แพทย์ที่เข้ามาช่วยเหลืองานตรงนี้มากกว่า” นพ.ธนโชติ กล่าว

ปัญหาที่สอง คือ ความบั่นทอนจิตใจจากแพทย์รุ่นพี่

แพทย์จบใหม่จะมีแพทย์รุ่นพี่ หรือที่เรียกว่า ‘สตาฟ’ เป็นแพทย์เฉพาะทางที่จะคอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ที่เป็นเคสยากเกินกว่าแพทย์จบใหม่จะสามารถรักษาได้ โดยในขั้นตอนการปรึกษาก็จะเป็นการโทรไปปรึกษาสตาฟ

นพ.ธนโชติ กล่าวว่า “สิ่งที่ทำให้แพทย์จบใหม่หลายคนหมดไฟ (Burnout) เกิดจากการที่เวลาโทรไปปรึกษาสตาฟ เวลาตอบคำถามไม่ได้หรือพูดอะไรที่ไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากได้ยิน ก็จะมีการดุด่ากลับมาด้วยถ้อยคำที่บั่นทอนจิตใจ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง คนเราไม่สามารถรู้ทุกเรื่องบนโลกใบนี้ ข้อมูลในวงการแพทย์มีเยอะมาก ซึ่งแพทย์จบใหม่จะรู้หมดทุกเรื่องก็เป็นไปได้ยากมาก

ไม่ว่าจะทำงานวงการไหนทุกคนก็ต้องเคยผิดพลาดกันอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ แต่ในวงการแพทย์ เมื่อไหร่ที่ทำพลาดก็จะซ้ำเติมกันค่อนข้างแรง โดนตำหนิเกินกว่าเหตุ เหมือนกับว่าการทำงานที่ผ่านมาของเราไม่มีความหมายเลย ในวันที่ทำดีกลับไม่เคยชม เลยทำให้รู้สึกดาวน์มาก ๆ”

นพ.ธนโชติ เล่าต่อว่า “เคยอยู่เวรห้องฉุกเฉิน รับเคสคนไข้ มาตอน 7 โมง 50 นาที ซึ่งอีก 10 นาทีต้องออกเวร แล้วเข้างานตามเวลาราชการ ตอน 8 โมงเช้า ซึ่งแพทย์ทิ้งคนไข้แล้วไปเลยไม่ได้ ต้องรอส่งเคสให้กับแพทย์อีกคน กว่าจะเสร็จก็เกือบ 8 โมงครึ่ง พอขึ้นไปที่วอร์ดตึกอายุรกรรม มีสตาฟเดินมาแล้วถาม “มีอะไรจะปรึกษาไหม” ซึ่งเราเพิ่งออกเวรแล้วขึ้นวอร์ดมาได้ 5 นาที ก็ไม่รู้จะตอบสตาฟยังไง ซึ่งบางอย่างที่อธิบายไปสตาฟก็ไม่ฟังอยู่ดี

อีกกรณีหนึ่ง เคยเจอคนไข้ที่อยู่สูตินรีเวชเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งเราเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป พอจะรู้ว่าการรักษาเบาหวานทำยังไง ในขณะที่แพทย์สูตินรีเวชกลับรักษาผู้ป่วยเบาหวานไม่เป็นเลย แล้วเขาบอกให้เราหาแพทย์อายุรกรรมแทน คำตอบจากปลายสายที่ได้ก็คือการต่อว่าว่าทำไมไม่รู้ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าแพทย์เฉพาะทางก็รู้แค่ที่ตัวเองถนัดเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแพทย์เฉพาะทางก็ควรรู้การรักษาของผู้ป่วยเคสทั่วไปด้วย

บางครั้งแพทย์จบใหม่กลายเป็นคนผิดในสิ่งที่ไม่ได้ทำ อย่างกรณีที่เคยเจอ เคสผู้ป่วยหนักที่ต้องเตรียม แล็บให้ดีก่อนไปปรึกษาสตาฟ แต่อาจารย์ที่มาดูคนไข้กับเรา บอกว่าต้องไปปรึกษาสตาฟเลย ซึ่งเราก็อธิบายไปแล้วว่าไม่ได้ แต่เขาก็ย้ำให้โทร สุดท้ายพอตัดสินใจโทรก็โดนด่า มิหนำซ้ำสตาฟลงมาจากห้องผ่าตัดเพื่อมาด่าเรา ทั้ง ๆ ที่ความผิดเป็นของอาจารย์อีกคน”

ปัญหาที่สาม คือ รายได้ไม่คุ้มกับสุขภาพที่เสียไป

นพ.ธนโชติ อธิบายถึงเงินเดือนแพทย์จบใหม่ว่า แพทย์ที่เป็นอินเทิร์นปี 1 จะได้เงินเดือนที่ 18,000 บาท แล้วก็จะมีเงินเพิ่มอื่น ๆ เช่น ค่าหัตถการ ราคาเหมา 10,000 บาท เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข (พ.ต.ส.) 5,000 บาท ค่าไม่ทำเวชหรือเปิดคลินิก 10,000 บาท แล้วก็ค่าเวรที่จะแตกต่างกันไป ถ้ามีแพทย์คนอื่นขายเวรให้ก็จะได้เงินเพิ่ม โดยรวมรายได้แพทย์จบใหม่ในโรงพยาบาลรัฐจะอยู่ที่ประมาณ 50,000 – 70,000 บาท ซึ่งถ้ามองแบบผิวเผินดูเหมือนเป็นเงินที่ค่อนข้างเยอะ ขณะเดียวกันมันคือราคาที่ต้องแลกกับสุขภาพที่เสียไป และปัจจุบันมีทางเลือกที่ดีกว่าก็ไม่แปลกที่แพทย์จบใหม่จะลาออกจากระบบราชการแล้วไปทำงานที่อื่นแทน

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ นพ.ธนโชติ ได้แชร์ให้กับทาง The Modernsit ในวงการแพทย์ยังมีอีกหลากหลายปัญหาที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบกับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญของวงการแพทย์ในอนาคต ที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ 

ส่งผลให้นักศึกษาแพทย์หลายคนต้องไปพบจิตแพทย์ เป็นทั้งแพทย์ที่ต้องรักษาผู้ป่วยและเป็นผู้ป่วยที่ตัวรักษาตัวเองในเวลาเดียวกัน การทำงานที่เต็มไปด้วยความเครียดและความกดดันหลาย ๆ อย่าง ทำให้ในทุกปีเรามักจะได้ยินเรื่องน่าเศร้าถึงข่าวการจบชีวิตของนักศึกษาแพทย์ในสาขาต่าง ๆ 

ไม่ใช่อาชีพไม่ดี แต่ ‘ระบบราชการ’ ต่างหาก ที่มีปัญหา 

นอกเหนือจากนั้นยังมี “ข้าราชการครู” อีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากความ Toxic ของระบบราชการ และกลายเป็นปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาของไทย และเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในสังคมไทยมาโดยตลอด โดยในปี 2564 มีครูท่านหนึ่งโพสต์ภาพ ‘หนังสือลาออก’ พร้อมบอกเหตุผลในการลาออก กลายเป็นประเด็นที่คนให้ความสนใจและเกิดเป็นแฮชแท็ก #ทำไมครูไทยอยากลาออก

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Mini Supawadee หรือ ครูมี่ ได้โพสต์ข้อความบันทึกลาออกจากราชการ มีคนแชร์โพสต์มากกว่า 4,000 คน สามารถสรุปเนื้อหาได้ว่า การทำงานที่วนลูปกับเอกสารที่มากมายก่ายกอง ไม่สามารถทนกับการเรียนการสอนที่เพื่อให้นักเรียนสอบเท่านั้น แต่ไม่ได้นำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง นอกจากนั้นครูมี่ยังได้กล่าวถึงการเรียนรู้ที่โรงเรียนไม่ได้สอน เช่น การบริหารเวลา, การรับมือกับความล้มเหลว, ความมั่นคงที่ไม่ได้อยู่ที่อาชีพ พร้อมย้ำว่าแม้ในวันที่ไม่ได้ทำงานราชการก็สามารถอยู่บนเส้นทางชีวิตที่มีความสุขได้เช่นกัน

ครูแจง ผู้ริเริ่มกลุ่มก่อการสิทธิเด็ก ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงภาระหน้าที่ของครูว่า นอกจากการสอนในห้องเรียนแล้ว ครูจะมีงานพิเศษอื่น ๆ โดยจะแบ่งเป็น งานวิชาการ ฝ่ายบุคคล การบัญชี และสถานที่ หากมองเป็นรูปแบบการทำงานของบริษัท ตำแหน่งงานเหล่านี้จะเป็นการแบ่งหน้าที่ของแต่ละคนออกไป แต่ในข้าราชการครูนั้น ครูหนึ่งคนต้องมาประจำตำแหน่งในแต่หน่วยงานพิเศษเหล่านี้ด้วย 

ครูแจง ได้เล่าถึงประสบการณ์ในอดีตที่เคยเป็นครูแนะแนวว่า ครูแนะแนวในระบบราชการนั้น เปิดเทอมต้องเตรียมเอกสารการกู้ กยศ. ให้กับนักเรียน เริ่มตั้งแต่การชี้แจงนักเรียน เตรียมนักเรียนไปทำกิจกรรมอาสาเพื่อเก็บชั่วโมง นัดหมายผู้ปกครองและผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อมาเซ็นสัญญา กรอกข้อมูลนักเรียนในระบบ จนไปถึงการส่งเอกสารให้กับธนาคาร ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดเป็นภาระหน้าที่ครูคนคนเดียว

นอกจากนั้น ครูแนะแนวยังต้องดูแลในส่วนอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น การทำแผนการสอนสำหรับนักเรียนที่เป็นผู้พิการ จัดกิจกรรมลูกเสือ กิจกรรมอบรม กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การให้คำปรึกษาด้านอาชีพ พานักเรียนไปเข้าค่ายแข่งขัน นอกจากนั้นยังมีโครงการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ส่งโครงการมากับทางโรงเรียนแล้วครูในโรงเรียนต้องเป็นผู้ดำเนินการ

ซึ่งโครงการที่ว่านี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ต่างก็อยากให้โรงเรียนในเขตเข้าร่วมโครงการ เพื่อแสดงความกระตือรือร้นกับข้าราชการครูที่ตัวเองเป็นผู้ดูแล แต่ทว่ากลับเป็นการสร้างความกดดันและเพิ่มภาระงานให้กับครูที่อยู่ใต้บังคับบัญชา

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้อำนวยการโรงเรียนที่เข้ามาใหม่ก็ไม่กล้าที่จะปฏิเสธโครงการนี้ กลายเป็นว่าก็ต้องรับโครงการที่มีมาทั้งหมดเพื่อให้ตัวเองประเมินงานผ่าน อีกทั้งตัวชี้วัดของโครงการนั้น ๆ จะอยู่ในการประเมินเงินเดือนของครู และการประเมินโรงเรียน สะท้อนให้เห็นว่าโครงการที่มีไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเด็กนักเรียน แต่เป็นการตอบโจทย์ผู้บังคับบัญชาแทน

ครูแจงมองว่าข้าราชการครูมีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ ด้วยภาระหน้าที่นอกห้องเรียนที่มีมากเกินไป ทำให้ครูไม่มีเวลาสอนนักเรียน 

“ครั้งหนึ่งเคยให้นักเรียนทำแบบประเมินท้ายคาบ แล้วนักเรียนฟีดแบ็กกลับมาว่า “ครูรู้ไหม พวกหนูอยากเรียนกับครูมาเลย แต่ไม่รู้ครูหายไปไหน” ซึ่งก็มีเด็กหลายคนที่ตอบแบบนี้ ทำให้เราเปลี่ยน Mindset ใหม่ ว่าจะไม่รับงานนอกห้องเรียนและจะทำหน้าที่สอนเด็กในห้องเรียนเท่านั้น เพราะเรารู้ว่า ชีวิตเด็กคนหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะมีครูที่ตั้งใจสอนเขาจริง ๆ ทุกเสียงฟีดแบ็กที่ได้รับจากนักเรียนมันมีคุณค่าและมีความหมาย ทำให้เราเลือกที่จะเพิกเฉยกับการทำงานบางอย่างที่ฝ่ายอื่นขอร้องให้ทำในระบบราชการที่มีความซับซ้อน”

ในขณะเดียวกัน ครูทุกคนรู้ว่าระบบราชการไม่ดี แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูดหรือปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ชอบธรรม อีกทั้งโรงเรียนก็ไม่ได้แข็งแรงพอที่จะเป็นผู้รื้อถอนระบบบางอย่าง หรือปฏิเสธที่ไม่รับโครงการจากกระทรวงการศึกษา ยกตัวอย่างเช่น โครงการรักการอ่าน ที่ตอบโจทย์ตัวชี้วัดด้านอื่นมากกว่าการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน ครูจะแน่ใจได้อย่างไรว่านักเรียนมีพัฒนาการในการเรียนรู้ด้านภาษาที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเขียนรักการอ่าน ในเมื่อไม่มีการติดตามผล ครูแจงกล่าวว่า เธอเองก็ไม่รู้ว่าระบบการศึกษาได้ตรวจสอบพัฒนาการของนักเรียนที่มาจากการเขียนรักการอ่านหรือเปล่า เพราะไม่มีฟีดแบ็กอะไรกลับมา จึงเกิดเป็นข้อสงสัยที่ว่า แล้วแบบนี้เด็กจะเติบโตขึ้นได้อย่างไร?

ครูแจงกล่าวต่อว่า “ด้วยความตั้งใจที่อยากจะเป็นครูเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับนักเรียน อยากสนับสนุนความปลอดภัยของเด็ก แต่โดนเบรกเอาไว้ด้วยตรรกะ ความกลัว และความเสี่ยง ที่ไม่มีใครกล้าที่จะเสี่ยงไปกับเรา ถูกมองว่ายังเป็นเด็กน้อยและตำหนิเราซ้ำว่า การเป็นครูแบบนี้เอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน หรือ เป็นครูทำหน้าที่แค่นี้ก็พอ เมื่อได้ยินแบบนี้ก็รู้สึกหดหู่ใจ และตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจะอยู่ภายใต้คนกลุ่มนี้จริง ๆ เหรอ?” 

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องการเลื่อนวิทยฐานะครู ซึ่งเป็นรูปแบบการประเมินความรู้ของครู และเป็นการเลื่อนตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยครูต้องสร้างผลงานในการพิสูจน์ความรู้ของตัวเอง ซึ่งกว่าจะได้เลื่อนขั้นก็ต้องใช้เวลาที่ค่อนข้างยาวนาน และการที่ขยับจากครู คศ. 1 เป็นครู คศ. 2 (ครูชำนาญการ) เงินที่เพิ่มมาจะอยู่ที่ประมาณ 3,500 บาท ทำให้ครูหลายคนต้องมากดดันตัวเองในการเลื่อนวิทยฐานะ บางคนทุ่มเทแทบตายเพื่อแลกมากับรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาเพียงไม่กี่บาท ข้อสงสัยต่อมาคือ การเลื่อนวิทยฐานะเป็นสิ่งที่บอกถึงความเชี่ยวชาญของครูจริง ๆ หรือเป็นเพียงสัญญาณเตือนที่มาจากใจของครูที่ต้องการเงินเดือนที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้นเอง แต่สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ทั้งหมดไม่ได้เป็นประโยชน์กับตัวนักเรียน

ความเหนื่อยล้าในงานราชการที่ครูแจงได้ประสบพบเจอมากับตัว ส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ยังต้องมาเจอกับเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ต่อปี บางคนทำงานมา 5 ปี ได้เงินเดือน 20,000 บาท ในขณะที่ไปทำงานในอาชีพอื่นในคุณสมบัติและประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกันอาจจะได้เงินเดือนที่มากกว่านี้ก็ได้ การทำงานราชการจึงส่งผลให้ Self-Esteem (การเห็นคุณค่าในตัวเอง) ลดลง และทำให้ครูรู้สึกอยากลาออกทุกครั้งที่พูดคำว่า “ครู” 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ระบบการทำงานของข้าราชการครูกำลังมีปัญหาไม่ต่างกับวงการแพทย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมาเป็นระยะเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการสอนที่นักเรียนไม่สามารถใช้ได้จริง การทำโครงการที่ไม่ได้ตอบโจทย์นักเรียน หรือแม้กระทั่งการที่ครูกลายเป็นรองรับอารมณ์ของนักเรียน ส่งผลให้ครูรุ่นใหม่เกิดความเหนื่อยล้ากับระบบราชการ

กล่าวโดยสรุป จากประเด็นของการที่แพทย์และครูทยอยลาออก เป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ใช่ปัญหาเชิงปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบราชการที่ยังไม่มีวิธีที่ดีพอในการรักษาบุคลากรคนสำคัญไว้ได้ ทั้งนี้ทางออกของปัญหาที่เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ต้องมาดูกันต่อไปว่า รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างของระบบราชการไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามนโยบายที่เคยสัญญาไว้หรือเปล่า 

หากถอดคำว่า “พระคุณที่สาม” “หมอผู้เสียสละ” ออกไปจากอาชีพแพทย์และครู ทั้งสองอาชีพก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องการใช้ชีวิตเท่าเทียมกับคนที่ทำงานในอาชีพอื่นเช่นกัน ทั้งนี้ สังคมไทยควรจะพอได้หรือยังที่ใช้ความเสียสละมาลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของอาชีพข้าราชการ?

ที่มา : mpm.ru.ac.th / thairath / amarintv

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า