fbpx

ฟอนต์ “TH Sarabun PSK” มันเก่าไป งั้นเปลี่ยนฟอนต์ใหม่เป็นตัวไหนดี

ในฐานะผู้ใช้งานเอกสารราชการส่วนใหญ่ เวลาเราเห็นตัวอักษรไทยในบริบทของราชการ ไม่ว่าจะจดหมายตราครุฑทั้งหลาย ข้อสอบในสถานศึกษา บันทึกข้อความ หรือแม้แต่ตัวอักษรบนป้ายบอกทางตามสถานที่ราชการต่าง ๆ เราจะเห็นว่าฟอนต์ไทยที่ถูกใช้งานเป็นตัวอักษรที่เราทุกคนต่างคุ้นตากับรูปลักษณ์ของมัน หัวกลม ๆ เส้นมน ๆ อ่านง่าย ไม่ซับซ้อน อย่าง “ทีเอช สารบรรณ (TH Sarabun)” ที่ประกอบไปด้วย “ทีเอช สารบรรณ พีเอสเค (TH Sarabun PSK)” หรือ “ทีเอช สารบรรณ นิว (TH Sarabun New)”

ซึ่งเป็น 1 ใน 13 ฟอนต์ไทยตระกูล “ฟอนต์แห่งชาติ” ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA จัดการประกวดสร้างสรรค์ชุดแบบอักษรไทย ที่ถือเป็นการส่งเสริมการพัฒนาหนึ่งในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศ ก่อนที่ฟอนต์ “ทีเอช สารบรรณ พีเอสเค (TH Sarabun PSK)” นี้ จะได้รับการลงมติให้เป็นแบบอักษรราชการ ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทดแทนชุดแบบอักษรเดิมที่ซื้อมาจากเอกชน เช่น ชุดแบบอักษร “Angsana New”, “Browallia New” หรือ “EucrosiaUPC” เป็นต้น

หากนับจากจุดเริ่มต้นการบังคับใช้เมื่อ พ.ศ. 2553 จนถึงตอนนี้ พ.ศ. 2566 ก็ถือเป็นระยะเวลา 13 ปีแล้ว เทคโนโลยีการใช้งานแบบอักษรไทย หรือ ไทป์เฟซ (Typeface) ก็ยิ่งเจริญก้าวหน้ามากขึ้น จะมีก็เพียงแต่ฟอนต์ราชการไทยนี่แหละ ที่ยังไม่ยอมขยับเขยื้อน หรือเลื่อนเปลี่ยนผ่านไปเลือกใช้แบบอักษรไทยตัวใหม่ที่ทันสมัยกว่า ที่รองรับการใช้งานทั้งการแสดงผลบนหน้าจอใหญ่ ๆ หน้าจอเล็ก ๆ หรือแม้แต่บนหน้ากระดาษได้ดียิ่งขึ้น

ไหน ๆ รัฐบาลเก่าก็กำลังจะหมดอำนาจไป กลิ่นความเจริญใหม่ ๆ ก็เริ่มจะเข้ามา เราเลยขอเสนอหนึ่งเรื่องไปถึงว่าที่นายกฯ และรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาทำงาน นั่นคือการเปลี่ยนฟอนต์ราชการไทยให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น และด้านล่างนี้คือรายชื่อแคนดิเดตแบบอักษรไทยที่ The Modernist แนะนำ สำหรับการเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนผ่านยุคสมัยของฟอนต์ราชการไทยในรัฐบาลประชาธิปไตย

สารบรรณ (Sarabun)

หากจะเปลี่ยนฟอนต์ราชการไทยให้ประนีประนอมมากที่สุด ก็ต้องเป็นฟอนต์เดิมในเวอร์ชั่นที่ใหม่ที่สุด

ฟอนต์ TH Sarabun PSK ในเวอร์ชั่นแรกสุดเมื่อ 13 ปีที่แล้ว กับฟอนต์ Sarabun ที่ปล่อยให้ดาวน์โหลดใน Google font ก็ยังคงเป็นนักออกแบบคนเดียวกัน คือคุณศุภกิจ เฉลิมลาภ ฉะนั้นมั่นใจได้เลยว่าฟอนต์สารบรรณ ก็ยังคงเป็นสารบรรณตัวเดิมไม่มีผิดเพี้ยน

จุดแตกต่างกันของทั้งสองฟอนต์นั่นคือ ฟอนต์เวอร์ชั่นใหม่นั้นได้รับการปรับปรุงข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผู้ออกแบบเจอ เมื่อเวลาผ่านไป เหมือนเวลาเราทำงานใด ๆ เสร็จก็ตาม พอกลับมาดูใหม่กลับพบข้อผิดพลาดอยู่มากมายเต็มไปหมด ในฐานะคนทำงานชิ้นนั้น ๆ เอง และฟอนต์สารบรรณในเวอร์ชั่นใหม่นี้ก็ทำหน้าที่เช่นเดียวกัน

จากทั้งน้ำหนักที่มากกว่าเดิมที่มีเพียงความหนาปกติ และความหนาอีก 1 ระดับ ถูกปรับให้มีตั้งแต่น้ำหนักที่แสนจะบาง ไปสู่ความหนาปึ้กที่มากกว่าเดิม รองรับการใช้งานในหลากหลายลักษณะมากยิ่งขึ้น และแสดงผลทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ได้ดีกว่า TH Sarabun PSK แบบดั้งเดิม

นั่นจึงทำให้ฟอนต์สารบรรณ (Sarabun) นี้เป็นฟอนต์ที่น่าสนใจที่สุดในสายตาเรา หากรัฐบาลใหม่จะเปลี่ยนแปลงฟอนต์มาตรฐานราชการตัวใหม่ล่าสุด

ดาวน์โหลดฟอนต์นี้ได้ที่นี่

https://fonts.google.com/specimen/Sarabun

ใบจามจุรี (Bai Jamjuree)

อีกหนึ่งฟอนต์มาตรฐาน อ่านง่าย ลีลาน้อย ในหมู่ฟอนต์ไทยบน Google font ที่นับว่าเป็นตระกูลฟอนต์ที่ทันสมัยที่สุดตระกูลหนึ่งของไทย เราขอแนะนำฟอนต์ “ใบจามจุรี (Bai Jamjuree)” ที่มีจุดต่างจากสารบรรณอยู่ในเรื่องของความกว้างตัวอักษร ที่จะดูกว้างกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังแฝงความเหลี่ยมและมนในตัวอักษรอยู่

ฟอนต์ “ใบจามจุรี (Bai Jamjuree)” พัฒนามาจากแบบอักษร “ทีเอช ใบจาม (TH Baijam)” ซึ่งเป็น 1 ใน 13 ฟอนต์แห่งชาติ ตระกูลฟอนต์เดียวกันกับ “ทีเอช สารบรรณ พีเอสเค (TH Sarabun PSK)” ที่มีคุณสมบัติของการเป็นตัวเนื้อความ (Text) ที่มีความพื้น ๆ คล้ายคลึงกับสารบรรณ

ซึ่งพอมีการปรับปรุงใหม่ให้กลายเป็นฟอนต์ของ Google font ทำให้คุณสมบัติความมีมาตรฐานของฟอนต์ “ใบจามจุรี (Bai Jamjuree)” ดูชัดเจนขึ้น เหมาะสมกับระบบการพิมพ์ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น และก็คงเป็นหนึ่งตัวเลือกที่ดีหากจะเปลี่ยนฟอนต์เดิมของราชการให้กลายเป็นฟอนต์นี้

ดาวน์โหลดฟอนต์นี้ได้ที่นี่

https://fonts.google.com/specimen/Bai+Jamjuree

ซีเอ็ม ประสานมิตร (CmPrasanmit)

สำหรับฟอนต์ตัวนี้ผู้เขียนชอบเป็นการส่วนตัว และเชื่อว่าหลายครั้งฟอนต์นี้ก็ถูกนำไปใช้งานอยู่บ่อย ๆ แม้จะไม่ได้เป็นที่จดจำมากนัก

“ซีเอ็ม ประสานมิตร (CmPrasanmit)” เป็น 1 ใน 10 ฟอนต์เพื่อชาติ ที่เกิดจากการประกวดไทป์เฟซอักษรไทยเพื่ออุตสาหกรรมการพิมพ์ จัดโดยชมรมการจัดพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thai Electronics Publishing Club หรือ TEPCLUB) เมื่อ พ.ศ. 2545-2546 เพื่อให้มีตัวพิมพ์มาตรฐาน ที่สามารถเผยแพร่สู่สาธารณชนได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ด้านลักษณะของตัวอักษร หากเทียบกับสารบรรณ จะดูกว้างกว่ากันเล็กน้อย และมีเส้นตรงที่มากกว่า มีลักษณะคล้าย “ใบจามจุรี (Bai Jamjuree)” แต่มีความเป็นมิตร และสมส่วนมากกว่า รวมถึงการออกแบบให้ตัวอักษรมีความโปร่งกำลังดี ก็ยิ่งทำให้ฟอนต์นี้สวยงาม น่าใช้ หากนำไปใช้เป็นฟอนต์ราชการได้ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีเช่นเดียวกัน

ดาวน์โหลดฟอนต์นี้ได้ที่นี่

http://freefont.thaifont.info/download/TEPC/TEPC_CM-Prasarnmit.zip

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://th.wikipedia.org/wiki/ฟอนต์แห่งชาติ

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า