fbpx

‘Spider-Punk’ การต่อต้านของวัยรุ่นในโลกยุคเผด็จการครองเมือง

ขึ้นชื่อว่า สไปเดอร์แมน ไม่ว่าภาพยนตร์จะถูกสร้างในยุคสมัยใด พล็อตเรื่องแบบใด ก็เอาชนะใจคอภาพยนตร์ได้เสมอ เช่นเดียวกับ Spider Man: Across the Spider-Verse (2023) หรือชื่อไทย สไปเดอร์แมน : ผงาดข้ามจักรวาลแมงมุม ภาคต่อของ  Spider-Man: Into the Spider-Verse (2018) ที่ยังคงดำเนินเรื่องอยู่ในมัลติเวิร์สของ “จักรวาลแมงมุม”  แต่สิ่งที่ทำให้ Spider Man: Across the Spider-Verse แตกต่างจากสไปเดอร์แมนในเวอร์ชั่นอื่นๆ คือตัวละครอย่าง “Spider-Punk” หรือ Hobart Brown ผู้เป็นที่รู้จักในชื่อ Hobie วัยรุ่นปากหมาที่ชื่นชอบดนตรี และถูกแมงมุมอาบรังสีกัด   

แม้จะยังคงขนบ “ถูกแมงมุมกันและกลายเป็นฮีโร่” เช่นเดียวกับเวอร์ชั่นก่อนๆ แต่ Spider Man: Across the Spider-Verse กลับมีสีสันที่จัดจ้านยิ่งกว่า เพราะ Hobie อีกหนึ่งตัวละครของใน Comic เติบโตขึ้นในประเทศที่ปกครองโดยเผด็จการ ขณะที่รัฐบาลพยายามกำจัดคนจน เนื่องจากมองว่าไม่มีประโยชน์สำหรับประเทศ นำไปสู่การลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐ  ในนามของ Spider-Punk ผู้มีอาวุธเป็นกีตาร์ ตามสไตล์ฮีโร่ผู้มีดนตรีในหัวใจ 

เมื่อวัยรุ่นลุกขึ้นสู้เผด็จการ 

เรื่องราวของ Spider-Punk เกิดขึ้นในจักรวาลคู่ขนาน ที่สหรัฐอเมริกาถูกปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการ ที่มองคนจนเป็นพวกก่อความวุ่นวาย ไม่มีประโยชน์ต่อประเทศ เป็นเหมือนหนูสกปรกที่ต้องถูกกำจัด และเมื่อแรงกดดันจากอำนาจแผ่ขยายมากขึ้น ประชาชนจึงลุกขึ้นสู้ โดยมี Spider-Punk เป็นแกนนำ 

ใน Comic เราจะเห็นภาพของคนหนุ่มสาวลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลกลาง เป็นภาพปกติของสังคมโลกยุคใหม่ ซึ่งแตกต่างจากในอดีต ที่ผู้นำประชาชนมักจะเป็นคนวัยทำงาน หรือมีภาพลักษณ์เป็นทหาร วีรบุรุษสุดเท่นำฝูงชนต่อสู้ แต่ในภาพยนตร์เรื่องนี้กลับสะท้อนความเป็นจริง ว่าในยุคปัจจุบันจนถึงอนาคตต่อไป จะเป็นเยาวชนที่ลุกขึ้นมานำผู้คนลุกขึ้นสู้ และเป็นความหวังของสังคม เช่นเดียวกับในหลายๆ ประเทศทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง รวมถึงไทย เมื่อมีการต่อสู้กับอำนาจรัฐ ก็มักจะมีเยาวชนคนหนุ่มสาว ลุกขึ้นมานำขบวนแทนคนรุ่นเก่า และดูจะมีพลังเอาซะด้วย เหมือน Spider-Punk ที่สามารถกระโดดใช้กีตาร์ฟาดหัวหน้าศัตรูได้ 

นอกจากนี้ ใน Comic ดูเหมือนจะสอดแทรกประเด็นต่อไปในอนาคตว่า เผด็จการจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากภาพลักษณ์เผด็จการทหารแบบในอดีต ภาพยนตร์เรื่องนี้มองไปถึงเผด็จการแบบทุนนิยมสุดโต่ง ที่ใช้เงินสร้างอำนาจโดยไม่เห็นหัวผู้อื่น สังเกตได้จากตัวร้ายที่เป็นประธานาธิบดี ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท คิดค้นนวัตกรรม เป้าหมายของคนเหล่านี้คือกำจัดคนจนเพื่อไม่ให้เป็นภาระของพวกเขา นี่อาจเป็นภาพสะท้อนของยุคสมัยที่กำลังจะเกิดขึ้น นั่นคือการที่ทุนนิยมกำลังคืบคลานเข้าสู่อำนาจด้วยเงินและครอบงำรัฐบาลด้วยกลุ่มทุนไปเสียแล้ว อาจสรุปได้ว่า Spider Puck กำลังสื่อสารให้เห็นถึงเผด็จการทุนนิยมในหลายๆ ประเทศ ที่กำลังเกิดขึ้นโดยไม่คำนึงถึงคนกลุ่มอื่น และประเทศก็กำลังถูกครอบงำโดยไม่รู้ตัว 

โลก Multiverse เมื่อสหรัฐอเมริกาเป็นเผด็จการ 

ใครจะคิดจะฝันว่าประเทศประชาธิปไตย เจ้าพ่อแห่งทุนนิยมอย่างสหรัฐอเมริกา จะเป็นเผด็จการ แต่ประเด็นนี้ถูกทำให้เป็นไปได้ใน Comic Spider-Punk ทว่าความเป็นเผด็จการนั้นกลับไม่สามารถเอาชนะใจประชาชนที่เป็นเสรีชนได้ แม้แต่กฎหมายที่เข้มงวดก็ยังต้านทางกำลังของประชาชนไม่อยู่ นำไปสู่ความยุ่งเหยิงจนถึงขีดสุด เพราะเมื่อประชาชนไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ แม้แต่ประธานาธิบดีก็ถูกฟาดด้วยกีตาร์จากผู้นำมวลชน และไม่ว่าจะใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนเท่าไร ก็จะมีประชาชนกลุ่มใหม่ลุกขึ้นสู้เสมอ 

พูดง่ายๆ คือเผด็จการฉบับอเมริกันชนคือ เผด็จการเข้าควบคุมรัฐ แต่ไม่ได้เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน กฎหมายมีเหมือนไม่มี ที่แน่ๆ ต้องเป็นเผด็จการที่มีเงิน มีธุรกิจเท่านั้น แต่ต้องระวัง เหลิงมากๆ ระวังโดนกีตาร์จากคนหนุ่มสาวฟาดเอานะครับ 

พังก์ร็อก การต่อสู้ด้วยเสียงเพลง 

จุดเด่นของ Spider-Punk คือการใช้กีตาร์และดนตรีเป็นอาวุธ แน่นอนแนวดนตรีที่เขาใช้สู้คือพังก์ร็อก องค์ประกอบในตัวเขาไม่ว่าจะเป็นชื่อมีคำว่า Punk อาวุธที่เป็นกีตาร์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงออกที่่เสียดสีสังคม ต่อต้านทุนนิยมแบบแตะขอบเหวของคนหนุ่มสาว เพราะดนตรีร็อกนั้นเป็นแนวเพลงที่สะท้อนอุดมการณ์ในการต่อสู้เคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่มีการต่อต้านค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ พร้อมเนื้อหาของเพลงที่เสียดสีสังคมของชนชั้นนำ   

นี่คือหัวใจของความเป็นขบถของพังก์ร็อกที่สะท้อนออกมาชัดเจนสุดๆ แถมการแต่งตัวของ Spider -Punk ของเราก็แสนจะโคตรพังก์ คือใส่แจ็กเก็ต ทรงผมโมฮ็อกประดับบนหน้ากาก สวมรองเท้าบู๊ต แสดงออกผ่านการแต่งกายที่ต่อต้านรัฐอย่างชัดเจน เพราะในโลกของเขา คนรวยใส่สูท ทหารตำรวจที่รับใช้คนรวยล้วนใส่ชุดเหมือนๆ กัน ที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ และน่าเบื่อด้วยในเวลาเดียวกัน 

แม้ทุกวันนี้ พังก์ร็อคจะถึงจุดอิ่มตัว และไม่ได้รับความนิยม แต่ไม่แน่นะครับ เมื่อมีการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการไม่ว่าจะในรูปแบบใดอีกครั้ง พังก์ร็อกอาจจะกลับมาเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านอีกก็ได้ 

พลังแห่งมิตรภาพของมนุษย์​ 

Spider-Punk ใช่ว่าจะต่อสู้แค่เพียงคนเดียว แต่เขายังมีมวลชนเป็นเพื่อน ยังไม่นับ Captain Anarchy ผู้เปรียบเสมือน Captain America ในอีกโลกหนึ่ง และน่าจะมีตัวละครที่คล้ายคลึงกันในโลกของ Marvel หลักอยู่ในโลกของ Spider-Punk ด้วย พวกเขามักจะเป็นเพื่อนที่ช่วยเหลือกัน ตรงกับทุกสังคมที่มนุษย์ที่ต้องเกื้อกูลกัน มอบความรักให้แก่กัน ถึงแม้จะอยู่ในกลียุคฉบับ Spider-Punk ก็ตาม  

บทบาทของมิตรภาพในเรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความรักของเพื่อนมนุษย์ และสันติภาพที่จะสร้างด้วยคนใดคนหนึ่งไม่ได้ แต่ทุกคนต้องร่วมกันสร้าง ถึงแม้ Spider-Punk จะเก่งกาจเพียงใดก็ตาม ก็ต้องมีเพื่อนคอยช่วยเหลืออยู่ดี ยังไม่นับรวม Spider-Man จากหลาย Multiverse ที่เมื่อเกิดวิกฤติขนานใหญ่ พวกเขาต่างออกมารวมทีมช่วยเหลือกัน และมีเป้าหมายเดียวกันคือสร้างสันติภาพให้กับโลก 

แต่แอบแซวสักนิดถึงแม้ Spider Man : Across The Spider-Verse จะมีตัวละครที่น่าสนใจอย่าง Spider-Punk จะชูประเด็นเรื่องการต่อสู้กับเผด็จการและสร้างสันติภาพ แต่ก็มีรายงานว่าทีมงานที่สร้างภาพยนตร์ถูกใช้ให้ทำงานนานถึง 11 ชม. รวมถึงทำงานติดต่อกัน 7 วัน เพื่อเร่งให้ทันกำหนดวันฉาย ส่งผลให้มีทีมงานลาออกเป็นร้อยคน ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นแง่มุมของทุนนิยมที่ครอบงำชีวิตคน อย่างที่ภาพยนตร์กำลังจะสื่ออยู่ก็เป็นได้ 

แหล่งอ้างอิง : silpa-mag / haveyouheard / tecnobreak / Youtube Necross Melphist / vulture

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า