fbpx

เต้-จักรพันธ์ ศรีวิชัย ผู้กำกับหนังสั้นรุ่นใหม่ที่ไปถึงสวิสเซอร์แลนด์ด้วยหนังสยองขวัญ

ย้อนกลับไปเมื่อ 10-20 ปีก่อน ภาพยนตร์สยองขวัญหรือที่เราเรียกกันว่า “หนังผี” จัดเป็นหมวดหมู่ของภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในสังคมไทย แต่ละปีก็จะมีหนังผีออกมาให้เราดู จนเวลาผ่านล่วงเลยไป เมื่อเทคโนโลยีเริ่มพัฒนาไปไกลมากขึ้นสวนทางกับความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณที่ได้เริ่มหายไปจากสังคมไทย หนังผีก็เริ่มหายไปจากสังคมไทยมากขึ้น

จนมีการเปิดตัวโปรเจ็กต์ร่วมทุนสร้างระหว่างเกาหลีและไทยในการสร้างภาพยนตร์ร่างทรง ที่ได้รับการพูดถึงกันอย่างเป็นวงกว้างนับตั้งแต่ปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์แรกออกมา รวมถึงความรู้สึกร่วมของผู้คนที่เห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีฉากหลังโดยใช้ความเป็นชนบทมาประกอบการเล่าเริ่อง จนทำให้กระแสหนังผีไทยเริ่มกลับมาพูดถึงอีกคนพร้อมกับตั้งคำถามว่า “ทำไมวงการหนังไทยถึงไม่มีหนังผีที่ดึงความเป็นชนบทออกมาเล่า”

เมื่อไล่รายชื่อผู้กำกับหนังผีในไทยจนไปสะดุดชื่อกับผู้กำกับหนังสั้นคนหนึ่ง ที่ใช้ความเป็นชนบทของไทยมาผนวกกับการเล่าเรื่องราวออกมาเป็นหนังสั้น แล้วพาหนังเหล่านั้นออกไปสู่สายตาชาวต่างชาติจนได้รับเชิญจากเทศกาล Locarno Film Festival ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ให้เข้าร่วม Workshop รวมถึงเอาภาพยนตร์ของตนเองไปร่วมฉายในโปรแกรม Open Doors Screenings Section ของเทศกาลในปี 2564 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

วันนี้เราเลยมานั่งคุยกับเต้-จักรพันธ์ ศรีวิชัย เพื่อนั่งคุยเรื่องผีและตัวตนของเขา

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

เราอยากให้คุณช่วยแนะนำภาพยนตร์ที่บ่งบอกความเป็นตัวคุณหน่อย

ถ้าเป็นหนังที่เราดูแล้วสื่อสารที่เป็นตัวเรามากที่สุดจะมีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ a Ghost Story เรื่องที่สองเป็นหนังเกาหลีมีชื่อเรื่องว่า Security Joint Area เรื่องนี้มันจะมีความเหมือนและต่างกันอยู่ ความเหมือนกันมันในด้านการเดินทางพุ่งเข้าไปในความทรงจำ อย่าง a Ghost Story เป็นเรื่องของผีที่ตายแล้วจะไปไหน นรก-สวรรค์ไม่มีอะไร แล้วก็จะวนเวียนอยู่ในนั้น ก็เจอทั้งความทรงจำที่เคยอยู่กับแฟนและความทรงจำใหม่ๆ ของคนใหม่ๆ ที่เข้ามาอยู่ในบ้าน จนท้ายที่สุดมันถึงจุด Climax ที่ได้ย้อนเวลากลับไปสู่ยุคเริ่มต้นของอเมริกา แล้วค่อยๆไต่มาเรื่อยๆ จนสุดท้ายหลุดพ้นจากความทรงจำพวกนั้น 

ส่วนเรื่องของ Security Joint Area ก็เป็นเรื่องของความทรงจำเหมือนกันแต่ว่า มันจะเป็นเรื่องของความทรงจำที่เป็นคนละมุมมองคล้าย Rashomon เล่าเรื่องคนละแบบ แต่สุดท้ายแล้วเราไม่รู้ว่าความจริงเป็นแบบไหนอะไรอย่างงี้ แต่มันต่างกันตรงที่ ฝั่งเกาหลีมันเป็นเรื่องดราม่าแบบทหารเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ แต่ฝั่ง a Ghost Story ก็ดราม่าเหมือนกันแต่มีผีแล้วก็เล่าความเป็นเรา ก็อันนี้แหละที่มันเล่าว่าเราเป็นแบบไหน เพราะว่าชอบเรื่องความทรงจำ เรามีความทรงจำเยอะมากๆ ตอนเป็นเด็กอะไรแบบนี้ มันมีทั้งดีแล้วก็ไม่ดี มันอบอุ่นที่ได้มีความทรงจำ ถ้าวันนึงเราลืมอะไรพวกนี้ไป เราคงแบบมันคงเศร้าแล้วก็น่าเสียดาย

หนังหลายๆ เรื่องของคุณเลยสร้างจากความทรงจำ

ถ้ามองตอนนี้ เราว่ามันเป็นเรื่องของความจำที่จำได้ ความทรงจำที่มันถูกบันทึกไว้ในรูปแบบของเรื่องราว การเล่าเรื่องผีของเราเป็นเรื่องราวเป็นความทรงจำของผีที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแล้วถูกกลับเอามาเล่าอีกที ตั้งแต่ Horror Radio ขึ้นมาเรื่อยๆแบบมันก็เกี่ยวกับเรื่องผี เกี่ยวกับความทรงจำ

ผลงานส่วนใหญ่ของคุณเป็นหนังผี แล้วตัวคุณเองชอบดูหนังผีหรือไม่

จริงๆ เราดูหนังผีไม่เยอะ ตอนเด็กๆ หนังที่เราดูบ่อยคือหนังแอ็คชั่นเพราะมันบันเทิงกว่า ส่วนความเป็นผี เราได้มาจากคนรอบข้างเราสมัยเด็ก ตั้งแต่ครอบครัวจนถึงเพื่อนตอนเด็ก แม่เราพ่อเรา ปู่ ย่า ตา ยาย ชอบเล่าเรืองผีให้ฟัง อย่างที่ภาคเหนือมันจะแบบเรื่องผี มันจะผูกติดชีวิตคน มันมีเรื่องราวลึกลับในป่า แล้วพอตอนเด็กๆ เราไปโรงเรียน พวกเพื่อนๆ เราชอบนั่งเล่าเรื่องผีกันแบบเด็กๆ มันก็มีความแฟนตาซีนู่นนี่นั่น บางทีก็ไม่ใช่เรื่องจริง นั่งล้อมวงแล้วก็มันแต่งเรื่องผีกัน เราก็เลยรู้สึกว่าคุ้นชินกับมัน แล้วก็รู้สึกคิดถึงช่วงเวลาเหล่านั้น  แล้วพอเราโตมา เราก็ยังมี Sub-Culture แบบนี้อยู่ในแวดวงรอบข้างที่ชอบเล่าเรื่องผีกัน ชอบฟังเรื่องผีกัน

เรารู้สึกว่า Genre ของเรามันเริ่มจางลง ความเป็น Genre มันไม่สามารถระบุได้ว่านี่คือหนัง Horror นี่คือหนังดราม่า เรารู้สึกว่า หนังก็คือหนัง ถ้ามันจะเล่าเรื่องอะไรเรารู้สึกว่าเรื่องราว วิธีการเล่ามากกว่าที่สำคัญ อย่างถ้าให้เราเลือกดูเราก็ไม่มี Genre แล้วนะเดี๋ยวนี้ หมายถึงว่าฉันไม่ดูหนังรัก เมื่อก่อนเราไม่ดูหนังรักเพราะว่าเราไม่ชอบ เพราะเรารู้ว่ามันไม่มีอะไรทำหรอ มาวิ่งไล่ตามความรัก แล้วไม่ทำอย่างอื่น แต่พอโตมาเราก็รู้สึกว่าสำหรับชีวิตบางคน ความรักมันเป็นเรื่องสำคัญ บางทีเขาไม่ได้มีอะไรที่ทำให้เขาภูมิใจในชีวิตอะไร กูไม่ได้รวย ไม่ได้มีความสุขอย่างอื่นเลย การรักใครสักคนมันเป็นความสุขใหญ่มากๆ สำหรับเขา เราก็เลยมองว่าสุดท้ายแล้ว Genre มันไม่เกี่ยว มันเป็นเรื่องของวิธีเล่าเรื่องหรือเรื่องราวของมันมากกว่า เราก็เลยเวลาเราทำเราก็จะหลุด Genre ไปให้ได้มากที่สุด เพราะรู้สึกว่าถ้ามัวแต่ติด Genre ว่ามันจะโดนจำกัดว่าแบบนี้มันจะไม่ใช่หนังตลกสิ เรารู้สึกว่ามันจะมีข้อจำกัดเยอะเกินไป หนังหนึ่งเรื่องมันจะตลกก็ได้ จะเศร้าก็ได้ จะมีผีก็ได้ เรารู้สึกว่าความ Real แบบนั้นมากกว่าที่เราอยากเห็น

ถ้ามองว่าหนังผีขายความน่ากลัว ทำไมเลือก Genre ในการทำหนังผีเป็นหลัก แล้วคำว่าความน่ากลัวของคุณคืออะไร ถูกเล่าออกมาแบบไหน มีแนวการทำงานยังไง

เมื่อก่อนแล้วก็ตอนนี้เราเอาตัวเองเป็นที่ตั้งก่อนเพราะเราไม่รู้ว่าคนดูจะคิดยังไง คนเราประสบการณ์แล้วก็สภาพจิตใจมันต่างกัน อย่างวิธีทำหนังผีของเราเมื่อก่อนคือ “ผีของเราจะทำจากศพ” หมายถึงว่าเราจะมี Based Idea เรื่องของรูปร่างของผีจากศพ เพราะเราเห็นศพมาเยอะมากตอนเด็ก เราเห็นศพมาตั้งแต่ 5 ขวบ พ่อเสียเราก็เห็นศพพ่อ เราก็เลยรู้สึกว่า อะไรพวกนี้มันน่ากลัวเพราะว่ามันไร้ชีวิต มันขยับไม่ได้ มันเป็นความรู้สึกแบบว่ามันคือสิ่งสิ่งนึงที่ครั้งนึงเคยมีชีวิต มันเคยหายใจ มันเคยพูด มันเคยขยับ มันเคยเดินอะไรอย่างงี้ แล้ววันนึงมันแบบมันหยุดทำงานอ่ะ เรารู้ได้โดยเซนส์ว่าคนตายคือมันไม่ขยับ คนตายมันต้องไม่ทำอะไรสักอย่างแล้ว แล้วถ้าจู่ๆ มันขยับ มันพูดอ่ะ เราก็เลยแบบเอออันนี้คือความน่ากลัวของเรา 

มันเป็น Vision ที่เรารู้สึกว่าถ้าเราเจอแบบนี้จริงๆเนี่ยในชีวิตจริงมันน่ากลัวมากๆ เมื่อก่อนเราก็จะทำหนังเราก็จะ Based อยู่กับภาพศพ แต่พอเดี๋ยวนี้ถ้าเราจะทำให้มันน่ากลัวเรารู้สึกว่ามันจะต้องมากับเรื่องราว เราต้องสร้างเรื่องราวขึ้นมาก่อน อย่างที่เราบอกว่าศพพอเห็นแล้วมันก็น่ากลัว มันเป็นสิ่งที่ตายแล้วไม่ขยับ พอไปเป็นตอนนี้เรามองว่า เราต้องทำให้เราเห็นอะไรบางอย่างก่อน ให้รู้ว่าคุ้นเคยกับมันแล้วจู่ๆมันหายไป มองไม่เห็นอีกต่อไป ตอนนี้เรารู้สึกว่าอะไรที่รู้สึกว่ามองไม่เห็นน่ากลัวกว่า  เพราะถ้าเรามองเห็นอ่ะเราจะรู้ว่ามันอยู่ตรงนั้น แล้วเราจะรู้ว่าจะรับมือยังไง แต่ถ้าวันนึงมันมองไม่เห็นขึ้นมา แต่มันอยู่ตรงนั้นไรงี้ เราว่ามันเป็นเซนส์ที่เราเพิ่งเจอสำหรับผีจะเป็นอะไรที่น่ากลัวมากขึ้น

ในหนังสั้นของคุณที่ชื่อ Fell in Cemetery คุณใส่มุมมองของความเชื่อเรื่องผีในศาสนาที่ต่างกัน (อิสลามและพุทธ) ลงไป ถ้าเป็นเช่นนั้นในมุมมองคุณ หนังผีในแต่ละพื้นที่และความเชื่อมีความแตกต่างกันอย่างไร ทั้งตัวเนื้อหาและผู้รับสาร 

เราก็เลยหานั่งหาข้อมูลไปเรื่อยๆ หาอะไรอ่านนู่นนี่นั่น ก็เลยไปเจอคำว่า ญิน ในอิสลามว่ามันเป็นระบบความเชื่อ ศาสนาที่ต่างกับเราต่างกับพุทธมากๆ แต่ว่ามันถูกเชื่อมด้วยคำว่าผี ญินในศาสนาอิสลามก็แปลว่าผีไรเงี้ย แล้วเราก็เลยอ่านอ่านแบบไปเรื่อยๆ พบว่ามันเหมือนเราเลยมันมี 2 ที่มาเหมือนกันเลย ก็คือ ผีที่เป็นสัตว์ประหลาด แล้วก็ผีอะไรก็ไม่รู้ที่จู่ๆก็เกิดขึ้นมา มีอยู่แล้วอะไรงี้กับผีที่เป็นวิญญาณของคนที่ตาย เราก็เลยเออมันคล้ายกันไหนลองเอามารวมกันซิ แล้วเราก็ชอบตรงที่ว่าเราได้ไอเดียทำเรื่องนี้ตรงที่ว่า เราชอบความที่อิสลามเขาไม่เชื่อเรื่องการไล่ผี แบบพวกสายหลักๆแบบพวกสายเคร่งจัดๆไม่เชื่อว่าเจอผีต้องมาไล่ผี มันต่างกับตรงพุทธที่ว่าโดนผีอำต้องไปตามหมอผีมาไล่ผีออกสิ แต่ฝั่งนั้นเขาจะแบบเขาก็จะสวดอัลกุรอาน คือกลับเข้าที่ทางเดิมของศาสนาให้ได้มากที่สุด 

ถ้าเกิดเราใช้วิธีไล่ผี แบบเอาใจออกห่างกับ Philosophy หลักของเขาจะกลายเป็นว่า พอหาวิธีไล่ผี มันจะไม่ได้ไล่ผีไปแต่มันจะมาหามากขึ้นเพราะว่าเราออกห่างจากศาสนา แต่ถ้ายึดติดกับศาสนา ผีก็จะไม่มายุ่งเออเราชอบไอเดียตรงนี้ เราก็เลยเอามาปะทะกับความเชื่อของพุทธที่ว่าเจอนั่นเจอนี่มาเราไล่ เราทำพิธี ก็เลยเป็นความ Contrast กันมากๆ ที่แบบพอฝั่งนึงเชื่อว่าเจอผีต้องไล่ กับอีกฝั่งนึงเชื่อว่าเจอผีไม่ต้องไล่แต่กลับไปอยู่กับศาสนาให้ได้มากที่สุด เพราะงั้นตัวละครที่เป็นอิสลามพอมันมาอยู่ในบริบทพุทธ โดน Push Ceremony Visual แบบพุทธว่าแบบเดี๋ยวเอาอันนี้ไปนะ แล้วที่ทำๆมามันทำให้ฝั่งกูเจอมากกว่าเดิมอีกอะไรงี้ แล้วก็ทำให้อีกฝั่งนึงไม่เห็นอะไรเลย แต่ทำนั่นทำนี่เยอะไปหมด เออเราว่าตรงนี้มัน Contrast กันเราก็เลยเอามาทำ

เราเลยสังเกตว่าหนังคุณได้รับการยอมรับจากต่างประเทศสูง ตอนที่คุณทำหนังแต่ละเรื่อง ต้องคิดมั้ยว่ากำลังสร้างหนังให้คนไทยดูหรือคนต่างประเทศดู 

(คิด)​ เราคิดว่าเราแชร์ผู้ชมทั้งฝั่งต่างประเทศและฝั่งในประเทศ เพราะรู้สึกว่าเราต้องการให้คนในประเทศเราแบบได้ดูวิธีเล่าเรื่องแบบที่ฝั่งข้างนอกเขาชอบบ้าง ไม่งั้นเราจะเสพแต่หนังที่เล่าไม่รู้เรื่อง เราจะชินดูแต่แบบอะไรเดิมๆ แล้วเราจะไม่เติบโต พอเราไม่เติบโตมันก็โดนคนทำด้วยไง ถ้าเค้าดูแต่อะไรเดิมๆ แล้วเค้าต้องทำแต่อะไรเดิมๆ มันต้องมีฝั่งใดฝั่งหนึ่งเปลี่ยนก่อน เรารู้สึกว่าฝั่งคนดูอะเราก็เปลี่ยนได้แล้ว เราไม่ได้เลือกทั้งสองฝั่ง เพราะเรารู้สึกว่าความหลากหลายมันน่าสนใจกว่าเยอะ มากกว่าที่แบบฉันจะดูแต่หนังอินดี้ นี่หนังฮอลิวูด ซึ่งบางทีหนังมันก็มีของดีของมัน เราไม่อยากจะพลาดอะไรสักอย่าง เราก็จะดูทั้งสองฝั่ง แต่พอเป็นฝั่งคนทำอ่ะ เราก็ต้องรู้สึกว่าเราก็อยากทำแบบนั้นเพื่อแชร์ผู้ชมทั้งสองฝั่ง ใส่อันนี้นิดนึงให้สำหรับคนดูในประเทศที่เขาแบบชอบดู เราก็เลยเลือกหนังผีไง เพราะแบบพอเป็นผีอะทุกคน มัน Relate กัน พอเป็นคนเอเชีย คนไทย มันจะมีประสบการณ์ร่วมกับกับคำว่าผี แต่ฝรั่งเขาก็จะแบบ อ๋อ หนังผี ฉันไม่ได้กลัวผีหรอก แต่แบบฉันก็จะดูอย่างอื่น เราก็จะใส่ Element ที่ฝรั่งเขาน่าจะชอบดูเข้าไป แล้วก็แชร์กันแบบ 50/50 

ลองเล่าได้มั้ยว่า Element ที่ใส่สำหรับชาวต่างชาติคืออะไรบ้าง

เขาต้องการความสดใหม่เพราะอย่างภาพยนตร์ในยุโรปหรือตะวันตกมันเกิดขึ้นมาก่อนเราเยอะมาก  เกิดขึ้นเกือบจะแบบห่างกันเกือบร้อยปีอะ แล้วฝั่งนั้นเขาดูหนังกันเป็นแบบเรื่องปกติ เพราะมันอยู่กับเขามานานแล้ว ภาพยนตร์ฝั่งเขามันก็เติบโตผ่านบริบทด้วย เช่น อย่างในฝั่งยุโรปจะแข็งแรงมากตรงที่ว่า พอประเทศเขาเจออะไร หนังในยุคนั้นก็จะมีความเฉพาะตัวอีกแบบ เช่น ถ้าอยู่ในยุคสงคราม หรือว่าถ้าอยู่ในยุคหลังสงครามที่เพิ่งแพ้มาใหม่ๆ มันก็จะมีบริบทนั้นอยู่ในหนัง เช่นยุคไหนที่ประเทศเขาแบบตกต่ำด้านเศรษฐกิจ จนมากๆ มันก็จะมีหนังแนวแบบ Neorealistic / Neorealism ออกมา ฝั่งนั้นเขาก็จะผูกกับบริบท แต่พอบริบทของเขาตอนนี้มันแบบชีวิตดีแล้ว ก็จะหาอะไรที่มันใหม่มากๆเราก็เลยต้องทำอะไรสักอย่างที่มันแบบให้มีความใหม่สำหรับเขา 

จริงๆ หนังที่จาก Southeast Asia เมื่อก่อนมันก็ใหม่สำหรับเขานะ เช่น หนังพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) หลายๆ เรื่องที่มันไม่มีองค์ประกอบแบบฮอลิวูดที่เขาเคยดูมาแล้ว มันมีความสดใหม่ เขาก็จะชอบตรงนี้แต่พอหนังจาก Southeast Asia เริ่มเป็นที่จดจำมากขึ้น เริ่มรู้จักในต่างชาติมากขึ้น ก็จะเริ่มไม่สนแล้ว เราจะขายอะไรเดิมๆ เริ่มยาก ก็ต้องหาอะไรที่แบบใหม่ขึ้นไปอีก แต่อย่างฝั่งบ้านเรามันไม่ค่อยดูอะไรใหม่ๆ อยู่แล้วไง พอใหม่ปุ๊บก็จะมีกระแสมันจะ อะไรอ่ะ ทำไมเล่าแบบนี้ อะไรวะ อะไรทำไมตัดต่อแบบนี้ แต่ฝั่งนั้นเขาจะแบบเปิดรับอะไรกับความที่มันแบบทดลองใส่เข้ามา Exotic แปลกๆ อะไรก็จะเปิดรับ

แต่จริงๆ มันก็พอทำแบบนี้นานๆ เข้า มันก็เหมือนเราเข้าไปป้อนตลาดต่างประเทศ ซึ่งพอได้รู้จักเราก็ ไม่น่าจะเป็นอะไรที่ดี สำหรับเรารู้สึกว่า เป็นตัวเองให้มากที่สุด เป็นตัวเองในบริบทในปัจจุบันให้มากที่สุด ปัจจุบันเรารับรู้เรื่องราว เรามองโลกแบบนี้ เราก็ทำหนังในแบบที่เราอยู่ตรงนั้น ทำหนังในบริบทของเราเพราะเดี๋ยวบริบทของเราก็เปลี่ยนเดี๋ยวเราก็ไปเจอนั่นเจอนี่ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนอีก เดี๋ยวเราก็ทำหนังอีกแบบหนึ่งอีก อะไรอย่างงี้ เราพยายามลื่นไหลให้มากที่สุดเราไม่อยากยึดติด ฉันทำหนังผี ฉันก็จะทำหนังผีแบบเดิม แบบที่มันสร้างความน่ากลัว บางทีเราก็เบื่อตัวเอง

ส่วนสำคัญที่มีผลให้งานของคุณมีแนวทางอย่างทุกวันนี้ เวลา มุมมอง การใช้ชีวิต การเมือง มันมีผลต่อหนังผีของคุณให้เปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง 

ใช่ๆ มันเปลี่ยนอยู่แล้ว วิธีทำหนังเรามันเปลี่ยนตลอด แทบจะเปลี่ยนทุกๆ ปีเลยมั้ง เปลี่ยนทุกๆ เรื่องดีกว่า เปลี่ยนทุกๆ ปีมันนับยาก จากเรื่องหนึ่งขยับไปอีกเรื่องหนึ่ง เราจะรับรู้ได้ว่า อะไรบ้างที่เรามองมันเปลี่ยนไป อะไรบ้างที่เราคิดเห็นเปลี่ยนไป ไอเดียอะไรต่างๆ เราจะรับรู้ได้เวลาเราทำ มันจะเปลี่ยนมาเรื่อยๆ ถ้าเอาให้เห็นชัดที่สุดคือผีเรามันจะน่ากลัวน้อยลง แต่เรารู้สึกว่ามันเศร้ามากขึ้น มันจะเริ่มเศร้าๆๆ ไม่รู้ว่าเพราะอะไรมันถึงเศร้า เรารู้สึกว่าว่าจริงๆมันเศร้าอะการเป็นผีอะมันน่าเศร้าอะ เออ เศร้าจนบางครั้งกลายเป็นโกรธบ้างก็มี มันเศร้าแบบกูอยู่ของกูเฉยๆ ก็มีคนมากลัวกู กลัวกูทำไมอ่ะ

แล้วแบบนี้กระบวนการทำงานต่อเรื่อง คุณใช้เวลาเท่าไหร่

คิดว่าก็น่าจะปีหนึ่งนะ ถ้านับตั้งแต่การพัฒนา เริ่มคิดเรื่องราว วางเป็นบทรวมถึงทำเสร็จ มันก็เกือบๆปี แต่ว่าถ่ายโปรดักชั่นจริงๆ มันก็เเค่ 2-3 วัน 3-4 วันบ้าง ขึ้นอยู่กับว่ายากง่ายแค่ไหน แต่อย่างวิธีทำของเราก็คือทำให้ง่ายที่สุดพอมันเงินน้อยแล้วเรา จะไปทำแบบโปรดัคชันจริงๆ มันก็ค่อนข้างจะต้องใช้ตังค์ เราอยากทำแบบนั้นนะแต่เราไม่มีเงินมากพอที่จะทำเบอร์นั้น

เมื่อคุณเติบโตขึ้น ในการทำหนังแต่ละเรื่องมีความเปลี่ยนแปลงในการทำงานอย่างไร 

ใช่ มันเจอข้อผิดพลาดจากหนังเรื่องก่อน แล้วก็เอามาปรับปรุงใส่ในหนังเรื่องใหม่ มันก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เช่น เราดูหนังแล้วเรื่องก่อนหน้าเรา ตรงนี้น่าจะทำแบบนี้ว่ะ แล้วก็เอาเก็บไปใส่ในเรื่องใหม่ มันก็จะส่งต่อกันไปเรื่อยๆ เพราะว่าเวลาเราทำ เราไม่มีคนที่จะมาวิเคราะห์หรือวิจารณ์ ที่จะมาคอยมาช่วยดูให้เยอะก่อนจะทำสักเท่าไหร่ มันก็จะเลยไม่ค่อยได้โดนสกรีนจากคนที่เขาถนัดกว่า หรือจากคนที่เข้าใจมันมากกว่า เราก็ทำในแบบของเรา Naive หน่อยๆ ก็ทำมันไปแล้วเราก็จะเป็นผู้ใหญ่ขึ้นทุกวันอยู่แล้ว เราก็มองกลับไปเราก็แบบอ่า เราก็เป็นเมนเทอร์ให้ตัวเอง ว่าถ้าตรงนี้ไม่ได้พอเรื่องต่อไปเราทำ เราก็เปลี่ยน ปรับปรุงมัน

แล้วมีคำวิจารณ์แบบไหนบ้างที่ติดค้างอยู่ในหัวคุณบ้าง

ถ้าเอาเรื่องครีเอทีฟเราชอบอันหนึ่งที่อันนี้นานมาแล้ว สมัยเราทำ 10 Audience พี่จิตร (จิตร โพธิ์แก้ว- นักวิจารณ์ภาพยนตร์) เค้าดูแล้วเค้าบอกว่า “เนี่ย ถ้ามีคนเอาเงินให้ ให้คนนี้ทำ ทำหนังผีออกมาดีแน่นอน” เรารู้สึกว่า “ใช่พี่” (หัวเราะแห้งๆ) มันจะมีมั้ยคนแบบนั้นอะ เอามาให้ เอาเงินมาให้เราหน่อยสิ 

เรารู้สึกว่าตอนแแรกยังไม่มีความคิดว่าอยากจะทำหนังยาว เพราะเรายังเรียนไม่จบ เรารู้สึกว่าหนังยาวมันไกลตัว แต่พอได้คิดอีกแบบนี้ เรารู้สึกว่า โห มันมีคนที่รอดูหนังยาวของเรา มันมีคนที่อยากเห็นว่าหนังยาวเราจะออกมาเป็นยังไง เราก็เลยแบบ ตัวเองพร้อมไม่พร้อมก็ช่าง แต่คนอื่นพร้อมแล้ว ก็เลยรู้สึกว่าอยากทำแล้วว่ะ แต่ตอนนั้นยังไ่ม่เจอเรื่องราวที่อยากจะทำเป็นหนังยาว เพราะหนังยาวมันเป็นอีกสเตปนึงที่เรื่องราวมันเป็นคนละโลกที่ยังไม่เจอ เจอแต่พล็อตหนังสั้น อันนันคือคำวิจารณ์ที่เรารู้สึกว่าส่งผลกับเรามาก 

แล้วนอกเหนือจากข้อจำกัดด้านงบ คุณเคยรู้สึก Burnout มั้ย แล้วแก้ปัญหายังไงบ้าง

เรายังไม่มีดีกว่า อาการ Burnout มันจะเป็นแบบ จะทำยังไงกับสิ่งที่เขียนมาดีวะ เช่น มันเขียนเสร็จไปแล้ว แล้วเรารู้สึกว่าโอเค พอ นี่คือที่ดีที่สุดของวันนี้ พอผ่านไปอีกวันหนึ่งวัน สองวัน สามวัน หรือเดือนหนึ่ง ก็รู้สึกว่ามันมีความตะหงิดๆ ในเรื่องราวที่เราเขียน ที่เราสร้าง พอไปนั่งดูมันแล้วจะเเก้มันยังไงดีวะ จุดไหนที่ต้องแก้ แล้วต้องทำยังไง วิธีของเราในการแก้ก็คือ ทำใหม่ทั้งหมด แต่ว่าไม่ได้ทำใหม่แบบรื้อนะ แต่ทำแบบทำย้อน เช่น สมมติว่าเราเขียนทรีทเม้นมา 12 หน้า ถ้าให้เราไปนั่งไล่ดูว่า ตรงนี้แก้ต้องนี้ แล้วเราก็จะแบบ อ้าวแล้วเราอยู่ตรงไหนของเรื่องอย่างเงี้ย วิธีของเราก็คือ ก็ทิ้งมันไปตรงนั้นก่อน แล้วเราก็ทำ เขียนมันขึ้นมาใหม่ แล้วก็อิงจากประสบการณ์เดิม จากความจำแล้วก็ทำมันขึ้นมาใหม่ เราเชื่อว่าร่างการหรือสมองเราจะจำได้อยู่แล้วแหละว่าเรื่องราวมันเป็นอย่างนี้ วิธีการเล่ามันเป็นอย่างนี้ แต่พอเราทำมันขึ้นมาใหม่ มันก็จะสดใหม่สำหรับเรา เราติดนิสัยทำอะไรใหม่หมดทั้งดุ้น อือ มันอาจจะเหนื่อยหน่อย แต่เรารู้สึกว่ามันง่ายกว่าจะเข้าไปงมหาดูว่าอะไรประหลาด มันก็เลยทำให้เราไม่ค่อย Burnout เพราะเรารู้สึก เราได้ทำอะไรใหม่ๆทุกวัน แม้จะเป็นเรื่องราวเดิมก็ตาม เราไม่รู้ว่าคนที่ Burnout เค้าเป็นยังไงอะ

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มีข้อจำกัดในการออกกอง คุณรับมือกับสถานการณ์อย่างไรบ้าง แล้วมันกระทบต่อการระดมทุนของคุณหรือไม่ 

ไม่ได้ออกเลย ออกครั้งล่าสุดเป็น เป็นงาน Commercial เล็กๆ ตอนเมษาก่อนระลอก 3 ก็ได้ออกวันเดียว ถ่ายกันแบบร้อนตับแตกเลย ก็สนุกดี  ส่วนเรื่องทุนก็ยังระดมอยู่เพราะว่ายังไม่ถึงเป้า เดี๋ยวอาจจะเอาไปส่งแลปหนังสั้นให้ได้ทุนมา แต่ว่าตอนนี้วิธีคิดเราเปลี่ยนเราก็น่าจะแก้อะไรสักอย่าง เขียนอะไร เขียนทวนอีกรอบหนึ่ง เรารู้สึกว่าวิธีคิดเราเปลี่ยนไปแล้วที่เขียนมันเก่าไปแล้ว

จากที่คุณกำลังระดมทุนทำโปรเจคต์ต่อไปอยู่ ช่วยเล่าให้เราฟังได้ไหมว่าเป็นยังไง 

ตอนนี้เราพัฒนาหนังยาวอยู่ พัฒนามานาน สองปีแล้ว เพิ่งได้โปรดิวเซอร์เมื่อต้นปีก็ตอนไปสวิสเซอร์แลนด์เนี่ยแหละ คนหนึ่งอยู่กรุงเทพ อีกคนอยู่เบอร์ลินก็ไปนัดเจอกันที่สวิสเซอร์แลนด์ ก็พอได้รู้จักกันก็ถือว่าเป็นคนที่เหมือนเรา ถ้าคนเหมือนกันก็คิดว่าจะทำงานสนุกอยู่ เดี๋ยวรอส่งสคริปแล็ปอยู่ หาพวกแล็ปเขียนบท ที่ให้ทุนเขียนบท เราก็จะได้แบบไม่ต้องหัวเดียวกระเทียมลีบ ขั้นตอนการเขียนบทมันค่อนข้างเหงา เราค่อนข้างเหงามาสองปีแล้ว ไม่มีใครช่วย 

มีคำกล่าวว่า เวลาที่เราทำหนังมันเหมือนเป็นการทำเพื่อเล่าสิ่งที่อยู่ในใจ ส่วนตัวเป็นแบบนั้นมั้ย แล้วตอนนี้เราได้บรรลุจุดประสงค์รึยัง

อย่างที่เราบอกว่าเราเปลี่ยนตลอด หมายถึงว่าเพราะบริบทสังคมมันเปลี่ยนอะ คนเรามันก็เลยเปลี่ยนมั้ง พอเป็นงานทำหนัง งานเขียน งานครีเอท มันเกี่ยวข้องอยู่บนบริบทมากพอสมควรเลย

เราว่าอายุไม่เกี่ยว เรารู้สึกว่ามันเป็นที่บริบทเราพาไปตรงไหนอะ เราก็จะเปลี่ยนไปเป็นอีกคนหนึ่ง อย่างพอเราไปสวิสเซอร์แลนด์ เราไปเจอคนอื่น พอกลับมาเราก็รู้สึกว่ามันก็เปลี่ยนไปแล้ว มันไม่มีทางเหมือนเดิม มันเปลี่ยนแทบจะทุกวันเลย เราตื่นมาเรารู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างที่ทำให้สิ่งที่เราสงสัย มันก็จะเปลี่ยนไปแล้ว แต่คนทำหนังมันต้องเล่าเรื่องราว มันคือศิลปะ มันต้องทำงานสักอย่าง ถ้าศิลปะอยู่เฉยๆ แล้วโอ๊ะ สวยดี มันไม่ทำงานเลย มันต้องทำให้เกิดอะไรบางอย่างกับคนที่เห็นมัน อันนี้คือสิ่งที่เรามองนะ ซึ่งถ้าเราไม่เปลี่ยน เราทำแต่สิ่งเดิมๆ เราก็จะมองว่า อันนี้ดีนะ แต่ไม่รู้สึกอะไรกับมันอะ คนที่มามองมันต่อจากเรา มันก็จะรู้สึกเหมือนกัน แล้วเรามองว่ามันไม่มีประโยชน์ เสียเวลาทำไม

ตั้งแต่ฟังมาเรารู้สึกว่าคุณไม่ได้อยากจะให้คนรู้จักในฐานะผู้กำกับหนังสยองขวัญ แต่อยากถูกมองเป็นผู้กำกับคนหนึ่งที่มีหลายเรื่องราวที่อยากจะเล่าให้ผู้ชมฟัง

เราเป็นพวกหลงตัวเอง หมายถึงว่าหลงความสำเร็จของตังเอง เป็นตั้งแต่เด็กแล้ว อย่างเวลาเราวาดรูปเสร็จปุ๊บ เราจะถอยออกมาเป็นคนดูแล้วก็จะมอง ภูมิใจจังที่ฉันทำมันได้ ที่มันสำเร็จ กับหนังก็เหมือนกัน พอทำเสร็จเราก็ถอยออกมา หื้ม มันเสร็จแล้ว ภูมิใจจัง ต่อให้ผ่านไปอีกวัน โตขึ้นๆ มองไป เอ้ ภูมิใจจัง เราชอบอยู่กับบริบทปัจจุบันให้มากที่สุด มองภาพอนาคตไม่ค่อยออกหรอก แต่ว่ามองผ่านสิ่งที่เราทำว่าถ้ามันเสร็จ มันน่าจะทำอะไรบางอย่างกับคนที่เห็นมัน คนที่รับรู้มัน แต่ถ้ามันยังไม่เสร็จเราก็อยู่กับมันไปก่อน 

เป้าหมายสูงสุดในวงการ?

สำหรับเรา เรารู้สึกว่าแค่ได้ทำหนังก็เป็นบุญแล้ว (หัวเราะ) แค่ได้ทำหนังก็ที่สุดแล้วสำหรับเรา เพราะเรามาจากครอบครัวที่จน บริบทคนรอบข้างก็ไม่เข้าใจว่าเราทำงานอะไร ได้เงินมาจากไหน เราแค่เลือกเส้นทางที่เราคิดว่าเราจะได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ

ในฐานะคนทำหนัง คิดว่าภาพยนตร์สามารถสะท้อนสังคมได้อย่างไร

เราไม่อยากจะพูดว่าภาพยนตร์ที่ดีจะต้องสะท้อนสังคม แต่เรารู้สึกว่า สิ่งที่เป็นภาพยนตร์มันจะต้อง บันทึกแล้วส่งต่ออะไรบางอย่าง ณ ช่วงเวลานั้น ภาพยนตร์มันมีช่วงเวลาของมัน บางเรื่องอาจจะยาวเป็นร้อยปี บางเรื่องสองสามปีก็หมดอายุไปแล้ว เพราะมันเกิดมาจากเรื่องราว เกิดมาจากคน คนมันอยู่ในสังคม เพราะฉะนั้นเรื่องราวมันก็ไม่หนีมาจากเรื่องจริงมาก เติมจินตนาการเข้าไปนิดหนึ่ง ซึ่งจินตนาการก็มาจากคน คนก็อยู่ในสังคม มันเป็นส่วนหนึ่งกัน

แล้วจะสะท้อนสังคมมั้ย ถ้าเค้าจะทำให้มันสะท้อน มันก็มีหนังหลายเรื่องที่คนทำก็ไม่ได้อยากจะสะท้อนสังคมอะไร แค่อยากทำงานกับอารมณ์ทำงานกับต่อมรับรู้ของคน ส่วนคนจะเอาไปสะท้อนยังไงก็คนดูจะเอาไปเชื่อมโยงกับสังคมกับบริบทตัวเองยังไงก็ขึ้นอยู่กับเขา เราชอบอย่างหลังมากกว่า เราชอบอะไรที่มันแบบ ไม่บอกว่านี่คือสะท้อนหรือไม่สะท้อน คือเราชอบงานที่มันไม่บอกว่า คุณต้องคิดแบบนี้ ต้องรู้สึกแบบนี้ ชอบงานที่แบบ คุณจะไปคิดไรก็เรื่องของคุณ แล้วเวลาคนดู คนที่มันดูงานหรือเสพสื่ออะไรต่างๆก็ตามันก็จะมีแว่นตาที่มองคนละแบบ พอมันมองกันคนละแบบ วิธีคิดที่จะเอาสิ่งนี้ไปเชื่อมโยงกัน หรือไม่เชื่อมโยงกับอะไรรอบๆ ตัว มันมันก็จะคนละแบบ เพราะฉะนั้นเราชอบอะไรที่มันเปิดโอกาสให้เราได้ตีความของเราเอง มากกว่าที่จะบอกว่า นี่ ต้องคิดแบบนี้นะ 

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า