fbpx

‘เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ’ หนังไทยรสจัด ฆ่ากันสะบัดด้วยมายาคติ

นับตั้งแต่งานแถลงข่าว ‘Netflix ทีไทย ทีมันส์’ ที่เปิดตัวหนังไทยเรื่องใหม่ในแพลตฟอร์มสตรีมมิง Netflix เราก็ได้เห็นตัวอย่างหลากรสชาติของภาพยนตร์ที่ผู้ชมคาดเดาเนื้อเรื่องอยู่ตลอดเวลา เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลยคือ ‘The Murderer’ ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความน่าสนใจจากรายละเอียดเพียงเล็กน้อยที่เราได้รู้ อย่างการร่วมงานกันระหว่าง ‘วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง’ และ ‘หม่ำ จ๊กมก’ ก็เป็นส่วนผสมที่ดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้ไม่น้อย

ยิ่งเราเห็นตัวอย่าง โปสเตอร์ เรื่องย่อ หรือภาพโปรโมตจากหนังแล้ว มวลเหล่านี้ยิ่งก่อตัวเป็นริ้วแล้วชี้ชวนให้เราตั้งตารอคอยผลงานชิ้นนี้ เพราะผู้คนยุคนี้สนอกสนใจทุกการกลับมาสร้างผลงานใหม่ที่มีกลิ่นอายเดิม ๆ อยู่เสมอ อย่างผลงานของคุณวิศิษฏ์ก็เช่นเดียวกัน

หลายครั้งวิศิษฏ์มักบอกว่าตัวเองทำหนังเจ๊ง และปรามาสตัวเองอยู่บ่อย ๆ จากประสบการณ์แสนโชกโชนในเวทีจอเงินไทยยุคที่ผ่านมา ยุคที่ผู้คนบ้าหนังรัก ผี ไม่ก็ตลก ผลงานอาร์ต ๆ ล้อเลียนเสียดสีแบบเขาจึงเข้าถึงยาก แต่พอเทคโนโลยีเปิดโลกทัศน์ทางภาพยนตร์ให้ผู้คน กลับกลายเป็นยุคนี้ภาพยนตร์ของวิศิษฏ์กลายเป็นหนึ่งรูปแบบที่ผู้คนล้วนต้องการในไทย เพื่อหลีกหนีความซ้ำซากจำเจทั้งหลาย

และ ‘The Murderer’ หรือชื่อไทยที่ตามมาทีหลังอย่าง ‘เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ’ ก็ตอบโจทย์นั้นได้อยู่หมัด และเรียกสายตาผู้ชมให้มาสนใจหนังสีสดของวิศิษฏ์ยุค 2023 มากขึ้นเป็นกอง 

หลังจากผู้เขียนเห็นคลิปสปอยล์หนังเรื่อง ‘หมานคร’ ที่แรนด้อมเจอในระบบเล่นวิดีโอของเฟสบุ๊ก จากเพจโปรโมตเว็บพนันที่เอาคลิปสปอยล์หนังมาดึงยอด เล่าเรื่องตัวเอกตัดโดนนิ้วชี้ของตัวเองลงในปลากระป๋อง นิ้วโป้งของผมเองก็เลื่อนผ่านไปดูคลิปถัดไปอย่างไม่ได้ตั้งใจ ไม่กี่วินาทีนั้นเราเห็นวิธีการเล่าเรื่องอาร์ต ๆ สีสด ๆ ของวิศิษฏ์มาตั้งแต่ยุคนั้น จนถึง ‘เมอร์เด้อเหรอฯ’ ที่ยิ่งการันตีความสนุกและความแตกต่างในภาพยนตร์ของเขา

วันนี้เราเลยอยากกล่าวถึงผลงานล่าสุดของเขา ที่เต็มไปด้วยเฉดของรสชาติอันหลากหลาย ที่ดูจะกินง่าย แถมยังอร่อย แต่ก็ไม่ไร้คุณค่าทางโภชนาการเรื่องนี้กัน

รสหวาน

ดูสนุก เข้าใจง่ายกว่าที่คิด

อย่างที่กล่าวไปว่า ผลงานเก่า ๆ ที่เป็น iconic ของวิศิษฏ์อย่าง ‘ฟ้าทะลายโจร’ และ ‘หมานคร’ นั้นไม่ทำรายได้นักในประเทศไทยในห้วงเวลาที่เข้าฉายในโรง เชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากความตรงไปตรงมาในความตั้งใจด้าน ‘ศิลปะ’ ของการสร้างสรรค์หนังของเขาในยุคนั้น

จุดร่วมหลักของทั้งฟ้าทะลายโจร-หมานครสำหรับผม มันคือความแตกต่างสุดขั้วในแง่ความสร้างสรรค์ เมื่อเทียบกับภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน ที่หมายถึงความแตกต่างในด้านภาพมาเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนเส้นเรื่องคงเป็นอันดับที่สอง

หากดูรายชื่อภาพยนตร์ที่ทำรายได้ดีในยุคที่ ‘ฟ้าทะลายโจร’ เข้าฉายเมื่อ พ.ศ. 2543 อย่าง ‘บางระจัน’ และ ‘สตรีเหล็ก’ เราจะพบว่าหน้าหนังมีความตรงไปตรงมา อย่างเรื่องบางระจันก็คงจะเป็นเนื้อหาอื่นไปไม่ได้นอกจากเชิงประวัติศาสตร์ ที่อาจจะเป็นประเด็นเดียวกันกับ ‘สตรีเหล็ก’ เพราะเนื้อหาภายในภาพยนตร์คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงกับทีมวอลเลย์บอลจังหวัดลำปาง ซึ่งในมุมของสตรีเหล็กมีการนำดาราแม่เหล็กอย่าง ‘ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี’ ที่เคยรับบทเป็น ‘แดง ไบเลย์’ ใน ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ เมื่อ 3 ปีก่อนหน้า ที่ถือเป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญของเขาเหมือนกัน ที่อาจจะเป็นอีกจุดดึงดูดผู้ชมให้ตีตั๋วเข้าโรง

ผิดกับ ‘ฟ้าทะลายโจร’ ที่หน้าหนังคล้ายกับว่าเป็นหนังเก่าอย่างไรอย่างนั้น หากมองด้วยมุมผู้ชมภาพยนตร์ยุคนั้นคงเต็มไปด้วยความเฉิ่มเชย โบราณ และไร้แรงดึงดูดเพียงพอจะพาสายตาทุกคู่เข้าสู่โรง ผิดกับหนังพีเรียด หนังรัก หรือหนังผีที่ฮิต ๆ ในยุคเดียวกัน

หรืออย่างใน พ.ศ. 2547 ภาพยนตร์ที่เข้าฉายในปีเดียวกันกับ ‘หมานคร’ มีมากถึง 47 เรื่อง หรือหากเราลองสมมติที่กลม ๆ ว่าภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ได้ 3 สัปดาห์ สโคปในช่วงเวลาเดียวกันกับที่หนังเรื่องนี้เข้าฉาย มีภาพยนตร์ไทยยืนเป็นคู่แข่งร่วมกว่า 6-8 เรื่อง ดุเดือดไม่ใช่เล่น

รายนามก็อย่างเช่น ‘ซาไก ยูไนเต็ด’ ‘แจ๋ว’ ‘Six หกตายท้าตาย’ หรือ ‘ขุนกระบี่ ผีระบาด’ และท่ามกลางหนังตลาดอย่างหนังตลกและหนังผีเหล่านั้น ก็ยังมีหนังอาร์ตสุดอินดี้อย่าง ‘หมานคร’ ที่แค่ตัวอย่างก็เต็มไปด้วยความประหลาด ตุ๊กตาหมีที่ขยับได้ ฝนหมวกกันน็อกสีแดงที่หล่นลงมาใส่หัวคน จิ้งจกบนโคมไฟห้อยที่มีหัวเป็นยายแก่คนหนึ่ง หรือภูเขาขวดน้ำสีขุ่นราคาถูก ทั้งหมดผสมโลกจินตนาการและโลกความเป็นจริงอย่างสะเปะสะปะ ท่าทางดูยากและยากที่จะทำความเข้าใจด้วย

นั่นคือหนังที่เชิดชูศิลปะในการสร้างสรรค์ของวิศิษฏ์เหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งจากความอาร์ตเหล่านั้นก็ทำให้หนังสไตล์นี้ของเขาไม่เข้าเป้าเลยแม้แต่น้อยในโรง แต่ก็ยังดีที่ทั่วโลกให้การยอมรับ และในเวลาถัด ๆ มาที่ผู้คนถามหาหนังแนวใหม่ ๆ มากขึ้น หนังเก่าของวิศิษฏ์ดูกลายเป็นภาพยนตร์ที่คนยุคนี้ชื่นชม

กลับมาที่ ‘เมอร์เด้อเหรอฯ’ ตัวอย่างแรก หรือโปสเตอร์โปรโมตก็ทำให้เรานึกถึงหนังอาร์ตสีสดยุคเก่าของวิศิษฏ์ที่กล่าวไปสองเรื่องก่อนหน้าได้เช่นเดียวกัน ซึ่งก็เป็นดาบสองคม ด้านหนึ่งคอหนังที่รอการกลับมาของงานประเภทนี้จากวิศิษฏ์ก็ดีใจ และตั้งตารอใจจดใจจ่อ ในขณะเดียวกันคนที่เคยตั้งคำถามกับความอาร์ต ความเหนือจริงที่เข้าไม่ถึง หรือความลึกของสัญญะที่ตีไม่แตก ก็พลอยตีตนไปก่อนไข้กับสัญญะที่อาจจะมากเหมือนเรื่อง ‘หมานคร’ นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แท้ที่จริงแล้วเนื้อหาของ ‘เมอร์เด้อเหรอฯ’ เข้าถึงง่ายกว่านั้น เพราะเป็นหนังที่เล่าตามสไตล์ภาพยนตร์แบบ ‘Whodunit’ ที่มาจากคำว่า “Who has done it ?” แปลเป็นไทยง่าย ๆ ว่า “ใครคือคนฆ่า?” ซึ่งภาพยนตร์แนวนี้มีต้นกำเนิดจากนวนิยายที่มีโครงเรื่องซับซ้อนเพื่อตอบคำถามเพียงข้อเดียวว่าใครกันแน่ที่เป็นคนฆ่า โดยทั้งเรื่องจะเต็มไปด้วยปริศนา เบาะแส และตัวละครที่ล้วนแล้วแต่น่าสงสัย

อีกทั้งระหว่างทางหนังก็แยกย่อยแต่และย่อหน้าของเรื่องไว้ให้ดูตามแบบง่าย ๆ ดูไปสักพักก็จะมีข้อความ หรือวลีเปิดหัวก่อนทุกครั้ง ซึ่งแม้เส้นเรื่องจะเต็มไปด้วยการเล่าเรื่องสลับไปสลับมาจากหลักฐาน ปากคำจากผู้ต้องหา หรือพยานที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อเราดูจนจบทุกอย่างจะคลี่คลายแบบไร้รอยต่อ และหักมุมจนคนดูต้องยกนิ้วให้กับไอเดียช่วงท้ายเรื่อง

รสมัน

มันทุกเม็ด เด็ดทุกมุก

ตลอดตั้งแต่เริ่มจนจบเรื่อง วิศิษฏ์และผู้เขียนบทอย่าง ‘อาบี-อภิเษก จิรธเนศวงศ์’ สอดแทรกความมัน รวมถึงมุกตลกและมุกเฉลยไว้อย่างสุดมัน (ส์)

เรามองว่าการดีล ‘เซนส์ความตลก’ ภายในภาพยนตร์เรื่องนี้คือความยากระดับหนึ่ง เพราะเนื้อเรื่องหลักมันไม่ได้ยืนอยู่บนขาความตลก แต่ยืนอยู่บนขาของคดีฆาตกรรม ครั้นจะมาทำตลกสอดแทรกศิลปะดูยากแบบเดิม ๆ ก็คงจะซ้ำทางเก่า หรือการหยิบ ‘หม่ำ จ๊กมก’ ในฐานะสารวัตรสอบสวนที่ตรึงคนดูในห้องสอบสวนเล็ก ๆ ได้อยู่หมัด จะมาให้ตลกก๊ากแบบแก๊งสามช่าก็คงไม่ใช่ด้วยเช่นกัน

วิศิษฏ์นิยามเซนส์ตลกในเรื่องนี้ไว้ว่าเป็นตลกแบบดีเลย์ คือปล่อยไปแล้วต้องรอ Loading สักระยะ ค่อยถึงจุดขำ ซึ่งก็ยิ่งเพิ่มเซนส์ความตลกร้ายหน่อย ๆ ในแง่ของการเล่าเรื่องประกอบเนื้อหาหลัก

อีกมุมหนึ่งของเซนส์ตลกภายในเรื่อง หากนึกภาพเทียบเคียงวิธีการตายของบางตัวละคร หรือแก๊กบางแก๊กแบบง่าย ๆ เราก็จะนึกถึงการ์ตูนจำพวก Tom & Jerry ไม่ก็เหล่าตัวการ์ตูนจาก The Looney Tunes ได้เหมือนกัน วิศิษฏ์เล่าว่าฉากโหดรุนแรง แทงกันตายภายในเรื่องก็ไม่ได้ดูน่ากลัวขนาดนั้น เพราะเขาตั้งใจทำให้มันดูเป็นเหมือนกับหนังการ์ตูน

ซึ่งเซนส์ความตลกแบบนี้เมื่อมาผสมกับกลวิธีฆาตกรรมภายในเรื่อง ทั้งหมดหลอมรวมกันให้ภาพยนตร์เรื่องนี้แสนจะมัน และแสนจะมันส์ ในเวลาเดียวกัน

รสเปรี้ยว

สีสันแสบ จี๊ด และความตรงไปตรงมาของศิลปะที่สดใหม่

ตามตำแหน่งหน้าที่ของวิศิษฏ์ เขามักทำหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์เป็นส่วนใหญ่ ส่วนหน้าที่ของผู้กำกับภาพยนตร์เป็นตำแหน่งงานที่รองลงมา เวลาเขาเขียนเรื่องราวให้ภาพยนตร์อื่น ๆ แนวทั่วไปที่เขาไม่ได้กำกับ เขาก็ค่อนข้างทำมันได้ดี เป็นผลงานที่น่าจดจำหลายเรื่องด้วยกัน อย่างเช่น ‘2499 อันธพาลครองเมือง’, ‘นางนาก’ หรือ ‘เฉือน’

เมื่อเขามีโอกาสทั้งการเขียนและกำกับเอง เขาก็จะใช้โอกาสนั้นเป็นพื้นที่ทดลองในการแปลงสไตล์ความชอบให้กลายเป็นงาน

วิศิษฏ์มีความชอบในหลายแง่มุม ทั้งชื่นชอบสไตล์ด้านความรู้สึก ความสวยงาม และวิธีการมองโลกในภาพยนตร์ของ ‘อากิ เคาริสมากิ’ ผู้กำกับชาวฟินแลนด์ ที่กำกับนักแสดงให้แข็ง ๆ หน่อย เล่นกับภาพนิ่ง ๆ รวมถึงชื่นชอบผลงานภาพยนตร์ไทยเก่า ๆ ที่สร้างคุณูปการให้วงการภาพยนตร์ไทยมาเนิ่นนาน โดยดึงเอากลิ่นอายบางอย่างภายในภาพยนตร์ยุคนั้นมาเชิดชูภายในงานของเขาเอง

แต่หากพูดถึงสไตล์ที่เขาชอบ ในยุคแรกผู้คนกลับไม่ชอบด้วยขนาดนั้น อาจเพราะความเหนือจริงเกินไป หรือความเข้าใจยากในแง่ใจความสำคัญ ที่กว่าจะถึงตรงนั้นก็เจอความน่าเบื่อขวางไว้เสียก่อน

เราจึงเห็นว่างานส่วนใหญ่ของวิศิษฏ์มีความแตกต่างกันมาก จากความต้องการทดลองแบบนั้นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เพื่อหนีกลิ่นอายบางอย่างที่มีสิทธิ์ทำให้หนังของเขาเจ๊ง

อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้าว่างานด้านศิลป์ในภาพยนตร์ที่เขาทั้งเขียนบทและกำกับเรื่องแรก ๆ เต็มไปด้วยการเกรดสีที่แสบสันต์ จับคู่โทนสีในแนวเรโทรเป็นหลัก ซึ่งสร้างภาพจำในความเป็นตัวเขาตั้งแต่ไหนแต่ไร น้อยครั้งที่เราจะกล่าวถึงวิศิษฏ์จากภาพยนตร์เรื่องถัด ๆ มา ทั้ง ‘เปนชู้กับผี’, ‘สิงสู่’ หรือ ‘อินทรีแดง’

ทำให้งาน ‘เมอร์เด้อเหรอฯ’ ครั้งนี้ของเขาถูก Netflix บรีฟมาว่าอยากให้แต่งสีสันเหมือนอย่างใน ‘ฟ้าทะลายโจร-หมานคร’ เพราะรายละเอียดของเรื่องมันพอจะอนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้ แม้ว่าครั้งแรกใจเขาไม่ได้คิดจะเกรดสีให้จัดจ้านแบบนั้นก็ตาม

จะด้วยอะไรก็ตามแต่ สิ่งนี้ทำให้แฟน ๆ ที่รอดูหนังสีสดสไตล์แสบจี๊ดจากวิศิษฏ์หันมาสนใจภาพยนตร์เรื่องนี้ และกลายเป็นกระแสในวงกว้างอย่างชัดเจน

รสขม

ประเด็นหลักที่แสนร้าย แต่ก็จริงของมัน

เรานิยามภาพยนตร์เรื่องนี้ว่ามันมีความ ‘หวานอมขมกลืน’ ดู ๆ ไปก็รู้สึกถึงประเด็นต่าง ๆ ที่ชวนกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จากความจริงเกินจริง และความจริงจริง ๆ ที่ตลอดระยะเวลาในการดู เราเห็นมายาคติ และลักษณะนิสัยที่ไม่ดีมากมายที่เคลือบแฝงตัวละครหลักทุกตัว ทั้งในแง่ผู้ทำและผู้ถูกกระทำ

หัวหน้าครอบครัวที่ทำตัวเป็นใหญ่ในบ้าน, เมียฝรั่งที่ถลุงเงินผัวฝรั่ง, เด็กที่เกิดมาแล้วไม่ได้รับการดูแลอย่างจริงจังเท่าที่ควร, สังคมครอบครัวที่ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างน่ากระอักกระอ่วน, ป้าขี้ขโมย, ตำรวจที่ยึดมั่นกับธงการสอบสวนที่ตั้งไว้ จากอคติส่วนตัวที่เคยเจอมาในชีวิต, คนไทยเหยียดฝรั่ง, ฝรั่งเหยียดคนไทย, เมียฝรั่งเหยียดเมียฝรั่งกันเอง, ความเชื่องมงายที่เชื่ออย่างเป็นจริงเป็นจัง, ปัญหายาเสพติด

ทั้งหมดพัวพันความเชื่อและวิธีคิดของตัวละครทุกตัว ที่ทำให้เหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นภายในภาพยนตร์ ที่เต็มไปด้วยความสมเหตุสมผลบ้าง หรือไม่สมเหตุสมผลบ้าง แต่ทุกอย่างก็ถือเป็นชนวนให้กันและกันในการสร้างแรงจูงใจของตัวละคร

ผู้เขียนได้มีโอกาสดูภาพยนตร์เรื่องนี้ในรอบกาล่าร่วมกับผู้ชมจริง ๆ ที่น่าจะแตกต่างจากการดูภาพยนตร์เรื่องนี้ของคนทั่วไป เพราะเราได้รับรู้อารมณ์ร่วมของผู้ชมรอบข้างที่กำลังดูไปพร้อมกัน ระหว่างดูไปก็ส่ายหัวกับวิธีคิดของตัวละครอยู่เหมือนกัน

จนจบการฉาย วิศิษฏ์และอภิเษกได้เข้ามาตอบคำถามเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ มีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือประเด็นการเหยียดคนภาคอีสาน ซึ่งกลายเป็นค่านิยมลบของผู้คนในยุคนี้ เนื้อหาในภาพยนตร์มีการสร้างมวลการเหยียดกันไปกันมาอย่างชัดเจน แต่ผู้ชมส่วนใหญ่ก็รู้สึกได้ว่าภาพยนตร์ไม่ได้ต้องการเหยียดเหมือนเช่นกับตัวละคร ซึ่งน่าสนใจกว่าคือคนทำงานมีวิธีคิดเรื่องนี้อย่างไรไม่ให้ดูเหยียด

อภิเษกตอบคำถามนี้อย่างคมคายว่า “ถ้าเรื่องเป็นความจริง มันสะท้อนความจริง หากดูกันจริง ๆ ก็จะเห็นว่าเราไม่ได้ดูถูกใคร อีกประเด็นคือเวลาเราดูภาพยนตร์ที่เหตุการณ์เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ มันก็มีทั้งตัวละครดี ตัวละครเลว ตัวละครฉลาด ตัวละครโง่ ล้วนมีอยู่ในสังคมทั่ว ๆ ไปอยู่แล้ว ทำไมเวลาเรื่องเกิดขึ้นในโลเคชั่นแบบนี้ผู้คนกลับไม่ตั้งคำถาม เพราะแรงบันดาลใจจากเรื่องนี้มันมาจากการที่ผมไปงานแต่งเพื่อนระหว่างฝรั่งและเมียฝรั่งที่จังหวัดร้อยเอ็ดจริง ๆ เท่านั้นเอง”

รสอูมามิ

หวาน มัน เปรี้ยว ขม กลมกล่อมแบบอูมามิ

สุดท้ายแล้ว ‘เมอร์เด้อเหรอฯ’ สำหรับเราคือภาพยนตร์ทั่วไปที่ดูสนุกเรื่องหนึ่ง เนื้อเรื่องเล่าสลับซับซ้อนแต่เมื่อดูโดยรวมก็เข้าถึงง่าย สีสันหน้าหนังน่าดึงดูดจากความฉูดฉาดโดยรวม มีดาราสายกระแสหลัก และดาราสายละครเวทีมาวาดลีลาการแสดงให้เราได้เห็นกัน ท่ามกลางความตื่นตาตื่นใจจากการเข้ามาของ Netflix Thailand ซึ่งเป็นพื้นที่ทดลอง และจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในวงการภาพยนตร์ไทยมากขึ้น

ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ให้กับคนทำหนังหน้าคุ้นที่มีไอเดียน่าสนใจ แต่อาจกล้า ๆ กลัว ๆ กับพื้นที่ Red Ocean ในโรงภาพยนตร์กระแสหลัก ซึ่งก็เป็นที่ทางที่ดูเหมาะสมดีในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจแบบนี้ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้เราได้ดูภาพยนตร์อย่างที่เราอยากดูจริง ๆ แบบเลือกได้เองในราคาถูกลง

รสชาติอูมามิแบบนี้เราคงจะได้ลิ้มลองเพิ่มมากขึ้นอีก จากทั้งเชฟนักปรุงหนังมือฉมัง หรือมือใหม่ ที่กล้าทดลองสูตรภาพยนตร์รสใหม่ ๆ ให้นักชิมหนังอย่างเราเข้าถึงกันอีกเป็นแน่ ตราบใดที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในไทยยังมีพื้นที่ว่างรอความสดใหม่จากพวกเขาอยู่เสมอ 

ขอบคุณข้อมูลจาก : pantip 2 / wikipedia / thaiware / Youtube

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า