fbpx

The Moon Represents PEOPLE’s Heart เสียงเพลง “ดวงจันทร์” สื่อดวงใจชน

วันนี้วันไหว้พระจันทร์

นอกจากขนมไหว้พระจันทร์ที่วางขายทั่วทุกที่ และเคล็ดลับการไหว้เพื่อขอพรจากเทพเจ้าแล้ว เราต้องยอมรับว่า ดวงจันทร์มีอิทธิพลต่อชีวิตของคนอย่างมากทีเดียวในทุกวัฒนธรรม

ในอดีต เชื่อกันว่าการมองดวงจันทร์นาน ๆ จะทำให้คนเป็นบ้า และกลายเป็นรากของคำว่า ‘lunatic’ ที่แปลว่า เสียสติ หรือแม้กระทั่งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติก็ย่อมเกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างน้ำขึ้น – น้ำลง สุริยุปราคา จันทรุปราคา เป็นต้น แน่ล่ะ ทางวิทยาศาสตร์มีคำอธิบายว่าเพราะแรงดึงดูด หรือการโคจรระหว่างโลกกับดวงจันทร์ซึ่งเป็นดาวบริวารเลยก่อให้เกิดปรากฏการณ์เหล่านี้ แต่ในยุคที่ยังไม่เกิดการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ความเชื่อจึงกลายมาเป็นคำตอบว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติมีอิทธิพลต่อความเป็นไปของมนุษย์ นำมาสู่โหราศาสตร์ในที่สุด และในเมื่อดวงจันทร์มีผลต่อหัวใจ ดวงจันทร์จึงเป็นตัวแทนของความรู้สึกของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความรัก”

ดวงจันทร์จึงเป็นเสมือนตัวแทนของจุดหมายปลายทางของความรัก (คือใจเธอ แอร๊ย) เพลงรักหลาย ๆ เพลงจึงมีดวงจันทร์เป็นองค์ประกอบสำคัญไม่ว่าจะชาติใด ภาษาใดก็ตาม และหากกล่าวถึงเพลงที่พูดถึงพระจันทร์ที่คลาสสิกที่สุดก็หนีไม่พ้น “月亮代表我的心” หรือที่รู้จักในชื่อภาษาอังกฤษว่า “The Moon Represents My Heart” ของนักร้องหญิงผู้ทรงอิทธิพลตลอดกาลอย่าง “เติ้ง ลี่จวิน”

และผู้ทรงอิทธิพลระดับที่เป็น “เติ้งเล็ก” ผู้ปกครองจีนยามกลางคืนด้วยเสียงเพลง เพลงรักเพลงนี้จึงอาจมิได้มีเพียงมุมของ “เพลงรัก” เท่านั้น แต่พระจันทร์ในมุมนี้ยังอาจมีความหมายไปถึงเรื่องอื่น ๆ ในสังคมด้วยเช่นกัน

“หากเธอถามว่ารักของฉันลึกซึ้งเพียงใด มากมายแค่ไหน
ความรู้สึกของฉันจริงแท้ ความรักของฉันแน่นอน ให้ดวงจันทร์แทนดวงใจฉัน”

เมื่อเพลงนี้พูดถึงความรักลึกซึ้งของหนุ่มสาว ท่อนฮุกนี้จึงประกาศความมั่นคงในรักอย่างชัดเจน เพลงของเติ้งลี่จวินหลายเพลงก็กล่าวถึงดวงจันทร์ในเชิงความรักแบบหนุ่มสาวด้วย ซึ่งคล้ายกับว่าดวงจันทร์กับความรักจะเป็นสิ่งเดียวกันสำหรับเพลงของเติ้ง คือเป็นสิ่งที่งดงาม อ่อนหวาน แต่มั่นคง ลักษณะเช่นนี้พบในเพลงจีนอีกหลาย ๆ เพลง และความรักในหลาย ๆ วัฒนธรรม 

หากสังเกตถึงตำนานของจีนที่เกี่ยวข้องกับดวงจันทร์ เรื่องของ “เทพธิดาฉางเอ๋อ” เทพธิดาแห่งดวงจันทร์และความรักของเธอ อันเป็นที่มาหนึ่งของเทศกาลนี้ก็ผุดเข้ามาทันที

เรื่องมีอยู่ว่า ฉางเอ๋อเป็นเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ และเป็นคนรักของ “โฮวอี้” นักแม่นธนูแห่งสวรรค์ ซึ่งในขณะนั้นท้องฟ้ามีดวงอาทิตย์มากถึง 10 ดวง ทำให้คนเดือดร้อนวุ่นวาย (คิดดูสิว่าตอนนี้มีดวงอาทิตย์แค่ดวงเดียวเรายังเดือดร้อนจะแย่) เง็กเซียนฮ่องเต้ เจ้าแห่งสรวงสวรรค์จึงบัญชาให้โฮวอี้ยิงดวงอาทิตย์ลงไปบ้าง แต่โฮวอี้ก็คงจะรู้สึกร้อนมาก ๆ เหมือนกับเรา ๆ ก็เลยยิงดวงอาทิตย์ไปซะ 9 ดวง ทำเอาเง็กเซียนฮ่องเต้พิโรธจัดว่าทำเกินกว่าเหตุไปมาก จึงเนรเทศโฮวอี้และฉางเอ๋อลงไปอยู่ที่โลกมนุษย์ แต่ความสามารถด้านธนูของโฮวอี้ไม่หายไป เขาใช้ธนูกำจัดสัตว์ร้ายจนกลายเป็นผู้นำชุมชน และทำให้โฮวอี้ทะนงตน แต่ฉางเอ๋อไม่อาจตักเตือน วันหนึ่ง โฮวอี้ได้รับน้ำอมฤตมา แต่โชคร้ายที่เขาถูกลอบฆ่าก่อนจะดื่มน้ำอมฤตนั้น ด้านฉางเอ๋อก็เศร้าโศกเสียใจ จึงดื่มน้ำอมฤตแล้วเหาะกลับคืนดวงจันทร์ไป

ที่จริงแล้วตำนานเทพธิดาฉางเอ๋อมีหลากหลายเวอร์ชัน แต่ในทุก ๆ เวอร์ชันมีใจความเดียวกันคือพูดถึง “ความรัก” เมื่อถึงวันไหว้พระจันทร์ หญิงสาวจึงขอพรเรื่องความงามและความรักต่อเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ ให้เธองดงามและมีความรักที่สมความปรารถนา

“ความรักที่แสนลึกซึ้งเพียงช่วงหนึ่ง

ยังคงตราตรึงอยู่ในใจฉันจนวันนี้”

แต่หากลองมองอีกมุมหนึ่ง เติ้งลี่จวินเป็นนักร้องหญิงชาว “จีน” ที่ไม่เคยได้เหยียบย่างบนจีนแผ่นดินใหญ่แม้จะเป็นสิ่งที่เธอใฝ่ฝันมาตลอด เธอเกิด เติบโต และเริ่มมีชื่อเสียงจากดินแดน “ไต้หวัน” ซึ่งเดิมเป็นมณฑลหนึ่งของจีน ทว่าด้วยการปกครองที่แตกต่างกัน ทำให้แม้ชื่อเสียงของเติ้งลี่จวินจะดังไกลไปถึงแผ่นดินใหญ่ แต่เธอแน่วแน่ในอุดมการณ์ของตนโดยยืนยันที่จะไม่แสดงคอนเสิร์ตที่นั่น และต่อต้านเผด็จการอย่างแข็งขัน อย่างการแสดงคอนเสิร์ตเพื่อเรียกขวัญกำลังใจจากเหล่านักศึกษาหลังการจลาจลที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 ด้วย ความรักในอุดมการณ์ประชาธิปไตยของเธอนั้นเรียกได้ว่า “มั่นคง แน่นอน” เหมือนใจความในเนื้อเพลงนี้ไม่มีผิด

ถ้าเราลองดูบริบทบ้านเมืองจีนแล้ว The Moon Represents My Heart เขียนในช่วง ค.ศ. 1973 สามปีก่อนหน้าการอสัญกรรมของเหมา เจ๋อตง ที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของจีน ณ ห้วงเวลานั้น และเป็นช่วงเสื่อมถอยของ “แก๊งสี่คน” (Gang of Four) ผู้ขีดเขียนนโยบายการปฏิวัติวัฒนธรรมที่ทำให้จีนเกิดความโกลาหลมหาศาล และหลังจากการอสัญกรรมของประธานเหมา การขึ้นสู่อำนาจของเติ้งเสี่ยวผิงนำมาสู่การกวาดล้างแก๊งสี่คน ตามมาด้วยความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอย่างชัดเจน จนกระทั่งเกิดการแบนเพลงของเติ้งลี่จวินในแผ่นดินใหญ่ กระนั้น ผู้คนก็ยังตามหาเพลงของเธอมาฟังกันแบบ “เถื่อน” อยู่ นี่อาจเป็นเครื่องบ่งบอกว่า Soft Power มีผลต่อผู้คนมากมายเพียงใด

อีกตำนานว่ากันว่าในยุคราชวงศ์หยวนซึ่งเป็นยุคที่ชาวมองโกลปกครองแผ่นดินจีน ชาวฮั่นซึ่งเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่เดิมถูกกดขี่อย่างหนัก จึงคิดหาวิธีที่จะปลดแอกตนออกจากการถูกกดขี่ โดยการสอดสารลับไว้ในไส้ขนมที่อบในคืนพระจันทร์เพ็ญ ใจความว่า ถึงยาม 3 แล้วให้ออกมาสังหารพวกทหารมองโกลเสีย ขนมนี้เองที่ต่อมาได้กลายเป็นขนมไหว้พระจันทร์ในเวลาต่อมา วันไหว้พระจันทร์จึงเป็นเหมือนกับสัญลักษณ์หนึ่งของการไม่ยอมจำทนถูกกดขี่อีกต่อไป และความร่วมมือกันของผู้คนด้วย

หากดวงจันทร์ในเพลงนี้ของเติ้งลี่จวินจะไม่เป็นตัวแทนของความรักโรแมนติก เราอาจคิดได้ว่าดวงจันทร์ของเติ้งลี่จวินคือชาวจีนที่ไม่แยกจากกันด้วยการปกครองที่สวนทางกัน – หรือพูดให้ง่ายกว่านั้น – ดวงจันทร์คือ “ความฝัน” ของเติ้งคนน้อง นั่นคือ การได้กลับไปยังแผ่นดินที่พ่อแม่ของเธอจากมา

พ่อแม่ของเติ้งลี่จวินอพยพจากแผ่นดินใหญ่เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่นำโดยเหมาเจ๋อตง กับเจียงไคเช็ก ผู้นำคนสำคัญของจีนอีกคนหนึ่ง ซึ่งลงเอยด้วยชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้ศรัทธาในเจียงไคเช็กและระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจึงอพยพย้ายถิ่นไปเรื่อย ๆ จนตั้งหลักปักฐานที่เกาะฟอร์โมซา ที่กลายมาเป็น “ไต้หวัน” ในที่สุด ซึ่งเติ้งลี่จวินได้ถือกำเนิดและเริ่มชีวิตนักร้องก้องโลก ณ ที่นั้น

แง่หนึ่ง เพลงของเติ้งลี่จวินเป็นเสมือนสายใยที่ผูกร้อยและเชื่อมโยงจิตใจของคนจีนโพ้นทะเลเข้าไว้ด้วยกัน ถ้าลองสังเกตเพื่อนพี่น้องคนไทยเชื้อสายจีนรอบตัวคุณน่าจะฮัมเพลงของเติ้งลี่จวินได้สักเพลง หรืออย่างน้อยก็ต้องเคยฟัง “เถียนมี่มี่” ผ่านหูมาบ้าง เรียกได้ว่าเสียงเพลงของเธอถือเป็นสิ่งที่เป็นสมัยใหม่แล้วยังยึดโยงสายเลือดความเป็น “จีน” เข้าไว้ นอกเหนือจากธรรมเนียมประเพณี อาหารการกิน และวิถีปฏิบัติต่าง ๆ เหตุนี้เอง ความนิยมของเติ้งลี่จวินจึงไม่ได้อยู่เพียงเฉพาะในดินแดนที่พูดภาษาจีนเท่านั้น แต่ยังนิยมไปทั่วโลก ถึงขนาดการเสียชีวิตกะทันหันของเธอที่เชียงใหม่เมื่อหลายสิบปีก่อนกลายเป็นข่าวช็อกโลก นำไปสู่การรำลึกถึงหลายวาระ หลายรูปแบบ และส่งให้เธอกลายเป็นตำนานราชินีเพลงจีนจวบจนวันนี้

ถึงกระนั้น ความฝันของเธอที่จะได้เหยียบย่างบนแผ่นดินใหญ่ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ถึงแม้ว่ารัฐบาลกลางโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะส่งเทียบเชิญเธอมาแสดงคอนเสิร์ตที่แผ่นดินใหญ่แล้วก็ตาม

จากวันนั้นจนวันนี้ เกือบ 30 ปี หลังเติ้งลี่จวินจากไป เราเชื่อว่า “ดวงจันทร์” ในความหมายที่ว่าแทนฝันของเติ้งก็ยังคงเป็นความฝันอยู่ แถมยังเป็นฝันที่ยากขึ้นกว่าเดิม สืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวันว่าด้วยนโยบาย “จีนเดียว” ที่พยายามจะควบรวมดินแดนอื่น ๆ ที่มีคนเชื้อชาติจีน พูดภาษาจีน ก่อให้เกิดการต่อต้านอิทธิพลของรัฐบาลจีนในไต้หวัน มีนักเคลื่อนไหวถูกลงโทษหลายต่อหลายคน ความฝันที่จีนจะเชื่อมโยงกันด้วยผู้คนก็ดูจะเป็นไปได้ยากขึ้นไปอีก

ในวันหน้า เราไม่รู้เลยว่าอุดมการณ์ของทั้งสองชาติจะนำไปสู่ปรากฏการณ์ทางสังคมใดอีก เพราะสิ่งที่เรากล่าวถึงมันเหมือนกับเป็น “Blue Moon” ที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่เราเชื่อเหลือเกินว่าหากดวงจันทร์จะแทนดวงใจชนได้ ชนทั้งหลายในสองดินแดนก็คงปรารถนาที่จะทำให้สายสัมพันธ์สองดินแดนเป็นไปในเชิงบวก ต่างฝ่ายต่างยอมรับในอิสระซึ่งกันและกัน ไม่กดดันกันและกันผ่านนโยบายทางการเมือง

หากดวงจันทร์แทนดวงใจได้เช่นนั้นจริง แสงนวลเย็นแห่งเสรีภาพจึงจะฉายงามเหนือสองแผ่นดินและโลกทั้งใบ

ดังที่เสียงเพลงของเธอทำให้คนจีนไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลกมองดวงจันทร์แล้วคิดถึง “บ้าน” ของตัวเอง

แหล่งอ้างอิง : thairath / thepeople / the101 / workpointtoday / thematter

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า