fbpx

เส้นทางของนักเรียนที่ถูกขีดเขียนด้วย “TCAS64”

หลายท่านอาจจะคุ้นเคยกับการสอบ Admission กันมาก่อน (เก่ามาก) แต่เด็กยุคนี้นั้นเขาต้องสอบภายใต้ระบบ TCAS แล้วระบบนี้มันเป็นอย่างไร? และสิ่งที่เด็กรุ่นนี้จะต้องคำนึงถึง รวมไปถึงเรื่องราวการสอบที่น่าสนใจสำหรับการสอบในครั้งนี้ว่าเป็นอย่างไร The Modernist จึงเชิญ ดร.พีระพงศ์ ตริยเจริญ หรือ “พี่ก๊อง” ผู้จัดการระบบ TCAS มาร่วมพูดคุยกัน เพื่อให้เด็ก #Dek64 เข้าใจมากยิ่งขึ้น ติดตามบทสัมภาษณ์เต็มๆ ได้เลยครับ

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ในปีนี้มีการปรับเปลี่ยนยังไงบ้างไหม?

เราพบว่า การที่มีรอบ Admission 1 Admission 2 แยกออกจากกัน ทำให้น้องที่สนใจจะเรียนในรอบ Admission 1 แต่ตัวเองไม่ติดในสาขาที่ตัวเองอยากได้ แล้วเผอิญสาขานั้นมีที่ว่างเกิดขึ้น เพราะน้องที่ได้ เลือกที่จะไม่เรียน ทำให้มีที่ว่าง เมื่อมีรอบที่แยกออกจากกัน จะทำให้ไม่สามารถที่จะเติมคนได้นะครับ ดังนั้น TCAS 64 เราจึงมาบริหารจัดการรับสมัครร่วมกัน แล้วมาประมวลผลพร้อมกัน ดังนั้น เมื่อมีน้องที่ไม่ใช้สิทธิ์ในสาขาที่ตัวเองได้ เกิดเป็นที่ว่าง ระบบเราจะทำการประมวลผล แล้วก็ดึงตัวสำรองขึ้นมาแทนที่ ทำให้เติมเต็มที่นั่งว่างได้ มหาวิทยาลัยก็ได้คนเต็ม น้องเองก็จะมีที่นั่งเรียนที่ดีขึ้นนะครับ

คาดหวังไหมครับว่าปีนี้เด็กจะเข้าสู่ระบบ TCAS และมีที่เรียนครบ 100% ไหม?

จากที่ผ่านมา เราก็พบว่า น้องที่มาสมัครจำนวนมากกว่าน้องที่ได้เข้าเรียนนะครับ นั่นเพราะว่า ที่นั่งเรามีที่นั่งเหลือ แต่น้องสนใจที่จะสมัครเรียนในบางสาขาหรือในบางสถาบันจำนวนมาก บางสาขา บางวิทยาเขต บางพื้นที่ ก็จะมีคนสมัครเรียนน้อย ทำให้เกิดที่ว่างนะครับ ปีนี้เราก็คาดเดาเหมือนเดิมครับว่า น้องมาสมัครแล้วจะแห่ไปบางสาขาบางสถาบัน บางสาขาบางสถาบันก็ต้องมีการปรับตัว ต้องทำหลักสูตรให้ดีขึ้น น่าสนใจขึ้น เพื่อจะดึงดูดน้อง ๆ ให้มาสมัครมากขึ้นนะครับ

ช่วยเล่ารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบการคัดเลือก TCASว่า 4 รอบที่เกิดขึ้น กินระยะเวลาเท่าไหร่ แล้วมีรายละเอียดยังไงบ้าง?

ปี 64 เรามี 4 รอบ 5 รูปแบบการคัดเลือก รูปแบบการคัดเลือกเหมือนเดิม ได้กลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน แต่เราจะบริหารจัดการให้การสมัครคัดเลือกสั้นลง ยุบรวมมาบริหารจัดการ 4 รอบ โดยที่

รอบที่ 1 สนใจน้องที่มีคุณสมบัติ ความสามารถโดดเด่น ความสามารถพิเศษ ใช้ Portfolio ไม่มีการสอบ แต่สามารถทำการ Audition ได้ ในสาขาดนตรี การแสดง นาฏศิลป์

รอบที่ 2 เป็นรอบโควตา เหมาะสำหรับน้องที่อยู่ในพื้นที่โรงเรียนเครือข่าย น้องที่เป็นกลุ่มคุณสมบัติเฉพาะ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะใช้เกณฑ์คะแนนในการคัดเลือก ก็จะมาเปิดรับในรูปแบบโควตา มีคะแนนสอบเกิดขึ้น

รอบที่ 3 เรียกว่ารอบ Admission จะมีเกณฑ์ของรูปแบบ Admission 1 มีมหาวิทยาลัยกำหนดได้อย่างอิสระ แล้วก็เกณฑ์ Admission ที่มหาวิทยาลัยกำหนดร่วมกันเป็น 10 กลุ่มสาขา สามารถเลือกสมัครสาขา เกณฑ์ใดก็ได้ สูงสุดไม่เกิน 10 อันดับแบบเรียงลำดับ อันดับที่ 1 คือสาขาที่อยากเข้าเรียนมากที่สุด ถ้าพลาดก็มาเลือกในอันดับที่ 2 ระบบจะทำการประมวลผล แล้วประกาศชื่อในสาขาเดียวในอันดับที่ดีที่สุดที่น้องอยากจะเรียน ถ้าน้องคนไหนยังพลาดอยู่ ก็จะไปในรอบที่ 4

รอบที่ 4 ที่เรียกว่า Direct Admission สำหรับน้องที่ยังไม่มีที่เรียนเท่านั้น และสำหรับบางมหาวิทยาลัยที่ยังได้คนไม่เต็ม ก็ดำเนินการรับสมัคร ไปทำการคัดเลือกที่มหาวิทยาลัยนะครับ

ภาพโดย ทปอ.

อย่างนี้ถ้าเป็นเด็กซิ่ว ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในส่วนของเด็กซิ่วยังไงบ้างไหม?

เราไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเงื่อนไขของเด็กซิ่วเลยนะครับ เพราะฉะนั้นเด็กซิ่วจะเข้ามารอบไหนบ้าง ก็ต้องไปดูเงื่อนไขของสาขา จากประสบการณ์ที่เห็นมาใน TCAS 63 นะครับ เราจะพบว่า เด็กซิ่วส่วนใหญ่จะเข้ามาในรอบของ Admission 1 Admission 2 ที่เข้ามาในปริมาณเยอะ เนื่องจากใช้คะแนนสอบ น้อง ๆ เด็กซิ่วก็จะไปฟิตตัว เพื่อที่จะมาทำข้อสอบ GAT-PAT 9 วิชาสามัญ ใหม่ แล้วก็จะเข้ามาสมัครคัดเลือกในรอบนี้เป็นส่วนใหญ่นะครับ

ปีนี้ในส่วนของวิชากลุ่มคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มีการปรับให้ สสวท. เข้ามาช่วย?

ในการออกข้อสอบ เพราะว่า สสวท. เป็นผู้รับผิดชอบในการปรับโครงสร้างเนื้อหาวิชาของนักเรียน ม.ปลาย ในกลุ่มคณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ ดังนั้น สสวท. จะรู้ว่าผลการเรียนรู้ที่คาดหวังคืออะไร เราเลยมอบหมายให้เขาเป็นผู้ทำการออกข้อสอบให้ในกลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ซึ่งได้แก่วิชาคณิตศาสตร์ 1 ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา PAT1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ PAT2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ แล้ว สสวท. เอง ก็ออกข้อสอบ O-NET คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เดิมอยู่แล้ว ไม่ได้มีการมอบหมายเพิ่มเติมให้นะครับ

สำหรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นแน่ ๆ ใน TCAS 64 มีการคาดการณ์ไว้สำหรับตัวเด็กเองที่มาใช้ระบบ มีอะไรบ้างไหม?

คาดเดานะครับ น้อง ๆ จะไม่ตรวจสอบข้อมูลในระบบ เพราะตัวระบบเอง เราจะพยายามให้ตัวน้องกรอกข้อมูลน้อยที่สุด โดยการไปเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลกับ ICAS สพฐ. ซึ่งโรงเรียนจะเป็นคนส่งข้อมูลมาให้ ถ้าน้องเข้ามาในระบบลงทะเบียนแล้ว ระบบไม่เจอข้อมูลในระบบ ICAS คือโรงเรียนไม่ได้ส่งข้อมูลให้ น้องก็ต้องกรอกข้อมูลเอง เพิ่มข้อมูลเอง แล้วก็ส่งหลักฐานมา approve แต่ถ้ามีข้อมูลในฐานข้อมูลแล้ว น้องต้องตรวจสอบข้อมูลด้วยว่า โรงเรียนส่งข้อมูลมาถูกต้องหรือไม่ ในปีที่ผ่านมาเราพบว่าโรงเรียนส่งข้อมูลมาผิดพลาด แล้วน้อง ๆ ไม่ได้แก้ไขข้อมูล ทำให้เวลาไปประมวลผล น้อง ๆ เลยพลาด เราก็คาดว่าน้อง ๆ จะพลาดจุดเดิม เพราะเราเห็นมา 2 ปี ปี 62 ก็พลาดจุดนี้ ปี 63 ก็พลาดจุดนี้ ดังนั้นก็ต้องขอความร่วมมือทางโรงเรียนให้ส่งข้อมูลที่ถูกต้อง เหมือนใบ ปพ. ตอนนี้จะมีโรงเรียนที่ส่งข้อมูลผ่านระบบที่ใช้ไฟล์ excel ซึ่งจะมีการปัดเศษทศนิยมอันดับ 2 ซึ่งทศนิยมอันดับ 2 จะมีผลต่อคะแนนรวมของน้อง ๆ ด้วย ดังนั้นต้องย้ำเตือนคุณครูเวลาส่งข้อมูลมา ต้องตรวจทานข้อมูลให้ถูกต้อง แล้วตัวน้องเองก็ต้องเข้าระบบเพื่อตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องด้วยนะครับ

ส่วนตัวมหาวิทยาลัย การทำงานใน TCAS ปีนี้ยังเหมือนเดิมใช่ไหม?

ยังเหมือนเดิมครับ มหาวิทยาลัยก็ต้องรับผิดชอบหน้าที่เหมือนเดิม คือ Portfolio มหาวิทยาลัยรับสมัคร คัดเลือก โควตา มหาวิทยาลัยรับสมัคร คัดเลือก Direct Admission มหาวิทยาลัยรับสมัคร คัดเลือก ส่วนรอบ Admission ที่เป็น Admission 1 มหาวิทยาลัยก็ดำเนินการเรียงลำดับผู้สมัครตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดขึ้นมาเอง ยังทำเหมือนเดิมทุกอย่างเลยครับ

มีการคุยกับมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งไหมครับ เรื่องการจำกัดที่นั่ง การกำหนดที่นั่งต่าง ๆ ?

ในการกำหนดจำนวนรับของแต่ละสาขาวิชาเป็นอำนาจของมหาวิทยาลัย ดูแลโดยสภามหาวิทยาลัย ทปอ. ไม่ได้มีอำนาจที่จะไปบอกเขาได้ว่า ควรจะเปิดรับสาขาใด จำนวนเท่าไหร่ มันอยู่ที่ดุลยพินิจของแต่ละสถาบัน ที่จะมีเป้าหมายในการผลิตกำลังคนให้กับประเทศชาติครับ

ในหลายปีที่ผ่านมา มีการสละสิทธิ์ต่าง ๆ นู่นนี่นั่น มีอะไรอยากจะบอกกับน้อง ๆ ไหม?

อยากจะฝากน้อง ๆ ครับว่า ให้วางแผนการเรียนให้ดีนะครับ เมื่อเข้าสู่กระบวนการการคัดเลือกแล้ว จะได้ไม่ผิดหวัง และไม่โลเลว่า เรียนอันนู้นไม่เอา เรียนอันนี้ดีกว่า ทำให้เกิดการสละสิทธิ์ เพราะการสละสิทธิ์เอง มองในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็เหมือนกับเป็นการที่ไปทำให้เกิดที่ว่างขึ้นในระบบ แล้วทำให้เพื่อน ๆ พลาดในที่นั่งเหล่านั้นในการเรียน ดังนั้น อยากฝากกับน้อง ๆ ครับว่า ให้วิเคราะห์ตนเองให้ดี ว่าตนเองถนัดอะไร ชอบอะไร รักอะไร แล้วอยากจะทำอาชีพอะไรในอนาคต แล้วสาขาวิชาไหนที่จะตอบสนองให้น้องมีความสามารถในการที่จะประกอบอาชีพนั้นได้ เราก็จะวางแผนในการเลือกว่า ควรจะสมัครเข้าด้วยเกณฑ์การคัดเลือกแบบใด รอบใด นะครับ

ฝากถึงผู้ปกครองหน่อยครับ เห็นว่าปีที่แล้วเหมือนมีเคสในทวิตเตอร์เคสหนึ่ง ที่ผู้ปกครองแอบไปเปลี่ยนคณะให้กับเด็ก

ใช่ครับ ต้องฝากผู้ปกครองครับว่า การเรียนในมหาวิทยาลัย เป็นการเรียนของน้อง ๆ เพื่อที่จะมีความรู้ความสามารถในการไปประกอบอาชีพ ดังนั้น พ่อแม่ควรที่จะสนับสนุนการตัดสินใจของน้อง ๆ เพราะนั่นคือชีวิตของน้องเอง พ่อแม่ไม่ควรที่จะไปบงการน้องให้เรียนสาขานู้นสาขานี้ ตามความคิดเห็นของพ่อแม่ เพราะไม่ใช่พ่อแม่ต้องไปประกอบอาชีพ เป็นที่ตัวน้อง ดังนั้นอยากฝากพ่อแม่ครับว่า ให้กำลังใจน้อง น้องตัดสินใจอะไร ควรจะสนับสนุนการตัดสินใจของน้อง ๆ แต่ถ้าน้องตัดสินใจอยู่บนหลักเกณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง ก็ให้คำแนะนำ และถ้าน้องยังยืนกราน ก็ให้น้องเป็นบทเรียน น้องก็เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เราจะเห็นน้องหลายคนที่สมัครตามค่านิยมของเพื่อน เมื่อเข้าไปเรียนแล้วมันไม่ใช่ เพราะว่ามันไม่ใช่ความชอบของตัวเอง ทำให้ความใส่ใจ ความกระตือรือร้นในการเรียนมันไม่มี ถ้าเรียนตามเพื่อน ก็จะไม่สามารถเรียนได้ดี แต่ถ้าเรียนได้ด้วยใจชอบ ก็ไม่ต้องพยายาม ก็จะเรียนได้ด้วยตนเอง นั่นคือ จะทำให้น้องประสบความสำเร็จในการเรียนได้ ดังนั้นพ่อแม่ก็ต้องคอยสนับสนุน แนะนำ แต่อย่าไปบังคับ ชี้นำ นะครับ

ฝากถึง TCAS หน่อยครับ เรื่องกำหนดการเริ่มต้นเมื่อไหร่ อะไรยังไงครับ

TCAS เราจะให้เริ่มลงทะเบียน วันที่ 5 มกราคม ตั้งแต่รอบ Portfolio นะครับ แต่การสมัครรอบ Portfolio นั้น ขึ้นอยู่กับระเบียบการของมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องไปดูที่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเองนะครับ ก็จะยิงยาวไปจนจบกระบวนการของปี 64 วันที่ 15 มิถุนายน นะครับ จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนครึ่ง นะครับ

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า