fbpx

ย้อนเกร็ด ‘รำวงวันสงกรานต์’ และ ‘รำวงเริงสงกรานต์’ เพลงวันสงกรานต์ที่ฟังบ่อยจนนึกว่าเพลงเดียวกัน

ในที่สุด เทศกาลสำคัญประจำชาติของเราอย่าง “วันสงกรานต์” ก็วนกลับมาอีกครั้งในปีนี้ พอดิบพอดีกับฤดูร้อนที่อากาศร้อนเหมือนซ้อมตกนรก แต่นอกเหนือจากอากาศร้อนในเดือนเมษายนแบบนี้ ต่อให้เราจะไม่ไปเล่นสาดน้ำ เราก็ยังรับรู้ได้อยู่ดีว่าเรากำลังอยู่ในเทศกาลสงกรานต์ เพราะไม่ว่าจะเปิดช่องทีวี เดินตากแอร์ในห้าง หรือเดินไปซื้อของที่เซเว่นเพราะร้านอาหารทยอยปิดให้บริการในวันหยุดยาว เราก็จะเห็นภาพพนักงานในสถานที่ต่างๆ ใส่เสื้อลายดอกสีเจ็บ ๆ หรือได้ยินเนื้อเพลง “วันนี้เป็นวันสงกรานต์ หนุ่มสาวชาวบ้านเบิกบานจิตใจจริงเอย” ไม่ก็ “ฟ้าใหม่แล้วละนะน้อง สงกรานต์เราร้อง ทำนองเพลงโทน” ดังเป็นเสียงซาวด์แทร็กวนอยู่เนือง ๆ

ยอมรับตามตรงก่อนว่าตอนแรกเราคิดว่าเนื้อเพลงทั้งสองท่อนนี้ มาจากเพลงเดียวกัน แค่เป็นคนละท่อน แต่จริง ๆ แล้ว มันคือคนละเพลง!

“วันนี้เป็นวันสงกรานต์ หนุ่มสาวชาวบ้านเบิกบานจิตใจจริงเอย” คือเพลง ‘รำวงวันสงกรานต์’ ส่วน “ฟ้าใหม่แล้วละนะน้อง สงกรานต์เราร้อง ทำนองเพลงโทน” คือเพลง ‘รำวงเริงสงกรานต์’ 

ที่ชื่อเพลงก็คล้ายคลึงกันไปอีก

เราจึงอยากมาทำความรู้จักเพลงชาติสงกรานต์ในตำนานทั้งสองเพลงนี้ ว่าเป็นอย่างไรมาอย่างไร และทำไมมันถึงฮิตจนเราต้องได้ยินเพลงนี้กันทุกปี แถมยังร้องตามได้แบบไม่รู้ตัวด้วย

‘สุนทราภรณ์’ ต้นกำเนิดเพลงชาติวันสงกรานต์

‘วงดนตรีสุนทราภรณ์’ คือวงดนตรีเพลงไทยสากลแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งโดย ‘เอื้อ สุนทรสนาน’ บรมครูเพลงที่เป็นทั้งนักร้อง นักแต่งเพลง และนักดนตรีผู้หาตัวจับยากในยุคนั้น จากทั้งฝีมือการเล่นไวโอลินที่สีได้เก่งจน ‘พระเจนดุริยางค์’ ชื่นชอบและชื่นชม และสุ้มเสียงที่น่าฟังจนได้ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘ถ่านไฟเก่า’ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ใน พ.ศ. 2479 รวมถึงยังได้บรรเลงเพลงประกอบภาพยนตร์เพลงอื่นในเรื่องนี้อีกด้วย

ปีเดียวกันนั้นเอง เอื้อ สุนทรสนาน และกลุ่มเพื่อน ได้ก่อตั้ง ‘วงดนตรีไทยฟิล์ม’ ของบริษัท ภาพยนตร์ไทยฟิล์ม จำกัด ภายใต้การดูแลของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ก่อนจะยุบวงในที่สุด

ในช่วงเวลาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475 ประเทศไทยก็เกิดความแตกแยกด้านอุดมการณ์ทางการเมือง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการก่อกบฏของฝ่ายอำนาจเก่า อย่างเช่น กบฏบวรเดช ทำให้รัฐบาลคณะราษฎรหันมาเน้นแนวคิดชาตินิยม ปลูกฝังความความเชื่อในความเป็นไทย โดยมีเป้าหมายคืออุดมการณ์ร่วมกันของคนในชาติ 

จนกระทั่งใน พ.ศ. 2482 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้ที่เข้ามามีบทบาทเข้มข้นในการสร้างความเป็นชาตินิยมผ่านเนื้อเพลง มีดำริให้กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) ก่อตั้งวงดนตรีประจำกรมเป็นของตัวเอง (อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์คนแรก วิลาศ โอสถานนท์ คือหนึ่งในคณะราษฎร) เอื้อ สุนทรสนาน และกลุ่มเพื่อนจากวงเดิม จึงเข้ามาประจำวงนี้ และตั้งชื่อใหม่เป็น ‘วงหัสดนตรีกรมโฆษณาการ’ ซึ่งวงดนตรีวงนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือสร้างความรักชาติ ปลุกใจ ให้คนไทยเชื่อว่าชาติไทยเป็นอารยะประเทศ ตามนโยบายรัฐนิยมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

เมื่อวงนี้เดินทางไปรับงานภายนอก ก็ใช้ชื่อว่า ‘วงสุนทราภรณ์’ แทน โดยมีที่มาจากชื่อของ ‘เอื้อ สุนทรสนาน’ สนธิกับชื่อของ ‘อาภรณ์ กรรณสูต’ คนรักของเอื้อ ‘สุนทร+อาภรณ์’ จึงกลายเป็นชื่อ ‘สุนทราภรณ์’ นั่นเอง

ในช่วงเวลาที่วงสุนทราภรณ์ถือกำเนิดขึ้น ประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็กำลังสมาทานลัทธิชาตินิยมอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป อย่างประเทศอิตาลี เยอรมนี ตลอดจนประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแบบอย่างให้ไทย นำไปสู่ความเชื่อเรื่องความยิ่งใหญ่ของประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะแนวคิด ‘วงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพา’ แน่นอนว่าประเทศไทยรับแนวคิดนี้มาปรับใช้ไม่ต่างอะไรกับประเทศอื่น ๆ ที่ต้องการสร้างชาติให้เหนือกว่าชาติอื่น ๆ และเชื่อในความมีอารยะของประเทศตนเอง

เพลงสงกรานต์จากฝีมือของ ‘วงสุนทราภรณ์’

โดยปกติวันขึ้นปีใหม่ในวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมสากลนับวันที่ 31 ธันวาคม เป็นวันสิ้นปีและเริ่มปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม แต่ด้วยลัทธิชาตินิยมและต้องการชูวัฒนธรรมไทยในอดีต จึงนับวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ ทำให้วันสงกรานต์มีความสำคัญมากขึ้น

เห็นได้จากการให้ความสำคัญกับการประพันธ์เพลงที่เกี่ยวข้องกับวันนั้น ๆ อย่างวันปีใหม่ ที่มีเพียงไม่กี่เพลงเท่านั้น อย่างเพลงสวัสดีปีใหม่, รำวงปีใหม่, รับขวัญปีใหม่ หรือเพลงรำวงรื่นเริงเถลิงศก ต่างจากวันสงกรานต์ที่มีการประพันธ์เพลงที่เกี่ยวข้องกับวันปีใหม่ไทยนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะอยู่หลายเพลง ทั้งเพลงรำวงเริงสงกรานต์, รำวงวันสงกรานต์, สื่อสงกรานต์, วิมานสงกรานต์, รำวงสงกรานต์หวานใจ, ตลุงสุขสงกรานต์ หรือเพลงแห่นางสงกรานต์

เพลง ‘รำวงวันสงกรานต์’ แต่งคำร้องโดย แก้ว อัจฉริยะกุล และแต่งทำนองเพลงโดย เวส สุนทรจามร เนื้อหาของเพลงจะสอดแทรกประเพณีการละเล่นของไทย ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญตักบาตร  รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ตลอดจนการเล่นสาดน้ำวันสงกรานต์ ที่กลายเป็นกิจกรรมยอดฮิตของคนไทยมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ส่วนเพลง ‘รำวงเริงสงกรานต์’ แต่งคำร้องโดย แก้ว อัจฉริยะกุล แต่งทำนองเพลงโดย เอื้อ สุนทรสนาน ขับร้องโดยวงสุนทราภรณ์ เนื้อเพลงที่ใช้คำว่า ฟ้าใหม่ เพื่อชูความเป็นชาตินิยม นิยมความเชื่อปีใหม่แบบไทย หรือจะคำว่า รำวง และ เพลงโทน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย หรือจะเป็นดอกไม้ที่พบในไทย เช่น ดอกมะเขือ ดอกฟักทอง ดอกชบา ที่สอดคล้องในเนื้อเพลง และชวนให้ หยุดการหยุดงาน เพื่อจะได้เที่ยวเล่นในช่วงสงกรานต์ แทนที่จะใช้วันหยุดตามแบบประเทศตะวันตก

ทำไมเพลงวันสงกรานต์เหล่านี้จึงติดหู

การ Propaganda หรือโฆษณาชวนเชื่อ น่าจะเป็นเหตุผลที่ชัดเจนที่สุดของคำถามนี้ เพราะในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประเทศไทยไม่ได้มีสื่อที่หลากหลายนัก การกระจายข่าวสารจึงต้องผ่านวิทยุกระจายเสียงเป็นหลัก เมื่อเผยแพร่แนวคิดผ่านการพูดโฆษณา หรือผ่านการเปิดเพลงกรอกหูคนในยุคนั้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน ประกอบกับการฟังเพลงก็เป็นกิจกรรมเพื่อความบันเทิงอย่างหนึ่ง ทำให้ประชาชนไม่ได้รู้สึกถูกบังคับเท่ากับเทคนิคโฆษณาชวนเชื่ออื่นๆ ก็ทำให้ผู้คนสามารถซึมซับทั้งเนื้อเพลงและแนวคิดในเพลงไปโดยปริยาย เพลงวันสงกรานต์เหล่านี้จึงเดินทางผ่านกาลเวลา จนกลายเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยในที่สุด

‘รำวงวันสงกรานต์’ & ‘รำวงเริงสงกรานต์’ มรดกคณะราษฎร และ จอมพล ป. 

ถึงแม้สงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ที่ไทยยึดถือเป็นแบบอย่างในความเป็นชาตินิยม ต้องพ่ายแพ้ใหกับชาติตะวันตก รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่คล้อยตามญี่ปุ่นในช่วงต้นสงครามต้องหมดวาระลงไป และคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองถึงคราวหมดอำนาจ หลังการทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน พ.ศ.2500 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามรดกของคณะราษฎรและจอมพล ป. ก็ยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเพลง ‘รำวงเริงสงกรานต์’ และ ‘รำวงวันสงกรานต์’ ที่กลายเป็นเพลงยอดฮิตในวันสงกรานต์มานานเกือบ 70 ปี 

ที่สำคัญ แม้กระทั่งเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทันยุคคณะราษฎร หรือจอมพล ป. แต่เมื่อฟังเพลงเหล่านี้ ต้องรู้ว่าเทศกาลสงกรานต์ได้มาถึงแล้ว และหากใครคิดจะล้มล้างมรดกคณะราษฎรก็ต้องกลับมาทบทวนแล้วว่า จะลบเพลงรำวงเริงสงกรานต์และรำวงวันสงกรานต์ได้อย่างไร เพราะสุดท้ายแล้ว เมื่อเด็ก ๆ ที่เกิดมาใหม่ในยุคปัจจุบันได้ยินเพลงเหล่านี้ หรือได้ร่วมกิจกรรมการละเล่นต่าง ๆ ที่สอดแทรกในเพลง พวกเขาก็รู้อยู่ดีว่าวันนี้เป็นวันสงกรานต์ 

หรือท้ายที่สุดแล้ว เราสามารถเรียกได้ว่าคณะราษฎร และจอมพล ป. ไม่ได้หายไป แถมยังประสบความสำเร็จเรื่องการปลูกฝังความเป็นชาตินิยมผ่าน ‘วันสงกรานต์’ มาโดยตลอด และยากที่จะลบเลือนออกจากประวัติศาสตร์ไทยเหมือนที่รัฐบาลสมัยนี้อยากให้ลืมแต่ถูกจำ

“สวัสดีวันสงกรานต์ สวัสดีปีใหม่ไทย”

ที่มา : wikipedia / mgronline / matichon / thairath / pridi

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า