fbpx

บอกเล่าเรื่องวัดกับ ‘ต้า วัดไทย’ ผู้ขึ้นเหนือล่องใต้ไปดูวัดมากกว่า 40 ที่ในวันเดียว

ย้อนกลับไปเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วขณะยังเป็นนักศึกษาสถาปัตยกรรม เรามีโอกาสได้พบพี่ต้า ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล ครั้งแรก ในรอบรั้วของ บ้านปลายเนิน ท่ามกลางบรรยากาศการมอบรางวัลนริศรานุวัดติวงศ์ ประจำปี 2562 

เพราะการติดตามบทความที่พี่ต้าเขียน ผนวกกับการเป็นรุ่นน้องร่วมมหาวิทยาลัย ทำให้เราสนใจร่วมวงสนทนาและทำความรู้จักกับชายผู้เป็นเจ้าของฉายา ‘ต้า แฟนพันธ์ุแท้วัดไทย’ ให้มากขึ้น พร้อมคำถามที่ยังไม่เคยได้รับคำตอบว่า ‘จะมีสาเหตุใดให้คนๆ หนึ่งชอบและหลงใหลในสถาปัตยกรรมไทยได้ขนาดนี้’   

จากวันนั้นเป็นเวลา 3 ปี ขณะนี้พี่ต้าพ่วงนามปากกา ‘ต้า วัดไทย’ พร้อมบทบาทใหม่ในฐานะนักศึกษาปริญญาเอกคณะโบราณคดีที่เพิ่งโดนอาจารย์เชือดมาหมาดๆ (ณ ขณะสัมภาษณ์) มาร่วมตั้งวงบอกเล่าความเป็นไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ทำให้ชื่นชอบสถาปัตยกรรมไทย เรื่อยไปจนถึงปรับทุกข์ปัญหาการอนุรักษ์และการบูรณะที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ท่ามกลางกระแสที่เปลี่ยนไปของโลก 

เด็กชายบ้านจีนที่หลงใหลวัด

หากย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น ก่อนที่พี่ต้าจะเข้าสู่วงการโบราณคดีและสถาปัตยกรรมไทยเฉกเช่นความชอบของเขาในปัจจุบัน ความหลงใหลแรกเริ่มเดิมทีนั้น เกิดขึ้นกับอารยธรรมไกลตัวอย่างเทพเจ้าอียิปต์ โรมัน และกรีก แม้เติบโตมาในครอบครัวคนจีนแบบพ่อค้า และมีป๊าที่ชอบดูวัดเก่าเป็นชีวิตจิตใจ แต่ ณ เวลานั้น เรื่องวัดใดๆ ก็ยังไม่ได้อยู่ในขอบข่ายความชอบของเด็กชายต้าเลยแม้แต่น้อย

“คือป๊าพาไปเที่ยวตั้งแต่เด็ก จำได้เลยว่าทริปแรกเป็นกำแพงเพชร แล้วป๊าก็ทำแบบนี้ทุกปี” แม้จะเป็นเด็กวิ่งไปมาซนๆ ตลอดทุกครั้งที่ออกไปเที่ยว แต่ต้ายังจำความรู้สึกของการเฝ้ารอวันตรุษจีนให้เวียนมาถึงในทุกๆ ปีได้ และประสบการณ์การไปเที่ยวไปดูวัดตั้งแต่เด็กนั่นแหละ ที่ค่อยๆ สั่งสม หล่อหลอม จนรู้ตัวอีกที ‘วัดไทย’ ก็กลายเป็นความสนใจในที่สุด 

“ตอนนั้น 12 – 13 ยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าจะไปเรียนทางไหน แต่ที่แน่ๆ ชอบแล้วแหละ ดูซ้ำไปซ้ำมาจนชอบแล้ว พอโตมาแล้วรู้ว่ามีโบราณคดี เราก็เลี้ยวเลย (หัวเราะ)” เอกประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรกลายเป็นเส้นทางในรอบรั้วมหาวิทยาลัยที่ต้าเลือกเดิน เพื่อสานต่อความชอบไปเป็นอะไรก็ตามที่ยิ่งใหญ่และมั่นคงกว่า   

“โห เข้าไปเรียนแล้วเหมือนที่คิดไว้มั้ยคะ”  

“ช็อกอะ”     

เพราะการซ้อมไม่เหมือนการลงสนามจริง ขณะก้าวเท้าเข้าไปเรียนชั้นปีที่ 1 ต้าประสบปัญหากับความใหม่ของภาควิชาอย่างที่ตัวเขาเองก็ไม่อาจจินตนาการได้ วิชาเฉพาะทางและคำศัพท์แปลกประหลาดมากมายเป็นเครื่องวัดความอดทนชั้นดีให้เขาต้องขวนขวายเพื่อให้อยู่รอด ท่ามกลางทางเลือกของการเรียนประวัติศาสตร์สองสายที่แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง และแม้คณะจะเปิดกว้างให้นักศึกษาทุกคนมีโอกาสได้เลือกลงวิชาที่ตัวเองสนใจ แต่พี่ต้าก็ยอมรับว่า หากมองย้อนกลับไปจากจุดนี้ที่เขาเติบโตขึ้นมา การเป็นนักศึกษาปริญญาตรีที่(คิดว่า)พยายามในวันนั้น ก็เป็นเพียงการพยายามออกมาจากกล่องเพื่อออกมาเห็นโลกอย่างที่พึงจะเป็น 

“ด้วยหลักสูตรในสมัยมัธยมเขาสอนให้เด็กอยู่ในกล่อง แล้วพอเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยทุกอย่างมันใหม่ไปหมด เราต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่ประมาณนึงเลยกว่าเราจะรู้ว่าต้องอะไรยังไง”  

กว่าจะเรียนรู้และปรับตัวแบบที่พอจะรับไหว เวลาก็ล่วงเลยจนถึงช่วงปี 2 ขณะเริ่มมั่นใจว่าสุนทรียะของอารยธรรมตะวันออกเป็นทางที่ใช่ โปรเจกต์ วัดมหรรณพารามวรวิหารพระนคร จึงกลายเป็นงานแรกที่ทำให้เขาเริ่มหันมาดูวัดจริงๆ จังๆ แต่ก็เป็นการโดนบังคับไปด้วยวิชาเรียนมากกว่าความสมัครใจ ผนวกกับความรู้สถาปัตยกรรมไทยพื้นฐาน พื้นฐานมากๆ ทำให้ท้ายที่สุดงานที่ต้องส่งชิ้นนั้นก็โดนตีกลับมา เป็นแรงผลักดันให้ต้าเริ่มหันหน้ามาศึกษาสถาปัตยกรรมไทยอย่างจริงจัง

“ก็ดูแล้วเขียนมั่วๆ ไป แล้วก็โดนอาจารย์ถามว่านี่เขียนอะไรมาส่ง (หัวเราะ) คือการที่เรารู้พื้นฐาน ไม่ได้หมายความว่าเราเขียนได้ดี พอขึ้นปี 3 มาก็เลยรู้ละ เราต้องดูของจริง ก็เอาวะ ไปดูของจริง”

จากปัญหาที่ประสบพบเจอในช่วงปี 2 พี่ต้าจึงตัดสินใจกับตัวเองว่า ถ้าไม่ไขว่คว้าคงไม่มีทางรู้มากกว่า ถ้าอ่านแค่หนังสือหรืออดทนอยู่แค่ในห้องเรียนคงไม่มีวันจะเข้าใจสิ่งเหล่านั้นได้จริงๆ เขาจึงเริ่มจัดตารางชีวิตในการเรียน โดยกำหนดให้มีวันที่ว่างทั้งหมดหนึ่งวันจากทั้งสัปดาห์ และใช้เวลาทั้งวันนั้น เพื่อออกไปดูวัดหรือดูงานอะไรก็ตามที่สนใจ บนความเชื่อว่าถ้าคนเราได้เห็นทุกอย่างมามากพอ เราจะสร้างคอนเซปต์ความเข้าใจขึ้นมาในหัวได้เอง ถึงแม้จะเป็นการดูเพื่อดู ดูแบบไม่มีความรู้ แบบไม่มีอะไรในหัว แต่ก็ไม่เป็นไร ดังนั้นช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 3 จนจบปริญญาตรี พี่ต้าจึงใช้หนึ่งวันว่างนั้นในการออกไปดูวัดทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 5 – 6 วัด โดยจะเจาะเป็นย่านๆ และเก็บให้ได้มากที่สุดเท่าที่เวลาจะอำนวย แรกเริ่มคือเก็บแต่ละย่านในกรุงเทพ และค่อยๆ ขยายไปต่างจังหวัด จนกระทั่งก้าวเข้าสู่การเป็นนักศึกษาปริญญาโท พี่ต้ายังคงทำตามตารางเดิมอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่น้อยลง จะมีก็แต่จำนวนวัดนั่นแหละที่ดูท่าทางจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่อาจหยุดยั้ง 

“ปกติไม่เคยนับเลยนะ แต่ที่จำได้มากสุดเลยคือไปเชียงใหม่ วัดมันเยอะไง อยากลองทายเล่นๆ มั้ยว่ากี่วัด เรียกว่าเป็นสถิติสูงสุดที่ยังทำลายไม่ได้ด้วย เพราะร่างกายไม่พร้อม” พี่ต้าถามกลับมาก่อนจะทิ้งเวลาให้ทีมงานทั้งหมดคิดสักครู่หนึ่ง 

“10 ปะ สุดแล้ว” 

“คูณ 4 ไป” 

ขณะที่ทีมงานนั่งประมวลผลกับข้อมูลใหม่ซึ่งสร้างความรู้สึกหลากหลายเมื่อได้ฟัง พี่ต้าหัวเราะก่อนจะอธิบายความเป็นมาของจำนวนที่น่าฉงนนี้อย่างออกรสออกชาติ เพราะคำจำกัดความของวัดทางภาคเหนือ ไม่เหมือนวัดในภาคอื่นๆ เจดีย์องค์เดียวก็นับเป็นวัดได้ ปริมาณมันเลยดูมากผิดปกติ บวกกับคอนเซปต์ของการไปทริปนั้นคือ ดูยังไงก็ได้เอาให้คุ้ม ดังนั้นเมื่อรถทัวร์ถึงเชียงใหม่ในเวลา 6 นาฬิกาตรง เขาจึงเริ่มเดินดูวัดทันที พักให้น้อยที่สุด เอาแผนที่เชียงใหม่มากางจิ้มวัดเดินตามและจบทุกอย่างภายใน 4 ทุ่ม ฟังดูเหนือมนุษย์ใช้ได้ และไม่ได้มีแค่ทีมงานเราที่คิดแบบนั้น เขาเล่าเสริมว่า ช่วงไปแข่งแฟนพันธ์ุแท้เคยเอาความจริงข้อนี้ไปพูดในรายการ และโดนกระแสตีกลับแบบที่ไม่คาดคิดมาก่อน เพราะคนทั่วไปอาจมองว่าการไปวัดคือการไปนั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรม ไปสวดมนต์ ไปทำบุญ แต่ในฐานะของคนที่กำลังศึกษาหาความรู้ วัดไม่ได้เป็นเพียงแค่ศาสนสถาน มันมีอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้นซ่อนอยู่ภายใต้ความงามของกาลเวลา ก่อเป็นแรงดึงดูดที่ทำให้ผู้คนมากมายเข้ามาศึกษาและทำความเข้าใจกับสถานที่อันแสนพิเศษเหล่านี้  

“ในแง่ปริมาณมันอาจจะดูเยอะ คือมันมาจากความรู้สึกว่า เราต้องดูให้คุ้ม แบบมาแล้วทั้งที คือมันเกินไปมาก ตอนเราไปออกรายการแฟนพันธ์ุแท้ เขาก็ตกใจกันทั้งสตูดิโอ เราโดนคนในโซเชียลด่าอยู่อาทิตย์นึงเลยนะ ว่าจะดูห่าอะไรตั้ง 40 วัด แต่ดูตอนนี้กับตอนป.ตรีไม่เหมือนกันเลย กล้าพูดว่าตอนป.ตรีไม่มีคุณภาพเลย เพิ่งจะมาแยกทุกอย่างได้ตอนป.โท มาบอกได้ว่าวัดนี้น่าจะอยู่ในสมัยไหน พอจะแยกออกได้แบบถูกต้องมากขึ้น ไม่กล้าบอกว่าถูกหมดหรอก แต่กล้าพูดว่าเริ่มแม่นขึ้นแหละ” 

แฟนพันธุ์แท้วัดไทย 

หลังจากมั่นใจว่าวัดและสถาปัตยกรรมตะวันออกคงเป็นทางที่ชอบที่ใช่ จนทำให้ตัดสินใจศึกษาต่อปริญญาโทในรอบรั้วคณะเดิม สิ่งพี่ต้าตัดสินใจทำต่อคือการลองสมัครแฟนพันธุ์แท้ 2014 ซึ่งขณะนั้นมีพิธีกรหลักคือ คุณกฤษณ์ ศรีภูมิเศรษฐ์ แต่สุดท้ายด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ทำให้จำเป็นต้องผ่านการแข่งขันนั้นไป จนกระทั่งแฟนพันธ์ุแท้ได้ติดต่อกลับมาอีกครั้งในปี 2019 ด้วยหัวข้อวัดไทยที่เขาช่ำชอง แม้รายการจะเปลี่ยนกติกาเป็นซุปเปอร์แฟนที่รวบเอาหัวข้อทั้งหมดมาแข่งพร้อมกัน สตูดิโอจะไกลแค่ไหน หรือถ่ายทำดึกขนาดอดตาหลับขับตานอนบิวต์กันเองกับคุณกันต์ กันตถาวร อย่างไร พี่ต้าก็จะพูดเสมอว่า แฟนพันธุ์แท้เป็นทั้งความทรงจำที่สนุกและดีมากครั้งหนึ่ง นอกจากได้ใช้ความรู้ที่ตัวเองชอบ ยังได้พบเจอกับคนประเภทเดียวกันที่กลายเป็นมิตรภาพที่ดีต่อกันจนถึงทุกวันนี้อีกด้วย 

“เราได้เพื่อนใหม่เยอะ เจอพี่แฮม วันวิสข์ เนียมปาน ครั้งแรกก็ตอนนั้นเลยเพราะแกเป็นแฟนพันธ์ุแท้รถไฟ และอีกหลายๆคน มันเหมือนเนิร์ดทุกคนมาเจอกัน แค่คนละสาย พอมานั่งรวมกันมันก็สนุกดี” 

แม้มีหลายคนที่ชีวิตเปลี่ยนไปหลังจบรายการแฟนพันธุ์แท้ แต่พี่ต้าเหมือนจะไม่ได้เป็นหนึ่งในนั้น นอกจากงานที่ชุกชุมมากขึ้น และมีคนจำได้ประปรายเวลาไปดูวัด ทุกอย่างในชีวิตประจำวันของเขายังคงเรียบง่ายและอยู่ในตารางเดิม เขายังคงไปดูวัดเหมือนเดิม สวมหมวกแบบที่ทุกคนเห็นในรายการ (ยกหมวกให้ดู) วางแผนการเดินทางเหมือนเดิม ยกเว้นแต่อุปกรณ์ในการศึกษาที่ใหม่ เพื่อช่วยให้เขาตามความเร็วของโลกให้ทันก็เท่านั้น 

เมื่อก่อนมันก็เป็นแผนที่แหละ แผนที่ทำมือ  แต่ตอนนี้ให้ Google Maps มาก่อนเลย” แม้อุปกรณ์ต่างจากเดิม แต่วิธีการยังเหมือนเก่า เขาเริ่มจากการเลือกย่านที่อยากไป จิ้มเลือกวัดที่น่าสนใจมาสักที่หนึ่ง ก่อนจะสังเกตว่ารอบๆ วัดนั้นมีอะไรน่าสนใจและทำเส้นทางเพื่อเดินไปในละแวกใกล้เคียง 

พกของติดตัวให้น้อยที่สุด แต่สิ่งที่พี่ต้าเน้นย้ำและพูดแบบเจ็บแค้นประมาณหนึ่ง ขณะเล่าให้พวกเราฟังถึงวิธีการที่เขาเพิ่มเข้ามาในการไปดูวัดสำหรับปัจจุบันคือ ‘เปิดดูรูปก่อนค่อยไปจริง’ 

“มันเป็นการการันตีว่าจะมีอะไรให้ดู เพราะจำได้เลยว่าเคยอ่านในหนังสือ แล้วหนังสือเล่มนั้นมันเก่า คืออ่านไปมันต้องแบบนี้ๆๆๆ ไปดูของจริงแม่งไม่มีอะไรเลย แม่งรื้อหมดแล้วอะ บูรณะใหม่หมดเลย แล้วเราก็ไม่ได้เอะใจไง ในหนังสือมันเขียนว่าปี 2510 กว่าๆ 2520 แบบนี้ หนังสือ น. ณ ปากน้ำ อะ เก่ามาก หนังสือชื่อ ศิลปในบางกอก (2542) จำชื่อได้ แล้วที่ไปก็คือวัดคือโพธิ์เรียง – บางกอกน้อย จำได้แม่นเลย หลังๆ เลยต้องเช็ควัดเอาให้มันชัวร์ แบบต้องแน่ใจว่าไปแล้วจะพอได้ดู ที่เหลือก็แล้วแต่โชค”

การลุ้นโชคของคนอื่นอาจหมายถึงการได้รับรางวัลหรือได้รับบางสิ่งบางอย่างที่ล้ำค่า แต่ถึงแม้ว่าการลุ้นโชคในรูปแบบของพี่ต้านั้นเรียบง่าย แต่ถึงกระนั้นมันก็สร้างปัญหาให้กับเขามากทีเดียว เมื่อก่อนการไปวัดของพี่ต้าคือการไปดูเพื่อไปดู แต่พอถึงจุดที่ชีวิตและความรู้เริ่มได้รับความสนใจจากคนในวงกว้าง การเขียนหนังสือจึงกลายเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการนำความรู้มาต่อยอดเพื่อถ่ายทอดออกไปให้คนหมู่มาก การลุ้นโชคของพี่ต้าจึงมาออกฤทธิ์ตรงนี้ เขาเล่าว่าขณะนั้นกำลังเขียน ศิลปกรรมวัดราษฎร์ ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (2561) ก็สมบุกสมบันพอควรกว่าจะหาข้อมูลเพื่อมาเขียนและไปสถานที่จริงๆ ให้ได้ครบ เพราะหลายๆ ครั้ง โชคก็ไม่ได้เอื้อให้เขาทำงานสักเท่าไหร่ ปัญหาแสนสนุกที่พบเจอจึงมีตั้งแต่ไปถึงแล้วโบสถ์ปิด ไปขอแล้วพระไม่ให้ อาจจะด้วยหวง หรือกลัวของหายก็สุดแล้วแต่จะจินตนา เรียกว่าสารพัดอุปสรรคที่จะห้ามไม่ให้เขาทำงานเสร็จ สุดท้ายเลยต้องใช้วิธีไปบ่อยๆ ไปจนกว่าพระจะจำหน้าได้ ถึงจะได้รับความไว้ใจในการทำผลงานให้ครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุด 

“ที่พยายามขนาดนี้เพราะอยากให้หนังสือมันสมบูรณ์ คือยอดขายมันไม่ได้ดีอะไรมากหรอก มันขายได้เรื่อยๆ แต่เรื่องที่ตกใจคือหนังสือของเรามีประโยชน์ กับคนนอกเราพอเข้าใจ แต่นี่เป็นคนในเป็นรุ่นน้องป.ตรีในคณะด้วยเราดีใจมากๆ เป็นความรู้สึกที่ดีจริงๆ อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะฝากเอาไว้กับทุกคนเลย คือเวลาที่อ่านงานด้านประวัติศาสตร์จนถึงจุดนึงแล้วไม่มั่นใจว่าจะเชื่อใครดี แนะนำเชื่อตัวเอง เพราะพอเราโตขึ้น จนเข้าใจว่างานวิชาการมีหลายขาน่ะ เราจะเห็นว่ามันมีการวิเคราะห์ทุกอย่างด้วยอุปกรณ์ที่ต่างกัน สุดท้ายเราเองคือคนตัดสินนั่นแหละว่าจะเลือกฟังฝั่งไหน วันนี้สิ่งนี้อาจจะถูก แต่ถ้ามีหลักฐานใหม่มามันอาจจะผิดก็ได้ วิชาการไม่ใช่สิ่งที่ตาย สักวันนึงถ้ามันมีอะไรที่ปรับ เราก็ต้องเชื่อสิ่งใหม่ จะมายืนยั้งกระต่ายขาเดียวเพื่อยึดแต่อย่างเดิมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนไปตามหลักฐานที่เปลี่ยนไปด้วยถึงจะถูก”

วัดดูยูโนว

เราทำความรู้จักชีวิตของพี่ต้ามาพอเป็นกระสัย พอให้รู้ว่าพื้นเพและความสนใจของเขาเป็นมายังไง ซึ่งเราคงได้คำตอบกันไปประมาณหนึ่งแล้ว แต่สิ่งที่เราต้องตั้งคำถามต่อไปคือทัศนะและความเป็นไปของวัด ศาสนสถานและสถาปัตยกรรมไทย ผ่านมุมมองของชายผู้เป็นแฟนพันธุ์แท้วัดไทยคนนี้ต่างหาก 

“สำหรับพี่วัดคืออะไร”

“สำหรับพี่วัดคือสถานที่บันทึกเรื่องราว คือสิ่งที่คนในอดีตฝากเอาไว้ให้คนในรุ่นเรา และสะท้อนความเชื่อของคนไทยได้ในช่วงเวลาหนึ่ง”

เพราะวัดคือศูนย์รวมของวิทยาการทุกอย่าง และการเปลี่ยนผ่านของวัดในแง่สถานะการใช้งานก็ค่อนข้างชัดเจน จากวันที่เป็นศูนย์รวมความรู้ เป็นโรงเรียน สู่วันที่วัดถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แม้จุดประสงค์ในการคงอยู่เปลี่ยนแปลงไป แต่วัดยังเก็บรวบรวมศิลปะรวมทั้งงานช่างต่างๆ ไว้ได้อย่างครบถ้วน ภาพประวัติศาสตร์การใช้ชีวิตยังคงฉายชัดในวัด จิตรกรรมฝาผนังยังคงบันทึกเรื่องราวของผู้คนในช่วงเวลาที่ผ่านมา แม้คนไทยในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะแกนเมืองแบบชาวเรา จะมองว่าศาสนสถานเป็นเรื่องของคนที่ชอบทำบุญ แต่ผู้คนในต่างจังหวัดยังคงใช้ชีวิตแบบผูกกับวัด ซึ่งก็ไม่ต่างจากคนเมืองที่ชีวิตผูกกับห้าง เมื่อพูดมาถึงตรงนี้คำว่า ‘วัด’ จึงไม่ได้หมายถึงแค่ ‘สถานที่’ แต่รวมไปถึง ‘ผู้คน’ โดยรอบ เพราะต่อให้วัดนั้นเคยรุ่งโรจน์หรือสั่งสมประวัติศาสตร์มามากเพียงใด แต่หากไร้ซึ่งผู้คนคอยจุนเจือ ท้ายที่สุด พระและทุกชีวิตในวัดก็จะหายไป จนกลายเป็นเพียงซากแห้งๆ รกร้างไปในที่สุด  

“ไม่มีอะไรเหมือนเดิมหรอก ความสำคัญของสถานที่มันเปลี่ยนไปตามโลก ศาสนาเองก็เหมือนกัน ถ้ามันยังแช่แข็งตัวเองอยู่กับที่มันจะตาย เหมือนศาสนามากมายในอดีตที่ล้มหายตายจากไป โดยที่เราไม่เคยรู้จักชื่อด้วยซ้ำ แต่อย่างที่บอกไปแหละ มันคือแหล่งรวบรวมวิทยาการ คุณเจอช่างทุกอย่างได้ในนั้น มันสะท้อนประวัติศาสตร์ไปจนถึงวิถีชีวิต เห็นได้ชัดสุดก็คือวัดแต่ละภาคที่ไม่เหมือนกัน เพราะวิถีชีวิตคนกับสิ่งแวดล้อมมันไม่เหมือนกันนั่นแหละ” 

เพราะศาสนสถานไทยไม่ได้มีแค่คำว่า ‘ไทยประเพณี’ ที่เราคุ้นชิน และไม่ได้มีแค่ ‘วัดหลวง’ อย่างที่เราเห็นกันได้ทั่วไปในเมืองใหญ่ แต่ยังมี ‘วัดราษฎร์’ อีกมากมายเร้นกายแฝงตัวอยู่ตามจุดต่างๆ รอให้ทุกคนได้ไปค้นพบ แต่ไม่ว่าจะเป็นวัดแบบใด ทุกที่ล้วนมีจุดเด่นซึ่งผนวกเอาแนวคิดอันชาญฉลาดของผู้คนโดยรอบมาประยุกต์ก่อสร้างให้เหมาะสมที่สุดอย่างที่ปัจจุบันยากจะทำได้ ซึ่งหากจะแยกเอาแบบง่ายๆ แยกตามภาคก็ดูจะเหมาะสมที่สุด 

“ภาคกลางไม่มีจุดเด่นนะ เพราะภาคกลางเหมือนเป็นเบ้า เหมือนเบ้าที่รวมทุกอย่างเอาไว้ด้วยกัน โอเคแหละเรามีงานมาตรฐานที่เรียกว่าไทยประเพณี มันอาจจะต่างกันตรงหน้าบันได้ เป็นจีนได้ แต่สุดท้ายสัดส่วนมันก็มาตรฐานอยู่ดี 

แต่ทางเหนือวิหารจะเด่น ถ้าเป็นงานรุ่นเก่า ทางเหนือชอบทำวิหารโถง มีฝาย้อยที่เป็นฝาไม้ห้อยลงมา แล้วทางเหนือจะไม่มีฝ้า ชอบโชว์เครื่องไม้ด้านบน 

ทางอีสาน ด้วยความที่ได้รับอิทธิพลจากภาคกลางไปเยอะ มันก็จะเหมือนภาคกลาง ถ้าจะน่าสนใจจริงๆ ก็คงจะเป็นวัดราษฎร์ที่ชาวบ้านทำมากกว่า โดยเฉพาะช่วงที่ติดกับลาว ญวน มันก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า “สิมญวน” เป็นงานที่เอาช่างซึ่งภาษาถิ่นเรียกว่าช่างแกวมาสร้าง

ภาคตะวันออกไม่ต้องพูด มันเหมือนภาคกลางเปี๊ยบเลยเพราะพื้นที่มันติดกัน แต่ภาคใต้เนี่ย ถ้าเป็นจังหวัดใหญ่ๆ งานจะเหมือนภาคกลาง แต่ถ้าเป็นวัดราษฎร์ วัดชาวบ้านจะหลุดโลกไปเลย ถ้าเราอยากได้อะไรแปลกๆ ทางใต้จะมีอาคารทรงพิลึกๆ ให้ดูเยอะมาก คือมันสวยนะถึงบางอันจะดูเหมือนจืดแต่มันรวมกันแล้วออกมาสวย แต่ยังไงก็ตามความงามเป็นเรื่องของปัจเจก ถ้าไปถาม 10 คน อาจจะตอบไม่เหมือนกันเลยก็ได้” 

“อธิบายได้ขนาดนี้ แสดงว่าต้องมีวัดที่ชอบสิคะ ขอสัก 5 ที่ได้มั้ย”

“เนี่ยเป็นคำถามที่ชอบโดนคนถาม แล้วเราก็จะตอบไม่ค่อยได้ คือเราอยากไปแต่คนอื่นอยากไปกับเรามั้ยเนี่ยสิ (หัวเราะ)” 

เริ่มต้นกันที่แรกจากการคัดเลือกอย่างพิถีพิถัน พี่ต้าขอเสนอวัดใกล้ๆ ไปง่ายๆ แถมเป็นวัดโปรดส่วนตัวอย่าง วัดสุวรรณาราม – กรุงเทพ ด้วยสถาปัตยกรรมที่สวย ภูมิทัศน์งาม และการจัดสรรพื้นที่ในกำแพงแก้วที่ค่อนข้างดี แต่ยังไม่หมดเท่านั้น ความพิเศษของวัดสุวรรณารามอีกอย่างที่หาไม่ได้จากที่อื่นเลยคือ ‘การวิ่งม้า’ เป็นพิธีการแก้บนแบบทำท่าเหมือนม้าแล้ววิ่งรอบโบสถ์ ซึ่งที่เป็นวิธีเฉพาะในวัดนี้เท่านั้น เรียกว่านอกจากจะได้ไปสัมผัสสถาปัตยกรรมสวยๆ แล้ว อาจจะแจ็คพ็อตได้เจอการแก้บนแบบนี้กับตัวตอนไปชมแบบที่พี่ต้าเจอก็เป็นได้ 

“เคยแจ็คพ็อตเจอกับตัวนะ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว แต่เมื่อก่อนยังมีอยู่บ้าง เพราะเมื่อก่อนคนจะมาบนกับหลวงพ่อศาสดาเยอะ ขอให้ไม่ติดทหาร ขอนู่นนี่ แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่วิ่งเองแล้ว จ้างเด็กในชุมชนวิ่ง ประทานโทษ นึกภาพผู้ใหญ่อายุสัก 30 มาวิ่งอะ มันก็แย่อยู่นะ (หัวเราะ)”

วัดที่สองคือวัดเด่นจากทางภาคใต้ เมื่อสักครู่พี่ต้าได้แจกแจงความแปลกของวิหารและโบสถ์ของทางภาคใต้พอให้เราได้รู้คร่าวๆ และวัดคูเต่า – จังหวัดสงขลา ก็คือหนึ่งในความแปลกนั้น บนความเป็นวัดพื้นบ้านที่ถูกสร้างกันเองโดยชาวบ้าน อันที่จริงสถาปัตยกรรมนั้นไม่ใช่จุดเด่นพอให้ดึงดูดเท่าใด แต่ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในต่างหากที่ถือเป็นของล้ำค่า เพราะภาพของที่นี่ใช้ตัวละครแบบหนังตะลุงมาถ่ายทอดเรื่องราวทำให้มีทั้งความแปลกใหม่ และกลิ่นของวิถีชีวิตคนภาคใต้สอดแทรกไว้เต็มเปี่ยม เป็นสิ่งที่ทั้งสวย ทั้งแปลกตา แถมยังเน้นอีกด้วยว่าวัดคือสถานที่ซึ่งรวบรวมประวัติศาสตร์และความเชื่อของคน ณ ช่วงเวลาหนึ่งไว้ได้ดีที่สุด

“อันต่อมาคือเขาวงพระจันทร์ – จังหวัดลพบุรี เอาจริงๆ มันก็เป็นวัดแหละ แต่เราเรียกสิ่งๆ นี้จริงๆ ว่า pilgrimage site ก็คือไซต์แสวงบุญ” 

ปัจจุบันมีพุทธศาสนิกชนมากมาย เริ่มเดินทางตามรอยเส้นทางแสวงบุญเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งสถานที่ปกติที่เราคุ้นเคยกันและได้ยินชื่อเสียงมานานคือ เขาคิชฌกูฏ – จังหวัดจันทบุรี แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้เขาคิชฌกูฏมีความยุ่งยาก เรื่องมากหลายต่อ อีกทั้งในแง่ระดับความสูง เขาวงพระจันทร์ยังใช้เวลาในการขึ้นน้อยกว่าหลายเท่าตัว จึงไม่แปลกที่ทุกคนจะหันหน้าเข้าหาไซต์แสวงบุญแห่งนี้มากขึ้น 

“มันเตี้ยน่ะ ใช้เวลาสักชั่วโมงชั่วโมงครึ่งก็ถึงข้างบนแล้ว” 

“ชั่วโมงครึ่งเหรอ แล้วเขาคิชฌกูฏนี่เท่าไหร่”

“คิชฌกูฏพี่ไม่เคยขึ้น แต่เชื่อเถอะสุมณกูฏ สูงกว่านี้เยอะ”

ด้วยระยะทางหลายพันขั้น บวกกับการเป็นที่สุดของเส้นทางแสวงบุญสำหรับพุทธในเมืองไทย แม้ขึ้นไปไม่เห็นวิวใดๆ มากนัก แต่สิ่งที่คุ้มค่าคือการได้เห็น Shadow of Adam’s Peak ในวินาทีที่พระอาทิตย์สาดแสงผ่านยอดเขา แล้วสะท้อนให้เห็นเงาสามเหลี่ยมด้านหลัง พี่ต้าบอกว่าเป็นทั้งภาพที่น่าประทับใจและสร้างความสวยงามอย่างที่เขาเองก็อยากจะกลับไปเห็นด้วยตาอีกสักครั้ง 

“เขาๆ เนี่ยภาคเหนือก็สวยนะ พี่ชอบพระธาตุลำปางหลวง – จังหวัดลำปาง ขับขึ้นเหนือยังไงก็ผ่าน ลานทรายด้านหน้าคือคิดมาแล้วทั้งนั้นแหละว่าคนเดินถอดดรองเท้าแล้วจะไม่ร้อน ส่วนที่สุดท้ายคือวัดราชโอรสาราม – สนามไชย ผังแบบฮวงจุ้ยจีนที่มองยังไงก็สวยแปลกตา ไม่ต่างจากวัดราชประวัดราชประดิษฐ์ – พระนคร เลย ร.3 ร.4 ความรู้ค่อนข้างเยอะก็เลยเลือกเอาที่ตัวเองชอบมาปรับใช้แบบนี้ สวยดี ควรค่าแก่การไปดู” 

หากคุณลองเปิดภาพตามสักหน่อย คุณจะพบว่าสถาปัตยกรรมของวัดทั้งหมดที่พี่ต้าได้กล่าวมานั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะวัดในภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาคกลาง ทั้งนี้พี่ต้ายังเน้นย้ำเสมอว่าวัดที่ดีคือวัดที่สร้างโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและอากาศโดยรอบอย่างที่สุด เช่น การปรากฎของสิ่งที่เรียกว่า ‘โบสถ์น้ำเค็ม’ เป็นลักษณะสร้างจากไม้ที่ทนความเค็มสูง โดยเฉพาะพื้นที่ติดทะเล เมื่อลมพัดเอาเกลือเข้ามาสู่ชายฝั่ง หากเป็นโบสถ์ปูนก็จะโดนเกลือกัดเซาะ ทำให้ยุ่ยและพังลงไปในที่สุด ซึ่งหลักการคิดพื้นฐานเหล่านี้มีมามากกว่า 40 ปี ตลอดช่วงระยะเวลาที่พี่ต้าศึกษา แต่น่าเสียดายที่ ณ ปัจจุบัน คนชอบของใหม่มากกว่าการซ่อมของเก่า ชมชอบการรื้อถอนมากกว่าการคงอยู่ ทำให้วิวัฒนาการทางแนวคิดเหล่านี้ ค่อยๆ เลือนหายไปอย่างน่าเสียดาย 

“นอกจากแนวคิดเรื่องพวกนี้ที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านน่ะ การใช้สีอะไรพวกนี้เขาก็คิดมานะ อะมองออกไปสิ ทำไมกระเบื้องหลังคาต้องใช้สีสดๆ เยอะๆ มันเป็นแค่สิ่งที่สวยน่ะ ไม่ได้กวนตีน อะอย่างตรงนั้นไล่สีไป เขียว แดง ส้ม อันนี้เป็นแดง ส้ม น้ำเงิน ที่ไล่สีมาแบบนี้มันเป็นเรื่องของความสวย ไม่ได้มีความหมายในเรื่องของความแตกต่าง โอเคแหละ ถ้าเป็นวัดราษฎร์ บางทีจะปูสีเดียว โดยเฉพาะวัดที่มีสตางค์ because of money นะฮะ (ร้องเพลง) สุดท้ายโลกนี้ก็หมุนด้วยเงิน ของมันมีอยู่ไม่ได้ถ้าคุณไม่ไปจ้างเขาทำ 

ย้อนกลับไปสมัยเรียนบางคนอาจจะโดนสอนมาว่าวัดแบบนี้ต้องใช้สีนี้ เกี่ยวข้องกับยศเข้ามาด้วย แต่พอดูงานไปเยอะๆ บางอันมันใช้แบบนั้นไม่ได้หรอก โดยเฉพาะวัดที่สร้างขึ้นมาในช่วงหลังคือเขาไม่ต้องแคร์สี เขาจะหยิบสีไหนก็ได้ ดังนั้นทฤษฎีสีกับฐานันดรเนี่ยใช้ได้เฉพาะงานคลาสสิก ที่ยังเป็นงานในยุคคลาสสิก ถ้ามีการซ่อมบูรณะในระยะไม่เกิน 20 ปีเมื่อไหร่ เราก็ยึดแบบเดิมไม่ได้แล้ว สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เนี่ย มันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดนั่นแหละ แถมทุกอย่างมันก็มีข้อยกเว้น ดังนั้นมันไม่มีกฎไหนในโลกหรอกที่ใช้อันเดียวครอบจักรวาลได้หรอก” 

พุทธพาณิชย์ 

เมื่อพูดถึงเรื่องวัดวาอาราม แล้วจะเลี่ยงไม่พูดถึงการทำบุญโดยใช้ปัจจัยก็คงเหมือนการปิดตาข้างเดียวไปหน่อย เพราะนับตั้งแต่วินาทีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพุทธศักราช 2475 เหล่าประชาชนคนชั้นกลางทั้งหลาย มีความพยายามถีบส่งตัวเองขึ้นมาอยู่ในสถานะที่สูงขึ้น เริ่มหยิบจับสิ่งที่ชนชั้นเจ้านาย ชนชั้นสูงเคยทำกลับมาใช้ นับตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างการแต่งกาย ไปจนถึงการใช้พรมแดงเพื่อแสดงความสำคัญ ขณะที่เมื่อก่อนพรมแดงถูกสงวนไว้เพื่อคนในราชวงศ์เท่านั้น แต่ปัจจุบันข้อจำกัดเหล่านั้นค่อยๆ หายไป กลายเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก 

กลับมาที่ศาสนา เมื่อแนวคิดแบบชนชั้นเจ้านายค่อยๆ แพร่ซึมไปทุกหัวระแหง ความเชื่อว่า ‘สร้างพระได้บุญน้อยกว่าการสร้างโบสถ์ การสร้างเจดีย์สำคัญน้อยกว่าวัด’ ก็เริ่มคืบคลานเหมือนเงาตามตัวกลายเป็นความเชื่อแบบทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย ซึ่งพบเห็นแนวคิดความเชื่อดังกล่าวได้ที่ธรรมกาย แต่หากเรามองย้อนกลับไปที่หลักคำสอนของศาสนา พี่ต้าบอกว่าขณะบวชเรียนในช่วงระยะเวลาสั้นๆ (ซึ่งไม่ได้ช่วยให้จิตใจสูงส่งขึ้นแต่อย่างใด) สิ่งที่ได้เรียนรู้มาในเรื่องนี้คือการทำบุญที่สำคัญไม่ใช่จำนวนปัจจัย แต่อยู่ที่ ‘การน้อมจิตเข้าหาบุญ’ ต่อให้คุณทำบุญด้วยปัจจัยน้อยนิด แต่หากจิตของคุณตั้งมั่นมากพอ ผลบุญก็สามารถไปหลักใหญ่ๆ ได้ไม่ต่างจากคนอื่น

“คือมันมีได้แหละนะ แต่ไม่ควรเยอะ อะแต่ทำยังไงได้ เราดันอยู่ในยุคที่ทุกอย่างเป็นเงินเป็นทอง ค่าน้ำค่าไฟพระวัดต้องจ่าย เพราะฉะนั้นวัดจำเป็นต้องหาวิธีการหาเงินเข้าวัด แต่ไม่ใช่สักแต่หาเงิน ไม่ใช่คุณจะตั้งตู้บริจาคแม่งทั้งวัด 30 – 40 ตู้ คือมันต้องมีขอบเขต จะให้เช่าพระ จะเรี่ยไรบุญ ทำกฐิน อันนี้ได้ไม่มีปัญหา เพราะวัดต้องซ่อม เรื่องนี้ต้องลากยาวไปถึงพระเดี๋ยวนี้ด้วยนะ คือทุกวันนี้พออะไรแบบนี้มันมากขึ้น เราเห็นพระส่วนหนึ่งเปลี่ยนไป เราเห็นข่าวพระแย่ๆ ทุกวัน ใช่แหละเรื่องมั่วสีกาอะไรแบบนี้มันมีมาตั้งแต่อดีตแล้ว แต่ ณ ขณะนั้นจนถึงวันที่พี่บวชมันยังไม่แย่ขนาดนี้ ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว”

“งั้นแสดงว่ายิ่งสนใจศาสนามาก อยากได้บุญก็จะยิ่งสนใจศาสนสถานสิ”

“ไม่ได้หรอก เพราะเรามองวัดเป็นสถานที่ เพราะงั้นวัดในศาสนาไหนก็เป็นวัดเหมือนกัน วัดมีอะไรมากกว่าแค่เรื่องของศาสนาและการเป็นพุทธพาณิชย์ วัดให้ความรู้มากกว่าที่ใครจะจินตนาการได้แต่ก็บนพื้นฐานความรู้ของผู้ศึกษา ถ้าศึกษามากก็รู้มาก ศึกษาน้อยก็รู้น้อย ไม่มีข้อไหนมากำหนดว่าเราเป็นชาวพุทธแล้วต้องเข้าวัดอย่างเดียว ใช่แหละตอนเด็กกว่านี้มันอาจจะดูสนิทใจมากกว่าในความรู้สึก แต่ถ้าเราโตขึ้นไม่ว่าจะโบสถ์ มัสยิด หรืออะไรก็ไม่ต่างกัน”

เป็นคำถามยอดฮิตของคนนอกที่มักมองภาพสะท้อนของคนเรียนศิลปะและสถาปัตยกรรมอันเกี่ยวข้องกับศาสนา ว่าคนเหล่านั้นมักมีความสนใจในพุทธศาสนามากกว่าคนอื่น ‘ต้องชอบเข้าวัด’ จึงกลายเป็นการปักป้ายให้กับบุคคลเหล่านี้ตลอดมา ทั้งที่ความจริงการศึกษาสถาปัตยกรรมไทยก็ไม่ต่างจากการมองแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบสัก พี่ต้าเล่าว่าจริงๆ จุดนี้แทบไม่แตกต่างจากความเชื่อในแง่พุทธพาณิชย์เลย เพราะมันง่ายกว่ามากที่จะตัดสินคนจากสิ่งที่เห็นและทำตามกันไปเรื่อยๆ โดยไม่ตั้งคำถาม ซึ่งสิ่งนี้มันลากยาวมาถึงงานออกแบบโบสถ์วิหารของวัดใหม่ๆ ในปัจจุบัน ที่ไม่พยายามทำความเข้าใจแนวคิดการออกแบบ ไม่เข้าใจสัดส่วนใดๆ เน้นเม็ดเงินและสิ่งที่คิดว่าสวย มากกว่าสิ่งที่ควรจะเป็น ซึ่งพอเล่ามาถึงตรงนี้ พี่ต้าก็วิจารณ์ความต้องการของคนสมัยนี้ออกมาอย่างเผ็ดร้อนพอสมควร

“ศิลปะมันควรจะงอกเงยในทางที่ดีกว่านี้ ไม่ใช่สักแต่ผสม สักแต่หยิบ สักแต่ลอก สักแต่เอามาสร้าง ไม่มองเลยว่าวัดคุณมีอะไร วัดคุณเล็กนิดเดียวพ่อล่อโบสถ์หลังเบ้อเร่อ บางทีมันเหมือนเอาเงินไปละลายทิ้ง เรื่องนี้บ่นได้อีกยาว โบสถ์หลังใหญ่มากพระประธานองค์นิดเดียว ลอยอยู่กลางอากาศเลย พอเราวิจารณ์ก็โดนพูดแบบ น้องดูไม่เป็น โอยอยากพูดกลับไปว่าพี่ดูไม่พอ (หัวเราะ) ไปดูงานร.4 สิ พระองค์เล็กขึ้นเลยมณฑปเลย สวย แกรนด์ วิธีการมีเยอะแยะ คุณไม่เรียนรู้ แล้วเดี๋ยวนี้ชอบพื้นหลังสีพาสเทลกันจังเลย แล้วพระประธานสีทองเจอพื้นหลังสีขาว ก็ลอยขึ้นไปกลางอากาศ คือไม่คิดหน่อยเหรอ ไม่ฉุกใจสักนิดรึไงว่าทำไมเขาถึงชอบทาสีแดงกัน สีแดงคือสีของสวรรค์ โบราณว่าไว้ ทาเข้าไปเถอะ ทาให้แดงปลั่ง ให้พุ่งไว้ ไม่งั้นไปดูร้านทองดิ เข้าใจใช่มั้ยว่าทำไมร้านทองต้องปูกำมะหยี่สีแดง เพราะกำมะหยี่สีแดงขับสีทองมากที่สุด ดังนั้นถ้าพระจะสวยก็ลงรักแดง ไม่ใช่รักดำ แต่ไม่มีใครเข้าใจ แล้วบอกว่าน้องดูไม่เป็น น้องยังเด็กอยู่ เฮ้อ เอาจริงๆ อย่าใช้ว่าเป็นสิ่งที่ควรรู้เลย ใช้คำว่าเป็นสุนทรียะที่ควรจะเป็นดีกว่า นั่นแหละแต่เพราะทุกอย่างมันคือรสนิยม ในทางตะวันตกเนี่ย เขายังหาวิธีสอนกันได้ แต่เรายังหาวิธีสอนกันในส่วนศิลปะตะวันออกไม่ได้”   

คำว่ารสนิยมสอนกันไม่ได้ แต่ก็แค่กับฝั่งตะวันออกเท่านั้น ภาพตัดไปที่ฝั่งตะวันตก เพราะสถาปัตยกรรมตะวันตกถูกสร้างบนกรอบของสุนทรียะที่ตีความได้ อาคารที่ออกมาจึงอยู่บนพื้นฐานของความสวยงามและความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นการก่อสร้างสถาปัตยกรรมตะวันตกจึงมีทั้งแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์และสรีระการออกแบบที่สัมผัสกับความรู้สึก ในขณะที่โบสถ์สูงชะลูดก็มีการใช้กระจกเต็มบาน เต็มความสูงเพื่อลดสภาวะชะลูดนี้ลง การสร้างชั้นลอยเพื่อให้ภายในอาคารมีพื้นที่มากขึ้น และดูเตี้ยลง สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ถูกสอนมาในหลักของศิลปกรรม แต่ไม่เคยได้พบเห็นการอธิบายในห้องเรียน อย่างน้อยก็ห้องเรียนโบราณคดี 

การที่ประเทศไทยเลือกการสอนด้วยวิชาการและวิทยาศาสตร์ โดยไม่สอนให้ผู้เรียนมีมุมมองต่อโลกที่เปิดกว้าง เป็นเหมือนปัญหาเรื้อรังและข้อด้อยของการเรียนการศึกษาศิลปะในไทยมายาวนาน พี่ต้าเล่าว่าทุกอย่างมีมาตรฐานที่ทุกคนต้องไปแตะ และหากในอนาคตข้างหน้า (อันใกล้) ไทยยังไม่สามารถพัฒนาให้ทิศทางการเรียนศิลปะถูกต้องเหมาะสม ทุกอย่างอาจจะค่อยๆ พังทลายลง และท้ายที่สุดงานทั้งหมดจะไม่ได้อยู่บนความเหมาะสม หากอยู่บนความต้องการเพียงอย่างเดียว 

“นึกภาพถ้ามีคนชอบวัดร่องขุ่นเยอะๆ เราก็จะได้วัดร่องขุ่นที่ 2 ที่ 3 ตามมา ถ้าคุณชอบหลังคาทรงจตุรมุขแบบวัดราชบูรณะ – สะพานพุทธ กับอีกแบบคือทรงวัดราชาธิวาสวิหาร คุณก็จะเจองานบางที่พยายามทำให้เหมือน โดยไม่ดูบริบทรอบข้างหรือดูความเหมาะสมของสิ่งที่ควรจะเป็น แต่ถึงจะพูดมาทั้งหมดนี่ เราก็ยังยืนยันนะว่า เทสต์เป็นเรื่องของปัจเจก คุณไม่สามารถทำให้ทุกคนคิดเหมือนกันได้ อย่างเราๆ ที่เรียนกันมา เรามักจะถูกสอนว่าศิลปะสุโขทัยสวยที่สุด แต่พี่เนี่ย เถียงขาดใจเลย ว่าศิลปะช่วง ร.3 สวยกว่า แต่มันคือในมุมมองของพี่นะ แต่บางคนอาจจะชอบแบบ พระอยุธยาหน้าแข็งๆ เข้มๆ ก็ได้ สุดท้ายแล้วนี่คือสิ่งที่แม้แต่ตะวันตกก็ยังทำไม่ได้”

อนุรักษ์ อนุรักษ์ อนุรักษ์ 

หนึ่งในประเด็นที่เหมือนหัวใจหลักในการสนทนาครั้งนี้ ขณะนั่งคุยกันในหัวข้อการอนุรักษ์ พี่ต้าเริ่มเปิดประเด็นด้วยการชี้ชวนทีมงานทุกคนให้มองไปรอบๆ วัดโพธิ์ ซึ่งเต็มไปด้วยนั่งร้าน สแลน และอุปกรณ์ก่อสร้างมากมาย ก่อนจะพูดออกมาว่าพอเป็นวัดนี้ที่คนบูรณะมีเงินและมีความรู้ เราก็คาดหวังกับความสำเร็จของงานอย่างที่ควรจะเป็นได้ แต่น่าเสียดายที่ความคาดหวังเหล่านั้นในโลกทุนนิยมปัจจุบันหาได้ยากยิ่งเต็มที

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกอย่างหมุนด้วยเงิน พุทธพาณิยช์ในหัวข้อเมื่อครู่เป็นเครื่องมือพิสูจน์แบบลายลักษณ์อักษรของค่าใช้จ่ายที่วัดต้องแบกรับ งานบูรณะและซ่อมแซมเองก็เช่นกัน เมื่อการอนุรักษ์ไม่ใช่การใช้ช่างที่ดีที่สุด แต่เป็นการใช้ช่างที่ประมูลงานออกมาได้ดีที่สุดต่างหาก ปัญหาที่ตามมาจากช่างปัจจุบันจึงมีตั้งแต่การยึดวิธีตามครูที่เรียน ไม่ได้ยึดตามของเดิม ไปจนถึงการซ่อมงานแล้วเพี้ยน จนสุดท้ายทุบทำลายและเปลี่ยนเป็นของใหม่ในที่สุด ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือปัญหาที่เรื้อรังมานาน และไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นแต่อย่างใด 

“ยกตัวอย่างใครสักคนที่ทำงานอนุรักษ์ได้ดี คนนั้นคืออาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ แกทำศิลปะสมัยใหม่ก็จริง แต่พอถึงวันที่ต้องอนุรักษ์ แกสามารถดีดตัวเองกลับไปทำงานอนุรักษ์ได้ แบบวันดีคืนดีอยากซ่อมวัด แกก็ไปนั่งทำให้มันเหมือนของเดิม ไปใช้เวลาฝึก จนถึงจุดที่แกมั่นใจว่าแกสามารถซ่อมได้ แล้วแกก็เริ่มซ่อม เพราะฉะนั้นงานที่แกซ่อมเอง ยกตัวอย่าง หอไตรวัดระฆังจึงออกมาดูคล้ายของเดิมมาก ดูไม่มีอะไรแตกต่าง”

ความเพี้ยนในการบูรณะเกิดขึ้นกับช่างทุกประเภท ซึ่งมีปริมาณสวนทางกับจำนวนช่างฝีมือที่ลดลงอย่างน่าใจหายในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่างเขียนที่มีความเพี้ยนในการซ่อมแซมสูงมาก แถมแก้ไม่ได้อีกต่างหาก แต่ทั้งหมดทั้งมวลหากต้องย้อนกลับไปที่ต้นตอของปัญหาทุกอย่าง พี่ต้ายังคงชี้ไปที่จุดเดียวและเป็นจุดที่สำคัญที่สุดนั่นคือ ‘การสนับสนุนจากส่วนกลาง’ อาจเพราะไทยไม่ได้มองว่าเรื่องนี้กำลังเป็นปัญหาหรือเป็นเรื่องใหญ่ รัฐจึงไม่เคยเหลียวแล และหาทางช่วยให้ช่างฝีมือได้รับการสืบต่ออย่างถูกต้อง พอรัฐไม่ป้อนงานต่อเนื่อง เงินที่สะพัดในงานเหล่านี้ก็หายไป ไม่พอให้ช่างดำรงอาชีพเพื่อจุนเจือตัวเองได้ เป็นเหตุให้คนรุ่นใหม่ในตระกูลช่างไม่สืบต่องาน เพราะไม่เห็นช่องทางทำเงิน จนท้ายที่สุดสกุลช่างก็ต้องล้มหายตายจากไป

“เราไม่มีระบบสืบช่างแบบอินเดียและญี่ปุ่น เขาเป็นสองประเทศที่ทำเรื่องนี้ได้ดีมากๆ เลยนะ เพราะเขามีงานมารองรับตลอด รัฐบาลเขามองว่าสิ่งนี้คือสิ่งสำคัญ คือสิ่งที่ทำเงิน

หรือการซ่อมในตะวันตกเองก็มีระบบโรงเรียนสอนอย่างจริงจัง ดังนั้นงานอนุรักษ์ของเขาจึงมีจุดมุ่งหมายคือการทำเพื่อให้เหมือนของเดิม ในขณะที่การบูรณะแบบตะวันออกคือการทำให้สมบูรณ์ การทำให้สมบูรณ์คือการทำให้เต็ม ดังนั้นเราไม่สามารถตอบได้ว่ามันจะออกมาเป็นยังไง ขอให้มันครบก็พอ ต่อให้หน้าตามันไม่เหมือนเดิม ก็คือให้มันเสร็จไว้ก่อน งานห่วยไม่ห่วยไม่รู้ แต่ซ่อมไปแล้ว บางทีก็เลยตามเลย เพราะทำอะไรไม่ได้ แล้วพอช่างน้อย จำนวนงานที่ซ่อมได้ต่อปีมันก็น้อยลง ซึ่งในอนาคตถ้าเรายังไม่ผลิตช่างฝีมือที่ทำงานแบบมาตรฐานออกมา มันก็จะขาดแคลนและหายไปในที่สุด”

“ฟังดูแย่มากๆ งั้นถามว่าแล้วประโยคว่าถ้าการเมืองดี ศิลปะจะดี อันนี้คิดว่าจริงมั้ย”

“ต้องถามว่าคุณตีค่าคำว่าการเมืองดีไว้ยังไง การเมืองที่สงบ การเมืองที่ทุกคนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหรอหรือยังไง เพราะ การที่การเมืองมันดี ไม่ได้แปลว่าศิลปะมันจะดีด้วยนะ แต่ในทางกลับกัน ต่อให้การเมืองมันไม่ดีศิลปะก็ดีได้ถ้าศิลปะมันถูกสนับสนุนมากพอ”

อย่างที่กล่าวไปในย่อหน้าที่แล้วๆ มา ว่าการลดลงของช่างและมาตรฐานขึ้นตรงกับจำนวนเงินสะพัดที่หน่วยงานรัฐหรือใครก็ตามสนับสนุน พี่ต้ายังคงยืนยันว่าแม้การเมืองเราจะดีกว่านี้ แต่หากพื้นที่ในการแสดงออกทางศิลปะของเรายังถูกริดรอนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังที่เห็นจากข่าวหอศิลป์ BACC ที่มีนายทุนยึดคืนพื้นที่ทุกปี ท้ายที่สุดเราจะไม่เหลือพื้นที่เพื่อการแสดงงานศิลปะเลย เราจะเหลือเพียงหอศิลป์ตามมหาวิทยาลัยหรือคาเฟ่เล็กๆ เร้นตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพรอให้คนมีความพยายามมากพอไปเสาะหาเท่านั้น ดังน้ันพี่ต้าจึงยืนยันอย่างหนักแน่นกับพวกเราว่า ประโยคดังกล่าวเป็นเพียงการปลอบประโลมที่นักการเมืองใช้เพื่อกล่อมเกลาเหล่าศิลปินน้อยใหญ่ที่มีความฝันมากกว่า เพราะหากไม่ได้รับการสนับสนุนหรือไม่เห็นค่า ความฝันก็ยังคงเป็นเพียงความฝันอยู่วันยังค่ำ  

ดังนั้นการแก้ปัญหาเพื่อให้ศิลปะและการอนุรักษ์ดำรงต่อไปอย่างยั่งยืน พี่ต้ามองว่าทั้งหมดเลยต้องแก้ที่ ‘คน’ แม้วางระบบมาดีมีงานรองรับ แต่ท้ายที่สุด ศิลปะทุกประเภทถูกรังสรรค์โดยคนทั้งสิ้น การเพิ่มและเปลี่ยนความคิดผู้คนให้มองศิลปะและงานอนุรักษ์ไปในทิศทางเดียวกัน จึงเป็นโจทย์ใหญ่และเร่งด่วนกว่า ที่เราจะหาวิถีทางใดก็แล้วแต่ เพื่อดึงเอาช่างฝีมือเหล่านี้ กลับมาสืบต่องานซ่อมอย่างถูกต้อง 

“พี่เชื่อว่าเรามีศักยภาพที่จะทำให้เขากลับมาได้ แต่พี่เขื่อว่าเขาจะไม่กลับมา เพราะเดี๋ยวนี้ไทยต้องการงานที่ดีแต่ถูก ซึ่งระบบช่างแบบดั้งเดิมเราดีและถูกไม่ได้ คุณจ้างช่างแค่ 1 คาดหวังให้เขาทำ 10 ได้ยังไง เป็นไปไม่ได้ ยิ่งเดี๋ยวนี้มีกรอบเรื่องเวลาเข้ามาเป็นตัวกำหนดอีก สมัยก่อนไม่มีนะ เพราะเขาทำบนความเข้าใจ ไม่อย่างนั้น มหาวิหารน็อทร์-ดาม ก็เสร็จได้เลยสิ เอาเงินฟาดลงไปเลย หาความสวยงามที่เหมือนเดิมก็คงไม่มี แต่ไทยเราไม่คิดเรื่องนี้หรอก”  

Journey of the Footprint

เรารู้จักชีวิต เห็นมุมมอง และสัมผัสปัญหาการอนุรักษ์ที่น่าเศร้า ผ่านการสนทนาของพี่ต้าตลอดระยะเวลาเกือบๆ 2 ชั่วโมงครึ่ง ประสบการณ์ทั้งหมดที่สั่งสมจากการเรียนรู้และการออกไปดูไปเห็นโลกกว้าง ถูกกลั่นกรองออกมาเป็นการมองจุดอ่อนอย่างเฉียบขาด และพยายามทำอะไรก็ตามเพื่อขับเคลื่อนให้ปัญหาเหล่านี้ได้รับการเหลียวแลแก้ไขในอนาคต นั่นคือความฝันอันยิ่งใหญ่ของพี่ต้า ที่หวังว่าสักวันหนึ่งในฐานะนักวิชาการ เขาจะทำให้วิชาการมันง่ายมากพอที่ใครก็ตามจะเข้าถึงได้ โดยไม่เข็ดขยาดกับภาษาเข้าใจยากตามแบบฉบับหนังสือวิชาการ (ซึ่งก็เหมือนว่าจะเริ่มต้นไปได้ประมาณหนึ่งแล้ว) อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของการเดินทางนั้นพี่ต้าเล่าว่า ยังมีเส้นทางและสถานที่อีกมากมายที่เขาอยากไปลองสัมผัส อยากไปเห็นด้วยตาตนเอง โดยเฉพาะเส้นทางแสวงบุญและพิพิธภัณฑ์ 

“ที่อยากไปจริงๆ น่าจะเป็น British Museum หรือไม่ก็ Musée Marmottan Monet ก็ได้ หรือจะเป็นมิวเซียมแบบ Louvre Museum ก็ได้ เพราะพี่อยากไปเห็นการจัดการ อยากเห็นการบริหาร เพราะตอนนี้เราสนใจมากกว่าแค่เรื่องของสถาปัตยกรรมและคนแล้ว เราสนใจไปถึงผลิตภัณฑ์ด้วย ส่วนอีกอันที่อยากไปคือเส้นทางแสวงบุญ ไม่ใช่เพราะอยากไปยกระดับจิตใจอะไรหรอกนะ แต่อยากไปดูให้รู้ให้เห็นมากกว่า”

พี่ต้ายกตัวอย่างเส้นทางแสวงบุญที่โด่งดังในเสปนอย่าง Santiago de Compostela โดยว่ากันว่า หากใครก็ตามมีความสามารถในการเดินไปบนเส้นทางนี้อย่างครบถ้วน คนผู้นั้นมีความเข้าใจเทียบเท่านักบวชท่านหนึ่งกันเลยทีเดียว หรือแม้แต่เส้นทางที่เคยทำสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้วอย่าง โสฬสมสถาน – ศรีลังกา ก็เป็นอีกเส้นทางที่พี่ต้ามานะอยากไปอีกสักครั้ง ไม่ใช่เพื่อยกระดับจิตใจ หรือเป็นชาวพุทธที่ดีขึ้น (หัวเราะดังมาก) แต่เพื่อการเข้าใจในเหตุผล ว่าทำไมคนโบราณถึงต้องใช้มานะ วิริยะ บากบั่น เพื่อไปให้ครบ ซึ่งหากเรามานั่งทำความเข้าใจ เราจะพบว่า pilgrimage route หรือเส้นทางแสวงบุญเหล่านี้ ถูกออกแบบมาเพื่อพิสูจน์ความศรัทธาของคนเดินทาง แม้ไปแล้วอาจไม่ได้อะไรกลับมาในแง่ของความเชื่อ แต่อย่างน้อย การได้ไปสัมผัสความรู้ ความคิด ที่คนหลายร้อยปีก่อนพยายามมากๆ ที่จะขึ้นไป นั่นคือความสำเร็จอย่างหนึ่งแล้วในชีวิต

“ตอนสุมณกูฏพี่ว่ามันก็สำเร็จไปอย่างนึงในชีวิตแล้วล่ะ แต่เส้นทางพวกนี้มันก็พิสูจน์ศรัทธาจริงๆ ไม่งั้นคนมากมายจะเดินทางไปที่ มักกะฮ์ ทุกปีทำไม พี่ไปเส้นทางพวกนี้มาประมาณนึงแล้วล่ะ แต่ก็ยังไม่หมด บางเส้นก็ซาดิสม์เกินไม่ไหว แบบเส้นทางในญี่ปุ่นที่เปิดให้เข้าชมทุก 50 ปี อะไรแบบนี้น่ะ สมัยก่อนมองเรื่องพวกนี้เป็นศิลปะเป็นความเชื่อหมดเลยนะ ตอนนี้มองเป็นเรื่องของคน ทุกอย่างมีคนอยู่ในนั้นเสมอ ดังนั้นถ้าเราศึกษาเยอะเราก็ได้เห็นวิถีชีวิตของคนมากขึ้นเท่านั้นเอง คำตอบอาจจะดูเป็นนักมนุษย์ไปหน่อย แต่สุดท้ายโบราณคดีก็คือการศึกษามนุษย์นั่นแหละ”

ท้ายที่สุดหากให้สรุปการเดินทางหาความรู้ของพี่ต้าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คงบอกได้ว่าชีวิตของเขาวนเวียนกับศาสนสถานเสมอ นับจากวันแรกที่รู้ตัวว่าชอบ จนถึงวันนี้ที่ยืดหยัดได้อย่างเต็มภาคภูมิว่าความรู้ทั้งหมดมาจากความพยายามและขวนขวายด้วยตัวเองทั้งสิ้น พี่ต้าเน้นย้ำเสมอว่าอย่ามองศาสนสถานให้เป็นเพียงสถานที่ทำพิธี แต่มองให้ลึกลงไปยังรากเหง้าทางความคิดของผู้คนมากมาย ที่เข้ามาร่วมฝากประวัติศาสตร์และชีวิตให้สถานที่แห่งนั้นยังมีลมหายใจ เรื่อยไปจนถึงการเห็นค่าของงานอนุรักษ์อย่างถูกต้องและควรทำ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนทุกคน จะมีแบ่งนิดหน่อยก็เพียงคนในวงการ และคนนอกวงการเท่านั้น

“สำหรับคนในพี่อยากให้เราโตขึ้น ในขณะที่โลกหมุนไปข้างหน้า เราได้รับความรู้ใหม่ๆ ทุกวัน แต่เรายังเลือกที่จะใช้วิธีการแบบเดิม สุดท้ายแล้วเราจะไม่ได้อะไรใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์ศิลป์ โบราณคดี สถาปัตย์หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราไม่ปรับเราจะไม่สร้างคนทำงาน ไม่เจอคนส่งสาส์น เราจะสร้างแต่นักวิชาการเท่านั้น ซึ่งถ้าเราไม่เจอคนที่จะส่งข้อมูลของเราออกไปหาคนนอก วิชาการและศิลปะจะเป็นเรื่องที่ถูกยกไว้บนวิมานตลอดไป พวกเรามีหน้าที่ทำให้มันง่ายขึ้น ทำให้คนทั่วไปใช้เรา เข้าถึงเรา มันจะช้าแหละ แต่พี่หวังว่าสักวันหนึ่งเราจะทำได้ถ้าเราช่วยกัน” 

“ส่วนคนนอก พี่อยากให้คนทั่วไปอย่ามองว่าพวกเราเป็นวิชาการ เราเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งของสังคมที่ทำให้สังคมมันเดินไปได้ อยากให้คุณเข้าใจเรา อยากให้คุณรักเรา แล้วก็ช่วยสืบต่อเราหน่อย เพราะพี่เห็นมาตลอดว่ามันค่อยๆ ล่มสลายลงอย่างช้าๆ โดยที่คนส่วนใหญ่ในสังคมอาจจะไม่รู้เรื่องเลยก็ได้ ถ้าคุณไม่ช่วย ถ้าสังคมไม่ช่วยเรา เราจะตายแน่ๆ และเมื่อใดที่ศิลปะตายลง คนก็จะตายพี่เชื่อแบบนั้นนะ เพราะฉะนั้นช่วยเราหน่อยนะช่วยอนุรักษ์สักคนละไม้ละมือก็ดี อย่าเอะอะแต่จะซ่อมเลย มองของที่มีอยู่ให้มันอยู่ที่เดิมสิ ทำไมต่างชาติทำได้ เรามีตัวอย่างโบสถ์อายุกว่าพันปีมากมายในต่างประเทศ ทำไมเราไม่เคยทำแบบนั้นล่ะ ทำสิ แม้ว่าคุณจะเป็นคนธรรมดา เป็นพ่อค้า เป็นนักการเมือง เป็นผู้ปกครอง เป็นใครก็ตาม เราต้องการคุณทุกคนในการที่จะทำให้มันอยู่ต่อ ดังนั้น ช่วยเราหน่อยแล้วกัน” 

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า