fbpx

The People สามปีของการเล่าเรื่องผู้คนสู่การสร้างแรงบันดาลใจที่ไม่รู้จบ

The People คือสื่อออนไลน์ที่ว่าด้วยเรื่องของ “คน” มีคอนเทนต์หลักคือชีวประวัติของผู้คนทั้งตำนานที่มีลมหายใจไปจนถึงผู้วายชนม์ ศิลปินแถวหน้าจรดตัวละครในภาพยนตร์และอนิเมะ คนธรรมดาที่สร้างความเปลี่ยนแปลงกระทั่งเจ้าของธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ และบทสัมภาษณ์ของผู้คนมากหน้าหลายตาที่ทุกคอนเทนต์จะค่อยๆ ปลุกพลังบางอย่างให้คุณ

และการสร้างแรงบันดาลใจผ่านเรื่องราวของผู้คน

ซึ่งเพียง 3 ปี The People กลายเป็นที่กล่าวถึงในแง่ของการเล่าเรื่อง “คน” ได้อย่างมีเอกลักษณ์และลึกซึ้ง พิสูจน์ได้จากทั้งยอดคนติดตามกว่า 500,000 Followers จนต่อยอดไปเป็นรายการพอดแคสต์ คอนเทนต์ไลน์ดนตรีและธุรกิจ รวมถึงหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กอย่างเรื่องเล่าคนเปลี่ยนโลก และงานประกาศผลรางวัล The People Awards 2022 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้

ในวาระที่ The People ย้ายออฟฟิศใหม่จนมาเป็นเพื่อนบ้านย่านใกล้ๆ กันกับ Modernist เราจึงได้รับเทียบเชิญจากรัก-อนันต์ ลือประดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการอำนวยการ ผู้ซึ่งผ่านงานมาตั้งแต่การเป็นคนทำหนังสือพิมพ์ธุรกิจสู่สื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งผ่านงานมาแล้วทุกรูปแบบ มาเยี่ยมเยียนบ้านใหม่ของเขา รวมถึงการเปิดพื้นที่ของ “คน” ที่เล่าเรื่อง “ผู้คน” เพื่อถอดบทเรียนการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่เข้าใจทั้ง “คน” ต้นเรื่อง ที่เป็นหัวใจสำคัญ และ “คนอ่าน” ที่พวกเขาต้องการส่งพลังงานดีด้วยเรื่องราวของ “คน”

เชิญพบกับบทสัมภาษณ์ของ “คน” ที่อยากเปลี่ยนโลกด้วยเรื่องของ “คน” ได้นับตั้งแต่ย่อหน้านี้เป็นต้นไป

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

อีกไม่กี่วันการประกาศรางวัล The People Awards จะเกิดขึ้น การเชื่อมโยงจากสื่อออนไลน์สู่การประกาศรางวัลเกิดจากอะไร

ขอบคุณครับ (หัวเราะ) ขอบคุณมากที่ถาม คือเราทำเรื่องคนมาถึงจุดหนึ่งแล้ว เราก็คิดว่าเราเห็นตัวอย่างของคนที่น่าสนใจเยอะ เราก็คิดว่าในฐานะสื่อ เรารับผิดชอบการที่จะดึงเอาเรื่องของคนที่น่าสนใจมาบอกกล่าวให้สังคมรับรู้ เพราะฉะนั้นเมื่อครบหนึ่งปี เรามานั่งดูกันไหม ว่าที่ผ่านมาใครบ้างที่ทำบางอย่างให้สังคม โลกใบนี้ หรือในสังคมไทย เราก็ไปดูในสาขาต่าง ๆ เลย ตั้งแต่นักธุรกิจยันเกษตรกร มีใครบ้างที่น่าสนใจและเราก็หยิบเอาเรื่องราวของเขามาให้กรรมการช่วยกันเลือก ไฮไลท์เขาขึ้นมาบนเวทีหนึ่ง 

เดิมทีเราจะมีแบ่งว่าจะมีสาขาสิ่งแวดล้อม สาขาธุรกิจ สาขาศิลปะบันเทิง แต่มันเหนื่อย ปีนี้เรามีกรรมการอยู่ 7 คน มีนักการตลาด มีนักเศรษฐกิจดิจิทัล มีนักวิทยาศาสตร์ และก็มีคนในวงการบันเทิง เราก็ได้คนที่หลากหลายกว่า 100 คน 100 Finalist จริง ๆ ก็มีคนที่ 101 – 150 ด้วยนะ แต่เราดันขึ้นไปไม่ได้ ก็เสียดาย ที่นั่งมันมีแค่ 100 มันก็ต้อง 100 และกรรมการก็เลือกจาก 100 นั้นมาเหลือ 10 เรียกว่า Trend People of the years ที่มาของรางวัลนี้ก็คือต้องการเชิดชูเกียรติ เราไม่คิดว่าเราเป็นสถาบันหรือใหญ่โตอะไร แต่เราคิดว่าเราต้องการสร้างเวทีนี้ ให้กับคนที่ทำบางอย่างที่พิเศษ

เกณฑ์หรือวิธีการตัดสินของ The People Awards คืออะไร

พื้นฐานของการจัดงานแบบนี้คือ กรรมการที่ให้รางวัลจะต้องมีจิตใจที่เป็นธรรม ไม่มี Agenda อื่นใดมาบดบังกรรมการที่เราเชิญมา มันมีหลาย ๆ รางวัลที่ทำไว้เพื่อขาย จ่ายเงินมาผมให้รางวัลคุณ มีรางวัลหลาย ๆ รางวัลที่ผู้จัดงานมีอิทธิพลครอบงำ เราอยากให้หลาย ๆ รางวัลที่เรามีอยู่มีคุณค่าและยั่งยืนได้ในระยะยาว เป็นที่ยอมรับ เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของคน อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้ามันเป็นแบบที่ว่า คนที่ได้รับรางวัลจะมีความสุขมาก เพราะมันมาจากการที่คนกลุ่มหนึ่งเห็นค่าเขาอย่างแท้จริง

แล้วการมอบรางวัลให้คนสักคนหนึ่ง มันมีความหมายอย่างไรกับคุณ

รางวัลเป็นเรื่องของการให้กำลังใจ และมันทำให้คนที่กำลังทำงานหนักอยู่ รู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว สังคมมองเขาอยู่ เห็นเขาอยู่ และทำให้เขามั่นใจว่าสิ่งที่เขาทำอยู่มันไปได้ ไม่ได้ไร้สาระ ไม่ได้ไร้ความหมาย อย่างน้อยมันมีความหมายสำหรับบางคน

อีกเรื่องที่หลายคนพูดถึงคือการที่กลุ่มเนชั่นตัดสินใจซื้อ The People ดีลนี้บอกศักยภาพอะไรในสื่อของคุณบ้าง

มันบอกว่าธุรกิจสื่อมันก็คือธุรกิจ มันก็เหมือนกับเราทำร้านก๋วยเตี๋ยว ถ้าวันหนึ่งมีใครอยากจะมาร่วมทุน และทำให้ร้านก๋วยเตี๋ยวของเรามันดีขึ้นได้ และโดยเป็นข้อตกลงที่เป็นธรรม โปร่งใส มันก็ Why not?

แต่ก็จะบอกต่อว่าก็มีการคุยกันอยู่ถึงจุดยืนของคนทำงาน มันก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองทำด้วย การที่เนชั่นมาลงทุน ตราบใดที่เขาให้เสรีภาพในการทำงาน เสรีภาพในการบริหาร และไปตามจรรยาบรรณของสื่อ เราก็ไม่มีปัญหา เพระว่าเราต้องเข้าใจว่าทุกธุรกิจสื่อมันมีนักธุรกิจสนับสนุนอยู่แล้ว  ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไหน มันไม่มีสื่อไหนที่ตั้งอยู่โดด ๆ แล้วควักเงินตัวเองทำ ยกเว้นว่ารวยมาก เพราะฉะนั้นการที่เนชั่นมา มันก็ทำให้เราคิดกันมากเหมือนกันว่าเราจะเป็นไปในแบบไหน แต่เราก็ยังเชื่อมั่นในแนวทางที่เป็นสื่อมืออาชีพ และก็ในแง่ของการเป็นสถาบันสื่อที่อยู่มานานอย่างเนชั่น มันจะไม่ทำให้เราไปในทิศทางที่ผิด ถึงจะไม่ใช่เนชั่น เป็นสื่ออื่น ๆ ถ้า The People จำเป็น และต้องการทรัพยากรที่เพิ่มขึ้น เราก็เริ่มไปตามนั้นครับ

พอข่าวนี้ออกไปมันก็มีทั้งก้อนหินและก็ดอกไม้ปาเข้ามา และส่วนใหญ่จะเป็นก้อนหิน คุณจะพิสูจน์ตนเองอย่างไรบ้าง

พิสูจน์ง่าย ๆ ด้วยการทำงานและระยะเวลา ก็อยากให้เห็นว่ามันยังทำงานเหมือนเดิมอยู่ ทุกวันนี้บก. หรือทีมบริหารยังเหมือนเดิมอยู่ คอนเทนต์ที่ออกมาก็ยังเป็นคอนเทนต์ที่เดินตามฉบับดั้งเดิม แน่นอนว่าอาจมีคนไม่ชอบใจ ไม่เชื่อมั่นในเรื่องเก่า ๆ ที่ผ่านมา แต่เราอยากจะให้เพื่อน ๆ เหล่านั้นใจกว้างนิดหนึ่ง และมองไปข้างหน้า ที่ผ่านมันก็แบบหนึ่ง แต่อนาคตมันก็อีกทางหนึ่ง หลัก ๆ ก็อยากผลงานกับเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์  ถ้าเราทำได้ไม่ดีเราเชื่อว่ามหาชนจะไม่ยอมรับเรา 

คุณโตมากับการทำหนังสือพิมพ์ธุรกิจ ช่วงที่ทำงานในแวดวงธุรกิจ ทำให้คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง 

จริง ๆ แล้วคือการเข้าใจธุรกิจ ทำให้เราเข้าใจการตัดสินใจในสิ่งที่เราไม่ได้เห็นโครงสร้างทั้งหมด มันเป็นการตัดสินใจที่มาจากอัตวิสัยเยอะ คนทำธุรกิจมันจะมีเรื่องของความเป็นจริงอยู่ ความอยู่รอด ถ้าคุณไม่มีเงินที่มันหล่อเลี้ยงในระบบ มันก็เหมือนเส้นเลือดที่ไม่มีเลือด ก็ต้องล้มตาย เพราะฉะนั้นเราเลยเข้าใจการมีอยู่ของสถาบันที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจ และก็ได้เจอวิสัยทัศน์ของคนที่เป็นผู้บริหาร เราจะมองเขาว่าเขาเป็นผู้ที่ได้รับหรือสะสมผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของสังคม ก็ใช่ส่วนหนึ่ง แต่ด้านหนึ่งก็ต้องเข้าว่าความมั่งคั่งของสถาบันเหล่านี้ มันมีขึ้นมาเพื่อเป็นรากฐานให้กับสังคม 

คือในยุคที่เราไม่มี Blockchain ไม่มีการ Decentralized ระบบธนาคารมันก็ตอบโจทย์ในยุคนั้น ลองดูว่าถ้าไม่มีธนาคารมันจะปั่นป่วนวุ่นวายขนาดไหน และแน่นอนว่าในยุคนั้นที่เราทำข่าวอยู่ มันก็มีเรื่องการปฏิวัติเงินตรา การเปลี่ยนแปลงค่าของเงินบาทที่มันต้องแขวนอยู่กับค่าเงินโลก หรือเรื่องการลอยตัว เรื่องของทั้งโลกที่มันกดดันประเทศไทยทั้งประเทศ มันมีเรื่องของคนที่ทำงานด้านนี้ที่ต้องตัดสินใจเยอะ ว่าจะต้องพาประเทศไทยไปอย่างไร หลัก ๆ ก็ผลประโยชน์ของประเทศ จะของคนใดคนหนึ่งรึเปล่าก็ไม่รู้นะ แต่อย่างน้อยก็ในนามผลประโยชน์ของประเทศ

ข่าวเกี่ยวกับปากท้องนับว่าเป็นข่าวเศรษฐกิจไหม

มันมีหลายเลเยอร์ว่าเป็น Macro หรือ Micro ถ้า Macro จะเป็นเรื่องนโยบาย แต่ถ้า Micro เราก็ต้องทำข่าวว่าโรงเรียนใกล้เปิดเทอมแล้ว โรงรับจำนำเป็นไงบ้าง หรือช่วงวันวาเลนไทน์ ธุรกิจโรงแรมม่านรูดเป็นไง

มีเครียดบ้างไหมระหว่างการนำเสนอข่าวปากท้อง

ความเครียดไม่มีครับ ยอมรับว่าวงการสื่อวันนั้นมันคงตัว การแข่งขันมันเป็นส่วนหนึ่งอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้ทำข่าวรายวัน ที่ต้องป้อนประเด็นวันต่อวัน แต่เราทำข่าวเจาะ มันก็จะเป็นที่ความสนใจของเราแล้วว่าอยากจะลึกเรื่องอะไร ต้องบอกว่าคนทำข่าวในยุคนั้น อาจจะเงินไม่มากแต่ความมั่นคงสูง คือการที่สื่อ หรือแมกกาซีนสักเล่ม จะปิดตัวเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ตอนนี้มันเป็นแบบ ‘จะไปแล้วเหรอ อ๋อโอเค’ สมัยนั้นไม่มีนะ สื่ออาจจะไม่เยอะด้วยแหละ การจะเข้าไปทำงานในสื่อไม่ใช่ง่าย ถ้าไม่ใช่มาจากฝีมือ ก็ต้องมาจากคอนเนคชั่น ประเทศนี้มัน Knows who ส่วนหนึ่ง เราเข้าไปก็เพราะพี่คนนึงพาเข้าไปทำงาน เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ทำงานสื่อ ไม่เหมือนสมัยนี้ที่ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ เพราะฉะนั้นความเครียดในเรื่องของความมั่นคงในอาชีพไม่มี เราจะเห็นคนที่ทำอยู่ไทยรัฐหรือเดลินิวส์ ทำจนเกษียร อารมณ์เดียวกับพนักงานในบริษัทญี่ปุ่นเลย คืออยู่บริษัทเดียวทั้งชีวิต มีเยอะมาก ในวงการสื่อยุคก่อน เพราะฉะนั้นถ้าจะมีความเครียดคือนึกไม่ออก เพราะเราสนุกกับงาน อารมณ์ที่เป็น Hard felling ไม่มีเลย เจ้านายกดดันมันก็เป็นธรรมชาติของงาน 

ช่วงที่เป็นบรรณาธิการจุดประกาย ต้องปรับตัวไหม

ไม่เลยครับ มัน Born to be เลยว่าเราชอบคุย สมัยหนึ่งเราคอลัมน์บทสัมภาษณ์ที่ชื่อว่าเก้าอี้สนทนา สัมภาษณ์หนึ่งหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ นี่เป็นหนึ่งในงาน 5 – 6 ชิ้นของทั้งสัปดาห์ หนึ่งหน้าหนังสือพิมพ์เต็ม ๆ คุณต้องสัมภาษณ์คนประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง เพื่อจะถอดเทปและเขียน จะเป็น Q&A หรือเป็นร้อยเรียงก็ได้ นี่เป็นเพียงแค่หนึ่งในห้าชิ้นของงานนะ แล้วปีหนึ่ง 52 สัปดาห์คุณสัมภาษณ์คน 52 คน มีวันหยุดสงกรานต์ วันหยุดปีใหม่ ต้องทำล่วงหน้าอีก ทำแบบนี้อยู่ประมาณ 10 ปี สัมภาษณ์คนไม่ต่ำกว่า 100 คน

เสน่ห์ของการทำบทสัมภาษณ์คืออะไร

ผมบอกน้อง ๆ เสมอว่าการที่คุณได้มีโอกาสได้เจอใครสักคน ที่คุณไม่ได้เจอเขาบ่อย ๆ  เราต้องใช้โอกาสนั้นให้มากที่สุด ในการที่คุณจะดึงตัวเขาออกมา ซึ่งมันก็ต้องมีสกิลเนอะ เพราะว่ากว่าจะทำลายความแปลกหน้าต่อกัน กว่าจะทำให้เขาเปิดใจ กว่าที่เราจะดึงคำพูดบางอย่างออกมาจากเขา เหมือนเราจะรอต้นไม้ออกมาเป็นผลอันหนึ่งภายในเวลาแค่ 1 – 2 ชั่วโมง ซึ่งมันโครตยากเลยนะ บางครั้งก็ยอมรับว่าล้มเหลว ไม่ได้อยากที่ต้องการ เขาอาจจะไม่เปิดใจ เขาออกไม่ได้อยู่ในอารมณ์ที่ดี หรือวันนั้นเขายุ่งมาก ให้สัมภาษณ์ไปโทรศัพท์ไป แต่ในการเจอคนที่มันดี ที่ใช่ และประเด็นดี มันก็งดงามมากเหมือนกัน

มีบทสัมภาษณ์ชิ้นไหนที่คุณรู้สึกว่าการทำงานของคุณประสบความสำเร็จ

ตอนนั้นจะต่างกับตอนนี้ เชื่อไหมครับว่าคนที่ทำสื่อในยุคนั้นแทบไม่มีใครเก็บ Archive ตัวเองเลย ทำไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะแตกต่างจากสายแมกกาซีน คนที่มาจากงานรายวัน เหมือนชีวิตมันไปข้างหน้าตลอดเวลา มันเหมือนกับม้าที่วิ่งไปเรื่อย ๆ มันไม่เคยย้อนกลับมามองอดีตเลย มันมีเก็บบ้างเพราะว่าตื่นเต้น เก็บ Clipping ไว้ ตัดข่าวที่ตัวเองลง แต่พอมันผ่านไปปีหนึ่งก็ไม่สนใจแล้ว ลงไปแล้วแต่ไม่เคยเปิดดูก็มี เพราะงานมันวิ่งไปข้างหน้าตลอดเวลา ถามว่ามีบทสัมภาษณ์ไหนบ้าง มันก็มีบางบทสัมภาษณ์ที่ดี และเขาก็ขอเอาไปใช้ในงานศพของผู้หลักผู้ใหญ่หลาย ๆ คน ทายาทติดต่อมา มันก็ถือว่าเป็นความภูมิใจที่ดี และเขาก็มอบหนังสือระลึกงานศพที่มีบทสัมภาษณ์เราให้ และมันก็มีราคาในทุกวันนี้ 

กรุงเทพธุรกิจสอนอะไรคุณ

มันก็เหมือนเป็นโรงเรียนที่ทำให้เราได้ฝึกปรือ ได้ทำงานที่ต้องมีความรับผิดชอบ ต้องแม่นยำ สิ่งนี้นำไปสู่ความน่าเชื่อถือ ได้รับการยอมรับ คุณจะเป็นสื่อที่ไม่แม่นยำ ไม่มีความเป็นกลาง และไม่รอบด้านไม่ได้ คุณต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา อาชีพสื่อเป็นอาชีพหนึ่งในไม่กี่อาชีพที่มันต้องเรียรู้ตลอดเวลา ไม่ใช่อาชีพอื่นไม่ดีนะ แต่ถ้าคุณทำอาหารได้ไม่กี่อย่าง แต่คุณทำอร่อย คุณก็ทำมันไปตลอดชีวิตก็ได้ เพราะมันคือน้ำมือของคุณ แต่ถ้าคุณทำอาชีพสื่อ คุณไม่ปรับตัวไม่ได้หรอก คุณต้องเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลา อันนี้เป็นจุดหนึ่ง แต่ใน 25 ปีมันก็สอนอะไรหลาย ๆ อย่าง สอนการสร้างอนาคต สอนการสร้างครอบครัว คุณเติบโตมา คุณเริ่มอายุมากขึ้น มีครอบครัว เริ่มจะต้องรับผิดชอบสมาชิกภายในบ้าน มันสอนให้คุณคิดลึกซึ้งมากขึ้น มันไม่เหมือนคนหนุ่มที่สามารถโลดโผนโจนทะยานไปเรื่องต่าง ๆ ได้ มันทำให้คุณกลัวตายก็ได้เหมือนกัน อย่างตอนพฤษภาทมิฬ เรายังอยู่ท่ามกลางห่ากระสุนได้ แต่ถ้าตอนนี้มีพฤษภาทมิฬอีกครั้งหนึ่ง เราก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นอย่างไร มันทำให้เรารักชีวิต ชีวิตคนมันมีมิติเรื่องงานก็จริง แต่มันก็มีมิติอื่นด้วย เราต้องบาลานซ์ให้เป็น 

เมื่อคุณเป็นบรรณาธิการนิตยสาร GM เห็นอะไรในการเปลี่ยนไปของวงการสื่อ

ยอมรับว่าหนักใจ แต่ก็ขอบคุณปกรณ์ (พงศ์วราภา-ผู้ก่อตั้ง บริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)) การเข้าไปทำหนังสือ GM มันเหมือนกับทำให้เราได้ทำงานละเอียดครับ ตอนทำหนังสือพิมพ์มันเป็นวรรณกรรมเร่งรีบ เขียนวันนี้เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ออก แต่พอเป็นแมกกาซีน มันจะต้องคิด ไหนคุณจะชวนใครมาถ่าย คุณจะต้องเปิดสตูดิโอ ต้องมี Stylist ต้องมีแนวคิดงาน มันต้องละเอียด มันเลยเป็นโอกาสดีมาก ๆ เลยที่ได้เห็นว่าแมกกาซีนเป็นแบบนี้ แต่อย่างไรก็ตามมันก็เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เราอยู่ในช่วงที่ผ่านช่วงรุ่งโลดมาแล้ว ตอนนี้มันเป็นยุคโรยรามาก (หัวเราะ) มันก็จะมีความเหี่ยวเฉาในจิตใจลึก ๆ มีความเหงา ไม่ค่อยคึกคักแล้ว จากรายเดือนก็จะเริ่มเป็นรายสองเดือน เป็นรายสะดวก เพราะฉะนั้นก็เป็นช่วงที่ต้องมองหาอนาคตใหม่ ตอนนั้นมีคำว่า Sunset Business เราเลยคิดว่าเราต้องเบนไปหา Sunrise Business ก็เลยไปทำออนไลน์

แล้ว The People มีที่มาจริงๆ อย่างไร

The People มาจากการที่เราค้นพบว่าเรื่องของคนมันไม่ตายจริง ๆ อย่างเว็บไซต์แมกกาซีนคนก็เข้าน้อยกว่าพวกเว็บไซต์หนังสือพิมพ์อยู่แล้ว แต่เราทำให้บางสัมภาษณ์มีคนดูเป็นล้านคนได้ เราก็เลยค้นพบว่าพลังงานของคนและบทสัมภาษณ์มันสำคัญ แล้วทำไมเราไม่ทำเรื่องคนไปเลย จึงเป็นที่มาของ High Concept ของ The People

 แนวคิดตอนนั้นก็คือเปลี่ยนจากการอ่านข่าว มาเป็นการอ่านคน เพราะในยุคนั้นสื่อก็จะแข่งกันเรื่องข่าว เรื่องความเร็ว แต่ต่อมาความเร็วมันไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่แล้ว เพราะว่าเทคโนโลยีมันเร็วและทั่วถึงกันหมด และที่สำคัญข่าวมันอายุสั้นด้วย เราอยู่ในองค์กรสื่อ ทำคอนเทนต์สื่อมาเป็นสิบ ๆ ปี แต่หยิบจับอะไรบางอย่างที่ทำได้น้อยมาก ยกตัวอย่างเช่น ข่าวแตงโม (นิดา) มันได้ Traffic ตอนนี้ แต่ผ่านไปอีกปีสองปีมีใครเห็นค่าแรงงานที่ทุ่มเทไปบ้าง เราก็เลยคิดว่าคอนเทนต์ที่ดีมันจะต้อง Timeless หรือ Evergreen เพราะงั้นเรามาทำเรื่องคนดีกว่า เราต้องใช้ศิลปะของการเล่าเรื่องเราไม่ได้อยากทำเรื่องคนแบบ Wikipedia เราอยากทำเป็นแพทเทิร์น

การเลือกคนต้นเรื่องแต่ละคนมันมีแนวคิดอะไรอยู่ในนั้นบ้าง

หลัก ๆ ของเราเลยคือ Inspiration เรื่องที่เราทำมันต้องมีแรงบันดาลใจ ซึ่งมันก็จะคล้ายกับในหลาย ๆ สื่อ แต่เติมความคิดเชิงบวกเข้าไปด้วย แต่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงนะ ไม่โลกสวยในทุ่งลาเวนเดอร์ ถ้าเราไม่มองโลกในแง่ดีเลย เราจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม เราจึงต้องมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลง ในเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง Digital Disruption เราเป็นสื่อออนไลน์ เราจึงคิดว่าการเปลี่ยนแปลงสำคัญ และก็มีความคิดสร้างสรรค์ เราคิดกันว่าในโลกยุคหน้า ถ้าไม่มี Creative มันจะไม่มีคุณค่าเลย การคัดเลือกคือการหาคนที่น่าสนใจ หลักการมันไม่ต่างกัน แต่การนำเสนอแบบ The People มันต้องสร้างสกุลบางอย่างขึ้นมา แต่เราก็ไม่คิดมันจะตายตัวนะ มันก็จะเปลี่ยนไปตามคนทำงานในแต่ละรุ่นไป เราก็จะดูตรงนี้แหละว่าเรื่องของคนที่เราจะนำเสนอเนี่ยมันอยู่ในกลุ่มก้อนนี้ไหม อยู่ในกระบวนทัศน์นี้ไหม แต่ถ้าเราไปสัมภาษณ์คนตัวเล็ก ๆ ที่เรียกว่า Extraordinary People ที่ทำเรื่องไม่ธรรมดา หรือถ้าเราไปสัมภาษณ์คนใหญ่คนโตเราก็ต้องดูว่าเขามีมุมอื่น ๆ ไหม ลูกสาวเจ้าสัวใหญ่ทำโรงเรียน ทำไมเขาถึงสนใจการศึกษาล่ะ เราต้องดึงความน่าสนใจของเขาออกมา นอกเหนือไปจากการพูดถึงความรวยของเขา 

มีวิธีการควบคุมการทำงานอย่างไรให้เป็นแบบ The People

โห เรื่องใหญ่ จริง ๆ แล้วหลักก็คือ Quality มันเริ่มตั้งแต่วันแรกที่เราเลือกเพื่อนร่วมงานแล้ว ใครมาทำงานที่นี้จะรู้ว่าเราสัมภาษณ์งาน เราทำเป็น Community เลย มีตั้งแต่เลขานุการ ช่างภาพ คือเราอยากจะดูองค์ประกอบด้านอื่นด้วย นอกจากฝีมือ นั่นก็คือความคิด ทัศนคติ ชีวิตจิตใจเขา  พอมาทำงานก็มีการคุยกัน พองานเสร็จไม่ว่ายังไงก็ต้องมี บก. ดูแล เพราะฉะนั้น บก. ก็จะต้องทำงานหนักมาก งานส่วนใหญ่ก็จะไปกระจุกอยู่ที่บก. เพราะว่าต้องรอตรวจ นี่ก็เป็นการควบคุมคุณภาพอย่างหนึ่ง อันดับแรกเลยคือเรื่องของข้อเท็จจริง อันดับที่สองก็คือความสามารถในการเล่าเรื่อง อันดับที่สามคือการมี Information ที่เหมาะสม เด็กที่เพิ่งทำงานใหม่ ๆ จะกังวลเรื่องข้อมูล และพยายามจะยัดข้อมูลต่าง ๆ เข้าไปในบทความสามสี่หน้ากระดาษ ซึ่งมันจะไม่สนุกเลย เพราะฉะนั้นวิธีการเล่าควรจะเล่าเป็นมุม ๆ ไป คุณจะเล่าถึง Steve Jobs คุณจะเขียนห้าตอนก็ได้ แต่คุณไม่ควรเขียนถึง Steve Jobs ห้ามุมในบทความเดียวกัน ซึ่งมันไม่ทำงานในคอนเทนต์ออนไลน์

ในการทำคอนเทนต์แต่ละตัวที่ทำเนื้อหาแน่นมาก ก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก คิดว่ามันมาถูกทางไหม 

จริง ๆ เราจะไม่ได้คิดว่าเราได้รับความนิยม หรือได้รับการตอบรับที่ดีในทุก ๆ ชิ้นงาน บางชิ้นก็ปัง บางชิ้นก็ล้มเหลว ก็ต้องยอมรับ (หัวเราะ) แต่ในเรื่องของ Long Form ช่วงแรก ๆ ที่เราทำ เราเชื่อมั่นใน Long Form หรือคอนเทนต์ยาวที่อ่านได้อิ่ม เพราะเราคิดว่าคนที่อ่านออนไลน์ไม่ใช่คนที่อ่าน 3 – 5 บรรทัดอย่างเดียว ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการอ่านยาวๆ แต่เราก็คิดว่าถ้าจะ Long Form ตลอดเวลา มันก็เป็นภาระเกินไป เราควรจะมีลูกเล่นอื่นด้วย อันนี้เราก็กำลังปรับสูตรอยู่ ให้มีสั้นมียาว ส่วนเรื่องจะปังหรือล้มเหลว เราก็มีการเปรียบเทียบว่า ทำไมงานชิ้นนี้มันควรจะไปได้ดีกว่านี้ แต่ทำไมมันไปได้แค่นี้ ทั้งที่มันควรจะเป็น Super Content ซึ่งโดยปกติมันควรจะได้ในทุก ๆ วัน แต่ถ้ามันไม่ได้เราก็ต้องมาดูว่ามันเกิดจากอะไร พาดหัวเรามีปัญหาไหม มันย้วยเกินไปไหม เหมือนกับว่ามาทบทวน ยกตัวอย่างเช่นคอนเทนต์คุณสรพงศ์ ชาตรี เพื่อนเราในวงการเขียนถึงเขา และลงพร้อมกับเรา ฐานลูกเพจเขาไม่เยอะ เป็นเพจใหม่และไม่ค่อย Active ด้วย เพจของเรามีประมาณ 5 แสนผู้ติดตาม แต่ผ่านไปหนึ่งชั่วโมงหนึ่ง เขาวิ่งได้เร็วกว่าเรา เราก็ต้องมานั่งดูสิ่งเหล่านี้ บางคนเขาบอกว่ารูปคุณสรพงศ์ที่เราใช้เนี่ยมันดูหนุ่มมาก คนไม่คุ้น แต่รูปที่อีกเจ้าใช้มันดูสอดคล้องกับปัจจุบัน คนเขาคุ้นแบบนี้ บางคนก็บอกว่าเราเอาชื่อเรื่องอยู่ในภาพแล้ว ก็ยังเอาชื่อเรื่องไปขึ้นบนคำบรรยายอีก ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่ควร 

มันก็มีหลาย ๆ คำตอบ หรือคนนั้นเขาอาจจะเขียนดีมาก ๆ เลย เขียนดีกว่าเรา เราก็ต้องยอมรับว่าเขาเขียนดีกว่าเรา ก็แค่นั้นเอง มันจะเกิดเรื่องแบบนี้ทุกวัน ๆ เราก็เลยจะไม่ซีเรียส ไม่เกิด Hard Feeling แต่จะทำต่อไปให้ดีใหม่ 

ชีวประวัติในมุมมองของคุณคืออะไร

ในเมืองนอกหมวด Biography นี่ใหญ่มาก ปัจจุบันคนก็ยังอ่านอยู่ หนังสือ How to มันมาแล้วก็ไป แต่ Biography มันอยู่ยั้งยืนยง เวลาเราเจอใครคนหนึ่งที่เป็นไอดอลเรา เขามี Biography ออกมาเล่มหนึ่งเราก็อยากอ่าน อยากซื้อเก็บไว้ เราชอบ Dave Grohl มือกลองของ Nirvana เราก็ซื้อ เราชอบวิล สมิธเราก็ซื้อ เราชอบอานันท์ ปันยารชุน เราก็ซื้อ เพราะเราอยากอ่านเรื่องของเขา มันมีรายละเอียดเยอะมาก และคนที่เป็น Biographer หรือคนที่ทำหนังสือเล่มที่ไม่ใช่ออนไลน์ ทำงานหนักมาก กว่าที่จะเก็บข้อมูลของคนทั้งชีวิต และก็มาวางเป็นบท วางกระดูกสันหลัง วาง Outline ให้น่าสนใจ มันไม่ได้เป็นไปตามสูตรว่าเกิดวันนี้ เติบโตที่นี้ มันมีวิธีการเล่าที่สนุกกว่านั้นตั้งเยอะ 

คุณเรียนรู้อะไรจากการทำชีวประวัติคนบ้าง

เราเชื่อมั่นว่า ‘คน’ เป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ คนที่เกิดมาเราไม่รู้หรอกว่าคนนี้จะเป็นฮิตเลอร์ คนนี้จะเป็นปูติน เราเลยคิดว่าการเรียนรู้เรื่องราวของคนผ่านเรื่องราวของเขา บทเรียนของเขา ประสบการณ์ของเขา มันเป็นการย่นย่อประสบการณ์ มันเป็นทางลัด

อะไรเป็นการต่อยอดสำคัญที่ทำให้ The People ทำหนังสือออกมา

คือเราอยากขยายตลาดด้วย ก็เลยขอความร่วมมือจากทาง Salmon Books ว่าบทความที่เราเขียนอยู่ ถ้าเกิดว่าเอามารวมกันภายใต้แนวคิดหนึ่ง อย่างเล่มแรกคือเรื่องเล่าคนเปลี่ยนโลก ก็มี Greta Thunberg, Malala Yousafzai และมีอีกเยอะ บุคคลเหล่านี้ก็จะมาอยู่ภายใต้แนวคิดคนเปลี่ยนโลกที่ว่า และมันเป็นหนังสือเล่มขนาดกำลังดี ที่เหมาะจะซื้อไปฝากคนอื่น อย่างคนไม่มีแรงบันดาลใจ เอาเรื่องนี้ไปฝาก ยี่สิบแรงบันดาลใจในนี้ อาจจะทำให้เขาเป็นคนที่ 21 ก็ได้ เราคิดว่ามันมีประโยชน์ตรงนั้น อีกด้านหนึ่งเราก็ยังเชื่อในเสน่ห์ของหนังสือ ถึงเราทำออนไลน์ เราก็อยากหาคอนเทนต์ดี ๆ ของเรา คัดมาเป็นหนังสือให้คนได้จับต้องได้ด้วย

The People มีการแตกไลน์ไปในด้านคอลัมน์ดนตรีและธุรกิจ คุณเห็นความเป็นไปได้อะไรในการเล่าเรื่องคนในทิศทางใหม่ๆ 

จริง ๆ ก็คือต้องการเพิ่ม Product Line และก็ถ้าเราทำอะไรซ้ำ ๆ เป็นแพทเทิร์น พอเริ่มจับทางได้มันก็ไม่สนุกนะ อย่าแต่ผู้อ่านไม่สนุกเลย เราก็ไม่สนุก พอเริ่มรู้สึกไม่สนุกก็เลยเริ่มแตกไปอย่างอื่นดู ก็เลยเป็นงานกึ่ง ๆ ทดลองอยู่ อันไหนเวิร์คก็จะไปต่อ อันไหนไม่เวิร์คเราก็ต้องยอมรับ มันเป็นไปได้ทั้งสองทาง อย่าง Business Class ก็ตั้งใจว่าอยากจะย่นย่อประสบการณ์ของคนที่ทำธุรกิจใน 3-7 นาที ว่าอะไรบ้างที่เป็น Success Key ของเขา ส่วนเรื่อง Sweet Marketing ก็จะเป็นเรื่องของธุรกิจเหมือนกัน แต่จะเป็นในระดับของผู้ประกอบการ SME อาจจะเป็นคนทำร้านก๋วยเตี๋ยว คนทำร้านเย็บผ้า ก็จะทำให้เกิดความหลากหลายของมุมมอง ส่วน People Music เป็นคอนเทนต์หลักของเราอยู่แล้ว เพราะเรามีทีมงานที่รู้เรื่องของดนตรี รักดนตรี และมีแพสชั่น และก็ยังมีรายการย่อย ๆ อย่างอื่นอีก

ช่วงเวลา 3 ปีแห่งความสำเร็จของ The People ทั้งในด้านคอนเทนต์และผู้ติดตาม เรื่องนี้บอกอะไรคุณ

ก็ขอบคุณทีมงานนะครับ ขอบคุณผู้อ่านที่ให้โอกาส เรื่องนี้มันบอกง่าย ๆ เลยครับว่า เรายังต้องทำงานอย่างหนักอีกเยอะ เรายังไม่คิดว่าเสียงตอบรับที่ดีเหล่านั้นมันน่าพอใจ เราอยากจะไปต่ออีก และก็ถ้าให้คะแนนตัวเอง ถ้าเต็มสิบเราให้สักหกก็พอ

ทำไม

เราคิดว่าใน 7 8 9 เรายังต้องทำอะไรอีกเยอะ ยังรู้สึกว่าไม่อยากให้คะแนนตัวเองสูงขนาดนั้น จริง ๆ แล้วมันยากนะ ถ้าวันนี้ดีแต่วันหน้าแย่ก็ไม่ได้ มันต้องไปต่อ เพราะฉะนั้นมันหนีไม่พ้นในเรื่องของการทำงานหนัก และก็ต้องหาเพื่อนร่วมทีมที่จะสามารถสานต่อได้ แต่ในแง่ของธุรกิจ มันก็ยังเป็นงานของเราที่จะต้องพิสูจน์ตัวเองอยู่ เพราะว่าเรามาจากสายของคนทำคอนเทนต์ที่ไม่ได้เป็นนักขาย ไม่ได้เป็นคนหาเงิน แต่ในเมื่อโจทย์ของการที่เราจะทำสื่อให้มันอยู่รอดได้ เราต้องเข้าใจโลกของความเป็นจริง มันมีเรื่องของตัวเลข ซึ่งเราคิดว่าเรากำลังแก้ตรงนี้อยู่ และน่าจะสัมฤทธิ์ผลในเร็ววันครับ 

ในฐานะที่อยู่ในวงการสื่อมากว่า 30 ปี บทเรียนสำคัญของคนทำสื่อทั้งในปัจจุบันและอนาคตคืออะไร

พี่ก็อายุมากแล้วเนอะ แต่ก็ไม่ได้แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน (หัวเราะ) คิดว่าซะว่ามันเป็นการแชร์ประสบการณ์ ไม่ได้เป็นการสั่งสอน สำหรับสื่อรุ่นใหม่ อันดับแรกเลยที่จะเห็นได้บ่อย ๆ คือเรื่องของ Job Description หรือการ Abuse ของระบบ ขององค์กรที่มีต่อคนทำงาน มันก็ไม่ผิดที่เด็กใหม่ ๆ จะมองแบบนั้น แต่เมื่อเราก้าวมาสู่อาชีพนี้ เส้นทางมันมีแต่ทำงานหนักและหนักขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าคุณอยากจะทำงานสบาย รายได้ดี อยากให้ไปทำงานอย่างอื่น เพราะว่ามันอาจจะมีช่องทางที่ทำเงินได้ดีกว่า 

อาชีพของคนทำงานสื่อโดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ถ้าคุณมาพร้อมกับ Mindset ว่าหัวหน้าคุณสั่งให้คุณทำงานหนักมาก เสาร์อาทิตย์ก็ต้องทำ 4 – 5 ทุ่มก็ยังไม่เสร็จ บี้ให้คุณทำงานให้เสร็จ  มองว่านี่เป็นโรงงานนรก พี่อยากบอกว่าเข้าใจผิดแล้ว  คนที่มีพลังแบบคนหนุ่มสาวในวัยที่เพิ่งจบมา ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่คุณมีพลังมาก ยิ่งคุณทำได้มาก ไม่ใช่องค์กรได้มาก แต่ตัวคุณกับผู้อ่านจะได้มากกว่าองค์กร องค์กรมันมาแล้วก็ไป แต่สิ่งที่เป็นความรู้ ประสบการณ์มันจะติดตัวคุณไปอีก ไม่ว่าคุณจะย้ายจากค่ายนี้ไปค่ายไหนก็ตาม พราะฉะนั้นอย่า Look Down ว่าการทำงานหนักเป็นเรื่องที่ไม่ดี แสงมันมีอยู่ในตัว ฉายแสงตัวเองออกมา

จริง ๆ สื่อส่วนใหญ่ที่อยู่รอด ส่วนใหญ่จะเป็น Startup เขาก็อยู่รอดได้ด้วยการทำงานหนัก เราก็บอกทุกคนที่มาอยู่ที่นี้ว่า อยู่ที่นี่ทำงานหนักนะ ถ้าไม่รักไม่มีแพสชั่นก็อย่ามา ส่วนคนที่ทำงานอื่น ๆ หลัก ๆ ก็คือเรื่องของการปรับตัว พี่ว่ามันก็เรียนรู้ได้ไม่รู้จบนะสำหรับคนทำอาชีพสื่อ ต้องเคารพในวิชาชีพของตัวเอง มันมีบางคนนะที่เข้ามาอยู่ไม่นาน แล้วก็ไปทำอาชีพอื่น ซึ่งก็ไม่แปลกนะ แต่ถ้าคุณข้ามตรงนี้ไปได้ จิตวิญญาณของความเป็นสื่อมันจะติดตัวคุณไปตราบนานเท่านานเลย จงรักมันครับ

เรียนรู้อะไรจากการทำงานตลอด 30 ปี

(คิด) มันสะท้อนเป็นระยะ ๆ ครับ จะตอบยังไงดี ไม่รู้จะตะกอนยังไง เนื่องจากเรามีตำแหน่งเป็นผู้บริหารมันก็จะเป็นอีกเลเวลหนึ่ง นักเขียนก็จะอีกเลเวล พี่คิดว่าสิ่งที่เรียนรู้จากการทำงาน (คิดนาน) 

กินเบียร์มั้ย? (หัวเราะ) 

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า