fbpx

“ชา” ไม่เคยชิน สำรวจชาใน Pop culture เครื่องดื่มเอเชียที่ “ปัง” ไปทั่วโลก

ทุกวันนี้ เดินไปทางไหน ดูเหมือน “ชาไทย” จะเป็นที่พูดถึงกว้างขวาง จากกรณีร้านน้ำแข็งไสชาไทย “ปังชา” ที่จดลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าและบรรจุภัณฑ์ นำไปสู่การยื่นจดหมายตักเตือนก่อนดำเนินคดีกับร้านที่ตั้งชื่อคล้ายกัน ด้วยความที่ชาไทยอยู่ในวิถีชีวิตมาอย่างยาวนานชนิดที่ว่าทุกซอยต้องมี ทำให้กรณีนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าแล้วตกลงเราจะขายน้ำแข็งไสชาไทยได้หรือเปล่า

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ชา” เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก แถมยังอาจมองได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของทวีปเอเชีย จากต้นกำเนิดในประเทศจีน สู่กรรมวิธีการปลูก เก็บ และชงอย่างพิถีพิถันในญี่ปุ่น และอีกหลายวัฒนธรรม มาวันนี้ เมนูชาสารพัดรูปแบบเป็นที่นิยม ตั้งแต่ชานมแบบไต้หวันที่เป็นที่นิยมทั่วโลก จนกระทั่ง tasteatlas ได้ยกให้ชาไทยติด 1 ใน 10 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่อร่อยที่สุดในโลกอีกด้วย 

ในวันที่ชาไทยเป็นกระแสพูดคุย เราจึงอยากชวนคุณดื่ม (หรือจิบ) ชาสักแก้วแล้วไปค้นหาเรื่องป๊อบ ๆ จากชาทั่วโลกไปด้วยกัน

**คำเตือน: ชาเป็นเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ ไม่ควรดื่มเกินขนาดเพราะอาจทำให้ตาค้างได้

Milk Tea Alliance – เมื่อเครื่องดื่มสื่อสาร “เสรีภาพ”

แม้ว่าจีนจะเป็นต้นกำเนิดของ “ชา”จนแพร่หลายไปทั่วโลก แต่เรื่องไม่น่าเชื่อคือ ชานี่แหละเป็นเครื่องมือย้อนกลับมาปะทะกับนโยบายของจีนเอง

“พันธมิตรชานม” (Milk Tea Alliance) ถือกำเนิดขึ้นจากความเห็นที่ตรงกันเรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพของประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเริ่มต้นจากนโยบาย “จีนเดียว” (One China) ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญต่อการเรียกร้องเอกราชของไต้หวันและฮ่องกง ซึ่งทั้งสองต่างก็มีเมนูชานมเป็นของตัวเอง ประจวบกับความตื่นตัวทางการเมืองของคนไทยในช่วงนั้น ทำให้ชาไทยกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหว และกลายมาเป็นเครือข่ายออนไลน์ที่ชื่อว่า “พันธมิตรชานม” ในที่สุด

ที่มา: mediamanipulation.org

ภาพมีมอันลือลั่นข้างบนนี้จึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการรวมตัวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพในดินแดนของตนเอง มากไปกว่านั้นพันธมิตรชานมยังได้ขยายไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมา รวมถึงการเอารัดเอาเปรียบของทุนจีนในอินเดียอีกด้วย เรียกได้ว่าวัฒนธรรมชาใส่นมที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจากต้นทางนอกจากจะช่วยชูรสชาให้มีมิติมากขึ้นแล้ว ยังชูประเด็นสังคมให้อิมแพ็กต์อีกด้วย

Matcha Trend – ชาเขียวเพื่อสุขภาพ และความรื่นรมย์

อีกภูมิทัศน์ที่น่าสนใจในเมืองท่องเที่ยวอย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และอีกหลาย ๆ แห่ง คือการมีคาเฟ่มัทฉะในย่านท่องเที่ยวหลาย ๆ แห่ง ถึงขั้นที่หลายร้านตั้งใจชูให้ร้านตนเป็น specialist ด้านชาเขียวเลยทีเดียว

นอกเหนือจากประวัติศาสตร์การชงชาแบบญี่ปุ่นที่กลายเป็น Must have ในทริปท่องเที่ยวแทบทุกทริปไปแล้ว ความนิยมมัทฉะยังมีเหตุผลอีกอย่างที่สำคัญคือ ชาเขียวเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ที่ช่วยในการทำงานของระบบการไหลเวียนของเลือด

อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ แถมยังช่วยลดการเกิดมะเร็ง และลดน้ำหนักด้วย

แต่นอกเหนือจากประโยชน์ที่บอกไป ชาเขียวสามารถนำไปดัดแปลงทำเมนูต่าง ๆ ได้มากมายจากเกรดการคั่วที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเกรดเบเกอรี เกรดสำหรับทำอาหาร และเกรดสำหรับพิธีชงชา แถมยังมีวาไรตี้ชามากมาย ไม่ว่าจะเป็นโฮจิฉะ เกนไมฉะ หรือมัทฉะที่เราคุ้นเคย ทำให้เราเห็นการสร้างสรรค์เมนูต่าง ๆ รวมถึงทำให้ร้านชาต่าง ๆ สามารถชูความเชี่ยวชาญของตนเป็นจุดขายได้ด้วย แถมสำหรับชาวปั่นงานโต้รุ่ง ชาเขียวมีปริมาณคาเฟอีนสูงกว่าชาชนิดอื่น ๆ จึงเป็นตัวเลือกที่ดี ถ้าคุณอยากจะลุยงานแบบไฟลุกท่วม แต่อย่างที่บอก กินเยอะระวังตาค้างนะจ๊ะ

Coffee or tea? จะรับชาหรือกาแฟดีล่ะ

ย้อนกลับไปไม่กี่ปีก่อน ประโยค Coffee or Tea (จะรับชาหรือกาแฟดี) กลายเป็นแคปชันภาพในโซเชียลมีเดียเต็มไปหมด ซึ่งที่มาที่ไปก็มาจากคำถามของแอร์โฮสเตสว่า จะรับชาหรือกาแฟไว้ดื่มบนเครื่องบิน

เอาเข้าจริงชาติที่ทำให้วัฒนธรรมการดื่มชาแพร่หลายไปทั่วโลกกลับเป็น “อังกฤษ” ที่รับวัฒนธรรมการดื่มชาเข้าไปอย่างจริงจังจนกลายเป็น tea time ยามบ่าย เอกลักษณ์หนึ่งของเมืองผู้ดี และวัฒนธรรมนี้ก็ได้เผยแพร่ไปในดินแดนอาณานิคมทั่วโลกจนขึ้นไปถึงบนฟ้าอย่างเครื่องบินด้วย ซึ่งการจิบชายามบ่ายนี้เองก็ชี้ให้เห็นถึงเวลาที่จริงจังกับ “ชา” แต่ก็ยังแฝงความเป็นมิตรไว้เป็นนัย ๆ 

อย่างเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ครองราชย์ครบ 70 ปี ก็มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอสนุก ๆ ที่ทรงร่วมแสดงกับเจ้าหมี Paddington ในบรรยากาศทรงเลี้ยงน้ำชา ก็ชวนอมยิ้มและส่งสารถึงโลกว่า อังกฤษพร้อมโอบรับความหลากหลายในเครือจักรภพ หรือแม้กระทั่งเกม “Coffee or Tea” เกมละลายพฤติกรรมที่ให้เลือกระหว่างของสองสิ่งเหมือนเลือกรับชาหรือกาแฟ หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อเกม This or that นั่นเอง

แต่ถึงแม้จะไม่แน่ชัดว่าทำไม Coffee or Tea ถึงได้กลายมาเป็นแคปชันคู่แก้วเครื่องดื่มได้ เราต้องยอมรับว่าวัฒนธรรม Cafe hopping หรือการไปนั่งชิลล์ตามร้านกาแฟเป็นวัฒนธรรมการท่องเที่ยวหนึ่งที่น่าสนใจทีเดียว เนื่องจากไม่ต้องเจอกับอากาศร้อน มีเครื่องดื่มและขนมรองรับเผื่อจะหาอะไรรองท้อง แถมยังได้รูปกลับบ้านจากการแต่งร้านที่สวยงาม ทำให้แทบทุกพื้นที่ต้องมีร้านกาแฟ (ที่มักมีชาเป็นเมนูรอง) เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเช่นนี้ด้วย โดยเฉพาะในเมืองที่ร้อนสุด ๆ แบบเดินออกไปไหนก็สามารถละลายติดพื้นได้แบบเมืองไทยเรา

และด้วยความเป็นเมืองร้อนนี่เองที่ก่อให้เกิด “น้ำแข็งไสชาไทย” เมนูดับร้อนคลายเหนื่อยที่กลายมาป็อบปูลาร์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ที่จริงแล้วชาไทยและชาอื่น ๆ จะวนเวียนในเมนูเครื่องดื่มจนชินชา หลายคนอาจมองว่าเป็นเมนูบ้าน ๆ แต่เราเชื่อว่าเรื่องราวของชาและป็อปคัลเจอร์ที่เกี่ยวข้องก็น่าลิ้มลองและไม่เคยชาชิน

เพราะชาไม่ได้เป็นแค่เครื่องดื่มหรือของหวาน แต่เป็นวิถีชีวิต

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า